26 เมษายน 2024
สาระ-ความรู้3 เหตุผล ที่คุณควรซื้อเครื่องเขียนจากผู้จัดจำหน่ายในประเทศ

3 เหตุผล ที่คุณควรซื้อเครื่องเขียนจากผู้จัดจำหน่ายในประเทศ

ไรท์ติ้งอินไทย เสนอเหตุผลที่ควรซื้อเครื่องเขียนจากผู้จำหน่ายในประเทศ เพราะได้รับประกันที่แน่นอน ความสัมพันธ์ระหว่างร้านกับผู้ซื้อ และการเติบโตของตลาดโดยรวม

ช่วงที่ผ่านมา มีคนถามเข้ามายังผมและทีมงานเป็นจำนวนมากว่า เราควรจะหาซื้อเครื่องเขียนที่ไหนดีถึงจะได้ราคาที่ถูก และส่วนหนึ่งก็มีการสอบถามกันเข้ามาครับว่า เว็บไซต์ต่างประเทศ หรือผู้จัดจำหน่ายในต่างประเทศรายนั้นรายนี้ ดีหรือไม่ดีอย่างไรบ้าง และหลายครั้งเราเห็นเว็บไซต์ร่วมอุตสาหกรรมบางแห่ง พยายามชี้ว่าการซื้อจากต่างประเทศดีกว่า

ในฐานะของหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งและทีมงานของไรท์ติ้งอินไทย ผมจึงขออนุญาตนำเสนอ 3 เหตุผลที่เราควรซื้ออุปกรณ์เครื่องเขียนจากผู้จำหน่ายในประเทศ ซึ่งบางส่วนในนี้เป็นหลักการของเว็บไซต์แห่งนี้ให้ทุกท่านได้พิจารณาครับ

ความจริงที่เจ็บปวด: เมื่อเครื่องเขียนไม่ได้มีทุกรุ่น

สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับก็คือ ตลาดเครื่องเขียนในบ้านเรายังมีขนาดที่จำกัดอยู่มาก หลายแบรนด์ก็ไม่เข้ามาทำตลาดในเมืองไทยเลย เช่น Bexley บางยี่ห้อก็ทำตลาดแบบครึ่งๆ กลางๆ เช่น Visconti, Pilot, Pelikan, Platinum คือเอาเข้ามาจำหน่ายก็บางรุ่น ส่วนยี่ห้อที่ทำตลาดจริงจังครบทุกรุ่นก็มีเช่น Caran d’Ache, Sailor, S.T. Dupont, Montblanc, Cartier, Chopard เป็นต้น

ปากกาหมึกซึม MUJI หนึ่งในปากกาที่ไม่มีวางขายในไทย
ปากกาหมึกซึม MUJI หนึ่งในปากกาที่ไม่มีวางขายในไทย

เหตุผลประการนี้ ทำให้หลายคนไม่มีทางเลือก ต้องกัดฟันหาซื้อเครื่องเขียนเหล่านี้มาจากต่างประเทศ ทั้งที่บางทีก็ไม่ได้ถูกไปกว่ากันเท่าใดนัก ยิ่งในยุคอินเทอร์เน็ตแบบนี้ การเข้าถึงแหล่งซื้อปากกาต่างๆ ก็เป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นกว่าเดิม หลายคนจึงมองข้ามผู้นำเข้าในท้องถิ่นจากประเทศไทยไป

ข้อสังเกตโดยส่วนตัวแล้ว การซื้อปากกาลักษณะนี้มักจะเกิดจากการที่รุ่นที่ต้องการไม่มีวางจำหน่ายในไทยเป็นลักษณะสำคัญ การนำเข้าปากกาที่ค่อนข้างจำกัดตัวเลือกในบ้านเราที่ไม่ต่างอะไรจากไวน์ หรือสินค้าอื่นๆ ที่นำเข้ามาน้อยๆ จึงเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญอย่างมาก และเมื่อบ่อยเข้าก็เป็นลักษณะนิสัยไป

ภาษีนำเข้าเครื่องเขียน: สิ่งที่ต้องรู้

เวลามีคนบอกว่าราคาเครื่องเขียนในประเทศไทยแพง คำถามที่ควรต้องถามต่อคือแพงแค่ไหนกันแน่?

