27 เมษายน 2024
สาระ-ความรู้5 เหตุผลที่คุณควรใช้ "ปากกาหมึกซึม"

5 เหตุผลที่คุณควรใช้ “ปากกาหมึกซึม”

หลายคนอาจคุ้นเคยกับปากกาลูกลื่น ปากกาเจล หรือปากกาโรลเลอร์บอล (อ่านความแตกต่างระหว่างชนิดได้ที่นี่) กันในชีวิตประจำวัน แต่ก็อาจไม่คุ้นเคยกับปากกาหมึกซึม (มักเรียกว่า ‘ปากกาคอแร้ง’ ด้วยลักษณะของปากกาที่เหมือนกับปากแร้ง) กันนัก ไรท์ติ้งอินไทยจึงขอนำเสนอ 5 เหตุผลที่ควรใช้ ‘ปากกาหมึกซึม’ ครับ

หมายเหตุทีมงาน บทความชิ้นนี้เคยถูกนำเสนอที่งาน Barcamp Bangkok 2018 ในชื่อเดียวกันมาก่อน

ปากกาหมึกซึม หนึ่งในรูปแบบการเขียนที่เก่าแก่

มนุษย์กับการสื่อสารเป็นของคู่กันมาแต่โบราณ ในอดีตมนุษยชาติเราขีดและเขียนเพื่อสื่อสารและบ่งบอกถึงเรื่องราวต่างๆ ผ่านการวาดภาพทั้งลงในถ้ำหรือการแกะสลักหิน (ตัวอย่างที่ง่ายที่สุด เช่น หลักศิลาจารึกต่างๆ) ในสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก ต่อมา เมื่อมีการพัฒนาการทางด้านกระดาษ มนุษย์ก็เปลี่ยนรูปแบบการเขียนไปสู่ปากกาจากขนนก และปากกาจิ้มหมึก (dip pen) ที่ยังไม่มีหมึกอยู่ในตัวปากกาเอง การพกพาปากกาไปไหนมาไหนจึงเป็นเรื่องที่ยาก เพราะต้องพกขวดหมึกไปใช้คู่กันด้วย และมักจะหกหรือซึมบ่อยครั้ง

ความพยายามของมนุษย์ในการแก้ไขปัญหาปากกา เพื่อให้มีหมึกในตัวและสามารถพกพาไปได้อย่างสะดวกสบาย เกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 10 แล้ว แต่เพิ่งเริ่มมาคิคค้นกันจริงจังในคริสต์ศตวรรษที่ 17 เมื่อ Daniel Schwenter นักประดิษฐ์จากเยอรมนีเสนอแนวคิดเรื่องการเก็บหมึกไว้ในตัวปากกาครั้งแรก และในศตวรรษถัดมา ปากกาชนิดนี้เป็นที่รู้จักกันในนาม ‘fountain pen’ หรือปากกาหมึกซึมในยุโรปนับแต่นั้น ปากกาหมึกซึมจึงเป็นผลผลิตของโลกสมัยใหม่ (modernity) อย่างแท้จริง

Montblanc Meisterstück 149
Montblanc Meisterstück 149

ปากกาหมึกซึมในปัจจุบันที่เรารู้จักกัน เป็นผลมาจากจุดเปลี่ยนแปลงในปี ค.ศ. 1884 ที่ Waterman คิดค้นระบบจ่ายหมึกที่มีประสิทธิภาพ และในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 บริษัทก็พัฒนาระบบที่ทำให้ปากกาหมึกซึมปิดได้สนิท หมดปัญหาของการรั่วซึม และถือเป็นหนึ่งในผู้นำการเปลี่ยนแปลงมาสู่โลกของปากกาหมึกซึม ที่ต่อมากระจายจากอเมริกาไปยังยุโรปในภายหลัง ในช่วงเวลาที่พัฒนาการทางการขนส่งระหว่างมหาสมุทรแอตแลนติก ค่อยๆ พัฒนาขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปากกาหมึกซึมได้รับความนิยมน้อยลง เมื่อการเข้ามาของปากกาลูกลื่น (ballpoint pen) ที่สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้ดีกว่าเข้ามาแทนที่ ด้วยการผลิตที่อาศัยต้นทุนต่ำ และสภาพของหมึกที่เขียนได้ดีกว่าในหลายสถานการณ์ แบรนด์อย่าง Sailor จากประเทศญี่ปุ่น ที่เดิมเคยทำแต่ปากกาหมึกซึมมาตลอด ยังต้องปรับเปลี่ยนไปผลิตปากกาลูกลื่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อตอบสนองต่อความต้องการดังกล่าว

