23 ตุลาคม 2024
รีวิวรีวิวเครื่องเขียนรีวิว ปากกาหมึกซึม Caran d'Ache 849 สุดยอดปากกาเขียนดีที่เข้าถึงได้

รีวิว ปากกาหมึกซึม Caran d’Ache 849 สุดยอดปากกาเขียนดีที่เข้าถึงได้

หนึ่งในปากกาหมึกซึมที่ให้ประสบการณ์เขียนที่ดีที่สุดด้ามหนึ่งของโลก ไม่แพ้ปากกาดีๆ ระดับหลักหลายหมื่นบาท

-

ในบรรดาผู้ผลิตปากกาชั้นนำของโลก หนึ่งในผู้ผลิตที่มักถูกกล่าวถึงคือ Caran d’Ache ผู้ผลิตเครื่องเขียนจากเมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ด้วยการผลิตที่พิถีพิถัน ทนทาน และวัสดุที่ดีมาเสมอ และเมื่อปีที่แล้วบริษัทได้ทำการเปิดตัว ปากกาหมึกซึม Caran d’Ache 849 ซึ่งเรียกความสนใจจากแวดวงคนใช้ปากกาหมึกซึมทั่วโลก เพราะเป็นครั้งแรกที่บริษัทตัดสินใจทำปากกาหมึกซึมจับตลาดล่าง หลังจากที่อยู่แต่เฉพาะตลาดบนมาโดยตลอด

ไรท์ติ้งอินไทย ขอนำเสนอบทรีวิวปากกาหมึกซึมดังกล่าวนี้ ที่ถูกขนานนามว่าเป็นหนึ่งในปากกาหมึกซึมที่ให้ประสบการณ์เขียนที่ดีที่สุดด้ามหนึ่งของโลก ไม่แพ้ปากกาดีๆ ระดับหลักหลายหมื่นบาท ให้กับท่านผู้อ่านชาวไทยได้สัมผัสกันอย่างลึกซึ้งและดื่มด่ำไปกับปากกาด้ามนี้

ปากกาหมึกซึม Caran d'Ache 849
ปากกาหมึกซึม Caran d’Ache 849

ข้อมูลแจ้งเพื่อทราบ: รีวิวนี้ เขียนจากประสบการณ์ตรงของทีมงาน และไม่ได้รับการสนับสนุนใดๆ ในทางการเงินจากแบรนด์หรือตัวแทนจำหน่าย ยกเว้นข้อมูลในทางประวัติศาสตร์และภาพประกอบเนื้อหาบางชิ้นที่ต้องได้รับอนุญาตเท่านั้น (ระบุไว้ใต้ภาพแล้ว)


เนื้อหา

[ ประวัติและที่มา | รู้จักกับปากกา | รายละเอียดทางเทคนิค | บรรจุภัณฑ์และตัวปากกา | ทดสอบใช้งานจริง | สรุป | วิดีโอรีวิว ]


ประวัติและที่มา

“Swiss Made ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย”

ชื่อของแบรนด์ Caran d’Ache (อ่านว่า ฆา-รัน-ดาช) อาจไม่เป็นที่คุ้นเคยสำหรับคนไทยมากนัก แต่ในต่างประเทศ บริษัทฯ ถือเป็นหนึ่งในแบรนด์ของเครื่องเขียนที่มีมาอย่างยาวนาน และได้รับการยอมรับถึงคุณภาพ ประสิทธิภาพ และบริการหลังการขายที่ดีเยี่ยมและน่าประทับใจ รวมถึงเป็นตัวแทนที่ดีของเครื่องเขียนที่ได้รับการประทับตรา “Swiss Made” ด้วย

โลโก้ Caran d'Ache
โลโก้บริษัท (ที่มา – บริษัท)

บริษัทฯ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1915 ในชื่อว่า Fabrique Genevoise de Crayons ตั้งอยู่ที่นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส (และตั้งมาจนถึงปัจจุบัน) โดยผลิตเครื่องเขียนและเน้นไปที่ดินสอไม้เป็นหลัก (crayon ในภาษาฝรั่งเศส แปลว่าดินสอ) จนกระทั่ง Arnold Schweitzer นักธุรกิจรายหนึ่งนั่งตำแหน่งประธานบริษัท จึงมีการเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็นชื่อในปัจจุบันในปี ค.ศ. 1924

ภาพรถยนต์โฆษณาดินสอของบริษัท
ภาพรถยนต์โฆษณาดินสอของบริษัท (ที่มา – บริษัท)

ชื่อ Caran d’Ache เป็นนามปากกาของ Emmanuel Poiré ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับการยอมรับว่าคิดค้นการ์ตูนแบบแถว (comic strip) ที่ตีพิมพ์ตามหนังสือพิมพ์ต่างๆ จนชินตา มาจากภาษารัสเซียว่า “Каранда́ш” (karandash) ที่แปลว่าดินสอนั่นเอง

