23 ตุลาคม 2024
สาระ-ความรู้ลูกลื่น โรลเลอร์บอล เจล และหมึกซึม: เลือกปากกาชนิดไหนดี?

ลูกลื่น โรลเลอร์บอล เจล และหมึกซึม: เลือกปากกาชนิดไหนดี?

หนึ่งในคำถามสำคัญของผู้ที่พยายามเลือกปากกา ไม่ว่าจะเป็นด้ามโปรดสำหรับเขียนในชีวิตประจำวัน หรือด้ามพิเศษสำหรับออกงาน คือมีปากกาชนิดไหนให้เลือกบ้าง และจะเลือกอย่างไรดี

ไรท์ติ้งอินไทย จึงขอนำเสนอบทความแนะนำชนิดของปากกาที่แตกต่างกันออกไป เพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้เริ่มต้นสนใจเลือกปากกาอย่างพิถีพิถันครับ ไม่ว่าจะเป็นแบบลูกลื่น โรลเลอร์บอล เจล หรือหมึกซึม

ลูกลื่น โรลเลอร์บอล และเจล: ความเหมือนที่แตกต่าง

ปากกาลูกลื่น (ballpoint) ปากกาโรลเลอร์บอล (rollerball) และปากกาเจล (gel ink) นั้น เป็นปากกาสามชนิดที่แยกออกจากกันได้ยาก (โดยเฉพาะปากกาลูกลื่น และโรลเลอร์บอล ที่ชื่อภาษาอังกฤษชวนให้สับสนในบางกรณี) และหากเป็นปากกาไม่แพงแล้ว ปากกาสามชนิดนี้ก็มักวางขายปนกันอยู่ตามชั้นปากกาทั่วไป

หัวปากกาลูกลื่น (Public Domain)

เหตุผลที่ปากกาสามชนิดนี้มักไม่ค่อยถูกแยกออกจากกัน คือปากกาทั้งสามชนิดใช้กลไกเหมือนกัน กล่าวคือบริเวณหัวปากกามีลูกบอลลูกเล็กๆ ที่จะกลิ้งเมื่อถูกเขียนกับกระดาษ เพื่อให้น้ำหมึกบริเวณไส้ปากกาสามารถไหลลงมาตามปกติได้

