25 เมษายน 2024
รีวิวพรีวิว Pelikan M120 Iconic Blue - ปากกาหมึกซึมย้อนยุคที่คุ้นเคย

พรีวิว Pelikan M120 Iconic Blue – ปากกาหมึกซึมย้อนยุคที่คุ้นเคย

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2018 (พ.ศ. 2561) ในช่วงเวลาเดียวกับการก่อตั้งเว็บไซต์ไรท์ติ้งอินไทย Pelikan ผู้ผลิตเครื่องเขียนจากเยอรมนี ประกาศเปิดตัวปากกา M120 Iconic Blue ซึ่งเป็นรุ่นที่สร้างขึ้นตามรุ่นเก่าดั้งเดิม คือ 120 ที่ผลิตในช่วงปี 1955-1965 และผลิตขึ้นมาจำนวนจำกัด ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้ชื่นชอบปากกาดีไซน์ดั้งเดิม (vintage) เป็นอย่างดี และถือเป็นปากกาอีกรุ่นที่หลายคนตามหาสะสมกัน

ภาพตัดมาที่ปี 2021 ปากการุ่นนี้ถูกนำเข้ามาจากทาง บริษัท พิลีแกน (ประเทศไทย) จำกัด และเริ่มวางจำหน่ายในราคาประมาณ 5,000 บาท ซึ่งนับว่าเป็นราคาที่ไม่หนีห่างจากต่างประเทศมากนัก ทีมงานไรท์ติ้งอินไทยจึงมีโอกาสจับจองเป็นเจ้าของ และต้องบอกว่าเป็นอีกหนึ่งปากกาที่คนชอบพิลีแกน ไม่ควรพลาดเป็นอย่างยิ่ง

หมายเหตุ ปากกาด้ามนี้ทีมงานจัดซื้อมาด้วยเงินของทีมงานเองผ่านช่องทางออนไลน์ของ Shopat24/All Online by 7-Eleven ในช่วงที่มีการจัดลดราคา ทั้งนี้ บจ. พิลีแกน (ประเทศไทย) และ บมจ.ซีพีออล มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับรีวิวนี้ ความคิดเห็นทั้งหมดในพรีวิวของทีมงานเป็นไปอย่างอิสระ

ทำความรู้จักกับ M120 Iconic Blue

อันที่จริงแล้ว ปากกากลุ่ม M120 เป็นปากกาที่สร้างขึ้นมาใหม่เมื่อปี 2016 ทำลักษณะคล้ายกับปากกาหมึกซึม Pelikan 120 เดิมของบริษัท ซึ่งผลิตในช่วงปี 1955-1965 และในเวลานั้นจัดเป็นปากกาที่ใช้สำหรับในโรงเรียน (school pen) เท่านั้น และใช้สีเขียวดำเพียงอย่างเดียวเท่านั้นในรุ่นดั้งเดิม

Pelikan M120 Green-Black Special Edition (ที่มา: ภาพจากบริษัท)

ในตอนแรก Pelikan ตัดสินใจเปิดตัวปากการุ่นนี้โดยสร้างขึ้นเลียนแบบของเดิมทุกประการ นั่นทำให้สีสันของ M120 รุ่นแรกที่เปิดตัวในปี 2016 คือสีเดียวกับ 120 รุ่นเดิมที่ออกมาแล้ว ซึ่งได้รับเสียงตอบรับอย่างดี หลังจากนั้นให้หลัง 2 ปี บริษัทจึงตัดสินใจเพิ่มสีใหม่ Iconic Blue เข้ามา ซึ่งทำให้ได้ปากการุ่นที่เรากำลังพรีวิวอยู่นี่เอง

จุดแตกต่างที่สำคัญของ M120 ที่ออกมาใหม่ เมื่อเทียบกับ 120 ดั้งเดิมนั้น นอกจากเรื่องของตราบริษัทที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาแล้ว ยังมีเรื่องของลวดลายบนหัวเขียน (nib) ที่ทำขึ้นมา โดยได้แรงบันดาลใจจากลวดลายของรายการสินค้าของบริษัทช่วงปี 1800 นอกจากนั้นแล้วยังมี “ชุด” ของขวัญพิเศษที่จัดทำขึ้นด้วย ชุดของขวัญดังกล่าวประกอบไปด้วยกล่องพิเศษ ปากกา และสำคัญคือหมึก Pelikan 4001 Royal Blue ที่เปลี่ยนฉลากขวดให้คล้ายกับของดั้งเดิม ซึ่งราคาชุดดังกล่าวจะแพงกว่ารุ่นปกติอยู่เล็กน้อย (ในไทยไม่นำมาจำหน่าย)

ภาพกล่องของขวัญ (ที่มา: Pelikan)
ภาพขวดหมึก (ที่มา: Pelikan)