แต่ปากกาหมึกซึม ยังคงไม่หายไปจากตลาด แม้จะเข้าสู่โลกปัจจุบันที่การเขียนย้ายมาสู่โลกดิจิทัลแล้วก็ตาม

การเติบโตและตลาดของปากกาหมึกซึม

เป็นเรื่องที่แปลกแต่จริง หากจะกล่าวว่าอัตราการเติบโตของปากกาหมึกซึมในปัจจุบันนั้น กลับเติบโตขึ้นมากกว่าเดิม สวนทางตลาดสินค้าของหรูที่เริ่มหดตัวลง จากรายงานของหนังสือพิมพ์ The Telegraph ระบุว่ายอดขายปากกาหมึกซึมของร้านอย่าง Pen Heaven สูงขึ้นถึงกว่า 48% (เป็นปากกาในกลุ่มตลาดหรู หรือ luxury สูงถึง 38%) ในปี ค.ศ. 2016 และแบรนด์อย่าง Pentel ผู้ผลิตเครื่องเขียนจากประเทศญี่ปุ่น ก็มียอดเติบโตในกลุ่มปากกาหมึกซึมถึงปีละ 6%

Rob Walker นักวิเคราะห์จาก Euromonitor International ชี้ให้เห็นว่ามูลค่าตลาดในระดับสากลมีทิศทางสูงขึ้นเรื่อยๆ จากตัวเลขที่เขาเผยออกมาเมื่อปี ค.ศ. 2016 โดยคาดการณ์ว่าในปี ค.ศ. 2020 ตลาดนี้จะมีมูลค่าสูงเกือบถึง 1,600 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 5.3 หมื่นล้านบาท)

Pilot Metropolitan
Pilot Metropolitan

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดของปากกาหมึกซึมเติบโตมาจากสองเหตุผลสำคัญ ประการแรกคือการผละตัวเองออกจากเทคโนโลยีของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เรียกว่า Millenials และหันมาสู่การเขียนในแบบดั้งเดิม และอีกเหตุผลคือการเติบโตของตลาดในประเทศจีน ที่การให้ปากกาเริ่มเป็นที่นิยมเนื่องจากมีความโดดเด่นน้อยกว่าสินค้าหรูชนิดอื่นๆ กับตลาดในประเทศบราซิล ที่มองว่าปากกาหมึกซึมเป็นอุปกรณ์เสริมส่วนบุคคลที่ทุกคนต้องมี

นอกจากนั้นแล้ว ปากกาหมึกซึมยังผันตัวเองไปสู่ตลาดสินค้าหรู (luxury) และมีความเป็นตลาดเฉพาะตัว (niche) มากกว่าเดิม กลุ่มผู้เล่นปากกาหมึกซึมมักมีความสนใจพิเศษ และเป็นกลุ่มที่สนใจในวัฒนธรรม ความซับซ้อน รวมถึงประเพณีตลอดจนถึงนวัตกรรมของปากกาที่เกี่ยวข้องด้วย

แล้วทำไมถึงควรใช้?

