25 เมษายน 2024
รีวิวรีวิวหมึกหมึกสี Royal Blue: เปรียบเทียบระหว่าง Montblanc และ Pelikan

หมึกสี Royal Blue: เปรียบเทียบระหว่าง Montblanc และ Pelikan

เปรียบเทียบระหว่าง Montblanc และ Pelikan ในสี Royal Blue ทั้งสองสีเป็นสีที่สวยงาม มีรายละเอียดที่ดี และใช้งานได้จริงในชีวิตประจำวัน

ตัวผู้เขียนเองเป็นหนึ่งในผู้ที่ใช้ปากกาหมึกซึมในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการเขียนบันทึกทั่วไป การจดเลคเชอร์ การใช้ในการเซ็นเอกสาร รวมถึงการเป็นเครื่องประดับข้างกายชิ้นหนึ่งในบางครั้ง และหมึกที่ผู้เขียนชอบใช้คือสีน้ำเงิน (blue) วันนี้ ผู้เขียนขออนุญาตนำเสนอรีวิวเปรียบเทียบหมึกสีน้ำเงินที่เรียกว่า Royal Blue ระหว่างแบรนด์ Montblanc และ Pelikan หมึกปากกาหมึกซึมจากสองผู้ผลิตเครื่องเขียนแบรนด์ดังระดับโลก

หมึกสีนํ้าเงิน (Blue) นั้น ถือว่าเป็นหนึ่งในสีสำคัญของหมึกปากกาที่เป็นที่นิยมใช้ในการเขียนทั่วไปในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ปากกาหมึกซึม ลูกลื่น หรือโรลเลอร์บอลก็ตาม หมึกสีนํ้าเงินมักเป็นสีที่ผู้เขียนพบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน

สำหรับสี Royal Blue นั้น มีความเป็นมา โดยข้อมูลจาก Canva ระบุว่า สีนี้เป็นสีที่ชนะในการแข่งขันเพื่อทำสีขึ้นสำหรับการตัดฉลองพระองค์ของพระราชินีนาถชาร์ล็อตต์ (Queen Charlotte 1744-1818) แห่งสหราชอาณาจักร มีความหมายของสีที่มีความเกี่ยวข้องกับความเหนือกว่า (Superiority)

ว่าด้วยหมึก Royal Blue ของ Montblanc และ Pelikan

แบรนด์ทั้งสองนั้นล้วนถือว่าเป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงและมีประวัติศาสตร์มาเป็นเวลานานในเรื่องอุปกรณ์การเขียน ในด้านปากกาหมึกซึมของ Pelikan นั้นอาจไม่แพร่หลายนักในประเทศไทย เนื่องจากในปัจจุบันไม่มีการนำเข้ามาจำหน่ายโดยทั่วไป แต่ก็สามารถพบอุปกรณ์การเขียนในระดับตลาดล่างและกลางได้ตามร้านขายเครื่องเขียนอย่างเช่นร้านสมใจ สินค้าที่ทำตลาดในไทยอย่างเช่นปากกาลูกลื่นปากกาเน้นข้อความ หมึกปากกา และปากกาหมึกซึมสำหรับหัดเขียนอย่าง Pelikano เป็นต้น

ในขณะที่ Montblanc นั้นมีชื่อเสียงอยู่ในกลุ่มสินค้าหรูหราและมีราคาสูง โดยมีร้านสาขาตั้งอยู่ในห้างระดับพรีเมียมใจกลางกรุงเทพรวมถึงการซื้อผ่านร้านปลอดภาษีในสนามบิน

เปิดกล่อง
เปิดกล่อง

Montblanc Royal Blue

Montblanc
Montblanc

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาผู้เขียนได้รู้จักหมึกของ Montblanc จากการเข้าไปลองปากกาในร้าน และพนักงานได้นำหมึกสีนี้มาใช้ในการลองเขียน ผู้เขียนเริ่มเกิดความชื่นชอบในหมึกสีดังกล่าวที่มีความออกนํ้าเงินม่วงและให้ความรู้สึกว่าสีมีความเข้มมากกว่าสีของหมึก Pelikan ที่ใช้อยู่ประจำ จึงได้ลองซื้อมา 1 ขวด นอกจากนี้ยังมีแบบหมึกหลอดแบบมาตรฐาน (International standard cartridge) วางจำหน่ายด้วย

ราคา: 900 บาท สำหรับ 60 มล. (ราคา ณ เดือนพฤษภาคม 2561 ที่ร้าน Montblanc สาขา Emporium)

บรรจุภัณฑ์ของหมึกยังเต็มไปด้วยความหรูหรา (ไม่ต่างจากหมึก Irish Green) ออกแบบมาเป็นกล่องมีลิ้นชักให้ดึงออกมา