จากประสบการณ์ คำตอบก็คือ ไม่ได้แพงมากอย่างที่คิดในบางประเภท เพราะจริงๆ แล้วภาษีของเครื่องเขียนในบ้านเรามีลักษณะแปลกๆ อยู่พอสมควร เนื่องจากเครื่องเขียนแต่ละประเภทมีอัตราภาษีที่ไม่เท่ากัน

ตรากรมศุลกากร
ตรากรมศุลกากร

จากข้อมูลของกรมศุลกากร อัตราภาษีที่ปรับปรุงใหม่ล่าสุด (จนถึงวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2561) เครื่องเขียนต่างๆ มีอัตราภาษีดังนี้

  • ดินสอกดและดินสอไม้ เก็บที่ 5% ของราคา (อัตราจัดเก็บสูงสุดตามเพดานที่ 40%)
  • ปากกาลูกลื่นและปากกาหมึกซึม เก็บที่ 5% ของราคา (อัตราจัดเก็บสูงสุดตามเพดานที่ 40%)
  • พู่กัน เก็บที่ 10% ของราคา (อัตราจัดเก็บสูงสุดตามเพดานที่ 60%)

สำหรับราคาที่ว่านี้ คือราคาศุลกากร (Customs Value) ที่เป็นราคา C.I.F. ย่อมาจาก Cost Insurance Freight หรือ ราคาของสินค้าจริง + ราคาประกัน + ค่าส่งสินค้า นั่นเอง

ในประเทศไทย เมื่อผู้อ่านตัดสินใจสั่งสินค้าตามนี้ ศุลกากรจะเป็นผู้คำนวณภาษีจากราคาดังกล่าว ซึ่งถ้าสินค้าถูกส่งตามระบบไปรษณีย์ไทย (ไปรษณีย์บ้านๆ ไม่ใช่ DHL, UPS) แล้วมีมูลค่าราคาศุลกากรไม่เกิน 1,500 บาท สินค้าจะถูกยกเว้นจากการคำนวณภาษี

แต่ถ้าเป็นสินค้าที่แพงกว่านั้น (รวมถึงที่ส่งผ่าน DHL, UPS หรือ FedEx) ศุลกากรจะคำนวณภาษีทั้งหมด (ว่าง่ายๆ คือตั้งแต่บาทแรก ไม่ใช่คิดเฉพาะส่วนต่างที่ยกเว้น) แล้วคิดจากอัตราภาษีนำเข้าที่จัดเก็บ บางกรณีศุลกากรถ้าไม่เชื่อก็จะเปิดตรวจสินค้าเอง แล้วคำนวณราคาภาษีที่ควรจะเป็น ซึ่งโต้แย้งได้ (ดูขั้นตอนการโต้แย้งภาษีสินค้าระหว่างประเทศที่ส่งผ่านไปรษณีย์ไทยได้ที่นี่ในข้อ 12) ในกรณีเช่นนี้ มักจะมีภาษีเพิ่ม คือ

  • ภาษีศุลกากร จัดเก็บตามอัตราที่เรียกเก็บได้ (เช่น 5% หรือ 10%) ซึ่งต้องโดนเรียกเก็บอยู่แล้ว
  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม จัดเก็บตามอัตราของกรมสรรพากร (กรมศุลกากรทำหน้าที่แทน ต้องนำส่งเงินให้) 7%

ตัวภาษีมูลค่าเพิ่มนี่แหละ ที่จะทำให้ใครหลายคนต้องปาดเหงื่อ เพราะเก็บจากราคาศุลกากร + ภาษีศุลกากร ทำให้ภาษีรวมทั้งหมดออกมาจะหน้าตาประมาณนี้

  • ดินสอกดและดินสอไม้ ภาษีทั้งหมดอยู่ที่ 12.35%
  • ปากกาลูกลื่นและปากกาหมึกซึม ภาษีทั้งหมดอยู่ที่ 12.35%
  • พู่กัน ภาษีทั้งหมดอยู่ที่ 17.7%

ยิ่งถ้าเป็นบริการส่งพิเศษอย่าง DHL, UPS, FedEx ส่วนมากมักจะมีค่าบริการอำนวยความสะดวกทางภาษี และการชำระค่าภาษีล่วงหน้า (Advance Clearing) อยู่ที่รายละ 200 บาท (อัตราในปัจจุบัน) เพิ่มด้วย ส่วนนี้ทำให้บางทีราคาภาษีรวมอาจพุ่งสูงไปได้อีก

ภาพจาก Pixabay
ภาพจาก Pixabay

ถึงอย่างไรก็ตาม จะเห็นความจริงได้ว่าภาษีเครื่องเขียนบ้านเราไม่ได้แพงกว่าที่คิด ส่วนที่แพงมักจะไปอยู่ในเรื่องของการตั้งราคาที่คำนวณเอาต้นทุนต่างๆ เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งเรียบร้อยแล้ว และต่อให้เราสั่งเครื่องเขียนมาเอง ก็ใช่ว่าจะหนีรอดจากระบบภาษีในบ้านเราได้ง่ายๆ เสียเมื่อไหร่ (ต่อให้สำแดงว่าเป็นของมือสอง เป็นของขวัญก็ตามเถอะ)

