หากกล่าวถึงปากกาหมึกซึมในระดับตำนาน คงเลี่ยงไม่พ้นที่จะกล่าวถึง Montblanc Meisterstück 149 (หรือ Montblanc 149) ที่เป็นปากกาซึ่งใครๆ ก็รู้จัก และนับว่าเป็นปากกาที่มีส่วนสำคัญในเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์มาหลายครั้ง รวมถึงเป็นปากกาที่ผู้นำทั่วโลกต่างใช้ และเป็นปากกาหมึกซึมที่นักสะสมทั่วโลกต่างถวิลหาที่จะได้มาครอบครอง
ไรท์ติ้งอินไทย ขอนำเสนอรีวิวปากการุ่นนี้ เป็นภาษาไทยโดยคนไทยครั้งแรก เพื่อนำพาท่านผู้ชมไปสัมผัสถึงปากการะดับตำนาน ตลอดจนถึงประวัติศาสตร์ของปากการุ่นนี้ ที่ทำให้กลายเป็นหนึ่งในปากกาที่ผู้คนทั้งหลาย ต่างอยากจับจ้องเป็นเจ้าของ เพื่อเป็นตัวแทนและเครื่องหมายของความสำเร็จในชีวิต รวมถึงเป็นหนึ่งในปากกาหมึกซึม ที่คนชอบปากกาหมึกซึมตัวจริงต้องมีอย่างน้อยสักด้ามในชีวิต
ข้อมูลแจ้งเพื่อทราบ: รีวิวนี้ เขียนจากประสบการณ์ตรงของทีมงาน และไม่ได้รับการสนับสนุนใดๆ ในทางการเงินจากแบรนด์หรือตัวแทนจำหน่าย ยกเว้นข้อมูลในทางประวัติศาสตร์และภาพประกอบเนื้อหาบางชิ้นที่ต้องได้รับอนุญาตเท่านั้น (ระบุไว้ใต้ภาพแล้ว)
เนื้อหา
[ รู้จักกับปากกา | หัวปากกาขนาดหมายเลข 9 | รายละเอียดทางเทคนิค | บรรจุภัณฑ์และตัวปากกา | ทดสอบใช้งานจริง | สรุป | วิดีโอรีวิว ]
รู้จักกับ Meisterstück 149
“ดีไซน์ที่เขียนประวัติศาสตร์”
เมื่อเอ่ยถึง Meisterstück (อ่านว่า มัยส์-เตอ-ชตึก ไม่ใช่ มัย-สเตอร์-สตัค เพราะเป็นภาษาเยอรมัน) ก็จะต้องนึกถึง Montblanc (อ่านว่า มง-บล็อง เป็นภาษาฝรั่งเศส) บริษัทผลิตปากกาหรูชั้นนำจากเยอรมนี เพราะถือเป็นปากการุ่นที่อยู่กับบริษัทมาอย่างยาวนานที่สุด รวมถึงเป็นรุ่นเรือธง (รุ่นหลัก) ของบริษัทด้วย ชื่อรุ่นแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า “Masterpiece” หรือ “ผลงานชิ้นเอก” และเริ่มผลิตมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1924 ก่อนจะขยายชื่อนี้ไปใช้กับสินค้าอื่นๆ ต่อเนื่อง (เช่น กระเป๋า นาฬิกา) ของบริษัทด้วย
Meisterstück 149 (นักสะสมจะรู้จักกันในนาม Montblanc 149) เป็นปากกาที่ออกสู่ตลาดครั้งแรกในปี ค.ศ. 1952 ใช้วัสดุเป็น celluloid ที่เป็นพลาสติกแบบพิเศษในระยะแรก ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น Precious Resin ซึ่งเป็นเรซินสูตรพิเศษที่บริษัทคิดค้นขึ้นมาเอง ในช่วงปี ค.ศ. 1960 รวมถึงหัวปากกาที่ระยะแรกมีทั้งทองคำ 14 กะรัต และ 18 กะรัต ก่อนที่จะเปลี่ยนมาใช้แบบหลังทั้งหมด ส่วนตัวเลข 4810 บนหัวปากกาที่หมายถึงความสูงของยอดเขา Mont Blanc ภูเขาที่สูงที่สุดในยุโรป (และเป็นที่มาของชื่อบริษัท) เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1929