เหตุผลในการใช้ปากกาหมึกซึมหลักๆ มีอยู่อย่างมากมาย แต่ไรท์ติ้งอินไทยของนำเสนอเพียง 5 เหตุผลหลัก ที่คุณควรใช้ปากกาหมึกซึม ดังต่อไปนี้

ข้อ 1: เขียนง่าย

ปากการูปแบบอื่นๆ เช่น ลูกลื่น โรลเลอร์บอล หรือแม้กระทั่งเจล ต้องอาศัยแรงกดหรือน้ำหนักที่จุดสัมผัสระหว่างหัวปากกากับกระดาษ เพื่อให้ลูกกลิ้งที่อยู่ในหัวปากกากดลึกเข้าไปเล็กน้อย เปิดทางให้หมึกไหลออกมา แม้ในปัจจุบันจะมีการพัฒนากลไกที่ทำให้เขียนได้เลยไม่ต้องใช้แรงกดมาก (เช่น เจล) แต่กลไกเหล่านี้ยังคงต้องอาศัยแรงหรือน้ำหนักบางส่วน เพื่อให้ลูกกลิ้งเคลื่อนแล้วจ่ายหมึกออกมาอยู่ดี ผิดกับปากกาหมึกซึมที่น้ำหมึกไปรอที่หัวปากกาแล้ว เพียงแค่ลากไปบนกระดาษเบาๆ ก็ออกแล้ว (ถ้าไม่เจออาการ Baby’s bottom หรือน้ำหมึกไปไม่ถึงจุดสัมผัส เนื่องจากช่องรางน้ำหมึกกว้างเกิน หรือหัวฝนมาจนมากเกินไป)

Sailor 1911 Standard 21k
Sailor 1911 Standard 21k

ข้อ 2: อิสระในการเปลี่ยนหมึกตามใจชอบ

ผู้ผลิตปากกาลูกลื่น โรลเลอร์บอล หรือเจล มักจำกัดชนิดของสีเอาไว้ไม่มาก เช่น สีดำ สีน้ำเงิน สีแดง เป็นสีไส้หมึก อาจมีบางผู้ผลิตเท่านั้นที่ผลิตสีออกมามากกว่า แต่ก็มักผลิตออกมาน้อยหรือไม่ก็เป็นช่วงสั้นๆ และส่วนมากไส้หมึกเหล่านี้มัก ‘ล็อค’ เอาไว้ให้ใช้กับปากกาของผู้ผลิตเองเท่านั้น ไม่ใช่กับปากกาของผู้ผลิตรายอื่นๆ (ในระยะหลังมีการผลิต compatible cartridge ออกมาบ้าง แต่ยังไม่มาก)

Pilot Iroshizuku Murasaki-Shikibu
Pilot Iroshizuku Murasaki-Shikibu

ขณะที่ปากกาหมึกซึม การเลือกใช้หมึกแทบจะเป็นไปอย่างอิสระ มีทั้งหมึกกันน้ำอย่าง Noodler’s Ink, Pelikan Fount Indian Ink, De Atramentis Document Ink หรือแม้กระทั่ง Montblanc Permanent Black เป็นต้น ทำให้ผู้ใช้งานมีอิสระได้มากกว่าหากต้องการเปลี่ยนหรือเลือกหมึกที่ตัวเองชอบ

ขวดหมึกกันน้ำ Sei-Boku และ Kiwa-Guro
หมึกกันน้ำ Sei-Boku และ Kiwa-Guro (แบบเก่า)

และถ้าหากไม่อยากใช้หมึกกันน้ำ ก็มีหมึกหลายสีสันให้เลือกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นหมึกสีดำยอดนิยมอย่าง Montblanc Mystery Black ไปจนถึงหมึกสีสันโดดเด่นอย่าง Pilot Iroshizuku Murasaki Shikibu สีม่วงสวยงามก็มี

