23 ตุลาคม 2024
รีวิวรีวิว ปากกาหมึกซึม Waterman Carène

รีวิว ปากกาหมึกซึม Waterman Carène

สำหรับผู้ที่สนใจเครื่องเขียนในกลุ่มของปากกาหมึกซึม หลายท่านย่อมรู้จัก Waterman Carène หนึ่งในปากกาที่นักสะสมทั่วโลกต่างต้องมีเอาไว้สักด้ามในชีวิต เนื่องจากมีเอกลักษณ์การออกแบบที่ไม่เหมือนใคร และหัวปากกาที่เขียนได้ดีแบบไม่มีใครเหมือน

ไรท์ติ้งอินไทย มีโอกาสได้ปากกาด้ามนี้มาครอบครองและรีวิวให้ท่านผู้อ่านทุกท่านกันครับ

รู้จักกับ Waterman แบรนด์ที่ (เคย) โด่งดังในอดีต

ตราสัญลักษณ์ของบริษัท (ที่มา – Facebook ของบริษัท)

Waterman ถือเป็นผู้ผลิตปากกาชื่อดังของโลก และมีตำนานการก่อตั้งมายาวนานถึง 136 ปี นับตั้งแต่ปีคริสต์ศักราช 1884 เนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ก่อตั้งครั้งแรกที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

ตัวแบรนด์ก่อตั้งโดย Lewis Edson Waterman โดยเกิดจากการไปเข้าควบคุมกิจการที่เขาถูกจ้างมา และนายจ้างตัดสินใจทิ้งกิจการไปได้เพียง 6 สัปดาห์เท่านั้น โดยเขามีส่วนสำคัญในการพัฒนาระบบหมึกของปากกาหมึกซึมให้ดียิ่งขึ้น อย่างเช่นการออกแบบระบบรางจ่ายหมึกแบบใหม่ที่ป้องกันไม่ให้หมึกไหลมากจนเกินไป เป็นต้น

บริษัทเองเป็นเจ้าของสิทธิบัตรที่สำคัญหลายอย่างในโลกของปากกาหมึดซึม แต่ด้วยวิธีการทำธุรกิจที่เน้นความเป็นอนุรักษ์นิยม (พัฒนาแบบค่อยเป็นค่อยไป) ทำให้คู่แข่งเพื่อนร่วมชาติอย่าง Parker, Sheaffer, Wahl-Eversharp ขึ้นมาแย่งส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้บริษัทต้องไล่ตาม และในที่สุดก็ไม่สามารถทนอยู่ได้ การดำเนินงานในฝั่งสหรัฐอเมริกาจึงปิดตัวลงเมื่อปี 1954

แม้แบรนด์ที่สหรัฐจะหายไป แต่ส่วนการดำเนินงานที่ฝรั่งเศสยังคงอยู่ ทำให้แบรนด์ยังคงอยู่ และในที่สุดก็ไล่ซื้อทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับบริษัทแม่ในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ กลายมาเป็นบริษัท Waterman S.A. และทำให้ปากกาของ Waterman ทุกด้ามหลังจากนี้ จึงห้อยท้ายชื่อ Paris เมืองหลวงของฝรั่งเศสนั่นเอง

กระนั้นก็ตาม ชะตากรรมของ Waterman ก็ลุ่มๆ ดอนๆ ในปี 1958 Societe Bic S.A. ผู้ผลิตมีดโกนใช้แล้วทิ้งเข้าซื้อกิจการของบริษัท ก่อนจะขายทิ้งออกมาเป็นบริษัทต่างหาก, ปี 1987 บริษัท The Gillette Company ผู้ผลิตใบมีดโกนเข้าซื้อกิจการ และรวมเข้ากับ Parker ปี 1993 ก่อนที่จะขายออกไปให้กับ Sanford/Newell Brands ในปี 2000 นั่นเอง

แม้ตัวแบรนด์จะเป็นที่รู้จักอย่างดีในประวัติศาสตร์ แต่ในประเทศไทยแล้วแบรนด์นี้ถูกลดความสำคัญในการทำตลาดลงมาเรื่อยๆ จนในปัจจุบันเหลือวางขายอยู่เพียงไม่กี่จุดเท่านั้น และมีแนวโน้มว่าจะหายากขึ้นไปเรื่อยๆ ด้วยเช่นกัน ส่วนในต่างประเทศสถานการณ์ก็ตกอยู่ในสภาวะใกล้เคียงกัน