ชิ้นงานเขียนจากปากกาลูกลื่น ปากกาเจล และปากกาโรลเลอร์บอล

ทว่า ความแตกต่างของปากกาทั้งสามชนิดนี้คือ

  • ปากกาลูกลื่น (Ballpoint pen) ใช้หมึกที่ข้น แต่แห้งไว ส่วนผสมหลักของหมึกมักเป็นสารให้สีละลายในสารเคมีที่กันน้ำ (เช่น น้ำมัน) ทำให้เมื่อหมึกปากกาแห้งแล้วสามารถทนน้ำได้
    • ปากกาลูกลื่นเป็นปากกาที่ต้องบำรุงรักษาน้อยที่สุด เมื่อเทียบอายุการใช้งานแล้วใช้งานได้นานกว่าปากกาเจลและปากกาโรลเลอร์บอล ทั้งในแง่ความยาวในการเขียน และอายุของหัวก่อนหมึกจะแห้ง
    • ปากกาลูกลื่นส่วนมากจะกันน้ำ แต่ไม่กันสารละลายอื่น เช่นแอลกอฮอล์
    • ด้วยความที่หมึกของปากกาลูกลื่นข้นมาก ทำให้ได้เส้นที่ไม่สม่ำเสมอในการเขียนบางครั้ง
  • ปากกาเจล (Gel pen) ใช้หมึกที่เกิดจากการผสมผงหมึก (Dye) เข้ากับสารละลายจำพวกน้ำ โดยมีส่วนผสมของผงหมึกในอัตราที่สูง (ทางเคมีไม่เรียกว่าการละลาย แต่เรียกว่าการแขวนลอย) ทำให้ได้หมึกที่ข้นหนืด (แต่ไม่เท่าปากกาลูกลื่น)
    • เมื่อเทียบกับปากกาลูกลื่นแล้ว ปากกาเจลให้เส้นที่ลื่นกว่า
    • ด้วยความที่หมึกปากกาเจลเกิดจากการผสมผงหมึกในปริมาณที่เยอะ ทำให้หมึกปากกาเจลมีความทึบ จึงพบหมึกปากกาเจลพิเศษที่สามารถเขียนบนวัสดุสีดำได้ (เช่นปากกาเจลสีเงินหรือทอง)
    • และด้วยความที่หมึกปากกาเจลใช้เวลาแห้งนานกว่าปากกาลูกลื่น จึงมีโอกาสที่จะเปื้อนกระดาษได้ง่ายกว่า
    • ปากกาเจลซึมไปหลังกระดาษได้ง่ายกว่าปากกาลูกลื่น
ปากกา Uni-ball Signo DX
ปากกา Uni-ball Signo DX ที่เป็นระบบหมึกเจล
  • ปากกาโรลเลอร์บอล (Rollerball pen) ตัวหมึกเป็นผงหมึกละลายน้ำ (กล่าวคือตัวสีและน้ำกลายเป็นเนื้อเดียวกัน ไม่เหมือนปากกาเจลที่ผงหมึกไม่ละลายในตัวทำละลาย) ตัวหมึกมักมีความหนืดต่ำ และแห้งง่าย
    • เมื่อเทียบกับปากกาลูกลื่นแล้ว ปากกาโรลเลอร์บอลให้เส้นที่เรียบเนียนกว่ามาก เป็นผลมาจากการใช้หมึกที่ไม่หนืด
    • ปากกาแห้งไว เป็นผลมาจากการที่ใช้หมึกที่ไม่หนืดอีกเช่นกัน
    • หมึกซีมออกหลังกระดาษเยอะที่สุด เทียบกับปากกาสองชนิดข้างต้น (ลองดูตัวอย่างได้จาก Pen Heaven)
    • ด้วยความที่หมึกปากกาแห้งได้ง่าย ปากกาโรลเลอร์บอลแทบทุกยี่ห้อจึงมาในรูปแบบปากกามีฝาปิด ทำให้ยากที่จะพบปากกาโรลเลอร์บอลชนิดหมุน หรือชนิดกด ถึงแม้ภายหลังจะมีการพัฒนาปากกาโรลเลอร์บอลที่หมึกไม่แห้งเมื่อทิ้งไว้เป็นเวลานานก็ตาม

ปากกาหมึกซึม เก่าแต่ยังคงเก๋า

หัวปากกาหมึกซึม Caran d’Ache 849

ปากกาหมึกซึมเป็นปากกาชนิดแรกๆ ของโลก โดยพัฒนามาจากปากกาแบบจุ่มที่ไม่มีกลไกสำหรับกักเก็บหมึกในตัว (ปากกาแบบจุ่มจะใช้วิธีค่อยๆ เขียนค่อยๆ จุ่ม เมื่อหมึกที่ติดหัวปากกาหมด ก็ต้องจุ่มหมึกในขวดหมึกก่อนเขียนต่อ)

กลไกปากกาหมึกซึม (Public Domain)

โดยหลักแล้วปากกาหมึกซึมประกอบไปด้วยองค์ประกอบหลักสี่ส่วน ได้แก่

  • ตัวหมึก ปากกาแต่ละด้ามอาจมีกลไกการเติมหมึกต่างกันไป แต่โดยมากมักจะเป็นหลอดหมึก ทั้งแบบใช้แล้วทิ้ง (มีหมึกมาจากโรงงาน) หรือหมึกแบบหลอดสูบที่สามารถสูบหมึกใช้เองได้
    ทว่า มีปากกาบางชนิดที่มีกลไกสำหรับสูบหมึกฝังมาในตัวปากกา เรียกว่าปากกาชนิด piston-filling โดยมากปากกาชนิดนี้จะจุน้ำหมึกได้เยอะกว่าปากกาแบบใช้หลอดหมึก
  • ท่อส่ง เป็นท่อส่งหมึกเข้าไปสู่บริเวณรางหมึก
  • รางหมึก หรือฟีด เป็นบริเวณที่จะส่งหมึกออกมาให้สัมผัสกับบริเวณหัวปากกา
  • หัวปากกา หรือนิบ เป็นบริเวณที่ใช้เขียน อาจทำมาจากโลหะทั่วไปเช่นสเตนเลสอะลูมิเนียม หรือโลหะมีค่าจำพวกทอง โดยมากบริเวณปลายหัวปากกาจะมีการเคลือบโลหะอิริเดียมให้ปากกาเขียนง่าย
หัวปากกาหมึกซึม S.T. Dupont Fidelio
หัวปากกาหมึกซึม S.T. Dupont Fidelio

