18 เมษายน 2024
รีวิวรีวิวปากกาหมึกซึม Visconti Rembrandt

รีวิวปากกาหมึกซึม Visconti Rembrandt

หากกล่าวถึงในผู้ผลิตปากกาหมึกซึมที่มีอายุไม่มาก และมีชื่อเสียงจากอิตาลี คงหนีไม่พ้น Visconti ที่มีชื่อเสียงอันโด่งดัง และหนึ่งในปากการุ่นที่ได้รับการยอมรับทั่วโลกว่ามีการออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์ คือ Visconti Rembrandt โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้เรซินที่มีการผสานลวดลายอันสวยงามเข้าไป

นับว่าเป็นโอกาสอันพิเศษอย่างยิ่งสำหรับไรท์ติ้งอินไทย ที่ได้รีวิวปากการุ่นนี้จำนวนถึง 2 ด้ามด้วยกัน และนับว่าเป็นปากกาอีกรุ่นที่สร้างความประทับใจให้กับทีมงานเป็นอย่างยิ่ง

รู้จักกับ Visconti ผู้ผลิตปากกาจากฟลอเรนซ์

Visconti ถือเป็นผู้ผลิตเครื่องเขียนและเครื่องประดับจากอิตาลีหน้าใหม่ ที่สามารถก้าวขึ้นสู่แถวหน้าของผู้ผลิตเครื่องเขียนได้อย่างรวดเร็ว บริษัทก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ค.ศ. 1988 นับแล้วก็เพิ่งมีอายุได้ 30 ปี โดย Dante del Vecchio และ Luigi Poli ซึ่งเป็นนักสะสมปากกากันทั้งคู่ ทั้งคู่มองว่าตลาดเครื่องเขียนยังขาดแคลนรูปแบบที่เหมือนกับเครื่องเขียนในสมัยก่อน การก่อตั้งบริษัทจึงเข้ามาตอบสนองความต้องการนี้

จากนั้นในปี ค.ศ. 2003 กลุ่มทุนที่มีชื่อว่า Italian Pens ได้เข้ามาถือหุ้นบางส่วนในบริษัท อันเป็นช่วงเวลาที่ธุรกิจต้องการขยายตัว หลังจากนั้นในปี ค.ศ. 2005 Luigi จึงขายหุ้นในส่วนของเขาทั้งหมดให้กับ Italian Pens (ทำให้กลุ่มทุนกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหม่) พร้อมกับประกาศลาออกจากบริษัท จึงเหลือเพียง Dante คนเดียวที่ยังบริหารอยู่ ก่อนที่จะลาออกในปลายปี ค.ศ. 2016 เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างเขาและผู้ถือหุ้นรายใหญ่นั่นเอง

ความโดดเด่นของ Visconti เกิดจากการที่บริษัทมีผลิตภัณฑ์ที่แสดงถึงการออกแบบที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นปากการุ่น Divina ที่ใช้สัดส่วนเรขาคณิตอันเป็นที่รู้จักกันในนาม Divine Proportion (1.618) นำมาออกแบบ ทำให้ได้ปากกาที่มีโค้งมนไม่เหมือนใคร หรือ Homo Sapiens ที่ใช้วัสดุเป็นหินลาวา พร้อมกับกลไกในการเปิดและปิดปากกาที่ไม่เหมือนใครนั่นเอง

Visconti Homo Sapiens Evolution
Visconti Homo Sapiens Evolution

นอกจากเครื่องเขียนแล้ว บริษัทยังมีการผลิตนาฬิกา ซึ่งตัวกลไกใช้ของสวิสอีกด้วย โดยเริ่มผลิตเมื่อปี ค.ศ. 2013 และเน้นการออกแบบนาฬิกาที่สะท้อนภาพของเมืองฟลอเรนซ์ด้วย

