23 ตุลาคม 2024
รีวิวรีวิวปากกาหมึกซึม Pilot Custom URUSHI สุดยอดปากกาจากแดนอาทิตย์อุทัย

รีวิวปากกาหมึกซึม Pilot Custom URUSHI สุดยอดปากกาจากแดนอาทิตย์อุทัย

สุดยอดปากกาจากดินแดนอาทิตย์อุทัย ที่ควรมีไว้ครอบครอง

-

ในบรรดาปากการะดับเรือธง (flagship range) หลายคนอาจจะนึกถึงปากกาอย่าง Montblanc Meisterstück 149, Pelikan Souverän M1000 หรือ Sailor King of Pens ซึ่งในฝั่งของญี่ปุ่นสำหรับ Pilot (ไม่นับ Namiki ที่เป็นแบรนด์ย่อย) ที่ผ่านมาจะเป็น Custom 845 แต่เมื่อปี 2016 บริษัทได้เปิดตัว Pilot Custom URUSHI ปากกาหมึกซึมระดับเรือธงด้ามใหม่ของบริษัท โดยมีการปรับขนาดด้ามและหัวปากกา ให้ทัดเทียมกับปากการะดับเรือธงอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี

เนื่องในวาระฉลองครบรอบ 4 ปี ไรท์ติ้งอินไทย ขออนุญาตนำเสนอรีวิวปากกาหมึกซึมรุ่นนี้ให้กับทุกท่าน ครั้งแรกในประเทศไทย และเป็นภาษาไทยครับ

หมายเหตุ ทีมงานจัดซื้อปากกาด้ามนี้ด้วยเงินส่วนตัว ไม่ได้รับการสนับสนุนจากแบรนด์แต่อย่างใด และเขียนขึ้นจากประสบการณ์ตรงของทีมงานเอง

เนื้อหา

[ รู้จักกับ Pilot Custom URUSHI | รายละเอียดทางเทคนิค | บรรจุภัณฑ์และตัวปากกา | ทดสอบใช้งานจริง | สรุป | อ้างอิง ]


รู้จักกับ Pilot Custom URUSHI

อาคารสำนักงาน Pilot Pen ประเทศไทย

ดังที่เคยเกริ่นไปในรีวิว Custom 74 แล้ว ผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม Custom ถือเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องเขียนขั้นสูงของ Pilot Corporation ที่เริ่มวางจำหน่ายตั้งแต่ ค.ศ. 1971 เป็นต้นมา ซึ่งจะใช้รหัส 2-3 หลักของรุ่นในการระบุถึงความหมายเป็นหลัก (บางรุ่นจะเป็นชื่อ) โดย 2 หลักแรก หมายถึงปีที่บริษัทก่อตั้งมา และหลักสุดท้าย (ที่มีเฉพาะบางรุ่น) หมายถึงราคาในหลักหมื่นเยน เช่น Custom 845 ออกมาในปีที่ 84 ของบริษัท และมีราคาจำหน่ายที่ 5 หมื่นเยน (ประมาณ 14,400 บาท ตามอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่เขียน)

ในปัจจุบัน ปากกาในกลุ่ม Custom นั้นมีอยู่จำนวนหนึ่ง แต่รุ่นที่ถือเป็นเรือธงและอยู่ในกลุ่มระดับสูงสุดคือ Custom 845 ที่ออกมาเมื่อปี ค.ศ 2002 และ Custom URUSHI ที่ออกมาเมื่อปี ค.ศ. 2016 โดยเป็นการปรับขนาดและการออกแบบบางจุดของ 845 ให้ใหญ่ รวมถึงยกระดับหัวเขียนเพิ่มเติมเป็นขนาด 30 ผลที่ได้คือปากกาที่มีขนาดใหญ่ทัดเทียมกับปากกาเรือธงของหลายค่าย และกลายเป็นปากกาที่มีขนาดใหญ่มากอันดับต้นๆ ของค่าย (หากไม่นับ Namiki Emperor ที่ขนาดหัวปากกาอยู่ที่ 50)

สำหรับรุ่นนี้ มีสองรูปแบบวิธีเขียนด้วยกัน คือ ปากกาหมึกซึม (ใช้รหัสรุ่นเป็น FKV-88SR) และปากกาลูกลื่น (ใช้รหัสรุ่นเป็น BKV-45SR) ทั้งสองรุ่นมีสีดำและสีแดงให้เลือก (สีแดงเรียกว่า Vermilion Red หรือสีแดงชาด) ซึ่งจะต่อท้ายด้วย B หรือ R จากรุ่นหลัก ซึ่งในวันนี้รุ่นที่ทีมงานรีวิวจะเป็น ปากกาหมึกซึมสีดำ ที่ใช้รหัส FKV-88SR-B ครับ

Pilot Custom URUSHI
Pilot Custom URUSHI (ที่มา – บริษัท)

[ กลับขึ้นไปด้านบน ]


รายละเอียดทางเทคนิค

  • วัสดุหลัก: Ebonite (ยางแข็ง) และเรซิน
  • หัวเขียน: ทองคำ 18 กะรัต ขนาด 30 (ประมาณขนาด 9 ตามปกติ) มีขนาดเส้น FM, M และ B
  • กลไกหมึก: หมึกหลอดแบบ CON-70N สีดำ
  • เส้นผ่าศูนย์กลาง: 2 เซนติเมตร
  • ความยาวตัวด้าม (เวลาปิด): 15.5 เซนติเมตร
  • น้ำหนัก: 44 กรัม

