หากกล่าวถึงปากกาหมึกซึมที่ได้รับการยอมรับในเชิงวิศวกรรม Pilot Vanishing Point น่าจะเป็นปากกาอันดับต้นๆ ด้วยการผสานระหว่างปากกาหมึกซึมและปากกาลูกลื่นเข้าด้วยกัน ทำให้กลายเป็นหนึ่งในปากกาหมึกซึมที่ถูกกล่าวขาน ในฐานะนวัตกรรมที่ทำให้ปากกาหมึกซึม กลับมาอยู่ในรูปแบบของปากกาสมัยใหม่อีกครั้งหนึ่ง
ไรท์ติ้งอินไทย ได้ปากกาด้ามนี้มา และวันนี้ทีมงานจะมารีวิวปากกาด้ามนี้ให้ท่านผู้อ่านกันครับ
Pilot Vanishing Point ในฐานะผลิตผลของวิศวกรรม
หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับปากกาหมึกซึมในรูปแบบของฝาปิด ไม่ว่าจะเป็นการหมุนปิด (twist open) หรือการใช้ปลอกปิดตรงๆ (snap cap) แต่ปากกาหมึกซึมในรูปแบบเดียวกับปากกาลูกลื่น ที่เป็นแบบกดปุ่มหรือหมุนแล้วเปิดหัวออกมาเขียน แบบเดียวกับปากกาลูกลื่น (retractable nib) เป็นสิ่งที่ค่อนข้างใหม่มาก และยังมีอยู่เพียงไม่กี่รุ่น เช่น Heritage 1912 หรือ Bohéme จาก Montblanc
แต่กรณีของปากกาที่สามารถเก็บหัวปากกาแล้วไม่ต้องใช้ปลอกปากกาเลย เป็นสิ่งที่หาได้ยากยิ่ง ในปัจจุบันมีผู้ผลิตเพียง 2 เจ้าที่เป็นที่รู้จักกันดีในตลาดคือ dialog 3 ของ LAMY และที่โด่งดังที่สุดคือ Vanishing Pointหรือ Capless จาก Pilot ผู้ผลิตเครื่องเขียนรายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นและหนึ่งในผู้ผลิตเครื่องเขียนรายสำคัญของโลก
Pilot เป็นหนึ่งใน 3 บริษัทใหญ่แห่งโลกเครื่องเขียน (อีก 2 เจ้าคือ Platinum และ Sailor) ของประเทศญี่ปุ่น ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1918 โดย Ryosuke Namiki และ Masao Wada ในชื่อ Namiki Manufacturing Company จากนั้นจึงเปลี่ยนชื่อเป็น Pilot ในปี ค.ศ. 1938 และผลิตเครื่องเขียนกับเครื่องประดับเรื่อยมา แต่ที่มีชื่อเสียงที่สุดคือปากกา
ปัจจุบันบริษัทมีแบรนด์สินค้าอยู่ 2 แบรนด์หลักคือ Pilot ที่ทำปากกาทุกประเภทและทุกแบบ รวมถึงทุกช่วงราคา และ Namiki แบรนด์ระดับพรีเมียมในกลุ่มปากกาหมึกซึมและโรลเลอร์บอล โดยเฉพาะอย่างยิ่งปากกาที่ตัวด้ามใช้เทคนิค Maki-e (อ่านว่า มากิ-เย) ที่เป็นเทคนิคงานศิลปะขั้นสูงของญี่ปุ่น โดยการวาดภาพแล้วโรยด้วยผงทองหรือสีที่มาจากโลหะต่างๆ ก่อนจะเคลือบทับด้วยแลกเกอร์อีกชั้นหนึ่ง ซึ่งทำให้ปากกาของ Namiki มีราคาแพงมากกว่าปกติทั่วไป
