29 มีนาคม 2024
รีวิวรีวิวเครื่องเขียนSailor 1911 Standard ปากกาหมึกซึมฟ้าประทาน จากแดนอาทิตย์อุทัย

Sailor 1911 Standard ปากกาหมึกซึมฟ้าประทาน จากแดนอาทิตย์อุทัย

-

“ฟ้าประทาน” เป็นหนึ่งในคำที่ทีมงานไรท์ติ้งอินไทย พยายามหลีกเลี่ยงในการพูดถึงเครื่องเขียนรุ่นใดหรือประเภทใดเป็นการเฉพาะ เนื่องจากเครื่องเขียนเหล่านี้มักมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป อย่างไรก็ตาม ปากกาหมึกซึม Sailor 1911 Standard เป็นข้อยกเว้นที่ทีมงานทั้งหมดสามารถพูดได้อย่างเต็มว่า นี่คือปากกาหมึกซึมฟ้าประทานอย่างแท้จริง ด้วยคุณสมบัติการเขียนที่ดีเลิศของปากกาซึ่งยากที่จะหาใครเหมือน

ไรท์ติ้งอินไทย ขอนำเสนอรีวิวปากกาหมึกซึมฟ้าประทานรุ่นนี้ ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นหนึ่งในปากกาหมึกซึมที่มีหัวเขียนดีเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ให้ทุกท่านได้อ่านกันครับ

ข้อมูลแจ้งเพื่อทราบ: รีวิวนี้ เขียนจากประสบการณ์ตรงของทีมงาน และไม่ได้รับการสนับสนุนใดๆ ในทางการเงินจากแบรนด์หรือตัวแทนจำหน่าย ยกเว้นข้อมูลในทางประวัติศาสตร์และภาพประกอบเนื้อหาบางชิ้นที่ต้องได้รับอนุญาตเท่านั้น (ระบุไว้ใต้ภาพแล้ว)


เนื้อหา

[ ประวัติ | รายละเอียดทางเทคนิค | บรรจุภัณฑ์และตัวปากกา | ความเหมือนและคล้าย/เสียงวิจารณ์ | ทดลองเขียนราคาและแหล่งที่ซื้อ | สรุป | วิดีโอรีวิว | เครดิต ]


ประวัติศาสตร์ของ Sailor และปากกาหมึกซึม 1911

ประเทศญี่ปุ่นมีผู้ผลิตเครื่องเขียนทั้งหมดสามค่ายหลัก ได้แก่ Pilot, Platinum, และ Sailor ตลาดประเทศไทยมักรู้จักแบรนด์ Pilot เป็นอย่างดี เพราะบริษัทมีสินค้าอื่นนอกจากปากกาหมึกซึมด้วย (หนึ่งในปากกาที่ได้รับความนิยมในประเทศไทยคือปากกาลบได้ Pilot Frixion) ส่วน Sailor ในฐานะผู้ผลิตปากกา ก็ต้องกล่าวว่าเป็นหนึ่งใน 3 ผู้ผลิตเครื่องเขียนรายสำคัญของญี่ปุ่น และมีประวัติที่ยาวนานที่สุด

Kyugoro Sakata และสายการผลิตปากกา Sailor ในระยะแรก (ภาพจากบริษัท)

ในปี 1911 Kyugoro Sakata วิศวกรจากเมืองฮิโรชิมา ได้รับของขวัญเป็นปากกาหมึกซึมจากเพื่อนกะลาสีเรือชาวอังกฤษ ด้วยความหลงใหลในปากกาด้ามนั้น Sakata จึงก่อตั้งบริษัทผลิตปากกาหมึกซึมขึ้นมาด้วยความมุ่งมั่นจะผลิตเครื่องเขียนชั้นเลิศ

จากเอกสารของบริษัท ในระยะแรกเริ่มของการก่อตั้งชื่อทางการค้าของบริษัทคือ “Sakata-Manufactory” โดยผลิตเฉพาะเพียงส่วนหัวของปากกาหมึกซึม จากนั้นเมื่อปี ค.ศ.1917 บริษัทจึงย้ายที่ทำการไปยังเมือง Hamadacho ที่ตั้งอยู่ข้างกัน พร้อมกับเริ่มต้นผลิตปากกาหมึกซึมทั้งด้ามอย่างเป็นทางการ นับเป็นบริษัทแรกในประเทศญี่ปุ่นที่ผลิตปากกาหมึกซึม พร้อมกับการเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น “Sailor Pen Sakata-Manufactory Co,. Ltd.” ชื่อ Sailor นั้นนอกจากจะมาจากเพื่อนกะลาสีแล้ว ยังเป็นความตั้งใจของ Sakata เองด้วยว่าต้องการให้ชื่อเสียงของปากกาหมึกซึมจาก Sailor นั้นขยายไปทั่วโลก เหมือนการเดินทางของกะลาสีเรือ

