กลับมาอีกครั้งสำหรับรีวิวหมึกปากกา Sailor จากฮิโรชิม่า ญี่ปุ่น คราวนี้ผู้เขียนเลือกหมึกสีน้ำเงิน Sailor Blue แบบหมึกหลอด (Ink cartridge) มาให้รับชมกัน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกสำหรับผู้ที่ใช้ปากกาของ Sailor รวมถึงผู้ที่ต้องการใช้หมึกปากกาสีน้ำเงินสำหรับการเขียนในชีวิตประจำวัน
ประเภทหมึกปากกาของ Sailor
Sailor Blue นั้นเป็นหนึ่งในหมึกกลุ่มธรรมดา (Basic Ranges) ของทางบริษัทที่มี 4 ได้แก่ สีดำ สีแดง สีน้ำเงิน และสีน้ำเงินดำ มีให้เลือกทั้งแบบขวดขนาด 50 ml. และหลอดหมึก โดยเดิมทีนั้นทำการตลาดในชื่อว่า Jentle Ink ตามที่ปรากฏอยู่บนบรรจุภัณฑ์ที่จะนำมารีวิวกันในครั้งนี้
Sailor ยังมีผลิตภัณฑ์หมึกประเภทอื่นอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นหมึก Pigment Ink ที่ทนทานเป็นพิเศษที่เคยทดสอบความทนทานให้ได้รับชมกันมาแล้ว หมึก Storia ที่เน้นสีสันสวยงามและทนทาน หมึก Shikiori ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากธรรมชาติในญี่ปุ่น และ Ink Studio ที่คิดค้นสีใหม่ ๆ ให้เลือกใช้งาน โดยท่านสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ทางเว็บไซต์ของ Sailor
สถานที่จำหน่าย
ผู้เขียนซื้อหมึกหลอดกล่องนี้จากตัวแทนจำหน่ายปากกา Sailor & Daks ที่อยู่ภายในร้าน BeTrend สาขาสยามพารากอน เมื่อปีที่ผ่านมาในราคาประมาณร้อยกว่าบาท (จำตัวเลขแน่ชัดไม่ได้) ผู้ที่ต้องการใช้หมึกตัวนี้เป็นประจำหรือใช้ปากกาแบรนด์ยี่ห้ออื่น สามารถเลือกหมึกแบบขวดได้เช่นกัน
ผู้เขียนได้สอบถามไปยังตัวแทนจำหน่าย และทราบมาว่าปัจจุบัน (สิงหาคม พ.ศ. 2562) ได้มีการปรับราคาขึ้นมาอยู่ที่ 230 บาท นับว่าเริ่มแพงขึ้นมาอีกระดับเลยทีเดียว
ในกล่องจะมีหมึกหลอดสำหรับปากกา Sailor อยู่ทั้งหมด 12 หลอด หมึกหลอดนี้ไม่สามารถใช้งานกับปากกาหมึกซึมจากผู้ผลิตรายอื่นได้ ซึ่งแตกต่างจากหมึกหลอดที่ใช้มาตรฐานแบบ Standard Ink Cartridge/Converter ที่มีผู้ผลิตเครื่องเขียนและหมึกหลายรายเลือกใช้งาน อย่างเช่น Montblanc Lucky Orange เป็นต้น
ข้อดีของหมึกหลอดประการหนึ่ง คือ สามารถพกพาได้สะดวก จึงเหมาะกับผู้ที่ชื่นชอบใช้ปากกาหมึกซึมในระหว่างการเดินทางท่องเที่ยว ไปทำงานต่างถิ่น โดยไม่ต้องกังวลว่าจะหาหมึกเติมปากกาได้ยาก เพียงพกหมึกหลอดสำรองไว้ก็สามารถเติมได้อย่างสะดวกตามที่ต้องการ ในขณะที่นำมาลองเติมนั้นก็เป็นการใช้งานนอกสถานที่เช่นกัน
หมึกหลอดยังให้ปริมาตรหมึกต่อครั้งที่สูงกว่าการเติมหมึกจากหลอดสูบของ Sailor เอง เนื่องจากไม่ต้องใช้พื้นที่ในการใส่กลไกระบบสูบหมึก ทำให้มีพื้นที่สำหรับจุหมึกมากขึ้น จึงคลายกังวลได้ว่าจะมีหมึกพอสำหรับการเขียนระหว่างการเดินทางโดยที่ไม่จำเป็นต้องพกหมึกสำรองไปมากในการเดินทางแต่ละครั้ง
วิธีการเติมหมึก
วิธีการเติมหมึกก็เพียงนำหมึกหลอดสอดเข้าไปในส่วนท้ายหัวของปากกา (Section) ที่มีรูไว้เสียบหลอดหรือที่สูบหมึกปากกา จากนั้นให้รอสักพักจึงจะพร้อมใช้งาน แต่หากรีบร้อนแบบผู้เขียนก็สามารถบีบหมึกหลอดอย่างเบาเพื่อให้หมึกจ่ายมายังหัวปากกาได้เร็วขึ้น (โปรดระวัง ! หมึกหยดออกมาล้น)
ทดสอบการเขียน
ผู้เขียนใช้สมุดกระดาษถนอมสายตาที่ไม่ทราบยี่ห้อที่พิมพ์ในจีนมาใช้ทดสอบเขียน ควบคู่กับปากกา Sailor 1911s หัวขนาด MF และสแกนภาพโดย Epson L220