ตัวผมเองยังโดนภาษีอยู่เป็นประจำทุกครั้งที่สั่งจากต่างประเทศ แล้วก็จ่ายไป เพราะถือว่าเราไม่มีทางเลือกเนื่องจากบางรุ่นไม่ได้เอามาจำหน่ายที่ไทย (เคยโดนประเมินภาษีมาเกินด้วยนะ แต่พอคำนวณออกมาอยู่หลักสิบบาท ผมก็คิดว่า ช่างเถอะ)

เมื่อคุณรู้อัตราภาษีข้างต้นแล้วว่า จริงๆ ก็ไม่ได้เก็บมากมายขนาดนั้น คำถามก็คือ แล้วผู้จำหน่ายในประเทศเราถึงไม่ยอมสนับสนุน? ทั้งที่แทบจะเป็นเรื่องปกติที่ผู้ผลิต มักจะลดราคาให้กับผู้ซื้อในช่วงปกติ (15% สูงสุดของบางแบรนด์) อยู่แล้ว และในหลายครั้งที่ราคาลดลงไปสูงถึง 30% – 50% ทำให้ราคาหลายตัวถูกกว่าที่จำหน่ายยังต่างประเทศเสียอีก แต่ทำไมเราถึงไม่ซื้อกัน?

มายาคติเรื่องความ “แพง” ของภาษี

Montblanc Meisterstück 149
Montblanc Meisterstück 149

ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า เครื่องเขียนในบ้านเรา โดยเฉพาะในกลุ่มเครื่องเขียนชั้นดี (fine writing instruments) มักมีภาพของความ “แพง” เนื่องจากเครื่องเขียนประเภทต่างๆ ในปัจจุบันสามารถผลิตได้จนอยู่ในระดับราคาถูกมาก โดยเฉพาะในกลุ่มปากกาลูกลื่นกับดินสอ ที่ความแตกต่างระหว่างของถูกและของแพง (หรือถ้าพูดให้ทันสมัยก็ต้อง ตลาดล่าง-ตลาดบน) แทบจะไม่มีความต่างในระดับที่สามารถสัมผัสได้เลย หลายคนจึงมองว่าสินค้าเหล่านี้มีราคาแพง

และพอเป็นสินค้าราคาแพง เครื่องเขียนเหล่านี้มักจะถูกเหมารวม (assume) ไปก่อนเสมอว่า เนื่องจากเป็นสินค้าแพง ภาษีจึงต้องแพงตามไปด้วยแบบเดียวกับเครื่องประดับ กระเป๋าหนังชั้นดี น้ำหอมจากแบรนด์ดังๆ ซึ่งถ้าว่ากันตามจริงแล้ว ก็ไม่ใช่ทั้งหมดเสมอไป แถมถ้าดูข้อมูลข้างต้นที่ผมได้แจงสี่เบี้ยให้ท่านผู้อ่านแล้ว ก็จะพบว่าภาษีบ้านเราไม่ได้แพงอย่างที่คิดไว้ครับ

ความเชื่อที่ว่า เครื่องเขียนที่ดีและมีราคาแพง ส่วนหนึ่งเพราะภาษี จึงไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องเท่าไหร่ (แต่ถ้าเรื่องต้นทุนหรือการบวกกำไรเข้าไป อันนี้ก็ไม่แน่)

3 เหตุผล ที่ควรซื้อกับผู้จำหน่ายในประเทศ

เมื่อรู้เหตุผลเช่นนี้ แล้วทำไมเราถึงควรซื้อกับผู้จำหน่ายในต่างประเทศ ทั้งที่ต่างประเทศมีของมากกว่าเรา และถ้าคิดกันจริงๆ ก็ไม่เห็นจะต้องจ่ายภาษีเกือบ 15-20% ให้กับรัฐเลย? (บางคนอาจจะนึก ก็ฉันไม่อยากให้มารีดเลือดปู) ผมเลยเสนอด้วยกัน 3 เหตุผล ดังต่อไปนี้ครับ

เหตุผลที่ 1: บริการหลังการขายและการรับประกัน

ไรท์ติ้งอินไทย เรารวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งสถานที่ซ่อมเครื่องเขียนเอาไว้ ซึ่งเราพยายามรวบรวมสิ่งหนึ่งเอาไว้ด้วย นั่นก็คือ นโยบายการรับซ่อม

ตามปกติแล้ว ตัวแทนจำหน่ายปากกาแบรนด์หรือยี่ห้อใด ก็มักจะเป็นผู้ที่รับผิดชอบการซ่อมนั้นๆ บางบริษัทก็ต้องปฏิบัติตามนโยบายหลักของแบรนด์ เช่น Montblanc, Caran d’Ache ที่ยอมรับการซ่อมหมด เพราะถือเป็นนโยบายสากลของแบรนด์ (International Warranty/Guarantee) ที่แบรนด์ต้องยึดถือ