ในระยะแรก บริษัทจำหน่ายเฉพาะปากกาหมึกซึมเป็นหลัก และกระแสความนิยมในปากกาหมึกซึมหัวทองคำของสังคมญี่ปุ่นตั้งแต่ปี ค.ศ.1929 เป็นต้นมา ทำให้บริษัทขยายตัวและได้รับการยอมรับเป็นวงกว้าง อย่างไรก็ตามบริษัทก็มีจุดพลิกผันไปตามสภาวะการณ์ของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่บริษัทออกผลิตภัณฑ์ใหม่ คือปากกาลูกลื่นในปี ค.ศ.1948 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ แม้โรงงานของบริษัทจะไม่ได้รับผลกระทบจากอาวุธนิวเคลียร์ก็ตาม

ตลอดเวลาหลังจากนั้น Sailor ไม่หยุดพัฒนาการผลิตเครื่องเขียนของตนเอง หลังสงครามโลกครั้งที่สอง Sailor เป็นบริษัทแรกในญี่ปุ่นที่สามารถผลิตปากกาลูกลื่น (ballpoint pen) ได้ในปี ค.ศ. 1954 หรือปากกาหมึกซึมขนาดเล็กในปี ค.ศ.1963 รวมถึงเป็นบริษัทแรกในญี่ปุ่นที่สามารถผลิตด้ามปากกาหมึกซึมที่ขึ้นรูปจากพลาสติก ส่งผลให้สายการผลิตทำได้อย่างรวดเร็ว หลังจากก่อนหน้านี้ด้ามปากกาหมึกซึมมักจะขึ้นรูปด้วยยางแข็ง (ebonite – ยางที่ผ่านกระบวนการวัลคาไนซ์) หรือเซลลูลอยด์

หัวปากกาทองคำ ความบริสุทธิ์ 14 กะรัต

แต่จุดที่สำคัญที่สุด (และยังคงเป็นเพียงเจ้าเดียวในโลกที่ใช้หัวลักษณะนี้) คือการผลิตหัวปากกาหมึกซึมที่ใช้ทองคำความบริสุทธิ์ 21 กะรัต ในปี ค.ศ.1969 ให้ความนุ่มนวลและความยืดหยุ่นในการเขียนเป็นอย่างมาก และเป็นระดับความบริสุทธิ์ที่มากที่สุดในปัจจุบันด้วยเช่นกัน

ความเชี่ยวชาญในด้านการผลิตหัวปากกามาตั้งแต่แรกเริ่ม ทำให้ Sailor เป็นหนึ่งในแบรนด์ปากกาหมึกซึมที่ได้รับการยอมรับว่ามีหัวปากกาที่ดีที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ไม่ว่าจะเป็นหัวปากกาของบริษัทเองที่ผลิตทั้งแบบ 14 กะรัต และ 21 กะรัต ที่ใช้กับปากการุ่นต่างๆ ของตนเองหรือร่วมมือกับคนอื่น (เช่น Classic Pens LB5) และหัวทองคำ 18 กะรัต ที่ผลิตให้เป็นพิเศษสำหรับแบรนด์ Cross ใช้กับปากกาหมึกซึม Peerless 125 ด้วย

John Mottishaw เล่าในบล็อกส่วนตัวว่า Sailor ควบคุมคุณภาพของวัสดุในแทบทุกขั้นตอน ซึ่งรวมถึงการหล่อโลหะแต่แรก (บริษัทอื่นซื้อโลหะสำเร็จแล้ว) ทำให้บริษัทสามารถผลิตหัวปากกาหมึกซึมที่ต้องการได้ จากนั้นก็ใช้เครื่องในการผลิตบางส่วน ก่อนที่จะตรวจสอบอย่างละเอียดโดยเจ้าหน้าที่และปรับแต่งหัวปากกาทุกอย่างด้วยมือ โดยไม่ได้ใช้เครื่องยนต์เลยในขั้นตอนนี้

หุ่นยนต์ RZ-A ของบริษัท (ภาพจากบริษัท)
หุ่นยนต์ RZ-A ของบริษัท (ภาพจากบริษัท)

กระบวนการผลิตที่เริ่มมีเครื่องจักรและหุ่นยนต์เข้ามาใช้ในสายการผลิต เริ่มมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1967 ที่เริ่มต้นใช้เครื่องและกลไกการผลิตพลาสติกแบบฉีดลงไปในแม่พิมพ์ จากนั้นในปีถัดมาบริษัทผลิตหุ่นยนต์ทดลอง RX-0 ออกมา และจัดแสดงในปีถัดไป (ค.ศ.1970) ที่งาน Japan Plastic Trade Fair และนับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญอีกอย่างของบริษัท คือการจัดตั้งแผนกหุ่นยนต์ (Robotic Division) นอกเหนือไปจากการผลิตเครื่องเขียนด้วย

