29 มีนาคม 2024
สาระ-ความรู้รู้จักกับ Fisher Space Pen ปากกาสำหรับใช้งานในอวกาศของสหรัฐอเมริกา

รู้จักกับ Fisher Space Pen ปากกาสำหรับใช้งานในอวกาศของสหรัฐอเมริกา

ผู้อ่านไรท์ติ้งอินไทยน่าจะเคยได้ยินมุกตลกในตำนานที่กล่าวไว้ว่า “หลังจากนักบินอวกาศของอเมริกาค้นพบว่าหมึกปากกาลูกลื่นจะไม่ยอมไหลบนอวกาศ สหรัฐฯ ก็ทุ่มงบประมาณร่วมหนึ่งล้านดอลลาร์ในการสร้างปากกาที่เขียนได้ในทุกสภาวะ ส่วนนักบินอวกาศรัสเซียใช้ดินสอ” ไรท์ติ้งอินไทยจึงขอพาผู้อ่านไปทำความรู้จักกับปากกา Fisher Space Pen ปากกาที่ถูกพัฒนาและวิจัยเพื่อให้เขียนได้ในทุกสภาวะ และเป็นปากกาที่ทั้งสหรัฐอเมริกาและรัสเซียเลือกใช้ในโครงการอวกาศมาจนถึงปัจจุบัน

เมื่ออเมริกาไม่ได้ใช้ปากกา และไม่ใช่แค่รัสเซียใช้ดินสอ

ก่อนยุคเริ่มต้นของการใช้ปากกาบนอวกาศ ทั้งนักบินอวกาศของสหรัฐอเมริกาและรัสเซียต่างก็ใช้ดินสอกันมาก่อนหน้านี้ โดยนักบินอวกาศของสหรัฐอเมริกาจะได้รับชุดเครื่องเขียน ประกอบด้วยแท่นกระดาษพร้อมที่รัดกับหัวเข่า และดินสอหนึ่งด้าม ตัวดินสอจำเป็นต้องผูกกับแท่นเพื่อไม่ให้ลอยเคว้งคว้างไปในอวกาศ

ชุดเครื่องเขียนของโครงการ Friendship 7 (ภาพจากพิพิธภัณฑ์ยานบินและยานอวกาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา)

แน่นอนว่าวิวัฒนาการของการเลือกดินสอก็ย่อมเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ทั้งสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต (ในสมัยนั้น) เลือกใช้ดินสอแบบต่างๆ ดังต่อไปนี้

  • ในระยะแรกทั้งสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต เลือกใช้ดินสอไม้พร้อมที่เหลา อย่างไรก็ดีปัญหาที่เกิดขึ้นคือการใช้ดินสอประเภทนี้ก่อให้เศษฝุ่นของไส้ดินสอไม้ ตัวไม้ดินสอ และยางลบ เศษฝุ่นเหล่านี้อาจก่อให้เกิดอันตรายต่ออุปกรณ์จำพวกสวิตช์ แถมยังเป็นวัสดุไวไฟ
  • ต่อมาสหรัฐอเมริกาเลือกใช้ดินสอกด (mechanical pencil) ช่วยให้ไม่เกิดเศษไม้ในอวกาศ อย่างไรก็ดีเศษผงจากไส้ดินสอยังคงอยู่
  • ในทางกลับกันสหภาพโซเวียตเลือกใช้ดินสอเขียนกระจก (dermatograph) ที่ใช้ไส้เป็นวัสดุจำพวกขี้ผึ้ง แม้ไส้ขี้ผึ้งจะไม่ฟุ้งเป็นฝุ่น แต่การกำจัดเศษกระดาษที่พันรอบดินสอก็เป็นเรื่องยุ่งยาก และแน่นอนว่าดินสอประเภทนี้เขียนติดกระดาษได้ไม่ดีเท่ากับดินสอปกติ

ครั้งหนึ่งนาซ่าเคยจัดซื้อดินสอจำนวน 34 แท่งในราคา 4,382.50 ดอลล่าร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 128.89 ดอลล่าร์สหรัฐต่อด้าม แน่นอนว่าเกิดเสียงวิพากษ์ขึ้นเป็นจำนวนมากถึงความเหมาะสมของราคาจัดซื้อ