ข้อ 3: ดูแลรักษาง่ายและมีความยั่งยืน

ปากกาหมึกซึมส่วนใหญ่เป็นปากกาที่ไม่มีกลไกซับซ้อนมากมาย สามารถบำรุงรักษาได้ด้วยตนเองระดับหนึ่ง ขณะที่ปากกาลูกลื่น โรลเลอร์บอล หรือแม้กระทั่งปากกาเจลในหลายยี่ห้อ กลับมีความซับซ้อนในการดูแลค่อนข้างสูง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกลไกในการกดที่มักจะเสียได้บ่อย หรือการเปลี่ยนไส้ ที่แม้ดูผิวเผินปากกาเหล่านี้จะง่ายกว่าปากกาหมึกซึม แต่ที่จริงแล้วหากผู้ผลิตเกิดตัดสินใจเลิกผลิต หรือบริษัทผู้ผลิตเกิดล้มละลายขึ้นมา ปากกาที่ใช้ไส้หมึกเหล่านี้แทบจะกลายเป็นของที่ใช้ไม่ได้ไปเลย

ตัวอย่างที่ชัดเจนเช่น กรณีการล้มละลายของแบรนด์อย่าง OMAS จากอิตาลี ที่ราคาปากกาลูกลื่นและโรลเลอร์บอลของบริษัทในตลาดมือสอง มีราคาจำหน่ายในปัจจุบันราวๆ ประมาณ 4,000 – 5,000 บาท (จากเดิมที่ราคาจำหน่ายตอนแรกเป็นหลักหมื่น) ขณะที่ปากกาหมึกซึมของบริษัท ยังคงมีราคาสูงที่ระดับหลักหมื่นอยู่

ในระยะยาว หากผู้ผลิตเลิกผลิตไปแล้ว ปากกาหมึกซึมเหล่านี้ก็มีร้านรับซ่อม หรือผู้ที่ยังซ่อมปากกาเหล่านี้อยู่ด้วยชิ้นส่วนอื่นๆ ทำให้มีอิสระมากกว่าเดิม และเมื่อคิดเป็นตัวเงินแล้ว ปากกาเหล่านี้ก็มีความประหยัดกว่า เมื่อคำนวณอายุการใช้งานของปากกาหมึกซึมที่ยาวนานกว่า

หากคิดจากแง่มุมของสิ่งแวดล้อม การใช้ปากกาที่ต้องทิ้งไส้หมึกบ่อยๆ ไม่ใช่สิ่งที่ดี นอกจากเป็นการสิ้นเปลืองแล้ว วัสดุพลาสติกบางตัวที่ใช้ก็ใช่ว่าจะถูกนำกลับมาใช้ใหม่ (recycle) ได้เสมอไป การใช้ปากกาหมึกซึมเป็นการใช้ปากกาที่ยั่งยืนกว่าในมิติที่ว่า ปากกาหมึกซึมส่วนใหญ่มักถูกออกแบบมาให้ใช้ได้หลายครั้ง ไม่ใช่การใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ดังนั้นเมื่อหมึกหมดก็เติมได้ทันที

ข้อ 4: มีตัวเลือกในตลาดเยอะกว่ามาก

ในตลาดทั่วไป การผลิตปากกาลูกลื่น โรลเลอร์บอล หรือหมึกเจล มักต้องใช้การผลิตในลักษณะอุตสาหกรรมและเป็นโรงงาน สิ่งที่เกิดขึ้นคือการผลิตเหล่านี้ทำให้เรามีตัวเลือกที่ไม่หลากหลายหากจะต้องเลือกใช้ปากกาเหล่านี้

อาจมีคนเสนอได้ว่า อันที่จริงแล้วปากกาเหล่านี้มีผู้ผลิตจำนวนมาก และต่างมีหลากหลายแบรนด์ แต่ส่วนมากก็ต้องมีฐานโรงงานที่ใหญ่พอ หรือไม่ก็ต้องมีกำลังการผลิตที่เพียงพอจะถึงจุดคุ้มทุน (economy of scale) ขณะที่ปากกาหมึกซึมจะพบเห็นผู้ผลิตรายเล็กรายน้อยจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกาที่มีผู้ผลิตจากหลายแบรนด์

