25 เมษายน 2024
รีวิวรีวิวปากกาหมึกซึมยอดนิยมของคนรุ่นใหม่ Kaweco Perkeo

รีวิวปากกาหมึกซึมยอดนิยมของคนรุ่นใหม่ Kaweco Perkeo

ไรท์ติ้งอินไทย รีวิวปากกาหมึกซึมมาหลากหลายแบรนด์มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเยอรมนี ไม่ว่าจะเป็น Montblanc, Faber-Castell, หรือ LAMY ก็เคยมาแล้ว แต่ครั้งนี้เราจะมารีวิว Kaweco Perkeo ปากกาหมึกซึมรุ่นเริ่มต้นจากแบรนด์ปากกายอดนิยมของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันที่ใครๆ ต่างก็ต้องมี นั่นก็คือ Kaweco

รู้จักกับแบรนด์ Kaweco

สำหรับคนที่คร่ำหวอดในวงการปากกา หนึ่งในแบรนด์ของปากกาที่หลายคนอาจจะคุ้นเคยที่ผลิตจากเยอรมนีนอกจากแบรนด์ดังๆ คงหนีไม่พ้น Kaweco (อ่านว่า คา-เวก-โค) แบรนด์ปากกาและเครื่องเขียนชั้นนำจากเยอรมนี

บริษัทกำเนิดขึ้นครั้งแรกในปี 1883 ใช้ชื่อตอนแรกว่า Heidelberge Federhalterfabrik ซึ่งแปลออกมาได้ว่าโรงงานผลิตปากกาจุ่มหมึกของเมืองไฮเดลเบิร์ก (เมืองเดียวกับโรงงานและสำนักงานใหญ่ของ LAMY) จากนั้นในปี 1889 บริษัทถูกขายให้นักธุรกิจ และย้ายการผลิตไปที่โรงงานเมืองแฮนด์ซูไซม์ (Handschuhsheim) ที่ตั้งถัดมาจากไฮเดลเบิร์ก และผลิตปากกาออกมาสามแบรนด์: Perkeo, Omega และ Kaweco ก่อนที่จะเปลี่ยนมาใช้ชื่อ Kaweco เป็นชื่อบริษัท

ในปี 1930 บริษัทถูกซื้อไปโดยโรงงานผลิตปากกาหมึกซึมจากเมืองบาเดิน (Baden) ที่ผลิตปากกาแบรนด์ Aurumia และควบรวมกิจการกัน โดยนำเอาตราสัญลักษณ์ของทั้งสองแบรนด์มารวมกัน กลายเป็นโลโก้ปัจจุบันของบริษัท จากนั้นไม่นานก็ต้องยุติการผลิตในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนที่จะกลับมาผลิตใหม่ในปี 1945

บริษัทถูกขายอีกครั้ง แต่คราวนี้เป็นการขายเฉพาะแบรนด์และตราสัญลักษณ์อย่างเดียว โดยบริษัทที่ซื้อคือ H&M Gutberlet GmbH ผู้ผลิตเครื่องเขียนและสินค้าแบบ OEM พร้อมกับมีบริษัท Diplomat รับผิดชอบการจัดจำหน่ายจนถึงปี 1999 ก่อนที่จะหันมาจัดจำหน่ายเอง (Diplomat ถูกซื้อกิจการโดย Herlitz ซึ่งต่อมาก็ถูก Pelikan เข้าซื้ออีกที)

เรียกว่าตัวแบรนด์เองผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะ และแต่ละช่วงก็ขาดกันจากประวัติศาสตร์ ยกเว้นแบรนด์ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง

ในปัจจุบัน ปากกาของแบรนด์นี้มีหลายรุ่น ตั้งแต่ Perkeo, Classic Sport, Skyline Sport, Frosted Sport, Calligraphy, Student, Lilliput, Special, Brass Sport, AC Sport, DIA2, ELITE และ Eyedropper Ebonite เป็นต้น ส่วนราคามีอย่างหลากหลาย ตั้งแต่ร้อยปลายๆ ไปจนถึงหลักหมื่นก็มี

รู้จักกับ Kaweco Perkeo

Kaweco Perkeo

สำหรับ Perkeo ถือเป็นปากการะดับเริ่มต้นของแบรนด์ บริษัทตั้งใจวางตลาดปากการุ่นนี้สำหรับคนที่เริ่มต้นใช้ปากกาหมึกซึมโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียน มีเฉพาะขนาดเส้นแบบ Fine และ Medium เท่านั้น

