26 เมษายน 2024
รีวิวรีวิวเครื่องเขียนรีวิวปากกาหมึกซึม Montegrappa Parola

รีวิวปากกาหมึกซึม Montegrappa Parola

ในบรรดาแบรนด์ของเครื่องเขียนที่ได้รับการยอมรับในตลาดโลก Montegrappa จากประเทศอิตาลีเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่ผู้นิยมชมชอบเครื่องเขียนชั้นดีต้องรู้จักและคุ้นเคยเป็นอย่างดี และในครั้งนี้ ไรท์ติ้งอินไทย จะมารีวิวปากกาหมึกซึม Montegrappa Parola ให้ทุกท่านได้อ่านกันครับ

ข้อมูลแจ้งเพื่อทราบ: รีวิวนี้ เขียนจากประสบการณ์ตรงของทีมงาน และไม่ได้รับการสนับสนุนใดๆ ในทางการเงินจากแบรนด์หรือตัวแทนจำหน่าย ยกเว้นข้อมูลในทางประวัติศาสตร์และภาพประกอบเนื้อหาบางชิ้นที่ต้องได้รับอนุญาตเท่านั้น (ระบุไว้ใต้ภาพแล้ว)


เนื้อหา

[ รู้จักกับ Montegrappa | ที่มาของ Montegrappa Parola | ข้อมูลจำเพาะ | บรรจุภัณฑ์ | ปากกาทดสอบเขียนและใช้งานจริงราคาและแหล่งที่ซื้อ | สรุป | เครดิต ]


รู้จักกับ Montegrappa

ภาพจากบริษัท
ภาพจากบริษัท

Montegrappa เป็นแบรนด์เครื่องเขียนเก่าแก่ที่สุดของอิตาลี และถือเป็นบริษัทผลิตเครื่องเขียนแห่งแรกของอิตาลี ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1912 โดย Edwige Hofmann ชาวออสเตรียที่เข้าไปตั้งบริษัทที่เมือง Bassano del Grappa และอยู่มาจนถึงปัจจุบัน (ไม่เคยย้ายฐานการผลิตเลย) แรกก่อตั้ง บริษัทเรียกตัวเองว่าเป็น “ผู้ผลิตหัวปากกาหมึกซึมทองทำและปากกาหมึกซึม” (Manifattura pennini d’oro e penne stilografiche)

ที่มาของชื่อมาจากภูเขา Monte Grappa ซึ่งตั้งอยู่ที่แคว้นเวนิเซีย และได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในสมรภูมิรบที่สำคัญทั้งในสงครามโลกครั้งที่ 1 และสงครามโลกทั้งที่ 2 รวมถึงเคยเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ NATO (องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ) เคยติดตั้งฐานขีปนาวุธเอาไว้ด้วย

เมือง Bassano del Grappa (ภาพจากบริษัท)
เมือง Bassano del Grappa (ภาพจากบริษัท)

ในปี ค.ศ. 1927 หลังจากการก่อตั้งได้ประมาณ 15 ปี Alessandro Marzotto และ Domenico Manea เข้าซื้อกิจการ และให้ชื่อกิจการใหม่ว่า ELMO ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อมาเป็น Elmo-Montegrappa ในปี ค.ศ. 1947 จากข้อมูลของ Glenn Marcus เขาระบุว่าบริษัทเติบโตขึ้น เพราะป้อนปากกาและเครื่องเขียนให้กับกองทัพในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 อันเป็นผลมาจากการที่ศูนย์กลางบัญชาการกองทัพไปอยู่ที่เมือง Bassano del Grappa นั่นเอง

เมื่อถึงปี ค.ศ. 1981 ตระกูล Aquila ของอิตาลีเข้าซื้อกิจการ และเปลี่ยนชื่อแบรนด์ให้กลายเป็น Montegrappa 1912 ส่วนชื่อบริษัทเป็น Elmo & Montegrappa S.p.A. จากนั้นในปี ค.ศ. 2000 ได้ขายกิจการให้กลุ่ม Richemont เจ้าของแบรนด์สินค้าหรูชั้นนำอย่าง Montblanc, Cartier, IWC ก่อนที่จะซื้อกลับมาเป็นของตนเองอีกครั้งในปี ค.ศ. 2009 จนถึงปัจจุบัน

