25 เมษายน 2024
รีวิวของดี พิมพ์นิยม รีวิวปากกาหมึกซึม LAMY safari pastel mint

ของดี พิมพ์นิยม รีวิวปากกาหมึกซึม LAMY safari pastel mint

ปากกายอดฮิต พิมพ์นิยม ของคนไทย ด้วยสีสันที่แปลกตา

ไรท์ติ้งอินไทย รีวิวปากกาของหลายยี่ห้อมามาก ซึ่งรวมถึง LAMY อย่างเช่น 2000 และ aion มาแล้ว คราวนี้ถึงคราวปากกายอดนิยม ยอดฮิตของคนไทย LAMY safari ในสีพิเศษที่เปิดตัวไปเมื่อต้นปี pastel mint special edition

รู้จักกับ LAMY safari ปากกายอดฮิตนิยมของคนไทย

ถ้ากล่าวถึงปากกาที่หลายคนคุ้นเคย เชื่อว่านอกจากแบรนด์อย่าง Montblanc ที่เป็นโลโก้หิมะ (หรือดาว แล้วแต่คนจะมอง) 6 แฉก ก็เป็น LAMY โดยเฉพาะอย่างยิ่ง safari ที่มีเอกลักษณ์ในเรื่องของคลิปและสีสันเป็นอย่างมาก

ปากการุ่นนี้ออกแบบโดย Wolfgag Fabian เป็นหลัก และ Bernt Spiegel of the Entwicklungsgruppe Mannheim ผู้ออกแบบรุ่น abc มาช่วยเสริมแต่ง ปากกาออกมาในครั้งแรกเมื่อปี 1980 จับตลาดนักเรียนและผู้เริ่มต้นใช้ปากกาหมึกซึมทั่วไป

แต่ด้วยความที่ปากกามีเอกลักษณ์ในการออกแบบ ไม่ว่าจะด้วยเรื่องของสีสัน หรือ แหนบ (คลิป) หนีบของปากกา ผนวกกับราคาและการใช้งานที่ง่าย จับได้ดี ทำให้ปากการุ่นนี้แพร่หลายและเป็นที่นิยมมากในปัจจุบัน และถือเป็นปากกาที่ผู้สะสมปากกาหมึกซึมหลายคน น่าจะมีอยู่บ้างไม่มากก็น้อย

LAMY safari pastel (ภาพจากบริษัท)
ภาพจากบริษัท

ข้อมูลจาก Stationery.wiki และ Fountain Pen Network ระบุว่า ปากการุ่นนี้แบ่งออกได้เป็น 4 ช่วงการผลิต (generations) ดังนี้

  • ช่วงแรกสุด เริ่มผลิตในปี 1980 ผลิตออกมาเป็นสีด้าน (textured) มี 3 สี คือสีส้มอมน้ำตาล (Terracotta Orange), สีเขียวทุ่งหญ้าสะวันนา (Savannah green) และสีดำถ่าน (Charcoal Black) จุดเด่นคือไม่มีการสลักคำว่า “GERMANY” ไว้ที่ท้ายด้าม รวมถึงใช้น็อตแบบ 6 เหลี่ยม และรองรับเฉพาะหลอดหมึกกับที่สูบหมึกแบบเหล็กบีบเท่านั้น
  • ช่วงสอง เริ่มต้นช่วงกลางทศวรรษที่ 1980 เริ่มมีการสลักคำว่า “W.GERMANY” (West Germany) ลงท้ายด้าม และปรับปรุงวัสดุของฝาปิดภายใน, เปลี่ยนน็อตภายในเป็นแบบกลม และเพิ่มสีอื่นๆ เช่น ขาว แดง เหลือง และน้ำเงิน เข้ามา ส่วนสีเขียวสะวันนา และสีส้มอมน้ำตาล เลิกผลิตไป
  • ช่วงสาม เริ่มต้นในช่วงปี 1990-1991 เปลี่ยนการสลักท้ายด้ามเป็น “GERMANY” จากการรวมประเทศของเยอรมนี, เพิ่มสลักสำหรับยึดหลอดสูบเข้าไป และในรุ่นนี้มีการเพิ่มแบบใส (demonstrator) ที่ปัจจุบันแปลงออกมาโดยเรียกว่า “LAMY vista” เข้ามา
  • ช่วงปัจจุบัน โดยเริ่มต้นในช่วงกลางถึงปลายทศวรรษที่ 1990 โดยมีการออกแบบใหม่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการสลักขนาดของหัวปากกาและชื่อแบรนด์ลงหัวเขียนด้วยเลเซอร์, การรวมปลอกปากกาและวงแหวนปลอกปากกาเข้าเป็นอันเดียว รวมถึงลดชิ้นส่วนต่างๆ ลง ทำให้ผลิตได้ดีขึ้น