ที่ทำการของบริษัทในปี ค.ศ. 1924
ที่ทำการของบริษัทในปี ค.ศ. 1924 (ที่มา – บริษัท)

บริษัทกลายเป็นธุรกิจของครอบครัว Hubscher และ Reiser หลังจากที่สองครอบครัวนี้เข้าถือหุ้นในบริษัทในปี ค.ศ. 1930 มาจนถึงปัจจุบันซึ่งเป็นรุ่นที่ 4 แล้ว

ที่ทำการบริษัทในช่วงปี ค.ศ.1950
ที่ทำการบริษัทในช่วงปี ค.ศ.1950 (ที่มา – บริษัท)

ผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อของแบรนด์ที่ได้รับการยอมรับเป็นวงกว้าง คือดินสอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งดินสอสีไม้ ซึ่งมีคุณภาพสูงมาก และมักนิยมใช้กันในวงการศิลปะ บริษัทเองเป็นผู้คิดค้นทั้งสีไม้ระบายน้ำ (เรียกว่า ‘Prismalo’) ในปี ค.ศ. 1931, Fixpencil หรือดินสอกดไส้ขนาดใหญ่ในปี ค.ศ. 1929 เป็นต้น

ในส่วนของปากกานั้น บริษัทเริ่มต้นผลิตปากการุ่นแรกคือ Ecridor ในปี ค.ศ. 1953 โดยเป็นปากกาลูกลื่นก่อน และอยู่ในกลุ่มเครื่องเขียนชั้นสูง (fine writing instruments) โดยเลียนแบบรูปทรงทั้งหมดจากดินสอ ตัวด้ามเป็นทรงหกเหลี่ยม ส่วนที่จับของด้ามปากกาเป็นการตัดเครื่องที่ให้ลวดลายเหมือนดินสอทุกประการ

จากนั้นในปี ค.ศ. 1969 บริษัทจึงออกปากกาลูกลื่นรุ่น 849 เป็นครั้งแรก ซึ่งยึดแนวทางเดียวกับ Ecridor แต่ขายในกลุ่มราคาที่ต่ำกว่า และกลายเป็นสินค้ายอดฮิตหลักของบริษัท เนื่องจากไส้หมึกของปากกาลูกลื่นที่ใหญ่มากและเขียนได้นาน รวมถึงขนาดที่พกพาสะดวก ทำให้หลายๆ คน ชื่นชอบนั่นเอง

Swiss Made
ปากกาในตระกูล 849 ที่มีการพิมพ์ว่า Swiss Made อย่างชัดเจน (ที่มา – บริษัท)

ในปี ค.ศ. 1970 (ปีถัดมา) บริษัทจึงออกปากกาหมึกซึมรุ่นแรกในชื่อรุ่น Madison และหลังจากนั้นก็ออกปากกาหมึกซึมรุ่นอื่นๆ ตามมา (ยกเว้นรุ่น 849 ที่ยังคงมีเฉพาะปากกาลูกลื่นจนกระทั่งเมื่อปี ค.ศ. 2017 กับรุ่น 844 ที่เป็นดินสอกด)

สิ่งที่ทำให้เครื่องเขียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งปากกาของ Caran d’Ache ได้รับการขนานนามว่าเป็นหนึ่งในสุดยอดเครื่องเขียน อยู่ที่ความปราณีตในการประกอบและผลิต นอกจากนั้นยังเป็นเรื่องของคุณภาพวัสดุที่ทำออกมาได้ดีอย่างมากด้วยเช่นกัน ในรุ่นราคาแพง วัสดุของตัวด้ามปากกาจะเป็นโลหะเช่นทองเหลืองที่หนามาก (ทำให้ปากกาหนักกว่าปากกาคู่แข่ง) และในรุ่นรองๆ ลงมาก็ใช้อะลูมิเนียมที่มีคุณภาพสูง ทนทาน และใช้ได้อย่างยาวนานมากด้วยเช่นเดียวกัน

ในรุ่นพิเศษอย่าง 1010 Timekeeper เอง บริษัทเลือกใช้วัสดุคุณภาพสูง และยังคงความปราณีตของงานเอาไว้ ทำให้ปากกามีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นเป็นอย่างมาก และปากการุ่นพิเศษเหล่านี้มักจะมีราคาแพงมาก ทั้งในตอนวางจำหน่ายและในตลาดรอง จนทำให้ขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในปากกาที่มีราคาแพงติดอันดับต้นๆ ของโลก สถานะของปากการุ่นพิเศษเหล่านี้ของบริษัทจึงมีค่าเทียบเท่ากับงานศิลปะ