สำหรับปากการุ่น 1911 เป็นปากกาที่บริษัทปล่อยออกมาในปี ค.ศ.1981 ฉลองครบรอบการก่อตั้งบริษัทมา 70 ปี และถือเป็นหนึ่งในปากการุ่นหลักของบริษัท มีชื่อเรียกในประเทศญี่ปุ่นว่า “Professional Fit” (ย่อว่า Profit) และเป็นปากกาที่ไรท์ติ้งอินไทยเลือกมารีวิวในวันนี้

[ กลับด้านบน ]


รายละเอียดทางเทคนิค Sailor 1911 Standard

  • รหัสผลิตภัณฑ์: 11-1219 (14 กะรัต) หรือ 11-1521 (21 กะรัต)
  • วัสดุตัวด้าม: PMMA Resin
  • ระบบเติมหมึก: หมึกหลอดหรือหลอดสูบหมึก (ของ Sailor)
  • หัวปากกา: 14 กะรัต (จำหน่ายทั่วโลก) หรือ 21 กะรัต (เฉพาะประเทศญี่ปุ่น)
  • ขนาดเส้น: Extra-Fine, Fine, Medium-Fine, Medium, Broad, Zoom, Music (MS)
  • สีที่วางจำหน่าย: ดำ, ขาว, สีแดงเลือดหมู และสีน้ำเงินเข้ม (มีสีอื่นด้วย เช่น สีแดง สีเหลือ และสีน้ำเงินขลิบดำ)
  • เส้นผ่าศูนย์กลาง: 1.3 ซม., ความยาว: 13.4 ซม. (เมื่อปิดฝา) และ 14.7 ซม. (เมื่อสวมปลอกปากกาด้านหลัง), ด้ามเปล่าหนัก 16 กรัม

[ กลับด้านบน ]


บรรจุภัณฑ์และตัวปากกา

Sailor 1911 Standard บรรจุมาในกล่องหนังเทียมอย่างเรียบง่าย พิมพ์โลโก้บริษัทพร้อมตราสมอเรืออันเป็นเอกลักษณ์อย่างชัดเจน

เมื่อเปิดกล่องปากกาหมึกซึม พบปากกา Sailor 1911 Standard นอนอยู่อย่างเรียบร้อยบนวัสดุบุกำมะหยี่ ตัวกล่องใช้วิธีการยึดปากกาเข้ากับกล่องด้วยแถบริบบิ้นดังแสดงในภาพ ไม่มีการเซาะร่องกล่องสำหรับใส่ปากกาหมึกซึม ด้านล่างบริเวณที่วางปากกาสามารถยกขึ้นได้ เป็นที่เก็บคู่มือ เอกสารการรับประกัน รวมถึงหมึกหลอดที่ได้รับมาในกล่อง

ตัวด้ามปากกาของ Sailor 1911 มาในรูปทรงซิการ์มาตรฐาน ละม้ายคล้ายคลึงกับปากกาทรงซิการ์ด้ามอื่นในตลาด เช่น Montblanc Meisterstück Classique หรือ Platinum 3776 Century ด้ามปากกาขึ้นรูปด้วยเรซินสีดำ บริเวณแหนบ ท้ายปากกา และท้ายปลอกปากกามีการเคลือบด้วยสีทอง

ในเรื่องของการออกแบบ ปากการุ่นนี้มักถูกมองว่าเป็นปากกาที่มีความหรูหราและสุภาพ อย่างไรก็ตามบางคนอาจจะไม่ชอบเนื่องจากการออกแบบที่ดูธรรมดา ไม่ดึงดูดคนรุ่นใหม่เท่าที่ควร ทีมงานมองว่าปากการุ่นนี้น่าจะเหมาะสมกับการใช้งานในการทำงานที่ต้องการความเป็นทางการ เช่น นักกฎหมาย การทูต หรือตำแหน่งผู้บริหาร มากกว่าที่จะเป็นปากกาทั่วไป

รอบปลอกปากกามีวงแหวนขลิบทอง พิมพ์ว่า “Founded 1911 Sailor Japan” แหนบหรือคลิปหนีบปากกาขึ้นทรงเรียว บริเวณปลายโค้งมน เป็นสีทองทั้งชิ้น การเปิดปลอกปากกาใช้วิธีการหมุนเกลียว ไม่ใช่ดึงตรงๆ

หัวปากกาทองคำ ความบริสุทธิ์ 21 กะรัต
หัวปากกาทองคำ ความบริสุทธิ์ 21 กะรัต
หัวปากกาทองคำ ความบริสุทธิ์ 14 กะรัต

หัวปากกาของ Sailor 1911 มีจำหน่ายในความบริสุทธิ์สองระดับ คือความบริสุทธิ์ 14 และ 21 กะรัต (ความบริสุทธิ์ 21 กะรัต มีจำหน่ายเฉพาะในญี่ปุ่นเท่านั้น) มีหัวปากกาให้เลือกหลายขนาด ได้แก่ Extra Fine, Fine, Medium-Fine, Medium, Broad จนถึง Zoom รวมถึงหัวปากกาพิเศษอย่าง Music สำหรับเขียนโน้ตดนตรี