สำหรับ Pilot Vanishing Point เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ปากกาหมึกซึมของบริษัท ถูกนำออกสู่ตลาดครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1963 (คู่แข่งอย่าง Platinum ออกมาเมื่อปี ค.ศ. 1965 แต่ก็เลิกผลิตไปแล้ว) โดยถือเป็นปากกาหมึกซึมรุ่นแรกในตลาดที่ใช้กลไกแบบหมุน (twist-open) แบบเดียวกับปากกาหมึกซึม เพื่อให้หัวปากกาออกมาและเก็บกลับเข้าไป โดยที่ไม่ต้องใช้ฝาปลอกปากกาเสียบเก็บแบบเดียวกับปากกาหมึกซึมอื่นๆ ในเวลานั้น จากนั้นในปี ค.ศ. 1964 จึงออกปากกาโดยใช้กลไกปุ่มกด (knock-on หรือ click) แบบเดียวกับปากกาลูกลื่นที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบัน
เนื่องจากเป็นปากกาหมึกซึมรุ่นแรกที่ไม่ใช้ปลอกปากกา ทำให้เป็นปากกาหมึกซึมรุ่นแรกที่ได้รับการกล่าวขานอย่างมากว่าเปลี่ยนแปลงแนวคิดเกี่ยวกับปากกาหมึกซึมไปโดยสิ้นเชิง และในตอนแรกปากการุ่นนี้ถูกทำตลาดโดยใช้ชื่อว่า Capless เพื่อสื่อถึงปากกาหมึกซึมที่ไม่มีปลอก แต่ในปี ค.ศ. 1973 บริษัทจึงเริ่มใช้ชื่อ Vanishing Point ทำตลาดในบางประเทศ (เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย) ส่วนชื่อ Capless ยังคงใช้ในแถบประเทศยุโรปและญี่ปุ่นเป็นหลัก ดังนั้นในหลายครั้งเราจึงเห็นรีวิวปากการุ่นนี้ในชื่อแตกต่างกันไป (สำหรับไรท์ติ้งอินไทย เราขอยึดตามชื่อทำการตลาดในสหรัฐอเมริกา)
ความสำคัญของปากการุ่นนี้อยู่ที่กลไกที่ Pilot เลือกที่จะออกแบบหัวปากกาและกลไกของการกดแยกออกจากกัน กล่าวคือใช้แนวคิดแบบปากกาลูกลื่น ที่หัวปากกา รางจ่ายหมึก และที่ใส่หมึก แยกออกมาจากตัวด้ามปากกาอย่างชัดเจน (เรียกว่า nib unit) ส่วนกลไกในการกดอยู่ภายในปากกา ส่วนหัวของปากกามีช่องที่ถูกปิดด้วยประตู (door) ที่จะถูกดันเปิดด้วยหัวปากกาและรางจ่ายหมึก ภายในนั้นจะถูกปิดสนิท ทำให้หมึกไม่ระเหย และยังพร้อมเขียนอยู่เสมอ จึงถือได้ว่าเป็นผลิตผลของวิศวกรรมอย่างยาวนานที่ทำให้ปากกาหมึกซึม สามารถอยู่ในรูปร่างใหม่ได้
การออกแบบของ Vanishing Point เองก็เป็นอีกจุดที่ได้รับการขนานถึงความแปลก เพราะเป็นปากการุ่นแรกที่หัวปากกาอยู่ตำแหน่งเดียวกับแหนบ (คลิปปากกา) เพราะเวลาจัดเก็บขึ้น หัวปากกาจะชี้หงายขึ้น เป็นการป้องกันเหตุการณ์หมึกปากการั่ว และนี่จึงทำให้ตำแหน่งการจับและเขียนของปากการุ่นนี้ แปลกกว่าคนอื่นด้วย ส่วนการออกแบบอื่นๆ ก็มีการปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลา โดยรูปแบบในปัจจุบันเป็นแบบที่ได้รับการออกแบบมาเมื่อปี ค.ศ. 1998 และมีการปรับเปลี่ยนอีกเล็กน้อยในรุ่นพิเศษ แต่โดยรวมแล้วแทบไม่มีความเปลี่ยนแปลงใดๆ เลยนับจากนั้น
