23 ตุลาคม 2024
รีวิวรีวิว ปากกา TWSBI Diamond 580 ALR เขียนดีได้แบบมีสไตล์

รีวิว ปากกา TWSBI Diamond 580 ALR เขียนดีได้แบบมีสไตล์

ไรท์ติ้งอินไทยเคยรีวิวปากกามาหลายด้าม หลายรูปแบบ รวมถึงปากกาจาก TWSBI มาแล้วกับ TWSBI Go แต่ในครั้งนี้เราจะมารีวิวปากกาหมึกซึม TWSBI Diamond 580 ALR ซึ่งเป็นปากกาอีกรุ่นที่ออกมาเพื่อจับตลาดพรีเมียมโดยเฉพาะของบริษัท และถือเป็นอีกหนึ่งรุ่นที่พลาดไม่ได้ที่ควรต้องมีซื้อใช้งาน

ปากการุ่นนี้ได้สร้างความประทับใจให้กับหลายคนมาโดยตลอด ทีมงานก็เช่นเดียวกัน เพราะเมื่อได้ใช้มาเป็นระยะเวลาหนึ่ง ก็พบว่าปากการุ่นนี้ใช้งานได้ดีสมกับราคาค่าตัว

รู้จักกับ TWSBI Diamond 580 ALR

ในรีวิว TWSBI Go เราได้แนะนำให้รู้จักกับผู้ผลิตปากการายนี้จากไต้หวันกันพอสังเขปแล้ว แต่เพื่อความต่อเนื่องจึงขอยกรายละเอียดส่วนนี้กลับมาสรุปไว้ ณ ที่นี้อีกครั้งหนึ่ง

TWSBI เป็นแบรนด์ปากกาของบริษัท Ta Shin Precision ของไต้หวัน ที่รับจ้างผลิตปากกาให้บริษัทรายอื่น (OEM: Original Equipment Manufacturer) ก่อนที่จะตัดสินใจมาผลิตปากกาด้วยตัวเองหลังจากดำเนินธุรกิจนี้มาได้ราว 40 ปี โดยเน้นหนักไปที่ปากกาหมึกซึมเป็นหลัก แต่ก็ยังผลิตดินสอและปากกาลูกลื่นออกวางจำหน่ายด้วย

ผลิตภัณฑ์ตัวแรกของบริษัทคือปากกาหมึกซึมรุ่น Diamond 530 ที่เริ่มต้นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 2009 จากการเข้าไปโพสต์บนเว็บไซต์ Fountain Pen Network ซึ่งทำให้ปากกาของบริษัทมีเอกลักษณ์ตรงที่ผู้ใช้งานมีส่วนในการช่วยเข้าไปปรับปรุง ให้ความเห็นกับปากกาของบริษัทได้ตั้งแต่ตอนออกแบบ และรับฟังรวมถึงแก้ไขตามความเห็นของผู้ใช้งานมาโดยตลอ

ระบบเปิดเช่นนี้ ทำให้ปากกาของบริษัท มักได้รับความสนใจจากผู้ใช้งานปากกาหมึกซึมทั่วโลกอยู่เสมอ เพราะนอกจากการเปิดและเปลี่ยนแปลงแล้ว ยังรวมไปถึงเรื่องของราคาที่ถือว่าเป็นมิตรกว่าปากกาแบรนด์อื่นๆ ในท้องตลาดด้วยเช่นกัน นอกจากนั้นยังเปิดให้ผู้ใช้ทำความสะอาดและดัดแปลงปากกาได้เต็มที่ด้วย

อีกสิ่งที่ไม่พูดถึงเลยคงไม่ได้ คือเรื่องของกลไกการสูบหมึก ซึ่งบริษัทใช้แบบ piston-filling และ vacuum filler (สำหรับปากการุ่น VAC) ที่ปกติแล้วจะมีใช้เฉพาะปากการาคาสูงเท่านั้น การนำเอากลไกเหล่านี้มาอยู่ในปากการาคาถูก กลายเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ไปด้วยเช่นกัน

สำหรับ Diamond 580 ALR ถือเป็นปากการุ่นที่ปรับปรุงมาจาก 530, 540 และ 580 โดยการปรับปรุงในแต่ละช่วงนั้นก็มีความแตกต่างกันออกไป และจำเป็นต้องกล่าวถึงเล็กน้อยเพื่อป้องกันความสับสน

รุ่น 580 เปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 2013 โดยเป็นการยกเครื่องจากรุ่น 540 เดิม ด้วยการเปลี่ยนหัวเขียน (nib) ของปากกาจาก Schmidt และ Bock เป็น Jowo เพียงค่ายเดียว นอกจากนั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย ซึ่งรวมถึงการป้องกันวัสดุตัวด้ามที่เป็นเรซินใสแตกหักง่ายด้วย