การออกแบบของปากการุ่นนี้แต่ดั้งเดิมต่างจากในปัจจุบันอยู่มาก รูปแบบเดิมออกมามีลักษณะหัวและท้ายแบนเรียบ รวมถึงรูปร่างของปากกาสมมาตรกว่านี้ แต่ในปัจจุบันมีลักษณะทรงเหมือนตอร์ปิโดหรือซิการ์ มีความโค้งมนหัวท้าย และมีรายละเอียดปลีกย่อยอื่นแตกต่างมากไปกว่านี้ เว็บไซต์ Pensninks ระบุว่า 149 ถูกผลิตขึ้นมา เพื่อทดแทน 139 ซึ่งเป็นปากกาหลักรุ่นเดิม นอกจากนั้นแล้วยังเป็นปากกาพื้นฐานให้กับการพัฒนาปากการุ่นพิเศษต่างๆ ในปัจจุบันของ Montblanc เช่น High Artistry Heritage Metamorphosis Limited Edition เป็นต้น
ที่มาของรหัส 149 เกิดจากระบบการเรียกชื่อของ Montblanc แต่เดิมในการทำตลาดในการใช้รหัส 3 หลัก แทนค่าดังต่อไปนี้
- หลักแรก หมายถึง รุ่นหรือระดับปากกาของบริษัท (เช่น 1 คือรุ่นที่สูงที่สุด/ดีที่สุด, 2 รองลงมา, 3 รุ่นล่าง)
- หลักที่สอง หมายถึง ชนิดหรือกลไกของปากกาที่ใช้ (เช่น 4 หมายถึงปากกาหมึกซึมที่ใช้ piston/converter, 6 หมายถึงปากกาลูกลื่นหรือโรลเลอร์บอล)
- หลักที่สาม หมายถึง ขนาดหัวปากกา ในกรณีของปากกาหมึกซึมหมายถึงขนาดของหัวปากกา (nib size) โดยนับเป็นตัวเลขจากน้อยไปมาก (ยิ่งมากยิ่งใหญ่) ซึ่งหมายเลข 9 มีขนาดใหญ่ที่สุด
ดังนั้นแล้ว 149 จึงหมายถึงปากการุ่นที่ดีที่สุดของบริษัทที่ใช้กลไกแบบสูบหมึก (piston filler) และมีขนาดหัวปากกาที่ไซส์ 9 นั่นเอง แต่ภายหลังระบบเรียกนี้ก็ถูกยกเลิกไป ยกเว้นเฉพาะรุ่นนี้เท่านั้นที่ยังมีตัวเลขต่อท้ายอยู่ (145 เปลี่ยนเป็น Classique, 146 ถูกเรียกเป็น LeGrand) แต่ในหมู่นักสะสม ยังคงเรียกตัวเลขเหล่านี้แทนที่รุ่นต่างๆ อยู่เช่นเดิม
“May I help you, Mr. Adenauer?”
– John F. Kennedy
สาเหตุที่ปากการุ่นนี้โด่งดังมากเป็นพิเศษ เพราะเป็นปากกาที่ผู้นำประเทศหลายต่อหลายคนใช้ รวมถึงเป็นปากกาประวัติศาสตร์ที่ John F. Kennedy อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาผู้ล่วงลับ ใช้เซ็นหนังสือต้อนรับแขกเมืองโคโลญจน์ เยอรมนี เมื่อปี ค.ศ.1963 และให้ Konrad Adenauer อดีตนายกรัฐมนตรีของเยอรมนีตะวันตก (ในเวลานั้น) ใช้ยืมลงนามในสมุดนั้นด้วย บริษัทจึงให้นิยามกับปากการุ่นนี้ว่า “ดีไซน์ที่เขียนประวัติศาสตร์” (a design that writes history.)