Vanishing Point เคยถูกทำตลาดทั้งในแบรนด์ Pilot และ Namiki โดยรุ่นที่เป็น Namiki มักจะมีราคาแพงกว่าทั้งของใหม่และมือสองที่จำหน่ายในตลาดรอง แต่มาภายหลัง บริษัทได้ตัดสินใจใช้แบรนด์ Pilot อย่างเดียวกับปากการุ่นนี้ โดยรุ่นที่เป็น Namiki มักมีการออกแบบพิเศษ (เช่นทรง 8 เหลี่ยม) ทำให้มีราคาค่าตัวที่สูงกว่าในตลาด ปัจจุบันราคามือสองยังอยู่ที่ระดับเกือบ 1 หมื่นบาทในสภาพใช้งาน และถ้าเป็นสภาพใหม่ก็จะอยู่ที่หลักหมื่นแทบทั้งสิ้น
รุ่นย่อยของ Pilot Vanishing Point
หากแบ่งโดยคร่าว ในปัจจุบันบริษัทมีรุ่นย่อยของปากการุ่นนี้ จำนวนทั้งหมด 6 รุ่นด้วยกัน ดังต่อไปนี้
- Vanishing Point / Capless รุ่นปกติ วางจำหน่ายครั้งแรกปี ค.ศ. 1998 สามารถแบ่งย่อยได้อีก 2 รุ่น ดังนี้
- รุ่นที่ใช้หัวปกติ (special alloy nib) ที่ใช้โลหะผสมแบบพิเศษทำเป็นหัวปากกา รุ่นนี้มีราคาถูกที่สุด (ประมาณ 2,300 บาท) และจำหน่ายเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น รหัสการผลิตขึ้นต้นด้วย FCN-1MR จุดสังเกตคือหัวเขียนจะไม่มีการระบุค่าความบริสุทธิ์ของทองเอาไว้ (เช่น 18K-750) และเป็นรุ่นเดียวที่ไม่ใช่หัวทองคำ
- รุ่นหัวทองคำ 18 กะรัต เป็นรุ่นที่มีวางจำหน่ายทั่วโลกและมีสีสันจำนวนมาก รหัสการผลิตขึ้นด้วย FC-15SR หรือ FC-18SR ราคาจะอยู่ที่ประมาณ 3,500 บาทขึ้นไป
- Fermo เป็นรุ่นเดียวที่ใช้วิธีหมุนท้ายปากกาเพื่อเปิดหัวปากกาออกมา แบบเดียวกับรุ่นแรกที่ปล่อยเมื่อปี ค.ศ. 1963 รหัสการผลิตเป็น FCF-2MR วางจำหน่ายครั้งแรกปี ค.ศ. 2006
- Wood เป็นรุ่นที่ใช้วัสดุตัวด้ามเป็นไม้ แทนที่จะเป็นเรซินหรือพลาสติก รหัสการผลิต FC-25SK ปัจจุบันหาได้เฉพาะในประเทศญี่ปุ่น เป็นรุ่นย่อยจากรุ่นหลักอีกทีหนึ่งที่เปลี่ยนเฉพาะวัสดุเท่านั้น
- Decimo (บางแห่งไม่ใช้ชื่อ Vanishing Point หรือ Capless ในการทำตลาด) มีรูปร่างที่ผอมบางกว่าปกติ รหัสการผลิต FCT-15SR วางจำหน่ายครั้งแรกปี ค.ศ. 2005 ที่ใช้ชื่อนี้เพราะถือเป็นรุ่นย่อยที่ 10 นับตั้งแต่ผลิตปากกาแบบนี้มา
- Raden เป็นปากกาที่แพงที่สุดในทุกรุ่น ทำมาจากเปลือกหอยเป๋าฮื้อและหอยมุก พร้อมเคลือบแลกเกอร์ (urushi) ของญี่ปุ่น เคยวางจำหน่ายในชื่อ Namiki มาก่อน รหัสการผลิต FCN-5MP และวางจำหน่ายครั้งแรกปี ค.ศ. 2013 ปัจจุบันยุติการผลิตไปแล้ว ของที่เหลืออยู่ในตลาดจึงเป็นของเดิม และเป็นที่นิยมหาเล่นกันในท้องตลาดอย่างมาก ส่วนราคาว่ากันที่หลักหมื่นขึ้นไปไม่ว่าจะในตลาดแรกหรือตลาดรอง (ถ้าหาได้ต่ำกว่านี้ ถือว่าโชคดีอย่างมาก)
