23 ตุลาคม 2024
รีวิวรีวิว LAMY dialog 3 ปากกาหมึกซึมล้ำยุคจากเยอรมนี

รีวิว LAMY dialog 3 ปากกาหมึกซึมล้ำยุคจากเยอรมนี

ครั้งแรกในไทย ไรท์ติ้งอินไทย รีวิว LAMY dialog 3 ปากการะดับบนจากแบรนด์ LAMY ที่คุ้นเคย ด้วยการออกแบบมีสไตล์และกลไกการใช้งานที่ไม่เหมือนใคร

-

หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับปากกา LAMY ไม่ว่าจะในฐานะปากกาหมึกซึม โรลเลอร์บอล และลูกลื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับรุ่นยอดนิยม เช่น 2000, safari หรือ AL-star แต่วันนี้ไรท์ติ้งอินไทย จะรีวิวปากการุ่นหนึ่งที่เรียกเสียงฮือฮาได้ไม่แพ้กับรุ่นเหล่านี้ และหลายคนถือว่าเป็นหนึ่งในที่สุดของการออกแบบจากแบรนด์ นั่นก็คือ LAMY dialog 3

หมายเหตุ ปากกาด้ามนี้ทีมงานจัดหามาด้วยเงินของทีมงานเอง โดยไม่ได้รับการสนับสนุนทางแบรนด์แต่ประการใด ความคิดเห็นของทีมงานทั้งหมดจึงเป็นความเห็นทางทีมงานโดยตรง และแบรนด์ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องแต่ประการใด

เนื้อหา

[ ที่มาของ dialog 3 | Retractable Nib | รายละเอียดทางเทคนิค | บรรจุภัณฑ์และตัวปากกา | ทดสอบใช้งานจริง | สรุป | อ้างอิง ]


LAMY dialog 3 และ dialog – หนึ่งเดียวที่ไม่เป็นอันเดียว

LAMY dialog 3 piano black

สำหรับคนที่คุ้นเคยกับรุ่นของปากกา LAMY นั้น จะคุ้นเคยกับการที่ปากกาแต่ละรุ่น ใช้ชื่อเดียว แล้วก็มีรูปแบบการเขียนที่แตกต่างกัน (เช่น safari รุ่นเดียว แต่มีหลายรูปแบบการเขียน) แต่กับ dialog แล้วนั้นไม่ใช่ เพราะ dialog นั้นจะเป็นคำเรียกรวมๆ ของปากกาที่การออกแบบนั้นแตกต่างกัน และต่างรูปแบบการเขียนด้วย แบ่งออกเป็น 4 รุ่นย่อย ดังนี้

  • dialog 1 – ปากกาลูกลื่น ออกแบบโดย Richard Sapper มีลักษณะทรงแบบสามเหลี่ยม ออกครั้งแรกเมื่อปี 2003 ปัจจุบันยังคงมีการผลิตและวางจำหน่าย
  • dialog 2 – ปากกาโรลเลอร์บอล ออกแบบโดย Knud Holscher มีลักษณะเป็นปากกาทรงกลมแบบหมุน ออกครั้งแรกเมื่อปี 2006 ปัจจุบันเว็บไซต์บริษัทนำออกไปแล้ว
  • dialog 3 – ปากกาหมึกซึม ออกแบบโดย Franco Clivio มีลักษณะทรงกลมมนคล้ายซิการ์ หมุนเปิดปิด ปัจจุบันยังจำหน่ายอยู่ในปัจจุบัน (ที่จะรีวิว)
  • dialog cc – ปากกาหมึกซึม เป็นรุ่นปรับปรุงจาก dialog 3 เพิ่งเริ่มวางจำหน่ายได้ไม่นานนัก (เมื่อเทียบกับรุ่นก่อนหน้าด้านบน) โดยมีขนาดที่เล็กลงกว่าเดิม ประกาศครั้งแรกเมื่อปี 2020 และออกจำหน่ายจริงปี 2021 (เป็นการประกาศทำตลาดก่อนล่วงหน้าที่นานมาก)