Montegrappa Parola (ภาพโดย ณัฐพงษ์ เอกอุดมสุข)
Montegrappa Parola (ภาพโดย ณัฐพงษ์ เอกอุดมสุข)

แต่มีแบรนด์จำนวนมากที่ปฏิเสธการซ่อมเครื่องเขียนที่ซื้อมาจากต่างประเทศ และไม่ได้จำหน่ายโดยตัวแทนรายนั้นๆ ซึ่งเป็นการควบคุมรุ่นของสินค้า ตลอดจนถึงเคารพและให้สิทธิกับตัวแทนจำหน่ายเป็นหลักก่อน เช่น Montegrappa ที่จำหน่ายโดยบริษัท TKI Perpetual ก็มีนโยบายตามนี้ นั่นก็คือปฏิเสธการซ่อมให้ลูกค้าหากซื้อมาจากต่างประเทศ หรือไม่ได้จำหน่ายโดยบริษัท หรือ Sailor ที่มีนโยบายแบบนี้เช่นกัน แต่เป็นการกำหนดมาจากทางบริษัทแม่ในประเทศญี่ปุ่น ทำให้ถ้าใครมีปากกาของบริษัทที่ซื้อนอกประเทศ หรือซื้อผ่านอินเทอร์เน็ต จะไม่สามารถนำเข้าซ่อมได้เลย

อนึ่งนโยบายของ Sailor ส่วนหนึ่งมาจากการวางจำหน่ายสินค้าที่มีความแตกต่างกันด้วย ในญี่ปุ่นจะมีตัวเลือกที่หลากหลายมากกว่า

นโยบายของ Sailor
นโยบายของ Sailor

มากไปกว่านั้น หลายครั้งที่เราเลือกซื้อสินค้าผ่านอินเทอร์เน็ตจากต่างประเทศแล้วให้ส่งเข้ามา สิ่งที่เราจะพบคือเรื่องของการขายแบบไม่มีตราประทับรับประกันติดมาด้วย ต่อให้เป็นร้านที่ถูกต้อง ซึ่งทำให้แม้จะได้สินค้าราคาถูก ของแท้ แต่ก็ไม่สามารถนำเข้าศูนย์บริการได้อยู่ดี เนื่องจากไม่มีตราประทับยืนยันการซื้อที่ชัดเจน ผลคือเราอาจจะต้องส่งกลับประเทศต้นทาง (แถมถ้าสำแดงสินค้าไม่ถูกต้อง ก็เสียภาษีสองต่ออีก ว่าง่ายๆ คือซวยทั้งขึ้นทั้งล่อง)

ไม่นับความเสี่ยงที่ซื้อแล้วจะได้ของปลอม ซึ่งในอินเทอร์เน็ต โอกาสที่เราจะได้สินค้าปลอมย่อมมีสูงกว่าแน่นอน เพราะเราไม่ได้เห็นสินค้าตัวจริง บางทีพอได้มาแล้วก็พบว่าเป็นของปลอม ก็ต้องทำเรื่องคืนเงินอีก

ขณะที่ถ้าเราซื้อตามร้านปกติ นอกจากจะได้รับการประทับตราในเอกสารแบบถูกต้องแล้ว เราก็ยังสบายใจได้ว่าสินค้าที่ซื้อมาพอมีปัญหาก็สามารถนำเข้าไปรับการบริการได้ทันทีตามระยะเวลา หายห่วง

สรุป: เราควรซื้อเครื่องเขียนจากผู้จัดจำหน่ายในประเทศ เพราะการรับประกันและบริการหลังการขายที่แน่นอน ไม่ต้องเสี่ยงกับการไม่ได้รับประกัน มีคนรับผิดชอบ

เหตุผลที่ 2: การได้เลือกและความสัมพันธ์ระหว่างร้านกับผู้ซื้อ

เรื่องนี้เป็นเหตุผลที่เฉพาะเจาะจงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการซื้อผ่านอินเทอร์เน็ตครับ (ถ้าบินไปซื้อเองที่ต่างประเทศ ย่อมไม่มีปัญหานี้มาก)

ในการซื้อเครื่องเขียนแต่ละประเภท การดูภาพและตัดสินใจเป็นสิ่งที่กระทำได้ในระดับหนึ่ง และกระทำได้เฉพาะเครื่องเขียนบางประเภท เช่น ดินสอกด ปากกาลูกลื่น โรลเลอร์บอล แต่ถ้าเป็นเครื่องเขียนอย่างปากกาหมึกซึมหรือพู่กัน เครื่องเขียนเหล่านี้มักผูกอยู่กับสิ่งที่เรียกว่า “สัมผัส” (feeling) ของผู้ที่ใช้งานด้วย