ทีมงานไรท์ติ้งอินไทยทั้งสามคนมีปากกาครอบครองสามด้าม ได้แก่ ขนาดเส้น Medium หัวทองคำ 21 กะรัต, ขนาดเส้น Medium-Fine หัวทองคำ 14 กะรัต และ ขนาดเส้น Fine หัวทองคำ 14 กะรัต

หัวปากกาเป็นทองทั้งชิ้น ไม่มีการเคลือบเงินหรือทองคำขาว บนหัวปากกาพิมพ์ลายโค้ง พร้อมเลขรุ่นปากกา “1911” และสมอเรืออันเป็นตราสัญลักษณ์ของ Sailor ด้านล่างพิมพ์ความบริสุทธิ์ของหัวปากกา (ในภาพเป็นหัวทองคำแบบ 21 กะรัต) และด้านข้างของหัวปากกามีการสลักขนาดหัวปากกาเอาไว้ (ในภาพด้านบนเป็นหัวขนาด M)

ข้อที่ควรพิจารณาคือในกรณีของด้าม 21 กะรัต ทีมงานพบว่าตัวด้ามมีการเก็บงานที่ไม่เรียบร้อย ยังมีรอยหล่อเรซินปรากฎให้เห็นอยู่จางๆ ซึ่งปากการะดับนี้ไม่ควรมีแล้ว

[ กลับด้านบน ]


ความเหมือนและคล้าย/เสียงวิจารณ์

ซ้าย: Montblanc Meisterstück 145 ขวา: Sailor 1911 Standard
ซ้าย: Montblanc Meisterstück 145 ขวา: Sailor 1911 Standard

ปากกาหมึกซึม Sailor รุ่น 1911 ไม่ว่าจะเป็นขนาดมาตรฐาน (Standardใหญ่ (Large) หรือรุ่นบนที่เป็นเรือธง (flagship) อย่าง King of Pen ล้วนเป็นปากกาที่มีรูปทรงเหมือนแท่งซิการ์ที่เป็นทรงกระบอกกลม แล้วเรียวยาวค่อย ๆ แหลมไปที่ปลายด้าม และรุ่นหลักที่จำหน่ายเป็นสีดำตัดกับทอง/เงิน เรียกได้ว่าเป็นการออกแบบที่ให้ความคลาสสิค หรูหรา มีระดับ

แต่ในทางกลับกัน การออกแบบเช่นนี้ทำให้ถูกมองว่ามีรูปร่างหน้าตาที่คล้ายคลึงกับ Montblanc Meisterstück อย่างมาก ประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องที่มักถูกพูดถึงอยู่บ้างในกลุ่มผู้ใช้งานปากกาในต่างประเทศ เช่นใน Reddit, เว็บไซต์ Fountain Pen Network หรือแม้แต่การทำมีม (meme) ล้อเลียนใน Instagram โดยบางคนที่มีความเห็นว่า Sailor ทำเลียนแบบ Montblanc ในขณะที่บางคนมองว่าคุณสมบัติการเขียนที่ดีทำให้ Sailor ดูดีขึ้นมาได้ ส่วนบางคนแย้งว่า Sheaffer เป็นเจ้าแรกที่ทำปากการูปทรงแบบซิการ์มาก่อน เป็นต้น

บริษัทระบุเองว่าปากการุ่นนี้ (หรือทำตลาดในญี่ปุ่นในชื่อรุ่น Professional Fit) นั้น เริ่มออกสู่ตลาดในปี 1981 ดังนั้นจึงอาจมีความเป็นไปได้ในแง่ของความเหมือนจาก Montblanc ที่ได้มาเป็นแรงบันดาลใจ

ทั้งนี้ ทีมงานไม่ได้มีหน้าที่มาตัดสินว่าใครลอกใคร และชื่นชอบปากกาของทั้งสองบริษัทจากเท่าที่เคยสัมผัสมา ในรีวิวนี้เองก็จะทำหน้าที่ให้ผู้อ่านได้รับรู้ถึงประสบการณ์การเขียนที่ได้รับจาก Sailor 1911S เป็นหลัก

[ กลับด้านบน ]


ทดลองเขียน Sailor 1911 Standard

ในส่วนนี้ เนื่องจากเป็นการวิจารณ์ร่วมกันทั้งหมด 3 คน จึงขอแยกการวิจารณ์ออกจากกัน เป็นรายคน โดยยึดตามปากกาที่แต่ละท่านมี

[ ธีรุตม์ ธุระตา | ศิระกร ลำใย | ภัทรนันท์ ลิ้มอุดมพร ]