จากนั้นในปี ค.ศ. 2014 บริษัทจึงปล่อยรุ่น 580AL ออกสู่ตลาด โดยเปลี่ยนชิ้นส่วนบางอย่างที่แต่เดิมเป็นพลาสติก เช่น หัวสกรูด้านท้าย, ตัวเชื่อมต่อ, แกนหมุนลูกสูบ และบริเวณที่จับปากกา (grip) กลายเป็นอะลูมิเนียม ซึ่งทำให้ทนทานมากขึ้น (และหนักขึ้นเช่นกัน) โดยมีการปล่อยสีต่างๆ ออกมาเป็นระยะ

ให้หลังอีก 4 ปีต่อมา คือ ค.ศ. 2018 (ปีที่แล้ว นับจากวันที่เขียน) รุ่น 580 ALR ถูกเปิดตัว โดยใช้สีเป็นเทานิกเกิล (Nickel Gray) พร้อมกับเพิ่มสลักลายที่บริเวณที่จับปากกา ทำให้จับสะดวกกว่าเดิม พร้อมกับปรับปรุงในส่วนอื่นอีกเล็กน้อย

แรกสัมผัสกับ TWSBI Diamond 580 ALR

ตัวปากกาอยู่ในกล่องสองชั้น ชั้นแรกเป็นกล่องกระดาษลังค่อนข้างหนาสีน้ำตาล ดูเรียบง่าย ด้านในบุด้วยโฟมและวัสดุกันกระแทกอีกชั้นหนึ่ง

เมื่อเปิดออก จะเจอแผ่นพับคู่มือและวิธีการใช้งาน กับใบคำเตือนเรื่องของการแกะและใช้ silicone grease กับประแจไขปากกาที่แถมมาด้วย

ตัวปากกาจะอยู่ในกล่องชั้นใน ทำมาจากพลาสติกใสสวยงาม มองเข้าไปเห็นปากกาเหมือนลอยอยู่บนแท่น

พลาสติกแข็งที่เป็นฐานรองปากกาในกล่องพลาสติกใสนั้น สามารถพลิกออกมาได้ แล้วจะพบกับประแจและ silicone grease ไว้ใช้สำหรับการบำรุงรักษาปากกา

ตัวปากกาเป็นแบบ demonstrator ใส เหมือนกับ Sailor 1911 Junior Clear Sparkle หรือ Pelikan Classic M205 Demonstrator สามารถเห็นกลไกของปากกาได้

ตัวคลิปปากกา เป็นโลหะเงินขัดเงา ให้ความรู้สึกที่เรียบหรู และส่วนของที่ครอบหัวเขียน เป็นสีเทาขุ่นใส ปลอกปากกามีวงแหวนขนาดใหญ่ เขียนว่า TWSBI ประดับอยู่

ส่วนท้ายของปากกาเป็นกลไกสูบหมึกแบบ piston-filling สามารถบรรจุหมึกได้สูงสุด 1.99 มิลลิลิตร ถือว่าเยอะมาก

หัวเขียน (nib) ของปากกา เป็นเหล็กกล้าไร้สนิม ผลิตโดย Jowo เวลาจะใช้งานต้องหมุนปลอกปากกาออกมาก่อน (ไม่ใช่การดึง)

สำหรับวิธีการเติมหมึกก็ใช้การหมุนปลายด้ามให้ลูกสูบออกไปให้มากที่สุด จากนั้นเอาหัวจุ่มเข้าไปที่ขวดหมึก แล้วค่อยๆ หมุนท้ายด้ามเพื่อดูดกลับเข้าไป เป็นรูปแบบปกติที่ใช้ในปากกาหมึกซึมกลไก piston แบบนี้

ขนาดและมิติปากกา

  • ความยาว: 14.2 ซม.
  • ความยาวเฉพาะตัวด้าม: 13.0 ซม.
  • เส้นผ่าศูนย์กลาง: 1.3 ซม.
  • ขนาดเส้น: Extra Fine, Fine, Medium, Broad และ Stub (หัวตัด)
  • น้ำหนัก: 32 กรัม (ไม่รวมหมึก)

ทดลองเขียน

ทีมงานทดสอบการเขียน โดยใช้หมึก Parker Quink Blue-black และเขียนอยู่บนกระดาษ A4 ความหนา 80 แกรม ไม่ระบุยี่ห้อ ได้ผลการทดสอบออกมาดังนี้

ในเรื่องของการเขียน ทีมงานพบว่าปากกาให้สัมผัสการเขียนในระดับที่ดี มีแรงต้านและรู้สึกได้ถึงแรงขูดขีดอยู่บ้าง ทีมงานไม่ได้คาดคิดในจุดนี้ และทำให้ทีมงานรู้สึกว่าหัวปากกาควรจะทำได้ดีกว่านี้ รวมถึงหากเขียนแบบกลับหัว (reverse writing) สิ่งที่จะพบคือเรื่องของการกินเนื้อกระดาษ และมีเยื่อกระดาษติดขึ้นมาที่หัวปากกาด้วยเช่นกัน