ที่มาของ Visconti Rembrandt

สำหรับปากการุ่นนี้ (Rembrandt) ตั้งชื่อตามศิลปินชาวดัทช์ Rembrandt Harmenszoon van Rijn (1606-1669) ที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อวงการศิลปะในยุโรปและทั่วโลก ผลงานของเขาสร้างความประทับใจให้กับผู้คนมากมายทั่วโลก และมีศิลปินบางคนอย่าง Max Liebermann กล่าวเปรียบเปรยว่าผลงานของ Rembrandt ไม่เหมือนภาพวาดเลยแม้แต่น้อย

ในเชิงการตลาด ปากการุ่นนี้ถือเป็นปากการุ่นเริ่มต้นของบริษัท (จนกระทั่งมีรุ่น Mirage เข้ามาในปีนี้) มีทั้งปากกาหมึกซึม ปากกาโรลเลอร์บอล และปากกาลูกลื่น ให้เลือกใช้กันตามถนัด แต่ที่นิยมกันที่สุดคือปากกาหมึกซึม วางจำหน่ายครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 2009 แล้วก็วางจำหน่ายเรื่อยมา โดยในปี ค.ศ. 2011 ถูกยกย่องให้เป็นหนึ่งในปากการาคาถูกที่ดีมาก และมีการออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์ ทำให้หลายคนปรารถนาที่จะหาปากการุ่นนี้มาใช้

ภาพวาดเหมือนตัวเองของ Rembrandt (ที่มา - Wikipedia, Google Art Project)
ภาพวาดเหมือนตัวเองของ Rembrandt (ที่มา – Wikipedia, Google Art Project)

เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของปากการุ่นนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มของปากกาหมึกซึม คือการไม่มีเกลียวของปากกา แต่ใช้ “แม่เหล็ก” ในการเก็บหัวและยึดหัวให้เข้าที่ แทนที่จะเป็นเกลียวหรือเขี้ยวแบบในอดีต นับว่าเป็นเอกลักษณ์อย่างมาก อย่างไรก็ตาม David Parker นักวิจารณ์ปากกาหมึกซึมและพิธีกรช่อง Figboot on Pens บน YouTube เคยวิจารณ์ว่า ระบบปิดแบบนี้หากทิ้งปากกาเอาไว้ยาวนานโดยที่ยังมีหมึก หรือล้างไม่แห้ง แม่เหล็กจะเป็นสนิม ทำให้ปิดปากกาไม่ได้ และมีทางเดียวที่จะแก้ไขคือส่งซ่อมเพื่อเปลี่ยนแม่เหล็กเท่านั้น

นอกจากระบบการปิดฝาที่มีความแตกต่างจากปากกาโดยทั่วไปแล้ว อีกจุดหนึ่งที่ถือเป็นเอกลักษณ์อย่างมากของปากการุ่นนี้ คือการใช้วัสดุที่เรียกว่า “Vegetal Resin” หรือ เรซินที่ผลิตจากพืช อันเป็นวัสดุธรรมชาติ (ตัวอย่างในธรรมชาติก็เช่น ยางไม้ ยางสน) ทำให้ได้สีสันที่ต่างออกไป และเวลาจับก็รู้สึกถึงความนุ่มนวลที่ไม่เหมือนใคร (ในทางกลับกันก็เป็นรอยง่ายกว่าด้วย)

ลวดลายและสีสันของปากกา ที่ใมช้วัสดุเป็น Vegetal Resin
ลวดลายและสีสันของปากกา ที่ใมช้วัสดุเป็น Vegetal Resin

ปัจจุบันปากการุ่นนี้มีหลายสี หลายรุ่น ขึ้นกับผู้นำเข้าว่าจะเอาสีไหนเข้ามาบ้าง เช่น สีม่วง สีน้ำเงิน สีป่าทึบ (dark forest) หรือสีอย่าง Twilight (สีท้องฟ้าตอนพลบค่ำ) เป็นต้น นอกจากนั้นแล้วยังมีสีที่มีจำนวนการผลิตจำกัด อย่างเช่น Azure สีฟ้าท้องฟ้า ที่มีวางจำหน่ายเฉพาะในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ณ ขณะนี้ ใช้หมึกและหลอดสูงที่รองรับ International Standard Converter/Cartridge ได้ครับ