นอกจากความปราณีตและการเอาใจใส่แล้ว ปากกาของ Caran d’Ache ยังมีการรับประกันที่ไม่เหมือนใครด้วย นั่นก็คือ หากเป็นการซื้อปากกาในกลุ่มตระกูล Office Line (เช่น 849, Alchemix) และที่มีการประดับคริสตัลสวารอฟสกี้ (Swarovski) จะมีระยะเวลาการรับประกันนาน 2 ปี (ถ้าเป็นแบรนด์อื่นโดยทั่วไปเพียง 1 ปี) แต่ที่โดดเด่นมากกว่านั้นคือ หากซื้อปากกาในกลุ่มเครื่องเขียนชั้นสูง (เช่น Ecridor, Varius) จะได้รับการประกันแบบตลอดอายุการใช้งานแบบจำกัด (Limited Lifetime Warranty) ซึ่งถือเป็นไม่กี่แบรนด์เท่านั้นที่มีการรับประกันในลักษณะนี้

ปัจจุบัน บริษัทมีผลิตภัณฑ์ทั้งหมดด้วยกัน 3 กลุ่มหลัก ดังต่อไปนี้

  1. ดินสอและสีต่างๆ ซึ่งมีผลิตภัณฑ์อย่างสีไม้ สีไม้ระบายน้ำ
  2. เครื่องเขียนและอุปกรณ์เสริมในกลุ่มใช้งานในสำนักงาน (Office Line) อันประกอบไปด้วยปากกาในตระกูล 849, Fixpencil, ดินสอกด 844, Alchemix และอุปกรณ์เสริมเช่น สมุดจด 849
  3. เครื่องเขียนและอุปกรณ์เสริมในกลุ่มเครื่องเขียนระดับสูง (Fine Writing Instruments) ซึ่งบริษัทเรียกว่า “Haute Ecriture” ประกอบไปด้วย Ecridor, Leman, Varius และปากการุ่นพิเศษต่างๆ รวมไปถึงอุปกรณ์เสริม เช่น กระเป๋า ซองใส่ปากกา หรือแม้กระทั่งนาฬิกาด้วย
ปากกาลูกลื่น 849
ปากกาลูกลื่น 849 (ที่มา – บริษัท)

ในแต่ละปี ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดเหล่านี้บริษัทจะไม่ค่อยออกรุ่นใหม่ๆ ยกเว้นรุ่นพิเศษที่มักจะมีออกมาทุกๆ ปี โดยเฉพาะปากกาลูกลื่น 849 ที่มีทั้งการออกลวดลายพิเศษ รวมไปถึงความร่วมมือล่าสุดที่จับมือกับ Nespresso นำเอาอะลูมิเนียมเหลือใช้จากแคปซูลกาแฟมาหลอม แล้วทำเป็นปากกา

หรือแม้กระทั่งรุ่น 849 Alexander Girard ที่ขึ้นชื่อเรื่องความสวยงามและเอกลักษณ์ที่งดงามเป็นอย่างยิ่ง ก็เป็นหนึ่งในรุ่นที่ออกมาใหม่เมื่อไม่นานมานี้

แม้บริษัทจะใช้ชื่อเดียวในการทำตลาดทั้งปากกาและดินสอ ทว่าโลโก้ของทั้งสองกลุ่มผลิตภัณฑ์นั้นแตกต่างกัน โดยโลโก้ของกลุ่มดินสอสีและสีระบายต่างๆ จะเป็นชื่อของบริษัทแต่มีลักษณะเขียนเหมือนกับใช้ดินสอเทียนเขียนมากกว่า จนกระทั่งเมื่อปี ค.ศ. 2015 บริษัทจึงปรับเปลี่ยนมาเป็นโลโก้ตัวอักษรในปัจจุบัน และใช้เครื่องหมาย 6 เหลี่ยมที่มีรูกลมตรงกลาง เป็นสัญลักษณ์ประจำเครื่องเขียนของบริษัท ทั้งในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์

ปากกาตระกูล 849 ก็มีความเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยด้วยเช่นกัน เพราะมีการเปลี่ยนทรงคลิปหนีบปากกา หรือแหนบของปากกา ให้มีความโค้งมากขึ้น จากเดิมที่แบนราบขนานไปกับตัวด้าม

ปัจจุบันบริษัทมีสินค้าวางจำหน่ายทั้งหมดกว่า 90 ประเทศทั่วโลก และมีร้านพิเศษ (boutique) ของบริษัทที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จำนวน 3 แห่ง ตั้งอยู่ที่นครเจนีวา 2 แห่ง และนครซูริก 1 แห่ง ส่วนในประเทศไทยมีตัวแทนจำหน่าย 2 บริษัท ประกอบไปด้วย HHK Intertrade ที่เน้นจำหน่ายดินสอสีและกลุ่มปากกาใน Office Line ของบริษัท และ Capital Good Rich (CGR) ที่เน้นการวางจำหน่ายแต่เฉพาะปากกาและเครื่องเขียนชั้นสูง (Haute Ecriture) ทั้งสองบริษัทนี้มีการวางไลน์ของสินค้าซ้อนทับกันอยู่บ้าง แต่ทีมงานพบว่าหากต้องการสรรหาปากการุ่นที่แปลกๆ ใหม่ๆ หรือเป็นรุ่นที่หายากของแบรนด์ CGR จะมีครบกว่า และมักจะได้สินค้ารุ่นพิเศษเร็วกว่าด้วยเช่นกัน ไม่นับเรื่องส่วนลดที่มีเป็นประจำ จนทำให้หลายคนกลายสภาพมาเป็นแฟนานุแฟนของแบรนด์อย่างเหนียวแน่น