ปัจจุบัน แบรนด์มีเครื่องเขียนทั้งหมดอยู่ 6 รุ่น ไล่ตามลำดับคือ Exception ที่เป็นรุ่นสูงสุด, Carène, Perspective, Expert, Hémisphère และ Emblème ที่เป็นรุ่นล่างสุด และยังคงผลิตในฝรั่งเศสเหมือนเดิม

Carène ปากการุ่นรองท็อป ไม่เหมือนใคร

สำหรับ Carène ที่ถือเป็นรุ่นรองท็อปจาก Exception นับว่าเป็นปากกายอดนิยมอีกรุ่นหนึ่งสำหรับนักสะสมปากกาหลายคน ด้วยลักษณะของการออกแบบที่แตกต่างและไม่เหมือนกับปากการุ่นอื่นๆ ในท้องตลาด

ข้อมูลจากบริษัทระบุว่าปากการุ่นนี้เริ่มวางจำหน่ายเมื่อปี 1997 (พ.ศ. 2540) นับว่าเป็นรุ่นในยุคที่อยู่กับ Gillette ที่ยังคงจำหน่ายอยู่ในปัจจุบัน ได้แรงบันดาลใจจากเรือยอร์ชในการออกแบบ

จุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ อยู่ที่หัวเขียน (nib) ซึ่งมีลักษณะที่แปลกตากว่าหัวปากกาทั่วไป นั่นเพราะเป็นลักษณะที่เชื่อมเข้ากับส่วนจับเขียน (grip) ของปากกาที่เรียกว่า “in-laid nib” โดดเด่นกว่าปากกาทั่วไป (แม้กระทั่งกับแบรนด์ของตนเอง)

ในปัจจุบันปากการุ่นนี้ มีทั้งปากกาหมึกซึม ปากกาโรลเลอร์บอล และปากกาลูกลื่น ให้เลือกใช้งาน และมีสีสันทั้งหมด 8 แบบ สำหรับที่จะนำมารีวิวคือ ปากกาหมึกซึม โดยเป็นสี Marine Amber ที่เป็นสีแดงน้ำตาลขลิบทอง

บรรจุภัณฑ์

กล่องของปากกามาในแบบสีขาว พิมพ์ตราสัญลักษณ์แบบเต็มของแบรนด์เอาไว้บนกล่องเป็นสีทอง แลดูสะอาดตา แต่ในเวลาเดียวกันก็ดูธรรมดา ไม่มีความโดดเด่นอะไร

เมื่อถอดออกมา จะพบกับกล่องสีฟ้าพร้อมลวดลายเป็นพื้นหลัง พิมพ์ตราของแบรนด์เอาไว้ ทั้งด้านบนกล่องและด้านข้าง

เปิดออกมา จะพบกับปากกาวางไว้เรียบร้อย ด้านในบุด้วยวัสดุที่ดุฌหมือนหนังเทียม นุ่มมือ สีขาวครีมนวล เมื่อดึงด้านล่างที่วางปากกาไว้ จะพบกับคู่มือ และหลอดหมึกขนาดยาว 1 หลอด แถมมาด้วย (ไม่ได้ถ่ายมา)

สำรวจตัวด้ามปากกา

Carène เป็นปากกาที่เมื่อหยิบออกมาแล้ว ต้องบอกว่ามีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใครในหลายมิติ สำหรับรุ่นนี้ที่ใช้สีเป็น Marine Amber นั้น สีที่ออกมาจะมีลักษณะแดง-น้ำตาล เหลื่อมกันอยู่ (คล้ายๆ กับสีสนิมของโลหะ) แล้วเคลือบเงาอีกชั้นหนึ่ง นับว่าสวยงามอย่างมาก

แหนบ (คลิป) ปากกาที่ไว้หนีบ ชุบทอง พร้อมกับเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร ด้วยช่องว่างบนตัวคลิป ประทับตราของแบรนด์ และการออกแบบที่เลียนแบบคลื่น (wave)

ส่วนท้ายของด้ามเป็นลักษณะโค้งตัดเอียง (ไม่เหมือนปากกาทั่วไป) พร้อมแผ่นกลมสีดำปิดอยู่