อนึ่ง ปากการุ่นนี้มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในช่วงต้นปีนี้ (ค.ศ. 2018) โดยรุ่นที่วางจำหน่ายก่อนหน้านี้ทั้งหมด (เรียกว่า pre-2018) ใช้หัวปากกาและการตกแต่งลายแบบหนึ่ง ส่วนรุ่นตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นไปทั้งหมด จะใช้หัวปากกาและการตกแต่งลายแบบรุ่นใหม่ทั้งหมด (ยกเว้นในสหรัฐอเมริกาที่จะขายรุ่นเก่าออกก่อนให้หมด) ซึ่งแม้จะใช้ชื่อเดียวกัน ตัวด้ามและปลอกปากกาเสียบใช้แทนกันได้ แต่หัวปากกาจะไม่สามารถใช้แทนกันได้ ต้องเปลี่ยนทั้ง section ไปเลย นับว่าเป็นข้องสังเกตเล็กๆ แต่มีความสำคัญสูงมาก

สำหรับรีวิวนี้ จะมีทั้งรุ่นที่เป็นก่อนปี 2018 ที่ยังคงมีวางจำหน่ายในสหรัฐอเมริกา (Azure) และรุ่นใหม่ ที่วางจำหน่ายทั่วโลก (Blue) ครับ

ราคาและตัวแทนจำหน่ายในไทย

The Pips Cafe'
The Pips Cafe’

ข่าวดีประการหนึ่งคือ ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา The Pips Cafe’ ซึ่งเป็นร้านจำหน่ายปากกาหมึกซึมและอุปกรณ์เสริมแห่งแรกของประเทศไทย ได้เริ่มต้นนำเข้าปากกาของ Visconti เข้ามาวางจำหน่าย โดยมีทั้งรุ่น Van Gogh และ Rembrandt เข้ามา ทำให้ลูกค้าสามารถหาซื้อปากกาชนิดนี้ง่ายขึ้นกว่าเดิม

ราคาจำหน่ายของปากการุ่นนี้อยู่ที่ด้ามละ 6,450 บาท โดยเป็นหัวรุ่นใหม่ทั้งหมด ส่วนการรับประกันสามารถส่งให้ทางร้านเคลมได้ถ้าซื้อมาจากที่ร้านครับ

แกะกล่อง

สำหรับกล่องของ Rembrandt มีหลากรูปแบบ ตามแต่ละช่วงเวลาที่วางจำหน่าย อย่างไรก็ดีหากเป็นในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมา (ประมาณ 2 ปี) กล่องของรุ่นนี้จะมีหน้าตาเป็นกล่องกระดาษสีดำธรรมดา ด้านนอกมีกระดาษหนาห่อหุ้มเอาไว้ก่อน (ไม่ได้ถ่ายมา) เป็นสีขาวหรือไม่ก็สีเทาครับ

เมื่อเปิดฝากล่องออกมาด้วยการยกขึ้น จะพบกับตัวปากกาด้านใน ที่มาพร้อมกับคู่มือ และหลอดหมึก รวมถึงใบคู่มือรับประกันตัวปากกาด้วย

แม้ตัวกล่องจะเหมือนกัน แต่ทว่าในแต่ละรุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเปลี่ยนผ่านเมื่อต้นปี มีรายละเอียดที่แตกต่างกันเล็กน้อย ทีมงานจึงขอแยกออกมาให้เห็นในแต่ละด้ามอย่างชัดเจน ดังต่อไปนี้ครับ

Classic Rembrandt (Pre-2018)

สำหรับรุ่นเก่า (จากนี้จะเรียกว่า Classic) ที่เราได้มารีวิวนี้ เป็นรุ่นที่ใช้สีคือ Azure หรือสีฟ้าท้องฟ้า ซึ่งเป็นสีพิเศษมีวางจำหน่ายเฉพาะในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ราคาค่าตัวอยู่ที่ด้ามละ 179 ดอลลาร์ (ประมาณ 5,879 บาท ตามราคาวันที่ซื้อ) ทีมงานได้มาจากทาง Fountain Pen Hospital ที่มลรัฐนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกาครับ

