19 เมษายน 2024
รีวิวรีวิวเครื่องเขียนรีวิว ปากกาหมึกซึม MUJI เรียบง่าย ไร้แบรนด์ แต่ไม่ไร้ชื่อ

รีวิว ปากกาหมึกซึม MUJI เรียบง่าย ไร้แบรนด์ แต่ไม่ไร้ชื่อ

ปากกาหมึกซึมดีไซน์เรียบง่าย ที่เมื่อพิจารณาราคาอันคุ้มค่าแล้วก็ย่อมพอมองข้ามข้อเสียไปได้บ้าง

-

MUJI (อ่านว่า ‘มูจิ’) ผู้ผลิตสินค้า “ไร้แบรนด์” จากญี่ปุ่น เป็นหนึ่งในสินค้า “ยี่ห้อ” ที่ได้รับความนิยมจากคนไทย ด้วยการออกแบบที่เรียบง่ายและกลิ่นอายของความสมัยใหม่ รีวิวนี้ของไรท์ติ้งอินไทย ขอนำเสนอ ปากกาหมึกซึม MUJI ด้วยคุณภาพการเขียนที่สมราคา และการออกแบบอะลูมิเนียมขัดด้านทั้งด้ามที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ

ข้อมูลแจ้งเพื่อทราบ: รีวิวนี้ เขียนจากประสบการณ์ตรงของทีมงาน และไม่ได้รับการสนับสนุนใดๆ ในทางการเงินจากแบรนด์หรือตัวแทนจำหน่าย


เนื้อหา

ประวัติของ MUJI | บรรจุภัณฑ์ | การออกแบบ | ทดลองเขียน | การวางจำหน่าย | สรุป ]


MUJI: ยี่ห้อของความไร้ยี่ห้อ

หน้าร้าน MUJI ที่ Grand Front Osaka (ภาพโดย Wpcpey (wing1990hk) สัญญาอนุญาต CC-BY 3.0)
หน้าร้าน MUJI ที่ Grand Front Osaka ประเทศญี่ปุ่น (ภาพโดย Wpcpey (wing1990hk) สัญญาอนุญาต CC-BY 4.0)

MUJI เป็นผู้ผลิตสินค้าจำพวกเฟอร์นิเจอร์ ของใช้ในบ้าน และเครื่องเขียนจากญี่ปุ่น บริษัทระบุว่าสินค้าตัวเองเป็นสินค้า “ไร้ยี่ห้อ” ที่มุ่งเน้นคุณภาพสินค้ามากกว่าแบรนด์ อย่างไรก็ดีสโลแกนนี้มักได้รับคำวิพากษ์ในประเทศไทย เนื่องด้วยตลาดของแบรนด์ที่วางไว้ในกลุ่มผู้มีกำลังซื้อ และราคาหลังนำเข้าที่ค่อนข้างแพงเมื่อเทียบกับสินค้ายี่ห้ออื่น

ข้อมูลจากประวัติของแบรนด์ระบุว่า แต่เดิมบริษัทถูกก่อตั้งขึ้นเป็นแบรนด์ย่อยของเครืองซุปเฟอร์มาร์เก็ต Seiyu ของประเทศญี่ปุ่นในปี ค.ศ.1980 และวางตัวเองในฐานะสินค้าราคาถูก บรรจุภัณฑ์ต่างๆ เป็นบรรจุภัณฑ์ราคาถูก บางครั้งใช้ของที่เหลือจากการผลิตนำมาเป็นสินค้า เพื่อลดสินค้าเสียหรือไม่ผ่านคุณภาพจากการผลิตให้ได้มากที่สุด จากนั้นจึงแยกตัวออกมาในปี ค.ศ.1989 กลายเป็นบริษัทเอกเทศต่างหาก (spun-off) จนปัจจุบันเป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำของประเทศญี่ปุ่นในปัจจุบัน

ภายในร้านสาขา Olympian City เขตปกครองพิเศษฮ่องกง (ภาพโดย Wpcpey (wing1990hk) สัญญาอนุญาต CC-BY 3.0)
ภายในร้านสาขา Olympian City เขตปกครองพิเศษฮ่องกง (ภาพโดย Wpcpey (wing1990hk) สัญญาอนุญาต CC-BY 4.0)