ความถนัดในการจับถือว่าทำได้ดี เพราะน้ำหนักของปากกาที่ออกแบบมาได้ค่อนข้างสมดุล แต่จุดที่ทีมงานรู้สึกขัดใจอยู่ตรงที่ไม่สามารถสวมปลอกเข้าไปที่ท้ายด้ามของปากกาได้แบบปากกาด้ามอื่นๆ การไหลของน้ำหมึกก็ทำได้ด้วยดีครับ ต่อเนื่องตลอดไม่มีขาดตอน

หัวปากกาค่อนข้างแข็งกว่าปกติพอสมควร ดังนั้นแล้วน้ำหนักเส้น (line variation) อาจจะไม่ได้มากครับ แต่ก็ทำผลงานได้น่าประทับใจอยู่ถ้ามีเหตุต้องใช้

ราคาและสถานที่ซื้อ

ปัจจุบันปากการุ่นนี้มีจำหน่ายที่ The Pips Cafe’ ตัวแทนจำหน่ายของ TWSBI ในประเทศไทย ด้วยราคาค่าตัวที่ด้ามละ 2,150 บาท

สรุป

สำหรับทีมงานแล้ว TWSBI Diamond 580 ALR ถือเป็นปากกาหมึกซึมอีกด้ามหนึ่งที่สามารถใช้งานได้ดี ไม่ว่าจะสำหรับคนทั่วไป สถาปนิก หรือแม้กระทั่งผู้บริหาร ด้วยการออกแบบที่สวมงามและเป็นเอกลักษณ์ ตลอดจนถึงความโปร่งใสตามแบบปากกา demonstrator ทำให้เป็นปากกาที่มีเอกลักษณ์ในการใช้งานมากที่สุดด้ามหนึ่ง

แม้ผลการเขียนจะออกมาดีแล้ว ทว่าทีมงานยังรู้สึกว่าปากการุ่นนี้สามารถพัฒนาหัวเขียนให้ดีกว่านี้ได้ ถ้าไม่นับอุปสรรคนิดหน่อยเหล่านี้ ทีมงานยอมรับว่าปากกาทำผลงานได้ดี น่าประทับใจ

โดยภาพรวม ทีมงานเชื่อว่านี่เป็นปากกาที่ดีและสามารถตอบโจทย์ความต้องการของใครหลายคนที่ต้องการยกระดับการเขียน รวมถึงการสะสมปากกาให้ครอบคลุมไปยังปากการะดับบนที่เป็น piston-filler ได้ อย่างไรก็ตามตัวปากกายังมีจุดสะดุดใจนิดหน่อยสำหรับทีมงานในเรื่องของหัวเขียน แต่ถ้าหากบอกว่าปัจจัยเหล่านั้นเป็นเรื่องเล็กน้อยแล้ว นับว่าปากการุ่นนี้คุ้มค่าอย่างยิ่ง

เครดิตและอ้างอิง

  • สถานที่: Regus สาขา Sathorn Tower
  • เรียบเรียงและภาพ: ภัทรนันท์ ลิ้มอุดมพร
  • ข้อมูล: FPGeeks (ผ่าน Internet Archive), The Goulet Pen Company, Penucopia

สรุปรีวิว

REVIEW OVERVIEW

TWSBI Diamond 580 ALR

ความเห็นภาพรวม

ตัวปากกาให้น้ำหนักที่ดี มีการออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร อย่างไรก็ตามในส่วนของหัวเขียนนั้นมีบางครั้งที่สะดุดบ้างอันเกิดจากความฝืดและขูดขีดกระดาษ ในบางจังหวะมีการกินเนื้อกระดาษบ้าง
Patranun Thaniyavarn Limudomporn
Patranun Thaniyavarn Limudompornhttps://www.patranun.com/
เป็นเพียงมนุษย์ธรรมดา คนเดินดิน เรียนจบรัฐศาสตร์ ชอบปากกามาตั้งแต่เด็กๆ แต่ไม่ค่อยได้บอกให้ใครรู้ เริ่มใช้ปากกาหมึกซึมมาตั้งแต่ระดับประถม และใช้ปากกาลูกลื่น Montblanc Generation เป็นปากกาประจำตัว เลิกใช้ปากกาหมึกซึมไประยะหนึ่งก่อนกลับมาใช้ใหม่เพราะเพื่อนฝูงชักชวน แต่ก็ยังวนเวียนกับปากการะดับพรีเมียมเช่นเคย

ติดตามเราบน Facebook

เนื้อหายอดนิยม

บทความที่เกี่ยวข้อง

- Advertisement -
ตัวปากกาให้น้ำหนักที่ดี มีการออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร อย่างไรก็ตามในส่วนของหัวเขียนนั้นมีบางครั้งที่สะดุดบ้างอันเกิดจากความฝืดและขูดขีดกระดาษ ในบางจังหวะมีการกินเนื้อกระดาษบ้าง รีวิว ปากกา TWSBI Diamond 580 ALR เขียนดีได้แบบมีสไตล์