ตัวด้ามปากกาเป็นด้ามตรงทรงกระบอก แต่มีการทำให้โค้งมนที่ส่วนปลายทั้งหัวและท้ายของปากกา ส่วนตัวด้ามขนาดจะเล็กกว่าปากกาเล็กน้อย คลิปหรือแหนบหนีบปากกาที่เป็นทรงสะพานโค้ง เลียนแบบสะพาน Ponte Vecchio ของเมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี ส่วนหัว (ไม่ได้ถ่ายมา) มีตรา Visconti แปะอยู่ ซึ่งสามารถใช้แม่เหล็กดูดออกมา แล้วเปลี่ยนเป็นตัวอักษรชื่อย่อที่แกะสลัก หรือ อัญมณีต่างๆ ได้ (บริษัทเรียกว่า My Pen System)

สำหรับปลอกปากกาส่วนบนด้านล่าง จะมีวงแหวน ซึ่งในรุ่นที่เป็น Classic Rembrandt จะมีการเขียนว่า “Visconti” อยู่ที่ด้านเดียวกับคลิป และ “Made in Italy” อยู่ด้านหลัง

หัวของปากกาในรุ่น Classic Rembrandt จะมีการแกะสลักลายที่แปลกตาออกไป และส่วนหัวแบบขนาด Extra-Fine จะถูกเรียกว่า “Calligraphy nib” ซึ่งถูกออกแบบมาให้เหมาะสมกับการเขียน Calligraphy หรือเขียนตัวอักษรแบบลวดลายมากกว่า (คล้ายหัวตัด หรือ stub nib) ทำมาจากเหล็กกล้าไร้สนิม

Visconti Rembrandt Azure

ด้านล่างของ Feed มีการประทับตราและโลโก้ของบริษัทสอดแทรกเข้าไปด้วย

Modern Rembrandt (2018)

ในรุ่นใหม่ของ Rembrandt (จากนี้จะเรียกว่า Modern) ดีไซน์ทั้งหมดโดยรวมยังคงอยู่เหมือนเดิม ตัวปากกายังคงแนวทางเดิม อย่างไรก็ตามมีจุดเล็กๆ น้อยๆ ที่แตกต่างกันในรายละเอียด สำหรับรีวิวนี้ใช้เป็นรุ่นสี Blue ครับ

ตัวปลอกปากกา ยังคงยึดแนวทางการออกแบบเหมือนเดิม ส่วนบนสุดมีตราของ Visconti ที่สามารถเอาออกและเปลี่ยนได้ (My Pen System) คลิปยังคงเหมือนเดิมไม่มีส่วนที่เปลี่ยนแปลง คือทำให้เหมือนสะพาน Ponte Vecchio นั่นเอง

จุดที่ต่างจากรุ่น Classic อย่างชัดเจน คือวงแหวนที่อยู่รอบปลอกปากกา มีการสลักลวดลายมากขึ้นกว่าเดิม และเปลี่ยนคำที่แสดงตรงคลิปด้านหน้าเป็น “Rembrandt” และตัดคำที่ระบุว่าผลิตในอิตาลีที่อยู่ด้านหลังออกไป (ย้ายขึ้นไปอยู่ตราด้านบนแทน) ทำให้คนจดจำได้มากขึ้นว่านี่คือรุ่นอะไร

อีกจุดหนึ่งที่ถือเป็นจุดแตกต่างที่สำคัญมาก คือเรื่องของหัวปากกา (nib) ซึ่งในรุ่นใหม่นี้ ใช้วิธีการบอกขนาดเส้นเป้นวงกลม (หรือจุดขนาดใหญ่) โดยถ้าเป็นวงกลมเดียว หมายถึงหัวขนาด Fine, สองวงหมายถึง Medium และสามวงคือ Broad

ภาพจากบริษัท Visconti
ภาพจากบริษัท Visconti

รุ่น Modern ของ Rembrandt ก็ใช้หัวลักษณะนี้เช่นกัน ซึ่งบริษัทระบุว่าเขียนได้ลื่นกว่าเดิม และปรับแต่งหัวมาดีกว่า อย่างไรก็ตามหัวของ Modern ไม่รองรับกับหัว Classic ดังนั้นแล้วใช้ข้ามกันไม่ได้นะครับ

