18 เมษายน 2024
รีวิวรีวิวหมึกรีวิวหมึก Sailor Sei-Boku และ Kiwa-Guro สองหมึกแห่งความทนทานจากแดนอาทิตย์อุทัย

รีวิวหมึก Sailor Sei-Boku และ Kiwa-Guro สองหมึกแห่งความทนทานจากแดนอาทิตย์อุทัย

ที่ผ่านมา ไรท์ติ้งอินไทย ได้รีวิวหมึกปากกาหมึกซึมไว้จำนวนหนึ่งเพื่อนให้ท่านผู้อ่านได้เลือกกัน หมึกเหล่านั้นส่วนมากมักไม่ใช่หมึกกันน้ำ หรือไม่ก็มีคุณสมบัติอย่างมากคือแค่ทนความชื้น แต่รีวิวคราวนี้เป็นหมึกปากกาหมึกซึมกันน้ำสองตัวแรก ผลิตโดย Sailor ผู้ผลิตเครื่องเขียนชั้นนำของญี่ปุ่น นั่นคือหมึก Sei-Boku และ Kiwa-Guro

เกริ่นนำ

สำหรับท่านผู้ที่ใช้ปากกาหมึกซึม ปัญหาหมึกละลาย จางหายไปเมื่อโดนน้ำ เป็นปัญหาที่แทบจะเป็นของคู่กันอยู่เสมอ แต่ด้วยพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่ดีขึ้น ก็ทำให้ผู้ผลิตสามารถผลิตหมึกกันน้ำสำหรับปากกาหมึกซึมออกมาได้ วันนี้ผู้เขียนจึงนำหมึกกันน้ำของ Sailor ทั้งสองสี คือหมึก Sei-Boku และ Kiwa-Guroที่มีอยู่มารีวิว ซึ่งเป็นหมึกที่กันน้ำได้อย่างดี แม้จะโดนน้ำเป็นเวลานานก็ตาม รวมถึงมีคุณสมบัติทนทานต่อแสง (lightproof) เช่นกัน ทำให้สีคงทนอยู่นาน

Sailor เป็นหนึ่งในผู้ผลิตปากกาที่มีชื่อเสียงจากประเทศญี่ปุ่น ด้วยประวัติก่อตั้งมายาวนานตั้งแต่ปี ค.ศ. 1911 และพึ่งฉลองครบรอบ 107 ปี เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ค.ศ. 2018 ที่ผ่านมา บริษัทมีผลิตภัณฑ์เครื่องเขียนหลากหลายและหลายระดับราคา ตั้งแต่เครื่องเขียนที่ราคาไม่แพงไปจนถึงปากการาคาสูงที่ประดุจดังงานศิลปะ โดยผู้ที่สนใจในประวัติของบริษัทสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ (เป็นภาษาญี่ปุ่น)

ผู้เขียนได้เลือกหมึกในกลุ่มสีย้อม (Pigmented Ink) ที่มีคุณสมบัติกันน้ำและแสง เดิมทีหมึกในกลุ่มดังกล่าวมีสีดำ (Kiwa-Guro) และสีน้ำเงินดำ (Sei-Boku) บรรจุอยู่ในขวดทรงลูกข่างขนาด 50 มล. แต่เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาทางบริษัทก็ได้เปิดตัวหมึกสีน้ำเงินดำอีกตัว (Sou-Boku) พร้อมกับขวดหมึกในรูปแบบใหม่ที่เป็นทรงสี่เหลี่ยมในปริมาณเดิม นอกจากนี้ยังมีแบบหมึกหลอด (Cartridge) สำหรับปากกาของ Sailor โดยเฉพาะ

ขวดหมึก Sei-Boku และ Kiwa-Guro
ขวดหมึก Sei-Boku และ Kiwa-Guro (แบบเก่า)

ราคา

ผู้เขียนได้สั่งซื้อมาจากประเทศญี่ปุ่น หมึกรุ่นนี้ทั้งสามสีจะมีราคาจำหน่ายเท่ากันอยู่ที่ขวดละ 2,000 JPY (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) หรือประมาณ 600 บาท ในอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงที่ผู้เขียนซื้อ และไม่รวมค่าส่ง

หมึกดังกล่าวมีราคาจำหน่ายที่ค่อนข้างสูงในไทย โดยวางจำหน่ายอยู่ที่ขวดละ 1,440 บาท และสามารถซื้อได้ที่ตู้ขายปากกา Sailor & Daks ในแผนกเครื่องเขียนของห้างสรรพสินค้าอิเซตัน, เอ็มโพเรียม, พารากอน, เซ็นทรัลชิดลม รวมถึงเซ็นทรัลและเดอะมอลล์ในบางสาขา ผู้อ่านสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่นี่

ขวดหมึกและการใช้งาน

กล่องหมึกแบบเก่าจะมีคำอธิบายการใช้งาน และแสดงถึงภายในขวดหมึกที่มีที่รองรับนำ้หมึก เพื่อความสะดวกในการเติม