The Pips Cafe'
The Pips Cafe’ หนึ่งในร้านจำหน่ายปากกาหมึกซึมของไทย

หมายความว่า เครื่องเขียนเหล่านี้มักจะต้องอาศัยความเฉพาะตัวของรสนิยมและความชอบ เช่น บางคนอาจชอบปากกาหมึกซึมที่ฝนหัวมาเป็นแบบกลม ขณะที่บางคนอาจชอบปากกาที่ฝนหัวมาแบบกึ่งตัด (stub-like) ได้ หรือพู่กันที่บางคนชอบความแข็งของพู่กันแบบหนึ่ง แต่อีกคนอาจชอบอีกแบบ

สภาพดังกล่าว ทำให้คนที่เลือกใช้เครื่องเขียนเหล่านี้ (รวมถึงเครื่องเขียนอื่นๆ ด้วย) ต้องได้ลองก่อนเสมอ ถึงจะตัดสินใจซื้อ

เครื่องเขียนหลายด้ามหรือแท่งที่จำหน่ายในอินเทอร์เน็ต เรามักจะไม่ได้ลองก่อนเนื่องจากหลายรุ่นไม่มีจำหน่ายในประเทศไทย หรือถ้ามีก็มักจะแตกต่างกันในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งสำคัญมาก ถ้าไม่ได้ลองก่อนย่อมแปลว่าเราจะไม่มีวันรู้เลยว่าเขียนได้ดีจริงๆ หรือไม่ และเราย่อมไม่มีวันรู้สไตล์เราชัดเจน

ผู้จัดจำหน่ายหรือร้านที่จำหน่ายในบ้านเรา มักจะสามารถจดจำลูกค้าและความชอบแต่ละคนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในร้านที่จำหน่ายเครื่องเขียนชั้นดี (fine writing instruments) เมื่อเราไปถึงร้านก็จะให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละรายได้ ลดปัญหาการซื้อแบบเหวี่ยงแหแล้วไม่ได้ใช้งานออกไปได้เยอะมาก สำคัญคือ ถ้าซื้อมาแล้วมีปัญหา เราสามารถขอเปลี่ยนสินค้าได้ง่ายๆ ยิ่งถ้ารู้จักร้านและได้ลองสินค้าก่อนก็จะทำให้เราเข้าใจสไตล์เราได้ดีขึ้น คำแนะนำต่างๆ ก็จะเข้ากับเราได้ดีขึ้น ลดโอกาสซื้อมาแล้วไม่ชอบไปได้มาก

ผมเองมีปากกาหลายด้ามที่ซื้อมาจากอินเทอร์เน็ตแล้วไม่ชอบ และเป็นปากกาที่ไม่มีจำหน่ายในไทย ผลก็คือปากกาเหล่านั้นถูกวางขึ้นหิ้งอย่างน่าเสียดาย ทั้งที่จริงถ้าเราได้ลองเล่นก่อนเราก็อาจจะไม่ซื้อก็ได้ การได้ลองก่อนเสมอจึงเป็นสิ่งที่ดี บางคนอาจเสนอว่า เรายืมเพื่อนหรือร้านลองเล่นดูก็ได้ แล้วค่อยไปซื้อเอง ไม่เห็นต้องซื้อร้านในไทยเลย ซึ่งผมก็ยังคิดว่าต่อให้เรามีโอกาสลองเล่นแล้วก็ควรที่จะซื้อในไทย ด้วยเหตุผลข้อถัดไปครับ

สรุป: การซื้อผ่านออนไลน์แม้จะมีข้อดี แต่กับปากกาบางประเภทที่มีความละเอียดอ่อน การได้เลือก ลอง และทดสอบ เป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง การมีร้านตัวแทนจำหน่ายที่เราสร้างความสัมพันธ์ไว้ จะทำให้เราเลือกซื้อได้ดีขึ้น ลดการเหวี่ยงแห หรือซื้อในสิ่งที่เราไม่ชอบได้

เหตุผลที่ 3: สนับสนุนบริษัทในประเทศ และตลาดเครื่องเขียนให้เติบโต

เหตุผลข้อที่ 3 ฟังดูอาจจะแปลกๆ ในสายตาของหลายท่านที่อาจคิดว่า การซื้อเครื่องเขียนในประเทศมันดีกว่าการซื้อเครื่องเขียนที่ต่างประเทศยังไง? ต่างประเทศมีตัวเลือกเยอะกว่าก็ควรจะซื้อไม่ใช่เหรอ?