ทางออกเดียวที่จะใช้หัวแบบใหม่กับรุ่นเก่าได้ คือเปลี่ยนตัว section หรือที่จับเท่านั้น ซึ่งราคาอาจจะสูงมาก เนื่องจากบริษัทไม่ได้แยกจำหน่ายส่วนประกอบดังกล่าวนี้

ส่วนท้ายของด้ามปากกาก็ยังโค้งมนเหมือนเดิม และใช้โลหะมนเกลี้ยงปิดท้าย

ทดสอบเขียน Visconti Rembrandt

ทีมงานทดสอบการเขียนของปากกาทั้งสองด้าม บนกระดาษยี่ห้อ Quality ขนาด A4 แบบ 80 แกรม โดยทั้งสองด้ามมีความแตกต่างดังต่อไปนี้

  • Rembrandt Azure (Classic) ใช้เป็นหัว Extra-Fine Calligraphy และหมึกเป็น Pelikan 4001 Brilliant Black
  • Rembrandt Blue (Modern) ใช้เป็นหัว Fine และหมึกเป็น Montblanc Irish Green

ผลการทดสอบ เป็นไปดังต่อไปนี้ครับ

ลักษณะร่วมกัน

ปากกาทั้งสองด้ามให้น้ำหนักและสมดุลที่ดีกันทั้งคู่ ไม่มีด้ามไหนที่แย่หรือดี นอกจากนั้นอีกจุดที่ต้องชื่นชมคือการเลือกใช้หลอดสูบหรือหลอดหมึกตามมาตรฐาน Standard International Converter/Cartridge ทำให้การใช้งานสะดวกขึ้นกว่าเดิม นอกจากนั้นตัวหัวและรางจ่ายหมึก (nib assembly) สามารถหมุนออกมาล้างทำความสะอาดได้ง่าย ตรงนี้ถือว่าเป็นแต้มบวกให้กับปากกาด้ามนี้ได้ดีมาก

แหนบหรือคลิปของปากกา แม้จะออกแบบมาเป็นเอกลักษณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีความโค้งมนเหมือนสะพาน อย่างไรก็ตามตัวปากกาบังคับให้ต้องง้างคลิปออกมาก่อน จากนั้นจึงใส่ปากกาแล้วหนีบเข้าไป ตรงนี้สร้างความไม่สะดวกให้กับการใช้ปากกาพอสมควร

เรื่องวัสดุเรซินแม้จะสวยงามมาก (โดยเฉพาะ Azure ที่หลายคนชื่นชมว่าสวย พกไปไหนมาไหนก็เรียกบทสนทนาได้ดี) รวมถึงเวลาถือใช้ก็นุ่มนวลมาก แต่ข้อกังวลอย่างหนึ่งคือความที่เป็นเรซินซึ่งนิ่มกว่าปกติก็แปลว่าสามารถเป็นรอยได้ง่าย เมื่อเทียบกับราคาที่ต้องจ่ายก็ถือว่าเป็นข้อด้อย แม้จะสามารถใช้ผ้าทำความสะอาดอัญมณีช่วยขัดลดรอยได้ก็ตาม แต่ก็เป็นทางแก้ชั่วคราวเท่านั้น

ทีมงานแนะนำว่า เพื่อหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ดังกล่าว ควรใช้ปากกาโดยไม่สวมปลอกท้ายด้าม (post) และเก็บปากกาโดยมีซองหรือถุงที่วัสดุนุ่มนวล จะช่วยลดปัญหาไปได้เยอะมากพอสมควร

นอกจากนั้นแล้ว หัวของทั้ง Classic และ Modern ไม่สามารถใช้แทนกันได้ คำแนะนำของทีมงานจึงแนะนำให้ซื้อรุ่นที่ใช้หัว Modern จะดีกว่า เนื่องจากสามารถหาซื้อตัวหัวปากกา (nib) มาใช้แทนได้เลย ขณะที่ถ้าเป็น Classic การหาซื้อหัวปากกามาเปลี่ยนจะทำได้ยากมาก