นอกจากนั้นแล้ว ยังมีรุ่นที่ใช้หัวปากกาเป็นทองคำ 14 กะรัตเช่นกัน แต่ปัจจุบันบริษัทได้เลิกผลิตไปหมดแล้ว และในบางตลาดบริษัทก็วางจำหน่ายรุ่นที่เป็นปากกาลูกลื่นจริงๆ เช่นในสหรัฐอเมริกา เป็นต้น (รหัสรุ่น VPGBP)
ข่าวดีก็คือ ทุกรุ่นใช้ชุดหัวปากกา (nib unit) แบบเดียวกันหมด เปิดทางให้เปลี่ยนและสลับใช้กันได้ตามใจชอบ รวมถึงสามารถซื้อแยกกันได้ อย่างไรก็ตามตัวชุดหัวปากกานี้มีราคาสูงถึง 60-70% ของราคาแท่งใหม่ ดังนั้นใครที่อยากจะเปลี่ยนหัวจริงๆ อาจจะต้องคิดเล็กน้อยว่าซื้อใหม่คุ้มกว่าหรือไม่
แกะกล่องปากกา
ทีมงานได้ปากกาด้ามนี้มาจากประเทศญี่ปุ่น ดังนั้นบรรจุภัณฑ์อาจแตกต่างจากประเทศอื่นที่วางจำหน่าย นอกจากนั้นแล้วปากกายังใช้ชื่อว่า Capless ที่เป็นชื่อดั้งเดิมด้วย
กล่องด้านนอกเป็นกระดาษแข็ง ทำโลโก้และตรา Pilot เอาไว้เรียบง่าย ใช้สีขาวดำ
แกะออกมา กล่องด้านในเป็นพลาสติกใส ใช้วิธีการยกเปิดฝาออกตามปกติ ภายในนอกจากตัวปากกาก็ประกอบไปด้วยคู่มือการดูแล และหมึกหลอดแต่เพียงอย่างเดียว
สำหรับปากการุ่นนี้ ท่านสามารถซื้อ CON-20 ที่เป็นหลอดสูบหมึกแบบบีบอัดไล่อากาศ เวลาเติมหมึกต้องบีบไปบริเวณที่กำหนด, CON-50 ที่เป็นหลอดสูบหมึกแบบหมุน (piston converter) หรือ CON-40 ที่ออกแบบมาแทนที่ตัว 50 เดิม หรือหลอดหมึกของ Pilot มาใส่ได้ (แต่ต้องใส่ตัวกัน หรือ Catridge cover ด้วย) ทั้งนี้ หลอดสูบหมึกแบบ CON-40 หรือ CON-50 จุหมึกได้น้อยมากๆ จนน่าตกใจ ดังนั้นควรคิดถึงในมิตินี้นะครับ
เช่นเดียวกับปากการุ่นอื่นๆ จากบริษัทนี้ ผู้ที่มี International Standard Converter หรือหมึกที่ใช้ช่องแบบมาตรฐานสากล จะไม่สามารถใช้ในปากการุ่นนี้ได้ครับ (คุกกระจกอันสวยงามของ ecosystem)
แหนบปากกามีติดป้ายระบุชื่อรุ่น (Capless) ด้านหลังมีรหัสแท่ง (barcode) พร้อมรหัสรุ่น และราคาวางจำหน่ายที่แนะนำอยู่ที่ 15,000 เยน (ประมาณ 4,400 บาท) ซึ่งเป็นราคาไม่รวมภาษีท้องถิ่น
ลองจับตัวปากกา
ทันทีที่เราหยิบปากกาขึ้นมา ทีมงานสัมผัสได้ถึงน้ำหนักของปากกาด้ามนี้ที่อาจจะมากกว่าปกติอยู่เล็กน้อย เมื่อเทียบกับปากกาหมึกซึมในขนาดที่ใกล้เคียงกัน เช่น Caran d’Ache 849 รูปทรงของปากกาเหมือนจรวดหรือขีปนาวุธ ส่วนการออกแบบถือว่าแปลกมาก โดดเด่นไม่ซ้ำใคร ส่วนเรื่องสีสัน ต้องบอกว่าสีที่ทีมงานเลือกเป็นสไตล์แบบคลาสสิค ไม่มีตกแต่งอะไรเลยทั้งสิ้น เป็นสีดำเรียบๆ
ทีมงานยังไม่แน่ใจเรื่องวัสดุว่าตกลงแล้ว ส่วนที่เป็นเงาคือวัสดุประเภทใด ระหว่างเรซิน หรือ แลกเกอร์ เพราะข้อมูลที่ได้ไม่ตรงกัน บางแห่งบอกเป็นเรซิน บางแห่งบอกเป็นแลกเกอร์เคลือบ
