รีวิวรีวิวสมุดแปลนเนอร์การบินไทย ปี 2020: ครบรอบ 60 ปี การบินไทย

รีวิวสมุดแปลนเนอร์การบินไทย ปี 2020: ครบรอบ 60 ปี การบินไทย

ช่วงเวลาปลายปี 2019 หรือ พ.ศ. 2562 ที่กำลังจะผ่านพ้นไปนั้น เป็นช่วงเวลาที่เราจะทบทวนถึงสิ่งที่ผ่านมาตลอดปี และเริ่มต้นหรือตั้งเป้าหมายการดำเนินชีวิตในปีใหม่ที่กำลังจะถึง แปลนเนอร์ หรือไดอารี่ เป็นของอีกชิ้นที่เราสรรหามาใช้งานกันในแต่ละปี ไม่ว่าจะเป็นการจดตารางงาน บันทึก หรือการสะสมก็ตาม สมุดแปลนเนอร์ยังคงเป็นสิ่งหนึ่งที่อยู่ในวิถีชีวิตของใครหลาย ๆ ท่าน แม้ว่ามือถือและอินเตอร์เน็ตจะมีบทบาทมากขึ้นในการบันทึกตารางนัดหมายก็ตาม

ในบทความนี้ ผู้เขียนจะรีวิวสมุดแปลนเนอร์ประจำปี ค.ศ. 2020 ของการบินไทย ซึ่งสายการบินจำหน่ายเป็นของที่ระลึก เป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการใช้สมุดแปลนเนอร์ประจำปี หรือเป็นของสะสมสำหรับผู้ที่ชอบในการบินไทย เป็นต้น

ประวัติการบินไทย

การบินไทย (Thai Airways International) เป็นสายการบินแห่งชาติที่ดำเนินการในรูปแบบรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงคมนาคม ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2503 โดยร่วมทุนระหว่าง บริษัท เดินอากาศไทย จำกัด กับสายการบินสแกนดิเนเวียน แอร์ไลน์ ซิสเต็ม (SAS) ซึ่งภายหลังได้โอนหุ้นทั้งหมดแก่ บจก. เดินอากาศไทย และมีกระทรวงการคลังเข้ามาถือหุ้นเพิ่มทุน ต่อมาได้เข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เมื่อปี พ.ศ. 2534 โดยมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นสูงสุด การบินไทยจะเข้าสู่ปีที่ 60 ของการดำเนินกิจการในปี พ.ศ. 2563 ที่จะถึงนี้

เครื่องบิน A320 และ A380 ภายในอู่ซ่อมบำรุงการบินไทย ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

ปัจจุบัน การบินไทยมีเครื่องบินโดยสารให้ประจำการอยู่รวม 103 ลำ (ข้อมูลปี 2561) นอกจากธุรกิจการบินหลัก การบินไทยยังมีธุรกิจอื่นที่บริษัทเป็นผู้ถือหุ้น เช่น สายการบินนกแอร์ สายการบินไทยสไมล์ โรงแรมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ครัวการบินไทย เป็นต้น การบินไทยเป็นหนึ่งในองค์กรรัฐวิสาหกิจที่ถูกคนในสังคมจับตามองอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องผลประกอบการที่ขาดทุนมาอย่างต่อเนื่องในหลายปีที่ผ่านมา การรับงบประมาณจากรัฐกับการถูกแทรกแซงทางการเมือง และการแข่งขันในอุตสาหกรรมการบินอันดุเดือดในปัจจุบัน

ข้อมูลเกี่ยวกับสมุด

สมุดแปลนเนอร์ขนาด A5 ปกหนังเทียม บรรจุในซองพลาสติกใส

สมุดแปลนเนอร์เป็นปกเป็นหนังเทียม (PU) ขนาด A5 ปกสีม่วงแบบเดียวกับสีของที่นั่งโดยสารชั้นธุรกิจ (Royal Silk Class) บนเครื่องบินบางรุ่นของสายการบิน มีการประทับตรา 60 ปีการบินไทย เป็นรอยลงไปในปกสมุด จัดว่าดูสวยงาม หรูหราดี