Rembrandt Azure (Classic)

สำหรับปากกาที่เป็น Classic ซึ่งใช้หัว Calligraphy ขนาด Extra-fine ต้องยอมรับว่าจ่ายหมึกค่อนข้างมากพอสมควร ส่วนหัวเป็นลักษณะกึ่งหัวตัดเส้นขนาดเล็ก ทำให้เวลาลากเส้นในแนวดิ่ง เส้นจะแคบมาก ส่วนถ้าลากในแนวนอน เส้นจะหนากว่าอย่างชัดเจน ใครที่ชอบปากกาหัวตัดอาจจะชอบหัวนี้

ขนาดเส้นที่ให้ออกมาของปากกาด้ามนี้ มีขนาดใกล้เคียงกับ Fine ของญี่ปุ่น และเนื่องจากเป็นหัวแบบพิเศษ ทำให้สามารถรองรับการกดเพื่อเพิ่มขนาดเส้นและน้ำหนัก (line variation) ได้ น้อยค่ายจะมีหัวปากกาที่เป็นลักษณะนี้ออกมาสู่ท้องตลาดครับ ซึ่งถ้าใช้น้ำหนักมาก สามารถขยายได้ถึง Medium เลยทีเดียว เรื่องหมึกต้องเรียกว่าจ่ายออกมาเยอะมากกว่า Extra-fine ตามท้องตลาดทั่วไป ใครชอบปากกาหมึกมากๆ ก็ขอแสดงความยินดีด้วยครับ

ข้อด้อยประการเดียวของหัวเขียนแบบนี้ คือ ค่อนข้างขูดขีดกระดาษ เขียนไม่ค่อยลื่นนัก ทีมงานรู้สึกไม่ค่อยประทับใจส่วนนี้เท่าไหร่ และพบว่าประสบการณ์การเขียนหัวขนาด F ของ Montegrappa Parola ทำได้น่าประทับใจกว่ามาก

Rembrandt Blue (Modern)

ในส่วนของ Rembrandt ที่เป็น Modern และใช้หัวเขียนเป็นแบบ Fine ต้องบอกว่าประสบการณ์การเขียนทำได้ลื่นอย่างมาก สามารถเขียนได้ดี โดยรู้สึกถึงแรงต้านตอนเขียนได้เพียงนิดเดียว นับว่าเป็นหัวปากกาที่ทำผลงานได้ดีมากๆ ด้ามหนึ่ง

หัวปากกาให้เส้นที่กึ่งๆ เป็นหัวตัด แต่ไม่ได้มีผลต่างกันอย่างชัดเจนแบบหัวของ Calligraphy Extra-fine คือตัวเส้นที่ลากแนวนอนจะหนากว่าเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนความแตกต่างระหว่างเส้น (line variation) ตามแรงกด สำหรับหัวนี้แทบจะไม่มีเลย ความรู้สึกของทีมงานจึงเป็นว่า หัวของปากการุ่นนี้สามารถทำได้ดีกว่าในการใช้ในชีวิตประจำวันครับ

ข้อติอย่างเดียวของปากการุ่นนี้มีอยู่สองจุด ประการแรกคือหัวขนาด Fine มักให้เส้นที่กว้างกว่าปกติมาก แทบจะเป็น Medium ไปเลย (อาการเดียวกับ Pelikan) ดังนั้นสิ่งที่ตามมาด้วยคือ เป็นปากกาหมึกซึมที่ใช้น้ำหมึกหมดเร็วมาก ทีมงานทดสอบปากกาโดยใช้เขียนอย่างต่อเนื่องก็พบว่าไม่นานก็หมด ผิดจากปากกาหมึกซึมด้ามอื่นๆ ที่ทีมงานทดสอบพร้อมๆ กันโดยสิ้นเชิง ดังนั้นใครที่อยากใช้หมึกประหยัดๆ ก็อาจจะต้องคิดสักเล็กน้อยครับ

