23 ตุลาคม 2024
รีวิวรีวิวเครื่องเขียนรีวิว Pilot Custom 74 ปากกาหมึกซึมสำหรับผู้บริหารยอดนิยมจากญี่ปุ่น

รีวิว Pilot Custom 74 ปากกาหมึกซึมสำหรับผู้บริหารยอดนิยมจากญี่ปุ่น

ในบรรดาปากกาชั้นนำจากประเทศญี่ปุ่น หลายคนคงรู้จัก Pilot มากที่สุด เนื่องจากเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุด ไรท์ติ้งอินไทยเคยรีวิวปากกาจากค่ายนี้ไปพอสมควร ไม่ว่าจะเป็น Vanishing Point หรือ Metropolitan รวมถึงหมึก Iroshizuku สารพัดสีสัน มาในรีวิวนี้เราจะมารีวิว Pilot Custom 74 ซึ่งถือเป็นผลิตภัณฑ์ในกลุ่มระดับสูงตัวแรก เหมาะสมกับผู้บริหาร และเป็นปากกายอดนิยมของผู้ที่ชื่นชอบปากการะดับผู้บริหารครับ

หมายเหตุ ปากการุ่นนี้เป็นปากกาที่ทีมงานจัดหามาเอง ทางบริษัทไพล็อต เพน ประเทศไทย ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับรีวิวนี้แต่ประการใด

รู้จักกับ Pilot Custom 74

Pilot ถือเป็นบริษัทผลิตปากการายใหญ่ของญี่ปุ่น และเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1918 และปัจจุบันผลิตเครื่องเขียน รวมถึงอุปกรณ์เสริมอื่นๆ จำนวนมาก มีแบรนด์หลักคือ Pilot และ Namiki ซึ่งถือเป็นเครื่องเขียนชั้นสูงของบริษัท ใช้เทคนิค Maki-e หรือการลงรักปิดทอง เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตปากกา

Pilot Custom 743 (ที่มา – บริษัท)

สำหรับ Custom ถือเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ชั้นสูงของแบรนด์ Pilot และถือเป็นกลุ่มเรือธง (flagship) ของบริษัท นับว่าเป็นปากกาที่ผลิตเพื่อตอบโจทย์ตลาดของผู้บริหาร และนักสะสมปากกาตัวยง

ที่มาของชื่อรุ่นก็ตรงไปตรงมา custom แปลว่าระเบียบ, สิ่งที่ได้รับการยอมรับสังคมนั้น หรือของที่ถูกสั่งไว้ ซึ่งก็หมายถึง ปากกากที่จะเขียนได้ตามใจเจ้าของนั่นเอง

เริ่มต้นวางจำหน่ายครั้งแรกในปี ค.ศ. 1971 ด้วยปากกา Custom K-Series จากนั้นในปี ค.ศ. 1985 จึงใช้ระบบวิธีเรียกชื่อปีที่เป็นตัวเลขของการก่อตั้งบริษัทเป็นชื่อรุ่น ด้วยการปล่อย Custom 67 ออกมา ฉลองปีที่ 67 ของบริษัทนั่นเอง

ความหมายของ Custom และรุ่นนั้นต้องถือว่าปราบเซียนพอสมควร เนื่องจากมีเยอะมาก แต่โดยรวมแล้วมีวิธีการดูดังนี้

  • เลข 2 ตัวแรก แปลว่ารุ่นนั้นปล่อยออกมาในปีที่ x ของบริษัท เช่น 74 ปล่อยออกมาในปีที่ 74 ของบริษัท, 98 แปลว่าปล่อยออกมาในปีที่ 98 ของบริษัท
  • เลขตัวที่ 3 ซึ่งจะมีบางรุ่น (เช่น 843, 743) หมายถึงราคาของปากกาที่เป็นหลักหมื่นเยน เช่น 843 จะมีราคาจำหน่ายที่ 30,000 เยน (ประมาณ 8,600 บาท)
  • ถ้ามีคำว่า Heritage กำกับ หมายถึงส่วนหัวและท้ายปากกาทั้งสองด้านจะตัดแบนเรียบ (แบบเดียวกับ Sailor Professional Gear)
  • บางรุ่น จะใช้ชื่อเพื่อบอกความพิเศษไปเลย เช่น Maple (ทำจากไม้เมเปิล) หรือ Urushi (รุ่นพิเศษ ผลิตมาจำนวนจำกัด)