หมึกตัวนี้จัดว่าเป็นหมึกสีน้ำเงินมาตรฐานสีหนึ่งที่อยู่คู่กับการเขียนในชีวิตประจำวัน (เช่นเดียวกับสีดำและสีแดง) หมึกสีนำ้เงินถือว่ามีตัวเลือกให้ใช้งานที่หลากหลายมาก แต่หมึกตัวนี้สีจะออกโทนไปทางเข้มคล้ายสีน้ำเงินดำ เมื่อลงน้ำหนักมือที่ปากกามากหรือปากกาจ่ายน้ำหมึกมาก จะให้ความรู้สึกเข้มและให้ Ink sheen ที่ดูเป็นเงาแววคล้ายสีแดง จัดว่าเป็นหมึกที่มีลักษณะบางประการคล้ายคลึงกับ Sailor Sei-Boku ที่เคยรีวิวไปเมื่อปีก่อน แต่ถ้าลงน้ำหนักมือที่ปากกาไม่หนักหรือหมึกจ่ายน้อยก็จะให้สีที่เหมือนสีน้ำเงินเข้มที่คล้ายคลึงกับสีน้ำเงินธงชาติ
หมึกไม่ได้มีความเป็นสีนำ้เงินเข้มหลวง (Royal Blue) อันเป็นสีนำ้เงินหนึ่งที่ผู้ผลิตหลายรายเลือกผลิต อย่าง Pelikan 4001 และ Montblanc ที่เป็นสีน้ำเงินออกม่วงที่ให้ความรู้สึกหรูหรา น่าค้นหา ส่วนตัวผู้เขียนมองว่าหมึกตัวนี้ให้ความรู้สึกที่ดูเคร่งขรึมกว่าหมึกสีนำ้เงินของ Pelikan และ Montblanc
ไม่แน่ใจว่าสีหมึกที่ให้ความรู้สึกต่างกันนั้นเป็นเรื่องของวัฒนธรรมการทำงานญี่ปุ่นและเยอรมันที่แตกต่างกันหรือไม่ ทั้งนี้เป็นสมมติฐานส่วนตัวของผู้เขียนเท่านั้น
การจ่ายหมึกนั้นทำได้อย่างสม่ำเสมอและไม่มีติดขัดอะไร เช่นเดียวกับหมึก Sailor ตัวอื่นที่เคยใช้งาน หมึกอาจมีอาการเส้นแตกเล็กน้อยเมื่อใช้กับกระดาษคุณภาพต่ำหรือกระดาษถ่ายเอกสาร การแห้งใช้เวลาแห้งไม่นานนักจึงเหมาะสำหรับการใช้จดบันทึกขณะเรียนหรือนั่งประชุม ฟังบรรยายต่าง ๆ ที่ต้องการความรวดเร็วในการเขียนเป็นพิเศษ นอกจากนี้ไม่มีกลิ่นหมึกที่รุนแรง
อย่างไรก็ตาม หมึกตัวนี้ไม่มีคุณสมบัติในการกันน้ำแต่อย่างใด เพียงนํ้าแค่หยดเดียว หมึกก็ละลายเป็นสีนำ้เงินแบบธงชาติไปแล้วเรียบร้อย จึงไม่ควรใช้ในการเซ็นเอกสาร หรือใช้ในการเขียนที่ต้องการความคงทน ซึ่งทาง Sailor เองก็ชูจุดเด่นเรื่องความทนทานในหมึกกลุ่ม Pigment Ink แทน
สรุป
Sailor Blue แบบหมึกหลอดนั้น เป็นหมึกสีน้ำเงินเข้มสีหนึ่งที่เหมาะสมกับการใช้เขียนทั่วไปในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการเรียน การงาน หรือการเขียนสัพเพเหระทั่วไป เพราะมีความสุภาพและเป็นทางการของสีที่เหมาะสมในทุกงาน และยังแห้งไว จึงเหมาะกับการเขียนต่อเนื่อง สีที่มีเอกลักษณ์จาก Ink Sheen เฉพาะตัวในแบบของ Sailor จึงนับว่าเป็นสีนำ้เงินที่สวยงามอีกสีหนึ่ง ให้ความเข้มอ่อนได้หลายระดับขึ้นอยู่กับการจ่ายหมึกของปากกาและแรงกด
อย่างไรก็ตาม หมึกตัวนี้ไม่ทนทานต่อน้ำเลย จึงไม่เหมาะกับการเซ็นเอกสารหรือการเขียนที่ต้องการความทนทาน นอกจากนี้ การปรับราคาค่าตัวถือว่าแรงพอสมควร และหมึกสีน้ำเงินยังมีตัวเลือกในตลาดอีกมากมาก หมึกตัวนี้จึงไม่นับว่าเด่นขนาดว่าต้องสรรหามาเป็นเจ้าของนัก
สำหรับหมึกหลอดของเซเลอร์นั้น นับว่าให้ความสะดวกสบายในระหว่างการเดินทางพอสมควร พกพาสะดวก และให้ปริมาตรน้ำหมึกสูง แต่หมึกหลอดก็มีข้อเสียในเรื่องการใช้พลาสติกที่ต้องทิ้งเมื่อหมึกหมด ซึ่งประเด็นการใช้พลาสติกจัดเป็นเรื่องที่ผู้คนให้ความตระหนักขึ้นมากในปัจจุบัน
ข้อดี
- เป็นสีน้ำเงินเข้มอีกสีที่ดูสุขุม มีประกายที่สวยงามเทียบเท่าหมึกในระดับราคาสูงของ Sailor
- แห้งไว
- พกพาไปได้อย่างสะดวก (เฉพาะหมึกหลอด)
ข้อเสีย
- ไม่กันหรือทนทานต่อนำ้
- ราคาที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ความน่าสนใจลดลง
- ใช้ได้เฉพาะกับปากกา Sailor เท่านั้นในแบบหมึกหลอด
สถานที่ – ร้านกาแฟ The Museum ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ หัวหิน
You must be logged in to post a comment.