บทวิจารณ์โดย ธีรุตม์ ธุระตา

ปากกาประจำตัว: Medium-Fine ความบริสุทธิ์ทองคำ 14 กะรัต

ปากกาของทีมงานที่มีนั้น ได้แก่ หัวทอง 14 กะรัต (585) ในขนาด F และ MF กับหัวทองคำที่ 21 กะรัต (875) ในขนาด M ที่ให้เส้นเล็กไปจนถึงกลางตามลำดับ และมีขนาดเส้นที่แตกต่างกันเล็กน้อย ซึ่งเป็นไปตามปกติของปากกาจากญี่ปุ่นที่ให้เส้นขนาดเล็กกว่าปากกาจากทางยุโรปและอเมริกา

จากการเขียนพบว่า Sailor 1911 Standard ไม่ว่าจะเป็นหัวปากกาแบบ 14 หรือ 21 กะรัต ถือว่าเป็นหัวปากกาที่ดีมากรุ่นหนึ่งเท่าที่ทีมงานเคยเจอมา เนื่องจากให้ความรู้สึกที่สบายเมื่อเขียนลงกระดาษ เขียนได้ลื่นดี มีความยืดหยุ่น (springy) อยู่บ้าง ไม่ให้ความรู้สึกฝืดหรือมีอาการกัดกระดาษ (scratchy) แม้ว่าจะเป็นหัวขนาด F ที่ให้เส้นขนาดเล็กมากแต่ก็สามารถเขียนได้อย่างสบาย โดยในระหว่างการเขียนนั้นจะมีเสียงที่เหมือนกับการใช้ดินสอเขียน

ในเรื่องของการจ่ายหมึกนั้น หมึกจะไม่ออกมาน้อยหรือมากนัก เมื่อเทียบกับ Montblanc ที่จ่ายน้ำหมึกมากกว่า หรือ Platinum 3776 ซึ่งเป็นคู่แข่งจากแดนอาทิตย์อุทัยอีกราย ที่จ่ายน้ำหมึกออกมาแห้งกว่า (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับน้ำหมึกและขนาดหัวปากกาที่ใช้)

ผู้ทดสอบรายหนึ่งมองว่าหัวปากกาของ Sailor ให้ความรู้สึกลื่นเหมือนกับการใช้ดินสอแกรไฟต์เขียน คือไม่ฝืดหรือลื่นจนเกินไป มีความสมดุลในตัวของมันเอง ถือว่าเป็นปากกาที่เขียนได้อย่างสบาย และสามารถเขียนได้ยาวโดยที่ไม่รู้สึกเหนื่อย

แต่เมื่อผมลองเขียนแบบกลับหัว (Reverse writing) ทีมงานพบว่าหัวปากกาด้ามนี้ให้ความรู้สึกในการเขียนที่ฝืดขึ้นมากกว่าเดิม ให้อารมณ์เหมือนการนำเข็มเย็บผ้ามาขีดลงกระดาษ และมีการจ่ายน้ำหมึกที่อ่อนลง (สีที่ได้จากการเขียนอ่อนลงดังรูป) จึงไม่เหมาะนักสำหรับผู้ที่ชื่นชอบหรือถนัดกับการเขียนแบบกลับหัว นอกจากนี้ยังให้เส้นที่มีขนาดเล็กลง เช่นเดียวกับปากกาหมึกซึมทั่วไป

หัวปากกาทั้งในขนาด 14 และ 21 กะรัต นั้นไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ยืดหยุ่นหรือเป็น flexnib ถึงแม้ว่าจะมีความรู้สึกถึงความยืดหยุ่น (springy) เล็กน้อย โดยที่หัวปากกาเองก็มีการระบุว่าเป็นหัวที่มีความแข็ง (Hard “-H” ด้านข้างของหัวปากกา) ดังนั้น จึงไม่แนะนำให้กดหัวอย่างแรง เพราะอาจทำให้หัวปากกาเสียหายได้ ดังนั้นทั้ง 14 และ 21 กะรัต จึงไม่เหมาะกับผู้ที่ต้องการปากกาที่มีคุณสมบัติใน flex nib เช่น การใช้เขียนตัวอักษรแบบ Spenserian script

สำหรับความแตกต่างกันระหว่างหัวทองแบบ 14 และ 21 กะรัต ทีมงานทดสอบมองว่ามีความแตกต่างกันอยู่ ซึ่งถ้าไม่ได้เปรียบเทียบพร้อมกันก็จะมองว่าปากกาทั้งสองด้ามนั้นเขียนลื่นสบาย แต่เมื่อนำมาเปรียบเทียบกันแล้ว พบว่าหัวขนาด 21 กะรัต นั้นให้ความรู้สึกถึงความสบายในการเขียนมากกว่า 14 กะรัต ที่ยังคงมีความฝืดอยู่บ้าง ประดุจดังหัวปากกาในฝันที่ทำให้ทีมงานอยากได้ปากกาที่ใช้หัวของ Sailor ขนาด 21 กะรัต มาใช้งานอีกในอนาคต เรียกง่าย ๆ ว่า 14 กะรัต อาจเป็นขั้นต้น 21 กะรัต จะเป็นขั้นกว่าของหัวปากกาที่ดี

