นับว่าไม่บ่อยครั้งนักที่ทีมงานไรท์ติ้งอินไทย จะได้รีวิวปากกาชั้นสูงที่อยู่ในกลุ่มหายาก ไม่ว่าจะด้วยการจัดจำหน่ายที่มีจำนวนจำกัด หรือการผลิตที่มีน้อยชิ้นก็ตาม หนึ่งในแบรนด์เหล่านั้นคือ Graf von Faber-Castell (GvFC) ที่ทีมงานเคยรีวิวปากกาลูกลื่นรุ่น Classic Pernambuco ไปแล้ว และวันนี้ก็ถึงคิว Graf von Faber-Castell Tamitio ในรูปแบบการเขียนของปากกาหมึกซึมที่ทีมงานกล้ากล่าวได้ว่า เป็นปากกาที่เขียนได้ดี และเรียบหรูในทุกมุมมอง
หมายเหตุ รีวิวนี้ได้รับการสนับสนุนปากกาจากคุณติณณ์ ลิมป์พานิชกุล โดยไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับแบรนด์ ร้านค้า หรือตัวแทนจำหน่ายแต่ประการใด ทีมงานไรท์ติ้งอินไทยขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้
รู้จักกับ Graf von Faber-Castell Tamitio
ทบทวนกันอีกสักครั้งหนึ่ง Graf von Faber-Castell เป็นแบรนด์ระดับสูง (high-end) ของ Faber-Castell ผู้ผลิตเครื่องเขียนรายใหญ่จากเยอรมนี ซึ่งในแบรนด์นี้มีรุ่นย่อยหลากหลายรุ่นมาก และปากกาของแบรนด์นี้มักจะมีราคาสูง เนื่องจากกระบวนการผลิตทั้งหมดทำที่เยอรมนี รวมถึงการทดสอบเขียน (nib run-in) และกระบวนการตกแต่งอื่นๆ ที่ทำด้วยมือนั่นเอง
ด้วยความแพงของ GvFC ทำให้หลายคนที่อยากได้ปากการุ่นนี้มาใช้งานนั้น ไม่สามารถเอื้อมถึงได้ง่าย (รุ่น Classic มีราคาจำหน่ายโดยทั่วไปอยู่ที่หลักหมื่นบาททั้งสิ้น หากคำนวณจากค่าเงินของต่างประเทศ) ทำให้ในปี 2015 บริษัทจึงออกรุ่น Tamitio ออกสู่ตลาดเพิ่มเติม เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับคนที่ต้องการประสบการณ์ระดับสูง ในราคาที่จับต้องได้
ปากการุ่นนี้มีจุดเด่นที่สำคัญคือ การเก็บรักษาการออกแบบหลักๆ อันเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์เอาไว้ได้ทั้งหมด รวมถึงกระบวนการผลิตที่ต้องใช้คนด้วย อย่างไรก็ตามจุดแตกต่างสำคัญอยู่ที่วัสดุเลือกใช้ ลดความหรูหราในบางจุดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของปากกาหมึกซึมที่เปลี่ยนมาใช้หัวเหล็กกล้าไร้สนิมแทนที่จะเป็นหัวทองคำ 18 กะรัต รวมถึงขนาดที่ค่อนข้างใหญ่ และแสดงอัตลักษณ์ของแบรนด์อย่างชัดเจน
นอกจากนั้นแล้ว บริษัทยังออกรุ่นที่เป็น Calligraphy Set สำหรับงานด้านการประดิษฐ์อักษร (calligraphy) ด้วย โดยมีหัวแบบพิเศษเปลี่ยนมาให้ในชุด
ถึงแม้ว่าจะถูกลดสเปคลงบางจุด แต่ราคาของปากการุ่นนี้กลับไม่ได้ถูกลงมากมายอย่างที่คิด เช่น ปากกาหมึกซึมรุ่นนี้มีราคาจำหน่ายเฉลี่ยประมาณ 8,000 บาท เป็นต้น (ราคาหายใจรดต้นคอปากกาอย่าง Montegrappa Parola หรือ Fortuna) ซึ่งแม้จะเป็นโรลเลอร์บอลหรือปากกาลูกลื่น ราคาก็ยังคงรักษาระดับความแพงเอาไว้ได้อย่างต่อเนื่อง
ในตลาดรอง (มือสอง) ปากการุ่นนี้ที่ต่างประเทศมักรักษาระดับเอาไว้ได้ดี โดยราคาซื้อขายขึ้นกับสภาพ (ถ้าดีมากราคาจะลดลงมาน้อยมากจากราคาแรกจำหน่าย) แต่ถ้าเป็นในประเทศไทยที่ยังไม่มีตัวแทนจำหน่ายโดยตรง ราคาในตลาดรองมักจะผันเปลี่ยนไปตามความพึงพอใจของผู้ขายเป็นสำคัญ
คุณสมบัติเฉพาะของ Graf von Faber-Castell Tamitio
- น้ำหนักรวม: 46 กรัม
- ความยาวด้าม: 13.5 เซนติเมตร
- เส้นผ่าศูนย์กลาง: 1.1 เซนติเมตร
- ขนาดเส้น: Extra Fine, Fine, Medium, Broad และขนาดเส้นสำหรับ Calligraphy Set (1.1, 1.4, 1.8 มม.)