แต่ใช่ว่าจะโด่งดังเฉพาะรุ่นนี้อย่างเดียว รุ่นรองลงมาที่ใช้เป็นปากกาลูกลื่นหรือโรลเลอร์บอล (อ่านความต่างระหว่างแต่ละแบบได้ที่นี่) ก็ถูกใช้โดยผู้นำรัฐต่างๆ เช่น Barack Obama อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา หรือสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร ที่ใช้ปากกา Montblanc ในวาระสำคัญด้วยเช่นกัน
หัวปากกาขนาดหมายเลข 9 คือหัวใจสำคัญ
หัวปากกา (nib) เป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างมากสำหรับปากกาหมึกซึม เพราะเป็นส่วนที่สัมผัสกระดาษและเป็นทางไหลของหมึกปากกาด้วย จุดชี้วัดปากกาหมึกซึมที่ดีจึงอยู่ที่หัวปากกาเป็นสำคัญ
สำหรับหัวปากกาของ Montblanc 149 รุ่นนี้แต่เดิมใช้ทองคำที่ความบริสุทธิ์ 14 กะรัต (14k) ควบคู่กับความบริสุทธิ์ 18 กะรัต (18k) ก่อนจะเปลี่ยนมาใช้เป็นอย่างหลังทั้งหมด ทั้งหมดถูกทำในบริษัท (in-house production) ไม่ใช้บริษัทภายนอกผลิตให้ (เป็นไม่กี่บริษัทในปัจจุบันที่ยังคงผลิตหัวปากกาเอง) และต้องผ่านขั้นตอนการผลิตทั้งหมดกว่า 35 ขั้นตอน โดยเริ่มต้นจากการทำให้ม้วนแผ่นทองคำ ปั้มกลายเป็นหัวปากกา แล้วค่อยๆ ผ่านการปรับแต่งหัว ขัดเงา และปรับเส้นของหัวปากกาด้วยมือ ลองดูวิดีโอด้านล่างของนิตยสาร Surface ที่พาทัวร์โรงงานผลิตประกอบได้
หัวปากกาเหล่านี้จะถูกทดสอบอย่างเข้มงวด ก่อนส่งไปประกอบเข้ากับตัวปากกาแล้วทดสอบอีกครั้งหนึ่งด้วยมือ และวางจำหน่ายตามร้านค้าของบริษัทกับตัวแทนจำหน่ายทั่วโลก ซึ่งบริษัททำกับปากกาหมึกซึมตัวเองทุกรุ่นจากสถานที่ผลิตที่ตั้งอยู่เมือง Hamburg ประเทศเยอรมนี
“เป็นหัวปากกาที่ดีติดอันดับต้นๆ ของปากกาหมึกซึม
ที่วางจำหน่ายทั่วโลก”
ความพิเศษของ Meisterstück 149 ที่แตกต่างไปจากปากการุ่นอื่นของบริษัท อยู่ที่การเป็นหัวปากกาที่ขนาดใหญ่ที่สุด เรียกกันว่าขนาดหมายเลข 9 ที่ได้รับการยกย่องจากนิตยสารและรีวิวทั่วโลกว่า ให้สัมผัสการเขียนที่ดีมาก นุ่มนวล เส้นที่ได้สามารถปรับเปลี่ยนตามแรงกด เกิดการเปลี่ยนแปลงของเส้น (line variation) และสามารถปรับตัวเองเข้ากับสไตล์การเขียนของเจ้าของได้อย่างดี รวมถึงเห็นรายละเอียดของหัวปากกาได้อย่างชัดเจนด้วย นับว่าเป็นหัวปากกาที่ดีติดอันดับต้นๆ ของปากกาหมึกซึมที่วางจำหน่ายทั่วโลก
อาจกล่าวได้ว่า หัวปากกาของรุ่นนี้ เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ปากการุ่นนี้ยังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง และเป็นหนึ่งในปากกาที่นักสะสม รวมไปถึงผู้เล่นปากกาหมึกซึมทั่วโลก ต่างแสวงหามาครอบครอง
รายละเอียดทางเทคนิค Meisterstück 149
- ความยาวปากกา (ปิดปลอก): 14.4 ซม.
- ความยาวปากกา (เสียบปลอกด้านหลังขณะใช้): 16.1 ซม.
- ความยาวปากกา (ไม่มีปลอกปากกา): 13.0 ซม.