ในปัจจุบัน บริษัทเริ่มเลิกการทำตลาด dialog 1 และ 2 ออกไป และคงเหลือแค่ dialog 3 เท่านั้น ซึ่งสิ่งที่ปรากฎต่อมาคือการตัดเลข 3 ออก จนเหลือแค่คำว่า dialog เท่านั้นในปัจจุบัน (ส่วนในโลกของคนเล่นปากกาหมึกซึม ยังคงเรียกว่า dialog 3 ต่อไป) ดังนั้นเมื่อกล่าวถึง LAMY dialog จึงมีความหมายเดียว นั่นก็คือ dialog 3 (ส่วน dialog 1 ที่ยังขายอยู่ก็ให้เรียกว่า dialog ปากกาลูกลื่นแทน)

LAMY dialog cc

กลุ่มของปากกา dialog จึงเป็นปากกาที่การออกแบบในแต่ละรูปแบบการเขียนไม่เหมือนกันเลย อันเป็นจุดต่างอย่างสำคัญเมื่อเทียบกับปากการุ่นอื่นๆ ของบริษัท

สำหรับปากการุ่น dialog 3 ที่รีวิวในวันนี้ ออกครั้งแรกเมื่อปี 2009 (ประมาณ 13 ปีที่แล้ว) โดย Franco Clivio ได้อธิบายปรัชญาการออกแบบไว้โดยละเอียด (เขาออกแบบ LAMY pico ซึ่งเป็นปากกาลูกลื่นขนาดเล็กของแบรนด์ด้วย) ในการให้สัมภาษณ์ของเขาที่เน้นถึงความเป็นวิศวกรรมของปากกาและการออกแบบเอาไว้ด้วย ใช้หัวเขียนเป็นทองคำ 14 กะรัต และมีด้วยกันทั้งหมด 4 สีด้วยกัน ซึ่งสีที่ใช้ในรีวิวครั้งนี้เป็นสีดำเงา ที่เรียกว่า “piano black”

[ กลับไปด้านบน ]


สิ่งที่แตกต่างแต่คุ้นเคย: Retractable nib

จุดที่แตกต่างสำหรับปากการุ่นนี้ อยู่ที่การเป็นปากกาหมึกซึมไม่กี่รุ่นบนโลกนี้ที่หัวปากกา (nib) สามารถหดเข้าไปในตัวปากกาได้ เรียกกันว่า Retractable nib ซึ่งปกติแล้วจะแบ่งออกเป็น Retractable nib เพื่อให้ปากกามีขนาดที่เล็กลง (เช่น Montblanc Boheme, Heritage หรือ Visconti Metropolis) ที่ยังคงลักษณะออกแบบเหมือนกับปากกาแบบเดิม (form factor เดิม) และ Retractable Nib แบบที่ไม่มีปลอกปากกา (capless) ที่มีกลไกหมุนสามารถเขียนได้ทันที

Pilot Vanishing Point
Pilot Vanishing Point – หนึ่งในปากกากลุ่ม Retractable Nib อันโด่งดังและมีชื่อเสียงมาก

ปากกาหมึกซึมในกลุ่มไม่มีปลอกนี้ มีเพียงไม่กี่รุ่นเท่านั้นในตลาด โด่งดังที่สุดคือ Pilot Vanishing Point (ชื่อทำตลาดในบางภูมิภาคคือ Pilot Capless), Stipula Davinci Capless, Visconti Pininfarina Carbon Graphite (เลิกผลิตไปแล้ว), Platinum Curidas และ LAMY dialog 3 ซึ่งแต่ละแบรนด์ก็มีการใช้กลไกที่แตกต่างกันไป

แนวคิดของการทำหัวเขียนและกลไกในลักษณะนี้ เกิดจากความพยายามในการรวมความง่ายในการใช้งานของปากกาลูกลื่น ที่สามารถกดปุ่มและใช้งานได้ทันที กับความเป็นปากกาหมึกซึมเข้าด้วยกัน แม้จะได้ปากกาที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น แต่ในเชิงการออกแบบนั้นกลับมีความยุ่งยากซับซ้อนมากกว่าที่คิด ตั้งแต่กลไกของปากกาที่ต้องมากกว่าปกติ ไม่ใช่แค่สปริงธรรมดา รวมถึงต้องคำนึงถึงการระเหยของสารในน้ำหมึกปากกาด้วย ปากกากลุ่มนี้จึงมีความซับซ้อน ละเอียดอ่อน และที่สำคัญคือราคาย่อมสูงกว่าปากกาหมึกซึมหรือปากกาลูกลื่นปกติ