แม้ข้อเสนอที่ว่า ต่างประเทศมีเยอะกว่า จะเป็นข้อเสนอที่ดูฟังขึ้น แต่ถ้าพิจารณากันดีๆ แล้ว ทำไมตลาดเครื่องเขียนบ้านเรามันถึงเล็ก และไม่มีรุ่นหลากหลายเสียที? คำตอบก็อยู่ตรงนี้แหละครับ นั่นก็เพราะความต้องการไม่มี

การซื้อจากต่างประเทศ แม้จะมีข้อดีที่ตัวเลือกหลากหลาย แต่เอาเข้าจริงแล้วเรากำลังทำร้ายตัวแทนจำหน่ายทางอ้อม เพราะยอดซื้อของเราจะถูกนับรวมในยอดขายที่ต่างประเทศ บริษัทเจ้าของสินค้าเขาไม่มีทางรู้หรอกครับว่า สินค้าที่ท่านสั่งจากประเทศอื่น เช่น เยอรมนี อังกฤษ สหรัฐอเมริกา มันมาถึงประเทศไทยนะ เพราะเขารู้ว่าสินค้าชิ้นนี้ส่งมอบให้กับตัวแทนจำหน่ายในประเทศเหล่านั้น ส่วนจะเอาไปขายอย่างไรก็เป็นเรื่องของตัวแทนจำหน่ายในแต่ละประเทศ

พอเป็นแบบนี้ ตัวแทนในประเทศไทยก็ถูกตัดหน้า ตัดราคาจากผู้ผลิตที่อื่น ความต้องการจากตลาดก็ลดลง พอลดลงบริษัทตัวแทนจำหน่ายก็สั่งสินค้ารุ่นใหม่ๆ มาน้อยลง หรือลดรุ่น เพราะต้องบริหารจัดการต้นทุนให้เหมาะสม นี่ยังไม่นับว่าบริษัทเจ้าของแบรนด์พอดูยอดจำหน่ายและส่งมอบ ก็อาจจะพิจารณาว่าตลาดประเทศไทยมีความต้องการต่ำ ก็เปิดตัวสินค้าช้ากว่า หรือไม่ก็ไม่นำเข้าเลยในบางรุ่น

ฟังดูโหดร้าย แต่นี่คือความจริงในโลกของธุรกิจครับ

ปากกา Parker และ Waterman

ผลก็คือ แบรนด์เครื่องเขียนบางยี่ห้อก็มีอันต้องหายจากตลาดไป เช่น Waterman ที่กำลังจะถูกเลิกขายเพราะความต้องการจากตลาดไม่คุ้มต่อกำไรของบริษัทที่จะวางจำหน่ายต่อ หรือ Parker ที่ลดรุ่นวางจำหน่ายลงมาอยู่ช่วงหนึ่ง หรือถ้าไม่หาย การเปิดตัวสินค้าก็ล่าช้าออกไป เช่น Montblanc Petit Prince ที่กว่าจะวางจำหน่ายในประเทศไทยได้ก็ล่าช้าไป 1 เดือนเต็มๆ

บางแบรนด์อย่าง Pelikan ถึงกับถอดรุ่นซีรีส์ M (Classic และ Souverän) ออกไปจากตลาดประเทศไทย เพราะความต้องการไม่มี (กรณีของแบรนด์นี้พิเศษหน่อยตรงที่มีเรื่องของวิกฤตเศรษฐกิจปี พ.ศ. 2540 เข้ามามีส่วนด้วย)

การสนับสนุน ซื้อผ่านตัวแทนจำหน่ายในประเทศ จึงเป็นการส่งเสริมให้ตลาดมีการเติบโตเพราะมียอดขายในประเทศที่สะท้อนความต้องการที่แท้จริง ทำให้ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายที่มีต้นทุน สามารถอยู่ได้ในตลาด และพอเป็นเช่นนี้ สินค้าที่จะเข้ามาสู่ประเทศไทยย่อมมากขึ้น เพราะผู้นำเข้ามั่นใจว่ามีความต้องการ แบรนด์ก็มั่นใจว่ามีความต้องการ ไม่ต้องมานั่งเดากันบนความเสี่ยงว่า เอารุ่นนี้เข้ามาแล้วจะต้องไปลดราคาเลหลัง เสียภาพพจน์ของแบรนด์ไปหมดหรือไม่ตอนสิ้นปี

ป้ายบอกลดราคาสินค้าของลามี่ ระหว่างการเปลี่ยนตัวทนจำหน่าย
ป้ายบอกลดราคาสินค้าของลามี่ ระหว่างการเปลี่ยนตัวทนจำหน่าย