ที่มาของชื่อมาจากชื่อแบรนด์ที่ผลิตในโรงงานช่วงแรก (ตามที่กล่าวไปในประวัติด้านบน) โดยยังคงรูปแบบการออกแบบที่มีเหลี่ยมมุมต่างๆ ของปากกาเอาไว้เช่นเดียวกับปากการุ่นก่อนหน้า นอกจากนั้นแล้ว ปากการุ่นนี้ยังโดดเด่นที่ขนาดซึ่งแทบจะเท่ากับปากกาปกติด้วย

เนื่องจากเป็นปากกาที่ออกแบบมาสำหรับผู้เริ่มต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียนให้ใช้งาน บริษัทจึงออกปากกามาเน้นสีสันเพื่อความโดดเด่น เช่น Old Chambray (น้ำเงินดำ-เทาอ่อน), Cotton Candy (ชมพู-เทาเข้ม), Indian Summer (เทาเข้ม-เหลืองมัสตาร์ด), Bad Taste (ชมพูเข้ม-ดำ), Light Spring (สีเหลืองอ่อน-เทาอ่อน) และ Retro Block (สีแดง-เทาอ่อน-คาดฟ้า) โดยเพิ่งจะปล่อยสี All Black หรือดำสนิทมาในปีนี้ (เป็นสีที่จะรีวิวในรีวิวนี้)

ปากการุ่นนี้ผลิตโดยใช้วัสดุเป็นพลาสติก หัวปากกาเป็นเหล็กกล้าไร้สนิม (Stainless Steel) ที่ใช้ในปากการุ่นอื่นๆ ของบริษัทด้วยครับ (ในรุ่นอื่นอาจมีความแตกต่างบ้าง)

ข้อมูลจำเพาะ

  • วัสดุ: พลาสติก (ไม่ทราบชนิด)
  • ความยาวของปากกา: 13.86 เซนติเมตร
  • น้ำหนัก: 12 กรัม
  • เส้นผ่าศูนย์กลาง: 0.98 เซนติเมตร (ที่จับ), 1.59 เซนติเมตร (ปลอก)
  • ความจุหมึก: 1.68 มิลลิลิตร (ถ้าใช้หลอดหมึก), 1.14 มิลลิลิตร (หากใช้หลอดสูบ)

บรรจุภัณฑ์และตัวปากกา

บรรจุภัณฑ์ของปากการุ่นนี้เป็นเพียงซองพลาสติก ไม่มีอะไรให้เลยนอกจากตัวปากกาที่ด้านในมีหมึกหลอดสีน้ำเงิน 1 อันเท่านั้น เรียกว่าธรรมดาอย่างมากและจับตลาดของปากกาด้ามนี้ได้ดี (จนถึงบัดนี้ บรรจุภัณฑ์แบบนี้ที่ทีมงานเคยรีวิวมา มีเพียงปากกาหมึกซึม MUJI เท่านั้น)

ด้านหน้าซอง มีการระบุคำว่า “May the ink be with you.” ซึ่งใครที่ชอบภาพยนตร์อย่าง Star Wars ก็จะรู้ว่านี่เป็นการล้อไปกับประโยคเด็ดจากหนัง (“May the force be with you, always.”) นั่นเอง (ให้ความรู้สึกว่าถือปากกาด้ามนี้แล้วจะถือดาบแสง (Light Saber) มาก

ด้านหลังซอง นอกจากบาร์โค้ดแล้ว ก็ยังมีรายละเอียดอื่นๆ ตามที่กฎหมายกำหนด รวมถึงราคา (775 บาท) แปะเอาไว้ด้วย

ตัวปากกาเมื่อแกะซองออกมา ก็จะเจอแต่ปากกาแบบนี้เลย สิ่งหนึ่งที่โดดเด่นและแทบจะเป็นที่สังเกตได้ทันทีคือ ปากการุ่นนี้ไม่มีคลิปหรือแหนบให้เอาไว้แหนบติดกับเสื้อ และไม่สามารถซื้อเพิ่มได้ด้วย ดังนั้นปากการุ่นนี้เหมาะที่จะนำมาเป็นปากกาเขียนประจำโต๊ะ หรือไม่ก็ไว้สำหรับนักเรียนหรือใครก็ตามที่มีซองใส่ปากกาจนไปขนมาอยู่แล้ว

เปิดปลอกออกมา จะเห็นปากกามีลักษณะนี้

ปลอกปากกาจะมีขนาดใหญ่ เป็นลักษณะ 8 เหลี่ยม มีโลโก้แบรนด์, ชื่อประเทศ, และส่วนหัวของปลอกที่มีการติดตั้งตราสัญลักษณ์ของแบรนด์ที่เป็นแผ่นโลหะลงไป

