1 พฤษภาคม 2024
รีวิวรีวิวปากกาหมึกซึม Parker Sonnet ของดีที่เข้าถึงได้

รีวิวปากกาหมึกซึม Parker Sonnet ของดีที่เข้าถึงได้

หนึ่งในปากกาซีรีส์บนของ Parker ที่ทำคุณภาพออกมาได้น่าประทับใจ

Parker เป็นหนึ่งในผู้ผลิตปากกาในหลายรูปแบบที่ได้รับความนิยมมาโดยตลอด พบเห็นอย่างทั่วไป และมีผู้ใช้จำนวนมาก รีวิวนี้ของไรท์ติ้งอินไทย ขอพาทุกท่านไปชมปากกา Parker Sonnet รุ่นปากกาหมึกซึม เป็นปากกาในกลุ่ม Fine Writing ที่ทีมงานชื่นชอบอีกด้ามหนึ่ง

รู้จักกับ Parker และรุ่นปากกาในกลุ่ม Fine Writing

โลโก้ของปากกา Parker

บริษัทปากกา Parker หรือชื่อเต็มคือ Parker Pen Company ก่อตั้งเมื่อปี 1888 โดย George Safford Parker ปัจจุบันเป็นหนึ่งในบริษัทลูกของ Newell ในเครือเดียวกับแบรนด์สินค้าอื่นอย่าง Waterman, Rotring, Sharpie หรือ Paper Mate

Parker ทำตลาดปากกาออกมาจำนวนหนึ่งในตระกูลอุปกรณ์เครื่องเขียนหรูหรา ปัจจุบันมีอยู่ 7 รุ่น ได้แก่

  • Duofold เป็นปากกาเรือธง ตัวแพงสุดของแบรนด์ เริ่มผลิตตั้งแต่ปี 1921 มาพร้อมหัวปากกา 18k
  • Premier ออกแบบทรงปากกาให้มีความเรียบง่ายและคลาสสิก มาพร้อมหัวปากกา 18k
  • Sonnet ตัวด้ามมาพร้อมลายบนด้ามหลายรูปแบบ ทั้งแบบร่วมสมัยและแบบคลาสสิก
  • Urban มาพร้อมรูปทรงโค้งมน ทันสมัย
  • IM ตัวด้ามทำจากสเตนเลสสตีล
  • Vector ปากกาสวมปลอกออกแบบเรียบง่าย ราคาไม่แรง
  • Jotter ปากกาแบบกดรุ่นยอดนิยมของ Parker ที่จำหน่ายมานานกว่า 50 ปี และเป็นรุ่นล่าสุด

สำหรับปากการุ่นที่นำมารีวิวนี้ เริ่มจำหน่ายครั้งแรกในปี ค.ศ. 1993 (พ.ศ. 2536) จนถึงปัจจุบัน เรียกว่าจำหน่ายมาได้เกือบ 20 ปีแล้วสำหรับปากการุ่นนี้

บรรจุภัณฑ์ของ Parker Sonnet

Parker Sonnet มาพร้อมกับกล่องอย่างแข็งแรงซึ่งภายนอกบุผ้ามาอย่างเรียบร้อย บริเวณด้านบนกล่องมีโลโก้ของแบรนด์ปรากฎให้เห็นอย่างชัดเจน

ด้านข้างขวาของกล่อง มีตราว่าเป็นธุรกิจโดยได้รับพระบรมราชานุญาต (by the appointment) ของสมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษ และเจ้าชายแห่งเมลส์

กล่องปากกาเป็นแบบพับทบ ยึดด้วยแม่งเหล็ก เมื่อเปิดมาจะเจอกระดาษคั่นบ่งบอกเรื่องราวของปากกา และเผยให้เห็นตัวปากกาเล็กน้อย

ตัวปากกามีคู่มือบ่งบอกวิธีใช้มาให้หนึ่งเล่มเล็กๆ พร้อมกับหมึกหลอดสีดำสองแท่ง อย่างไรก็ตามตัวปากกามี converter หรือหลอดสูบหมึกมาให้ภายในเรียบร้อยแล้ว (Parker ใช้หลอดสูบหมึกของตนเอง ไม่ได้ใช้ standard converter แต่อย่างใด)

รูปร่างและสัมผัสปากกา

  • ความยาวปากกาเมื่อปิดปลอก: 13.3 cm
  • ความยาวปากกาเมื่อสวมปลอก (pose): 14.5 cm
  • ระยะห่างศูนย์กลางมวลจากหัวปากกาเมื่อสวม (pose): ประมาณ 9 cm
  • น้ำหนักรวมปลอกและด้าม: 28.3 g
  • น้ำหนักปลอกปากกา: 11.5 g

ปากกาที่ทีมงานได้รับมาขึ้นรูปด้วยเรซินสีดำและไม่มีการสลักลาย ส่วนที่เป็นโลหะชุบสีทอง ตัวปลอกปากกามีคลิปรูปศรธนูอันเป็นเอกลักษณ์ของ Parker

หัวปากการุ่นนี้ที่ทีมงานได้รับมาเป็นหัวขนาด M บริเวณหัวปากกาไม่มีการสลักหรือประทับตราอะไรมากกว่ายี่ห้อของตัวปากกาและลวดลายเพียงเล็กน้อย