[ กลับไปด้านบน ]


รู้จักกับ ปากกาหมึกซึม Caran d’Ache 849

เทียบระหว่าปากกาลูกลื่น 849 และปากกาหมึกซึม 849
เปรียบเทียบระหว่างปากกาลูกลื่น 849 และปากกาหมึกซึม 849

เป็นที่ทราบกันดีในหมู่นักสะสมปากกาว่า หนึ่งในปากกาที่สร้างชื่อให้กับบริษัทฯ มากที่สุดคือปากกาลูกลื่น 849 ด้วยคุณสมบัติที่ทนทาน เล็ก และไส้ปากกาที่มีขนาดใหญ่มาก (บริษัทเรียกว่า ‘Goliath’ โดยโฆษณาว่าสามารถเขียนได้มากถึง 600 หน้ากระดาษ A4) และบรรจุน้ำหมึกได้เยอะมาก ทำให้เขียนได้นาน พร้อมกันนั้นบริษัทยังออกลวดลายใหม่ๆ และเปิดโอกาสให้บริษัทที่ต้องการสั่งผลิต สามารถสั่งพิมพ์ลวดลายที่ตัวเองต้องการได้ ปากการุ่นนี้จึงเป็นปากกายอดนิยมและไปอยู่ในทั่วทุกแห่งหนทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่บริษัทเริ่มผลิตปากกาหมึกซึมในปี ค.ศ. 1970 เป็นต้นมา บริษัทจำกัดตลาดของปากกาหมึกซึมเอาไว้เฉพาะกลุ่มเครื่องเขียนชั้นสูงของบริษัทเท่านั้น รุ่นที่ถูกที่สุดคือ Ecridor ซึ่งราคาจำหน่ายแนะนำอยู่ที่ราวๆ 10,000 บาท (หัวปากกาทำมาจากเหล็กกล้าไร้สนิม) แต่ไม่ได้กระจายลงมายังรุ่นล่างๆ แม้แต่น้อย ที่ใกล้เคียงที่สุดคือรุ่น Dunas ใช้ตัวด้ามเป็นพลาสติก ซึ่งทำได้อยู่ช่วงหนึ่งก็เลิกผลิตไป ปากกาหมึกซึมของแบรนด์นี้จึงเป็นของราคาแพง ที่ใครหลายคนคงยากที่จะเป็นเจ้าของ

จนกระทั่งเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว (ค.ศ. 2017) บริษัทได้เปิดตัว ปากกาหมึกซึม Caran d’Ache 849 อย่างเป็นทางการ (ภาษาอังกฤษคือ 849 Fountain Pen) นับว่าเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 48 ปี ที่บริษัทตัดสินใจเพิ่มรูปแบบการเขียน (writing mode) เข้าไปให้กับปากการุ่นนี้ และถือเป็นรุ่นเสริมให้กับปากกาลูกลื่น 849 ที่วางจำหน่ายอยู่ในปัจจุบัน โดยยังคงรักษาเอกลักษณ์ของการเป็นปากกาที่ผลิตโดยใช้อะลูมิเนียมทั้งด้ามไว้เช่นเดิม

ปากกาหมึกซึม Cran d'Ache 849
ปากกาหมึกซึม Cran d’Ache 849 (ที่มา – บริษัท)

สิ่งที่ทำให้ปากการุ่นนี้ได้รับการกล่าวถึงอย่างมาก มิใช่แค่เรื่องของการออกแบบที่ยังคงลักษณะของความเป็น 849 ทั้งเอกลักษณ์ทรงแท่ง 6 เหลี่ยม เหมือนดินสอ หรือจำนวนสีที่มีมากและโดดเด่นแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของประสิทธิภาพของการเขียนที่เทียบต่อราคาแล้ว ต้องถือว่าอยู่ในระดับดีมากเทียบเท่ากับปากกาหมึกซึมราคาหลักหลายหมื่นบาท และทำให้ได้รับความนิยมในแทบจะทันทีที่บริษัทออกผลิตภัณฑ์ตัวนี้สู่ท้องตลาด

