19 เมษายน 2024
รีวิวรีวิวเครื่องเขียนรีวิว Cross Peerless 125 สุดยอดปากกาสำหรับผู้บริหาร หรูหรา มีสไตล์ทุกจังหวะชีวิต

รีวิว Cross Peerless 125 สุดยอดปากกาสำหรับผู้บริหาร หรูหรา มีสไตล์ทุกจังหวะชีวิต

-

หนึ่งในแบรนด์เครื่องเขียนที่คนไทยรู้จักกันมานานและนิยมเป็นอย่างมากช่วงหนึ่ง คงหนีไม่พ้น Cross จากสหรัฐอเมริกา ที่เป็นผู้ผลิตเครื่องเขียนคุณภาพสูงโดยเฉพาะปากกามาหลายร้อยปี และหนึ่งในรุ่นเหล่านั้นก็คือ Peerless 125 ที่เป็นปากการุ่นสูงสุดของบริษัทที่มีวางจำหน่าย และถือกันว่ามีคุณภาพทัดเทียมกับปากกาชั้นนำจากแบรนด์อื่นๆ

ไรท์ติ้งอินไทย ขอนำผู้อ่านทุกท่านไปรู้จักปากการุ่นนี้ผ่านรีวิวชิ้นนี้ ซึ่งนับว่าเป็นสุดยอดปากกาสำหรับผู้บริหาร ที่เต็มไปด้วยความหรูหรา และทำให้ทุกจังหวะของชีวิตมีสไตล์ครับ

หมายเหตุ: รีวิวนี้ทีมงานได้รับปากกามาจากบริษัท DHA Siamwalla ผู้จัดจำหน่ายปากกา Cross ในประเทศไทย แต่ยังให้อิสระในการรีวิวและคำวิจารณ์กับทีมงานครับ ทีมงานขอขอบพระคุณทางบริษัทที่ได้ให้ปากกามาสำหรับการทดสอบในครั้งนี้

Cross Peerless 125
Cross Peerless 125

เนื้อหา

[ ประวัติ | รายละเอียดทางเทคนิค | บรรจุภัณฑ์และตัวปากกา | ทดลองเขียน | ราคาและแหล่งที่ซื้อ | สรุป | วิดีโอรีวิว | เครดิต ]


ประวัติของ Cross และ Peerless 125

โลโก้บริษัท
โลโก้บริษัท

หากกล่าวถึงผู้ผลิตปากกาที่เก่าแก่ของสหรัฐอเมริกา ที่มีชื่อเสียงระดับโลก หนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้น Cross จาก A. T. Cross Company แบรนด์ปากกาจากสหรัฐอเมริกาที่เข้าไปครองใจของคนทั้งโลก

บริษัท A. T. Cross Company ก่อตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1846 ที่เมือง Providence มลรัฐ Rhode Island สหรัฐอเมริกา โดย Richard Cross ที่เติบโตมาจากครอบครัวที่ทำธุรกิจด้านอัญมณีและเครื่องประดับมาก่อน จากนั้นลูกชาย Alonzo T. Cross เป็นคนรับช่วงต่อ (และเป็นที่มาของชื่อบริษัท) ก่อนที่ช่วงทศวรรษที่ 1960 บริษัทจะย้ายฐานการผลิตและสำนักงานไปที่เมือง Lincoln แต่ยังคงอยู่ในมลรัฐเดิม ในปี ค.ศ. 2014 บริษัทซื้อกิจการของ Sheaffer ผู้ผลิตปากกาสัญชาติอเมริกันมาจาก Société Bic S.A. ก่อนที่ในปี ค.ศ. 2016 บริษัทจะย้ายกลับมาตั้งที่เมือง Providence อีกครั้งหนึ่ง