ภาพจากบริษัท
ภาพจากบริษัท

ปากกาของ Montegrappa ถือว่ามีชื่อเสียง เพราะมีนักเขียนอย่าง John Dos Passos, Paul Coelho และ Ernest Hemingway รวมถึงนักแสดงอย่าง Sylvester Stallone เป็นลูกค้า และใช้ปากกาของบริษัทอย่างเป็นประจำ (ในกรณีของ Stallone ตอนหลังกลายมาเป็นพรีเซนเตอร์ให้กับแบรนด์ช่วงหนึ่งด้วย) รวมถึงวางตัวเป็นปากกาในตลาดระดับบนมาโดยตลอด ไม่แพ้คู่แข่งร่วมทวีปอย่าง S.T. Dupont หรือ Montblanc เลย นอกจากนั้นยังเป็นเจ้าของแบรนด์ปากกาในตำนานอย่าง Tibaldi ด้วย

ภาพจากบริษัท
ภาพจากบริษัท

ในประเทศไทย ตัวแทนจำหน่ายปากกาของบริษัทคือ T.K.I. Perpetual ผู้จัดจำหน่ายนาฬิกา Patek Philippe และเครื่องประดับ Yong โดยเริ่มนำเข้ามาจำหน่าย และมีพิธีเปิดตัวเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2555 (ค.ศ. 2012) นับเนื่องก็เป็นเวลากว่า 6 ปีแล้ว และมีจุดจำหน่ายเพียงที่เดียว คือหน้าร้านที่ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน

[ กลับไปด้านบน ]


ที่มาของ Montegrappa Parola

สำหรับ Parola ถือเป็นเครื่องเขียนระดับล่างของบริษัท ราคาถูกกว่ารุ่น Fortuna (แต่แพงกว่ารุ่นอื่นอย่าง Armonia, Piacere หรือ Amorosa อยู่ดี) ที่มาของชื่อรุ่นมาจากคำว่า “parola” ซึ่งเป็นภาษาอิตาลี ความหมายคือคำว่า “word” ที่แปลว่า “คำ” นั่นเอง (รากศัพท์มาจากภาษาละติน “parabola” ที่แปลว่าการพูด และมีความหมายเดียวกับ “parole” ในภาษาฝรั่งเศส) บริษัทระบุว่าชื่อนี้ถูกเลือกขึ้นมาใช้เพื่อสื่อให้เห็นถึงการเขียนและภาษาที่สื่อถึงการสื่อสารของมนุษย์นั่นเอง

ภาพจากบริษัท
ภาพจากบริษัท

เครื่องเขียนรุ่นนี้ออกวางจำหน่ายครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 2011 โดยมีทั้งสีเหลือง สีม่วง สีน้ำเงิน สีแดง และสีขาว มีทั้งปากกาหมึกซึม โรลเลอร์บอล ปากกาลูกลื่น และดินสอกด จากนั้นต่อมาในปี ค.ศ. 2013 บริษัทจึงเพิ่มรุ่นปากกาลูกลื่นที่มี Flash Drive หรือ Thumb Drive ในตัว และเรียกว่า Parola USB (ปัจจุบันเลิกจำหน่ายไปแล้ว)

Parola USB (ภาพจากบริษัท)
Parola USB (ภาพจากบริษัท)

ในปี ค.ศ. 2016 บริษัทจึงปรับปรุงสี โดยถอดสีเหลือง สีม่วง สีแดง และเพิ่มสีชมพูกับสีดำ Stealth Black และสีแดง Amarone Red แทน ซึ่งสีแดงตัวล่าสุดนี้ คือสีที่จะนำมารีวิวให้ทุกท่านได้ชมกัน และเมื่อเร็วๆ นี้ บริษัทได้ออกรุ่น Parola Slim มาเพิ่ม ถือเป็นการแตกรุ่นเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด

