23 ตุลาคม 2024
รายงานพิเศษประเมินผลกระทบ COVID-19 กับอุตสาหกรรมเครื่องเขียน: 1 ปีกับโรคเปลี่ยนโลก

ประเมินผลกระทบ COVID-19 กับอุตสาหกรรมเครื่องเขียน: 1 ปีกับโรคเปลี่ยนโลก

ไรท์ติ้งอินไทย สำรวจผลกระทบของ COVID-19 ที่มีต่ออุตสาหกรรมเครื่องเขียนในประเทศไทย ในวาระครบรอบการระบาด 1 ปี และขึ้นปีที่ 4 ของเว็บไซต์

-

ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส SARS-Cov-2 ที่เป็นสาเหตุของ COVID-19 นั้น อุตสาหกรรมเครื่องเขียนก็เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน ทั้งในฝั่งของผู้ผลิต (supply) และในฝั่งของความต้องการ (demand) ไรท์ติ้งอินไทยจึงออกบทบรรณาธิการ สำรวจผลกระทบที่เกิดขึ้น รวมถึงคาดการณ์และบ่งชี้ถึงแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ในวาระก้าวสู่ปีที่ 4 ของเว็บไซต์

ท่านผู้อ่านไรท์ติ้งอินไทย อาจสังเกตว่า หลังการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่เริ่มต้นขึ้นช่วงปลายปี 2562 (หรือปี 2019) และกลายเป็นโรคระบาดไปทั่วโลกในต้นปี 2563 นั้น ทีมงานก็อัพเดตเว็บไซต์น้อยลง และรีวิวต่างๆ ก็เริ่มลดน้อยถอยลงไปตามลำดับ รวมถึงปีนี้ที่เป็นปีที่ครบรอบ 3 ปีของเว็บไซต์ ก็ไม่มีรีวิวชิ้นใหญ่หรือสำคัญออกมาให้เห็นกัน

อันที่จริงแล้ว ทีมงานยังมีปากกาที่รอการรีวิวอีกมาก แต่ทั้งหมดก็มาสะดุดเพราะการระบาดของโรค COVID-19 ที่ทำให้ทีมงานกองบรรณาธิการ มีความยากลำบากในการรวมตัว และทำงานร่วมกัน ซึ่งผลกระทบดังกล่าวนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับทีมงานเท่านั้น แต่เกิดไปทั่วโลก ผู้คนจำนวนมาก บริษัทต่างๆ เปลี่ยนกระบวนการและวิธีการทำงานทั้งหมดไปทั้งสิ้น

อุตสาหกรรมเครื่องเขียนก็ไม่สามารถหนีพ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดครั้งนี้ด้วยเช่นกัน หลายบริษัทเองก็ต้องมีการปรับตัวกันขนานใหญ่ และการออกปากกาหรือเครื่องเขียนในปีที่แล้วก็ไม่ได้ออกถี่เช่นเดิมอีก

COVID-19 เปลี่ยนภาพและโฉมหน้าอุตสาหกรรมเครื่องเขียนไปอย่างไรบ้าง? บทบรรณาธิการกึ่งวิเคราะห์ชิ้นนี้จะมีคำตอบให้ แม้อาจจะไม่คำตอบที่สมบูรณ์แบบนัก

ความต้องการที่หดหาย กับสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป

สิ่งแรกที่เกิดขึ้นเมื่อมีวิกฤติการแพร่ระบาดของโรค ความต้องการ (demand) เครื่องเขียนนั้นก็หายไป จากรายงานของ Euromonitor เมื่อเดือนมกราคมของปีนี้ (2564) พบว่าอุตสาหกรรมเครื่องเขียนของประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด แม้จะน้อยกว่าอุตสาหกรรมเครื่องประดับก็ตาม โดยมูลค่าของตลาดเหลือ 14,338 ล้านบาทโดยประมาณสำหรับปี 2563 (ส่วนปี 2562 อยู่ที่ 15,950 ล้านบาทโดยประมาณ) ซึ่งหดตัวต่ำลงกว่าปี 2560 และถือเป็นการหดตัวลงครั้งแรก หลังจากที่เติบโตมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558

แต่ถ้ามาดูในกลุ่มเครื่องเขียนหรู จะพบว่ามูลค่าตลาดลดลงจาก 348 ล้านบาทโดยประมาณเมื่อปี 2562 เหลือแค่ 226 ล้านบาทในปี 2563 คิดเป็นการลดลงมากถึง 35% และทำให้ตลาดเครื่องเขียนซบเซาลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (ไรท์ติ้งอินไทยมักจะเล่นกับตลาดนี้เป็นหลัก เนื่องจากมักมีข่าวออกมามากกว่าเครื่องเขียนทั่วไป)

