สาระ-ความรู้ซื้อปากกาเพื่อการลงทุน? ข้อคิดและความเป็นไปได้

ซื้อปากกาเพื่อการลงทุน? ข้อคิดและความเป็นไปได้

ในระยะหลัง กระแสการลงทุนในทรัพย์สินที่ตัวเองมีความถนัดหรือสนใจ (passion investment) เป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจและถูกมองว่าเป็นการลงทุนที่มีความแปลกใหม่ รวมถึงมีโอกาสเติบโตเยอะขึ้นอีกมากในระยะยาว เช่น การซื้อรถเก่า การซื้อกระเป๋า ซื้อไวน์ ซึ่งปากกาหรือเครื่องเขียน (writing instruments) ก็เป็นหนึ่งในการลงทุนลักษณะนี้เช่นกัน และมักจะอยู่ในความสนใจเวลามีข่าวเช่น การประมูลปากกาเก่าที่ได้ราคาไปหลายล้าน เป็นต้น

แม้การลงทุนในปากกาหมึกซึมในฐานะของทรัพย์สินที่มีความน่าสนใจจะทำได้ แต่บทความชิ้นนี้ต้องการชี้ให้เห็นว่า ยังมีข้อจำกัดและปัจจัยต่างๆ ที่เข้ามาประกอบอีกมาก ทำให้การลงทุนในปากกาเหล่านี้ อาจไม่ได้ง่ายอย่างที่คิดเอาไว้ ตรงกันข้าม การลงทุนในปากกาเหล่านี้อาจไม่ได้ให้ผลตอบแทนที่ดีหรือรวดเร็วเหมือนกับการลงทุนในตลาดเงิน-ตลาดทุนเท่าใดนัก

Passion Investment ลงทุนในสิ่งที่รักและสะสม

หากนิยามให้สั้นที่สุด Passion Investment หรือการลงทุนในทรัพย์สินที่ตัวเองมีความถนัดหรือสนใจ เป็นการลงทุนที่เกิดมาจากการสะสมสิ่งต่างๆ โดยผนวกรวมเอาความสนใจส่วนตัวเข้ามาด้วย ซึ่งการลงทุนในลักษณะนี้ถ้าให้ยกตัวอย่างที่หลายคนอาจจะพอนึกออก เช่น การซื้อนาฬิกา รถยนต์ ไวน์ งานศิลปะ เครื่องประดับต่างๆ หรือแม้กระทั่งสแตมป์ปิดจดหมาย เป็นต้น

ภาพจาก Pixabay

การลงทุนประเภทนี้ มักจะมีการชี้วัดทั้งในเรื่องของความหายาก (scarcity), การได้รับการยอมรับในวงกว้าง (acceptability) และที่ตามมาด้วยอย่างชัดเจนคือเรื่องของความสวยงาม (aesthetic) ของสินค้าชนิดนั้น นอกจากนั้นแล้วสินค้าบางอย่างยังมีเรื่องของ “ประวัติศาสตร์” หรือเรื่องเล่า (narrative) เข้ามาอยู่ในองค์ประกอบเหล่านั้นด้วย เช่น สแตมป์ที่ออกใช้ครั้งแรกของโลก เป็นต้น

แน่นอนว่ากิจกรรมเหล่านี้ไม่ใช่กิจกรรมการลงทุนในความเข้าใจปกติ เพราะต้องใช้เวลาศึกษาและประเมินคุณค่านานมาก รวมถึงทรัพย์สินหลายประเภทอาจมีมูลค่าสูงขึ้นต่อเมื่อมีระยะเวลาที่ยาวนานมากๆ เรียกว่าแทบจะเป็นมรดกตกทอดส่งถึงลูกหลาน นั่นแปลว่าต้องดูแลทรัพย์สินเหล่านี้ให้อยู่ในสภาพที่ดีเสมอ ดังนั้นกิจกรรมเหล่านี้จึงมักวนเวียนกับคนที่มีฐานะระดับหนึ่งแล้ว และต้องการส่งต่อความมั่งคั่งให้กับคนรุ่นถัดไป ผ่านทรัพย์สินที่ไม่ใช่ตัวเงิน

จุดที่เป็นข้อสังเกตอย่างหนึ่งคือ สินค้าเหล่านี้มักไม่มีราคากลางที่ชัดเจน ในระบบตลาดเงิน-ตลาดทุนโดยทั่วไปมักจะมีราคากลางหรือราคาเฉลี่ยของตลาดที่ชัดเจน เช่น การซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ที่เรามีกระดานใหญ่ และมีราคาซื้อขายในแต่ละช่วงเวลาบ่งบอกอยู่ แต่สำหรับสินค้าเหล่านี้ความชัดเจนมักจะไม่ปรากฎให้เห็น ราคาเป็นไปตามที่ตกลงกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย หรือถ้าเป็นการประมูลผ่านบริษัทประมูล (auction house) ต่างๆ ราคาในแต่ละครั้งก็มีความแตกต่างกันอีก (ยกเว้นไวน์ ซึ่งในปัจจุบันมีตลาดการซื้อขายมือสองพร้อมราคากลางรองรับอย่างเป็นระบบ)