ในปัจจุบันมีปากกาที่วางจำหน่ายในรุ่น Custom อยู่เยอะมาก แต่รุ่นที่แพงที่สุดคือ URUSHI ซึ่งมีหัวปากกาใหญ่เทียบเท่า Montblanc Meisterstück 149 และผลิตจากการใช้เทคนิคลงรักของญี่ปุ่นซึ่งใช้วัสดุจากธรรมชาติ ราคาจำหน่ายในปัจจุบันอยู่ที่ 88,000 เยน ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม (ประมาณ 25,000 บาท)

Pilot Custom URUSHI
Pilot Custom URUSHI (ที่มา – บริษัท)

สำหรับ Custom 74 ที่นำมารีวิวในวันนี้ ออกวางจำหน่ายครั้งแรกในปี ค.ศ. 1992 พร้อมกับหัวปากกาขนาดหมายเลข 5 ของบริษัท จากนั้นในปีถัดมาจึงปล่อย 742 และ 743 ที่มีขนาดหัวปากกาใหญ่ขึ้น เป็น 10 และ 15 ตามลำดับ โดยถือเป็นปากกาที่มีทั้งสีและรุ่นย่อยต่างๆ หลากหลายมากที่สุด

ในประเทศญี่ปุ่น ปากการุ่นนี้มีรุ่นย่อยด้วยกัน 2 รุ่น คือ FKKN-12SR ที่เป็นรุ่นปกติทั่วไปที่ใช้ในรีวิวนี้ และ FKKN-14SR ซึ่งต่างกันเพียงแค่ชนิดหัวเขียนเท่านั้น (14SR จะมีหัว Course และ Music เท่านั้น) ส่วนราคาวางจำหน่ายอยู่ที่ 12,000 เยน (ประมาณ 3,400 บาท) ใครสนใจสีทั้งหมด สามารถดูได้จากที่นี่ครับ

สำหรับสีที่ทีมงานเลือกใช้สำหรับรีวิวนี้ เป็นรุ่นสีดำ-ทอง มาตรฐานครับ

แกะกล่อง

กล่องปากกาถูกออกแบบมาให้มีลักษณะเรียบง่ายในสีดำ ทำจากพลาสติก ซองด้านนอกทำจากกระดาษแข็งเจาะช่องตรงตราของบริษัทอยู่ ซึ่งเมื่อเปิดออกมาจะเป็นตัวปากกาและอุปกรณ์เสริมอื่นๆ

ด้านในกล่องประกอบไปด้วย ตัวปากกา ซองใส่ปากกา (ถือว่าเยี่ยมมาก) หลอดหมึก แล้วก็ใบรับประกันครับ (ไม่มีหลอดสูบหมึกให้นะครับ ต้องไปซื้อเอง)

สำรวจตัวปากกา

Custom 74 มาในรูปทรงที่อาจจะถือได้ว่า “conservative” กล่าวอีกอย่างคือค่อนข้างอนุรักษ์นิยม ไม่มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นหรือสะดุดตา ทรงคล้ายซิการ์เรียบๆ ยาวๆ การตกแต่งทั้งหมดใช้ทองกับดำตามสีที่เลือก ไม่มีอะไรโดดเด่นหรือหวือหวากว่าปกติ

ตัวคลิป/แหนบของปากกา มีลักษณะเป็นเอกลักษณ์ กล่าวคือ นอกจากจะมีการสลักคำว่า PILOT ลงไปเป็นแนวตั้งแล้ว ยังมีลูกทรงกลมเป็นตัวยึด แตกต่างจากปากกาทั่วไป ตรงนี้แม้ดูแปลกตา แต่ในการใช้งานจริงไม่มีปัญหาอะไร แหนบยังคงยึดได้แน่น

ท้ายด้ามมาในทรงกลม ตัววงแหวนทองท้ายด้ามมีลักษณะนูนออกมาเล็กน้อย เพื่อให้สวมปลอกปากกาได้แน่น (ทีมงานไม่ค่อยแนะนำเพราะตัวเรซินของปากกาจะเป็นรอยได้)

วงแหวนบนตัวปลอกปากกาจะมีการสลักกลุ่มคำเอาไว้ทั้งหมด 3 กลุ่มด้วยกัน

ด้านแรกซึ่งเป็นด้านหน้าตรงกับคลิป จะระบุว่า “CUSTOM 74”

อีกด้านหนึ่งจะระบุว่า “PILOT”