- สี: Night Blue, Black, Rose, Black Edition, Marsala
แกะกล่อง
ตัวกล่องแรกเห็น จะมีกล่องกระดาษหนาหุ้มอยู่ชั้นหนึ่งก่อน เมื่อเลื่อนออกมาจะเจอกล่องด้านใน
สำหรับ Graf von Faber-Castell Tamitio รุ่นนี้มาในกล่องใหม่ที่บริษัทเพิ่งปรับเปลี่ยน โดยใช้ไม้ผสมกับกระดาษ (ต่างจากในกรณีของ Classic Pernambuco ที่เป็นกล่องไม้ทั้งหมด) ด้านนอกเป็นกระดาษหนา ส่วนถาดด้านในเป็นไม้
ใช้วิธีการเปิดออกมาแบบประตู (เหมือนบานพับ) เผยให้เห็นกล่องและรายละเอียดด้านใน ประกอบไปด้วยตัวกล่องที่โครงเป็นไม้ คู่มือและใบรับประกัน ถุงใส่ปากกา ตัวปากกา (ด้านใน) และกระดาษสาบางๆ ที่ใส่มาด้วย (ไม่แน่ใจว่าใส่เพื่อกั้นระหว่างตัวปากกากับสมุดคู่มือ?)
แต่เดิม ถุงใส่ปากกาจะทำมาจากผ้าสักหลาดสีดำอย่างดี แต่ในรุ่นปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นผ้าดิบ แล้วพิมพ์ตราของแบรนด์ลงไป ในแง่หนึ่งก็ต้องบอกว่าเป็นการลดสเปคปรับลดคุณภาพของซองใส่ปากกาลงมา อันนี้ถือว่าผิดหวังเล็กน้อย
ทีมงานเข้าใจว่าตอนซื้อมา ปากกาด้ามนี้น่าจะถูกเปิดเพื่อตรวจสอบจึงใส่มาให้ในถุง (ปกติปากกาจะแยกจากตัวถุง) ดังนั้นทีมงานจึงต้องดึงปากกาออกมาตัวถุงครับ
สำรวจตัวปากกา
สิ่งแรกที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือขนาดตัวด้ามที่ค่อนข้างใหญ่ แต่ยังคงเก็บรักษาการออกแบบของแบรนด์เอาไว้ได้อย่างครบถ้วน วัสดุเป็นโลหะเคลือบด้วยแพลทินัมเงาสวยงาม ตัดกับวัสดุพิเศษผิวด้านที่เป็นสี Marsala (ไวน์แดงผสมสุราชนิดหนึ่งของอิตาลี และเป็นชื่อเมืองบนเกาะซิซิลี) แดงอมน้ำตาลอย่างเรียบหรู
ปลอกปากกาด้านบนเป็นแหนบที่สามารถโยกได้ ทำให้มีลักษณะเป็นคันหนีบ (แต่จะไม่เห็นกลไกชัดเจนแบบรุ่น Classic) ส่วนด้านหลังเขียนชัดเจนว่า “Handmade in Germany” (ทำด้วยมือจากเยอรมนี)
บนหัวปลอกปากกา มีการสลักชื่อของบริษัท และตราในส่วนของเรซินสีดำด้านบน
ตัวด้ามใช้วัสดุพิเศษพื้นผิวด้าน ผสานเข้ากับทองเหลืองชุบแพลทินัมที่เป็นวัสดุหลักของปากกา ให้ความรู้สึกนุ่มนวลเวลาจับและไม่แสดงให้เห็นคุณสมบัติเป็นพลาสติกเลย สร้างความรู้สึกที่แตกต่างจากปกติอย่างมาก
ท้ายด้ามเป็นโลหะเคลือบเงาแบบเดียวกับปลอกปากกา
เมื่อดึงปลอกปากกาออกจากตัวด้าม จะพบกับหัวเขียนที่เป็นโลหะทำจากเหล็กกล้าไร้สนิม และไม่มีรูช่องจ่ายอากาศ (breather hole) แบบปากกาอื่นๆ (แต่เหมือนกับ Faber-Castell LOOM แทน) สิ่งที่ทำให้ทีมงานรู้สึกแปลกใจคือบริเวณที่จับ (section) ที่ทำจากโลหะเคลือบเงาค่อนข้างสั้น และกังวลว่าจะหยิบจับใช้ถนัดมือหรือไม่
แต่อีกส่วนหนึ่ง จุดเด่นอยู่ที่ส่วนของหัวเขียน (nib assembly) สามารถหมุนและถอดออกมาจากตัวด้าม เพื่อทำความสะอาดได้ง่ายขึ้น ส่วนวัสดุทำมาจากเหล็กกล้าไร้สนิมชุบโรเดียม ทำให้มีแต่ความเงาแบบปกติทั่วไป
