ที่ผ่านมา ไรท์ติ้งอินไทย ได้รีวิวปากกาหมึกซึมมาพอสมควร ซึ่งทุกรุ่นต่างมีเอกลักษณ์ของตัวเองแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็น Pilot Vanishing Point ที่มีสไตล์ของการกดใช้งานที่ไม่เหมือนใคร หรือ Leonardo Momento Zero ที่ทำผลงานได้น่าประทับใจ แต่สำหรับ Pilot Falcon (Elabo) ที่อยู่ในรีวิวนี้ นับว่าเป็นความต่างออกไป เนื่องจากเป็นปากกายอดนิยมของใครหลายคน และหัวเขียนที่มีความยืดหยุ่นสูง ไม่เหมือนใคร และนับว่าเป็นปากกาที่ได้รับความนิยมสูงมากทั้งในโลกตะวันออกและตะวันตก
หลังจากทดสอบกันมาหลายเดือน ทีมงานจึงขอนำเสนอรีวิวปากการุ่นนี้ให้กับทุกท่านครับ
รู้จักกับ Pilot Falcon ปากกาหมึกซึมยอดนิยม
ไรท์ติ้งอินไทย เคยรีวิวปากกาจาก Pilot Corporation บริษัทผู้ผลิตปากกาเก่าแก่จากญี่ปุ่นอยู่บ้าง โดยบริษัทเพิ่งประกาศฉลองครบรอบ 100 ปี พร้อมออกรุ่นพิเศษเมื่อไม่นานมานี้ โดยมีทั้งแบรนด์หลักที่ใช้ชื่อบริษัทในการทำตลาด และ Namiki ซึ่งเป็นแบรนด์ลูก ผลิตปากกาชั้นสูงจนถึงระดับงานศิลปะ จับตลาดกลุ่มคนที่ต้องการปากกาในฐานะงานศิลปะ บริษัทก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1918 และผลิตเครื่องเขียนหลากรูปแบบ จับในทุกกลุ่มตลาดที่สำคัญ
สำหรับ Pilot Falcon ถือเป็นปากกาอีกรุ่นของบริษัท ในประเทศญี่ปุ่นใช้ชื่อทำตลาดว่า Pilot Elabo เริ่มทำตลาดครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1978 (ผลิตมานานกว่า 40 ปี) ออกแบบมาให้มีลักษณะพิเศษคือหัวปากกามีความนุ่มเป็นพิเศษ (soft) แทบจะเหมือนกับปากกาหัวยืดหยุ่น (flex) แบบที่เคยพบเห็นในปากกาหมึกซึมโบราณ (vintage flex) เพื่อให้เขียนอักษรภาษาญี่ปุ่นได้สวยงาม ทำจากทองคำ 14 กะรัต ผลก็คือหัวปากกาที่เป็นเอกลักษณ์และมีลักษณะที่ไม่เหมือนใคร
แต่เดิมปากการุ่นนี้ทำตลาดในชื่อ Namiki Falcon/Elabo และใช้สีทองตัดกับสีดำ (แบบเดียวกับ Montblanc Bohème หรือ Sailor 1911) จนกระทั่งถึงช่วงปี ค.ศ. 2010 ทางบริษัทจึงทำการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ (เช่น การใส่แผ่นโลหะกลมเข้ามาด้านบนของปลอก) และเริ่มทำตลาดในแบรนด์ Pilot ซึ่งเป็นแบรนด์ระดับล่างของบริษัทแทน พร้อมกับการเพิ่มหัวอย่าง SEF (Soft Extra-Fine), เปลี่ยนโลหะเคลือบจากทองคำเป็นโรเดียม และเพิ่มรุ่นที่ตัวด้ามเป็นโลหะออกมาแทน (เปลี่ยนอย่างช้าๆ จนถึงปี ค.ศ. 2014)