เว็บไซต์จำหน่ายปากกา Goldspot Pens ระบุว่า ประสบการณ์ในการเขียนด้วย ปากกาหมึกซึม Caran d’Ache 849 นับว่าเป็นสิ่งที่น่าประทับใจมาก อยู่ในระดับ A+ ส่วน The Well-Appointed Desk ระบุเช่นกันว่าประสบการณ์เขียนด้วยปากกาด้ามนี้เป็นที่น่าประทับใจ เพราะถึงแม้หัวปากกาจะเป็นเหล็กกล้าไร้สนิม แต่ก็มีความนุ่มนวล ยืดหยุ่นเล็กน้อย และเส้นที่ได้สามารถปรับกับน้ำหนักที่เขียน (line variation) ทำให้ประสบการณ์ที่ได้อยู่ในระดับน่าประทับใจ

อาจกล่าวได้ว่า ด้วยคุณภาพและเอกลักษณ์เช่นนี้ ทำให้ปากการุ่นนี้จึงกลายมาเป็นปากกายอดนิยมของผู้ที่ชื่นชอบปากกาหมึกซึมทั่วโลกได้อย่างไม่ยากเย็นนัก

[ กลับไปด้านบน ]


รายละเอียดทางเทคนิค ปากกาหมึกซึม Caran d’Ache 849

  • ความยาวด้ามปากกา (ปิดปลอก): 14.1 ซม.
  • ความยาวด้ามปากกา (เสียบปลอกขณะใช้): 17.8 ซม.
  • ความยาวด้ามปากกา (ไม่มีปลอกปากกา): 12.3 ซม.
  • เส้นผ่านศูนย์กลางตัวด้าม: 13.1 มม.
  • กลไกการเก็บหรือเติมหมึก: รองรับหมึกหลอดหรือหลอดสูบหมึก ที่ใช้มาตรฐานนานาชาติ (standard international size)
  • วัสดุที่ใช้สำหรับตัวด้าม: อะลูมิเนียม
  • วัสดุที่ใช้สำหรับหัวปากกา: เหล็กกล้าไร้สนิม (stainless steel)
  • รุ่นย่อยที่วางจำหน่าย: มีสีขาว, น้ำเงิน, ส้ม, เหลือง, ชมพูเข้ม, เขียว และสีดำ
  • ขนาดหัวปากกาที่วางจำหน่าย: Extra Fine, Fine และ Medium
  • น้ำหนัก: 18 กรัม (ไม่ใส่หมึก)

รุ่นที่ทางไรท์ติ้งอินไทยได้ซื้อมาเพื่อการรีวิวนี้ เป็นสีฟ้าสีน้ำเงินที่ออกมาในช่วงแรก หัวปากกาเป็นขนาด Fine (F) และมีหมึกหลอดสีฟ้า (Caran d’Ache Chromatics Idyllic Blue) แถมมาในกล่อง 1 หลอดด้วย ไม่มีแถมที่สูบหมึกมาให้ หากท่านต้องการซื้อที่สูบหมึกต่างหาก ท่านสามารถซื้อใช้งานคู่กันได้

ปากกาหมึกซึม Caran d'Ache 849

ปัจจุบันในประเทศไทย ปากการุ่นนี้มีวางจำหน่ายแล้ว ผู้นำเข้าคือ Capital Good Rich (CGR) ซึ่งมีวางจำหน่ายตามเคาน์เตอร์ปากกาในห้างสรรพสินค้าชั้นนำ ทั้งเอ็มโพเรียม สยามพารากอน เซ็นทรัลชิดลม ห้างอิเซตัน เป็นต้น โดยมีราคาจำหน่ายอยู่ที่ 2,400 บาท ซึ่งปกติแล้วจะมีส่วนลดให้อยู่ที่ 15% แต่ในบางเทศกาล (เช่น ในการออกร้านที่ Bonjour France 2018) ส่วนลดจะอยู่ที่ 30% ซึ่งทำให้ราคาของปากกาเหลืออยู่ที่ 1,680 บาทเท่านั้น และหากท่านต้องการใช้หลอดสูบหมึกของแบรนด์ ท่านสามารถซื้อได้แยกต่างหากที่ราคา 450 บาท แต่ถ้าซื้อพร้อมปากกาจะได้ส่วนลดไปด้วย

ราคานี้ถือว่าสูงพอสมควรเมื่อเทียบกับปากกาตัวอื่นๆ ในท้องตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อถูกตั้งการตลาดว่าเป็นปากกาในระดับเริ่มต้นของใครหลายๆ คน แต่ประสบการณ์ที่ได้รับนั้น ทีมงานเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าคุ้มค่ากับเงินทุกบาทที่ท่านเสียไปอย่างแน่นอน

[ กลับไปด้านบน ]


บรรจุภัณฑ์และตัวปากกา

“เป็นปากกาที่ยังรักษากรรมพันธุ์ (DNA) ของปากกาลูกลื่น Caran d’Ache 849 เอาไว้ทุกมิติ”

กล่องของปากกาหมึกซึม Caran d’Ache 849 เป็นกล่องประกบคู่แบบดึงออกจากด้านบนทำจากกระดาษแข็ง มาในสีแดงสดใส พร้อมกับโลโก้ของบริษัทเป็นสีขาวตัดอยู่บนฝากล่อง