- เส้นผ่าศูนย์กลาง: 1.5 ซม. (จุดที่กว้างที่สุด)
- กลไกการสูบหมึก: ใช้ตัวด้ามเป็นที่เก็บหมึก พร้อมแกนสูบ (piston filling)
- ขนาดหัวปากกา: กว้าง 1.1 ซม. x ยาว 2.8 ซม. (มีทุกขนาดเส้นรวมถึงปรับแต่งพิเศษ)
- รุ่นย่อยที่วางจำหน่าย: ดำขลิบทอง และ ดำขลิบทองคำขาว (รุ่นมาตรฐาน)
- น้ำหนัก: 29.3 กรัม (ไม่ใส่หมึก)
รุ่นที่ทางไรท์ติ้งอินไทยได้ซื้อมาทดสอบนี้ วางจำหน่ายเมื่อปี 1996 ดังนั้นแล้วจึงอาจมีรายละเอียดบางส่วนที่แตกต่างออกไปจากรุ่นที่วางจำหน่ายในปัจจุบัน (เช่น หลังแหนบปากกาไม่มีการสลักคำว่า Pix เอาไว้) อยู่บ้าง แต่ถือเป็นรุ่นที่ใกล้เคียงที่วางจำหน่ายอยู่ในปัจจุบันที่สุดครับ
สำหรับราคาของปากการุ่นนี้ที่จำหน่ายอยู่ในร้านของ Montblanc ของไทย อยู่ที่ 30,500 บาท สำหรับรุ่นสีดำขลิบทอง และ 32,000 บาท สำหรับรุ่นสีดำขลิบทองคำขาว (แพลตินัม) ซึ่งเป็นรุ่นปกติ หากเป็นรุ่นพิเศษเช่น Solitaire หรือ UNICEF ราคาจะสูงขึ้นกว่านี้อีกมาก
บรรจุภัณฑ์และตัวปากกา
“ตัวปากกามีขนาดที่ใหญ่ มีความโดดเด่น ทรงคล้ายซิการ์หรือตอร์ปิโด มีความเงาดุจกระจก หัวปากกาขนาดใหญ่”
กล่องของ Meisterstück 149 ที่ทีมงานได้รับมานั้น เป็นกล่องสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่ใหญ่กว่ากล่องปากกา Montblanc ทั่วไปของบริษัท เมื่อเปิดออกด้านในมีปากกาวางเด่นอยู่ตรงกลาง นับว่าสวยงามอย่างยิ่ง มาพร้อมกับสมุดคู่มือเล่มใหญ่ขนาดเท่ากล่อง ที่บอกเรื่องราวและประวัติของปากกาอย่างละเอียด รวมถึงรายละเอียดการรับประกันและบันทึกการซื้อ
ตัวปากกามีขนาดที่ใหญ่มาก และมีความโดดเด่น ทรงคล้ายซิการ์หรือตอร์ปิโด ตัวด้ามเป็นสีดำผลิตจากเรซินพิเศษ (บริษัทเรียกว่า Precious Resin) มีความเงาดุจกระจก (mirror-like finish) แหนบปากกาเชื่อมเข้ากับวงแหวนด้านบนเป็นชิ้นเดียวที่ยิงรหัสประจำปากกาเอาไว้ พร้อมคำว่า “GERMANY” เอาไว้อย่างชัดเจน
เมื่อเทียบกับปากกาหมึกซึมตัวอื่น จะพบว่าปากการุ่นนี้มีขนาดใหญ่กว่าปากกาปกติทั่วไป หรือแม้กระทั่งปากกาในบริษัทเดียวกันเองก็ตาม ไม่ว่าจะทั้งความยาวและขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง และนี่คือส่วนหนึ่งของเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของปากการุ่นนี้
บริเวณปลอกปากกา จะมีแถบระบุชื่อรุ่นเอาไว้ว่า “Montblanc Meisterstück 149” รอบวงแหวนของปลอกที่เป็นสีทองปั้มลึกลงไป มีรายละเอียดที่คมชัดและเห็นแถบเส้นถี่ๆ ภายในตัวอักษรอีกครั้งหนึ่ง (ดูวิดีโอได้ที่นี่) รอบวงแหวนนี้ในบางรุ่นบางช่วง จะมีการประทับตรา Pix ซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าของบริษัทลงไปด้วย