ภาพจากบริษัท
ภาพจากบริษัท

ที่มาของชื่อ Amarone Red เกิดจากการใช้สีของไวน์ Amarone ที่ผลิตจากแคว้นเวนิเซีย และถือเป็นไวน์ประจำแคว้นที่โดดเด่น มีชื่อเสียง และมีราคาที่แพง มาผลิตเป็นเครื่องเขียน ตัวไวน์เมื่อยกเทียบกับแสงสว่างแล้ว ไวน์จะแสดงตัวเป็นสีแดงเข้มอมดำเล็กน้อยแบบเดียวกับสีของปากกาดังกล่าว ไม่ใช่สีแดงสด

ปัจจุบันปากการุ่นนี้มีจำหน่ายในประเทศไทย โดยราคาเริ่มต้นที่ 7,000 บาท สำหรับปากกาลูกลื่น ไปจนถึง 12,000 บาท สำหรับปากกาหมึกซึม แล้วแต่สี (Stealth Black แพงที่สุด เนื่องจากส่วนที่เป็นโลหะจะถูกชุบให้มีสีดำด้วย) และจำหน่ายโดย T.K.I. Perpetual เพียงเจ้าเดียว ส่วนราคาจำหน่ายในต่างประเทศจะอยู่ที่ 125 ยูโร (ประมาณ 5,500 บาท) สำหรับปากกาลูกลื่น ไปจนถึง 180 ยูโร (ประมาณ 6,800 บาท) สำหรับปากกาหมึกซึม

ทั้งนี้ แม้ราคาในต่างประเทศอาจจะถูกกว่า แต่ประกันยาวนาน 2 ปีของ Montegrappa เป็นแบบผูกกับผู้จัดจำหน่าย ดังนั้นไม่สามารถส่งเข้ารับบริการผ่าน T.K.I. Perpetual ได้ครับ สำหรับไรท์ติ้งอินไทยเองมีจุดยืนในการสนับสนุนผู้จัดจำหน่ายในประเทศเป็นหลัก และร้านมักจะมีงานลดราคาเป็นระยะอยู่เสมอ ซึ่งในหลายครั้งราคาถูกกว่าที่ต่างประเทศ (ถ้าต่างก็ไม่มาก) และยังได้รับการประกันตามปกติ

[ กลับไปด้านบน ]


ข้อมูลจำเพาะ (specification)

  • วัสดุ: เรซินและเหล็กกล้าไร้สนิม
  • หัวปากกา: เหล็กกล้าไร้สนิม (มีขนาด Extra-fine, Fine, Medium และ Broad)
  • บรรจุภัณฑ์: ปกติ
  • ระบบหมึก: หลอดหมึก หรือ ที่สูบหมึกขนาดเล็ก
  • ความยาว (ปิดฝา): 14.4 ซม.
  • ระบบปิดฝา: หมุนเกลียว
  • น้ำหนัก: 33 กรัม (รวมฝา), 22 กรัม (ไม่รวมฝา)

[ กลับไปด้านบน ]


บรรจุภัณฑ์

กล่องของปากกา Montegrappa ในรุ่นปกติทั่วไปจะมีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน อาจต่างกันเล็กน้อยในรายละเอียดแล้วแต่ปี แต่โดยรวมจะเป็นกล่องที่มีความซับซ้อนและน้ำหนักมากที่สุดในบรรดาปากกาทั่วไป ด้านนอกมีกระดาษห่อเป็นสีน้ำเงินหนา เมื่อเลื่อนออกจะเจอกล่องกระดาษแข็งชั้นแรก

ตัวกล่องด้านนอก นอกจากแสดงโลโก้แล้ว ด้านข้างยังมีระบุรายละเอียดของปากกาเอาไว้ด้วย ทั้งหมดนี้มีลาย (motif) เป็นรูป 8 เหลี่ยมต่อกัน

เมื่อเปิดฝากล่องออก จะเจอกล่องด้านในอีกชั้นหนึ่ง ที่ใช้วัสดุเป็นผ้ามันเงาอย่างดี มาพร้อมกับสัญลักษณ์ 8 เหลี่ยมเหมือนกล่องด้านนอก ส่วนโลโก้ที่ติดอยู่ฝาบนสุด ทำมาจากเหล็ก มีน้ำหนักเยอะมาก