สู่ยุคของปากกา: ตอบโจทย์มากขึ้น แต่ยังไม่มากพอ

ทั้งสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตต่างพยายามหันไปใช้ปากกาแทนดินสอ ทางเลือกปากกาในท้องตลาด ณ ขณะนั้นมีอยู่ไม่มากนัก โดยต่างเลือกใช้ปากกาลูกลื่นทั่วไป ซึ่งยังทำงานได้ไม่ดีในทุกสถานการณ์อุณหภูมิ ก่อนที่สหรัฐอเมริกาจะพยายามเปลี่ยนมาใช้ปากกามาร์คเกอร์ในโครงการอะพอลโล แต่ก็ยังติดปัญหาการเขียนไม่ออกในบางสภาพความดันและอุณหภูมิ

ถือกำเนิด Fisher Space Pen ปากกาอวกาศ

ภาพประกอบสิทธิบัตรแรกของ Fisher Space Pen

ในปี 1948 Paul C. Fisher ก่อตั้งบริษัท Fisher Pen Company เพื่อมุ่งหวังจะผลิตปากกาทั่วไป จุดเปลี่ยนแรกที่ Fisher สร้างให้กับวงการปากกา คือการออกแบบไส้ปากกาที่สามารถใช้กับปากกายี่ห้อหลักๆ ได้ทุกยี่ห้อในขณะนั้นภายใต้ชื่อ Universal Refill Catridge

จุดมุ่งหมายของบริษัทในขณะนั้นมีเพียงการสร้างปากกาที่ดี บริษัทพยายามทดลองสร้างปากกาที่ “เขียนได้ดี” โดยมิได้คำนึงถึงสภาวะใดเป็นพิเศษ จนออกมาเป็นสิทธิบัตรเฉพาะในการผลิตปากกาของ Fisher

สิทธิบัตรหมายเลข #3285228 ของ Fisher เสนอแนวคิดการสร้างปากกาไว้หลายอย่าง โดยหลักแล้วอยู่ที่การออกแบบกลไกด้ามปากกาให้ทำหน้าที่อัดอากาศลงไปที่ไส้ปากกา เพื่อให้ความดันความดันในหลอดหมึกมากกว่าความดันภายนอก ส่งผลให้หมึกสามารถไหลออกมาได้อย่างเรียบลื่น โดย Fisher ตั้งชื่อรุ่นให้ปากกาด้ามนี้ว่า Fisher AG7

ทั้งนี้ทั้งนั้น ความสำเร็จในการออกแบบปากกา Fisher AG7 ไม่ได้อยู่แค่ที่เพียงกลไกการอัดอากาศ แต่มาจากหมึกชนิดใหม่และการออกแบบหัวบอลสำหรับปากกาควบด้วย แน่นอนว่าการสร้างปากกาด้วยวิธีการแบบใหม่ต้องใช้งบวิจัยจำนวนมาก Fisher ใช้งบประมาณร่วมหนึ่งล้านดอลล่าร์สหรัฐเพื่อพัฒนาปากกาด้ามนี้

หลังผ่านการทดสอบยาวนานกว่า 18 เดือนจาก NASA ปากกา Fisher Space Pen ก็ได้รับคัดเลือกให้ใช้งานบนภารกิจ Apollo 7 ของสหรัฐอเมริกา

Fisher Space Pen
กลไกการทำงานของปากกา Fisher รุ่นอัดอากาศภายใน (ภาพจาก Fisher Space Pen California)

การพัฒนาของ Fisher ไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น ในภายหลัง Fisher ได้พัฒนาปากกา Fisher CH4 ซึ่งใช้การอัดไนโตรเจนในด้ามปากกามาจากโรงงานแต่แรก ทว่าความพิเศษของปากกา Fisher CH4 อยู่ที่การเลือกใช้หมึกที่มีสถานะใกล้เคียงของแข็ง ที่จะไหลออกมาเป็นของเหลวก็ต่อเมื่อหมึกในด้ามปากกาถูกเฉือนด้วยแรงของหัวปากกาเท่านั้น นอกจากนั้น Fisher ยังเคลมว่ากลไกร่อง (socket) ที่เป็นเทคนิคทางวิศวกรรมของบริษัท ก็เป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่ทำให้หมึกปากกาไหลออกมาเฉพาะเวลาเขียน