ปากการุ่นนี้ใช้ตัวด้ามปากกาเป็นที่กักเก็บหมึก (ink reservior) และใช้กลไกสูบหมึกเข้าไปในตัวด้ามที่เรียกว่า piston filling แบบเดียวกับ LAMY 2000 แกนและองค์ประกอบหลักทั้งหมดทำมาจากทองเหลือง (brass) เพื่อความทนทาน และให้น้ำหนักที่ดีกับตัวปากกาด้วย (ดูวิดีโอได้ที่นี่)
บริเวณส่วนต้นของด้ามปากกา (ก่อนถึงบริเวณที่จับปากกา) จะมีช่องไว้สำหรับดูปริมาณน้ำหมึก (เรียกว่า ink window) ว่าตอนนี้หมึกถึงเวลาที่จะต้องเติมหรือยัง (ดูวิดีโอได้ที่นี่)
สิ่งที่โดดเด่นที่สุดของปากกาด้ามนี้ เลี่ยงไม่พ้นที่จะเป็นหัวปากกาขนาดใหญ่ (ขนาดหมายเลข 9) ที่สวยเด่นเป็นเอกลักษณ์ และถูกขนานนามว่าเป็นหนึ่งในปากกาที่เขียนได้ดีที่สุดด้ามหนึ่ง วิธีใช้ปากกาด้ามนี้คือหมุนฝาปลอกปากกา จนกระทั่งหลุดแล้วค่อยดึงออก ก็จะเผยโฉมหัวปากกา (ด้ามที่ทีมงานรีวิว หมุน 1 รอบพอดี)
หัวปากกาทำมาจากทองคำที่ความบริสุทธิ์ 18 กะรัต พร้อมเคลือบโลหะ Rhodium เอาไว้อีกชั้นหนึ่งตรงกลาง ทำให้ได้โลหะเงินมาตัดกับสีทองอย่างสวยงาม
หัวปากกาของ Montblanc จะไม่มีการระบุขนาดของเส้น (nib grade) ไว้บนหัวปากกาเหมือนค่ายอื่น ทางเดียวที่จะทำได้คือการเทียบ ซึ่งทีมงานเทียบแล้วได้เป็นขนาด M แต่ขอให้ทางศูนย์ Montblanc ช่วยลดขนาดความกว้างของเส้นลง จนเหลือขนาดที่ใกล้เคียงกับ F ทำให้หัวปากกาด้ามนี้มีเส้นที่ไม่เหมือนใครในตลาด
ในรุ่นที่วางจำหน่ายในปัจจุบัน หัวปากกาจะไม่ระบุเป็นปริมาณกะรัตแล้ว แต่จะเปลี่ยนมาระบุธาตุและความบริสุทธิ์แทน เช่น Au 585 หมายถึงหัวปากกาที่ทำมาจากทองที่ความบริสุทธิ์ 58.5% (14 กะรัต), Au 750 หมายถึงหัวปากกาทองคำที่ความบริสุทธิ์ 75% (18 กะรัต) โดยเริ่มเปลี่ยนมาตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 2013
ทดสอบใช้งานจริง
ในการทดสอบใช้งานจริง ทีมงานใช้หมึก Montblanc Irish Green เป็นหมึกหลักในการรีวิวการเขียน ส่วนกระดาษเป็นกระดาษ A4 ธรรมดาที่ใช้ในสำนักงาน ไม่ทราบยี่ห้อ ที่ความหนา 80 แกรม
ทีมงานกล้าพูดว่า นี่เป็นปากกาที่มีหัวปากกาที่เขียนได้ลื่น ไม่ฝืด ให้ช่วงการเขียนที่ดีมาก เป็นหัวปากกาที่ดีที่สุดตั้งแต่เคยเจอมา การเขียนทั้งหมดทำได้น่าประทับใจไร้ที่ติ อาจกล่าวได้ว่าเขียนลื่นจนประทับใจ ไม่มีอาการติดขัดใดๆ เลยทั้งสิ้น นอกจากนั้นแล้วยังยืดหยุ่น ปรับมุมการเขียนตามองศาของมือได้ดีมากจนน่าทึ่ง