ตัวด้ามปากกามีหน้าตัดเป็น 16 เหลี่ยม ซึ่งมีประโยชน์ตรงที่ทั้งตัวปลอกและตัวด้าม ช่วยกันไม่ทำให้กลิ้งเวลาวางบนโต๊ะนั่นเอง

บริเวณที่จับ (grip) ถูกตัดมาเป็นทรงสามเหลี่ยม ทำให้จับปากกาได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม

จุดที่โดดเด่นที่สุดของปากกาด้ามนี้ (และถือเป็นส่วนสำคัญที่สุด) คือหัวเขียน ที่พ่นสีดำสนิท มีสองขนาดเส้นคือ Fine และ Medium ครับ (ที่ทดสอบเป็นขนาดเส้นแบบ Medium)

รางจ่ายหมึก (feed) ใช้เป็นพลาสติกสีดำ

เมื่อแกะออกมา ด้านในก็จะพบหลอดหมึกเปล่าติดตั้งไว้ และหลอดหมึกสีน้ำเงิน 1 อัน แถมมาให้ในตัวปากกา (มีเท่านี้จริงๆ)

ถ้าใครอยากได้หลอดใส่หมึก ก็จำเป็นที่จะต้องซื้อเพิ่มครับ ราคาหลอดหมึกแบบสูบอยู่ที่ 200 บาทครับ ซึ่งทีมงานแนะนำว่าควรซื้อครับ แม้ปากกาจะรองรับ Standard International Converter/Cartridge ก็ตาม เพราะลักษณะของปากกาอาจจะทำให้ใส่หลอดหมึกแบบสูบปกติไม่ได้

เมื่อถึงจุดนี้ ทีมงานต้องเทียบกับปากกาคู่แข่งด้ามหนึ่งที่อยู่ในระดับเดียวกัน และเชื่อว่าหลายท่านน่าจะมีอยู่แล้วในการครอบครอง นั่นก็คือ LAMY safari ครับ (ในภาพเป็นสีพิเศษประจำปีนี้ Pastel Mint) จะเห็นได้ว่าขนาดไล่เลี่ยกัน (จุดต่างชัดเจนคือไม่มีแหนบปากกา)

หมดจากการสำรวจตัวปากกาแล้ว ก็ไปส่วนของการทดสอบเขียนกันครับ

ทดสอบการเขียน

ทีมงานทดสอบปากกาด้วยหมึก Pilot Iroshizuku Murasaki-Shikibu บนกระดาษ A4 ของ Double A ที่ความหนา 80 แกรม ได้ผลออกมาตามภาพนี้

ทีมงานพบว่าปากกาด้ามนี้ให้ขนาดเส้นที่เล็กกว่า Medium ปกติเล็กน้อย (แต่ยังจัดเป็น Medium) ได้ เรื่องของประสิทธิภาพในการเขียน เรียกว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจเป็นอย่างยิ่ง มีความยืดหยุ่นเล็กน้อย เขียนได้ลื่นไม่มีการกัดกระดาษ ส่วนการเขียนกลับหัวนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้ครับ

ตัวปากกาน้ำหนักค่อนข้างเบา เขียนได้ง่ายๆ สบายๆ ไม่มีการเกร็งและล้าแต่อย่างใด เรียกว่าใช้ทำงานได้เป็นอย่างดี

ในการใช้งานจริง แม้จะเป็นปากกาที่เขียนได้ดีมากๆ แต่พอไม่มีแหนบปากกาแล้วก็ทำให้การพกไปไหนมาไหน จำเป็นต้องพกใส่กระเป๋าเคียงตลอดเวลา อันนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่สะดวก

สถานที่ซื้อและคู่แข่ง

ปากการุ่นนี้สามารถหาซื้อได้ที่ Studio360 เซ็นทรัลเวิร์ล หรือตามเคาน์เตอร์ตัวแทนจำหน่ายตามแผนกเครื่องเขียน ห้างสรรพสินค้าชั้นนำครับ (ทีมงานเคยเห็นที่แผนกเครื่องเขียน BeTrend และ B2S ครับ) ราคา 775 บาท ไม่รวมหลอดสูบหมึกราคา 200 บาทครับ (ราคารวมเท่ากับ 975 บาท ยังไม่รวมส่วนลดต่างๆ ที่อาจจะมีในแต่ละช่วงเวลา

สำหรับราคาจำหน่ายที่ต่างประเทศ จะต่ำกว่านี้พอสมควร แต่ถ้ารวมค่าส่งมาไทยแล้ว การซื้อกับตัวแทนจำหน่ายที่ประเทศไทยน่าจะคุ้มค่ากว่าเยอะครับ