แรกเริ่ม บริษัทผลิตเฉพาะที่จับดินสอ (pencil casing) จากเงินและทอง ต่อมาจึงเริ่มผลิตปากกา Stylographic pen (ปากกาก่อนที่จะเป็นปากกาลูกลื่นในปัจจุบัน) และดินสอกดในปี ค.ศ. 1879 ก่อนจะหันมาผลิตปากกาหมึกซึมในปี ค.ศ. 1930 และปากการูปแบบอื่นๆ จนถึงปัจจุบัน ผลงานที่เป็นที่กล่าวขานในโลกเทคโนโลยีชิ้นหนึ่งคือ CrossPad ซึ่งเป็นกระดานและกระดาษอิเล็กทรอนิกส์ที่พัฒนาร่วมกับ IBM และออกวางจำหน่ายในปี ค.ศ. 1997

สิ่งที่ทำให้ Cross โดดเด่น คือการเป็นปากกาที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเลือกใช้ ตั้งแต่สมัย Gerald Ford เรื่อยมา จนกระทั่งในสมัย Bill Clinton ปากกาของบริษัท จึงถูกเลือกให้เข้าไปเป็นปากกาประจำทำเนียบขาวมาตั้งแต่บัดนั้น โดยไว้ใช้สำหรับการลงนามกฎหมายสำคัญต่างๆ ของสหรัฐอเมริกา

ภาพปากกาประจำตัว อดีตประธานาธิบดี Barak Obama เป็น Cross Century II (ที่มา - ทำเนียบขาว ผ่าน Wikimedia)
ภาพปากกาประจำตัว อดีตประธานาธิบดี Barak Obama เป็น Cross Century II (ที่มา – ทำเนียบขาว ผ่าน Wikimedia)

สำหรับ Peerless 125 เป็นปากการุ่นเรือธง (flagship) ของบริษัท ออกวางจำหน่ายครั้งแรกในปี ค.ศ. 2014 ผลิตขึ้นมาโดยเป็นการผสมการออกแบบระหว่างรุ่น Peerless ที่วางจำหน่ายครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1889 และ Century ปากกายอดนิยมของคนไทย ที่ออกวางจำหน่ายเมื่อปี ค.ศ. 1935 และวางตัวให้เป็นปากกากลุ่มตลาดหรู เทียบชั้นกับ Montblanc Meisterstück 149 หรือ Pelikan Souverän M1000

Peerless 125 มีวางจำหน่ายด้วยกันหลายสี หลายรุ่น แต่รุ่นที่วางจำหน่ายในเมืองไทยประกอบไปด้วย 4 สี คือสีทอง (เคลือบทอง 23 กะรัต), สีเงินแพลตินัม, สีดำหินออบซิเดียน, และสีเงินแพลตินัมขลิบทองครับ โดยตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยคือ บริษัท DHA Siamwalla โดยเริ่มวางจำหน่ายในเมืองไทยตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี พ.ศ. 2559

[ กลับขึ้นด้านบน ]


รายละเอียดทางเทคนิค Cross Peerless 125

Cross Peerless 125

เนื่องจากทีมงานได้รับปากกามารีวิวเพียง 2 โหมดการเขียน คือ ปากกาหมึกซึม และปากกาลูกลื่น จึงมีข้อมูลของสองรูปแบบการเขียนนี้เป็นหลักครับ ส่วนโรลเลอร์บอลเป็นส่วนที่เติมขึ้นมา (ทีมงานไม่มีโอกาสได้จับและใช้งานจริง)

ปากกาหมึกซึม

  • วัสดุหลักตัวด้าม: ทองเหลือง และเหล็กกล้าไร้สนิมในส่วนแหนบและตกแต่ง
  • ความยาว: 15.6 ซม.
  • เส้นผ่าศูนย์กลาง: 1.32 ซม.
  • น้ำหนัก: 43 กรัม (ไม่มีหมึก)
  • กลไกการเปิดปิดฝา: หมุนเกลียว
  • ขนาดกว้างของเส้น: Extra-Fine, Fine, Medium และ Zoom (เฉพาะในสหรัฐอเมริกา)

