23 ตุลาคม 2024
รายงานพิเศษเปลี่ยนตัวแทนจำหน่ายลามี่ (LAMY) ในไทย ใครได้? ใครเสีย?

เปลี่ยนตัวแทนจำหน่ายลามี่ (LAMY) ในไทย ใครได้? ใครเสีย?

ใครที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนตัวแทนจำหน่าย LAMY ในครั้งนี้บ้าง มีใครที่จะได้ และใครที่จะเสียบ้าง จากการเปลี่ยนแปลงนี้ ผู้บริโภคควรทำอย่างไร

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทีมงานไรท์ติ้งอินไทย ได้รายงานเรื่องการลดราคาปากกาลามี่ (LAMY) ที่ลดมากถึง 25% โดยอ้างไปถึงคำตอบของพนักงานที่ว่า กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงผู้นำเข้าเป็นรายอื่น แทนที่จะเป็นบริษัทเดิม

ไรท์ติ้งอินไทยจึงขอนำเสนอบทวิเคราะห์ว่า อันที่จริงแล้วใครที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนตัวแทนจำหน่ายในครั้งนี้บ้าง มีใครที่จะได้ และใครที่จะเสียบ้าง จากการเปลี่ยนแปลงนี้ และผู้บริโภคควรทำอย่างไร

Lamy 2000 Makrolon

ลดราคาสินค้า LAMY บอกลูกค้า บ่งสัญญาณผลัดใบ

อันที่จริงแล้ว ปากกาลามี่ตามห้าง เริ่มประกาศลดราคากันมาตั้งแต่ช่วงต้นเดือน แต่เริ่มมีคนพบเห็นเอาช่วงกลางเดือน ช่วงเดียวกับที่ทีมงานพบที่ร้าน B2S สาขาเซ็นทรัล แกรนด์ พระราม 9 โดยลด 25% ทุกรุ่น ทุกแบบ ไม่เว้นแม้แต่รุ่นสีพิเศษ หรือตัวแพงอย่าง Dialog 3, Lamy 2000 Stainless Steel ต่างก็ลดราคากันไปหมด และไม่ใช่แค่ลดเฉพาะบางห้าง แต่ลดทุกห้าง ทีมงานไปเจอแม้กระทั่งเคาน์เตอร์ใน The Emporium ก็ยังลดราคา

ป้ายบอกลดราคาสินค้าของลามี่

ในโลกออนไลน์เอง เมื่อสำรวจความเคลื่อนไหวก็พบว่า เพจเจ้าของร้านอย่าง B2S Thailand โพสต์ประชาสัมพันธ์การลดเมื่อวันที่ 15 มีนาคม ที่ผ่านมา แต่ตัวป้ายที่ทีมงานเก็บมาได้ ระบุเป็นตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม แสดงให้เห็นว่าการประชาสัมพันธ์ในการลดราคาครั้งนี้กระทันหันพอสมควร

ภาพโพสต์ประสัมพันธ์บน Facebook ของ B2S Thailand

เมื่อสอบถามไปยังพนักงานขาย ทีมงานได้รับคำตอบอย่างไม่เป็นทางการว่า กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงตัวแทนจำหน่าย จากรายปัจจุบันที่เป็นบริษัท B.K.L. เป็นบริษัทอื่นที่ยังไม่ทราบชื่อ โดยพนักงานท่านหนึ่ง (จากการสุ่มถามทั้งหมด 3 ที่) ระบุว่าทางเยอรมัน (หมายถึง C. Josef Lamy GmbH บริษัทลามี่) ยังไม่ประกาศว่าใครจะขึ้นมาเป็นผู้จัดจำหน่ายรายใหม่แทนที่บริษัทเดิม

ทีมงานไรท์ติ้งอินไทยได้เขียนสอบถามไปยังทางบริษัทโดยตรง แต่ยังไม่ได้รับคำตอบในเรื่องนี้ทันเวลาที่จะเขียนบทวิเคราะห์ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้