ในส่วนของตัวด้ามที่เป็นเรซิน ให้น้ำหนักเบา ถือได้นานโดยไม่รู้สึกปวดเมื่อย อย่างไรก็ตาม ผู้ทดสอบรายหนึ่งที่มีมือขนาดใหญ่มองว่ามันมีขนาดเล็กเกินไป โดยต้องสวมปลอก (posted) เพื่อให้จับได้ถนัดขึ้น

[ บทวิจารณ์ท่านอื่น | กลับไปด้านบน ]


บทวิจารณ์โดย ศิระกร ลำใย

ปากกาประจำตัว: Fine ความบริสุทธิ์ทองคำ 14 กะรัต

ผู้เขียนทดลองเขียนปากกากับกระดาษดับเบิ้ลเอ น้ำหนัก 80 กรัมต่อตารางเมตร ด้วยหมึก Montblanc Mystery Black กับปากกา Sailor 1911 Standard ของผู้เขียน

หากให้กล่าวแบบตรงไปตรงมา ปากกาด้ามนี้เแทบไม่ได้ออกจากกรุของผู้เขียน ด้วยเหตุผลของความ “หวง” เป็นพิเศษ ตัวปากกาให้ความรู้สึกดีขณะเขียน แม้จะฝืดอยู่บ้าง แต่หากเทียบเฉพาะปากกาหัวขนาดใกล้เคียงกัน (F จากฝั่งญี่ปุ่น หรือ EF จากฝั่งยุโรป) ไม่มีปากกาด้ามไหนที่ให้ความลื่นในการเขียนได้เท่านี้ (และแน่นอนว่ามีปากกาหัวใหญ่กว่านี้ที่ฝืดกว่าปากกาด้ามนี้)

น้ำหนักเส้นที่ได้นั้นเกิดจากความอ่อนของทองที่ใช้ทำหัวปากกา คงเป็นการยากที่จะหาปากกาหัวธรรมดา (ไม่ใช่ flex pen) ซึ่งตอบสนองต่อน้ำหนักในระดับนี้ได้ หากไม่ใช่ปากกาที่ขึ้นหัวด้วยทองทำแท้

ข้อกังวลของผู้เขียนมีเพียงสองประการ – ประการแรกคือด้ามปากกาที่ค่อนข้างเล็ก ทำให้จับไม่ถนัดมือ ประการที่สองคือน้ำหนักที่เบาทำให้เขียนไม่สบายหากไม่เสียบปากกากับปลอก (pose) แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการเสียบปากกากับปลอกย่อมก่อให้เกิดความเสี่ยงในการเป็นรอยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

[ บทวิจารณ์ท่านอื่น | กลับไปด้านบน ]


บทวิจารณ์โดย ภัทรนันท์ ลิ้มอุดมพร

ปากกาประจำตัว: Medium ความบริสุทธิ์ทองคำ 21 กะรัต

สำหรับผู้เขียนที่มีโอกาสได้เขียนทุกหัว ขออนุญาตที่จะสรุปให้เห็นภาพดังต่อไปนี้

  • หัวปากกา 14 กะรัต มีความแข็งมากกว่าและเขียนได้ไม่นุ่มนวลเท่ากับหัว 21 กะรัต ทั้งสองตัวให้ความรู้สึกที่ยังมีแรงต้านและตอบกลับ (feedback) อยู่บ้าง ในกรณีของหัวขนาดเส้น Fine ให้ความรู้สึกเหมือนกับการเขียนด้วยดินสออย่างมาก ส่วน Medium-Fine อยู่ในระดับที่ยืนอยู่กลางๆ ส่วนตัวถ้าจะต้องเลือกหัวปากกาที่รักษาสมดุลของการเขียนและเซ็นได้ดี จะเลือกที่ขนาดเส้นดังกล่าว
  • หัวปากกา 21 กะรัต มีความอ่อนนุ่มมากกว่า ทำให้ผู้เขียนนึกถึงปากกาอย่าง Pilot Falcon หัวแบบ Soft-Fine หรือ Pelikan Souverän M1000 เมื่อผนวกเข้ากับขนาดเส้นของปากกาที่เลือกมาเป็น M ทำให้รู้สึกว่ามีความลื่นและไม่มีแรงต้านทานใดๆ เขียนได้ดั่งใจสั่งมากกว่าที่คิด