ปากกาลูกลื่น

  • วัสดุหลักตัวด้าม: ทองเหลือง และเหล็กกล้าไร้สนิมในส่วนแหนบและตกแต่ง
  • ความยาว: 14.6 ซม.
  • เส้นผ่าศูนย์กลาง: 1.32 ซม.
  • น้ำหนัก: 43 กรัม
  • กลไกการเก็บไส้ปากกา: หมุน

โรลเลอร์บอล

  • วัสดุหลักตัวด้าม: ทองเหลือง และเหล็กกล้าไร้สนิมในส่วนแหนบและตกแต่ง
  • ความยาว: 15.6 ซม.
  • เส้นผ่าศูนย์กลาง: 1.32 ซม.
  • น้ำหนัก: 51 กรัม
  • กลไกการเปิดปิดฝา: หมุนเกลียว

ปากการุ่นนี้รองรับการสลักชื่อเฉพาะสีดำหินออบซิเดียนเท่านั้น โดยรอยแกะสลักจะเป็นสีเงิน และทุกรุ่นจะแถมแท่นปากกาทำจากอะคริลิกใส (ทีมงานไม่ได้รับแท่นวางปากกามาด้วย)

[ กลับขึ้นด้านบน ]


บรรจุภัณฑ์และตัวปากกา

หมายเหตุ: ตัวบรรจุภัณฑ์ของปากกาที่ทีมงานใช้ในครั้งนี้ เป็นของปากกาหมึกซึมสีทอง ในรุ่นอื่นอาจมีรายละเอียดปลีกย่อยอื่นที่แตกต่างออกไป โปรดสอบถามกับทางตัวแทนจำหน่ายอีกครั้งหนึ่ง

สำหรับบรรจุภัณฑ์ของปากกา มาในกล่องสีดำตัดกับสีเหลืองขนาดใหญ่ ด้านนอกมีกระดาษแข็งครอบแล้วเจาะรูให้เห็นตราเอาไว้ พอดึงออกจะเผยโฉมกล่องปากกาออกมา ทำลวดลายและผิวสัมผัสคล้ายหนัง

เมื่อเปิดกล่องออกมา จะพบกับโฟมและตัวปากกานอนอยู่ พอดึงโฟมออกมาจะเห็นตัวปากกาอย่างชัดเจน

ส่วนด้านบนของกล่อง ประกอบไปด้วยโบรชัวร์ข้อมูลของปากกา ส่วนด้านล่างของกล่องที่อยู่ใต้ปากกาจะเป็นที่เก็บของหมึกหลอดและหลอดสูบหมึก สามารถดึงออกมาได้เพียงแค่ดึงลิ้นสีเหลืองขึ้น

ตัวปากกามีขนาดที่ใหญ่มากกว่าปกติ (oversize) มีสีสันที่โดดเด่น โดยเฉพาะสีทอง การออกแบบเน้นที่ไปที่ความเรียบหรูเป็นหลัก

ส่วนที่เป็นฝาของปากกา มีคลิปที่มีตราสัญลักษณ์ “CROSS” ประทับเอาไว้ ส่วนหัวของปากกา (ไม่ได้ถ่ายมา) มีรหัสประจำตัวปากกา (serial number) และประดับด้วยคริสตัลชวารอฟสกี้ (Swarovski) เอาไว้

ตรงกลางด้าม จะมีคำว่า “CROSS PEERLESS 125” ลงพื้นดำไว้รอบวงแหวน เป็นเอกลักษณ์

สำหรับปากกาหมึกซึมและโรลเลอร์บอล ส่วนท้ายด้ามของปากกาจะเป็นโลหะเหล็กกล้าไร้สนิม แล้วเคลือบด้วยโลหะของปากกาตามสีของด้าม ส่วนปากกาลูกลื่นก็หมุนออกมาเป็นปากกาครับ