ความเป็นไปได้ของการเปลี่ยนแปลง

ทีมงานไรท์ติ้งอินไทยยังสงสัยว่า เหตุใดจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในครั้งนี้ และเพราะสาเหตุใดกันแน่ทำไมถึงมีการเปลี่ยนตัวผู้จัดจำหน่าย จากเดิมที่เป็น B.K.L. ไปยังบริษัทอื่น ซึ่งจนบัดนี้เราก็ไม่ได้คำตอบที่ว่า บริษัทใดกันแน่ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ใหม่นี้ คงต้องให้เวลาสิ้นเดือนนี้เป็นตัวบ่งชี้ว่า ใครที่จะเข้ามา หรือผลิตภัณฑ์ลามี่จะหายไปจากตลาดเครื่องเขียนไทยไปเลย

อย่างไรก็ตาม มีการวิเคราะห์และคาดการณ์สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงนี้เอาไว้อยู่ 3 ประการ ดังต่อไปนี้

เปลี่ยนยุทธศาสตร์ จึงเปลี่ยนให้สอดคล้อง

อันที่จริงแล้ว ปากกาลามี่ในประเทศไทยแม้จะจัดหน่ายโดยบริษัทอย่าง B.K.L. ซึ่งมีผลิตภัณฑ์อื่นอยู่ในมืออย่าง ปากกาลูกลื่นโกลด์พ้อยท์ (Gold Point) หรือเครื่องเขียนอย่างเบนเฮอร์ (Benhur) แต่ที่จริงแล้ว คนที่เอาผลิตภัณฑ์ลามี่เข้ามาในประเทศไทย คือบริษัท DKSH ซึ่งระบุบนหน้าเว็บอย่างชัดเจนว่า นอกจากผลิตภัณฑ์อย่างลามี่แล้ว ยังมี กราฟ วอน เฟเบอร์-คลาสเทล (Graf von Faber-Castell) ด้วย

หน้าเว็บของ DKSH ระบุถึงชื่อลามี่ชัดเจน

DKSH ไม่ใช่ผู้เล่นรายใหม่ในตลาดเครื่องเขียน เพราะปัจจุบันบริษัทรับหน้าที่ในการนำเข้าและจัดจำหน่ายปากกาและสินค้า Montblanc แบรนด์ลูกในเครือ Richemont อยู่แล้ว การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอาจเป็นไปได้ว่า DKSH ตัดสินใจเปลี่ยนบริษัทจัดจำหน่าย โดยอาจจะรับหน้าที่ในการจัดจำหน่ายนี้ด้วยตนเอง เพราะมีประสบการณ์มาแล้วในฐานะบริษัทบริหารแบรนด์ใหญ่อย่าง Montblanc มาก่อน การจัดการกับแบรนด์อย่าง Lamy จึงไม่น่าใช่ของยากอะไร

อันที่จริงแล้ว การเปลี่ยนแปลงตัวผู้จัดจำหน่ายนี้ อาจสอดคล้องกับทิศทางของบริษัทเองที่เริ่มหันมาเน้นประเทศแถบเอเชียเพิ่มมากขึ้นผ่านช่องทางอื่นๆ The Moodie Davitt Report รายงานว่า บริษัทเริ่มหันมาจริงจังกับช่องทางการจัดจำหน่ายใหม่ๆ อย่างเช่นการจำหน่ายบนเครื่องบิน โดยเน้นไปที่สายการบินในแถบเอเชียและยุโรปเป็นกลุ่มหลัก สอดคล้องกับรายงานของ Ken Research ที่ออกมาระบุว่าตลาดเครื่องเขียนในไทย โดยเฉพาะในกลุ่มตลาดบน (luxury) ยังโตได้อีกมากเพราะช่องทางการจัดจำหน่ายที่ดี การแข่งกันลดราคา เศรษฐกิจที่เติบโต และการขยายตัวของตลาดสินค้าระดับบนมือสอง