ทั้งสามด้ามให้ความรู้สึกในการจับที่ดี แต่ด้วยขนาดตัวด้ามที่เล็ก คิดว่าปากกาด้ามนี้ควรเสียบปากกาไว้ด้านหลังตลอดการเขียนมากกว่าที่จะใช้แล้วจับปลอกวางแบบ Montblanc Meisterstück 149 ส่วนขนาดเส้นเป็นไปตามมาตรฐานญี่ปุ่นที่มักจะกำหนดหัวปากกาเอาไว้เล็กกว่าทางยุโรปอย่างน้อย 1 ระดับ (ยกเว้นหัวอย่าง Medium และ Broad ที่เท่าเทียมกัน)

อย่างไรก็ตาม ปากกาด้ามนี้มีจุดอ่อนที่ตัวหลอดสูบหมึกบรรจุหมึกได้น้อยกว่าเจ้าอื่นๆ, ใช้หลอดหมึกของตัวเองที่ออกแบบเอง และสำคัญที่สุดคือการเก็บงานตอนขึ้นชิ้นส่วนที่ไม่ดีพอ ผมได้รับปากกาด้ามนี้มาโดยที่ยังเห็นรอยหล่อปรากฎอยู่ ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายว่าปากการะดับนี้แล้ว แต่การเก็บงานยังไม่ได้เรียบร้อยเท่าปากกาหมึกซึมจากผู้ผลิตรายอื่น

[ บทวิจารณ์ท่านอื่น | กลับไปด้านบน ]


ราคาและแหล่งที่ซื้อ

ปัจจุบันประเทศไทยมีตัวแทนจำหน่ายเพียงรายเดียว นั่นก็คือบริษัท Capital Good Rich ผู้นำเข้าปากกาทั้ง Caran d’Ache และ DAKS (Sailor ผลิตให้เช่นกัน) และมีเฉพาะแบบหัวทองคำ 14 กะรัตเท่านั้นในรุ่น Standard (Large และ King of Pen มีเฉพาะหัว 21 กะรัต) ราคาค่าตัวอยู่ที่ประมาณ 6,800 บาท (ไม่รวมส่วนลด)

ในกรณีที่ท่านต้องการหัวทองคำที่ความบริสุทธิ์ 21 กะรัต ผู้อ่านย่อมมีสองทางเลือก ประการแรกคือการขยับขึ้นไปซื้อรุ่น 1911 Large (11-2021) ที่ราคา 10,560 บาท (ยังไม่รวมส่วนลด) หรือไม่ก็ต้องใช้วิธีการซื้อจากต่างประเทศ ตัวเลือกหลังแม้อาจจะดูสมเหตุสมผลมากกว่า (รวมถึงราคาที่ถูกกว่าด้วย) แต่การรับประกันจะเป็นส่วนที่มีปัญหา เนื่องจากนโยบายทั้งแบรนด์และตัวแทนจำหน่ายจะไม่รับซ่อมปากกาที่อยู่นอกเหนือไปจากรุ่นที่อนุญาตให้จำหน่ายในต่างประเทศ และไม่รับซ่อมข้ามประเทศแต่อย่างใด (ซื้อที่ไหน กับใคร คนนั้นรับผิดชอบ) ผู้อ่านจึงควรพิจารณาเรื่องนี้โดยละเอียด

ไรท์ติ้งอินไทยมีนโยบายในการสนับสนุนตัวแทนจำหน่ายในประเทศ คำแนะนำของทีมงานจึงแนะนำให้ซื้อกับตัวแทนจำหน่ายหลักก่อน ยกเว้นท่านสามารถรับความเสี่ยงได้ที่ปากกาหมึกซึมของท่านจะไม่มีประกันเท่านั้น

[ กลับไปด้านบน ]


สรุป

สำหรับทีมงานไรท์ติ้งอินไทย ทุกคนต่างประทับใจกับปากกาด้ามนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเชิงประสิทธิภาพของการเขียน ไม่ว่าจะเป็นแบบหัวทองคำ 14 หรือ 21 กะรัต ก็ตาม ทั้งสามด้ามทำหน้าที่ของมันได้ดีในแบบที่มันเป็น และทำได้อย่างน่าประทับใจมาก

อย่างไรก็ตาม ปากกาด้ามนี้ต้องถือว่ามีขนาดที่เล็กเมื่อใช้งาน ทำให้ท่าบังคับคือเรื่องของการเสียบปลอกปากการะหว่างเขียน จะทำให้สะดวกขึ้น โดยเฉพาะในกรณีที่มือผู้ใช้มีขนาดใหญ่ ซึ่งต้องคำนึงถึงจุดนี้ให้มาก

สิ่งที่เป็นข้อเสียของปากกาด้ามนี้หาได้น้อยมาก แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มี เช่น การเก็บงานหล่อตัวด้ามที่ไม่เรียบร้อย, การที่ต้องใช้เฉพาะหลอดสูบหรือหมึกหลอดของบริษัทอย่างเดียว และการออกแบบที่หลายคนอาจจะชอบและไม่ชอบไปในเวลาเดียวกัน