ในขวดหมึกแบบเก่าที่เป็นทรงกลมคล้ายลูกข่างนั้น จะมีการออกแบบขวดที่มีที่รองรับหมึก (reservoir) ที่อยู่ในขวดอีกที เราต้องพลิกคว่ำขวดหมึกเพื่อให้หมึกเข้าไปในบริเวณที่รองรับก่อน และพลิกกลับมาก่อนจะเปิดเพื่อเติมหมึก ซึ่งทำให้เราสามารถเติมหมึกได้ง่ายเมื่อมีหมึกน้อยลง แต่ในขณะเดียวกันก็มีข้อเสียที่ว่า หากหมึกเข้ามามากเกินไปก็อาจล้นออกมาได้

เมื่อเราควํ่าแล้วก็พลิกกลับมาเพื่อเปิดขวด ตอนนี้ควรระวังเพราะถ้าหมึกออกมามากก็อาจจะล้นได้

ทดสอบการเขียน Sei-Boku และ Kiwa-Guro

ข้อแนะนำ: ภาพสแกนโดย Epson L220 การปรับสีและความสว่างของจอคอมพิวเตอร์หรือมือถือ มีผลต่อสีที่ท่านได้รับชม

ในการทดสอบครั้งนี้ ผู้เขียนใช้กระดาษถ่ายเอกสาร Double A ขนาด 90 gram เป็นหลัก และเสริมตัวอย่างจากกระดาษ Apica C.D. Notebook ที่เหมาะสำหรับปากกาหมึกซึม และสามารถแสดงให้เห็นถึงเงาและความหนักเบาของสี (Shade & Sheen) ได้ดีกว่า สำหรับปากกาที่ใช้คือ Sailor 1911 Standard หัวปากกาทองคำ 14k ที่ขนาดเส้น H-MF

ทดสอบการเขียนโดยกระดาษใช้ Double A
ทดสอบการเขียนโดยกระดาษใช้ Double A
Sei-Boku กับ Apica C.D. Notebook

หมึกสีน้ำเงินดำ (Sei-Boku) นั้น เป็นหมึกสีน้ำเงินดำที่ให้ความหนักไปทางสีน้ำเงิน (Blue) มากกว่าไปทางโทนสีดำ (Black) โดยในบางครั้งอาจอ่อนจนคล้ายสีน้ำเงินอมเขียว (turquoise) หมึกสามารถให้ความหนักเบาของสีได้เมื่อใช้กับกระดาษที่ดี เมื่อมองไกล ๆ อาจมองเห็นโทนสีแดงได้บ้างจากความหนักเบา (sheen) ของน้ำหมึกที่ออกมา คล้ายกับสีของปากกาลูกลื่นสีน้ำเงิน ส่วนตัวผู้เขียนชอบหมึกตัวนี้เป็นพิเศษในหมึกปากกาสีนำ้เงินที่เคยใช้มา

หมึก Kiwa-Guro กับ Apica C.D. Notebook

สำหรับหมึกสีดำ (Kiwa-guro) นั้นเป็นหมึกสีดำที่ค่อนข้างดำสนิท ผู้เขียนไม่ค่อยเห็นความหนักเบาของสีหมึก (sheen) นัก เมื่อเทียบกับอีกตัว แต่ถ้าหากถือกระดาษออกมาดูก็จะพบว่ามีเงา (shade) ที่เมื่อพลิกไปมาจะให้สีที่คล้ายแกรไฟต์ของดินสอ

หมึกทั้งสองตัวนี้เป็นหมึกที่ค่อนข้างแห้งเร็ว โดยหมึกทั้งสองแห้งสนิทภายใน 5 วินาที (ทั้งนี้ปากกาและกระดาษที่ใช้มีส่วนทำให้แห้งไว) โดยประสบการณ์ใช้งานจริงมาระยะหนึ่ง ผู้เขียนพบว่าหมึกสีดำ (Kiwa Guro) นั้นแห้งเร็วกว่าเล็กน้อย โดยหมึกสีน้ำเงินดำ (Sei-boku) จะให้ความ wet ที่มากกว่า หมึกทั้งสองตัวยังมีการไหลเวียนหมึก (Flow) ที่ดีและไม่ติดขัดในเวลาเขียน และไม่พบอาการเส้นแตก (Feathering) รวมถึงซึมกระดาษน้อยเมื่อเทียบกับหมึกทั่วไป แม้ว่าจะใช้กับกระดาษถ่ายเอกสารธรรมดาก็ตาม โดยในหมึกสีนำ้เงิน (Sei-Boku) มีอาการซึมกับ Double A อยู่บ้าง แต่แทบไม่พบในหมีกสีดำ (Kiwa-Guro)