สำหรับการเปลี่ยนแปลงของเส้น (line variation) และความยืดหยุ่นของหัว (nib flexibility) ทีมงานได้ทดสอบอย่างจำกัด เนื่องจากได้รับคำแนะนำจากทางศูนย์ของบริษัทว่า ปากการุ่นนี้ไม่ควรทดลองเขียนแบบปากกาหัว flex ในสมัยโบราณ (ห้ามใช้แรงกดเยอะ) เพราะไม่ได้ออกแบบมาเช่นนั้น และถ้าหัวปากกาเสียหาย จะมีค่าซ่อมอยู่ที่ 3 หมื่นบาท ซึ่งถ้าเกิดเช่นนี้ขึ้น คำแนะนำคือคงต้องซื้อด้ามใหม่สถานเดียว
“เป็นหัวปากกาที่ดีที่สุดตั้งแต่เคยเจอมา เขียนได้ลื่น ไม่ฝืด
ให้ช่วงการเขียนที่ดีมาก”
ปากการุ่นนี้จ่ายน้ำหมึกได้ดีมาก แม้อาจจะติดออกน้อย (dry) ไปสักนิด แต่ไม่ถือว่าน้อยมาก และส่งหมึกได้ดีตลอด แทบไม่มีขาดตอนใดๆ เลยทั้งสิ้น ผลงานน่าประทับใจอย่างมาก
ต้องบอกว่าแม้จะเป็นปากกาด้ามที่ใหญ่และมีน้ำหนักพอสมควร แต่จับใช้งานได้สะดวก ไม่มีปัญหาเมื่อยมือแต่อย่างใด ส่วนถ้าจะพกพาไปไหนมาไหน ตัวปากกาก็จะโดดเด่นเพราะยาวออกมาจากกระเป๋าเสื้อ เป็นหนึ่งในปากกาที่หลายคนรู้จักและจดจำได้เป็นอย่างดี
ส่วนการดูแลรักษา โดยเฉพาะการเติมหมึก และล้างหมึกนั้น ต้องกระทำอย่างระมัดระวัง ทีมงานพบว่าเมื่อล้างแล้วยังมีหมึกติดค้างตามซอกบ้าง ต้องพยายามล้างอยู่นานทีเดียว (ทำตามวิดีโอด้านล่าง) ใครที่จะซื้อมาใช้ จำเป็นต้องคำนึงถึงจุดนี้ด้วย
สรุป
Montblanc Meisterstück 149 เป็นหนึ่งในปากการะดับตำนานของใครหลายคน และเป็นความใฝ่ฝันของใครอีกหลายคนที่อยากจะได้มาเป็นเจ้าของสักด้าม แง่หนึ่งก็เพราะประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงผู้ที่ใช้งานด้วย แต่เราก็ต้องไม่ลืมว่าในอีกมิติหนึ่ง ปากกาด้ามนี้เองก็เขียนดีอย่างเหลือเชื่อด้วยเช่นกัน
ทีมงานยอมรับว่า ปากการุ่นนี้เป็นหนึ่งในปากกาหมึกซึมที่เขียนดีมากๆ ด้ามหนึ่งที่เคยพบ นอกจากนั้นแล้วดีไซน์ของปากกาเองก็ยังคงความคลาสสิคเอาไว้ได้ดี เป็นปากกาที่มีเอกลักษณ์ที่เมื่อหยิบออกไปใส่กระเป๋าเสื้อเพื่อใช้งานแล้ว ทุกคนจะจดจำได้ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม การเรียกว่าเป็นปากกาที่ไว้แสดงความสำเร็จ เป็นสิ่งที่ไม่เกินจริงเลย