Pelikan Royal Blue

Pelikan 4001
Pelikan 4001

เดิมทีนั้นผู้เขียนเริ่มทำความรู้จักหมึกสีดังกล่าว จากการเข้าไปในร้านสมใจและพบหมึก Pelikan 4001 ซึ่งนับว่าเป็นหมึกที่มีสีสวยอยู่พอสมควร ไม่ได้มีสีที่ฉูดฉาดเกินไปสำหรับการเขียนทั่วไป และมีราคาที่ไม่แพง (ผู้เขียนได้มาในราคา 120 บาทสำหรับขนาดความจุ 62.5 มล. เมื่อกลางปี 2560) นอกจากนี้ยังเป็นหมึกที่สามารถหาซื้อได้ไม่ยากนัก เช่นร้านสมใจที่สยามสแควร์และศาลาแดง ร้านสยามมาร์เก็ตติ้งที่ CentralWorld หรือร้าน minimor ที่ห้างฟิวเจอร์ปาร์ค รังสิต

ราคา: อยู่ในระดับราคาประมาณ 120-200 สำหรับ 62.5 มล. ราคามีความไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับสาขาและล๊อต บางครั้งผู้เขียนเจอป้ายระบุราคาที่ต่างกันในสินค้าสองชิ้นแม้ว่าจะเป็นสินค้าตัวเดียวกัน นอกจากนี้ในร้านค้าบางสาขาจะมีขวดขนาด 30ml ในราคาที่ถูกกว่า

บรรจุภัณฑ์เป็นขวดหมึกที่บรรจุอยู่ในกล่องกระดาษธรรมดา และเป็นบรรจุภัณฑ์ที่มีข้อดีในเรื่องของการประหยัดพื้นที่การจัดเก็บ

ตัวไหนคือตัวไหนเอ่ย?
ตัวไหนคือตัวไหนเอ่ย?

เทียบทั้งสองหมึก Pelikan vs. Montblanc

สำหรับการทดสอบการเขียนนั้น ผู้เขียนเองมองว่ากระดาษเป็นสิ่งสำคัญในการแสดงถึงศักยภาพของหมึกจึงได้ลองนำกระดาษต่างๆที่ผู้เขียนใช้เพื่อแสดงให้เห็นถึง โดยปากกาที่ใช้นั้นจะมี Sailor Fude de Mannen สำหรับเส้นขนาดใหญ่กว่าปกติและ Sheaffer 100 สำหรับเส้นขนาด M

คำแนะนำ: ภาพสแกน (ใช้เครื่องสแกน Epson L220) การปรับสีและความสว่างของจอคอมพิวเตอร์หรือมือถือปากกากระดาษที่ใช้ย่อมมีผลต่อสีที่ท่านได้รับชม

ผู้เขียนใช้เวลา 2-3 วันนับจากการเริ่มร่างบทความจนมาถึงวันที่แสกนภาพจากกระดาษเหล่านี้ สีหมึกจึงมีการเปลี่ยนแปลงไปอยู่พอสมควร (จางลง) โดยผู้เขียนมองว่าสีหมึกจากกระดาษ Leuchtturm1917 และ C.D. Notebook นั้นคงสภาพที่ใกล้เคียงจากสีที่ออกมาเมื่อเริ่มเขียนมากที่สุด

กระดาษถ่ายเอกสาร (ไม่ทราบว่าเป็น Double A หรือ SCG)

กระดาษถ่ายเอกสาร (ไม่ทราบว่าเป็น Double A หรือ SCG)
กระดาษถ่ายเอกสาร (ไม่ทราบว่าเป็น Double A หรือ SCG)

ส่วนตัวผู้เขียนมองว่ากระดาษดังกล่าวทำให้หมึกสีจางเร็วแต่ยังพอเห็นความแตกต่างอยู่บ้าง หมึก Pelikan นั้นออกไปทางนํ้าเงิน ในขณะที่ Montblanc ให้ความรู้สึกไปทางนํ้าเงินกึ่งม่วง หมึกทั้งสองตัวนี้ไม่กันนํ้าแต่อย่างไร จึงไม่เหมาะสำหรับการใช้ในเอกสารที่เป็นทางการหรือการเซ็นเอกสาร หมึกทั้งสองตัวแห้งเร็วกับกระดาษนี้ (เนื่องจากซึมไปด้านหลังหมด)

LEUCHTTURM1917

LEUCHTTURM1917

Leuchtturm1917กระดาษดังกล่าวให้ความคงทนของสีที่มากกว่าและใกล้เคียงกับที่ตาของผู้เขียนเห็นมากที่สุด แต่ต้องขออภัยที่มีกระดาษนี้อยู่จำกัดจึงไม่ได้ทดสอบมากเท่าที่ควร (Pelikan: ซ้าย Montblanc: ขวา)

C.D. Notebook

กระดาษสมุดดังกล่าวถือว่าเป็นกระดาษที่กันซึมได้ดีที่สุดที่ผู้เขียนมี หมึกปากกาทั้งสองด้ามจึงไม่ได้ทำร้ายเนื้อกระดาษสมุดที่ผู้เขียนใช้ ควบคู่กับการที่ตัวปากกาที่ใช้ไม่ได้เป็นปากกาที่นํ้าหมึกไหลออกมาแรงมาก