เหตุผลที่ทำให้ปากกาหมึกซีมยังได้รับความนิยมอยู่มีหลายเหตุผล เช่น

  • ลายมือดีขึ้น เป็นความรู้สึกหลังจากผู้เขียนใช้ปากกาหมึกซึมได้สักพัก พบว่าลายมือขณะเขียนออกมาดีมากขึ้น หลังจากการสอบถามผู้ใช้ปากกาหมึกซึมจำนวนหนึ่งก็พบว่ามีความคิดเห็นบางส่วนไปในทำนองเดียวกัน
  • ตัวเลือกปากกาที่มากขึ้น ปากกาหมึกซึมจากผู้ผลิตหลายยี่ห้อให้ความแตกต่างกันไป บางยี่ห้อมีปริมาณการไหลของน้ำหมึกมากและต่อเนื่อง เหมาะกับผู้ที่เขียนหนังสือเร็ว นอกจากนี้หัวปากกาของแต่ละยี่ห้อยังต่างกันไป หัวของปากกาบางรุ่นให้เส้นที่หนาขึ้นตามแรงกด (มักเรียกว่า flex pen) และอาจพบหัวปากกาชนิดอื่น เช่นปากกาหัวตัด ปากกาหัวปรับขนาดได้ (fude nib) เป็นต้น
  • ตัวเลือกของหมึกที่มากขึ้น ทีมงานไรท์ติ้งอินไทยพยายามที่จะนำหมึกปากกาชนิดและรูปแบบต่างๆ มารีวิวอยู่บ่อยๆ ด้วยความเชื่อว่าหมึกแต่ละสีสามารถสะท้อนอัตลักษณ์ของผู้ใช้ปากกาได้ (เช่นหมึกสีเขียวที่แสดงถึงความเพี้ยน) ปากกาหมึกซึมมีหมึกให้เลือกใช้หลายยี่ห้อและหลายสี โดยไม่จำกัดว่าต้องใช้หมึกยี่ห้อเดียวกับผู้ผลิตปากกาเท่านั้น (เช่นหมึกของ Diamine ที่มีราคาไม่แพง และมีสีให้เลือกเป็นจำนวนมาก)
  • เป็นสัญลักษณ์ ปฏิเสธไม่ได้ว่าปากกาหมึกซึมมีราคาค่อนข้างแพงเมื่อเทียบกับปากกาชนิดอื่น ปากกาหมึกซึมจึงเป็นเครื่องแสดงฐานะในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะปากกาหมึกซึมจากผู้ผลิตในตลาดหรูหรา (เช่น Montblanc หรือ S.T. Dupont — ทั้งนี้ผู้ผลิตทั้งสองเจ้าผลิตปากกาในตลาดหรูหราชนิดอื่น ที่ไม่ใช่ปากกาหมึกซึมด้วย)