สรุป

ตามปกติแล้ว ทีมงานมีความลังเลใจอยู่เล็กน้อยว่าด้วยปากกาหมึกซึมที่มีราคาค่อนข้างสูง (ประมาณ 5,000 – 6,000 บาท) จะสมกับราคาและค่าตัวที่จ่ายไปหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพิจารณาว่าปากกาที่ได้รับมาเป็นหัวแบบเหล็กกล้าไร้สนิมด้วย เพราะด้วยราคาขนาดนี้ ปากกาหมึกซึมหลายด้ามในท้องตลาดสามารถใช้เป็นหัวทองคำได้แล้ว

ทว่าจากประสบการณ์ที่ผ่านมาของทีมงานก็พบว่า ปากกาที่ใช้หัวเป็นเหล็กกล้าไร้สนิมเหล่านี้ หลายครั้งก็เขียนได้ดีไม่แพ้กับปากกาหัวทองคำเลย และ Visconti Rembrandt ก็เป็นหนึ่งในปากกาที่สร้างความประทับใจให้กับทีมงานได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว

โดยภาพรวม ถือเป็นปากการะดับเริ่มต้นของบริษัทที่ทำออกมาได้ดี สีสันสวยงาม สามารถเรียกความสนใจจากผู้ที่พบเห็นได้ง่ายๆ อีกทั้งน้ำหนักและกลไกการปิดที่เป็นเอกลักษณ์ ก็ทำให้ปากกาด้ามนี้มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นมากยิ่งขึ้นและใช้หลอดหมึก รวมถึงหลอดสูบตามมาตรฐานสากล (international standard) อีกด้วย

อย่างไรก็ตามใช่ว่าปากการุ่นนี้จะปลอดข้อเสียทีเดียว ในเชิงการออกแบบคลิปที่แม้จะสวยงาม แต่ก็ต้องแลกมาด้วยความไม่สะดวกในการจับหนีบใส่กระเป๋าเสื้อ ส่วนการปิดด้วยแม่เหล็กในระยะยาวก็เกิดคำถามถึงความทนทาน เพราะมีความเสี่ยงที่เกิดจากอาจมีสนิมจับนั่นเอง รวมไปถึงความนุ่มของ Vegetal Resin ที่เป็นรอยง่ายด้วย

สำหรับรุ่น Classic ทีมงานเห็นว่าหัวปากกาที่ได้มารีวิวค่อนข้างมีความเฉพาะทาง อาจไม่เหมาะที่จะใช้ในทุกกรณี อย่างไรก็ตามถือว่าหัวปากกามีความยืดหยุ่นที่ทำได้ดีมาก ส่วนในกรณีของ Modern ทีมงานพบว่าปากกาเขียนลื่นกว่ามาก แต่ในทางตรงกันข้ามคือขนาดเส้นที่ใหญ่กว่าปกติ และใช้หมึกมากกว่าปกติที่ควรจะเป็น

หากให้ทีมงานฟันธงว่าปากการุ่นนี้สมกับราคาค่าตัวที่ 6,450 บาท หรือไม่ คำตอบของทีมงานคงเป็นว่า หากท่านต้องการหาปากกาหมึกซึมที่ใช้งานได้ดีทั่วไป ไม่เน้นการออกแบบที่โดดเด่นหรือวัสดุที่ดี Visconti Rembrandt ย่อมไม่ใช่ปากกาที่เหมาะกับท่าน ตรงกันข้าม ปากกาอย่าง Platinum Procyon ถือเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับปากกาที่เป็นหัวเขียนแบบโลหะ หากขึ้นไปหัวเขียนแบบทองคำ ปากกาอย่าง Platinum 3776 Century หรือ LAMY 2000 ก็ถือว่าเป็นตัวเลือกที่ดีเท่าเทียมกัน

แต่ถ้าหากท่านกำลังหาปากกาหมึกซึมที่มีความโดดเด่นในการออกแบบ เน้นไปที่สไตล์ที่ไม่เหมือนใคร และคิดว่าการจ่ายเงินหลักนี้ให้ประสบการณ์ที่ดีแล้ว นี่คือปากกาที่มิอาจพลาดได้ด้วยประการทั้งปวงครับ