ปัจจุบันปากกามีสองรุ่นย่อย คือ Resin ซึ่งเป็นรุ่นดั้งเดิม มีสีดำและสีแดง (รหัสเป็น FE-18SR) ใช้ได้เฉพาะหลอดหมึกกับหลอดสูบหมึก CON-40 และ Metal ที่ใช้วัสดุหลักของด้ามเป็นโลหะ (รหัสเป็น FE-25SR) ใช้ได้ทั้งหลอดหมึกกับหลอกสูบหมึก CON-40 และ CON-70 ที่สามารถจุหมึกได้มากกว่า มีทั้งสีดำ สีแดง สีฟ้าอ่อน และสีน้ำตาล
ปากการุ่นนี้ได้รับการขนานนามว่าเป็นปากกายอดนิยมทั้งในฝั่งเอเชียและตะวันตก เนื่องจากคุณสมบัติของหัวปากกาที่ยืดหยุ่นได้เกินกว่าหัวปากกาปกติทั่วไป ทำให้ได้ความต่างของเส้น (line variation) ที่มากกว่าปากกาอื่นๆ อยู่พอสมควร มากกว่านั้นคือการที่มีคนไปปรับแต่งปากกาให้สามารถยืดหยุ่นได้มากกว่าปกติ (Spencerian customization) จนแทบจะกลายเป็นปากกาหัวยืดหยุ่นแบบสมัยก่อน
ทีมงานไม่แนะนำให้ทดลองทำเช่นนี้กับปากกาของท่านเด็ดขาด เนื่องจากหัวทองคำ 14 กะรัต มีความอ่อนนุ่มมาก หากใช้น้ำหนักกดมากเกินไป จะทำให้หัวปากกาเสียรูปไปอย่างถาวร ซึ่งถ้าต้องเสียค่าซ่อม การซื้อด้ามใหม่อาจมีราคาที่ถูกกว่า และหากต้องการส่งปากกาไปแก้ไขหัวให้เป็นแบบในวิดีโอดังกล่าว โปรดระวังว่าการทำเช่นนี้จะไม่อยู่ในการรับประกัน และมีโอกาสที่หัวปากกาจะเสียหายถาวรได้เช่นกัน
สำหรับรุ่นที่อยู่ในรีวิวนี้ เป็นรุ่นที่ทำจากเรซินแบบดั้งเดิม (FE-18SR-B) และเป็นรุ่นที่วางจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่น (ป้ายชื่อจะใช้ Elabo) ใช้หัวเขียนเป็นขนาดเส้น SF (Soft Fine)
ราคาและสถานที่จำหน่าย
สำหรับปากการุ่นนี้ ราคาวางจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่นอยู่ที่ 18,000 เยน (ไม่รวมภาษีท้องถิ่น) คิดแล้วตกเป็นเงินไทยประมาณ 5,200 บาท สำหรับรุ่นเรซิน และ 25,000 เยน (ไม่รวมภาษีท้องถิ่น) หรือประมาณ 7,300 บาท สำหรับรุ่นที่เป็นโลหะ
น่าเสียดายอย่างหนึ่งว่า ปากการุ่นนี้ไม่มีวางจำหน่ายในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ทำให้เรื่องของการรับประกันย่อมไม่ครอบคลุมตามไปด้วย อย่างไรก็ตามท่านสามารถลองติดต่อกับทาง บริษัท ปากกาไพล็อต (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้
ข้อมูลจำเพาะของปากกา (specification)
- รหัสการผลิต: FE-18SR-B
- ความยาว: 13.7 ซม.
- เส้นผ่าศูนย์กลาง: 1.44 ซม.