การหดตัวลงของปี 2563 นี้ สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ ที่หากพิจารณาจากตัวเลขของสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จะพบว่า GDP (ดัชนีมวลรวมในประเทศ) ของไทย ปรับตัวลดลงถึง -6.1% ที่ถือเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 22 ปี ซึ่งในเวลาที่คาดการณ์ถึงตัวเลขของปี 2564 ยังไม่มีการคาดการณ์การแพร่ระบาดรอบใหม่ (ปลายมีนาคม – เมษายน 2564) เข้าไปด้วย

สภาพดังกล่าวนี้ไม่ใช่เกิดขึ้นกับเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่ต่างประเทศยังเกิดขึ้นด้วย เช่นในสหรัฐอเมริกาที่ตลาดเครื่องเขียนระดับหรู มูลค่าลดลง 24.75% มาอยู่ที่ 91.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2563 เป็นต้น

ปัจจัยเรื่องความต้องการ (demand) ที่สอดรับกับสภาวะเศรษฐกิจ จึงเป็นมิติแรกที่เห็นได้อย่างชัดเจนสำหรับผลกระทบ เพราะความต้องการเครื่องเขียนกลับลดลง โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตลาดหรูที่ลดลงมากกว่าภาพรวม

ผลิตและค้าขายไม่สะดวก มิติที่สองที่มาพร้อมกัน

ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคนั้นไม่ใช่มาจากมิติความต้องการที่หดหายแต่เพียงอย่างเดียว แต่มาพร้อมกับปัญหาที่เกิดขึ้นในฝั่งของอุปทาน (supply) ที่มีผู้ผลิตและตัวแทนจำหน่ายในอุตสาหกรรมอยู่ที่ฝั่งนี้ด้วย

เริ่มที่ผู้ผลิตก่อนอันดับแรก เนื่องจากศูนย์กลางในการผลิตเครื่องเขียน (โดยเฉพาะในกลุ่มตลาดหรู) มักอยู่ในยุโรป ซึ่งเป็นศูนย์กลางการระบาดของโรคอยู่ช่วงหนึ่ง ทำให้ภาครัฐของยุโรปต้องออกมาตรการปิดเมือง รวมถึงมาตรการอื่นๆ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ย่อมกระทบกับความสามารถในการผลิตอย่างแน่นอน

เราไม่รู้ว่าในเคสของแบรนด์ชั้นนำเช่น Montblanc หรือ LAMY เป็นอย่างไรบ้าง แต่กรณีที่แถลงตรงอย่างชัดเจนที่สุดคือกรณีของ Montegrappa ที่ต้องประกาศปิดโรงงานและระงับการผลิตชั่วคราว ทำให้สินค้าขาดไปอยู่ช่วงหนึ่ง หรืออย่าง Pelikan ที่เว็บไซต์ The Pelikan Perch สัมภาษณ์ผู้จัดการด้านฝ่ายการตลาดระบุว่า เจอสถานการณ์คล้ายๆ กัน แต่ในเคสของ Pelikan ก็มีการขาดแคลนของวัตถุดิบเสริมมาด้วย ซึ่งเมื่อการแพร่ระบาดของโรคกระจายไปทั่ว ย่อมทำให้หลากหลายบริษัทต้องมีมาตรการในการจัดกำลังคน รวมถึงการทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ซึ่งท้ายที่สุดย่อมกระทบกับสายการผลิตไปโดยปริยาย

และที่ไม่กล่าวถึงคงไม่ได้ คือการยุติการผลิตชั่วคราวของ DTCI บริษัทไทยที่ผลิตปากกาลูกลื่น Lancer เมื่อเดือนเมษายน 2563 ที่กลายเป็นตัวอย่างสำคัญของผลกระทบของการแพร่ระบาด จนกระทั่งกลับมาดำเนินงานได้ใหม่เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 แต่ก็แลกมาด้วยยอดขายที่ลดลง 12.93% (บริษัทยังกำไร เนื่องจากลดค่าใช้จ่ายด้านอื่นชดเชย)

นอกจากฝั่งผู้ผลิตแล้ว ยังมีฝั่งตัวแทนจำหน่ายด้วยเช่นกันที่ได้รับผลกระทบจากการปิดห้างสรรพสินค้าหรือสถานที่ตั้งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Montblanc, LAMY, The Pips Cafe’, สมใจ, Medium & More, B2S เป็นต้น การปิดตัวของร้านค้าเหล่านี้ ซึ่งจุดขายอยู่ที่ประสบการณ์เขียนและการได้ลองสินค้าจริง (อันถือเป็นหัวใจของเครื่องเขียน) ย่อมทำให้ได้รับผลกระทบไปเต็มๆ สะท้อนถึงตัวเลขยอดขายที่ตกลง และทำให้มูลค่าโดยรวมของอุตสาหกรรมโดยรวมทั้งหมดลดลงตามไปด้วย (ตามตัวเลขด้านบน)