สำหรับคนที่สนใจด้านเทคนิค ต้องบอกว่าปากการุ่นนี้นั้นภายนอกแม้จะมีความแตกต่างกับ M200 ที่ไรท์ติ้งอินไทยเคยรีวิวไปแล้ว แต่ความแตกต่างนั้นหยุดเฉพาะที่รูปลักษณ์ภายนอกเท่านั้น ในรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ นั้น แทบไม่ได้แตกต่างกันเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของขนาดหัวเขียน หรือการสูบหมึก (ยาวขึ้นนิดหน่อยเท่านั้น) ทีมงานจึงขออนุญาตเลือกข้ามในส่วนรีวิวการเขียนไปครับ

ข้อมูลทางเทคนิค

  • ความยาว: 13.0 ซ.ม.
  • ความยาวตัวด้าม: 12.1 ซ.ม.
  • ความยาวเมื่อสวมท้ายด้าม: 15.4 ซ.ม.
  • เส้นผ่าศูนย์กลาง: 1.34 ซม.
  • น้ำหนัก: 14 กรัม
  • วัสดุหัวปากกา: เหล็กชุบทองคำ 14 กะรัต
  • หัวปากกา: กลาง (M: Medium) และขนาดเล็กมาก (EF: Extra Fine)
  • ราคาจำหน่ายแนะนำ: 5,400 บาท/ด้าม

ราคาค่าตัวของปากกา

ปัจจุบันปากการุ่นนี้มีวางจำหน่ายในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ โดย บริษัท พิลีแกน (ประเทศไทย) จำกัด เป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการเพียงรายเดียว (มีฐานะเป็นบริษัทลูกตรงของพิลีแกน) และมีราคาอยู่ที่ด้ามละ 5,400 บาท

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ทีมงานตัดสินใจซื้อปากกาด้ามนี้มา บริษัทวางจำหน่ายปากการุ่นนี้ในเว็บไซต์ Shopat24/All Online by 7-Eleven โดยมีราคาอยู่ที่ด้ามละ 4,900 บาท (ลดราคาลงมา) ซึ่งในเดือนเมษายน 2564 ที่ทีมงานซื้อนั้น มีการใช้โค้ดของแพลตฟอร์มลดราคาลงไปอีก 150 บาท ราคาสุทธิจึงเหลือ 4,750 บาท ซึ่งสามารถทำรายการผ่อนชำระดอกเบี้ย 0% ได้ 6 เดือนด้วย

ทั้งนี้ ราคาปัจจุบันที่ท่านผู้อ่านจะได้รับนั้น ขึ้นกับส่วนลดในเวลานั้นๆ รวมถึงการปรับราคาของผู้ขาย ซึ่งอาจแตกต่างกันไป ทีมงานขอแนะนำให้พิจารณาราคาอีกครั้งหนึ่งครับ

สำรวจปากกา

ทีมงานตัดสินใจสั่งปากกาด้ามนี้ไปก่อนวันสงกรานต์เล็กน้อย และได้รับทันก่อนวันสงกรานต์ โดยมาเป็นกล่องธรรมดาแบบเดียวกับปากกาด้ามอื่นๆ ของ Pelikan ที่ทีมงานเคยรีวิวไป เช่น M205 Demonstrator เป็นต้น

เมื่อเปิดออกมา จะพบกับซองสีขาว และตัวเล่มคู่มือ เหมือนเช่นปากการุ่นอื่นๆ ทั่วไป

จุดที่ทีมงานสนใจเป็นพิเศษคือตราปั้มด้านหลังว่าจะโล่งหรือไม่ (เพราะถ้าโล่งก็แปลว่าถ้าไม่ผิดพลาด ก็อาจจะเป็นสินค้านำเข้ามาเองที่อาจมีปัญหาเรื่องประกัน – อ่านบทความเรื่องทำไมควรซื้อสินค้าในประเทศเพิ่มเติมได้) ซึ่งก็มีเรียบร้อยอย่างดีครับ

เมื่อแกะซองสีขาวออกมา จะพบกับปากกาในถุงพลาสติกใส พอเอาออกมาจะพบกับปากกา และป้าย (tag) ระบุรุ่น สี และขนาดของหัวปากกา (ด้านหลังมีบาร์โค้ด) ซึ่งก็ดึงออกถ้าต้องการใช้งานครับ

ตัวปากกามีลักษณะออกไปทางทรงกระบอกแบบซิการ์ตรงๆ และดูเรียบง่ายแต่โดดเด่นด้วยการประดับของโลหะเคลือบทองคำ 14 กะรัต ส่วนหัวท้ายกลมมน

บริษัทยังคงแนวทางเดิมสำหรับปากการุ่นนี้ นั่นก็คือคลิปหนีบ (แหนบ) ของปากกาที่ออกแบบมาเป็นปากนกกระทุง (เหมือนกันในทุกรุ่น) และรุ่นนี้ก็เช่นเดียวกัน