เปิดมาเราจะพบปกรองที่พิมพ์ Yesterday, Today, Tomorrow และตราการบินไทย

ในสมุดจะมีกระดาษถนอมสายตาทั้งหมด 88 แผ่นหรือ 176 หน้า แบ่งเป็น

  • หน้าข้อมูลส่วนตัว ปฏิทินกับแปลนเนอร์รายเดือน และข้อมูลเครื่องบิน 32 หน้า
  • หน้ากระดาษแบบเส้นบรรทัด (Lined) 80 หน้า
  • หน้ากระดาษแบบเปล่า (Plain) 32 หน้า
  • หน้ากระดาษแบบตาราง (Ruled) 32 หน้า
Year Planner 2020
Monthly Planner: July 2020 บนปฏิทินจะมีการพิมพ์วันสำคัญลงไป
ขาดไม่ได้สำหรับสมุดแปลนเนอร์ของการบินไทย จะต้องมีหน้าบอกจำนวนเครื่องบินของสายการบินเสมอ

ผู้เขียนมีข้อสัเกตว่า เมื่อเทียบจากสมุดแปลนเนอร์การบินไทยเมื่อปี 2014 แล้วพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปพอสมควร เช่น แปลนเนอร์แบบเก่าจะมีแผนที่เวลาโลก (World time) เส้นทางการบิน หน้าสำหรับจดรายชื่อผู้ติดต่อ (Contact) และมีแปลนเนอร์รายสัปดาห์ (Weekly Planner) ซึ่งสมุดปี 2020 กลับตัดส่วนดังกล่าวไป ผู้เขียนไม่ทราบแน่ชัดว่ามีการเปลี่ยนรูปแบบสมุดไปเมื่อปีใด แต่สมุดปี 2020 นี้จะมีหน้าเปล่าสำหรับการจดบันทึกมากขึ้น รวมถึงเพิ่มหน้าแบบเปล่า (ไม่มีการตีเส้น) และหน้าแบบตารางเข้ามาด้วย

ข้อตำหนิ คือ พบเศษฝุ่นตะกอนปะปนกับเนื้อกระดาษอย่างเล็กน้อยในเกือบทุกหน้า ผู้เขียนมองว่าการบินไทยควรตรวจสอบคุณภาพสินค้าก่อนวางจำหน่ายหรือแจก เพราะสมุดเองก็สะท้อนถึงภาพลักษณ์ของสายการบินเช่นกัน 

สมุดปี 2020 มีสายรัดสีเทามาให้ พอดูใกล้แลดูคล้ายกับยางรัดที่ใช้ในกางเกงพละ ตัดกับปกสีเบาะที่นั่งชั้นธุรกิจ (Royal Silk)

สมุดนี้มีสายรัดสีเทายึดติดกับปกหลังสมุด แบบเดียวกับสมุดแบรนด์ดังจากต่างประเทศ พอดูใกล้แล้วเหมือนกับยางที่ใช้ในขอบกางเกงพละ ผู้เขียนมองว่าดูแปลก ตัวปกสมุดดูสวยงามมีระดับรัดแน่นกับสายรัดกางเกงพละนักเรียน ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าสะท้อนถึงสภาวะของการบินไทยในปัจจุบันหรือเปล่า 

ราคา: 190 บาท

สถานที่จำหน่าย: ร้าน Thai shop ตามสำนักงานจำหน่ายบัตรโดยสารของการบินไทย กับ เว็บไซต์