ภาพจาก Pixabay

นอกจากนั้นแล้วสินค้ายังมีความละเอียดอ่อนอย่างมากด้วย ส่วนมากก็ต้องนัดเจอกันเพื่อดูของหรือพบกันเพื่อทำการซื้อขาย ถ้าจะต้องผ่านคนกลางก็ต้องเป็นบริษัทที่มีความน่าเชื่อถืออีกเช่นเดียวกัน รวมถึงความเสี่ยงที่จะเจอสินค้าปลอม (counterfeit) ก็มีด้วยเช่นเดียวกัน

จากการรายงานของ World Wealth Report เมื่อปี 2013 ระบุว่า สินทรัพย์ที่ถูกจัดว่าเป็น Passion Investment ที่ได้รับการลงทุนมากเป็นอันดับต้นๆ และใช้เงินสดในการซื้อ คือ นาฬิกา อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นสัดส่วนสูงถึง 31.6% รองลงมาเป็นของสะสมอย่างไวน์และของเก่าที่ 24.4%, รถยนต์ที่ 19% และงานศิลปะอยู่ที่ 16.9% ตามลำดับ

ข้อจำกัดเหล่านี้ที่ต้องมีทั้งเงิน เวลา และความรู้ที่ลึกซึ้ง ทำให้ Passion Investment มีข้อจำกัดมากมาย หลายคนจึงเลือกที่จะไม่ลงทุนในสิ่งเหล่านี้ แต่ในเวลาเดียวกันคนที่ถึงพร้อมกับการลงทุนในลักษณะนี้ ก็พร้อมเช่นกันที่จะลงทุนในสิ่งเหล่านี้โดยไม่ลังเลแม้แต่น้อย

ปากกาหมึกซึมกับการลงทุนและข้อจำกัด

เมื่อเราเข้าใจถึงแนวคิดของ Passion Investment แล้ว คำถามก็คือ ปากกาและเครื่องเขียนเป็นการลงทุนได้หรือไม่ และทำไมในบทความนี้จึงจำกัดที่ “ปากกาหมึกซึม” เป็นพิเศษ

คำตอบคือ ปากกาหมึกซึมนั้นเป็นปากกาที่มีลักษณะถูก “ล็อค” จากผู้ผลิตต่ำที่สุด และสามารถดูแลรักษาให้อยู่ในสภาพที่ดีได้โดยง่าย เวลาผู้ผลิตล้มหลายตายจากไปแล้วยังสามาถใช้งานได้ต่อ และยังมีคนรับซ่อมอยู่ ต่างจากปากกาอย่างโรลเลอร์บอลหรือลูกลื่น ซึ่งถ้าไม่มีไส้หรือหลอดหมึกที่เข้ากันได้ ราคาซื้อขายต่อจะร่วงลงโดยทันที

เมื่อเป็นเช่นนี้ ปากกาหมึกซึมจึงอยู่ในความสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อความนิยมในปากกาหมึกซึมกำลังเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลกและแนวโน้มของตลาดเองก็ยังเติบโตไปอย่างต่อเนื่อง

ถ้าหากเรานำกรอบการพิจารณาของ Passion Investment ด้านบนมาใช้ ก็จะพบว่าปากกาหมึกซึมสามารถใช้เป็นการลงทุนได้ แต่ไม่ใช่ทุกรุ่นที่เป็นแบบนั้น เพราะปากกาหลายด้ามที่แม้จะถูกจัดว่าเป็นต้นแบบหรือมีความโดดเด่น (iconic) อย่างเช่น Montblanc Meisterstück 149 หรือ LAMY 2000 ก็เป็นปากกาที่มีการผลิตอยู่ตลอด ทำให้มูลค่าของปากกาในตลาดรองหรือตลาดมือสอง (secondary market) ที่ซื้อขายกันไม่ได้แพงมากอย่างที่คิด เหมาะกับการซื้อมาใช้เองมากกว่า

Montblanc High Artistry Homage to Emperor Kangxi Limited Edition 1, The Imperial Dragon
Montblanc High Artistry Homage to Emperor Kangxi Limited Edition 1, The Imperial Dragon