ส่วนด้านล่างของกล่องเป็นสีขาว พร้อมกับมีการแปะข้อมูลและรหัสแท่ง (barcode) เอาไว้ เมื่อเปิดกล่องออกมาจะเจอตัวปากกาและหมึกหลอดแถม (ในภาพไม่ปรากฎตัวหลอดหมึกแถม เนื่อจากทีมงานใช้ไปแล้ว)

ด้านข้างของกล่องมีสัญลักษณ์รูป 6 เหลี่ยม มีวงกลมตรงกลาง แทนสัญลักษณ์ของบริษัทที่เปลี่ยนเมื่อปี ค.ศ. 2015

ตัวปากกามีลักษณะหกเหลี่ยม (hexagonal) อันเป็นเอกลักษณ์ของปากกาและเครื่องเขียนจากบริษัทที่เลียนแบบดินสอ วัสดุทำมาจากอะลูมิเนียมแล้วพ่นสี สวยโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ไม่ทิ้งเอกลักษณ์ปากกาลูกลื่นรุ่น 849 แม้แต่น้อย

แหนบปากกามีการติดยึดเข้ากับตัวฝาปลอกปากกา และมีความโก่งตัวเล็กน้อย ด้านใต้ของคลิปมีการพิมพ์เป็นสีขาวไว้ว่า “849 Caran d’Ache” และเหนือแหนบปากกามีคำว่า “Swiss Made” พิมพ์ติดอยู่

ปากกาหมึกซึม Caran d'Ache 849
ปากกาหมึกซึม Caran d’Ache 849
Swiss Made
Swiss Made

ตัวปากกามีน้ำหนักที่เบาและมีขนาดที่สอดรับกับมือค่อนข้างพอดี แต่ตัวด้ามมีขนาดที่ยาวพอสมควร หากเทียบกับปากกาอื่นๆ อย่างเช่น Montblanc Meisterstück 149 ขนาดของปากกาจะสั้นและผอมกว่าเล็กน้อย

เปรียบเทียบขนาดปากกา (จากบนลงล่าง) ระหว่าง Meisterstück 149, Montblanc Classique (145 เดิม) และ Caran d'Ache 849 Fountain Pen
เปรียบเทียบขนาดปากกา (จากบนลงล่าง) ระหว่าง Meisterstück 149, Montblanc Classique (145 เดิม) และ Caran d’Ache 849 Fountain Pen

ส่วนหัวของปลอกปากกามีตราสัญลักษณ์ 6 เหลี่ยม ส่วนที่ตัวด้ามจะเป็นเหล็กกลมๆ มีช่องให้ใส่ปลอกปากกาเขียนในแบบสวมปลอกขณะเขียน (posted) ได้

เมื่อเปิดออกมา จะพบว่าส่วนบริเวณที่จับ (grip section หรือเรียกกันสั้นๆ ว่า section) จะลดระดับลงจากตัวด้ามอย่างรวดเร็วและมีขนาดที่เล็ก บางคนอาจจะไม่ชอบเพราะทำให้จับได้ไม่สบายนัก แต่กับทีมงานถือว่าทำได้พอดี วัสดุที่จับทำมาจากพลาสติก ส่วนตัวฝาปลอกจะมีลิ้นยื่นออกมา เพื่อให้เสียบกับด้านท้ายของตัวด้ามปากกาได้ และสิ่งที่โดดเด่นที่สุดคือหัวปากกา (ทีมงานใช้เป็นไซส์ F) มีการประทับตราหกเหลี่ยมของแบรนด์ พร้อมตัวอักษรบ่งบอกถึงขนาดเส้น ใช้วัสดุเป็นเหล็กกล้าไร้สนิม (stainless steel)

ลักษณะหัวค่อนข้างแบนราบ ไม่มีส่วนโค้งใดๆ

เทียบให้เห็นกับอีกสี คือสีดำครับ ซึ่งมีดีไซน์ลักษณะเหมือนกันทุกประการ ต่างกันแค่สีที่เป็นสีดำด้านแบบเดียวกับสีน้ำเงิน ขณะที่สีอื่นจะเป็นสีเงาและสีจัดจ้านกว่านี้

อย่างที่ได้กล่าวซ้ำแล้วซ้ำอีก ตัวปากกาสร้างขึ้นด้วยการคงลักษณะทางกรรมพันธุ์ (DNA ในที่นี้คือการออกแบบ) ไม่ต่างจากปากกาลูกลื่น 849 จุดที่ต่างกันอย่างชัดเจนนอกจากวิธีการเขียนแล้ว ก็คงเป็นขนาดที่จะใหญ่กว่าเล็กน้อยตามลักษณะของปากกาหมึกซึมโดยทั่วไป

[ กลับไปด้านบน ]