และสุดท้ายคือการระบุว่า “MADE IN JAPAN”

เมื่อหมุนคลายเกลียวปลอกออกมาจากตัวด้าม (ที่มีการแปะสติกเกอร์กลมสีเงิน พร้อมขนาดลายเส้นเอาไว้ อย่างเช่นที่มารีวิวมีการระบุว่าเป็น “F” หรือ “Fine” นั่นเอง) จะพบกับหัวปากกาทองคำที่ความบริสุทธิ์ 14 กะรัต (58.5%) ขนาดหมายเลข 5 (ประมาณหมายเลข 4 ของฝั่งยุโรป)

หัวปากกามีการปั้มลวดลายเอาไว้อย่างสวยงาม

จุดชวนสังเกตอย่างหนึ่งคือ หัวปากกามีการพิมพ์รหัสเลขเอาไว้ที่มุมด้านล่างซ้ายของหัวปากกาเป็นตัวเลข เลขดังกล่าวจะมีความยาวสูงสุดได้ถึง 4 หลัก โดย 2 หลักแรกหมายถึงสัปดาห์ที่ผลิต และ 2 หลักหลังหมายถึงปีที่ผลิต (เป็นคริสต์ศักราช)

ตัวอย่างเช่นในภาพที่ใช้เลข 418 หมายความว่า ผลิตในสัปดาห์ที่ 4 ของปี ค.ศ. 2018 ซึ่งก็คือราวปลายเดือนมกราคม พ.ศ. 2562 นั่นเอง

รางจ่ายหมึก (feed) ทำมาจากพลาสติก หน้าตาแปลกพอสมควร (เพราะมีการเจาะรูตรง feed)

เมื่อคลายเกลียวตัวด้ามออก ก็จะเป็นจุดที่ใส่หลอดสูบหรือหมึกหลอดสำหรับปากกา

หลอดหมึกที่ปากกาชนิดนี้รองรับคือหลอดหมึกแบบ CON-40 (ขนาดเดียวกับ Vanishing Point) ซึ่งมีขนาดเล็กมาก และ CON-70 ซึ่งจุดได้เยอะกว่ามาก แต่ปัญหาชวนปวดหัวอยู่ที่ตอนล้างปากกา ซึ่งถือว่าล้างได้ยากมากๆ

ทดสอบการเขียน

ทีมงานทดสอบเขียนปากกาด้ามนี้ โดยใช้หมึก Iroshizuku Kon-Peki หมึกยอดนิยมของ Pilot บนกระดาษ Quality A4 ที่ความหนา 80 แกรม ได้ผลดังต่อไปนี้

ปากกาด้ามนี้เขียนไซส์ F ออกมาได้ตรงกับมาตรฐานของตะวันตกมากที่สุดด้ามหนึ่ง แต่ถึงกระนั้นก็ตามยังถือว่าเส้นยังเล็กอยู่ เทียบแล้วน่าจะใกล้เคียงกับ Montegrappa Parola อยู่มากทีเดียว

การเขียนโดยทั่วไปต้องถือว่าลื่นมาก และเป็นปากกาที่ปรับแต่ง (optimized) มาได้พอดิบพอดีมาก ใช้เขียนหรือจดบันทึกได้อย่างสนุกสนาน ในเวลาเดียวกันก็ใช้เซ็นเอกสารได้อย่างไม่เคอะเขิน อาจกล่าวได้ว่านี่เป็นปากกาที่ใช้ได้อย่างสนุกสนาน ไม่แพ้ CROSS Peerless 125, Montblanc Meisterstück Classique 145 หรือ Sailor 1911 Standard

ในเรื่องของน้ำหนัก ถือว่าปากกาทำน้ำหนักได้ดีมาก ใช้งานได้ดี และถ้าใช้นานๆ ก็ไม่มีอาการเมื่อยมือแต่อย่างใด เรียกว่าประทับใจอย่างมากทุกการใช้งาน

จุดตินิดเดียวตรงที่เรื่องของการล้างหมึกออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับหลอดสูบ CON-70 ที่ล้างหมึกให้สะอาดได้ยากมาก ทีมงานพยายามล้างก็ยังมีหมึกออกมาเรื่อยๆ ซึ่งวิธีเดียวคือการต้องพยายามถอดอุปกรณ์ทั้งหมดออกมาล้าง และมีความเสี่ยงที่จะทำให้หลอดสูบหมึกเสียหายได้