Cross Peerless 125
Cross Peerless 125

ในตลาดปากกาหมึกซึม สิ่งที่ท่านผู้อ่านจะพบนอกจากความหลากหลายจากการผลิตแล้ว ยังเป็นความหลากหลายของตัวปากกาด้วยเช่นกัน ในตลาด ปากกาหมึกซึมที่เขียนได้ดีและเชื่อถือได้ มีคุณภาพ ราคาเริ่มต้นเพียง 100 บาทเท่านั้น (เช่น Platinum Preppy) ไปจนถึงปากกาผู้บริหารระดับหลักหมื่น (เช่น Montblanc Meisterstück 149 ) และปากกาที่กลายมาเป็นงานศิลปะราคาหลักครึ่งล้านด้วย (เช่น Samurai ของ Montegrappa) หรือแม้กระทั่งปากการูปร่างแปลกๆ ที่ใช้วิธีการกดออกมาเขียนคล้ายปากกาลูกลื่นก็มี (เช่น Pilot Vanishing Point/Capless)

ปากกาบางรุ่น เมื่อซื้อมาแล้ว ราคาจำหน่ายต่อในตลาดรองยังมีมูลค่าสูงอยู่ และถือว่าเป็นการลงทุนได้เช่นเดียวกัน ในหลายรุ่นราคาซื้อขายต่อแทบไม่ตกจากราคาที่จำหน่ายจริง และบางรุ่นมีราคาที่สูงกว่าราคาแรกจำหน่ายเสียด้วยซ้ำ

Faber-Castell LOOM
Faber-Castell LOOM

นอกจากความหลากหลายของตัวปากกาแล้ว หัวปากกายังเป็นจุดแข็งสำคัญ ตามปกติแล้วปากกาลูกลื่น เจล และโรลเลอร์บอล มักจะมีขนาดเส้นไม่กี่ประเภท อย่างมากก็แค่ขนาดเส้น แต่ในตลาดของปากกาหมึกซึม ลักษณะเส้นและหัวเขียนมีหลากหลาย ตั้งแต่ขนาด Extra-Fine (เส้นเล็กพิเศษ) ไปจนถึงเส้นใหญ่ (Broad หรือหนา) รวมถึงแบบหัวตัด (1.1 Stub) เส้นหัวตัดเฉียง (Oblique Nib) บางแบรนด์ถึงกับมีบริการออกแบบหัวปากกาด้วยตนเอง (Bespoke nib) ทำให้ลูกค้าสามารถเลือกรูปแบบที่ต้องการได้เอง

ความหลากหลายของหัวปากกานี้ ครอบคลุมไปถึงวัสดุที่นำมาเป็นหัวปากกา ที่มีทั้งเหล็กกล้าไร้สนิม (stainless steel), ทองคำ 14 กะรัต, ทองคำ 18 กะรัต, ทองคำ 21 กะรัต หรือแม้กระทั่งแพลเลเดียม 23 กะรัต ก็มี ตามแต่ความต้องการของแต่ละคน หรือแม้กระทั่งชนิดของหัวปากกาที่เป็นแบบปกติ, แบบนุ่ม (soft) ที่สามารถปรับขนาดเส้นได้ตามแรงกด หรือแม้กระทั่งแบบยืดหยุ่น (flex) ที่สามารถใช้น้ำหนักที่กดให้ขนาดเส้นที่ต้องการได้

ความหลากหลายของปากกาหมึกซึม จึงเป็นจุดแข็งสำคัญที่ทำให้ตลาดมีชีวิตชีวาและเป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้คนที่ใช้ปากกาหมึกซึม ยังคงใช้ปากกาเหล่านี้อย่างเหนียวแน่น

ข้อ 5: ลายมือดีขึ้น

ปากกาหมึกซึม เป็นปากกาที่ต้องอาศัยความปราณีตระดับหนึ่งในการเขียน เนื่องจากหัวของปากกาหลายรุ่นสามารถปรับเปลี่ยนไปได้ตามการเขียนของเจ้าของอันเกิดจากวัสดุที่ใช้ผลิตหัวปากกา