- วัสดุในการผลิต: เรซิน
- หัวปากกา: SEF (Soft Extra Fine), SF (Soft Fine), SM (Soft Medium) และ SB (Soft Broad)
- ระบบหมึก: หลอดหมึก และ หลอดสูบหมึกแบบ CON-40 เฉพาะของ Pilot
- น้ำหนัก: 18.3 กรัม
บรรจุภัณฑ์และตัวปากกา
ตัวปากกามาในกล่องพลาสติก กล่องด้านนอกทำมาจากกระดาษแข็งสีเทา มีการพิมพ์ตราสัญลักษณ์ของบริษัทเอาไว้เป็นสีทองในกรอบสี่เหลี่ยมที่ยุบลงไป
กล่องด้านในทำมาจากพลาสติกสีดำ หนา และแข็งมาก ผิดไปจากกล่องปากกาที่เคยรีวิวกันมา ซึ่งมักจะใช้วัสดุที่บุให้อ่อนนุ่ม หรือไม่ก็เป็นไม้หนา
เมื่อเปิดกล่องออก จะพบกับตัวปากกาในซองพร้อมป้าย (tag) ติดที่แหนบว่า “Elabo 14k” (ด้านหลังเป็นบาร์โค้ด) พร้อมกับหลอดหมึกสีดำที่แจกฟรี 1 อัน และคู่มือการบำรุงรักษาปากกา
สำหรับตัวปากกามีขนาดพอๆ กับไซส์ปากกามาตรฐานโดยทั่วไป ไม่ยาวและไม่สั้นมาก รูปทรงคล้ายซิการ์ คือค่อยๆ ขยายขึ้นไปจนเส้นผ่าศูนย์กลางตรงกลางด้ามหนาที่สุด ก่อนที่จะลดลงมาที่ส่วนปลายอีกที นับว่าเป็นดีไซน์ที่คลาสสิกของปากกา ขณะเดียวกันหลายคนอาจจะมองว่าเป็น ‘understated’ หรือไม่โดดเด่นเท่าที่ควร
ปลอกปากกามีวงแหวนสลักลวดลายพิเศษ พร้อมกับระบุอักษรภาษาอังกฤษ “PILOT JAPAN” เอาไว้
แหนบ (คลิบ) ของปากกาออกแบบมาโดยไม่มีลวดลายมาก มีลักษณะปลายเปิดเล็กน้อยเพื่อให้สามารถใส่ในกระเป๋าเสื้อได้สะดวกยิ่งขึ้น
ด้านบนของปลอกปากกาเป็นแผ่นโลหะกลม เคลือบด้วยโรเดียม อันเป็นเอกลักษณ์ประจำรุ่นปรับปรุงในช่วงปี ค.ศ. 2010 – 2014
ตัวด้ามใช้วิธีการหมุนเกลียวเพื่อให้ปลอกหลุดออกมา ก็จะพบกับตัวด้าม ซึ่งเอกลักษณ์ที่เห็นได้ชัดเจนคือส่วนที่จับ (section) ที่ค่อนข้างยาว ทำให้นิ้วไม่จับโดนเกลียว
เอกลักษณ์อีกอย่าง คือหัวปากกาหน้าตาแปลกกว่าปกติ ประทับคำว่า “14K-585 PILOT <SF>” เอาไว้ พร้อมสัญลักษณ์ของบริษัท และเดือนกับปีที่ผลิต (อย่างเช่นในภาพคือ 717 แปลว่าผลิตในเดือนกรกฎาคม ปี ค.ศ. 2017)
ปากกาสามารถเสียบปลอกเขียนด้านหลังได้ (posted) ซึ่งจะได้ความยาวที่กำลังพอดีสำหรับการใช้งาน
เมื่อหมุนตัวปากกาออกมา จะพบกับหลอดสูบหมึก (ในภาพเป็นรุ่น CON-40) ซึ่งสำหรับรุ่นเรซิน จะใส่ได้เฉพาะรุ่น CON-40 เท่านั้น ในอดีตบริษัทเคยมี CON-50 ซึ่งจะมีความจุมากกว่าเล็กน้อย แต่ปัจจุบันเลิกผลิตไปแล้ว