ในเชิงของราคา ต้องยอมรับว่าด้วยนโยบายของแบรนด์ ทำให้ราคาของปากการุ่นนี้สูงกว่าที่วางจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่นค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตามก็พ่วงมาในเรื่องของการรับประกันที่แตกต่างกันด้วย และถ้าเทียบปากกาในราคาใกล้เคียงกัน แต่เขียนได้ดีเท่า ก็เป็นเรื่องที่ยากมากพอสมควร เพราะถ้ากล่าวกันตรงๆ คือ ไม่มีปากกาในย่านราคานี้ที่ทำได้ดีพอๆ กัน (ประมาณ 6,000 – 7,000 บาท)

สำหรับคู่แข่งโดยตรงของปากการุ่นนี้ และมีราคาใกล้เคียงกัน เช่น Pilot Falcon, Platinum 3776 และ LAMY 2000 ส่วนรุ่นที่มีราคาถูกกว่าที่มีความใกล้เคียงกัน เช่น Pilot Vanishing Point เป็นต้น ยกเว้นตัว 21 กะรัต ที่ทีมงานรู้สึกว่าไม่มีปากกาตัวใดในตลาดที่แข่งได้ดีเท่านั้น ยกเว้น Cross Peerless 125 ที่ Sailor เป็นผู้ผลิตหัวปากกาให้ ในกรณีของหัวปากกาแบบเหล็กกล้าไร้สนิมนั้น ทีมงานคิดว่าที่ใกล้เคียงที่สุดคือ Pelikan Classic M200/205 ซึ่งออกแบบหัวปากกามาได้ดี

ที่สุดแล้ว ทีมงานสามารถกล่าวได้ร่วมกันว่า ปากกาหมึกซึม Sailor 1911 Standard เป็นปากกาที่ใช้งานได้ดี และทำผลงานได้น่าประทับใจอย่างมากแม้จะมีจุดให้ติเล็กน้อยบ้างก็ตาม ถ้าท่านหาปากกาที่สมบูรณ์แบบในเรื่องของการเขียน และคิดว่าจะเป็นหนึ่งในปากกาที่ท่านมีโอกาสได้ใช้บ่อย ปากกาหมึกซึมรุ่นนี้เป็นสิ่งที่ไม่ควรพลาดอย่างยิ่ง

ข้อดีข้อเสีย
หัวปากกาเขียนได้ดี ทั้ง 14 และ 21 กะรัตตัวด้ามเล็กสำหรับผู้ใช้ที่มือใหญ่
น้ำหนักเบาการออกแบบปากกาที่ไม่ดึงดูดคนรุ่นใหม่
ดีไซน์ดูสุภาพ เรียบหรูใช้หมึกหลอดและหลอดสูบของบริษัทเท่านั้น

[ กลับไปด้านบน ]


วิดีโอรีวิว

[ กลับไปด้านบน ]


เครดิตรีวิว

  • ข้อมูลและเนื้อหา: The Sailor Pen Company Limited, Nibs.com, ธีรุตม์ ธุระตา, ภัทรนันท์ ลิ้มอุดมพร
  • ภาพถ่ายประกอบรีวิว: ศิระกร ลำใย
  • เนื้อหาและการรีวิว: ธีรุตม์ ธุระตา, ศิระกร ลำใย, ภัทรนันท์ ลิ้มอุดมพร
  • บรรณาธิการประจำรีวิว: ภัทรนันท์ ลิ้มอุดมพร

[ กลับไปด้านบน ]

ความเห็นภาพรวม

ปากกาหมึกซึมที่ทำประสบการณ์ด้านการเขียนได้ดีมากที่สุดด้ามหนึ่งในตลาด ณ ขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นทั้งหัวปากกาแบบ 14 และ 21 กะรัตที่ทำผลงานได้น่าประทับใจทั้งคู่ แม้จะมีข้อเสียเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม
ทีมงานไรท์ติ้งอินไทย
ทีมงานไรท์ติ้งอินไทย
Writing in Thai (ไรท์ติ้งอินไทย) เว็บไซต์รวบรวมเรื่องราวของ ปากกา ปากกาหมึกซึม และเครื่องเขียนอื่นๆ สำหรับคนรุ่นใหม่ มีทั้งปากกาหมึกซึม ดินสอ ปากกาลูกลื่น ข่าว อัพเดต ความรู้ หมึก การเขียน รีวิว เทคนิค สาระและความรู้

เนื้อหายอดนิยม

ติดตามเราบน Facebook

ปากกาหมึกซึมที่ทำประสบการณ์ด้านการเขียนได้ดีมากที่สุดด้ามหนึ่งในตลาด ณ ขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นทั้งหัวปากกาแบบ 14 และ 21 กะรัตที่ทำผลงานได้น่าประทับใจทั้งคู่ แม้จะมีข้อเสียเล็กๆ น้อยๆ ก็ตามSailor 1911 Standard ปากกาหมึกซึมฟ้าประทาน จากแดนอาทิตย์อุทัย