จุดที่แตกต่างอย่างชัดเจนจากรุ่นอย่าง Classic 200 คือเรื่องของส่วนหัว ซึ่งโลโก้บริษัทจะหลืนไปกับตัวพลาสติก และทำเหมือนรอยนูนออกมา ตัวตราสัญลักษณ์จะไม่โดดเด่นชัดมาก

วงแหวนบริเวณปลอกปากกานั้นจะมีลักษณะแบบเดียวกับปากการุ่นอื่นๆ ด้านหนึ่งประทับคำว่า “PELIKAN” อีกด้านหนึ่งประทับคำว่า “GERMANY”

เมื่อหมุนถอดปลอกปากกาออกมา จะพบกับหัวเขียน ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นมาก ในกรณีของ M200, M205 นั้น จะเป็นลายประทับตราบริษัทเปล่าๆ แต่ในกรณีของปากการุ่นนี้จะมีลวดลายที่ไม่ปรากฎในรุ่นอื่น

ส่วนปากกาเองก็มีช่องให้ดูหมึกและกลไกต่างๆ ด้วย แม้อาจจะไม่ได้มองแบบโปร่งใสเหมือนปากกาโปร่งแสง (Demonstrator) แต่ก็สามารถเห็นระดับหมึกได้เช่นกัน

ปากการุ่นนี้ใช้กลไกสูบหมึกเป็นหลัก ดังนั้นกลไกลูกสูบจึงอยู่ตอนท้าย ไม่ต่างจากรุ่นอื่นๆ หรือปากกาคู่แข่งอย่าง LAMY 2000, Montblanc Meisterstuck 149 แต่ในแบบของ 120 นั้น มีลักษณะที่เรียบกว่า และเห็นได้ชัดเจนว่ามีลดระดับลงมา 1 ขั้นด้วย

เนื่องจากทีมงานไม่ได้ทดสอบการเขียนแบบจริงจัง (หัวเขียนนอกจากลายแล้วที่เหลือเหมือนกับ M200 Smoky Quartz ทุกประการ) ดังนั้นทีมงานจึงขออนุญาตข้ามในส่วนนี้ไปครับ

สรุป

ในเรื่องของประสบการณ์เขียนของปากการุ่นนี้ คงไม่มีอะไรที่แตกต่างไปจากรุ่นข้างเคียงอย่าง M200/205 ที่ทำผลงานได้อย่างดี จุดสำคัญอยู่ที่เรื่องของการออกแบบและสีสันของปากกานี้ที่โดดเด่นนั่นเอง อย่างไรก็ตามข้อเสียของปากการุ่นนี้ที่มีอยู่โดยตลอด (และรุ่นนี้ก็ไม่เว้น) คือการที่ปากกาเป็นรอยขนแมวได้ง่ายจากการใช้งาน ดังนั้นแล้วอาจจะต้องดูแลรักษากันเสียหน่อย หรือหากเอามาใช้งานก็อาจจำต้องเลือกใช้ในโอกาสพิเศษหน่อย

คู่แข่งโดยตรงของปากการุ่นนี้นั้น นอกเหนือจากปากการุ่นพิเศษอื่นๆ ของ Pelikan เองแล้ว ยังมีปากกาอย่างเช่น Visconti Breeze อยู่ในกลุ่มนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งสไตล์การเขียนอาจจะไม่ได้เหมือนกับปากการุ่นนี้ไปเสียทั้งหมด

ปากการุ่นนี้จึงเหมาะกับการสะสม หรือคนที่หาอะไรโดดเด่นจากปากกาปกติทั่วไปพอสมควร ซึ่งถ้าท่านกำลังมองหาปากกาลักษณะนี้อยู่ ปากการุ่นนี้สามารถตอบโจทย์ความต้องการได้อย่างแน่นอนครับ

เครดิต

  • ข้อมูลและเรียบเรียง: Pelikan, The Pelikan’s Perch, The Pen Addict
  • สถานที่: Starbucks สาขาบ้านก้ามปู อโศก

Patranun Thaniyavarn Limudomporn
Patranun Thaniyavarn Limudompornhttps://www.patranun.com/
เป็นเพียงมนุษย์ธรรมดา คนเดินดิน เรียนจบรัฐศาสตร์ ชอบปากกามาตั้งแต่เด็กๆ แต่ไม่ค่อยได้บอกให้ใครรู้ เริ่มใช้ปากกาหมึกซึมมาตั้งแต่ระดับประถม และใช้ปากกาลูกลื่น Montblanc Generation เป็นปากกาประจำตัว เลิกใช้ปากกาหมึกซึมไประยะหนึ่งก่อนกลับมาใช้ใหม่เพราะเพื่อนฝูงชักชวน แต่ก็ยังวนเวียนกับปากการะดับพรีเมียมเช่นเคย

ติดตามเราบน Facebook

เนื้อหายอดนิยม

บทความที่เกี่ยวข้อง

- Advertisement -