รางจ่ายหมึก (ink feeder) เป็นพลาสติกสีดำ แบบเดียวกับ LOOM แทบจะทุกประการ อาจเรียกได้ว่าปากกาด้ามนี้เป็น LOOM รุ่นอัพเกรดราคาแพง ก็อาจจะกล่าวได้ในระดับหนึ่งถ้าพิจารณาจากมิติของหัวเขียน
ตัวปากกาใช้หลอดสูบแบบมาตรฐานสากล (standard international converter) ทำให้ใช้งานกับปากกาได้หลากหลาย ส่วนรหัสเลขประจำปากกา (serial number) อยู่ที่ตัวปากกาด้านใน ต้องหมุนเปิดเกลียวก่อนถึงจะเห็น (อันนี้ก็คล้ายกับรุ่น Classic)
ได้เวลาที่จะทดลองเขียนกันแล้วครับ
ทดลองเขียนและใช้งานจริง
เช่นเคย ทีมงานได้ทดสอบการเขียนโดยใช้อุปกรณ์ และ/หรือ วัสดุเหล่านี้ ในการทดสอบประกบคู่กับปากกาครับ
- หมึก Pilot Iroshizuku Ama-iro
- กระดาษ Double A ขนาด A4 ที่ความหนา 80 แกรม
ได้ผลการทดสอบออกมา ดังนี้ครับ
ในเชิงของการเขียน ปากกาด้ามนี้เขียนได้ลื่นมาก ขณะเขียนแทบไม่รู้สึกหรือสัมผัสได้ถึงเนื้อกระดาษเลยแม้แต่น้อย รวมถึงไม่ต้องหาจุดหมุนที่พอดี (sweet spot) เลย เรียกว่าลอกเลียนบุคลิกของ LOOM ออกมาได้อย่างหมดสิ้น รวมถึงขนาดเส้นที่เป็นไปตามมาตรฐาน (ด้ามนี้มีขนาดเส้น M)
จุดที่แตกต่างออกไปคือเรื่องของน้ำหนักเส้น (line variation) และความยืดหยุ่นที่มีมากกว่ารุ่นล่างๆ อยู่ “เล็กน้อย” กล่าวคือถ้าหากเริ่มถ่ายน้ำหนักจากมือลงไปยังหัวเขียน หัวปากกาจะเริ่มขยับตัว (flex) เล็กน้อย นับว่าเป็นจุดต่างจากปากกาหมึกซึมของแบรนด์ลูกที่แตกต่างจากแบรนด์หลักพอสมควร
สิ่งที่ชวนแปลกใจอีกอย่างคือน้ำหมึกที่ไหลออกมาไม่ค่อยมากเท่าที่คิดเอาไว้ (ประมาณ Montblanc Donation Pen) แม้หมึกกลุ่ม Iroshizuku จะแห้งช้าก็ตาม เลยไม่ค่อยแน่ใจว่าทางแบรนด์ได้ทำการปรับแต่งรางจ่ายหมึกหรือไม่
ในส่วนจุดอื่นๆ เช่น เรื่องของการเขียนใช้งาน ต้องยอมรับว่าปากกาด้ามนี้มีน้ำหนักที่มากพอตัว แม้ด้วยขนาดด้ามที่ใหญ่จะทำให้การจับใช้งานไม่ยากมาก แต่ในมิติการเขียนก็ถือว่าหนักพอสมควร ยิ่งเมื่อเสียบปลอกปากกาท้ายด้ามเพื่อเขียนแล้วยิ่งหนักขึ้น ทำให้มือต้องออกแรงมากขึ้น ส่งผลทำให้เมื่อยมือหากเขียนไปนานๆ คำแนะนำของทีมงานจึงเป็นว่าถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ควรเสียบปลอกเขียนปากกาด้านหลัง
ในเรื่องของบริเวณที่จับ (grip section) ที่มีขนาดหน้าสัมผัสเล็ก ตอนแรกทีมงานรู้สึกขัดใจบ้าง แต่เมื่อใช้งานจริงก็ไม่พบปัญหาอะไร แต่สำหรับบางคนที่อาจจะรู้สึกว่าหน้าสัมผัสเล็กเกินไป จุดนี้ควรต้องพิจารณาครับ
ส่วนความโดดเด่นในการพกใช้งานนั้น ด้วยขนาดที่ใหญ่ของปากกาด้ามนี้ ทำให้หลายคนทักทีมงานที่พกไปใช้ถึงปากกาด้ามนี้อยู่บ้างครับ ดังนั้นถ้าใครต้องการปากกาที่ใครๆ ก็ทักตอนใช้งาน ด้ามนี้ถือว่าเหมาะสม