นอกจากเรื่องเหล่านี้แล้ว ผู้ที่เป็นเจ้าของเองจะต้องระมัดระวังในการดูแลปากกาประเภทนี้มากเป็นพิเศษด้วยเช่นกัน การนำปากกาหมึกซึมกลุ่มนี้ไปทำความสะอาดเป็นเรื่องที่ยุ่งยากและมีรายละเอียดเยอะกว่าปากกาโดยทั่วไป

ทั้งสองปัจจัยข้างต้น จึงทำให้ปากกาในกลุ่มนี้มีในตลาดไม่มาก มักมีราคาแพง และมักไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าใดนัก อย่างไรก็ตาม ปากกาลักษณะนี้หลายด้ามเองก็มีเอกลักษณ์ และคนที่ชื่นชอบปากกาหมึกหลายคนก็มีไว้ในครอบครองเช่นกัน

[ กลับไปด้านบน ]


รายละเอียดทางเทคนิค

  • ความยาวตัวด้าม: 13.9 เซนติเมตร (ตอนเก็บหัวเขียน), 15.7 เซนติเมตร (ตอนเปิดหัวเขียน)
  • น้ำหนักตัวด้าม: 47 กรัม
  • เส้นผ่าศูนย์กลาง: 1.36 เซนติเมตร
  • วัสดุหลัก: โลหะ (ไม่ระบุประเภท)
  • หัวเขียน: ทองคำ 14 กะรัต (ขนาดหัวเขียนที่มี: Extra Fine, Fine, Medium, Broad, Oblique Medium, Oblique Broad)
  • สีที่มีในตัวเลือก: สีดำด้าน (Matte Black), สีเทาแพลเลเดียม (Palladium), สีดำเงา (Piano Black), สีขาวเงา (Piano White)
  • กลไกหมึก: ใช้ได้ทั้งหมึกหลอดและหลอดสูบหมึกของ LAMY ที่ออกแบบมาสำหรับ logo และอื่นๆ (ยกเว้น LAMY 2000)

จุดแข็งอย่างหนึ่งของปากการุ่นนี้ คือการที่สามารถใช้อุปกรณ์เสริมบางอย่าง (เช่น หลอดสูบหมึก) ที่ออกแบบมาสำหรับปากการุ่นอื่นอย่าง logo, studio หรือ scala ได้ด้วยเช่นกัน (จริงๆ ในทางเทคนิค safari ก็ได้ด้วย แต่ตัวหลอดสูบหมึกของ safari จะมีแง่งยึดหลอดสูบติดมา ซึ่งอาจไปขัดกับกลไกการหมุนของปากการุ่นนี้ได้ จึงไม่แนะนำ) รวมถึงหัวปากกาที่สามารถสลับออกมาใช้ได้ด้วย (หากทำถูกวิธี)

ราคาของปากการุ่นนี้ อยู่ที่ด้ามละ 10,600 บาท (ราคาตอนที่ทีมงานซื้อจากเคาน์เตอร์คือ 10,800 บาท แต่ตอนนี้ในเว็บไซต์ของทางแบรนด์มีการปรับราคาลง) นับว่าเป็นปากกาในกลุ่มที่มีราคาแพงมากของบริษัท (เป็นรองก็แค่รุ่น imporium, dialog cc และรุ่นพิเศษอื่นๆ บางรุ่น) ถ้าซื้อตามห้างสรรพสินค้าบางแห่ง จะมีการลดให้กับสมาชิกห้างหรือผู้ถือบัตรเครดิตพิเศษของห้างไป ส่วนราคาจำหน่ายในต่างประเทศจะอยู่ราว 319 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 10,690 บาท ตามอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 3 เมษายน 2565)