การปรับเปลี่ยนสู่ปี 2564 ของอุตสาหกรรม

เมื่อสถานการณ์แย่ลงทั้งในฝั่งอุปสงค์ (ความต้องการ – demand) และอุปทาน (supply) มีปัญหาทั้งคู่ สิ่งที่เกิดขึ้นคือการปรับตัวของอุตสาหกรรมโดยรวมที่ต้องปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

สิ่งที่เห็นชัดเจนประการแรก คือ การที่ร้านค้าตัวแทนจำหน่ายต่างๆ ต้องหันมาใช้วิธีจัดจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ แทน ไม่ว่าจะเป็นการใช้สื่อสังคมออนไลน์ที่แต่เดิมก็ใช้อยู่แล้ว เช่น Facebook, Instagram หรือเพิ่มช่องทางจำหน่ายใหม่ๆ เช่น ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง Shopee, Lazada เป็นต้น หรืออย่างในกรณีของ พิลีแกนประเทศไทย (Pelikan) ที่เริ่มรุกหนักในตลาดออนไลน์มากขึ้น (ล่าสุดไปวางจำหน่ายใน Shopat24 แล้ว) ก็ถือเป็นการปรับตัวประการแรกๆ ที่ทำได้ของผู้จัดจำหน่าย

ประการต่อมาคือการให้ส่วนลด ซึ่งบางแบรนด์อย่างเช่น Caran d’Ache หรือ Sailor มีการให้ส่วนลดเกือบจะทั้งปีสำหรับผู้ที่ซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ของตัวแทนจำหน่าย หรือ Kaweco ที่ประกาศปรับลดราคาจำหน่ายในประเทศไทย ทำให้ดึงดูดใจคนที่อยากได้เครื่องเขียนมากขึ้น ซึ่งในมุมกลับกัน หมายถึงผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่าย ต้องเลือกที่จะเสียกำไรส่วนต่าง (margin) ในการทำธุรกิจไปด้วย และย่อมกระทบต่อฐานะทางการเงินของบริษัทเหล่านี้อย่างเลี่ยงไม่ได้

ประการสุดท้ายคือ การปล่อยสินค้ารุ่นใหม่แบบจำกัดของผู้ผลิต ซึ่งหลังจากสถานการณ์เริ่มดีขึ้น ผู้ผลิตบางเจ้าเช่น Montegrappa ก็ตัดสินใจเปิดตัวรุ่นใหม่มาทีเดียว 5 รุ่นรวด หรือ Caran d’Ache ที่ตัดสินใจเปิดตัว Paul Smith รุ่น 3 มาวางจำหน่าย ซึ่งก็สร้างความต้องการจากตลาดได้ดี

อย่างไรก็ตาม แนวทางทั้งสามนี้อาจไม่ได้มีส่วนช่วยกับอุตสาหกรรมมากนัก จากรายงานของ Euromonitor คาดการณ์ว่าตลาดของเครื่องเขียนในประเทศไทยจะหดตัวลงอีกในช่วงปี 2564-2567 ที่จะอยู่ในระดับ 13,000 ล้านบาท ก่อนที่จะกลับมายืนที่ 14,000 ล้านบาทในปี 2568 ส่วนตลาดเครื่องเขียนหรูนั้นจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ไปแตะที่ระดับ 260 ล้านบาทในปี 2567 จากระดับของปี 2563

ตัวเลขของรายงานที่ออกมาข้างต้น แสดงให้เห็นว่าตลาดและอุตสาหกรรมเครื่องเขียนของประเทศไทย จะตกอยู่ในสภาวะแคะแกร็น และไม่น่าจะเติบโตได้ดีกว่านี้จนกว่าสภาวะการระบาดจะยุติ และเศรษฐกิจไทยกลับเข้าร่องเข้ารอย ซึ่งในส่วนหลังนี้อาจไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก เนื่องจากการระบาดของโรค ส่งผลให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจรอบใหม่ที่มาพร้อมกับการฟื้นตัวของประเทศที่ไม่เต็มที่ และเมื่อผสมโรงกับปัจจัยอื่นๆ แล้ว ย่อมหมายความว่าสภาพเศรษฐกิจไทยจะอยู่ในสภาวะที่ไม่เอื้ออำนวยไปอีกนาน และอุตสาหกรรมเครื่องเขียนจะหยุดนิ่งอยู่กับที่