ลัหษณะภายนอกไม่มีอะไรมาก แต่สิ่งที่ประทับใจกับปากกาด้ามนี้เป็นอย่างมากประการหนึ่งคือน้ำหนักที่เบามาก เมื่อเทียบกับปากกาทั่วไปในราคาใกล้เคียงกัน ข้อดีคือพอต้องใช้ระยะยาวก็ไม่ทำให้เมื่อยมาก แต่ข้อเสียก็คงเป็นว่าอาจจะเบาจนดูเป็นปากการาคาถูกไปเสียหน่อย (ถ้าคำนึงว่าราคาค่าตัวของปากการุ่นนี้อยู่ที่ราว 5,200 บาท)
ทดลองเขียนและใช้งานจริง
ทีมงานทดสอบเขียนปากกาด้ามนี้บนกระดาษ A4 ความหนา 80 แกรม ไม่ทราบยี่ห้อ และใช้หมึก Pilot Iroshizuku Yu-yake สีส้มในการเขียน ผลการทดสอบออกมาเป็นดังนี้
ทีมงานพบว่านี่เป็นหัวปากกาที่มีความนุ่มนวลและปรับตัวเข้ากับแรงเขียนได้ดีที่สุดด้ามหนึ่งเท่าที่ทดสอบมา อย่างไรก็ตามหัวก็ยังแข็งเกินกว่าที่จะเป็นหัวที่ยืดหยุ่น (flex) ตามนิยามของปากกาแบบ vintage flex ซึ่งถ้าใช้แรงขนาดนั้น หัวปากกาอาจมีการเสียหายเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน ทีมงานจึงไม่แนะนำให้ใช้น้ำหนักแบบจงใจ เพื่อได้ขนาดเส้นที่กว้างที่สุดกับปากกาด้ามนี้ เพราะหัวปากกาทองคำอาจบิดเสียรูปได้
ด้วยความที่ปากการุ่นนี้ มีลักษณะของความยืดหยุ่นและอ่อนนุ่มกว่าหัวปากกาโดยปกติทั่วไป ทำให้เวลาลากปากกาในบางองศา บางจังหวะ รอยตัดที่หัวปากกาสามารถครูดไปกับเนื้อกระดาษ และทำให้รู้สึกว่าหัวปากกาค่อนข้างสาก (scratchy) มากกว่าโดยทั่วไป ซึ่งทีมงานจะเจอกรณีเช่นนี้เมื่อลากปากกาในแนวดิ่ง ทิศทางขึ้น ถ้าท่านเป็นคนติดเขียนอักษรด้วยการลากเส้นขึ้นในแนวดิ่ง อาจจะสัมผัสได้อย่างชัดเจน
การจะได้ขนาดเส้นที่มีความกว้างกว่าปกติจริงๆ ผู้เขียนต้อง “จงใจ” เท่านั้น เพื่อให้ได้ขนาดเส้นแบบนั้น ไม่ว่าจะเป็นการลากในแนวระนาบหรือแนวดิ่ง และขนาดเส้นที่ได้สามารถลากยาวไปถึง Broad ได้ โดยที่รางจ่ายหมึก (feed) จ่ายหมึกออกมาได้ ไม่มีปัญหาอะไรครับ
ส่วนการเขียนโดยทั่วไปถือว่าทำได้ดี น่าประทับใจ แต่ต้องปรับตัวให้ชินกับปากกาด้ามนี้ ทีมงานใช้ปากกาด้ามอื่นมาก่อน พอมาเจอด้ามนี้ก็จำเป็นที่จะต้องปรับตัว โดยเฉพาะการกดน้ำหนักที่ต้องฝึกให้มาก (จะได้ไม่ทำหัวปากกาพัง)
ในมิติอื่นๆ ปากกาด้ามนี้สามารถพกพาไปใช้งานที่ไหนก็ได้อย่างสะดวก เนื่องจากน้ำหนักเบา และเมื่อเขียนไปนานๆ ก็ไม่เมื่อยง่ายแต่อย่างใด เรียกว่าทำงานได้ดีน่าประทับใจ การกระจายตัวของน้ำหนักถือว่าสมดุลครับ ไม่หนักไปทางใดทางหนึ่งเป็นการเฉพาะ