สำหรับทีมงาน ขนาดของปากกาทั้ง 3 ด้ามที่ได้รับมีขนาดพอกัน โดยรูปแบบที่ทีมงานชอบที่สุดคือสีแพลตินัม ที่อยู่ตรงกลางพอดีระหว่างสีสันที่ไม่โดดเด่น แต่ยังคงเก็บเอกลักษณ์ได้ ส่วนสีดำหินออบซิเดียน ทีมงานรู้สึกว่าด้อยกว่าสองด้ามเล็กน้อย แต่ยังให้สัมผัสที่ดีกว่าการใช้เรซินมาก

Peerless 125 ในสีสันและรูปแบบการเขียนต่างๆ (ซ้ายไปขวา: ปากกาลูกลื่นสีดำ, ปากกาหมึกซึมสีแพลตินัม, ปากกาหมึกซึมสีทอง)
Peerless 125 ในสีสันและรูปแบบการเขียนต่างๆ (ซ้ายไปขวา: ปากกาลูกลื่นสีดำ, ปากกาหมึกซึมสีแพลตินัม, ปากกาหมึกซึมสีทอง)
ปากกาลูกลื่น Cross Peerless 125
ปากกาลูกลื่น Cross Peerless 125

เมื่อเทียบกับปากกาคู่แข่งถือว่ามีขนาดที่ใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับปากกาหมึกซึม อย่างไรก็ตามปากการุ่นนี้เป็นการใช้หลอดสูบหมึก ไม่ใช่ลักษณะของใช้ตัวด้ามเป็นตัวเก็บหมึก (piston filler) เหมือนสองรุ่นที่นำมาเทียบกันด้านล่างนี้

เทียบปากกา
เทียบปากกา (ซ้ายไปขวา) Pelikan Souverän M1000, Montblanc Meisterstück 149, Cross Peerless 125

สำหรับปากกาหมึกซึม เมื่อหมุนฝาออกมาก็จะพบกับหัวปากกา ซึ่งทำมาจากทองคำที่ความบริสุทธิ์ 18 กะรัต และที่น่าสนใจคือหัวปากกานี้ผลิตโดยบริษัท Sailor ของประเทศญี่ปุ่น ผู้ผลิตปากกาหมึกซึมระดับเทพ 1911 Standard นั่นเอง

ส่วนปากกาลูกลื่น มีรายละเอียดไม่ต่างจากปากกาหมึกซึมมากนัก ยกเว้นการใช้กลไกแบบหมุน (propelling) ในการดันไส้ให้ออกมา เพื่อที่สามารถทำให้เขียนได้ครับ

[ กลับขึ้นด้านบน ]


ทดลองเขียน

ทีมงานทดสอบเขียนบนกระดาษยี่ห้อ Quality ขนาด A4 ที่ความหนา 80 แกรม โดยเขียนทั้งปากกาลูกลื่น และปากกาหมึกซึม โดยจะแยกผลการทดสอบออกเป็นสองส่วน ตามชนิดปากกา ดังนี้

ปากกาลูกลื่น

สำหรับปากกาลูกลื่น ถือว่าทำผลงานได้ดี เขียนได้ลื่นสมกับเป็นปากกา Cross และถือเป็นรูปแบบการเขียนยอดนิยมของคนไทย น้ำหมึกให้ไส้หมึกที่ดีและชัดเจน ส่วนตัวปากกา เนื่องจากมีขนาดใหญ่ ทำให้จับได้สะดวก ไม่เมื่อยมือเวลาจะต้องเขียนไปนานๆ น้ำหนักกำลังพอดี

ปากกาหมึกซึม

ทีมงานประทับใจในปากกาหมึกซึมเป็นอย่างมาก เนื่องจากหัวปากกาผลิตโดย Sailor ดังนั้นประสบการเขียนของปากกาด้ามนี้จึงน่าประทับใจเป็นอย่างยิ่ง ในเชิงความรู้สึกของการเขียน ให้ความรู้สึกไม่แตกต่างไปจากปากกาลูกลื่น ลื่นเป็นอย่างมาก ขณะที่ยังมีแรงตอบกลับ (feedback) มาพอให้รู้สึกได้บ้าง ถ้าเทียบประสบการณ์แล้วถือว่าเหนือชั้นกว่าหัวทองคำ 14 กะรัตของ Sailor ไปมาก (แต่ยังสู้ 21 กะรัตไม่ได้)