ดังนั้นแล้วในมิตินี้ การเปลี่ยนแปลงผู้จัดจำหน่ายอาจเป็นเรื่องของกลยุทธ์และการเติบโตของตลาด ที่ทำให้บริษัทเริ่มกลับมาคิดอย่างจริงจัง และพยายามจัดแบรนด์ตัวเองให้แข่งขันได้ในตลาด การยกเลิกตัวเองออกจากประเทศไทย เป็นเรื่องที่มีความเป็นไปได้น้อยมาก

ปัญหาพิพาทเรื่องประกัน LAMY

อีกปัญหาหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมา คือปัญหากับเรื่องของการรับประกัน เพราะนโยบายการรับประกันสินค้าของลามี่ในประเทศไทย มีความสับสน ไม่ชัดเจน และคลุมเครือมาก นโยบายของแบรนด์หลักระบุอย่างชัดเจนว่า มีการรับประกันอย่างจำกัด 2 ปี โดยรับประกันเฉพาะสิ่งที่เกิดจากข้อผิดพลาดทางการผลิตและวัสดุ

นโยบายการรับประกันของแบรนด์

แต่ในประเทศไทย นโยบายการรับประกันของ B.K.L. กลับมีรายละเอียดที่แตกต่างออกไปจากนโยบายหลักของแบรนด์สินค้า กล่าวคือ

  • ในกรณีเกิดความผิดพลาดจากการผลิต จะได้รับประกันนับจากวันที่ซื้อเพียง 3 เดือน
  • กลไกของปากกา (ทีมงานเข้าใจว่าไม่ใช่ปากกาหมึกซึม) ได้รับประกัน 1 ปี
  • การรับประกันในปีที่ 2 จะได้รับส่วนลดค่าอะไหล่สูงสุด 50%

การรับประกันนี้ไม่สอดคล้องกับนโยบายหลักที่ครอบคลุมทั่วโลก นอกจากนั้นแล้วทาง B.K.L. ยังระบุในบัตรรับประกัน ซึ่งมาพร้อมกับตอนที่ซื้อว่า “บริษัทฯ ขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า” ด้วย ทำให้การรับประกัน อาจเปลี่ยนแปลงไปได้ทุกเมื่อตามที่บริษัทเห็นสมควร

ด้านหน้าและด้านหลังของใบรับประกันสินค้า

กรณีการรับประกันที่ไม่สอดคล้องกันนี้ เคยเป็นปัญหาที่นำมาสู่การถกเถียงครั้งใหญ่ระหว่างผู้จัดจำหน่าย (B.K.L.) และเว็บไซต์ บี.บี.บล็อก เว็บไซต์รวมชุมชนผู้ใช้ลามี่รายใหญ่ของประเทศมาแล้วครั้งหนึ่ง (ตามอ่านได้ที่นี่) นำมาสู่นโยบายการตรวจสอบแหล่งที่มาของสินค้าโดย B.K.L. ในภายหลังด้วย

เรื่องนี้แม้จะเกิดขึ้นมานานแล้ว (ตั้งแต่ปี 2559 หรือราว 3 ปีที่แล้ว) แต่ไม่มีใครทราบว่ามีการแจ้งทางบริษัทหลักไปหรือไม่ และมีผลกระทบอย่างไรกับการเลิกต่อสัญญาการจัดจำหน่ายของ B.K.L. ที่เกิดขึ้นแล้ว

ยุติสัญญาจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ทางที่เป็นได้ในส่วนสุดท้าย คือการยุติสัญญาจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อาจเป็นเจ้าของแบรนด์ที่ตัดสินใจยกเลิกสัญญา, DKSH ขอยกเลิกสัญญา หรือแม้กระทั่ง B.K.L. เอง ที่ตัดสินใจขอยกเลิกสัญญา ซึ่งเรื่องนี้เป็นความลับทางการค้า และเราคงไม่สามารถเข้าไปล่วงรู้ได้ว่า เกิดอะไรกันขึ้นในสัญญาการเป็นตัวแทนจำหน่ายนี้