ตรงกันข้าม ปากกาหมึกซึมบางรุ่นที่หายาก มีจำนวนการผลิตที่จำกัด ย่อมมีความต้องการจากตลาดมากกว่า Born2Invest ระบุว่าปากกาอย่าง Montblanc Hemingway ซึ่งเป็นปากกาในชุดนักเขียนของ Montblanc สามารถทำราคาในปัจจุบันได้สูงถึง 2,990 ดอลลาร์ (ประมาณ 95,000 บาท) ต่อด้าม ทั้งที่ราคาจำหน่ายแต่เดิมเมื่อปี ค.ศ. 1993 อยู่ที่ 574 ดอลลาร์เท่านั้น (ประมาณ 1,000 ดอลลาร์ เมื่อปรับอัตราเงินเฟ้อแล้ว หรือ 31,000 บาท) เนื่องจากผลิตมาจำนวนจำกัดนั่นเอง

นอกจากนั้นแล้ว ปากกาหมึกซึมหลายรุ่นยังมีการประดับเพชร ฝังอัญมณีมีค่า ตัวอย่างเช่น Montblanc High Artistry นอกจากจำนวนการผลิตที่จำกัดมากๆ ตัววัสดุต่างๆ ก็ยังมีค่าและราคาในตัวเอง ทำให้ปากกาหมึกซึมเหล่านี้ ถูกซื้อเก็บไว้ในฐานะของสะสมและเป็นงานศิลปะในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีราคาค่างวดเมื่อเวลาผ่านไป

แม้ราคาจะขึ้นสูงไปได้ขนาดนี้ แต่ปากกาหมึกซึมที่ซื้อเพื่อการลงทุนมักมีข้อจำกัดบางอย่างซึ่งควรพิจารณาอย่างยิ่งก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนและซื้อเก็บเอาไว้ ดังต่อไปนี้

  1. การยอมรับและชื่อเสียงของแบรนด์ ใช่ว่าปากกาหมึกซึมทุกแบรนด์หรือยี่ห้อจะได้รับการยอมรับในการซื้อขายสำหรับตลาดมือสอง ต่อให้เป็นปากกาที่มีวัสดุหรือกรรมวิธีการผลิตที่หายากก็ตาม ผู้ซื้อควรพิจารณาซื้อปากกาหมึกซึมแบรนด์ที่ได้รับการยอมรับจากตลาดสากล เช่น Montblanc, Caran d’Ache, Pelikan, Namiki, Montegrappa หรือ Aurora เป็นต้น
  2. ราคาของปากกาจะขึ้นไปถึงจุดหนึ่งแล้วนิ่ง ราคาของปากกาจะขึ้นไปถึงจุดหนึ่งที่ได้รับการยอมรับในตลาด และหลังจากนั้นราคาก็จะนิ่ง ไม่มีการขึ้นต่อไปอีก ข้อนี้ทำให้การลงทุนในสินทรัพย์เหล่านี้ไม่เหมือนกับการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ผ่านการออกหุ้น ซึ่งมูลค่านอกจากจะขึ้นกับการซื้อและขายในตลาดแล้ว ยังขึ้นกับตัวกิจการด้วย ส่วนไวน์ซึ่งเป็นทรัพย์สินใกล้เคียงกัน สินค้ามีการหดหายไปเรื่อยๆ และอายุสั้นมาก (ไวน์เปิดเพียง 24 ชั่วโมง ก็มีอันต้องเสียและทิ้ง) ทำให้ขวดที่เหลือกลายเป็นของหายากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ปากกาหมึกซึมอายุการใช้งานยาวนานกว่านั้นมาก และตัวปากกาเองก็มีมูลค่าในตัวมันระดับหนึ่ง เมื่อราคาขึ้นถึงจุดหนึ่งก็จะหยุดนิ่ง ไม่เพิ่มต่อ
  3. ความสมบูรณ์และการใช้งาน การซื้อปากกาหมึกซึมเพื่อการลงทุนขายต่อในอนาคต มักดูกันที่ความสมบูรณ์ของทั้งกล่องและเอกสาร รวมถึงการไม่ผ่านการใช้งาน ย่อมแปลว่าถ้าตั้งใจจะซื้อมาเพื่อการลงทุนจริงๆ สิ่งที่เหมาะสมคือการซื้อแล้วเก็บเอาไว้ให้ลืม ห้ามใช้งานโดยเด็ดขาดนั่นเอง ถ้าใช้เมื่อใดราคาซื้อขายต่อจะร่วงลงโดยทันที
  4. ปัญหาของปลอม ของเลียนแบบ เมื่อเป็นปากกายอดนิยม ผลิตมาจำนวนน้อยๆ ย่อมมีความเสี่ยงที่จะถูกทำปลอมได้มากกว่า โดยเฉพาะแบรนด์อย่าง Montblanc ที่มักจะถูกปลอมแปลงเป็นอันดับต้นๆ การซื้อขายปากกาเหล่านี้ถ้าเป็นไปได้ควรนัดเจอตัวเพื่อดูสินค้าและตรวจสอบ หรือไม่ก็ถามผู้เชี่ยวชาญเพื่อความแน่ใจ ประโยคที่ว่า “ถ้าสิ่งใดก็ตามฟังดูดีเกินจริง มักจะไม่จริง” (It’s too good to be true. Can’t be true.) ยังคงใช้ได้เสมอ ซึ่งถ้าพบปากกาลักษณะนี้ นั่นย่อมแปลได้ว่าสินค้าเหล่านี้มักจะไม่ใช่ของจริง