เมื่อรัสเซีย (เลิก) ใช้ดินสอ: สู่ยุคของปากกาในอวกาศ

หลังการพัฒนาของปากกา Fisher CH4, NASA ก็เลือกใช้ปากการุ่นดังกล่าวเป็นอุปกรณ์การเขียนสำหรับอวกาศ แทนที่ปากกา Fisher AG7 รุ่นเก่า และในขณะเดียวกัน สหภาพโซเวียตก็เปลี่ยนมาใช้ปากการุ่นนี้ มาตั้งแต่ปี 1969 บนโครงการ Soyuz

จนถึงปัจจุบันปากการุ่นนี้ ยังคงใช้ในโครงการอวกาศต่างๆ ทั้งของสหรัฐอเมริกาและรัสเซีย

ปากกาที่ช่วยให้ภารกิจ Apollo 11 สำเร็จ

มีการเปิดเผยในภายหลังว่า ขณะที่อยูบนดวงจันทร์ ลูกเรือคนหนึ่งของภารกิจ Apollo 11 เผลอทำก้านสวิตช์หนึ่งตัวหัก เป็นสวิตช์ตัวที่ต้องใช้เพื่อส่งยานจากดวงจันทร์กลับสู่โลก เมื่อ Buzz Aldrin แจ้งศูนย์ควบคุมถึงปัญหานี้ ศูนย์ควบคุมที่โลกทดลองหักสวิตช์ในลักษณะเดียวกัน — ความท้าทายอยู่ที่ว่าขณะนี้นักบินอวกาศบนดวงจันทร์ไม่มีเครื่องมือใดเลย นอกจากปากกา Fisher AG7

ศูนย์ควบคุมจึงทดลองใช้ปากกา Fisher AG7 ในการดันกลไกของสวิตช์ที่หักขึ้นมา และพบว่าใช้การได้ดี จึงแนะนำให้ Buzz Aldrin ทำแบบนั้นเช่นกัน หลังเหตุการณ์นี้จึงมีคำเปรียบเปรยว่า “หากไม่มีปากกา Fisher AG7 นักบินอวกาศในโครงการ Apollo 11 คงไม่สามารถกลับมายังโลก”

เขียนเพื่อเปลี่ยนโลก

ปากกา Fisher AG7

ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่า ปากการุ่นนี้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อวงการวิศวกรรม ปากกาเป็นเครื่องมือหลักสำหรับคนทำงานไม่ว่าจะสายใด และภารกิจหลายอย่างของโครงการอวกาศอาจไม่สามารถสำเร็จได้หากนักบินอวกาศขาดเครื่องเขียนที่ทำงานได้ดีในสภาวะนอกโลก

หากมองย้อนกลับมาแล้ว ปากกาเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญของมนุษย์ ทั้งเพื่อถ่ายทอดความคิด ความรู้สึก และจดบันทึก ปากกาเป็นเครื่องมือชั้นดีในการ “เขียน” ประวัติศาสตร์ให้โลก และประวัติศาสตร์แห่งปากกามิได้มีแค่เรื่องราวของสิ่งที่ปากกาด้ามหนึ่งได้เขียนไว้ แต่ยังเป็นที่มาของปากกาด้ามนั้น ทั้งแง่ของความสำคัญ วิศวกรรม และจุดเปลี่ยนที่ปากกาด้ามหนึ่งได้สร้างไว้

ไรท์ติ้งอินไทยมุ่งจะเสนอเรื่องราวของปากกา ทั้งในแง่มุมของผลิตภัณฑ์ และประวัติศาสตร์ต่างๆ ของปากกาที่เปลี่ยนโลก ตามโอกาสอันเห็นสมควรต่อไป

เครดิตภาพประกอบและข้อมูล

Sirakorn Lamyai
Sirakorn Lamyaihttp://srakrn.me
ด้วยความที่เรียนวิศวกรรมศาสตร์ ศิระกรจึงพยายามมองการซื้อปากกาแต่ละด้ามเป็น "การลงทุน" และอยู่ในโลกของการพยายามหาปากกาที่ค่าตัวไม่แพงแต่มีคุณภาพสูงมาใช้เรื่อยๆ ถึงกระนั้น ศิระกรก็กำลังพยายามกระโดดไปโลกของปากกาในฐานะเครื่องประดับ และหวังว่าจะได้เรียนรู้อย่างเพลิดเพลินในโลกทั้งสอง

ติดตามเราบน Facebook

เนื้อหายอดนิยม

บทความที่เกี่ยวข้อง

- Advertisement -