ในปัจจุบัน ปากกา safari มีรุ่นต่างๆ ออกมามากมายหลากหลายสี รวมถึงรุ่นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นสีพิเศษประจำปีที่ออกมาทุกปีที่มักจะมาพร้อมกับหมึกสีเข้ากัน หรือรุ่นที่ผลิตออกมาโดยเฉพาะ เช่น รุ่น Pokemon, LINE Friends รวมถึงรุ่นยอดฮิตนิยมสรรหาอย่าง คลิปแดง เป็นต้น

LAMY เองยังแตกผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาจากรุ่นนี้ออกมาอีก 2 รุ่น คือ vista ซึ่งเป็นรุ่นที่ตัวด้ามปากกาเป็นแบบใส (demonstrator) และ AL-star ที่เปลี่ยนวัสดุเป็นอะลูมิเนียม และการออกแบบเล็กน้อย รวมถึง Lx ที่เป็นรุ่นสีสันสวยงามดูหรูหรา

LAMY vista
LAMY vista

สำหรับประเทศไทย ปากการุ่นนี้เป็นที่นิยมอย่างมากของผู้คนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นรุ่นปากกาหมึกซึม หรือรุ่นที่เป็นโรลเลอร์บอล แม้กระทั่งปากกาลูกลื่นและดินสอ ความนิยมนี้ทำให้กลายเป็นปากกาที่อยู่ในกระแสหลักมาโดยตลอด และกลายเป็นเอกลักษณ์ตัวแทนของแบรนด์ LAMY ในประเทศไทยไปโดยปริยาย

ความโด่งดังของปากการุ่นนี้ นอกจากจะอยู่ในเมืองไทยแล้ว ในต่างประเทศก็นิยมเช่นกัน จนนำมาสู่ปากการุ่นแรงบันดาลใจอย่างเช่นปากกาหมึกซึมของ Miniso ที่แทบจะลอกการออกแบบเกือบทั้งหมดออกมาจากปากการุ่นนี้ แต่ขายในราคาที่ถูกกว่ามาก เป็นต้น

อนึ่ง ในวันที่ 9 กรกฏาคม 2557 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (พระยศในขณะนั้น) เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการดำเนินงานบริษัท C. Joseph Lamy GmbH. ซึ่งเป็นบริษัทเจ้าของแบรนด์ LAMY และทรงพระอักษรในสมุดเยี่ยมของบริษัท ทรงใช้ปากกาหมึกซึม safari สีดำ (black) ในการทรงพระอักษรครั้งนั้น

รู้จัก LAMY safari pastel mint special edition

สำหรับในปีนี้ (2019 หรือ พ.ศ. 2562) ทางแบรนด์ได้ประกาศเมื่อตอนต้นปี เปิดตัวปากกา safari สีพิเศษประจำปี 3 สีด้วยกัน นับว่าเป็นครั้งแรกที่บริษัทเลือกประกาศพร้อมกันเยอะเป็นครั้งแรก โดยให้ชื่อรวมว่า “pastel special edition 2019” มี 3 สีประกอบด้วย “mint glaze” (สีเขียว), “blue macaron” (สีฟ้าอ่อน) และ “powder rose” (สีชมพู) ซึ่งมีข่าวหลุดออกมาก่อนหน้านั้นแล้ว