ข้อควรคิด ถ้าจะลงทุนกับปากกาหมึกซึม

การลงทุนต่างๆ ไม่มีทางลัด สิ่งที่จะทำให้ท่านเข้าใจถึงการลงทุนทุกอย่าง ประกอบไปด้วยสองส่วน คือความรู้ความเข้าใจในสินทรัพย์ที่ลงทุน และเวลาที่จะอดทนรอให้สินทรัพย์เหล่านี้ สร้างความงอกเงย ทั้งสองปัจจัยนี้เป็นส่วนประกอบที่สำคัญมาก

ในส่วนแรก ความเข้าใจของสินทรัพย์ที่ท่านกำลังลงทุนเป็นสิ่งที่ต้องมี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของในตัวผลิตภัณฑ์เอง ตลาดรอง การดูแลรักษา และความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการลงทุน ซึ่งในประเทศไทยสินทรัพย์อย่างปากกาหมึกซึมนั้นไม่ได้เป็นสิ่งที่อยู่ในความสนใจของตลาดที่นำมาใช้เพื่อการลงทุนเท่าใดนัก ขณะที่ในต่างประเทศจะมีความคึกคักมากกว่า รวมถึงตลาดประมูลซื้อขายเองก็พร้อมมากกว่า ถ้าตัดสินใจจะลงทุนจริงๆ ก็อาจจะต้องไปทำที่ต่างประเทศมากกว่าภายในประเทศไทย

ยังไม่นับว่ามีความเสี่ยงเรื่องความต้องการอีก รุ่นที่เราซื้อเพื่อหวังว่าจะลงทุน อาจไม่ใช่รุ่นยอดนิยมของตลาด และทำให้ราคาไม่ขยับเลยก็เป็นได้

ส่วนที่สองคือระยะเวลาที่ใช้ ซึ่งในกรณีของปากกาหมึกซึม ระยะเวลาการลงทุนจะต้องยาวนานมาก อย่างต่ำกว่าราคาจะขึ้นไปได้อาจใช้เวลานานถึง 5 ปีเลยทีเดียว นับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าใดนัก ทำให้ต้องมีความใจเย็นและเงินเย็นมากพอสมควร

การลงทุนในปากกาหมึกซึมจึงไม่ใช่เรื่องสำหรับทุกคน และไม่ใช่ทุกคนที่จะมีเวลาสำหรับการลงทุนในลักษณะนี้ จึงควรศึกษาทุกอย่างโดยรอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุน และการลงทุนที่ดีที่สุดคือการกระจายความเสี่ยงต่างๆ ให้ทั่วถึง

Montblanc Meisterstück 149

อ้างอิง

HSBC Private Banking, Unlockmen, Forbes, Elite Advisers, GM Live, Finnomena, Gentleman’s Gazette, The Goulet Pen Company, The Daily Star, The National Lifestyle, BBC News, Born2Invest

ศูนย์ส่งเสริมการพัฒนาความรู้ตลาดทุน. (2560). ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการเงินและการลงทุน หลักสูตรผู้แนะนำการลงทุนตราสารทั่วไป. กรุงเทพมหานคร: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย.

Patranun Thaniyavarn Limudomporn
Patranun Thaniyavarn Limudompornhttps://www.patranun.com/
เป็นเพียงมนุษย์ธรรมดา คนเดินดิน เรียนจบรัฐศาสตร์ ชอบปากกามาตั้งแต่เด็กๆ แต่ไม่ค่อยได้บอกให้ใครรู้ เริ่มใช้ปากกาหมึกซึมมาตั้งแต่ระดับประถม และใช้ปากกาลูกลื่น Montblanc Generation เป็นปากกาประจำตัว เลิกใช้ปากกาหมึกซึมไประยะหนึ่งก่อนกลับมาใช้ใหม่เพราะเพื่อนฝูงชักชวน แต่ก็ยังวนเวียนกับปากการะดับพรีเมียมเช่นเคย

ติดตามเราบน Facebook

เนื้อหายอดนิยม

บทความที่เกี่ยวข้อง

- Advertisement -