อย่างไรก็ตาม เมื่อวิเคราะห์จากเหตุผลทั้งหมด B.K.L. ไม่น่าจะมีเหตุผลอะไรที่จะต้องเป็นฝ่ายยุติสัญญากับทางเจ้าของหรือผู้นำเข้า เพราะทันที่ผู้จัดจำหน่ายเสียแบรนด์อย่างลามี่ไป สิ่งที่เกิดขึ้นคือผลิตภัณฑ์ของบริษัทที่มีอยู่ในมือทั้งหมด กลายเป็นผลิตภัณฑ์ในตลาดล่างแทบทั้งสิ้น แบรนด์อย่าง Lamy ที่เป็นตัวชูโรงของบริษัท จึงมีความหมายอย่างมาก และการเสียแบรนด์ระดับนี้ ย่อมไม่ใช่ผลดีอย่างแน่นอน แถมยังเป็นตัวแทนจำหน่ายมากว่า 50 ปีแล้ว

ปากกาลูกลื่น Lamy Logo

คำตอบในข้อนี้จึงวนมาที่สองบริษัทหลักที่เกี่ยวข้อง คือ Lamy และ DKSH ว่าทำไมถึงยอมที่จะเปลี่ยนตัวแทนจำหน่ายในครั้งนี้กันแน่

ผู้บริโภคและผลกระทบ

ในห้วงเวลานี้ที่การลดราคา 25% ยังคงเดินหน้าไปจนถึงสิ้นเดือนนี้ สิ่งที่น่ากังวลคือความไม่แน่นอนของการเปลี่ยนผู้จัดจำหน่าย เพราะการเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงธรรมดา แต่เกี่ยวกับนโยบายการรับประกันสินค้าที่อาจจะเปลี่ยนไปจากเดิมด้วย และลามี่ยังคงไม่มีคำตอบอย่างชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้

ไรท์ติ้งอินไทยคาดการณ์ว่า ระยะสั้นแล้ว ผู้บริโภคที่ซื้อสินค้ากับ B.K.L. น่าจะได้รับการรับประกันจากผู้จัดจำหน่ายรายใหม่ เพราะเป็นการยึดแนวทางนโยบายการรับประกันสินค้าทั่วโลกของแบรนด์เอง (ยกเว้นในสหรัฐอเมริกา ที่เป็นการรับประกันตลอดอายุการใช้งาน) และเป็นการรักษาภาพความต่อเนื่องของแบรนด์สินค้า

ปากกา Lamy 2000

แต่ถ้านโยบายใหม่ออกมาพร้อมกับผู้จัดจำหน่ายรายใหม่ ไม่รับประกันสินค้าให้ครอบคลุม ตรงนี้จะเป็นปัญหาใหญ่สำหรับลูกค้า ซึ่งถ้าผู้จัดจำหน่ายรายใหม่ เลือกที่จะไม่รับผิดชอบสินค้าที่ตนเองไม่ได้นำเข้า ก็จะทำให้ลูกค้าทั้งหมดได้รับผลกระทบทันที และเสียความเชื่อมั่นกับแบรนด์สินค้าไปด้วย เราจึงเชื่อว่ามีโอกาสน้อยที่การตัดสินใจจะออกมาในลักษณะนี้ ยังไม่นับรวมผลกระทบในทางกฎหมายที่จะเกี่ยวข้องเพิ่มเติมด้วย

คำแนะนำของไรท์ติ้งอินไทยคือ ให้ลูกค้าลามี่ทุกคน เก็บหลักฐานการซื้อเอาไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใบเสร็จรับเงิน เพื่อเป็นหลักฐานยืนยัน ในกรณีที่ท่านซื้อภายในประเทศ ส่วนในกรณีของสินค้าที่ซื้อจากต่างประเทศ คงต้องรอนโยบายจากผู้จัดจำหน่ายรายใหม่ ซึ่งก็หวังว่าจะสอดคล้องกับนโยบายหลักของแบรนด์ หลังจากที่เคยมีปัญหากันมาเมื่อ 3 ปีที่แล้ว

ส่วนสินค้าจะมีหลากหลายมากขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ ยังเป็นคำตอบที่ไม่น่าจะมีอย่างชัดเจน แต่หากมีการเปลี่ยนแปลงตัวเลือกสินค้าจริงๆ นั่นแปลว่าบริษัทย่อมเปลี่ยนทิศทางการทำตลาดให้สอดคล้องกับการเติบโตในระดับภูมิภาคที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย

สรุป

Lamy 2000

โดยสรุปแล้ว คนที่จะได้รับผลกระทบด้านลบอย่างชัดเจน คงเลี่ยงไม่พ้น B.K.L. ที่เสียแบรนด์สินค้าระดับพรีเมียมของตัวเอง รวมถึงช่องทางจำหน่ายสินค้าพรีเมียมเหล่านี้ในห้างสรรพสินค้าชั้นนำด้วย แน่นอนว่าเรื่องช่องทางสินค้าอาจจะไม่ใช่ทั้งหมด เพราะยังคงมีผลิตภัณฑ์อื่นไปขาย แต่ต้องยอมรับว่าในการรับรู้ของผู้บริโภค Lamy เป็นสินค้าหลักของบริษัท และทุกคนก็รับทราบดีว่าบริษัทเป็นผู้จัดจำหน่าย การเสียช่องทางนี้ไป จึงเป็นการเสียรายได้ของบริษัทไปอย่างแน่นอน

สำหรับลูกค้า คำตอบตอนนี้ยังไม่ชัดเจนนักว่าจะเกิดผลกระทบอะไรขึ้นบ้าง ระหว่างการที่จะได้รับประกันจากนโยบายสากล (2 ปี จากวันที่ซื้อ กรณีสินค้าบกพร่อง) หรือการไม่ได้รับประกันเลย แล้วให้ลูกค้าไปติดต่อกับบริษัท B.K.L. ที่เป็นผู้จัดจำหน่ายรายเดิม ไรท์ติ้งอินไทยมองว่า คงเป็นการยากที่จะมีการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน เพราะฐานลูกค้าของแบรนด์ในเมืองไทยถือว่ามีอยู่พอสมควร การเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่จะทำให้ความจงรักภักดีของแบรนด์สินค้าหายไป คงเป็นเรื่องยาก

คำตอบจึงอยู่ที่ฝั่งเจ้าของแบรนด์และผู้นำเข้าที่จนถึงปัจจุบันนี้ ยังคงเงียบอยู่ และไม่มีการแถลงให้ลูกค้าทราบแต่อย่างใด แต่โอกาสถอนตัวจากประเทศไทยของแบรนด์คงเป็นไปได้ยาก ส่วนตัวแทนจำหน่ายรายใหม่ที่เรายังไม่ทราบว่าเป็นบริษัทใดนั้น ก็ต้องตอบคำถามเรื่องการรับประกันสินค้าให้ชัดเจนด้วยเช่นกัน ว่าสินค้าก่อนวันที่ 1 เมษายน ซึ่งเป็นวันที่ตัวแทนจำหน่ายรายใหม่จะทำหน้าที่แทน ใครจะเป็นผู้ดูแลและรับประกันสินค้า

ทีมงานไรท์ติ้งอินไทยจะติดตาม และรายงานความคืบหน้าเป็นระยะถึงการเปลี่ยนแปลงนี้ จนกว่าจะได้คำตอบที่ชัดเจน

Patranun Thaniyavarn Limudomporn
Patranun Thaniyavarn Limudompornhttps://www.patranun.com/
เป็นเพียงมนุษย์ธรรมดา คนเดินดิน เรียนจบรัฐศาสตร์ ชอบปากกามาตั้งแต่เด็กๆ แต่ไม่ค่อยได้บอกให้ใครรู้ เริ่มใช้ปากกาหมึกซึมมาตั้งแต่ระดับประถม และใช้ปากกาลูกลื่น Montblanc Generation เป็นปากกาประจำตัว เลิกใช้ปากกาหมึกซึมไประยะหนึ่งก่อนกลับมาใช้ใหม่เพราะเพื่อนฝูงชักชวน แต่ก็ยังวนเวียนกับปากการะดับพรีเมียมเช่นเคย

ติดตามเราบน Facebook

เนื้อหายอดนิยม

บทความที่เกี่ยวข้อง

- Advertisement -