การประกาศนี้สร้างความตื่นเต้น (รวมถึงกับภาระของกระเป๋าเงิน) สำหรับแฟนานุแฟนของแบรนด์ไม่ใช่น้อย เพราะคราวนี้ต้องซื้อเก็บพร้อมกันถึง 3 ด้ามเลยทีเดียว

ในประเทศไทย เริ่มประกาศวางจำหน่ายในช่วงเมษายนที่ผ่านมา พร้อมกับถุงและกล่องแบบพิเศษ โดยมีราคาตั้งแต่ 500 บาท สำหรับปากกาลูกลื่น ไปจนถึง 800 บาท สำหรับปากกาหมึกซึมขนาดเส้น EF

สำหรับปากการุ่นนี้จะมีเฉพาะปีนี้เท่านั้น ปีหน้าก็จะเปลี่ยนเป็นรุ่นอื่น (ซึ่งยังไม่ประกาศ) และในหลายครั้งเรามักจะเห็นว่ามีขายเหลือข้ามปีกันบ้างเป็นระยะ ซึ่งมักจะเป็นส่วนสินค้าคงเหลือในคลังของผู้จัดจำหน่ายเป็นส่วนใหญ่ และจะเอามาลดราคากันบ้างในบางร้าน

ข้อมูลจำเพาะของปากกา

ภาพจากบริษัท
ภาพจากบริษัท

ปากกาหมึกซึม

  • ความยาวด้าม: 14 เซนติเมตร
  • เส้นผ่าศูนย์กลาง: 1.23 เซนติเมตร (ด้าม), 1.35 เซนติเมตร (ปลอก)
  • น้ำหนัก: 16 กรัม
  • หัวเขียน: เหล็กกล้าไร้สนิม (EF, F, M, B และ LH สำหรับคนถนัดซ้าย)
  • วัสดุตัวด้าม: พลาสติกชนิด ABS
  • ระบบหมึก: ของ LAMY เอง รองรับหลอดหมึกแบบ T10 และหลอดสูบหมึก Z24/Z28
ภาพจากบริษัท
ภาพจากบริษัท

โรลเลอร์บอล

  • ความยาวด้าม: 13.9 เซนติเมตร
  • เส้นผ่าศูนย์กลาง: 1.23 เซนติเมตร (ด้าม), 1.38 เซนติเมตร (ปลอก)
  • น้ำหนัก: 19 กรัม (รวมไส้แล้ว)
  • ระบบหมึก: ไส้หมึก LAMY M63
  • วัสดุตัวด้าม: พลาสติกชนิด ABS
ภาพจากบริษัท
ภาพจากบริษัท

ปากกาลูกลื่น

  • ความยาวด้าม: 13.8 เซนติเมตร
  • เส้นผ่าศูนย์กลาง: 1.08 เซนติเมตร
  • น้ำหนัก: 14 กรัม (รวมไส้แล้ว)
  • ระบบหมึก: ไส้หมึก LAMY M16
  • วัสดุตัวด้าม: พลาสติกชนิด ABS

บรรจุภัณฑ์

หมายเหตุ บรรจุภัณฑ์ที่ทีมงานไรท์ติ้งอินไทยได้รับ มีความแตกต่างไปจากบรรจุภัณฑ์ที่วางจำหน่ายในประเทศไทย เนื่องจากปากกาด้ามนี้ถูกส่งมาจากต่างประเทศในฐานะของกำนัล

ปากกาของทีมงานมาในกล่องสี่เหลี่ยมขนาดเล็ก มีซี่เปิดจากกล่อง เปิดให้เห็นด้านในกล่องอยู่บ้าง

กล่องเปิดฝาออกมาจากด้านข้างของกล่อง จากนั้นจะเห็นตัวปากกา สามารถดึงออกมาได้พร้อมกับตัวปากกาที่หนีบอยู่