ชื่อของแบรนด์มาจากภาษาญี่ปุ่นว่า Mujirushi Ryōhin (無印良品) มีความหมายว่า “สินค้าที่ไม่มีแบรนด์และมีคุณภาพที่ดี” ซึ่งบริษัทก็ยึดหลักการดังกล่าว คือสินค้าของบริษัทจะไม่มีการแปะแบรนด์ใดๆ เลยบนตัวสินค้า (ปากกาหมึกซึมด้ามนี้ก็เช่นกัน) นอกจากนี้ยังคงยึดหลักการเดิมของบริษัทอย่างเหนียวแน่น คือเน้นที่ไปที่การรีไซเคิล การใช้หีบห่อให้น้อยที่สุด และยึดหลักการออกแบบที่เรียบง่าย น้อยรายละเอียด (minimalism design) และผลิตภัณฑ์วางจำหน่ายหลากหลายชนิด ได้รับความนิยมไปทั่วโลก

สำหรับเครื่องเขียนเองก็มีสินค้ายอดฮิตที่ได้รับความนิยมและขึ้นชื่ออย่างมาก เช่น ปากกาลูกลื่นที่เขียนได้ดีมากในราคาที่ถูก หรือถ้ายอดนิยมในบ้านเราคือปากกาหมึกเจลที่ได้รับการขนานนามว่าเขียนดีไม่แพ้ปากกาหมึกเจลยี่ห้อดังอื่นๆ แม้แต่น้อย

ในประเทศไทย ห้างสรรพสินค้าเครือเซนทรัลเป็นผู้นำเข้าสินค้า MUJI โดยนำเข้าเครื่องเขียนจำพวกสมุด และปากกาลูกลื่น แต่ไม่ได้นำเข้าปากกาหมึกซึมรุ่นที่ทีมงานจะรีวิวในบทความนี้เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยแต่อย่างใด

ร้าน MUJI สาขาห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิร์ล
ร้าน MUJI สาขาห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิร์ล

[กลับไปด้านบน]


แกะบรรจุภัณฑ์ ปากกาหมึกซึม MUJI

ห่อบรรจุปากกา
ห่อบรรจุปากกา

บรรจุภัณฑ์ของ ปากกาหมึกซึม MUJI มาในถุงพลาสติกอย่างบางขนาดเท่าปากกาสองชั้น (ทีมงานไม่แน่ใจว่าทำไมถึงต้องมีสองชั้น) โดยชั้นแรกจะเหนียวกว่า ขณะที่ชั้นที่สองจะกรอบกว่าครับ

ในซองด้านในจะมีการเขียนข้อมูลพร้อมราคาวางจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่น (1,155 เยน หรือประมาณ 341 บาท ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ด้านหน้า ส่วนด้านหลังจะเป็นคู่มือการใช้งานเป็นภาษาญี่ปุ่น และพิมพ์คำว่า “Made in Japan” ด้านล่างอย่างชัดเจน

นอกจากนั้นแล้ว ในห่อยังมีสติกเกอร์แนบติดมาให้ด้วย สำหรับติดไว้ที่หัวปากกาไม่ว่าจะของแบรนด์เองหรือยี่ห้ออื่น โดยเป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษ 5 ตัว ดังนี้

ตัวปากกามาพร้อมกับหมึกหลอดหนึ่งหลอดในตัวด้าม แต่ยังไม่ได้กดเข้ากับด้ามปากกา และไม่ได้มาพร้อมหลอดสูบหมึก (converter) แต่อย่างใด

หมดเรื่องบรรจุภัณฑ์ที่แสนจะเรียบง่ายแล้ว มาดูกันที่ตัวปากกาได้เลยครับ

[กลับไปด้านบน]