ทดสอบใช้งานจริง

ปากกาหมึกซึม Caran d'Ache 849

ในการทดสอบใช้งานจริง ทีมงานใช้ปากกาหมึกซึม Caran d’Ache 849 ควบคู่ไปกับหมึก Montblanc Permanent Black ซึ่งเป็นหมึกปากกาหมึกซึมสีดำอมเทาแบบติดทนและมีความหนืดมากกว่าหมึกปากกาหมึกซึมโดยทั่วไป ส่วนกระดาษที่ใช้งานเป็นของแบรนด์ Quality ที่ขนาด A4 ความหนา 80 gsm อันเป็นกระดาษที่ใช้ตามสำนักงาน

ตัวอย่างงานเขียน
ตัวอย่างงานเขียน

ทีมงานสามารถกล่าวได้อย่างเต็มที่ว่า นี่เป็นปากกาอีกหนึ่งด้ามที่เขียนได้ดีมาก เขียนได้ลื่น ไม่ฝืด และมีช่วงการเขียนที่น่าประทับใจ รวมถึงหัวปากกาที่มีความยืดหยุ่นในระดับหนึ่ง ทำให้สามารถได้ลูกเล่นในการเขียนมากพอสมควร ประสบการณ์ในการเขียนนั้นดีไม่แพ้ปากการุ่นใหญ่อย่าง Montblanc Meisterstück 149 หรือ LAMY 2000 แม้แต่น้อย เรียกว่าทำผลงานได้อย่างน่าประทับใจ

ในเชิงการจ่ายน้ำหมึก ปากการุ่นนี้ทำได้ดี ไม่แห้งจนเกินไป (ขึ้นกับหมึกที่ท่านใช้ด้วย) ส่วนเรื่องการจับใช้งาน ต้องบอกว่าทำมาได้ดี ให้น้ำหนักที่เหมาะสมบนมือ อย่างไรก็ตามในตอนเขียนหากใช้วิธีเสียบหัวปากกา ตัวด้ามจะยาวเกินไปและเสียสมดุลได้ คำแนะนำคือให้เขียนโดยไม่ต้องเสียบปลอกปากกาที่ด้านท้ายแต่อย่างใด

แม้จะเป็นปากกาที่ใช้ได้สารพัดหมึก ทีมงานก็พบปัญหาโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับหมึกจาก Noodler’s ที่ในระยะสั้น จะทำให้เกิดหมึกไปเลอะที่หัวปากกา (nib creep) เป็นทาง แลดูไม่สวยเวลามอง ส่วนในระยะยาวคือการที่ปากกาจะไม่สามารถจ่ายหมึกไปที่หัวปากกาได้ กล่าวคือหมึกจะลงที่รางจ่ายหมึกปกติ แต่พอถึงตัวหัวปากกา หมึกจะหยุดอยู่แค่นั้น ซึ่งถ้าไม่จุ่มหัวปากกาในหมึกที่เติม ก็ต้องใช้กระดาษหรือแผ่นฟอยล์บางๆ พยายามลากหมึกลงมาจนถึงปลายหัวที่สัมผัสกับกระดาษ คำแนะนำของทีมงานจึงเป็นว่า ถ้าไม่จำเป็นอย่าใช้หมึกจาก Noodler’s กับปากการุ่นนี้โดยเด็ดขาด

สำหรับการดูแลรักษานั้นก็สามารถทำได้ง่าย ขอแค่อย่าหล่นกระแทกก็เป็นอันพอ หนึ่งในทีมงานที่มีปากการุ่นนี้ทำหล่นจนทำให้ส่วนที่จับปากกาตอนเขียนแตกออกมาแล้วทั้งที่ปิดตัวด้ามอยู่

[ กลับไปด้านบน ]


สรุป

ปากกาหมึกซึม Caran d’Ache 849 เป็นหนึ่งในปากการะดับเริ่มต้น (entry range) ของแบรนด์ที่น่าประทับใจเป็นอย่างยิ่ง ประสบการณ์ในการเขียนทำได้ดีจนน่าประทับใจไม่แพ้กับปากการาคาแพงแม้แต่น้อย ทีมงานประทับใจกับปากกาด้ามนี้เป็นอย่างมาก

ในเชิงประสบการณ์ของการเขียน หัวปากกามีความยืดหยุ่น เขียนได้นุ่ม ลื่น ไม่มีอาการกัดกระดาษเลยแม้แต่น้อย ส่วนเรื่องการจับใช้งานนอกจากส่วนที่จับ (grip section) ที่อาจจะขัดใจและตัวด้ามเวลาใช้อาจจะยาวไปหน่อยถ้าเสียบปลอกด้านหลังตัวด้าม ก็ไม่มีส่วนอื่นใดเป็นปัญหา ทรงหกเหลี่ยมของปากกาที่ไม่กลมไม่ทำให้เมื่อยมือในเวลาเขียน เรียกว่าปากกาออกแบบมาได้สมบูรณ์