ทั้งนี้ทั้งนั้น ปากกาหมึกซึมมีข้อควรพึงระวังก่อนการใช้ดังนี้

  • ต้องมีเวลา ปากกาหมึกซึมเป็นปากกาที่ต้องใช้เวลา ทั้งความเคยชินในการหัดเขียนช่วงแรก และเวลาเตรียมปากกาก่อนใช้ เช่นการเติมหมึก
  • ต้องดูแล ปากกาหมึกซึมเป็นปากกาที่กลไกภายในค่อนข้างละเอียดอ่อน ตัวปากกาต้องหมั่นล้างให้ถูกวิธีตลอดเวลาเพื่อลดโอกาสการอุดตันของหมึก
  • ต้องทะนุถนอม กลไกของปากกา โดยเฉพาะหัวปากกา มีความบอบบาง การเปลี่ยนและซ่อมปากกาในบางครั้งอาจแพงเทียบเท่าการซื้อปากกาด้ามใหม่
  • ต้องพิถีพิถัน ปากกาหมึกซึมอาจไม่สามารถเขียนได้ดีบนกระดาษทุกชนิด โดยเฉพาะกับกระดาษที่บาง (เช่นกระดาษ 70 แกรม ที่เมื่อเขียนแล้วน้ำหมึกจะซึมออก ทำให้หมึกทะลุกระดาษ และได้งานเขียนที่เส้นใหญ่) อย่างไรก็ดีทีมงานเชื่อว่าการใช้กระดาษดีๆ (อาจจะไม่ต้องเป็นกระดาษอย่างแพง ขอเพียงเลือกกระดาษสำนักงานทั่วไปที่แกรมหนาในระดับหนึ่ง) คู่กับปากกาดีๆ เป็นสิ่งที่พึงกระทำอยู่แล้ว

แต่หากเข้าใจข้อจำกัดของปากกาหมึกซีมแล้ว ผู้เขียนเชื่อว่าการใช้ปากกาหมึกซึมจะทำให้ผู้เริ่มหัดใช้หลงรักกับการเขียนได้ไม่ยากครับ และปากกาหมึกซึมเองก็เริ่มกลับมาเป็นที่นิยมในหมู่คนรุ่นใหม่ด้วย

สรุป: เลือกที่เหมาะสมกับตนเอง

  • หากไม่ต้องการบำรุงรักษา ไม่ใส่ใจอะไรนอกจากเขียนได้ก็พอ ปากกาลูกลื่นเป็นปากกาที่เหมาะที่สุด ต้องการการบำรุงรักษาต่ำถึงต่ำมาก (ทิ้งทันทีหากเป็นปากการาคาไม่แพง และเปลี่ยนไส้เก่าทิ้งหากเป็นปากกาเปลี่ยนไส้ได้) ตัวหมึกเขียนทน แต่ให้เส้นที่ไม่ประณีตสักเท่าไหร่ (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับยี่ห้อของปากกาด้วย)
  • หากต้องการเครื่องเขียนที่ดีขึ้นอีกระดับ ปากกาโรลเลอร์บอลและปากกาเจลเป็นตัวเลือกที่เหมาะสม ปากกาสองชนิดนี้อาจจะมีต้นทุนการบำรุงที่เยอะกว่าปากกาหมึกซึม (เช่นหมึกหมดไวขึ้น ต้องหมั่นเขียนกันหัวปากกาแห้ง) แต่ในมุมมองของผู้เขียน ปากกาสองชนิดนี้ให้เส้นที่ดีกว่าปากกาลูกลื่น
  • หากต้องการเริ่มกระโดดเข้าสู่โลกของเครื่องเขียน ปฏิเสธไม่ได้ว่าปากกาหมึกซึมเป็นปากกาชนิดที่เหมาะ ด้วยตัวเลือกทั้งหมึกและปากกาที่หลากหลาย ทำให้การตัดสินใจเลือกปากกาที่เหมาะกับผู้ใช้ทำได้ง่ายกว่าปากกาชนิดอื่นๆ

ไรท์ติ้งอินไทย จะพยายามสรรหาปากกาที่ทีมงานเชื่อมั่นในคุณภาพมารีวิว เพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้ซื้อในการเลือกปากกาที่เหมาะสมกับตัวเองมากที่สุดต่อไปครับ

Sirakorn Lamyai
Sirakorn Lamyaihttp://srakrn.me
ด้วยความที่เรียนวิศวกรรมศาสตร์ ศิระกรจึงพยายามมองการซื้อปากกาแต่ละด้ามเป็น "การลงทุน" และอยู่ในโลกของการพยายามหาปากกาที่ค่าตัวไม่แพงแต่มีคุณภาพสูงมาใช้เรื่อยๆ ถึงกระนั้น ศิระกรก็กำลังพยายามกระโดดไปโลกของปากกาในฐานะเครื่องประดับ และหวังว่าจะได้เรียนรู้อย่างเพลิดเพลินในโลกทั้งสอง

ติดตามเราบน Facebook

เนื้อหายอดนิยม

บทความที่เกี่ยวข้อง

- Advertisement -