ในเชิงการใช้งาน ปากกาด้ามนี้ไม่ควรสวมปลอกใช้ (posted) เนื่องจากตัวปลอกปากกามีขนาดที่หนัก เวลาเสียบด้ายท้ายตัวด้ามจะรู้สึกแปลกๆ เสียสมดุล ส่วนเกลียวที่หมุนต้องหมุนถึงสองรอบ ซึ่งอาจจะมากไปสักนิดเวลาที่จะต้องหมุนเพื่อใช้เซ็นเอกสาร

ขนาดเส้นแม้จะระบุว่าเป็น Medium ซึ่งถือว่าใหญ่ที่สุดแล้วสำหรับปากการุ่นนี้ ทีมงานมีความรู้สึกว่ายังเทียบเท่าหรือใกล้เคียงกับ Fine จากฝั่งผู้ผลิตตะวันตก หรือแม้แต่ปากกา Cross รุ่นอื่นด้วยกันเอง ดังนั้นแล้วทีมงานจึงสามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่า ปากการุ่นนี้เป็นเพียงไม่กี่รุ่นที่คนชอบเส้นปากกาเล็ก จะต้องชื่นชอบอย่างแน่นอน

[ กลับขึ้นด้านบน ]


ราคาและแหล่งที่ซื้อ

สำหรับปากการุ่นนี้ มีด้วยกันทั้งหมด 3 รูปแบบการเขียน คือ ปากกาหมึกซึม โรลเลอร์บอล และปากกาลูกลื่น โดยแต่ละรูปแบบมีาคาวางจำหน่ายที่แตกต่างกัน ขึ้นกับสีของปากกาด้วย ราคาของแต่ละรุ่นมีดังนี้

ปากกาหมึกซึม

  • สีทอง เคลือบทองคำความบริสุทธิ์ 23 กะรัต – 25,000 บาท
  • สีเงินแพลตินัม เคลือบแพลตินัมความบริสุทธิ์ 23 กะรัต – 24,000 บาท
  • สีดำหินออบซิเดียน ลงแลกเกอร์ – 21,000 บาท

โรลเลอร์บอล

  • สีทอง เคลือบทองคำความบริสุทธิ์ 23 กะรัต – 16,000 บาท
  • สีแพลตินัมขลิบเคลือบทองคำ ความบริสุทธิ์ 23 กะรัต – 14,000 บาท
  • สีดำหินออบซิเดียน ลงแลกเกอร์ – 10,500 บาท

ปากกาลูกลื่น

  • สีทอง เคลือบทองคำความบริสุทธิ์ 23 กะรัต – 12,500 บาท
  • สีแพลตินัมขลิบเคลือบทองคำ ความบริสุทธิ์ 23 กะรัต – 12,000 บาท
  • สีดำหินออบซิเดียน ลงแลกเกอร์ – 8,000 บาท

ปากกาทั้งหมดวางจำหน่ายโดยบริษัท DHA Siamwalla และสามารถหาได้เฉพาะที่บางห้างสรรพสินค้าเท่านั้น ทีมงานพบวางจำหน่ายอยู่เพียง 2 ที่ในกรุงเทพมหานคร คือ แผนก BeTrend ชั้น 3 ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน และ เอ็มโพเรียม

[ กลับขึ้นด้านบน ]


สรุป

ทีมงานประทับใจกับปากการุ่นนี้เป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นทั้งในรูปแบบการเขียนปากกาลูกลื่น หรือ ปากกาหมึกซึม เรียกว่าเป็นปากกาที่สมฐานะและตำแหน่งปากกาเรือธงของค่าย ที่ให้ประสบการณ์น่าประทับใจ และเป็นปากกาที่ถูกใจทีมงาน สามารถนำออกมาใช้งานได้ในทุกโอกาส คงความเรียบหรูเอาไว้ได้อย่างดี