แต่สำคัญที่สุดคงเป็นเรื่องของประสบการณ์ในการเขียนที่ทำออกมาได้น่าประทับใจมาก เพราะเขียนออกมาได้ดีมากพอๆ กับปากการาคาแพงหลักหมื่นในตลาด เทียบได้กับ Montblanc Meisterstück 149 ที่ทีมงานมีอยู่ และเหนือกว่า Montegrappa Parola อย่างมาก ทำให้ทีมงานหลักของไรท์ติ้งอินไทย ใช้ปากกานี้เป็นประจำจนกลายเป็นปากกาประจำตัวไปโดยปริยาย เป็นด้ามโปรดที่ขาดไม่ได้ แม้จะมีปากกาอีกกี่ด้ามที่ใช้ได้ก็ตาม

แต่ถ้าพิจารณาว่านี่เป็นปากการะดับเริ่มต้นของแบรนด์ ก็นับว่าเป็นปากกาที่มีราคาสูงเอาเรื่อง (ด้ามละ 2,400 บาท) ปากกาหัวทองคำอย่าง Platinum Vicoh (PTL-5000A) มีราคาที่ถูกกว่านี้เกือบๆ ถึง 1,000 บาท ดังนั้นเหตุผลที่ซื้อจำไม่ใช่เรื่องของการเขียนอย่างเดียว แต่อยู่ที่เรื่องของดีไซน์ การออกแบบ และความทนทานของปากกา รวมถึงบริการหลังการขายที่น่าประทับใจ

หากต้องการปากกาในกลุ่มเริ่มต้นที่เขียนดี และมีราคาที่ถูกกว่านี้ ทีมงานขอแนะนำปากกาอย่าง Pelikan Twist, Pilot Kakuno, Faber-Castell LOOM, TWSBI Eco, Kaweco Sport หรือแม้กระทั่ง Jinhao 950 ซึ่งถือเป็นปากกาคู่แข่งโดยตรงที่เขียนได้ดี ใช้หัวเป็นเหล็กกล้าไร้สนิม และมีราคาที่ถูกกว่า

แต่ทีมงานเชื่อว่า ด้วยประสบการณ์เขียนของปากกาหมึกซึม Caran d’Ache 849 ที่เทียบเคียงเท่ากับปากการาคาแพงตัวอื่นๆ ในตลาดได้ ทำให้คู่แข่งเหล่านั้นคงเทียบเท่าได้ยาก และเป็นหนึ่งในปากกาที่น่าประทับใจ คำแนะนำของทีมงานคงเป็นว่าหากท่านต้องการซื้อปากกาด้ามนี้ ให้พยายามติดตามการประกาศจากตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย ซึ่งจะมีงานลดราคาเป็นระยะ และเป็นจุดคุ้มที่สุดในการจะได้ปากกาด้ามนี้มาเป็นเจ้าของครับ

[ กลับไปด้านบน ]


วิดีโอรีวิว

[ กลับไปด้านบน ]


แหล่งข้อมูลและเครดิตรีวิว

  • ภัทรนันท์ ลิ้มอุดมพร (เรียบเรียง)
  • ศิระกร ลำใย (ถ่ายภาพ)
  • Caran d’Ache S.A. (ภาพประวัติศาสตร์และข้อมูล)

ความเห็นภาพรวม

หนึ่งในปากกาหมึกซึมที่ให้ประสบการณ์เขียนที่ดีที่สุดด้ามหนึ่งของโลก ไม่แพ้ปากกาดีๆ ระดับหลักหลายหมื่นบาท การออกแบบอาจจะยังขาดๆ เกินๆ บ้าง ส่วนราคาถือว่าสูงเอาเรื่องในระดับเดียวกัน
ทีมงานไรท์ติ้งอินไทย
ทีมงานไรท์ติ้งอินไทย
Writing in Thai (ไรท์ติ้งอินไทย) เว็บไซต์รวบรวมเรื่องราวของ ปากกา ปากกาหมึกซึม และเครื่องเขียนอื่นๆ สำหรับคนรุ่นใหม่ มีทั้งปากกาหมึกซึม ดินสอ ปากกาลูกลื่น ข่าว อัพเดต ความรู้ หมึก การเขียน รีวิว เทคนิค สาระและความรู้

เนื้อหายอดนิยม

ติดตามเราบน Facebook

หนึ่งในปากกาหมึกซึมที่ให้ประสบการณ์เขียนที่ดีที่สุดด้ามหนึ่งของโลก ไม่แพ้ปากกาดีๆ ระดับหลักหลายหมื่นบาท การออกแบบอาจจะยังขาดๆ เกินๆ บ้าง ส่วนราคาถือว่าสูงเอาเรื่องในระดับเดียวกันรีวิว ปากกาหมึกซึม Caran d'Ache 849 สุดยอดปากกาเขียนดีที่เข้าถึงได้