จุดแรกที่เป็นจุดเด่นชัดมากๆ คือปากกาด้ามนี้เป็นปากกาหมึกซึมที่มีการวางหัวคลิปกลับด้านจากปกติ กล่าวคือ หัวปากกาอยู่ด้านบนตำแหน่งเดียวกับคลิปนั่นเอง โดยจะมีช่อง ซึ่งภายในจะมีประตู (door) ปิดหัวปากกาเอาไว้อย่างแน่นหนา ทำให้หมึกไม่ระเหยและไม่หกเลอะเทอะ
และแน่นอนว่าตอนใช้ ตัวคลิปก็จะเป็นส่วนที่คั่นระหว่านิ้วที่เราจับครับ ใครจับท่าที่ไม่ถนัดก็มีรำคาญได้
พอเรากดออกมา หัวปากกาก็จะโผล่ออกมาแบบนี้ (รุ่นที่เรามารีวิวเป็นหัวปากกาขนาดเส้นไซส์ M ใช้ทองคำที่ความบริสุทธิ์ 18 กะรัต เป็นวัสดุ)
ส่วนกลไกการกดนั้นไปอยู่ที่ด้านท้ายของปากกาครับ เมื่อกดเข้าไปส่วนหัวปากกาจะออกมาอีกด้านหนึ่ง
การออกแบบเช่นนี้ ทีมงานเชื่อว่าทางบริษัทน่าจะได้แรงบันดาลใจมาจากปากกาลูกลื่น ที่มีการแยกไส้กับกลไกการกดออกจากกัน เพราะการออกแบบปากการุ่นนี้ กลไกของการกดเป็นอิสระจากกลไกของปากกาและรางจ่ายหมึก กล่าวคือ หัวปากกาและตัวรางจ่ายหมึก รวมถึงโครงสร้างของกลไกปากกาที่เป็นส่วนปากกาทั้งหมด เป็นโมดูลที่แยกอิสระจากตัวปากกา เรียกว่า nib unit ทำให้การเติมหมึกปากการุ่นนี้ ใช้วิธีการถอดตัวด้ามออกมาโดยหมุน แล้วจากนั้นดึง nib unit ออกมาเติมเหมือนปากกาหมึกซึมปกติ จากนั้นจึงใส่เข้าไปในตัวด้าม
วิธีนี้มีข้อดีคือเปลี่ยนเส้นของปากกาหรือหัวปากกาได้ง่ายๆ แค่เปลี่ยน nib unit แต่ข้อเสียคือราคาของ unit ที่แพงมากถึงประมาณ 70% ของราคาปากกาทั้งหมด
การนำตัว nib unit ออกมา ต้องหมุนตัวปากกาออกมาจากจุดนี้ที่เป็นจุดเชื่อมกันระหว่างตัวปากกาส่วนหน้าและส่วนหลังครับ ส่วนการใส่โมดูลปากกา ทีมงานแนะนำให้ค่อยๆ ใส่อย่างระมัดระวัง (กันหัวปากกากระแทกกับชิ้นส่วนภายในจนเสียหาย) โดยใส่หัวปากกาเข้าไปด้านหัวที่กำหนดเอาไว้ครับ
ทดลองเขียนและใช้งาน Pilot Vanishing Point
ทีมงานทดสอบเขียนปากการุ่นนี้ โดยใช้หมึก Pilot Iroshizuku Kon-Peki และใช้กระดาษ Quality A4 ที่ความหนา 80 แกรม (gsm)
ทีมงานพบว่าปากการุ่นนี้ค่อนข้างเรื่องมากเป็นพิเศษ กล่าวคือหัวปากกาจะเขียนได้ดีในบางมิติบางมุมเท่านั้น เช่น ถ้าลากเส้นจากขวาไปซ้าย หมึกจะไหลได้ดี แต่ถ้าเป็นซ้ายไปขวา หมึกจะขาดๆ ส่วนถ้าลากจากล่างขึ้นบน เส้นจะไม่มีปัญหาขาด แต่จากบนลงล่างจะมีปัญหา นอกนั้นแล้วถ้าตั้งองศาไม่ถูกต้อง ก็จะเขียนได้ยากมากๆ