อย่างไรก็ตามจากการที่ลองเขียนโดยทั่วไปมาบ้าง ผู้เขียนพบว่าหมึกของ Montblanc ค่อนข้างซึมกระดาษได้ง่ายกว่า แต่ก็มีการไหลของหมึกที่แรงกว่า ในขณะที่การแห้งนั้นทั้งสองล้วนเป็นหมึกที่ใช้เวลาแห้งไม่นานแต่ก็ไม่เร็ว โดยอยู่ที่ประมาณ 10-20 วินาที (ขึ้นอยู่กับปากกาการลงนํ้าหนักและกระดาษ)

หมึกทั้งสองตัวให้ต่างสามารถแสดงถึง shade ได้จากหมึกของตนเองที่มีความหนักเบาแตกต่างกันไปในขณะที่ยังไม่เห็น sheen หรือเงานัก (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกระดาษ) โดยผู้เขียนมองว่าหมึกของ Montblanc สามารถให้นํ้าหนักของสีที่เด่นกว่า Pelikan

โดยส่วนตัวแล้ว ผู้เขียนคิดว่าหมึกสีนี้ในทั้งสองแบรนด์เป็นหมึกที่เหมาะสมสำหรับการใช้เขียนทั่วๆ ไป เป็นสีที่ให้ความรู้สึกหรูหราสง่างาม โดยทั้งสองตัวยังมีความแตกต่างกันอยู่ ผู้เขียนมองว่าเป็นเรื่องของความพึงพอใจในแต่ละคน อย่างไรก็ตามหมึกของ Montblanc นั้นมีราคาที่ค่อนข้างสูงอยู่สำหรับตัวผู้เขียนเอง จึงอาจไม่แนะนำนักหากท่านมิได้ชื่นชอบเป็นพิเศษหรือต้องการใช้หมึกสำหรับปากกา Montblanc โดยเฉพาะ

ขวดหมึกปากกาที่ต่างกับสีที่แตกต่างกัน

จากการที่ผู้เขียนลองเทียบระหว่างหมึกปากกาทดสอบของทางร้าน กับหมึกที่พึ่งเปิดขวดมาใหม่ล่าสุดพบว่ายังมีความแตกต่างกันอยู่ โดยหมึกทดสอบของทางร้านมีสีที่เข้มและออกนํ้าเงินดำอมม่วงมากกว่า ในขณะที่สีจากหมึกที่เปิดใหม่นั้นให้ความเป็นโทนม่วงมากกว่า

เส้นบนเป็นการขีดแบบ Reverse ของ Montblanc LeGrand 146 หัวขนาด M
เส้นบนเป็นการขีดแบบ Reverse ของ Montblanc LeGrand (146) หัวขนาด M ตามมาด้วยหัวขนาด M ที่ให้สีเข้มกว่าการเขียนจากปากการุ่นเดียวกันในหัวขนาด OBB และสุดท้ายเป็นเส้นจากหมึก Pelikan และปากกาไม่มียี่ห้อของผู้เขียน (กระดาษ C.D. Notebook)

ผู้เขียนมองว่าระยะเวลาการเปิดใช้งานขวดหมึกการเก็บรักษากับปากกาที่แตกต่างกัน (ตัวทดสอบของทางร้านเป็น Montblanc LeGrand (146) ที่หมึกไหลมากกว่าปกติ เมื่อเทียบกับ Sailor หรือ Sheaffer 100 ที่จ่ายหมึกไม่มากเท่า) หรือแม้กระทั่งหัวปากกาคนละขนาด ในรุ่นเดียวกัน (จากตัวอย่างของร้าน Montblanc ที่เป็น OBB กับ M) ย่อมส่งผลต่อสีหมึก ผู้เขียนเองก็เคยมีประสบการณ์กับสีหมึกที่แตกต่างกันแม้ว่าจะเป็นหมึกรุ่นและสีเดียวกันในยี่ห้ออื่นมาแล้วเนื่องจากผลิตมาคนละเวลากัน (lot)

โดยส่วนตัวผู้เขียนยังคงติดใจสีหมึกทดสอบของร้านมากกว่า และคงปล่อยให้หมึกที่ซื้อมาเองเริ่มเก่าขึ้นสักพักจึงจะนำมาใช้มากขึ้น

สรุป

Royal Blue: Pelikan vs. Montblanc
Royal Blue: Pelikan vs. Montblanc เทียบกันขวดต่อขวด

หมึกทั้งสองตัวล้วนเป็นหมึกที่เหมาะกับการใช้ในการเขียนทั่วไป โดยเฉพาะ Pelikan ที่ออกโทนไปทางนํ้าเงินเข้มมีราคาที่ไม่แพง หรือหากต้องการความหรูหรา อาจเลือก Montblanc ที่มีโทนสีที่ดูหรูสง่าขึ้นมาและมีราคาที่หรูหราตาม อย่างไรก็ตามหมึกทั้งสองตัวนั้นไม่กันนํ้าจึงไม่เหมาะสำหรับการเซ็นเอกสารการเขียนเอกสารทางการหรืองานเขียนที่ต้องการความคงทน

ติดตามเราบน Facebook

เนื้อหายอดนิยม

บทความที่เกี่ยวข้อง

- Advertisement -