อย่างไรก็ตาม ด้วยราคาสำหรับด้ามใหม่ที่ 30,500 บาท (สีดำ-ทอง) ทีมงามเห็นว่าหากผู้อ่านต้องการปากการุ่นนี้อย่างมาก ควรรอซื้อในจังหวะรุ่นพิเศษ (เช่น รุ่นฉลองครบรอบ 90 ปี ของ Meisterstück) หากซื้อรุ่นปกติอาจจะแพงเกินไป ถ้าท่านไม่สนใจว่าจำเป็นของใหม่หรือไม่ สามารถซื้อรุ่นมือสองได้เช่นกัน โดยราคาในตลาดโลกอยู่ที่ราว 400 ดอลลาร์ (ประมาณ 12,000 บาท) แล้วแต่สภาพของสินค้าด้วย ในกรณีที่ท่านตัดสินใจซื้อปากกามือสอง ขอแนะนำให้ท่านตรวจสอบปากกาให้ดีว่าไม่ใช่ปากกาที่ทำปลอม ด้วยการตรวจตำหนิ รายละเอียด และจะดียิ่งขึ้นถ้ามีเอกสารการซื้อปากกา พร้อมลงรหัสประจำปากกา (serial number) ที่ต้องตรงกัน
ในต่างประเทศ ปากการุ่นนี้ถือเป็นหนึ่งในปากกาที่ใช้เพื่อสำหรับการลงทุนระยะยาวด้วยสำหรับนักลงทุนบางกลุ่ม ดังนั้นหากท่านซื้อปากการุ่นนี้เพื่อการลงทุน ควรที่จะเก็บเอกสารที่เกี่ยวข้องกับปากกาทั้งหมดเอาไว้ให้ดี คำแนะนำของทีมงานในกรณีแบบนี้ คือซื้อแล้วห้ามใช้ ต้องเก็บตัวหมึกและเอกสารทั้งหมดในสภาพดั้งเดิมเท่านั้น
รุ่นที่เหมาะสำหรับการซื้อลงทุนส่วนมากแล้ว มักเป็น 149 รุ่นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นรุ่น UNICEF หรือ Blue Hour ที่มีจำนวนการผลิตน้อย, Skeleton 333 ที่เป็นรุ่นจำนวนจำกัด (มีเพียง 333 ด้ามทั่วโลก), หรือ 149 Solitaire Solid Gold ที่เลิกผลิตไปแล้ว
นอกจากประเด็นของราคาที่สูงแล้ว ยังมีเรื่องของการดูแลรักษาที่ละเอียดอ่อน เพื่อไม่ให้หัวปากกาได้รับความกระทบกระเทือนจนเสีย รวมถึงดีไซน์ที่แม้ทางทีมงานจะชอบ แต่ก็ตระหนักว่าคงไม่ใช่ทุกคนที่ชอบการออกแบบเช่นนี้
หากต้องการปากกาหมึกซึมจาก Montblanc แต่ไม่ได้ต้องการขนาดที่ใหญ่หรือแพงเทียบเท่า 149 ตัวเลือกที่เทียบเท่ากันคือ LeGrand (146) ที่ขนาดเล็กกว่าอยู่เล็กน้อย เปลี่ยนขนาดหัวปากกาลงมาเป็นขนาด 6 และยังคงใช้กลไกทุกอย่างเหมือน 149 ส่วนถ้าไม่ต้องการกลไกการสูบหมึกแบบ piston-filling และต้องการเปลี่ยนไปมาระหว่างก้านสูบ (piston converter) กับหมึกหลอด Classique (145 Chopin เดิม) จะตอบโจทย์ได้ดี แต่จะมีขนาดเล็กลงเท่ากับปากการุ่นปกติ
ในกรณีที่ต้องการเปลี่ยนเป็นรุ่นอื่น และยังคงกลไกแบบ piston-filling เอาไว้ Heritage 1912 จะเป็นปากกาอีกรุ่นที่ตอบโจทย์ได้ แต่ถ้าไม่ได้ต้องการกลไก piston-filling แล้ว ทีมงานแนะนำ StarWalker ที่มีดีไซน์โฉบเฉี่ยวและทันสมัยมากกว่า หรือถ้าต้องการปรับไปใช้ปากการุ่นที่แพงกว่านี้ ก็มีทั้งรุ่นที่เป็นงานศิลปะและรุ่นพิเศษอย่าง Le Petit Prince ที่สามารถซื้อเอามาใช้ได้เอง หรือเก็บไว้เพื่อเป็นการสะสมและลงทุนในระยะยาวได้ด้วยเช่นกัน