ข้อดีข้อเสีย
การออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์ราคาที่สูงกว่าปกติทั่วไป
น้ำหนักตอนเขียนที่สมดุลVegetal Resin ที่นุ่มกว่าปกติ เป็นรอยได้ง่าย
กลไกการปิดฝาที่ไม่ต้องเกลียวหัวรุ่นใหม่ (Modern) ใช้ร่วมกับรุ่นเก่า (Classic) ไม่ได้
 กลไกจ่ายหมึกที่มากกว่าปกติ (เปลืองหมึก เฉพาะรุ่น Modern)

ข้อมูลจำเพาะ

  • เส้นผ่าศูนย์กลาง: 1.25 ซม. (ตัวด้าม), 1.45 ซม. (ตัวปลอก)
  • ความยาว: 13.97 ซม.
  • น้ำหนัก: 33 กรัม
  • วัสดุ: Vegetal Resin
  • ความจุหลอดสูบหมึก: 1.03 มล.
  • หัวปากกา: เหล็กกล้าไร้สนิม
  • ขนาดเส้น: Extra-Fine, Fine, Medium, Broad, Stub 1.5 มม. (Classic); Fine, Medium, Broad (Modern)

ข้อมูลอ้างอิง

เครดิตรีวิว

ศิระกร ลำใย – ภาพ (Modern Rembrandt Blue) / ภัทรนันท์ ลิ้มอุดมพร – เนื้อหา

สรุปรีวิว

REVIEW OVERVIEW

Visconti Rembrandt Azure (Classic)
Visconti Rembrandt Blue (Modern)

ความเห็นภาพรวม

โดยภาพรวมของ Visconti Rembrandt ปากกาทั้งสองด้ามเป็นปากกาที่เขียนได้ดี มีการออกแบบที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ อย่างไรก็ตามปากการุ่นนี้มีข้อจำกัด ทั้งหัวปากกาที่ใช้ข้ามรุ่นกันไม่ได้สำหรับรุ่นเดิมและรุ่นใหม่, วัสดุที่เป็น Vegetal Resin ที่เป็นรอยง่าย, กลไกปิดแบบแม่เหล็กที่สามารถเป็นสนิมได้ และค่อนข้างเปลืองหมึกพอสมควรสำหรับรุ่นใหม่
Patranun Thaniyavarn Limudomporn
Patranun Thaniyavarn Limudompornhttps://www.patranun.com/
เป็นเพียงมนุษย์ธรรมดา คนเดินดิน เรียนจบรัฐศาสตร์ ชอบปากกามาตั้งแต่เด็กๆ แต่ไม่ค่อยได้บอกให้ใครรู้ เริ่มใช้ปากกาหมึกซึมมาตั้งแต่ระดับประถม และใช้ปากกาลูกลื่น Montblanc Generation เป็นปากกาประจำตัว เลิกใช้ปากกาหมึกซึมไประยะหนึ่งก่อนกลับมาใช้ใหม่เพราะเพื่อนฝูงชักชวน แต่ก็ยังวนเวียนกับปากการะดับพรีเมียมเช่นเคย

ติดตามเราบน Facebook

เนื้อหายอดนิยม

บทความที่เกี่ยวข้อง

- Advertisement -
โดยภาพรวมของ Visconti Rembrandt ปากกาทั้งสองด้ามเป็นปากกาที่เขียนได้ดี มีการออกแบบที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ อย่างไรก็ตามปากการุ่นนี้มีข้อจำกัด ทั้งหัวปากกาที่ใช้ข้ามรุ่นกันไม่ได้สำหรับรุ่นเดิมและรุ่นใหม่, วัสดุที่เป็น Vegetal Resin ที่เป็นรอยง่าย, กลไกปิดแบบแม่เหล็กที่สามารถเป็นสนิมได้ และค่อนข้างเปลืองหมึกพอสมควรสำหรับรุ่นใหม่รีวิวปากกาหมึกซึม Visconti Rembrandt