แรกสัมผัสและการออกแบบ

ปากกาหมึกซึม MUJI
ปากกาหมึกซึม MUJI

การออกแบบของปากกายังคงความเป็น MUJI ไว้ครบถ้วนทุกประการ ตั้งแต่การเลือกใช้วัสดุเป็นอะลูมิเนียมขัดด้านทั้งด้าม การออกแบบด้ามปากกาให้มีขนาดเท่ากันตลอด และการเลือกไม่ตกแต่งหรือประดับลายหวือหวาบนปากกา

บริเวณปลอกปากกามีคลิปหนีบ (แหนบปากกา) สี่เหลี่ยม ไม่มีการประดับลายหรือขึ้นรูปทรงใดๆ เช่นกัน ข้อสังเกตของทีมงานคือคลิปนี้ทำออกมาค่อนข้างบาง และมีความเสี่ยงสูงที่จะเบี้ยวไปทางซ้ายหรือขวา

บริเวณก้นปากกามีการเซาะร่องให้สามารถเสียบปลอกปากกาเข้าไปได้

บริเวณที่จับปากกา ใช้วิธีการขึ้นลายอะลูมิเนียมเป็นพื้นผิวหยาบ ส่วนตัวทีมงานมองว่าให้สัมผัสที่ไม่ค่อยสบายมากสักเท่าไหร่ (แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเลือกขึ้นลายแบบนี้ เป็นการออกแบบเอกลักษณ์ของแบรนด์มากๆ)

ปากกาของ MUJI เลือกใช้ International Standard Converter แบบเดียวกับที่ใช้ตามปากกามาตรฐานทั่วไป และสามารถเลือกซื้อ converter ยี่ห้อใดก็ได้ที่ใช้ อย่างไรก็ตาม ในการใช้จริงทีมงานพบว่าหลอดสูบของ Waterman ที่ปกติสามารถใส่ได้ กลับหลวมและใส่กับปากกาไม่ได้ ทีมงานต้องลองไปเรื่อยๆ จนมาลงตัวที่หลอดสูบของ S.T. Dupont ซึ่งน่าแปลกใจเป็นอย่างยิ่ง

บริเวณหัวปากกาสลักลายค่อนข้างระย้า มีเขียนบอกว่าปากกานี้ใช้ Iridium Nib กล่าวคือบริเวณปลายปากกามีการหยอด Iridium แร่ธาตุชนิดหนึ่งที่มีความแข็งและทนความร้อนสูงมาก ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีการทำให้หัวปากกาเขียนได้ดีขึ้นและไม่สึกกร่อนจากการเขียนบนกระดาษเป็นเวลานาน แต่ส่วนอื่นนอกเหนือจากจุดสัมผัสเป็นเหล็กกล้าไร้สนิม (stainless steel) ตามสมัยนิยม

เมื่อพิจารณาจากเอกลักษณ์ ลักษณะที่จ่ายหมึก และลายเส้นทั้งหมด ทีมงานคิดว่าผู้ผลิตหัวปากกาให้กับแบรนด์นี้คงไม่ใช่ใครอื่น แต่เป็น Schmidt บริษัทผู้ผลิตหัวปากกาและชิ้นส่วนเครื่องเขียนจากประเทศเยอรมนี

ระหว่างการทดสอบ (ทีมงานมีปากกาทดสอบสองด้าม ต่างคนต่างทดสอบ) ด้ามหนึ่งของทีมงานเกิดอาการเขียนไม่ออก เขียนไม่ดี ทีมงานจึงตัดสินใจส่องกล้องแล้วพบว่าส่วนที่ถูกตัดให้เป็นร่องเพื่อหมึกไหลตรงส่วนหัวปากกานั้น ยังมีเหล็กเกินออกมาที่ตัดไม่หมด ทำให้ทีมงานต้องดึงหัวปากกาออกมา เพื่อคีบและตัดเอาชิ้นส่วนเล็กๆ ตรงนั้นออก ไม่ให้ขวางเส้นทางการไหลของหมึก แสดงให้เห็นว่าปากกาด้ามนี้มีปัญหาในเชิงคุณภาพการผลิตอยู่บ้าง

[กลับไปด้านบน]