สำหรับปากกาคู่แข่งของ Montblanc Meisterstück 149 ที่ใกล้เคียงคือ Pelikan Souverän M1000 จากประเทศเยอรมนี (หัวทองคำ 18 กะรัต เช่นกัน) มีราคาใกล้เคียงกันมากทั้งด้ามใหม่และมือสอง (ด้ามใหม่ที่ราคา 800 ดอลลาร์ หรือประมาณ 25,000 บาท), Sailor King of Pens Ebonite จากประเทศญี่ปุ่น (หัวทองคำ 21 กะรัต) ราคาด้ามใหม่อยู่ที่ประมาณ 750 ดอลลาร์ (ประมาณ 23,000 บาท) เมื่อซื้อในประเทศญี่ปุ่น (Sailor ยังมีรุ่นอื่นลดหลั่นลงมา), Lambrou Classic Pens LB5 ที่เป็นการผลิตร่วมกันระหว่าง Sailor กับ Lambrou ประเทศสหรัฐอเมริกา มีราคาอยู่ที่ 1,600 ดอลลาร์ (ประมาณ 57,000 บาท) และ Montegrappa NeroUno Grande จากประเทศอิตาลี ที่ราคา 650 ยูโร (ประมาณ 25,000 บาท) ปากกาหมึกซึมคู่แข่งเหล่านี้ บางรุ่นผลิตมาจำนวนจำกัด แนะนำให้ตรวจสอบอีกครั้งหนึ่งกับทางผู้ผลิตและจำหน่ายว่ายังมีสินค้าเหลืออยู่หรือไม่
ทั้งนี้ หากพิจารณาว่าการซื้อ Meisterstück 149 สิ่งที่ได้ตามมาคือการเป็นปากกาที่แทนสัญลักษณ์แห่งความสำเร็จ ความหรูหรา ความปราณีต ดีไซน์ที่คลาสสิค ดูไม่เก่า และเจ้าของพร้อมที่จะดูแลปากกาอย่างดี ก็คงไม่มีปากกาหมึกซึมด้ามใดที่ให้ได้ครบเท่าปากการุ่นนี้อย่างแน่นอน
ข้อดี | ข้อเสีย |
เป็นปากกาที่เขียนดีที่สุดด้ามหนึ่งที่เคยพบ | ราคาปากกามือหนึ่ง (ด้ามใหม่) แพงมาก |
ดีไซน์คลาสสิค | ดีไซน์ไม่โฉบเฉี่ยว (สำหรับบางท่าน) |
เป็นเครื่องแสดงความสำเร็จได้ดีที่สุด | การดูแลรักษาที่ยาก |
วิดีโอรีวิว
หมายเหตุ ในขณะที่อัดวิดีโอนี้ ทีมงานได้รับปากกาหลังจากปรับแต่งหัวจากทางศูนย์ไม่นานนัก โดยขอให้มีขนาดเล็กลง แต่เนื่องจากในเวลานั้นยังไม่ทราบว่าปรับไปมากเท่าใดจากขนาดเดิมที่เป็น M ทีมงานจึงระบุไปว่าเป็นหัวขนาด F ซึ่งเมื่อตรวจสอบกลับไปแล้วพบว่าทางศูนย์บริการ ได้ปรับหัวเป็นไซส์ที่มีขนาดใกล้เคียงกับ F จึงขออภัยท่านผู้อ่านสำหรับข้อมูลเรื่องขนาดเส้นที่ดูเหมือนจะยังไม่แน่ใจในตอนแรกในวิดีโอนี้ และได้ใส่รายละเอียดเพิ่มไปในทั้งรีวิวด้านบน และในวิดีโอนี้แล้ว ทั้งนี้ทีมงานขอขอบพระคุณเจ้าหน้าที่ของศูนย์บริการ Montblanc ที่กรุณาขยายความ และปรับแต่งหัวปากกาให้ใกล้เคียงกับขนาด F และยังคงเขียนได้ดีมาก
แหล่งข้อมูล
Hodinkee / SURFACE / Montblanc / Pensninks / Adweek / Forbes / Deutsche Welle / Tom Westerich / Gentleman’s Gazette / Fountain Pen Network
เครดิตรีวิว
ศิระกร ลำใย (ถ่ายภาพ)
ภัทรนันท์ ลิ้มอุดมพร (ข้อมูล)
You must be logged in to post a comment.