ยังไม่นับว่า ความอยู่รอดของบริษัทเหล่านี้ นำมาสู่การจ้างงานด้วย พนักงานที่ขายเครื่องเขียนให้เรา ดูแลเครื่องเขียนให้เรา ล้วนแล้วแต่อยู่ในวง (loop) ของการจัดจำหน่ายเครื่องเขียนเหล่านี้ทั้งสิ้น ถ้าบริษัทเหล่านี้ไม่เติบโต พนักงานก็อยู่ไม่ได้ ทุกด้ามที่เราซื้อจากผู้จัดจำหน่ายในประเทศเรา จึงเป็นการสนับสนุนทั้งการเติบโตและการจ้างงานไปในตัว

สรุป: การซื้อเครื่องเขียนกับตัวแทนจำหน่ายในประเทศ เป็นการสนับสนุนธุรกิจในประเทศให้เติบโต มีการจ้างงาน และได้แสดงความต้องการ (demand) ตรงจุด ทำให้ผู้นำเข้าเริ่มกล้าที่จะนำเข้าผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มาเพิ่ม และบริษัทเจ้าของแบรนด์พอเห็นยอด ก็กล้าที่จะเปิดสินค้าใหม่ๆ มากขึ้น

ซื้อเครื่องเขียนอย่างไรให้ถูก?

แน่นอนว่าส่วนตัวผมไม่เคยเห็นด้วยกับการซื้อปากกาหลายรุ่นในราคาเต็มแบบไม่มีส่วนลด ไม่ใช่เพราะว่าประหยัดเงินแต่เพียงอย่างเดียว ทว่าหลายครั้งสินค้าหลายตัวก็ตั้งราคามาจนเกินค่าตัวไปมากอยู่

ยังโชคดีที่ตัวแทนจำหน่ายหลายรายในบ้านเรา มีนโยบายลดราคาสินค้าเครื่องเขียน โดยเฉพาะในกลุ่มเครื่องเขียนชั้นดี ตั้งแต่ 10-15% แทบจะตลอดกาล (ไม่ต่างจากนาฬิกา) ทำให้เมื่อคิดดีแล้วๆ ส่วนต่างที่บริษัทตัวแทนจำหน่ายก็มีไม่มากนักอยู่แล้ว (บางตัวต่างจากเมืองนอกแค่หลักร้อยต้นๆ เท่านั้น จนต้องตั้งคำถามว่า อยู่ได้อย่างไร?) หรือตัวแทนจำหน่ายบางรายก็ตั้งราคาแบบไม่น่าเกลียด อยู่ในระดับที่เรารับได้ เช่น TWSBI Go ที่ The Pips Cafe’ ตั้งราคาจำหน่ายเพียง 700 บาทเท่านั้น ต่างจากราคาแนะนำเมืองนอกเพียงไม่กี่สิบบาท

ภาพจาก Pixabay
ภาพจาก Pixabay

และในหลายกรณีที่พิเศษ ผู้นำเข้าเหล่านี้ก็ลดราคาเครื่องเขียนที่ตัวเองนำเข้าลงมาถูกมากๆ ถึงระดับที่ว่าบางตัวถูกพอๆ หรือถูกกว่าที่ต่างประเทศ เช่นกรณีของบริษัท Capital Good Rich ที่ไปออกบูธจัดแสดงสินค้าที่งานภริยาทูต เป็นต้น บางตัวลดมากถึง 70% ก็มี หรืออย่าง Montblanc ที่มีจัดไปเมื่อช่วงกลางปีเป็นต้น และยังคงได้การรับประกันเช่นเดิม ถือเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ดีในการอุดหนุนผู้ประกอบการในท้องถิ่น

ไรท์ติ้งอินไทยเองรายงานข่าวสารและความเคลื่อนไหวอยู่ตลอด ดังนั้นผู้อ่านสามารถติดตามเราได้ เพราะเรามักมีข่าวสารคอยอัพเดตอยู่อย่างสม่ำเสมอเกี่ยวกับงานลดราคาเครื่องเขียนต่างๆ เป็นประจำ

สรุป: อุดหนุนตัวแทนจำหน่ายในประเทศ เพื่อการเติบโต

ประเด็นสำคัญที่ผมเน้นย้ำมากที่สุดและอยู่ในเหตุผลสุดท้าย คือเรื่องของการอุดหนุนตัวแทนจำหน่ายในประเทศ เพื่อให้อุตสาหกรรมโดยรวม (ecosystem) มันเกิดขึ้นได้ ผู้ซื้อก็ต้องอาศัยผู้นำเข้าและจัดจำหน่าย ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายเหล่านี้ก็ต้องอาศัยผู้ซื้อในการนำสินค้าเข้ามา แบรนด์ต่างๆ ก็อาศัยฝ่ายต่างๆ ทำให้สินค้าสามารถดำรงอยู่ได้เช่นกัน