ทดลองเขียน

ทีมงานเลือกใช้หมึกปากกา LAMY สีดำ บนกระดาษ Double-A น้ำหนัก 80 แกรม และมีข้อคิดเห็นต่อปากกาด้ามนี้ดังนี้

สัมผัสขณะเขียน

เป็นที่น่าเสียดายที่นอกจากบริเวณด้ามจับปากกาจะขึ้นลายมาไม่ถูกใจทีมงาน (แม้จะจับได้ไม่เจ็บมือ แต่ทีมงานรู้สึกว่ามีวิธีการขึ้นรูปด้ามปากกาที่ให้สัมผัสดีกว่านี้มาก) แล้วนั้น บริเวณขอบรอยต่อระหว่างตัวปากกายังสามารถทิ่มนิ้วผู้ใช้ปากกาที่ถนัดจับปากกาต่ำ (สังเกตบริเวณนิ้วชี้ของผู้เขียน) ในส่วนนี้ทำให้การเขียนเป็นไปได้อย่างไม่สบายมากนัก แต่ก็ยังพอมองข้ามได้

ทีมงานชั่งน้ำหนักปากกาได้ดังนี้

  • น้ำหนักด้ามปากการวมปลอก: 21.5 กรัม
  • น้ำหนักเฉพาะด้าม: 4.3 กรัม

สำหรับทีมงานแล้ว ปากกาด้ามนี้เบาไปเล็กน้อย นอกจากนั้นการเสียบปลอกก็ไม่ได้ช่วยอะไร เพราะลำพังตัวปลอกอย่างเดียวมีน้ำหนักไม่มาก

การเขียน

ความลื่นในการเขียน

ปากกาให้สัมผัสการเขียนที่ดี กล่าวคือเขียนลื่นและไม่มีการกินกระดาษจนน่าหงุดหงิดใจ แม้จะไม่ลื่นเท่าปากกาตัวอื่นอย่างเช่น Faber-Castell LOOM ก็ตาม

บริเวณหัวปากกาไม่ได้บ่งบอกขนาดเส้น (และไม่มีขนาดเส้นให้เลือกซื้อ) ทีมงานประมาณว่าน้ำหนักเส้นเทียบได้กับปากกาหัวขนาด F จากผู้ผลิตปากกาฝั่งยุโรป หรือขนาด M จากผู้ผลิตปากกาฝั่งญี่ปุ่น

การไหลของหมึก

ปากกาด้ามนี้เป็นปากกาที่การไหลไม่ได้โอนเอนไปทางด้านใดด้านหนึ่ง (balanced) กล่าวคือหมึกไม่ได้ไหลเยอะ (wet) หรือน้อย (dry) โดยรวมแล้วปากกาด้ามนี้เหมาะกับการใช้งานทั่วไปในชีวิตประจำวัน

น้ำหนักของเส้น

ปากกาหมึกซึม MUJI ไม่ได้ให้น้ำหนักของเส้นที่แตกต่างกันมากนัก และหากไม่จงใจกดให้เบาสุด หรือแรงที่สุด ก็จะไม่เห็นความแตกต่างของน้ำหนักเส้นเลย กล่าวคือไม่มี line variation แม้แต่น้อย

[กลับไปด้านบน]


การวางจำหน่าย

ด้ามปากกาที่ทีมงานใช้ในรีวิวนี้ ซื้อมาจากฮ่องกงในราคาประมาณ 420 บาทต่อด้าม เมื่อพิจารณาปัจจัยหลายอย่างแล้วต้องบอกว่าเป็นหนึ่งในปากกาที่คุ้มราคา

แต่ทว่า ดังที่ได้เกริ่นไว้ในตอนต้นของบทความ ณ ขณะเวลาที่เขียนบทความนี้ ยังไม่มีการจำหน่ายปากกาหมึกซึม MUJI ผ่านร้านของทาง MUJI เองในประเทศไทย อย่างไรก็ดีทีมงานพบว่ามีการ “หิ้ว” สินค้าจากต่างประเทศมาขายในไทย ซึ่งทีมงานแนะนำว่าให้พิจารณาราคาหน้าร้านที่ประมาณ 420 บาท ก่อนตัดสินใจซื้อปากกาด้ามนี้จากผู้ที่หิ้วเข้ามาขายในไทย