การกันน้ำและแสง

จุดขายสำคัญของหมึกตัวนี้ที่ทำให้ผู้เขียนซื้อมาใช้งาน คือ คุณสมบัติกันน้ำ ที่สามารถช่วยยับยั้งปัญหาเวลาใช้ปากกาหมึกซึมแล้วเผลอทำน้ำหกใส่ โดนฝน ฯลฯ ที่มักพบในหมึกทั่วไป โดยหมึกทั้งสองตัวนั้นสามารถทนต่อน้ำ (Water resistance) และกันน้ำ (Waterproof) ได้เป็นอย่างดี แม้ว่าจะไม่สมบูรณ์ที่สุด เนื่องจากอาจมีหมึกบางส่วนที่จางออกมา แต่โดยส่วนใหญ่แล้วหมึกยังคงทนต่อน้ำเป็นอย่างดี แม้ว่าจะแช่น้ำทิ้งไว้เป็นเวลาถึง 2 วันก็ตาม แต่ตัวเส้นและข้อความก็ยังอยู่ในลักษณะที่สมบูรณ์ จึงเป็นหมึกที่ท่านสามารถไว้วางใจได้เมื่อต้องการใช้เขียนข้อความสำคัญ การเขียนในเอกสารที่เป็นทางการ หรือแม้แต่การเขียนทั่วไป

ลองแช่นำ้ทิ้งไว้สองวัน ข้อความยังคงอยู่

นอกจากความทนต่อน้ำแล้ว หมึกทั้งสองตัวก็ทนต่อแสง (Lightproof) เช่นกัน แม้ว่าจะเขียนไว้ในกระดาษธรรมดา สีก็ยังคงมีความคงทน ไม่จางหายไปอย่างในกรณีของหมึก Royal Blue ธรรมดาที่เคยรีวิวไว้ ที่สีหมึกจางลงภายหลังการเขียนไม่กี่วัน ซึ่งคุณสมบัติดังกล่าวก็เป็นที่กล่าวถึงและเป็นที่ชื่นชอบของชุมชนผู้ใช้ปากกาในต่างประเทศเช่นกัน

ข้อเสียที่ควรพิจารณาก่อนใช้

หมึกทั้งสองตัวมีข้อเสียในเรื่องของการล้างทำความสะอาดที่ต้องใช้เวลานานกว่าหมึกปกติ และ สามารถทำให้เกิดอาการคราบหมึกติดที่หัวปากกา (nib creep) เมื่อทิ้งไว้เป็นเวลานาน โดยผู้เขียนแนะนำให้เติมเท่าที่ต้องการใช้ หมั่นทำความสะอาดปากกาเป็นประจำ ไม่ควรทิ้งหมึกไว้ในปากกาเป็นเวลานานโดยไม่ใช้งาน รวมถึงไม่แนะนำให้ใช้กับปากกาที่ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ อย่างเช่นปากกา Vintage Pen

นอกจากนี้ หมึกสีดำ (Kiwa-Guro) นั้นมีกลิ่นของเคมีที่รุนแรงมาก ผู้เขียนพบว่ามันมีกลิ่นคล้ายกับสีโปสเตอร์ รวมถึงกลิ่นของน้ำยาล้างห้องน้ำ กลิ่นดังกล่าวสามารถรับรู้ได้ทั้งขณะการเติมหมึกและตอนเขียน แม้กระทั่งเพื่อนผู้เขียนที่นั่งอยู่ข้างกันยังได้กลิ่นที่ชัดเจน จนผู้เขียนต้องเปลี่ยนปากกาที่ใช้ชั่วคราว ดังนั้นหากท่านเป็นผู้ที่ไวต่อกลิ่นและไม่ชอบ หรือมีอาการแพ้ต่อกลิ่นเคมีเหล่านี้ จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้งานหมึกดังกล่าว ส่วนหมึกสีน้ำเงินดำ (Sei-Boku) นั้น ไม่ได้มีกลิ่นที่รุนแรงแต่อย่างไร

ข้อเสียอีกประการ คือ ราคาจำหน่ายในไทยที่ค่อนข้างสูง 

สรุป

หมึกทั้งสองตัวถือเป็นหมึกที่ดีมากสำหรับผู้ที่ต้องการความคงทน และความไว้วางใจในการเขียนที่สำคัญ  ด้วยความทนทานต่อน้ำและแสงที่ทำให้ท่านไม่ต้องกังวลว่าหมึกจะจางหายไป นอกจากนี้ยังมีสีที่เคร่งครึม สุภาพ ให้ความเป็นทางการ เป็นหมึกที่ให้เส้นที่ไม่แตกง่าย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็เป็นความคงทนที่แลกมากับราคาที่สูง และต้องการความระมัดระวังในการใช้งาน การดูแลรักษาปากกาที่มากกว่าปกติ รวมไปถึงกลิ่นเคมีที่ไม่พึ่งปรารถนาสำหรับตัวหมึกสีดำ (Kiwa-Guro)

  • Sei-Boku: 4.5/5 ดาว หักคะแนนที่ราคา และการบำรุงรักษาปากกา
  • Kiwa-Guro: 4/5 ดาว หักคะแนนที่มีกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ ราคา และการบำรุงรักษาปากกา

ติดตามเราบน Facebook

เนื้อหายอดนิยม

บทความที่เกี่ยวข้อง

- Advertisement -