แน่นอนว่าประเทศไทยคงไม่สามารถมีเครื่องเขียนทุกรุ่นได้ และเราคงไม่สามารถห้ามการสั่งซื้อจากอินเทอร์เน็ตได้ แต่ถ้าเป็นไปได้ ผมคิดว่าการพิจารณาซื้อสินค้าที่จำหน่ายในเมืองไทยก่อนเป็นอันดับแรก ย่อมหมายถึงความเติบโตของตลาดและอุตสาหกรรมโดยรวมของเครื่องเขียนในประเทศไทยจะเติบโตตามไปด้วย เมื่อพอเริ่มเติบโต แบรนด์ต่างๆ ก็อยากเริ่มลงมาสู่ตลาดนี้ เพราะยอดมันปรากฎอย่างชัดเจน

ถ้าเรายังคงอาศัยช่องทางการซื้อจากอินเทอร์เน็ตหรือต่างประเทศเป็นหลัก ในหลายกรณีแม้จะถูกกว่า แต่ถ้าเจอภาษีเข้าไป จากถูกกว่าก็อาจไม่ได้ถูกกว่ากันมากสักเท่าใด และในหลายกรณีเผลอๆ อาจจะแพงกว่าเสียด้วยซ้ำเมื่อพิจารณาค่าภาษี ค่าส่ง ที่ถูกบวกเข้าไปจากราคาสินค้าที่สั่งมา

ปัจจุบันเองประเทศไทยก็มีแบรนด์ปากกาดีๆ จำนวนมาก และมีผู้นำเข้าที่หลากหลาย (รายชื่ออยู่ที่นี่) ท่านสามารถเข้าไปหาผู้จัดจำหน่ายเหล่านี้ได้ไม่ยากตามร้านต่างๆ และจากประสบการณ์ ผมเชื่อว่าบริษัทเหล่านี้ยินดีที่จะช่วยเหลือท่านเป็นอย่างดีเสมอ

ผมจึงขอเรียกร้องและวิงวอนให้กับท่านผู้อ่านทุกท่าน ถ้าพอมีทางเลือกบ้าง ก็ควรจะซื้อสินค้าที่วางจำหน่ายโดยตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยก่อนที่จะไปซื้อจากต่างประเทศ เพราะการซื้อจากต่างประเทศนอกจากจะเป็นการไม่ช่วยให้ตลาดเครื่องเขียนในประเทศเติบโตอย่างที่ควรจะเป็นแล้ว ยังทำให้ตลาดโดยรวมขาดความหลากหลาย นำมาสู่สภาพการหดตัวได้ และที่สุดผลเสียก็จะตกกับลูกค้าอย่างเราๆ ท่านๆ ในระยะยาวนั่นเอง

มาอุดหนุนเครื่องเขียนผ่านตัวแทนจำหน่ายในประเทศเรากันก่อนเถอะครับ 🙂 (แต่ถ้าหาไม่ได้จริงๆ แล้วต้องไปซื้อที่เมืองนอก อันนั้นคงต้องจำยอม)

หมายเหตุ ทีมงานไรท์ติ้งอินไทยมีจุดยืนสนับสนุนผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายในประเทศ (Local-first policy) ดังนั้น รีวิวเครื่องเขียนทั้งหมดที่ปรากฎตัวอยู่ในเว็บไซต์ ส่วนมากมักจะวางจำหน่ายในประเทศ และในรุ่นที่ไม่วางจำหน่ายในประเทศจะมีการระบุอย่างชัดเจนในรีวิวตั้งแต่ต้น ทั้งนี้ ทีมงานไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโฆษณาบนเว็บ และไม่ได้มีเจตนาส่งเสริมให้ซื้อเครื่องเขียนผ่านช่องทางเหล่านั้น การมีอยู่ของระบบแนะนำและโฆษณาเหล่านี้ จึงเป็นการนำเสนอทางเลือกหนึ่งให้ผู้อ่านเท่านั้น

Patranun Thaniyavarn Limudomporn
Patranun Thaniyavarn Limudompornhttps://www.patranun.com/
เป็นเพียงมนุษย์ธรรมดา คนเดินดิน เรียนจบรัฐศาสตร์ ชอบปากกามาตั้งแต่เด็กๆ แต่ไม่ค่อยได้บอกให้ใครรู้ เริ่มใช้ปากกาหมึกซึมมาตั้งแต่ระดับประถม และใช้ปากกาลูกลื่น Montblanc Generation เป็นปากกาประจำตัว เลิกใช้ปากกาหมึกซึมไประยะหนึ่งก่อนกลับมาใช้ใหม่เพราะเพื่อนฝูงชักชวน แต่ก็ยังวนเวียนกับปากการะดับพรีเมียมเช่นเคย

ติดตามเราบน Facebook

เนื้อหายอดนิยม

บทความที่เกี่ยวข้อง

- Advertisement -