สำรวจปากกา

สำหรับปากกาจะมีลักษณะปลอกปากกาใหญ่กว่าตัวด้าม (หัวโต) นับว่าเป็นเอกลักษณ์อันแรกที่โดดเด่นที่สุดของปากการุ่นนี้ ลักษณะของส่วนปลอกจะโดดเด่นด้วยขนาดคลิปที่ใหญ่เป็นเอกลักษณ์ ยาวกินพื้นที่เกือบทั้งหมดของปลอกในตามทางยาว

ด้านบนของส่วนปลอก จะมีจุกทรงกากบาทเหมือนหัวน็อตแบบฟิลลิปที่เป็น 4 แฉก ปรากฎอยู่ ซึ่งเป็นดีไซน์แทบจะสากลของปากการุ่นนี้ ไม่ว่าจะสีปกติหรือไม่ก็ตาม

ตัวด้ามมีช่องมองระดับหมึกคงเหลือ และท้ายด้ามมีการประทับตราของแบรนด์

เอกลักษณ์ประการหนึ่งของปากการุ่นนี้ คือการมีวงแหวนยาง (เรียกกันว่า O-ring) ที่ใช้ช่วยซีลปิดระหว่างฝาปิดกับตัวด้าม อยู่ระหว่างด้ามและที่จับตรงปากกา (ไม่ใช่วงแหวนกระดาษสีน้ำตาลที่เขียนว่า “Remove” นะครับ อันนั้นกันเอาไว้เฉยๆ ไม่ให้ด้ามกับส่วนของหัวปากกาปิดกันสนิทระหว่างขนส่ง เพราะไม่งั้นหลอดหมึกภายในจะถูกเจาะ)

หัวปากกาเป็นแบบมาตรฐานของ LAMY สามารถถอดสลับได้ด้วยสก็อตเทปและใช้ได้กับรุ่นอื่นๆ รวมถึงเปลี่ยนเอาหัวทองคำ 14 กะรัตมาใช้ได้ด้วยเช่นกัน (ยกเว้นบางรุ่นอย่าง 2000 ที่หัวเขียนเป็นคนละแบบ)

จุดเด่นประการหนึ่งของปากกาด้ามนี้คือสีในตอนถ่าย จะสังเกตได้ว่าจากภาพบางมุมถ้าแสงตกกระทบมาพอระดับหนึ่ง สีที่ถ่ายออกมาจะอ่อนกว่าจริงเล็กน้อย 😂 ทีมงานทดสอบในบรรยากาศที่หลากหลายก็เจอลักษณะคล้ายๆ ทำนองนี้

คู่แข่งของปากการุ่นนี้ที่สำคัญที่สุดคือ Kaweco Perkeo ที่ทีมงานเพิ่งจะรีวิวไปได้ไม่นาน ต้องยอมรับว่าเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวมาก อย่างไรก็ตามจุดแข็งสำคัญของ safari อยู่ที่เรื่องของการมีคลิปหนีบกระเป๋าเสื้อที่โดดเด่น (ไม่นับเรื่องสีด้วย) พกง่ายกว่าแน่นอน และมีเอกลักษณ์มาก ใครเห็นก็บอกได้ทันทีว่าผู้พกใช้ปากกา LAMY (และในความเข้าใจหลายคน LAMY = safari)

ทดสอบเขียน

ทีมงานทดสอบเขียนปากกาบนกระดาษขนาด A4 ความหนา 80 แกรม ของ Double A ด้วยหมึก Pelikan Edelstein Smoky Quartz ได้ผลการทดสอบออกมาดังนี้

ตัวปากกาให้น้ำหนักที่ค่อนข้างเบาและมีสมดุลที่ดี ไม่ว่าจะเขียนในรูปแบบปกติหรือในรูปแบบเสียบปลอกท้ายด้าม และตัวด้ามมีขนาดใหญ่ จับได้สบาย ดังนั้นโดยรวมแล้วจึงให้ประสบการณ์ที่ดี อย่างไรก็ตามด้วยวัสดุที่เป็นพลาสติกแบบ ABS ทำให้เวลาจับปากกาจะสัมผัสทันทีได้ว่านี่ไม่ใช่ปากการะดับสูง ซึ่งก็สอดคล้องกับกลุ่มตลาดของปากกา