ตอนแรกทีมงานเข้าใจว่าหัวปากกามีปัญหา ทำให้เกิดอาการเช่นว่านี้ แต่เมื่อใช้แว่นขยายที่ความละเอียด 40 เท่าส่องแล้ว ก็ไม่มีปัญหาเรื่องหัวเบี้ยวหรือไม่ได้ระดับ จากนั้นทีมงานจึงทดสอบโดยการดึงเฉพาะ nib unit ออกมาเขียน ปากกาก็ไม่มีปัญหาอะไร จึงได้ข้อสรุปว่าตำแหน่งและการจับตัวด้ามปากกา โดยเฉพาะที่มีคลิปหรือแหนบปากกามาคั่นตรงกลาง ทำให้มือถูกบังคับ และเขียนไม่ชินนั่นเอง จนทำให้เส้นต่างๆ ขาดไป นับว่าเป็นปากกาที่มีลักษณะของการบังคับให้เขียนมากที่สุดด้ามหนึ่ง ไม่ต่างจาก LAMY 2000 ที่เคยรีวิวไปแล้ว
หากตัดมิติของการเขียนที่จำกัดเพราะตัวด้ามปากกาไป ต้องบอกว่าในจังหวะที่เขียน ปากกาด้ามนี้เขียนได้ลื่นมากกว่าที่คิด แม้ว่าจะเขียนกลับหัว (reverse writing) ไม่ได้เลยก็ตาม ไหลลื่น ไม่มีอาการกินเนื้อกระดาษ นอกจากนั้นแล้วยังเขียนได้ดี ให้เส้นที่มีคุณภาพ ข้อสังเกตทีมงานประการหนึ่งคือ ขนาดเส้นที่ไม่ได้ใช้การแบ่งเส้นแบบญี่ปุ่น ที่ปกติแล้วขนาดเส้นของญี่ปุ่นจะเล็กกว่าเส้นของตะวันตกอยู่ 1 ระดับ (เช่น M ของแบรนด์ตะวันตก เทียบเท่ากับ B ของญี่ปุ่น หรือ F ของตะวันตก เท่ากับ M ของญี่ปุ่น) แต่ทำตามมาตรฐานตะวันตก ดังนั้นไซส์ M ที่ออกมา จึงเป็นไซส์ M แบบตะวันตก
จุดที่ทีมงานปวดหัวที่สุด คือจุดที่หัวปากกาออกมาจากตัวปากกา เนื่องจากเป็นจุดที่มีคราบน้ำหมึกติดสะสมอยู่ การล้างทำได้ยากมากกว่าที่คิด ดังนั้นแล้วใครที่ต้องการเปลี่ยนหมึกบ่อยๆ (ต่างหมึก ต่างสี) หรือต้องการใช้หมึกที่ติดถาวร ทีมงานไม่แนะนำปากกาด้ามนี้โดยเด็ดขาดเพราะขั้นตอนการล้างไม่ใช่ง่ายๆ และถ้าหากล้างเฉพาะ nib unit อย่างเดียว แล้วเปลี่ยนหมึก หมึกเดิมที่ตกค้างอยู่ในตัวด้ามปากกาจะยังคงไหลออกมาปะปนกับหมึกใหม่ เป็นสภาพที่ไม่น่าชมอย่างยิ่ง
นอกเหนือจากนั้นแล้ว รุ่นที่ทีมงานได้รับ ยังเป็นรอยง่าย และมีคราบลายนิ้วมือเต็มไปหมดเมื่อใช้งานได้ไม่นาน ทีมงานต้องเช็ดปากกาอยู่เป็นประจำเพื่อให้เงางามเหมือนตอนซื้อใหม่ เรียกว่าดูแลยากกว่าปากกาอย่าง Montblanc Meisterstück 149 ไปมากโข
สรุป
คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า Pilot Vanishing Point เป็นหนึ่งในปากกาหมึกซึมที่ฉีกตลาด แนวคิด และรูปแบบของปากกาหมึกซึมไปมาก อาจเรียกได้ว่านี่เป็นหนึ่งในปากกาที่ “คิดใหม่ ทำใหม่” (reinvented) กับปากกาหมึกซึมอย่างแท้จริง คงไม่เป็นการกล่าวที่เกินจริงว่า ด้วยความเก่งกาจทางวิศวกรรม ทำให้ปากกาหมึกซึมที่เราคุ้นเคยกันในแบบเดิม สามารถเปลี่ยนมาเป็นปากกาในรูปแบบนี้ได้ และปากการุ่นนี้ย่อมเป็นปากกาหมึกซึมที่มีผลงานอัดแน่นในทางวิศวกรรมมากเป็นอันดับต้นๆ