วงแหวนบนปลอกมีการประทับคำว่า WATERMAN ด้านหน้า และ FRANCE เอาไว้ด้านหลัง

เมื่อดึงฝาออก จะพบจุดเด่นที่สุดของปากการุ่นนี้ คือหัวเขียน (nib) อันเป็นเอกลักษณ์ มีลักษณะผนวกรวมเข้ากับที่จับและซ่อนรางจ่ายหมึก (feed) เอาไว้ภายใน ที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า in-laid nib ทำจากทองคำ 18 กะรัต

อีกด้านหนึ่งของหัวเขียน จะมีช่องว่างเอาไว้ พร้อมตัวอักษรระบุขนาดเส้นของปากกา (ด้ามนี้เป็น F หมายถึง Fine)

กลไกภายในของปากการุ่นนี้ใช้เป็นหลอดหมึก ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งหลอดหมึกแบบใช้แล้วทิ้ง หรือหลอดสูบหมึก ที่รองรับทั้งของแบรนด์และ International Standard Cartridge

อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ของทีมงาน ขอแนะนำให้ใช้หลอดสูบหมึกที่แถมมาด้วยจะดีที่สุด เพื่อป้องกันการรั่วซึมภายในครับ (ทีมงานเจอในกรณีใช้กับหลอดสูบหมึกรุ่นเก่าของแบรนด์)

ทดสอบการใช้งานจริง

ทีมงานทดสอบปากกากับหมึก Pilot Iroshizuku Ama-iro สีฟ้า บนกระดาษ Double A ขนาด A4 ที่ความหนา 80 แกรม ได้ผลการทดสอบออกมาดังนี้

ตัวเส้นปากกาที่ขนาด Fine ให้ผลงานการเขียนที่ดี ตรงตามมาตรฐานขนาดเส้นตะวันตก แต่สิ่งที่สัมผัสได้คือปากกาสามารถเขียนได้ลื่นมากจนน่าตกใจ ให้น้ำหมึกที่ดี และเขียนได้นุ่มนวลเป็นอย่างมาก สร้างความประทับใจอย่างมาก ส่วนเรื่องของการเขียนกลับหัว (reverse writing) ก็ทำได้ดีไม่แพ้กัน

เวลาเขียน ไม่มีแรงต้าน (feedback) ใดๆ เรียกว่าเป็นหนึ่งในอีกด้านที่ทีมงานรู้สึกว่าเป็นปากกาที่เขียนได้ดีมากที่สุดเท่าที่เคยรีวิวมา

ในการใช้งานจริง ถ้าเสียบปลอกตอนท้ายจะรู้สึกมีน้ำหนักเล็กน้อย ในกรณีที่เป็นคนมือเล็ก ตัวด้ามจะค่อนข้างยาว ทำให้ปัดไปปัดมาได้ คำแนะนำอาจจะให้ถอดปลอกตั้งไว้แล้วเขียน จะดีกว่ามาก

จุดที่น่ารำคาญที่สุดในการใช้งานปากกาด้ามนี้อยู่ที่ “หัวเขียน” เช่นกัน เพราะถึงแม้จะสามารถเขียนได้ดีที่สุดด้ามหนึ่งที่เคยรีวิว แต่บริเวณส่วนที่เป็น “เขา” (horn) ของหัวเขียน จะมีหมึกไปกองอยู่ตรงนั้น ทำให้ถ้าจับปากกาแล้วไปโดยส่วนบริเวณเขานั้น ย่อมทำให้มือเลอะได้

นอกจากนั้นแล้ว การทำความสะอาดปากกาด้ามนี้เรียกว่าอยู่ในขั้นยากมาก เพราะไม่สามารถถอดประกอบชิ้นส่วนใดๆ ออกมาได้โดยง่าย ถ้าคิดจะใช้ปากกาด้ามนี้กับหมึกกันน้ำแล้ว ทีมงานคงไม่แนะนำเป็นอย่างยิ่ง

ราคาและสถานที่จำหน่าย

ในปัจจุบัน ปากการุ่นนี้ไม่มีวางจำหน่ายในประเทศไทย ดังนั้นใครที่ต้องการจำเป็นที่จะต้องหาจากต่างประเทศ โดยราคาทั่วไปสำหรับรุ่น Marine Amber อยู่ที่ด้ามละ 350 ดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตามราคามาตรฐานทั่วไปที่จำหน่ายกันประมาณ 200 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 7,000 บาท)