ทดสอบการเขียน

ผู้เขียนลองใช้ทั้งปากกาหมึกซึมและหมึกที่มีเพื่อทดสอบคุณภาพกระดาษ รวมถึงปากกาลูกลื่น ดินสอ ปากกาสำหรับเขียนอักษรวิจิตร (Calligraphy) และปากกาเคมี โดยรวมนับว่าให้ผลการทดสอบที่น่าพอใจ โดยเฉพาะผู้ที่ใช้งานปากกาหมึกซึมแทบไม่ต้องกังวลว่าหมึกจะซึมกระดาษ ไม่พบอาการเส้นแตกแต่อย่างไร นับว่าผู้ใช้งานปากกาหมึกซึมเป็นประจำสามารถนำสมุดเล่มนี้มาใช้จดบันทึกต่าง ๆ โดยไม่ต้องกังวลแต่อย่างไร สำหรับปากกาหมึกซึม

ทดสอบกับปากกาและหมึกต่าง ๆ เนื่องจากเรามีโอกาสใช้แปลนเนอร์กับเครื่องเขียนหลายชนิด

กระดาษสมุดยังใช้เขียนกับ Calligraphy pen ได้ โดยผู้เขียนทดลองใช้กับ Automatic Pen เบอร์ 3 กับหมึก Robert Oster : Blue Lagoon ที่มีอาการซึมเมื่อใช้กับสมุดและกระดาษบางราย แต่ในสมุดเล่มนี้มีอาการซึมเพียงเล็กน้อย แม้ว่าจะใช้กับปากกาที่จ่ายน้ำหมึกออกมามากกว่าปกติ จึงสำหรับนักเดินทางที่อยากนำ Calligraphy มาใช้กับการบันทึกการเดินทาง

พบอาการซึมจากปากกาเคมีและ Calligraphy แต่ไม่พบปัญหากับปากกาหมึกซึมทั่วไปแต่อย่างไร

อย่างไรก็ตาม เมื่อใช้ปากกาเคมีอย่าง Sharpie ยังพบอาการหมึกซึม จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ปากกาเคมีกับสมุดเล่มนี้

ทดสอบการใช้สมุดหน้าตาราง เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการวาดกราฟ ลองเขียนแบบ นับว่าสมุดเล่มนี้มีความเอนกประสงค์เลยทีเดียว

สรุป

สมุดแปลนเนอร์การบินไทย ปี 2020 ยังคงเอกลักษณ์ของการบินไทยเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นความม่วง การให้ข้อมูลและพิมพ์ตราต่าง ๆ สมุดมีความเป็นเอนกประสงค์ (Multi-purpose) เนื่องจากมีเส้นหลายแบบในเล่มเดียว ควบคู่กับแปลนเนอร์รายเดือน จึงเหมาะกับผู้ที่ต้องการความยืดหยุ่นในการจดบันทึกทั้งตารางนัดหมาย กำหนดการ จดบันทึกทั่วไปหรือใช้ในงานอดิเรก แต่อาจไม่เหมาะกับผู้ที่ต้องการใช้แปลนเนอร์รายวันหรือสัปดาห์ เนื้อกระดาษมีคุณภาพดีสำหรับการใช้ปากกาหมึกซึมในราคาที่ถูกกว่าสมุดนำเข้าจากต่างประเทศ แต่ยังมีข้อตำหนิในเรื่องกระบวนการผลิตที่ทำให้เกิดฝุ่นในเนื้อกระดาษ และการเลือกใช้สายรัดกางเกงพละกับปกสมุด

จุดที่ชอบ

  • โดยรวมสวยงาม คงเอกลักษณ์ของการบินไทย
  • กระดาษใช้ได้ดีกับปากกาหมึกซึมในราคาไม่แพงเกินไป
  • มีความเป็นแปลนเนอร์ และสมุดเปล่าในเล่มเดียวกัน

จุดที่ไม่ชอบ

  • ปัญหาฝุ่นในเนื้อกระดาษ
  • การตัด Weekly Planner อาจไม่เหมาะกับผู้ที่ใช้สมุดเพื่อจดตารางนัดหมาย
  • สายรัดสมุดควรจะดูดีกว่านี้

ข้อมูลเพิ่มเติม

ข้อมูลบริษัทการบินไทย: Thai Airways

ติดตามเราบน Facebook

เนื้อหายอดนิยม

บทความที่เกี่ยวข้อง

- Advertisement -