สิ่งที่ต้องระบุไว้ในรีวิวนี้คือ ปากการุ่นนี้ไม่ได้มีทุกสาขา สาขาที่สามารถหาของได้ครบที่สุดจากที่ทีมงานไปสำรวจคือ เมกา บางนา รองลงมาเป็นสาขาสยาม ดิสคัฟเวอรี่ ส่วนตามเคาน์เตอร์ต่างๆ ต้องสั่งจองล่วงหน้า และให้พนักงานจัดการให้

สีที่นำมาใช้ในรีวิวนี้ จะเป็นสีดำเงา (piano black) ครับ

[ กลับไปด้านบน ]


บรรจุภัณฑ์และตัวปากกา

บรรจุภัณฑ์ของปากกา

ในอดีต ปากการุ่นนี้จะใช้บรรจุภัณฑ์เป็นเหมือนกล่องใส่แว่นตา (ดูได้จากรีวิวของ David ช่อง Figboot on Pens ใน YouTube) แต่ปัจจุบันทางบริษัทเปลี่ยนมาเป็นกล่องสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่แทน (แบบเดียวกับปากกาแพงๆ ทุกรุ่น)

ได้มาตอนแรก พนักงานจะใส่ถุง LAMY สีขาวขนาดใหญ่ของแบรนด์ที่ทุกคนคุ้นเคยครับ

เมื่อดึงออกมาจากถุง จะพบกับกล่องสีขาวลักษณะธรรมดาแบบนี้ มองจากด้านบนเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ส่วนความหนาก็เอาเรื่องพอตัว

แกะออกมา จะพบกับกล่องด้านในที่ถูกห่อด้วยกระดาษไขอีกชั้นหนึ่ง เรียกว่าความซับซ้อนกินขาดปากการุ่นพิเศษหรือ Limited Edition หลายรุ่นของบริษัท

กล่องที่ออกมาเป็นกล่องกระดาษหนาสีดำ ประทับตรา LAMY โดดเด่นเอาไว้ และมีคุณสมบัติพื้นผิวสัมผัสเป็นร่องๆ ขนาดเล็ก เหมือนกระดาษลูกฟูก (ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าวัสดุนั้นให้ความรู้สึกราคาถูกไปนิด)

เปิดออกมาจะพบกับปากกาวางไว้และตราสัญลักษณ์ของบริษัท ด้านในส่วนที่บุทำด้วยผ้ากำมะหยี่ ทำให้สัมผัสได้ถึงความแพง

โบที่ถูกทำเป็นเหมือนห่วงสลักให้เปิดไปด้านล่าง เมื่อดึงออกมาจะเป็นส่วนของอุปกรณ์ที่เหลือ อันประกอบไปด้วย หลอดหมึก, ใบรับประกัน, คู่มือ และสำคัญที่สุดคืออุปกรณ์ช่วยหมุนสำหรับทำความสะอาดในส่วนด้านบนของปากกา (ส่วนที่หัวปากกาเปิดเข้าออกนั่นแหละครับ)

ตัวปากกา

สิ่งแรกที่หลายคนจะสัมผัสได้ นั่นก็คือ เป็นตัวปากกาที่มีลักษณะเหมือนกับซิการ์อย่างมาก กล่าวคือ เป็นเสมือนทรงกระบอกที่มนโค้งหัวท้าย และมีเส้นสองเส้นกำกับ พร้อมทั้งโลโก้ของแบรนด์ปรากฎอยู่ท้ายด้าม

ตัวคลิปเป็นสีเงินที่มีขนาดใหญ่และยาวจนสังเกตได้ รูปทรงการออกแบบเช่นนี้ก็ต้องบอกว่าค่อนข้างเรียบเชียบ และไม่มีอะไรโดดเด่นมาก (เป็น understated pen)

ลองเทียบขนาดกับ Caran d’Ache Léman Ebony Black ก็นับว่าใกล้เคียงกันอยู่ จุดแตกต่างแบบเห็นได้ชัดๆ อยู่ที่รูปทรงและการออกแบบต่างๆ

แน่นอนว่าจุดเด่นที่สุดของปากกาด้ามนี้ เห็นจะเป็นอะไรไปไม่ได้ นั่นก็คือหัวปากกาแบบหมุนเปิดได้ ซึ่งการหมุนก็ต้องหมุนจากกลางตัวของปากกาด้านเอง ซึ่งใครจะหมุนด้านบนไปซ้ายหรือท้ายไปขวา อันนี้ก็แล้วแต่สะดวก แต่มีท่าเดียวแน่ๆ ครับ