ในมิติของการพกใช้งาน เรียกได้ว่าปากการุ่นนี้พกพาง่ายและสะดวก นอกจากนั้นยังเรียกบทสนทนาจากคนรอบข้างได้เป็นอย่างดี เพราะนอกจากทุกคนจะรู้จักปากการุ่นนี้อยู่แล้ว ด้วยสีที่เป็นรุ่นพิเศษก็ทำให้ปากการุ่นนี้ ถูกทักทายจากคนรอบตัวได้เป็นอย่างดีถึงความแปลกของสี

สำหรับการเขียน หัวปากกาที่ทำจากเหล็กกล้าไร้สนิมให้สัมผัสที่แข็งมาก (น่าจะเป้นข้อด้อยเพียงประการเดียวของปากการุ่นนี้) ส่วนเรื่องการเขียนนั้นทำได้ดี เขียนได้ลื่น มีการกัดกระดาษอยู่เล็กน้อยบ้างตามประสาของปากกาหัวเล็ก จ่ายน้ำหมึกได้ปานกลาง (ไม่ถึงกับแห้งมาก) และแม้จะเป็นปากกาขนาดเส้น EF แต่เมื่อเขียนจริง ขนาดของเส้นอยู่ที่ประมาณ F ของปากกาอย่าง Pilot Custom 74

ราคาจำหน่ายและสถานที่ซื้อ

ปากการุ่นนี้มีวางจำหน่ายในประเทศไทย (อย่างน้อยที่สุดถึงภายในสิ้นปีนี้) จัดจำหน่ายโดยบริษัท DKSH ประเทศไทย ตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ ราคาวางจำหน่ายจะแตกต่างกันตามโหมดการเขียนและขนาดเส้น ดังต่อไปนี้

  • ปากกาหัวหมึกซึม (Fountain Pen) หัว Nib EF ราคา 800 บาท
  • ปากกาหัวหมึกซึม (Fountain Pen) หัว Nib F, M ราคา 700 บาท
  • ปากกาโรลเลอร์บอล (Rollerball Pen) ราคา 600 บาท
  • ปากกาลูกลื่น (Ballpoint Pen) ราคา 500 บาท

ปากกาทั้งหมดมาพร้อมการรับประกันยาวนาน 2 ปี และกล่องแบบพิเศษ โดยวางจำหน่ายตามแผนกเครื่องเขียนของห้างสรรพสินค้าชั้นนำ เช่น โรบินสัน เอ็มโพเรียม พารากอน เป็นต้น

สรุป

โดยภาพรวม ทีมงานมีความชื่นชอบปากกาด้ามนี้ในหลายเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสีสันที่เป็นเอกลักษณ์ สมกับการเป็นปากกาประจำปี ซึ่งสามารถเรียกบทสนทนาได้ดี ส่วนในเรื่องของการเขียนก็ต้องถือว่าทำออกมาได้ดีเช่นกัน สมกับราคาค่าตัวอย่าง

อย่างไรก็ตาม ตัวปากกานอกจากสีสันแล้วก็ไม่ได้มีอะไรตื่นเต้นมากไปกว่านี้ และการออกแบบของปากกาเองก็เป็นปากกาที่ทุกคนน่าจะคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจึงค่อนไปทาง “เฉยๆ” มากกว่าที่จะสร้างความตื่นเต้นให้กับทีมงาน เหมือนกับปากกาอื่นๆ ที่เคยรีวิวไปก่อนหน้า

ต้องยอมรับว่า LAMY safari ถือเป็นปากกาที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้เริ่มต้นใช้ปากกาหมึกซึม และอยากเริ่มต้นเดินเส้นทางในสายของการใช้เครื่องเขียนระดับกลาง-สูง แต่ถ้าใช้ปากกามาระยะหนึ่งแล้ว นอกจากสีสันทั่วไป ปากการุ่นนี้ก็ไม่ได้มีส่วนเติมเต็มในมิติอื่นๆ มากมาย