ราคาและสถานที่ซื้อ
ปากกาหมึกซึมด้ามนี้ไม่มีจำหน่ายในประเทศไทยผ่านตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ (DKSH Thailand) ดังนั้นแล้วถ้าท่านต้องการจะซื้อปากการุ่นนี้ จำเป็นต้องหาจากต่างประเทศเท่านั้น โดยราคาที่ประเทศมาเลเซีย อันเป็นประเทศที่ใกล้ที่สุดที่มีวางจำหน่าย ราคาอยู่ที่ด้ามละ 1,100 มาเลเซียริงกิต คิดเป็นเงินไทยตกประมาณ 8,000 บาท
แม้จะมีการรับประกันให้ยาวนาน 24 เดือน (2 ปี) แต่ต้องไม่ลืมว่า GvFC ไม่ได้นำมาจำหน่ายในไทยอย่างเป็นทางการ ดังนั้นถ้าได้มา ควรพิจารณาเรื่องของมิติการซ่อมและบริการหลังการขายนี้ด้วย
สรุป
ความประทับใจที่เกิดขึ้นของ Graf von Faber-Castell Tamitio ด้ามนี้ นับเป็นความประทับใจต่อเนื่องที่เกิดขึ้นจากปากกาตัวก่อนหน้าที่ทีมงานได้รีวิวมา เพราะแม้กระทั่งรุ่นแรกเข้า (entry-level) ของแบรนด์ ก็ยังสามารถรักษาคุณภาพเอาไว้ได้อย่างคงเส้นคงวา ไม่มีสิ่งใดที่ผิดเพี้ยนแปลกไป
ในมิติของการเขียน ปากกาหมึกซึมด้ามนี้ทำได้ดีและมีคุณภาพอย่างมาก ส่วนมิติของการออกแบบเอง แม้จะต้องแลกมาด้วยการลดคุณสมบัติบางข้อลงเมื่อเทียบกับรุ่นที่แพงกว่านี้ แต่ทีมงานยังถือว่าแบรนด์รักษาเอกลักษณ์ทุกอย่างเอาไว้ได้อย่างครบถ้วนและไม่ขาดเลย
ทว่า เมื่อกลับมาพิจารณาที่ราคาราว 8,000 บาท ทีมงานยังรู้สึกว่า ด้วยราคาที่แพง ปากการุ่นนี้อาจจะเจองานหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเทียบกับคู่แข่งที่มีความใกล้เคียงกัน เช่น Montegrappa หรือปากกาที่เขียนได้ดี (แถมยังได้หัวทองคำ) อย่างเช่น LAMY 2000, Pilot Custom 74 เป็นต้น
เหตุผลที่จะซื้อปากกาด้ามนี้จึงตกไปอยู่ 2 มุมด้วยกัน ระหว่างการซื้อแบรนด์ GvFC ที่ย่อมไม่เหมือนใครในประเทศ และให้คุณภาพการเขียนที่ดีถึงดีมาก กับการได้ปากกาที่มีคุณภาพในวัสดุและการออกแบบที่ดีนั่นเอง ซึ่งเมื่อพิจารณาในทุกๆ มิติแล้ว ปากกาด้ามนี้ย่อมไม่ได้เหมาะสมกับทุกๆ คนครับ
แต่หากโจทย์ของท่านที่กำลังแสวงหาปากกาที่เข้าเหตุผลข้อใดข้อหนึ่ง (หรือสองข้อ) แล้ว ปากกาหมึกซึมรุ่นนี้ย่อมตอบโจทย์ความต้องการของท่านได้อย่างแน่นอน
ข้อดี | ข้อเสีย |
ราคาลดลงจากรุ่นสูงพอสมควร | ยังถือว่าราคาสูงเกินไป เมื่อเทียบกับคู่แข่ง |
ปากกาออกแบบโดยยังคงความเรียบหรู | น้ำหนักที่มากเกินไป หากเสียบท้ายด้ามเพื่อเขียน |
การรับประกันที่ไม่มีในไทย |
เครดิต
แหล่งข้อมูล: Graf von Faber-Castell, Appelboom
ผู้เรียบเรียง: ภัทรนันท์ ลิ้มอุดมพร
สถานที่: Platinum Lounge, Siam Paragon
You must be logged in to post a comment.