ตัวกล่องชั้นนอกด้านหนึ่ง ถูกตัดออกมาเป็นลิ้นแล้ว ทำให้หยิบกล่องด้านในออกมาได้ทันที

พอเปิดกล่องออกมาจะเห็นปากกานอนอยู่ด้านในเงียบๆ บุด้วยผ้าสักหลาดเหมือนหนังอย่างดี นับว่าเป็นกล่องที่ดูดีที่สุดกล่องหนึ่งในตลาด ยึดด้วยที่คาดพิมพ์ตราของแบรนด์

เมื่อดึงชั้นบนออก จะเจอด้านล่างที่เป็นส่วนที่เก็บคู่มือ และมีหมึกแถมมาให้จำนวน 2 หลอด

[ กลับไปด้านบน ]


ปากกา

สำหรับปากกาหมึกซึม Montegrappa Parola ที่นำมารีวิวในครั้งนี้ เป็นแบบสี Amarone Red ซึ่งเป็นสีแดงที่มีความเข้มมากกว่าปกติ (ว่าง่ายๆ คือสีแดงเข้ม) เหมือนกับสีไวน์ Amarone ตัวปากกามีขนาดยาวเกือบจะเป็น oversize แบบเดียวกับ Montblanc Meisterstück 149 หรือ Cross Peerless 125 แต่ขนาดตัวด้ามจะผอมเรียวกว่า ส่วนน้ำหนักถือว่าหนักเอาเรื่อง

ตัวปากกาเป็นทรงกระบอก แต่ในส่วนตัวด้าม (ไม่ใช่ฝา) จะลู่ลงเล็กน้อยก่อนถึงปลายที่จะตัดแบน ถือเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่ง ส่วนฝามีขนาดใหญ่กว่าตัวด้ามเล็กน้อย

ด้านบนของปลอกปากกา มีการตกแต่งด้วยเรซินสีเดียวกับตัวปากกา ทำยอดแหลมเหมือนมงกุฎ และมีตราสัญลักษณ์ของ Montegrappa ปรากฎอยู่ในวงแหวนด้านบน แหนบหรือคลิปปากกามีลูกล้อสำหรับให้ใส่ปากกาลงในกระเป๋าโดยง่าย คลิปปากกาค่อนข้างแข็งกว่าปกติ ต้องใช้ไปสักพักถึงจะเริ่มยืดหยุ่นขึ้นเล็กน้อย

ท้ายด้าม มีการติดตราสัญลักษณ์ 1912 แสดงปีก่อตั้งของบริษัทเอาไว้ ทำมาจากโลหะเหล็กกล้าไร้สนิมเช่นกัน

เมื่อหมุนฝาปากกาออกจากเกลียว จะพบกับหัวปากกาที่ทำมาจากเหล็กกล้าไร้สนิม มีขนาดเล็กแบบเดียวกับ Caran d’Ache 849 หัวเขียนมีเอกลักษณ์ และมีการยิงสลักเลเซอร์ถึงขนาดหัว (ยกเว้น EF ที่จะไม่มี เป็นหัวโล้นๆ) ประทับโลโก้ของแบรนด์ด้วย

ตัวปากกาแม้จะรองรับ Standard International Cartridge หรือหมึกหลอดแบบสากล และรวมถึงหลอดสูบหมึกแบบสากล แต่ว่าหลอดสูบหมึกจากทางแบรนด์ที่แถมมาให้จะมีเกลียวให้ยึดกับตัวด้ามเพื่อความมั่นคงด้วย ถือเป็นอีกแบรนด์หนึ่งที่มีลักษณะแบบนี้ (อีกแบรนด์คือ Montblanc)