สรุป

ทีมงานมีความรู้สึกมาโดยตลอดว่า ปากกาของ Pilot ไม่ว่าจะในกลุ่มราคาไหนก็ตาม ถือได้ว่าเป็นปากกาที่ใช้งานได้ดีอย่างมาก ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ Custom 74 ด้ามนี้ที่ให้ผลการเขียนอยู่ในระดับที่เรียกว่า เกินความพึงพอใจตามปกติไปมาก เรียกว่าอยู่ในระดับที่สูสีกับปากกาชั้นนำแถวหน้า ราคาแพงกว่านี้ 3 เท่าแน่นอน

จุดอ่อนของปากการุ่นนี้ถ้าจะมีอยู่บ้าง คงอยู่ที่เรื่องของหลอดสูบหมึก ซึ่งถ้าใช้ CON-40 ก็จะน้อยไปเลย หรือถ้า CON-70 ที่แม้จะมีปริมาณหมึกเยอะมาก แต่กลับล้างยากมากเป็นต้น ส่วนถ้าสำหรับประเทศไทย น่าจะต้องเพิ่มอีกจุดคือ ไม่มีวางจำหน่ายในประเทศไทยอย่างเป็นทางการครับ ถ้าอยากได้ต้องซื้อจากต่างประเทศเอง

ปากการุ่นนี้เหมาะสำหรับคนที่ต้องการ “ขยับ” ขึ้นไปอีกระดับของปากกาหมึกซึม หรือเป็นปากการะดับผู้บริหารที่ใช้ได้ใช้ดีในทุกๆ วัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจดเอกสาร ไปจนถึงเรื่องของการเซ็นชื่อ ซื้อมาใช้แล้วไม่ผิดหวังแน่นอนครับ

ข้อดีข้อเสีย
ปากกาเขียนดีเกินราคาค่าตัวไปมากหลอดหมึกชนิดแบบ CON-70 ล้างยาก
น้ำหนักกำลังพอดีไม่มีวางจำหน่ายในประเทศไทย
การออกแบบที่อนุรักษ์นิยม

คุณลักษณะจำเพาะ

  • รุ่น: FKKN-12SR
  • เส้นผ่าศูนย์กลางตัวด้าม: 1.47 ซม.
  • ความยาวตัวด้าม: 14.3 ซม.
  • หัวปากกา: ทองคำ 14 กะรัต ขนาดหมายเลข 5
  • วัสดุหลัก: เรซิน
  • รองรับหลอดหมึกและหลอดสูบแบบ CON-40, CON-70
  • น้ำหนักปากกา (ไม่มีหมึก): 22 กรัม

เครดิต

  • ภาพ: ศิระกร ลำใย / ภัทรนันท์ ลิ้มอุดมพร / Pilot Pen Company
  • ข้อมูล: Pilot Pen Company / The Goulet Pen Company
  • เนื้อหา: ภัทรนันท์ ลิ้มอุดมพร
  • สถานที่ถ่ายภาพ: TrueSphere EmQuartier / The FIRST Lounge by Samitivej

สรุปรีวิว

REVIEW OVERVIEW

Pilot Custom 74

ความเห็นภาพรวม

โดยภาพรวมถือเป็นปากกาหมึกซึมที่น่าประทับใจ ให้ผลการเขียนดีเยี่ยม แต่หลอดสูบหมึกยังคงเป็นปัญหาสำคัญอยู่
ทีมงานไรท์ติ้งอินไทย
ทีมงานไรท์ติ้งอินไทย
Writing in Thai (ไรท์ติ้งอินไทย) เว็บไซต์รวบรวมเรื่องราวของ ปากกา ปากกาหมึกซึม และเครื่องเขียนอื่นๆ สำหรับคนรุ่นใหม่ มีทั้งปากกาหมึกซึม ดินสอ ปากกาลูกลื่น ข่าว อัพเดต ความรู้ หมึก การเขียน รีวิว เทคนิค สาระและความรู้

ติดตามเราบน Facebook

เนื้อหายอดนิยม

บทความที่เกี่ยวข้อง

- Advertisement -
โดยภาพรวมถือเป็นปากกาหมึกซึมที่น่าประทับใจ ให้ผลการเขียนดีเยี่ยม แต่หลอดสูบหมึกยังคงเป็นปัญหาสำคัญอยู่รีวิว Pilot Custom 74 ปากกาหมึกซึมสำหรับผู้บริหารยอดนิยมจากญี่ปุ่น