จุดอ่อนสำคัญ และถือเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับปากกาด้ามนี้ อยู่ที่เรื่องของ “หลอดสูบหมึก” แบบ CON-40 ซึ่งสามารถจุหมึกได้เพียง 0.4 มิลลิลิตร (เพื่อเทียบให้เห็นภาพ หลอดหมึกปกติแบบ International Standard มีความจุที่ 0.7 มิลลิลิตร) และนั่นทำให้ตลอดการรีวิวหลายเดือนที่ผ่านมา ทีมงานต้องเติมหมึกบ่อยมากสำหรับปากกาด้ามนี้ จนเป็นเรื่องน่ารำคาญใจ และพบว่าทางออกอันหนึ่งคือการนำเอาหลอดหมึกแบบใช้แล้วทิ้งที่ใช้แล้ว กลับมาเติมหมึกใส่เข้าไปใหม่ แทนที่จะใช้หลอดสูบหมึก
สรุป
โดยภาพรวม Pilot Falcon (Elabo) Resin ที่รีวิวนี้ถือว่าทำผลงานได้ดีพอสมควร ถ้าใช้เป็นปากกาทั่วไปก็ต้องบอกว่าออกมาได้ดี แต่ด้วยความที่หัวเป็นลักษณะ soft ทำให้การเขียนในบางมุมและท่วงท่าอาจรู้สึกสากๆ หรือขัดๆ เหมือนกันเขียนได้ดีในบางมุม แต่ดีมากก็คงไม่อาจกล่าวได้ เรียกว่าดีไม่สุดอาจจะเหมาะสมกว่า
เรื่องของความยืดหยุ่นของหัวปากกา ซึ่งนำมาสู่ความหนาและบางของเส้น ตัวนี้ต้องถือว่ายังอยู่ในระดับแค่ semi-flex เท่านั้น ไม่ใช่แบบ vintage flex ที่สามารถปรับไปตามน้ำหนักมือ และเหมาะสมกับการเขียนตัวอักษรแบบศิลปะ (calligraphy) ที่ต้องอาศัยแรงกดเยอะมากๆ แต่อย่างใด และอันที่จริงต้องเรียกว่า หัวปากกานี้ออกแบบมาสำหรับตัวอักษรอย่างภาษาญี่ปุ่น ภาษาจีน ที่มีลักษณะของการเขียนซึ่งต้องอาศัยลายเส้นแบบพู่กันมากกว่า และปากการุ่นนี้ก็ออกแบบมาเช่นนั้น
สำหรับเรื่องของน้ำหนักถือว่าทำออกมาได้ดี แต่การออกแบบค่อนข้างติดน่าเบื่อ และดูไม่มีเอกลักษณ์มาก (understated) แต่จุดที่เป็นข้อด้อยอย่างมากสำหรับรุ่นนี้คือเรื่องของหลอดสูบหมึกที่จุได้น้อยมาก น้อยจนอยู่ในระดับที่เรียกว่า ไม่น่าจะเหมาะสมกับการเอาออกไปใช้นอกบ้านเป็นระยะเวลานานๆ ไม่เช่นนั้นก็ต้องหมั่นตรวจสอบหมึกเป็นประจำ จะได้ไม่เกิดเหตุการณ์หมึกหมดครับ
อีกจุดหนึ่งที่ควรพิจารณาคือ ปากการุ่นนี้ไม่มีวางจำหน่ายในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ถ้าเกิดเสียหรือมีเหตุที่ต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ขึ้นมา อาจจะเป็นอุปสรรคสำคัญครับ
ข้อดี | ข้อเสีย |
หัวปากการองรับแรงกดได้ ขนาดเส้นปรับตาม | การออกแบบที่ไม่มีอะไรโดดเด่น |
น้ำหนักเบา | หลอดสูบหมึกที่จุหมึกได้น้อยมาก |
เขียนในบางจังหวะแล้วรู้สึกขูดขีด ไม่นุ่มนวล |
เครดิต
ข้อมูล: Fountain Pen Network, The Goulet Pen Company (1, 2), Pen-info.jp, Nibs.com, The Nibsmith, The Pen Addict, On Fountain Pens
เรียบเรียงและภาพถ่าย: ภัทรนันท์ ลิ้มอุดมพร
สถานที่: The FIRST Lounge, โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท
You must be logged in to post a comment.