ปากการุ่นนี้โดยภาพรวมแล้วเหมาะสมกับผู้บริหารที่ต้องการความแตกต่างไปจากปากการุ่นอื่นๆ และต้องการปากกาที่เป็นทั้งเครื่องหมายแสดงสถานะ (status symbol) และในเวลาเดียวกันก็สามารถใช้งานได้จริง

เมื่อพิจารณาลงไปในแต่ละรูปแบบการเขียน สำหรับปากกาลูกลื่นจุดเด่นที่สุดคงอยู่ที่ขนาดตัวด้ามที่ใหญ่กว่าปกติ ทำให้จับได้ถนัดและเขียนได้นุ่มนวลกว่า แม้จะใช้ไส้ปากกาแบบเดียวกับรุ่น Century ก็ตาม ส่วนน้ำหนักของปากกาและสัมผัสของวัสดุถือว่าทำได้ดีเยี่ยม

ส่วนปากกาหมึกซึม ทีมงานประทับใจมากเป็นพิเศษ เพราะเป็นปากกาที่มีหัวเขียนติดอันดับน่าประทับใจ อันเป็นผลงานของ Sailor ที่เป็นผู้ทำหัวปากกาให้ แม้จะต้องแลกมาด้วยการใช้หลอดหมึกสูบ แทนที่จะเป็นการสูบจากตัวด้าม (piston filling) โดยตรง แต่นั่นก็เป็นเพียงจุดเล็กๆ น้อยของปากการุ่นนี้เท่านั้น

สิ่งเดียวที่จะทำให้ทีมงานหนักใจคือเรื่องของราคาที่ถือว่าอยู่ในระดับแถวหน้าของปากกาแทบทุกรุ่นในตลาด (ไม่นับรุ่นที่ผลิตจำนวนจำกัด) โดยสำหรับปากกาลูกลื่น ทีมงานคิดว่าถ้าท่านหาประสบการณ์เขียนลักษณะนี้ อาจไม่จำเป็นที่ต้องจ่ายเพื่อขึ้นมาใช้รุ่นนี้ การใช้รุ่น Townsend ก็เพียงพอแล้ว ยกเว้นเสียแต่ว่าท่านอยากจะได้ตัวด้ามปากกาขนาดใหญ่ จับถนัดมือเป็นพิเศษ ส่วนปากกาหมึกซึมนั้นทีมงานคิดว่า ด้วยราคาที่จ่ายไปกับประสิทธิภาพที่ได้มา ถือว่าคุ้มค่าแล้วอย่างยิ่ง แม้ค่าตัวจะสูงมากก็ตาม

คู่แข่งของปากการุ่นนี้โดยตรงในตลาดสำหรับปากกาหมึกซึม คงหนีไม่พ้น Sailor King of Pen ที่มีราคาใกล้เคียงกัน แต่ได้หัวปากกาที่เป็นทองคำความบริสุทธิ์ 21 กะรัต และมีขนาดใหญ่กว่า หรือถ้าลงมาก็จะเป็น 1911 Large ที่ราคาถูกกว่ากันอย่างน้อย 1 ใน 3 ขนาดตัวด้ามที่เล็กกว่า แต่ได้หัวปากกาที่มีขนาดใกล้เคียงกัน ได้ความบริสุทธิ์ของทองที่มากกว่า (21 กะรัต) งานนี้จึงเป็นเรื่องของศึกสายเลือดระหว่างสายตรง กับสายผสมอย่างแท้จริง ส่วนถ้าจะข้ามแบรนด์ ปากกาที่อยู่ในระดับเดียวกันคงหนีไม่พ้น Montblanc Meisterstück 149 หรือ Pelikan Souverän M1000 ซึ่งต่างก็มีหัวปากกาที่ความบริสุทธิ์เดียวกัน (18 กะรัต) ทั้งหมด ซึ่งจากประสบการณ์ทดลองเขียนทั้งหมดของทีมงาน พบว่าเป็นเรื่องยากมากในการชี้วัดว่าปากกาด้ามใดดีกว่ากัน ทั้งหมดจึงขึ้นกับสไตล์ของท่านผู้อ่านที่จะเลือก