ในแง่ของคู่แข่ง ปากการุ่นนี้มีคู่แข่งในช่วงราคาเดียวกันอย่าง Kaweco Perkeo ที่แทบจะทำมาในแนวคิดและวัสดุเดียวกัน กับปากกาหมึกซึมของ MUJI ที่ให้ความรู้สึกระดับพรีเมียมกว่ามาก ด้วยราคาที่น้อยลงไปเกือบครึ่ง แต่ทำผลงานเขียนได้ดีพอๆ กัน นับว่าไม่ง่ายทีเดียว สิ่งที่ทำให้ปากการุ่นนี้โดดนเด่นได้คือการออกแบบที่เป็น LAMY อันเป็นเอกลักษณ์ และทำให้หลายคนยังคงใช้ปากการุ่นนี้อยู่จนถึงปัจจุบัน

กล่าวโดยสรุปแล้ว ปากการุ่นนี้จะเหมาะสมกับคนที่เริ่มต้นในสายของปากกาหมึกซึม (สำหรับการใช้งานทั่วไป) และคนที่เน้นสะสมปากกาสีหรือรุ่นแปลกๆ ที่ผลิตมาด้วยจำนวนจำกัด แต่ถ้าผ่านประสบการณ์ด้านปากกาหมึกซึมมาระดับหนึ่งแล้ว ปากการุ่นนี้อาจไม่สร้างความแปลกใจหรือตื่นเต้นได้มากกว่าที่คิด

ข้อดีข้อด้อย
มีเอกลักษณ์ถ้าใช้ปากกามาระยะหนึ่ง จะรู้สึกธรรมดา
ใช้งานได้ดีคู่แข่งมีมากพอสมควร
มีจำนวนจำกัด (สำหรับสีประจำปี)

สรุปรีวิว

REVIEW OVERVIEW

LAMY safari pastel mint

ความเห็นภาพรวม

เป็นปากกาที่นับว่าใช้งานได้ดี และมีเอกลักษณ์ อย่างไรก็ตามถ้าใช้ปากกาอื่นๆ มาจำนวนหนึ่ง จะพบว่านอกจากสีสันที่เป็นเอกลักษณ์แล้ว ปากกาก็ไม่ได้มีความโดดเด่นอื่น ซึ่งสอดคล้องกับราคาที่ไม่ได้แพงมากจนเกินไป
Patranun Thaniyavarn Limudomporn
Patranun Thaniyavarn Limudompornhttps://www.patranun.com/
เป็นเพียงมนุษย์ธรรมดา คนเดินดิน เรียนจบรัฐศาสตร์ ชอบปากกามาตั้งแต่เด็กๆ แต่ไม่ค่อยได้บอกให้ใครรู้ เริ่มใช้ปากกาหมึกซึมมาตั้งแต่ระดับประถม และใช้ปากกาลูกลื่น Montblanc Generation เป็นปากกาประจำตัว เลิกใช้ปากกาหมึกซึมไประยะหนึ่งก่อนกลับมาใช้ใหม่เพราะเพื่อนฝูงชักชวน แต่ก็ยังวนเวียนกับปากการะดับพรีเมียมเช่นเคย

ติดตามเราบน Facebook

เนื้อหายอดนิยม

บทความที่เกี่ยวข้อง

- Advertisement -
เป็นปากกาที่นับว่าใช้งานได้ดี และมีเอกลักษณ์ อย่างไรก็ตามถ้าใช้ปากกาอื่นๆ มาจำนวนหนึ่ง จะพบว่านอกจากสีสันที่เป็นเอกลักษณ์แล้ว ปากกาก็ไม่ได้มีความโดดเด่นอื่น ซึ่งสอดคล้องกับราคาที่ไม่ได้แพงมากจนเกินไปของดี พิมพ์นิยม รีวิวปากกาหมึกซึม LAMY safari pastel mint