สำหรับผู้ประกอบการ การหาจุดแตกต่างจะกลายเป็นสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรม ตัวอย่างเช่นการมาถึงของร้านเครื่องเขียนอย่าง Studio 360 ที่มาพร้อมกับบริการใหม่อย่างบริการผสมสีด้วยตนเองก็ถือเป็นอีกหนึ่งที่ทำให้ร้านตนเองเกิดความแตกต่างขึ้น และดึงดูดผู้บริโภคให้เข้ามาใช้บริการ หรือการนำเอาสินค้าแปลกใหม่ที่ผลิตขึ้นมาจำนวนจำกัด ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่สามารถดึงดูดผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี

Pilot Custom 74
Pilot Custom 74

สรุป: กระทบหนักและดูเหมือนจะไม่เติบโตอีก

ต้องยอมรับว่าช่วงที่ผ่านมาก่อนการระบาดของ COVID-19 อุตสาหกรรมเครื่องเขียนของไทยอยู่ในช่วงขาขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มของเครื่องเขียนหรู ทว่าหลังจากการแพร่ระบาดแล้ว พบว่าอุตสาหกรรมนี้กลับหดตัวลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหดตัวอย่างรุนแรงในกลุ่มเครื่องเขียนหรูที่ลดลงถึง 35%

การหดตัวลงนี้ เป็นผลกระทบทั้งความต้องการจากตลาดที่มากับสภาวะเศรษฐกิจ และความสามารถในการผลิตหรือจัดจำหน่ายสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาด จนทำให้แผนงานของบริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายต่างๆ ต้องเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ซึ่งจากรายงานของ Euromonitor แสดงให้เห็นว่าการปรับตัวลดลงดังกล่าวนี้ ลดลงอย่างมาก และแนวโน้มคงยากที่จะกลับมาเติบโตอีกครั้งในระยะเวลาอันใกล้นี้

แม้ผู้ประกอบการจำนวนมากต่างเลือกที่จะใช้กลยุทธ์ทั้งการขายในช่องทางใหม่ๆ หรือการให้ส่วนลดและนำเอาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เข้ามาเพื่อสร้างแรงจูงใจ แต่ต้องไม่ลืมว่าด้วยสภาพเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมที่น่าจะฟื้นตัวได้ช้า ย่อมทำให้การเติบโตแบบในอดีตเป็นไปได้ยาก และมูลค่าของตลาดโดยรวมก็ยากที่จะกลับมาเท่าเดิม อย่างน้อยที่สุดก็ในช่วง 5 ปีนับจากนี้ (หากการคาดการณ์ของรายงานนั้นถูกต้อง)

ไรท์ติ้งอินไทยในฐานะสื่อมวลชนออนไลน์เฉพาะทางด้านเครื่องเขียน คงมิอาจมีคำตอบว่าในอนาคตตลาดเครื่องเขียนจะเป็นอย่างไรบ้าง รวมถึงสภาพเศรษฐกิจโดยรวม สิ่งเดียวที่เราบอกกับทุกท่านได้คงมีแต่เพียงว่า เรายังจะคงยึดมั่นในการนำเสนอข้อมูลต่างๆ อย่างต่อเนื่องเช่นเดิม รวมถึงรายงานความเคลื่อนไหวต่างๆ ที่ได้แต่หวังว่าจะกลับมาคึกคัก เฉกเช่นก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19

“ขอให้ทุกท่านโชคดี”

ทีมงานไรท์ติ้งอินไทย
ทีมงานไรท์ติ้งอินไทย
Writing in Thai (ไรท์ติ้งอินไทย) เว็บไซต์รวบรวมเรื่องราวของ ปากกา ปากกาหมึกซึม และเครื่องเขียนอื่นๆ สำหรับคนรุ่นใหม่ มีทั้งปากกาหมึกซึม ดินสอ ปากกาลูกลื่น ข่าว อัพเดต ความรู้ หมึก การเขียน รีวิว เทคนิค สาระและความรู้

ผู้เขียน

ทีมงานไรท์ติ้งอินไทย
Writing in Thai (ไรท์ติ้งอินไทย) เว็บไซต์รวบรวมเรื่องราวของ ปากกา ปากกาหมึกซึม และเครื่องเขียนอื่นๆ สำหรับคนรุ่นใหม่ มีทั้งปากกาหมึกซึม ดินสอ ปากกาลูกลื่น ข่าว อัพเดต ความรู้ หมึก การเขียน รีวิว เทคนิค สาระและความรู้

เนื้อหายอดนิยม

ติดตามเราบน Facebook