จากการสำรวจของ Pen Heaven พบว่าความเห็นของครูที่ใช้ปากกาหมึกซึมเป็นไปในทางบวก ลายมือของนักเรียนที่ใช้ปากกาหมึกซึมมักมีคุณภาพที่ดีกว่า เนื่องจากปากกาประเภทนี้ต้องเขียนช้ากว่าและตั้งใจมากกว่านั่นเอง

S.T. Dupont Fidelio
S.T. Dupont Fidelio

การเขียนช้าไม่ใช่สิ่งที่ทำให้การเขียนด้วยปากกาหมึกซึมดีขึ้นแต่เพียงอย่างเดียว ในบางกรณีที่หัวปากกามีความยืดหยุ่น ทำให้สามารถเขียนตัวอักษรตามที่ตนเองต้องการได้ด้วย อันเป็นอีกหนึ่งคุณสมบัติที่สำคัญของปากกาหมึกซึม และทำให้ผู้ที่ใช้ปากกาหมึกซึม สามารถออกแบบลายมือที่ตัวเองต้องการได้อีกด้วย จึงมีปากกาหมึกซึมบางยี่ห้อ บางรุ่น ถูกนำไปใช้ในการเขียนคัดลายมือและอักชระแบบศิลปะ ที่เรียกกันว่า Calligraphy ซึ่งถือเป็นศาสตร์ที่มีความสำคัญในทางศิลปะของโลกตะวันตก

จะเริ่มต้นอย่างไร?

สำหรับคนที่อยากเริ่มต้นใช้ปากกาหมึกซึมในชีวิตประจำวัน ไรท์ติ้งอินไทยมีปากกาแนะนำจำนวนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น Platinum Preppy, Pilot Metropolitan, Caran d’Ache 849 หรือ Faber-Castell LOOM แล้วแต่ระดับราคาที่ผู้อ่านต้องการจ่ายในการเริ่มต้นกับปากกาหมึกซึม ปากกาเหล่านี้ได้รับการทดสอบจากทีมงานในโลกจริง และเป็นปากกาที่มีคุณภาพ

หากท่านต้องการหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับปากกาหมึกซึม นอกจากเว็บไซต์ไรท์ติ้งอินไทย และช่องทางอื่นๆ อย่างเช่น Facebook, Twitter, Instagram หรือกลุ่มบน Facebook แล้ว ทีมงานแนะนำเว็บไซต์ Fountain Pen Network (FPN) หนึ่งในเว็บไซต์ภาษาอังกฤษที่เป็นกลุ่มชุมชนผู้ใช้ปากกาหมึกซึมระดับสากล เป็นอีกหนึ่งแหล่งข้อมูลสำคัญครับ

ไรท์ติ้งอินไทย ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการเริ่มต้นใช้ปากกาหมึกซึมครับ 🙂

Patranun Thaniyavarn Limudomporn
Patranun Thaniyavarn Limudompornhttps://www.patranun.com/
เป็นเพียงมนุษย์ธรรมดา คนเดินดิน เรียนจบรัฐศาสตร์ ชอบปากกามาตั้งแต่เด็กๆ แต่ไม่ค่อยได้บอกให้ใครรู้ เริ่มใช้ปากกาหมึกซึมมาตั้งแต่ระดับประถม และใช้ปากกาลูกลื่น Montblanc Generation เป็นปากกาประจำตัว เลิกใช้ปากกาหมึกซึมไประยะหนึ่งก่อนกลับมาใช้ใหม่เพราะเพื่อนฝูงชักชวน แต่ก็ยังวนเวียนกับปากการะดับพรีเมียมเช่นเคย

ติดตามเราบน Facebook

เนื้อหายอดนิยม

บทความที่เกี่ยวข้อง

- Advertisement -