ส่วนหัวของปากกาจะเป็นวงกลมพลาสติก เขียนว่า “Germany” ชั้นนอก และด้านในจะมีเหล็กโค้งเหมือนลูกบอลปรากฎอยู่ ซึ่งก็คือประตูนั่นเอง

เมื่อหมุนแล้ว หัวปากกาจะออกมาแบบนี้ครับ ยื่นออกมาเลย ซึ่งหัวปากกาจะเป็นทองคำ 14 กะรัตครับ (ใครจะเอาหัว safari มาเปลี่ยนสลับกันก็ได้ ทำได้) ซึ่งในระหว่างการหมุนเปิด คลิปหรือแหนบของปากกาจะยุบตัวลงไป เพื่อไม่ให้ยื่นออกมามากจนเกินไป นับว่าเป็นการออกแบบที่ชาญฉลาดมาก (Vanishing Point แหนบขึ้นมาขวางไว้ตลอด)

ส่วนถ้าใครอยากเปิดออกมาดูกลไก (จริงๆ ไม่ค่อยแนะนำ เพราะวัสดุบางส่วนก็อาศัยกลไกการเปิดปิด ถ้าทำบ่อยๆ ก็อาจสึกได้ง่าย) หรือเปิดมาเติมหมึก ก็แค่หมุนส่วนด้านบนไปทางขวา หรือครึ่งล่างไปทางซ้าย เท่านั้นเองครับ (ต้องค่อยๆ ฝึก จะชิน)

เมื่อหมุนออกมาแบบนี้แล้ว จะพบกับหลอดเติมหมึกและไส้ในก่อน ซึ่งพอถึงจุดนี้ให้จับหมุนส่วนเหล็กที่เป็นรอยบากออกมา ตัวโครงสร้างปากกาภายในทั้งหมดจะออกมา (วิธีการใส่ก็หมุนกลับ) ซึ่งวิธีลักษณะนี้ก็จะคล้ายๆ กับ Pilot Vanishing Point อยู่นิดหน่อย เพียงแต่ว่าวิธีการของ Pilot นั้นคือใส่ลงไปตรงๆ และหันให้ถูกด้านเป็นอันพอ

เช่นเคย เนื่องจากหัวปากกาทำมาจากทองคำ 14 กะรัต ย่อมมีความอ่อนมากกว่าหัวปากกาแบบเหล็กกล้าไร้สนิมที่ใช้ในปากการุ่นอื่นๆ ดังนั้นต้องระมัดระวังอย่างมากครับ (และถ้าหมุนไม่ถูก ก็จะเบี้ยวไปได้ด้วยเช่นกัน)

หมดจากตัวปากกาแล้ว ก็คงไปที่เรื่องของการเขียนและใช้งานจริงครับ

[ กลับไปด้านบน ]


ทดสอบใช้งานจริง

ทีมงานทดสอบปากกาด้ามนี้ ด้วยการทดลองเขียนบนกระดาษ Double A ขนาด A4 ที่ความหนา 80 แกรม โดยใช้หมึก LAMY crystal ink Benitoite (เป็นหมึกแบบ Permanent ตัวเดียวของ LAMY ในขณะนี้) ผลการทดลองเขียนเป็นไปตามภาพด้านล่างนี้

สิ่งแรกที่ทีมงานพบ คือหัวปากกาทองคำของปากการุ่นนี้ ทำให้ทีมงานเขียนได้ค่อนข้างยากกว่าปกติ เพราะค่อนข้างมีความนุ่มนวลเป็นพิเศษแม้จะมาทรงเดียวกับ safari หรือแม้กระทั่งกับ Pilot Vanishing Point ทำให้การเขียนส่วนมาก เส้นแทนที่จะเป็นแบบ EF กระโดดไปที่ F และในบางมุมกระโดดไปที่ M เลย ใครที่ใช้ปากการุ่นนี้ อาจจะต้องระวังเรื่องของน้ำหนักที่ใส่ลงไปมากพอสมควร