สำหรับปากกาลูกลื่น คู่แข่งที่ใกล้เคียงที่สุดคือ Montblanc Meisterstück LeGrand 146 ที่มีปากกาลูกลื่นด้วยเช่นกัน แต่ราคาสูงกว่ามาก และ Caran d’Ache Ecridor ซึ่งมีราคาที่ถูกกว่าอยู่พอสมควร แต่มีตัวด้ามที่เล็กและเรียวกว่า

กล่าวโดยสรุปแล้ว ปากการุ่นนี้ถือว่าทำผลงานได้อย่างน่าประทับใจ แม้จะมีราคาที่สูงกว่าปากกาทั่วไป แต่ก็ตามมาด้วยประสิทธิภาพที่ดีทัดเทียมกับราคาที่จ่ายไป ถ้าท่านเป็นผู้บริหารที่ต้องการปากกาเพื่อบอกสถานะของท่าน แต่ต้องการความแตกต่างนอกเหนือไปจากปากกาผู้บริหารโดยทั่วไป Cross Peerless 125 ถือเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ของท่าน ที่ควรพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง

[ กลับขึ้นด้านบน ]


วิดีโอรีวิว

[ กลับขึ้นด้านบน ]


เครดิต

  • ข้อมูล: DHA Siamwalla, A. T. Cross Company, Nibs.com
  • ภาพถ่าย – ศิระกร ลำใย
  • เนื้อหารีวิว: ภัทรนันท์ ลิ้มอุดมพร

[ กลับขึ้นด้านบน ]

ความเห็นภาพรวม

ปากการุ่นนี้ถือว่าทำผลงานได้อย่างน่าประทับใจ แม้จะมีราคาที่สูงกว่าปากกาทั่วไป แต่ก็ตามมาด้วยประสิทธิภาพที่ดีทัดเทียมกับราคา ถ้าท่านเป็นผู้บริหารที่ต้องการปากกาเพื่อบอกสถานะของท่าน แต่ต้องการความแตกต่างนอกเหนือไปจากปากกาผู้บริหารโดยทั่วไป Cross Peerless 125 ถือเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ของท่าน ที่ควรพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง
ทีมงานไรท์ติ้งอินไทย
ทีมงานไรท์ติ้งอินไทย
Writing in Thai (ไรท์ติ้งอินไทย) เว็บไซต์รวบรวมเรื่องราวของ ปากกา ปากกาหมึกซึม และเครื่องเขียนอื่นๆ สำหรับคนรุ่นใหม่ มีทั้งปากกาหมึกซึม ดินสอ ปากกาลูกลื่น ข่าว อัพเดต ความรู้ หมึก การเขียน รีวิว เทคนิค สาระและความรู้

เนื้อหายอดนิยม

ติดตามเราบน Facebook

ปากการุ่นนี้ถือว่าทำผลงานได้อย่างน่าประทับใจ แม้จะมีราคาที่สูงกว่าปากกาทั่วไป แต่ก็ตามมาด้วยประสิทธิภาพที่ดีทัดเทียมกับราคา ถ้าท่านเป็นผู้บริหารที่ต้องการปากกาเพื่อบอกสถานะของท่าน แต่ต้องการความแตกต่างนอกเหนือไปจากปากกาผู้บริหารโดยทั่วไป Cross Peerless 125 ถือเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ของท่าน ที่ควรพิจารณาเป็นอย่างยิ่งรีวิว Cross Peerless 125 สุดยอดปากกาสำหรับผู้บริหาร หรูหรา มีสไตล์ทุกจังหวะชีวิต