สรุป

Waterman Carène เป็นอีกหนึ่งปากกาน่าประทับใจจากแบรนด์ยอดนิยมในอดีต ตัวปากกาสามารถใช้งานเขียนได้ดี แทบไม่มีที่ติเลย ด้านการออกแบบเองก็มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น พกไปใช้งานได้ไม่อายใคร

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ไม่อาจมองข้ามได้เลย และเป็นจุดที่ไม่น่าให้อภัยมากๆ คือเรื่องของการทำความสะอาดที่ทำได้ยากยิ่ง เรียกว่าถ้าเกิดปัญหาอะไรขึ้น ต้องจับส่งเข้าศูนย์ซ่อมอย่างเดียวเท่านั้น นอกจากนั้นแล้วคือเรื่องของจุดบกพร่องในการออกแบบที่เขาของหัวเขียน ซึ่งถ้าจับไม่ดีก็มีเลอะด้วย

หากท่านมองหาปากกาที่ใช้งานได้ดี โดดเด่น มีเอกลักษณ์ สามารถใช้งานเขียนได้ดี ปากการุ่นนี้ย่อมตอบโจทย์ของท่านได้อย่างแน่นอน แต่จุดที่ต้องระวังจะอยู่ที่การบำรุงรักษา ซึ่งไม่เป็นมิตรเท่าใดนัก และจุดอ่อนของส่วนหัวเขียนที่จะทำให้เลอะมือ เป็นอีกจุดที่ควรพิจารณา

ข้อดีข้อเสีย
การออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์ส่วนเขาของปากกา เลอะหมึกได้
เขียนได้ดี ทำผลงานน่าประทับใจไม่เอื้อกับการบำรุงรักษาใดๆ ทั้งสิ้น ด้วยตนเอง
ไม่มีจำหน่ายประเทศไทย (การรับประกันจะเป็นปัญหา)

อ้างอิงและเครดิต

ข้อมูล – The New York Times, George Rimakis และ Daniel Kirchheimer, เว็บไซต์บริษัท, Amazon
ภาพถ่าย – ภัทรนันท์ ธนียวัน ลิ้มอุดมพร
สถานที่ – The FIRST Lounge โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท

สรุปรีวิว

REVIEW OVERVIEW

ปากกาหมึกซึม Waterman Carène

ความเห็นภาพรวม

ปากกาที่ใช้งานได้ดี โดดเด่น มีเอกลักษณ์ สามารถใช้งานเขียนได้ดี แต่จุดที่ต้องระวังจะอยู่ที่การบำรุงรักษา ซึ่งไม่เป็นมิตรเท่าใดนัก และจุดอ่อนของส่วนหัวเขียนที่จะทำให้เลอะมือ เป็นอีกจุดที่ควรพิจารณา
Patranun Thaniyavarn Limudomporn
Patranun Thaniyavarn Limudompornhttps://www.patranun.com/
เป็นเพียงมนุษย์ธรรมดา คนเดินดิน เรียนจบรัฐศาสตร์ ชอบปากกามาตั้งแต่เด็กๆ แต่ไม่ค่อยได้บอกให้ใครรู้ เริ่มใช้ปากกาหมึกซึมมาตั้งแต่ระดับประถม และใช้ปากกาลูกลื่น Montblanc Generation เป็นปากกาประจำตัว เลิกใช้ปากกาหมึกซึมไประยะหนึ่งก่อนกลับมาใช้ใหม่เพราะเพื่อนฝูงชักชวน แต่ก็ยังวนเวียนกับปากการะดับพรีเมียมเช่นเคย

ติดตามเราบน Facebook

เนื้อหายอดนิยม

บทความที่เกี่ยวข้อง

- Advertisement -
ปากกาที่ใช้งานได้ดี โดดเด่น มีเอกลักษณ์ สามารถใช้งานเขียนได้ดี แต่จุดที่ต้องระวังจะอยู่ที่การบำรุงรักษา ซึ่งไม่เป็นมิตรเท่าใดนัก และจุดอ่อนของส่วนหัวเขียนที่จะทำให้เลอะมือ เป็นอีกจุดที่ควรพิจารณารีวิว ปากกาหมึกซึม Waterman Carène