ในส่วนของการใช้งาน ทีมงานตอนแรกหวั่นใจว่าสถานการณ์จะซ้ำรอย Vanishing Point (ที่ดูสวยแต่รูป พอใช้งานจริงมีบางมุมที่เขียนไม่ออ)ก ซึ่งรูปการณ์กลับกันสำหรับรุ่นนี้ เพราะปากกาทำผลงานออกมาได้ดีมากๆ น้ำหนักของปากกาตอนที่อยู่บนอุ้งมือก็ไม่ได้มีปัญหาหนักจนเกินไป เรียกว่าเป็นปากกาที่ออกแบบมาอย่างดี ผ่านการคิดแล้วคิดอีก ส่วนแหนบหรือคลิปของปากกาไม่ได้ขึ้นมาขวางหรือบังคับการเขียนแบบที่รุ่นอื่นเป็นครับ

จุดที่ทีมงานรู้สึกขัดใจมีสองส่วน ส่วนแรกคือโลหะผสมที่ใช้เป็นตัวปากกานั้นค่อนข้างจะไม่แพง (ภาษาปากคือติด “ก๊องแก๊ง” พอสมควร) และเมื่อใช้คู่กับปากกาที่ราคาใกล้เคียงกันแต่โลหะแน่นกว่า (เช่น Caran d’Ache Ecridor) ทีมงานหวาดเสียวมากกว่าพอปากกากระแทกกันแรงๆ แล้วจะบุบได้ คำแนะนำก็คือ ถ้าจะใช้ปากกาด้ามนี้ควรเป็นโลหะด้ามเดียวครับ

อีกส่วนหนึ่งคือ รอยนิ้วมือที่ติดเยอะมาก ด้วยความที่เป็นปากกาเงาวับ ทำให้เวลาใช้งานจริงจับแป๊ปเดียวรอยนิ้วมือเต็มไปหมด ต้องเตรียมผ้าไว้เช็ดเป็นการเฉพาะ เรื่องนี้แก้ไขปัญหาได้สองวิธีคือ หากชอบความเงาก็ต้องพกผ้าเช็ด หรือถ้าไม่ชอบก็ควรเปลี่ยนเป็นสีตระกูลดำด้าน หรือสีเทาแพลเลเดียม

สิ่งสุดท้ายที่ต้องกล่าวถึงคือการดูแลรักษา ซึ่งต้องดูแลรักษามากกว่าปกติอย่างแน่นอน ใครที่ใช้ปากการุ่นนี้ก็อาจจะต้องระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของกลไก ซึ่งแม้ว่าบริษัทจะแถมตัวหมุนมาให้ (และระบุว่าเอาไปผ่านน้ำได้) แต่ทีมงานก็ยังเล็งเห็นว่าไม่ควรเอาไปผ่านน้ำอยู่ดี ควรหาผ้าหรือใช้ cotton bud ในการเช็ดอาจจะเป็นการรักษากลไกการหมุนที่ยาวนานกว่า (ลองดูคลิปทางการประกอบ)

[ กลับไปด้านบน ]


สรุป

โดยภาพรวม LAMY dialog 3 นับว่าเป็นปากกาหมึกซึมที่มีเอกลักษณ์และน่าสนใจเป็นอย่างสูง ด้วยรูปทรงที่เป็นเอกลักษณ์ และวิธีการทำงานของปากกาที่ไม่เหมือนทั้งกับปากการุ่นอื่นๆ ของแบรนด์ รวมถึงในตลาดเองก็ยังมีปากกาลักษณะนี้อยู่น้อยด้วยเช่นกัน ในเรื่องของการเขียน Performance ของปากการุ่นนี้นับว่าไม่ด้อยไปกว่าปากการะดับแนวหน้าชั้นนำที่มีอยู่ในตลาด โดยเฉพาะตลาดระดับหลักหมื่นขึ้นไป