อย่างไรก็ตาม การคิดใหม่ทำใหม่นี้ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีข้อเสียอยู่เลย สำหรับคนที่จับคอปากกา (section) ที่ค่อนข้างชิด การมีแหนบหรือคลิปแทรกอยู่ตรงกลางทำให้เขียนไม่สะดวก รวมถึงทำให้การจัดท่าในตอนเขียนไม่เป็นธรรมชาติ กรณีของทีมงานพบว่าหัวปากกาเมื่อทำงานร่วมกับตัวด้าม ให้ผลลัพธ์และช่วงการเขียนที่แคบ เราพบว่าการดึง nib unit ออกมาเขียนในหลายครั้งก็ให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า เพราะไม่ต้องเกร็งมือให้อยู่ในองศาที่เขียน
ถ้าเขียนได้โดยไม่มีปัญหาอะไร นี่คือหนึ่งในปากกาที่เขียนดี เขียนนุ่ม เป็นอันดับต้นๆ ของเว็บ หัวปากกาแม้จะแคบและเล็ก แต่ก็สามารถเขียนได้อย่างสนุกสนานและลื่นอย่างมาก
นอกจากปัญหาเรื่องการเขียนที่ค่อนข้างจะต้องตามใจตัวปากกาแล้ว ยังมีเรื่องของการทำความสะอาดของปากกาที่ยากมากในระดับที่อาจเรียกได้ว่า เป็นความปวดหัวเลยทีเดียว ทีมงานแนะนำว่าควรวางแผนดีๆ และพยายามใช้หมึกสีเดียวกันตลอด รวมถึงหลีกเลี่ยงหมึกกันน้ำที่จะล้างได้ยากหรือล้างไม่ออกด้วย
คู่แข่งของปากกาหมึกซึม Pilot Vanishing Point
ถ้าหาท่านไม่ชอบดีไซน์หรือการออกแบบของปากการุ่นนี้ มีเพียงอีกยี่ห้อและรุ่นเดียวที่มีคุณสมบัติเหมือนๆ กัน คือ LAMY dialog 3 เท่านั้นที่ท่านจะได้ใช้ปากการูปแบบนี้ อย่างไรก็ตามปากการุ่นดังกล่าวมีน้ำหนักมากกว่าปากกาที่นำมารีวิวในวันนี้ และราคายังคงแพงกว่าด้วย (ราคาที่ทีมงานเคยเจอคือ 11,800 บาท) ข้อดีประการเดียวคือ dialog 3 มีวางขายในประเทศไทยผ่านตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ ทำให้การรับประกันยังคงต่อเนื่อง และมั่นใจได้ว่าถ้ากลไกเสียจะมีที่ซ่อมแน่นอน
แหล่งที่ซื้อ
สำหรับ Pilot Vanishing Point หรือ Capless เป็นปากกาที่ไม่มีวางจำหน่ายในไทยอย่างเป็นทางการ หนทางเดียวที่จะได้มาในครอบครอง คือต้องซื้อจากต่างประเทศเท่านั้น หลายรุ่นก็เลิกวางจำหน่ายไปแล้ว นอกจากนั้นศูนย์บริการของ Pilot ประเทศไทยเองก็ไม่น่าจะซ่อมปากการุ่นนี้ได้
คำแนะนำของทีมงานคงเป็นว่า ถ้าหากท่านต้องการจะซื้อปากการุ่นนี้ ท่านผู้อ่านจำเป็นต้องแบกรับความเสี่ยงทั้งหมด ซึ่งรวมถึงการส่งกลับไปซ่อมด้วย ดังนั้นควรต้องคิดถึงในจุดนี้ให้ดีครับ
ข้อดี | ข้อเสีย |
ปากกาหมึกซึมที่อัดแนวคิดทางวิศวกรรม | ช่วงและการเขียน ตลอดจนถึงการจับ ทำให้เขียนได้ยาก |
รูปร่างแปลกตาจากปากกาทั่วไป | ล้างยากมาก ในกรณีที่ต้องเปลี่ยนหมึกก็ทำได้ยากยิ่ง |
เปลี่ยน nib unit ได้ | Nib unit มีราคาแพงมาก |
ปากกาเป็นรอยง่าย และคราบลายนิ้วมือก็ติดง่ายมาก |
You must be logged in to post a comment.