อีกสิ่งที่ไม่พูดไม่ได้คือ ปากกาด้ามนี้เมื่อต้องกับแสงหรือโดนแสง จะแสดงตัวออกมาเป็นสีแดงสดใส แต่เมื่ออยู่ในสภาวะแสงทั่วไป จะเป็นสีแดงเข้มอมดำเหมือนกับไวน์ Amarone ทุกประการ นับว่าเป็นลูกเล่นที่น่าสนใจอย่างมาก

สภาวะแสงทั่วไป
สภาวะแสงทั่วไป

โดยภาพรวม ตัวปากกาให้รูปลักษณ์ภายนอกที่โดดเด่นมากกว่าปากกาทั่วไป สีสันเปลี่ยนไปมาได้ตามสภาวะแสง รูปร่างภายนอกไม่เป็นรองปากการาคาแพงเลยแม้แต่น้อย

[ กลับไปด้านบน ]


ทดสอบเขียนและใช้งานจริง

ทีมงานทดสอบ โดยใช้ปากการ่วมกับหมึก Montblanc Irish Green บนกระดาษ 80 แกรมของ Quality ได้ผลออกมาดังนี้

ในเชิงความรู้สึกของการเขียน ทีมงานพบว่าปากกาให้ความรู้สึกที่ดี ไม่รู้สึกว่าเป็นปากการาคาถูกเลยแม้แต่น้อย ทว่าสิ่งที่ชัดเจนคือเรื่องของน้ำหนัก ซึ่งถ้าใช้วิธีการสวมปลอกด้านท้ายแล้วเขียน (post) จะพบว่าปากกาแทบเขียนไม่ได้เลย เนื่องจากน้ำหนักของฝาจะไปถ่วงทำให้การเขียนไม่สมดุล โดยปกติแล้วทีมงานจึงเขียนด้วยการถอดปลอกปากกาวางไว้เฉยๆ แล้วปล่อยเขียนไปเรื่อยๆ จับได้สบาย

แม้จะเป็นปากกาที่มีหัวเขียนในระดับดีถึงดีมาก แต่ตัวเส้นที่ได้ (ขนาดที่รีวิวเป็น F) กลับให้ความรู้สึกที่แปลกกว่าปกติ เนื่องจากขนาดเส้นที่เล็กกว่ามาตรฐาน เมื่อเทียบกับปากกาที่มีความคล้ายคลึงกันอย่าง ปากกาหมึกซึม Caran d’Ache 849 ปรากฎว่า Parola ให้ขนาดเส้นที่เล็กกว่า เหมือนกับ Sailor 1911 Standard เสียมากกว่า ดังนั้นแล้วใครที่ซื้อปากกา Montegrappa อาจต้องนำจุดนี้มาพิจารณาด้วยในการเลือกขนาดเส้น

สิ่งที่ชวนทำให้รู้สึกผิดหวังมากที่สุดสำหรับ Parola คือการจ่ายน้ำหมึกที่อยู่ในขั้น “แห้ง” (dry) ซึ่งหลายคนที่เขียนด้วยมือซ้ายอาจจะชื่นชอบ เพราะการจ่ายน้ำหมึกที่น้อย ย่อมแปลว่าหมึกแห้งตัวได้เร็วด้วย แต่ทีมงานรู้สึกได้ว่าการจ่ายน้ำหมึกของปากการุ่นนี้ถือว่าแห้งกว่าทั่วไป

เทียบปริมาณน้ำหมึก ระหว่าง Parola (เขียว) และ Caran d’Ache 849 (ดำ)

เมื่อเทียบกับ Caran d’Ache 849 ที่ใช้หมึก Montblanc Permanent Black และมีความหนืดของหมึกมากกว่าด้วยซ้ำ ปรากฎว่าน้ำหมึกที่จ่ายออกมาจากปากกาที่เทียบ ยังมีมากกว่า Parola เสียด้วยซ้ำ ในแง่หนึ่งทีมงานคาดว่าอาจเกิดจากการที่ตัวปากกาเป็นหัวขนาด F ที่เล็กกว่าปกติ ส่วนในอีกแง่หนึ่งทีมงานคาดว่าอาจเกิดจากรางจ่ายหมึกเอง ข้อสันนิฐานของทีมงานคือ ถ้าอยากได้น้ำหมึกที่มากกว่านี้อาจจำเป็นต้องปรับขึ้นไปเป็นหัวแบบ Medium แทน