จุดที่ถือเป็นข้อด้อยของปากการุ่นนี้ก็คงคล้ายกับปากกา Retractable Nib ทั่วไป นั่นก็คือถ้าไม่ชอบก็ชังไปเลย (แนะนำให้ลองดูก่อนซื้อ), สีบางรุ่นดูเงา, วัสดุที่เป็นเหล็กซึ่งถ้ากระทบกับปากกาอื่นๆ จะให้ความรู้สึกที่ด้อยกว่า และสำคัญที่สุดอยู่ที่การบำรุงรักษาที่อาจจะเรื่องมากกว่าปากกาหมึกซึมโดยทั่วไป

คำแนะนำของทีมงานคือ หากท่านแสวงหาปากกากลุ่มนี้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ปากการุ่นนี้สามารถตอบโจทย์ท่านได้ดี นอกจากนั้นยังเรียกบทสนทนาจากคนรอบข้างได้แน่ แต่ถ้าท่านอยากหาที่เป็นกลุ่ม Retractable Nib และราคายังสามารถเข้าถึงได้ การเริ่มต้นกับปากกาอย่าง Pilot Vanishing Point อาจจะตอบโจทย์ท่านได้ดีมาก ด้วยราคาค่าตัวเริ่มต้นที่ไม่แพงมากเท่ากับปากกาด้ามนี้ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการเขียนที่ยากกว่าพอสมควร

ทางที่ดีที่สุดก่อนตัดสินใจซื้อ คือ ท่านควรได้ลองเขียนด้วยปากกาด้ามนี้ ก่อนที่จะตัดสินใจต่อว่า ท่านอยากเป็นเจ้าของหรือไม่ครับ

ข้อดีข้อด้อย
ปากกามีเอกลักษณ์โดดเด่นราคาที่ถือว่าสูง (เมื่อเทียบกับรุ่นอื่น)
เขียนได้ดีเกินคาดต้องอาศัยการดูแลที่มากกว่าปกติ
วัสดุให้ความรู้สึกไม่สมดุล, บางสีที่เงามากมีรอยนิ้วมือเยอะ

[ กลับไปด้านบน ]


อ้างอิง

ข้อมูล

[ LAMY Thailand | LAMY | Figboot on Pens | Goulet Pens | Appelboom | UK Fountain Pens ]

สถานที่

ร้าน Tim Hortons สาขา The Parq พระราม 4, Starbucks สาขา Emporium ชั้น G

[ กลับไปด้านบน ]

ความเห็นภาพรวม

ปากกาหมึกซึมที่มีเอกลักษณ์และน่าสนใจเป็นอย่างสูง ด้วยรูปทรงที่เป็นเอกลักษณ์ และวิธีการทำงานของปากกาที่ไม่เหมือนใคร เขียนได้ดี แต่อาจจะมีเรื่องจุกจิกในเชิงของการดูแล วัสดุที่อาจจะด้อยไปบ้าง ซึ่งทีมงานแนะนำให้ลองก่อนซื้อจริงครับ
Patranun Thaniyavarn Limudomporn
Patranun Thaniyavarn Limudompornhttps://www.patranun.com/
เป็นเพียงมนุษย์ธรรมดา คนเดินดิน เรียนจบรัฐศาสตร์ ชอบปากกามาตั้งแต่เด็กๆ แต่ไม่ค่อยได้บอกให้ใครรู้ เริ่มใช้ปากกาหมึกซึมมาตั้งแต่ระดับประถม และใช้ปากกาลูกลื่น Montblanc Generation เป็นปากกาประจำตัว เลิกใช้ปากกาหมึกซึมไประยะหนึ่งก่อนกลับมาใช้ใหม่เพราะเพื่อนฝูงชักชวน แต่ก็ยังวนเวียนกับปากการะดับพรีเมียมเช่นเคย

เนื้อหายอดนิยม

ติดตามเราบน Facebook

ปากกาหมึกซึมที่มีเอกลักษณ์และน่าสนใจเป็นอย่างสูง ด้วยรูปทรงที่เป็นเอกลักษณ์ และวิธีการทำงานของปากกาที่ไม่เหมือนใคร เขียนได้ดี แต่อาจจะมีเรื่องจุกจิกในเชิงของการดูแล วัสดุที่อาจจะด้อยไปบ้าง ซึ่งทีมงานแนะนำให้ลองก่อนซื้อจริงครับรีวิว LAMY dialog 3 ปากกาหมึกซึมล้ำยุคจากเยอรมนี