อัพเดต (11 ตุลาคม พ.ศ. 2561 เวลา 19.55 น.) MUJI ประเทศไทย ได้นำปากกาดังกล่าวมาจำหน่ายในราคาด้ามละ 450 บาท ซึ่งเมื่อเทียบราคากับประเทศเพื่อนบ้านอย่างฮ่องกงแล้วนับว่าแทบไม่ต่างกันเลย ในมุมมองของทีมงาน เป็นการยากที่จะหาปากการาคาประมาณ 450 บาทซึ่งให้คุณภาพการเขียนที่ดีระดับนี้ได้ในประเทศไทย

[กลับไปด้านบน]


สรุป: ไร้ชื่อ แต่ไม่ไร้ฝีมือ

ปากกาหมึกซึม MUJI เป็นหนึ่งในปากกาที่คุ้มราคา (และราคาถูกเมื่อเทียบกับปากกายี่ห้ออื่นในตลาด) อย่างไรก็ดีตัวปากกายังมีข้อด้อยซึ่งพอมองข้ามไปได้บ้าง เช่น บริเวณที่จับซึ่งไม่สบายนักหากใช้เป็นเวลานาน รวมถึงหนึ่งในด้ามที่เลือกมารีวิวก็มีการเก็บงานที่ไม่ดีนักสำหรับหัวปากกา

ไรท์ติ้งอินไทยแนะนำว่า หากมีโอกาสได้ซื้อปากกานี้ในราคาไม่เกิน 500 บาท ก็ย่อมนับว่าเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่คุณภาพสมกับราคาครับ ซึ่งในปัจจุบันยังคงมีจำหน่ายเฉพาะที่ต่างประเทศเท่านั้น เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าตัวแทนที่จะนำสินค้าเข้ามาที่ไทย น่าจะพิจารณานำปากการุ่นนี้มาวางจำหน่ายในไทยด้วย

อัพเดต (11 ตุลาคม พ.ศ. 2561 เวลา 19.55 น.) ปัจจุบันปากการุ่นนี้มีวางจำหน่ายในประเทศไทยแล้วอย่างเป็นทางการ ในราคาด้ามละ 450 บาท ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นทางเลือกของปากกาหมึกซึมด้ามแรกที่คุ้มค่าอย่างแน่นอน

[กลับไปด้านบน]


เครดิตรีวิว

ภัทรนันท์ ลิ้มอุดมพร (บทเกริ่น และแกะกล่องบรรจุภัณฑ์)
ศิระกร ลำใย (การออกแบบ และทดลองเขียน)

[กลับไปด้านบน]

ความเห็นภาพรวม

ปากกาหมึกซึมดีไซน์เรียบง่าย ที่เมื่อพิจารณาราคาอันคุ้มค่าแล้วก็ย่อมพอมองข้ามข้อเสียไปได้บ้าง
Sirakorn Lamyai
Sirakorn Lamyaihttp://srakrn.me
ด้วยความที่เรียนวิศวกรรมศาสตร์ ศิระกรจึงพยายามมองการซื้อปากกาแต่ละด้ามเป็น "การลงทุน" และอยู่ในโลกของการพยายามหาปากกาที่ค่าตัวไม่แพงแต่มีคุณภาพสูงมาใช้เรื่อยๆ ถึงกระนั้น ศิระกรก็กำลังพยายามกระโดดไปโลกของปากกาในฐานะเครื่องประดับ และหวังว่าจะได้เรียนรู้อย่างเพลิดเพลินในโลกทั้งสอง

เนื้อหายอดนิยม

ติดตามเราบน Facebook

ปากกาหมึกซึมดีไซน์เรียบง่าย ที่เมื่อพิจารณาราคาอันคุ้มค่าแล้วก็ย่อมพอมองข้ามข้อเสียไปได้บ้างรีวิว ปากกาหมึกซึม MUJI เรียบง่าย ไร้แบรนด์ แต่ไม่ไร้ชื่อ