ราคานี้เทียบแล้วนับว่าสูงกว่าคู่แข่งเพื่อนร่วมชาติ (และปากกายอดฮิต พิมพ์นิยม) อย่าง LAMY safari อยู่บ้าง และนับว่าเป็นคู่แข่งที่สำคัญของปากการุ่นนี้ ข้อได้เปรียบของ safari อยู่ที่การมีแหนบปากกาที่สะดวกต่อการพก และแถมหลอดหมึกมาให้ในช่วงราคา 700-800 บาท แต่ก็แลกมาด้วยการที่หลอดหมึกและดีไซน์ต่างๆ ใช้กับปากกาอื่นๆ แทบไม่ได้ครับ

สรุป Kaweco Perkeo

ถ้าวัดกันที่ประสิทธิภาพในการเขียนอย่างเดียว ทีมงานชื่นชอบ Kaweco Perkeo รุ่นนี้เป็นอย่างมาก เนื่องจากทำผลงานด้านการเขียนออกมาได้ประทับใจ ปากกาให้ความยืดหยุ่นที่ดีระดับหนึ่ง รวมถึงการเขียนที่ราบลื่น ไม่มีอุปสรรคใดๆ น้ำหนักก็ไม่มากจนเกินไป

อย่างไรก็ตาม ในด้านตรงกันข้าม ปากการุ่นนี้มีจุดด้อยที่สำคัญคือคลิปตัวปากกาที่ไม่มีมาให้ และซื้อเพิ่มไม่ได้ อันถือเป็นจุดสำคัญของปากการุ่นนี้ที่ทำให้ทีมงานรู้สึกว่ายังไปได้มากกว่านี้ นอกจากนั้นการไม่แถมหลอดสูบหมึกมาให้ด้วย เป็นข้ออ่อนที่สำคัญมาก เมื่อเทียบกับคู่แข่งเพื่อนร่วมชาติอย่าง LAMY safari จึงเป็นจุดอ่อนสำคัญมากๆ ของปากการุ่นนี้ ทีมงานยังรู้สึกว่าข้อด้อยนี้ถือเป็น “ข้อสังเกตใหญ่” สำหรับปากการุ่นนี้

หากท่านคิดว่าข้อจำกัดด้านคลิปและราคาเป็นสิ่งที่มองข้ามได้ รวมถึงพยายามหาปากกาที่จะฝึกเขียน ไม่ก็ให้ลูกหลานใช้งาน ปากการุ่นนี้นับว่าเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจอยู่ทีเดียวครับ

เครดิต

ข้อมูล: Kaweco, ภัทรนันท์ ลิ้มอุดมพร, The Goulet Pen Company

ภาพถ่าย: ภัทรนันท์ ลิ้มอุดมพร

สถานที่: AIS D.C. อาคารเอ็มโพเรียม

สรุปรีวิว

REVIEW OVERVIEW

ปากกาหมึกซึม Kaweco Perkeo

ความเห็นภาพรวม

เป็นปากกาที่เขียนได้ดีมาก ทำผลงานได้น่าประทับใจ แต่ด้วยราคาที่สูงกว่าคู่แข่ง และการไม่มีคลิป (แหนบ) ทำให้ปากกาพกได้ยากมาก เหมาะกับเป็นปากกาเริ่มต้นสำหรับนักเรียนหรือผู้ที่ต้องการใช้ปากกาหมึกซึม
Patranun Thaniyavarn Limudomporn
Patranun Thaniyavarn Limudompornhttps://www.patranun.com/
เป็นเพียงมนุษย์ธรรมดา คนเดินดิน เรียนจบรัฐศาสตร์ ชอบปากกามาตั้งแต่เด็กๆ แต่ไม่ค่อยได้บอกให้ใครรู้ เริ่มใช้ปากกาหมึกซึมมาตั้งแต่ระดับประถม และใช้ปากกาลูกลื่น Montblanc Generation เป็นปากกาประจำตัว เลิกใช้ปากกาหมึกซึมไประยะหนึ่งก่อนกลับมาใช้ใหม่เพราะเพื่อนฝูงชักชวน แต่ก็ยังวนเวียนกับปากการะดับพรีเมียมเช่นเคย

ติดตามเราบน Facebook

เนื้อหายอดนิยม

บทความที่เกี่ยวข้อง

- Advertisement -
เป็นปากกาที่เขียนได้ดีมาก ทำผลงานได้น่าประทับใจ แต่ด้วยราคาที่สูงกว่าคู่แข่ง และการไม่มีคลิป (แหนบ) ทำให้ปากกาพกได้ยากมาก เหมาะกับเป็นปากกาเริ่มต้นสำหรับนักเรียนหรือผู้ที่ต้องการใช้ปากกาหมึกซึมรีวิวปากกาหมึกซึมยอดนิยมของคนรุ่นใหม่ Kaweco Perkeo