เรื่องของความผันแปรของเส้น (line variation) ต้องถือว่า Parola ทำได้แย่กว่า Caran d’Ache 849 ตรงที่สามารถรับน้ำหนักได้นิดเดียว หัวปากกาแข็งมาก ดังนั้นปากกาด้ามนี้จึงเหมาะกับการเอาไว้จดงานเอกสารอย่างรวดเร็วมากกว่าอย่างอื่น

ความตลกอีกประการของปากการุ่นนี้ อยู่ที่การมีเกลียวหมุนฝาปากกาไม่เท่ากัน ในการทดสอบของทีมงาน ด้ามหนึ่งมีเกลียวหมุนที่น้อยมาก กล่าวคือแค่หมุนออกมาไม่ถึงรอบก็สามารถถอดเปิดฝาเขียนได้แล้ว ขณะที่อีกด้ามกลับต้องหมุนมากถึง 2 รอบครึ่ง ซึ่งถือว่าเยอะกว่าที่ควรจะเป็น ดังนั้นแล้วก่อนจะซื้อผู้ใช้อาจต้องตรวจสอบในจุดนี้เพิ่มด้วย

[ กลับไปด้านบน ]


ราคาและสถานที่ซื้อ Montegrappa Parola

ปัจจุบันปากกา Montegrappa Parola มีจำหน่ายในประเทศไทยโดย T.K.I. Perpetual เพียงแห่งเดียวเท่านั้น ที่ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน กรุงเทพมหานคร และมีราคาวางจำหน่ายตั้งแต่ 7,000 บาท ไปจนถึง 12,000 บาท ตามรูปแบบการเขียน

Montegrappa Parola
Montegrappa Parola

ทั้งนี้ ราคาจำหน่ายสำหรับปากกาหมึกซึม อยู่ที่ประมาณ 9,000 บาท และไม่ได้มีทุกสีทุกรุ่น ต้องสอบถามกับทางตัวแทนจำหน่าย (รายละเอียดติดต่ออยู่ที่นี่) ถ้าซื้อในประเทศไทย จะได้การรับประกันยาวนาน 2 ปี จากตัวแทนจำหน่าย ส่วนราคาจำหน่ายในต่างประเทศอาจจะถูกกว่านี้ แต่ถ้าซื้อแล้วจะไม่ได้การรับประกันแต่อย่างใดครับ

จุดที่อาจจะต้องคิดสักเล็กน้อยอยู่ที่ราคา ด้วยปากกาที่ราคาระดับนี้แต่หัวเขียนกลับไม่ใช่ทอง ย่อมแปลว่าปากการุ่นนี้ถือว่าแพงมาก ด้วยราคาที่ประมาณ 6,000 บาท ก็สามารถมีปากกาหัวทองเขียนได้ดีอย่าง LAMY 2000 ได้แล้ว การซื้อปากการุ่นนี้จึงไม่ใช่แค่ราคาที่จ่ายไป แต่เป็นเรื่องของสัญญะและการออกแบบที่ซ่อนอยู่ภายในด้วย

[ กลับไปด้านบน ]


สรุป

โดยภาพรวม ทีมงานมีความประทับใจสำหรับปากกาด้ามนี้ โดยเฉพาะสีและสมดุลของปากกาเมื่อถอดปลอกปากกาออกมาเขียน รวมถึงขนาดซึ่งใกล้เคียงกับปากกา oversize หลากหลายรุ่น ความโดดเด่นในสองจุดนี้ทำให้ปากกาด้ามนี้เป็นปากกาที่ไม่สามารถมองข้ามไปได้เลย หากท่านเป็นคนหาปากกาที่เน้นสไตล์การออกแบบเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม ด้วยราคาที่ค่อนข้างสูงมาก ทีมงานจึงเกิดความรู้สึกว่าเมื่อเทียบกับคู่แข่งในท้องตลาดแล้ว ปากการุ่นนี้จะขายได้ดีหรือไม่? ในตลาดไทยด้วยกันเอง ปากกาที่มีราคาพอกันและใช้หัวเขียนเป็นเหล็กกล้าไร้สนิมก็มี Visconti Van Gogh ซึ่งตัวเรซินมีลวดลายมากกว่า และเมื่อเทียบกับราคาก็อาจจะต้องบอกว่า น่าดึงดูดมากกว่าในการจับจองเป็นเจ้าของ