ตัวปากกาสามารถ post (สวมปลอกไว้ด้านปลายปากกา) ได้ ถึงกระนั้นทีมงานพบว่าการไม่ post ปลอกปากกานั้นให้น้ำหนักที่ทีมงานชอบอยู่แล้ว และแน่นอนว่าเป็นการลดโอกาสเสี่ยงจากการปลอกปากกาเป็นรอยไปในตัว อย่างไรก็ตาม เมื่อ post ปากกา จะได้น้ำหนักของศูนย์กลางมวลปากกาที่ค่อนไปด้านหลังเล็กน้อย ทำให้ผู้ที่ชอบปากกามีน้ำหนักเล็กน้อยสามารถเขียนได้อย่างสบายขึ้นมาก

คุณภาพการเขียน

ทีมงานทดลองเขียนด้วยปากกาด้ามดังกล่าวกับหมึกที่ผสมเอง และเขียนลงบนกระดาษของ Moleskine

เนื่องจากทีมงานได้ปากกาด้ามนี้เป็นของแสดงความขอบคุณ จึงไม่สามารถทราบขนาดหัวปากกาที่ชัดเจนได้ อย่างไรก็ตามทีมงานค่อนข้างมั่นใจว่าเป็นหัวปากกาขนาด M โดยทดลองเขียนบนกระดาษสมุด Moleskine ด้วยหมึกผสมเอง

ปากกาให้ความลื่นในลักษณะที่น่าพอใจ ความรู้สึกเป็นเหมือนกับการเขียนด้วย Faber-Castell LOOM ที่มี feedback ของกระดาษเพิ่มขึ้นมาเล็กน้อย ซึ่งถูกจริตกับทีมงานพอสมควร น่าจะเป็นหนึ่งในปากกาหัวเหล็ก (ไม่ได้ทำจากทองคำ) ที่ทีมงานโปรดมากด้ามหนึ่ง

การไหลของน้ำหมึกทำได้ลื่นสมมาตรฐาน ไม่พบปัญหาติดขัดแต่อย่างใด นับว่าเป็นปากกาที่เขียนออกมาได้ดีและถูกจริตทีมงาน และให้ความรู้สึกดีกว่าปากกาด้ามพกติดตัวตลอดอย่างปากกาหมึกซึม Caran d’Ache 849

ราคา

ด้วยมารยาทของการได้รับปากกาในฐานะสิ่งของแทนคำขอบคุณ ทีมงานไรท์ติ้งอินไทยจึงพิจารณาการไม่ค้นหาราคาปากกาเพื่อหลีกเลี่ยงการการตีมูลค่าของคำขอบคุณ (ซึ่งประเมินค่ามิได้) ออกมาเป็นตัวเงิน

อย่างไรก็ตาม ทีมงานมองว่าหากปากกาด้ามดังกล่าวทำราคาอยู่ที่ประมาณ 3,000 – 3,500 บาท จะถือว่ามีประสิทธิภาพได้สมค่าตัว

สรุป

หากจะให้กล่าวสรุปแล้ว ทีมงานถูกใจกับปากการุ่นนี้มากพอสมควรในแง่ของการเขียน (และโหลดหมึกผสมเองไว้ใช้ขีดเขียนงานทั่วไปและเซ็นเอกสาร) นับเป็นหนึ่งในทางเลือกปากกาสำหรับผู้ที่กำลังมองหากปากกาทรงสุภาพพกติดตัวไว้ใช้เซ็นเอกสารหรือขีดเขียนทั่วไป

Parker Sonnet และปากกาตระกูลอื่นของแบรนด์ มีวางขายตามห้างสรรพสินค้าและร้านเครื่องเขียนชั้นนำทั่วประเทศ

เครดิตข้อมูลอ้างอิง

Parkerpens.net, Stationery.wiki

สรุปรีวิว

REVIEW OVERVIEW

Parker Sonnet

ความเห็นภาพรวม

Parker Sonnet เป็นหนึ่งในปากกาซีรีส์ fine writing ของ Parker ที่ออกแบบมาอย่างเรียบง่ายและสุภาพ แม้จะใช้วัสดุที่ไม่ใช่ทองคำทำหัวปากกา แต่ทำคุณภาพออกมาได้น่าประทับใจ
Sirakorn Lamyai
Sirakorn Lamyaihttp://srakrn.me
ด้วยความที่เรียนวิศวกรรมศาสตร์ ศิระกรจึงพยายามมองการซื้อปากกาแต่ละด้ามเป็น "การลงทุน" และอยู่ในโลกของการพยายามหาปากกาที่ค่าตัวไม่แพงแต่มีคุณภาพสูงมาใช้เรื่อยๆ ถึงกระนั้น ศิระกรก็กำลังพยายามกระโดดไปโลกของปากกาในฐานะเครื่องประดับ และหวังว่าจะได้เรียนรู้อย่างเพลิดเพลินในโลกทั้งสอง

ติดตามเราบน Facebook

เนื้อหายอดนิยม

บทความที่เกี่ยวข้อง

- Advertisement -
Parker Sonnet เป็นหนึ่งในปากกาซีรีส์ fine writing ของ Parker ที่ออกแบบมาอย่างเรียบง่ายและสุภาพ แม้จะใช้วัสดุที่ไม่ใช่ทองคำทำหัวปากกา แต่ทำคุณภาพออกมาได้น่าประทับใจรีวิวปากกาหมึกซึม Parker Sonnet ของดีที่เข้าถึงได้