นอกจากเรื่องของราคาที่สูง บางคนอาจจะไม่ชอบที่หมึกของปากกาค่อนข้างจ่ายออกมาน้อยกว่าปกติ ติดออกไปทางแห้ง แนวทางหนึ่งที่อาจจะแก้ไขได้คือการเปลี่ยนหมึกให้สอดคล้องกับปากการุ่นนี้ หรือไม่ก็เปลี่ยนขนาดเส้นไปที่ระดับใหญ่ขึ้น น้ำหมึกจะออกมาได้มากขึ้นครับ

ถ้าถามว่าปากการุ่นนี้น่าซื้อหรือไม่ ทีมงานอาจตอบได้ไม่เต็มที่นัก เนื่องจากเมื่อเทียบกับราคาแล้วทีมงานยังเกิดความลังเลใจ สิ่งที่ตอบได้แน่นอนคือ ถ้าคุณเป็นคนที่ต้องปากกาซึ่งเขียนได้ดี มีดีไซน์ที่เป็นเอกลักษณ์แล้ว Montegrappa Parola เป็นหนึ่งในปากกาที่ไม่ควรพลาดเป็นอย่างยิ่งครับ

ข้อดีข้อเสีย
การออกแบบเป็นเอกลักษณ์จ่ายหมึกได้ค่อนข้างแห้งกว่าปกติ
เขียนได้ดีปลอกปากกามีน้ำหนักมากกว่าปกติ / เกลียวไม่ consistent ในแต่ละด้าม
ขนาดกำลังจับสบายมือราคาที่สูงมาก

[ กลับไปด้านบน ]


เครดิต

  • ภาพ: ณัฐพงษ์ เอกอุดมสุข, ภัทรนันท์ ลิ้มอุดมพร
  • ผู้รีวิว: ภัทรนันท์ ลิ้มอุดมพร
  • สถานที่: The First Lounge โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท
  • ข้อมูลประกอบการรีวิว: Elmo & Montegrappa S.p.A. / Glen’s Pens

[ กลับไปด้านบน ]

สรุปรีวิว

REVIEW OVERVIEW

Montegrappa Parola

ความเห็นภาพรวม

ปากกาหมึกซึมที่เขียนได้ดี การออกแบบน่าประทับใจ เขียนได้สมดุลเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามหมึกที่จ่ายออกมาถือว่าค่อนข้างน้อยติดออกไปทางแห้ง และด้วยราคาที่ค่อนข้างสูง ทำให้แข่งกับคู่แข่งในท้องตลาดได้ยาก
ทีมงานไรท์ติ้งอินไทย
ทีมงานไรท์ติ้งอินไทย
Writing in Thai (ไรท์ติ้งอินไทย) เว็บไซต์รวบรวมเรื่องราวของ ปากกา ปากกาหมึกซึม และเครื่องเขียนอื่นๆ สำหรับคนรุ่นใหม่ มีทั้งปากกาหมึกซึม ดินสอ ปากกาลูกลื่น ข่าว อัพเดต ความรู้ หมึก การเขียน รีวิว เทคนิค สาระและความรู้

ติดตามเราบน Facebook

เนื้อหายอดนิยม

บทความที่เกี่ยวข้อง

- Advertisement -
ปากกาหมึกซึมที่เขียนได้ดี การออกแบบน่าประทับใจ เขียนได้สมดุลเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามหมึกที่จ่ายออกมาถือว่าค่อนข้างน้อยติดออกไปทางแห้ง และด้วยราคาที่ค่อนข้างสูง ทำให้แข่งกับคู่แข่งในท้องตลาดได้ยากรีวิวปากกาหมึกซึม Montegrappa Parola