ปัจจุบันปากกาด้ามนี้ไม่มีจำหน่ายในประเทศไทย โดยจะต้องสั่งจากต่างประเทศเท่านั้น สำหรับราคาที่จำหน่ายในญี่ปุ่น (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) อยู่ที่ด้ามละ 88,000 เยน (ประมาณ 25,300 บาท ตามอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่เขียน) ส่วนในสหรัฐอเมริกา ราคาจะแพงกว่านี้ ซึ่งราคาจำหน่ายของปากกาด้ามนี้ ทำให้ตัวปากกาขึ้นไปยืนอยู่ในระดับเดียวกับปากกาเรือธงชั้นนำของวงการ

นอกจากความแพงแล้ว ปากการุ่นนี้ยังขึ้นชื่อในการหาซื้อได้ยากมาก ผู้เขียนซึ่งตัดสินใจซื้อสีดำไปได้ไม่นาน ก็พบว่าของหมดอย่างรวดเร็ว และของขาดตลาดอย่างยาวนาน โดยเฉพาะสีแดงชาดที่ไม่มีของเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว ดังนั้นใครที่คิดจะหาปากการุ่นนี้ อาจจะต้องวางแผนและเลือกหาร้านดีๆ ไม่เช่นนั้นอาจจะต้องจ่ายแพงหรือรอของกันนานครับ

[ กลับขึ้นไปด้านบน ]


บรรจุภัณฑ์และตัวปากกา

สำหรับบรรจุภัณฑ์ของปากการุ่นนี้ มาในกล่องขนาดใหญ่ โดยกระดาษแข็งห่อด้านนอกเป็นสีขาวล้วน เมื่อเอาออก จะเป็นกล่องสีดำที่บุด้วยกระดาษซึ่งทำความรู้สึกเหมือนกับหนังเทียม เรียกว่าไม่มีอะไรโดดเด่นเลย (ทีมงานเลยข้ามการรีวิวไปหมด) จนกระทั่งเปิดกล่องออกมา จึงจะเห็นปากกาอยู่ภายใน

สำหรับตัวฐานด้านล่างที่รองปากกาทำจากผ้า ซึ่งสามารถเปิดลงไป ด้านในจะมีคู่มือและเอกสารอีกจำนวนหนึ่งสำหรับการดูแลปากกาครับ ไม่ได้มีอะไรที่พิเศษแต่อย่างใด

ตัวปากกาเมื่อถอดออกมาจากซองพลาสติก ความรู้สึกแรกที่ได้คือ เป็นปากกาที่มีขนาดใหญ่มากๆ (แทบจะรู้สึกเหมือนไม้กระบองมากกว่าปากกา) น้ำหนักไม่ถือว่าหนักมาก แต่ก็มีน้ำหนักอยู่ในมือ ส่วนเรื่องของการออกแบบนั้น ยังคงแนวทางแบบญี่ปุ่น คือเน้นที่ความเรียบง่าย ดังนั้นความรู้สึกของปากกาจะออกไปในแนว Custom 74 หรือ 845 แบบขยายร่างนั่นเอง

ส่วนวัสดุนั้นจะเป็น Ebonite (ยางแข็ง) เคลือบด้วย Urushi หรือยางรักของญี่ปุ่น (กระบวนการคล้ายๆ ลงรัก ในบ้านเรา) ที่ทำให้ปากกาด้ามนี้มีความรู้สึกพิเศษมาก นั่นก็คือตอนใช้จะรู้สึกอุ่นมือ และไม่รู้สึกแข็งกระด้างเหมือนพลาสติกทั่วไป นอกจากสัมผัสพิเศษแล้ว กระบวนการผลิตทั้งหมดนี้จำเป็นต้องใช้คนในการทำ ปากกาด้ามนี้จึงมีลักษณะเป็นงาน Handmade ล้วนๆ ข้อพิสูจน์คือ แม้ภายนอกจะมองเหมือนพลาสติกทั่วๆ ไป แต่ถ้าใช้แว่นขยายที่มีกำลังสูงมาส่อง จะเห็นรอยฝีแปรงของช่างปรากฎอยู่ ข้อดีคงเป็นเรื่องสัมผัสที่แตกต่าง และได้ความรู้สึกเหมือนการใช้งานศิลปะ อย่างไรก็ตามในมุมกลับกัน ทำให้เรื่องของการดูแลนั้นจะต้องดูแลมากกว่าปากกาโดยปกติทั่วไปด้วย

ปลอกปากกายังคงลักษณะแบบเดียวกับ Custom 845 แต่มีขนาดใหญ่ขึ้น ส่วนหัวจะเป็นแบบตัด (คล้ายกับ Custom Heritage) มีแผ่นสีดำด้านกลมปิด พร้อมกับคลิปของ Pilot อันเป็นเอกลักษณ์ และมีวงแหวนที่เขียนว่า “CUSTOM URUSHI” ตามด้วยดาว และคำว่า “PILOT MADE IN JAPAN” ซึ่งสีดำในช่องก็เกิดจากการลงรักด้วยเช่นกัน นับว่าเป็นการเอาใจใส่ในรายละเอียดที่สวยมาก

เมื่อหมุนปลอกปากกาเปิดออกมา จะพบกับหัวปากกาทองคำ 18 กะรัต ขนาด 30 ซึ่งเทียบได้ใกล้เคียงกับหัวปากกาขนาด 9 ที่นิยมใช้ในยุโรปสำหรับปากกาบางแบรนด์ นับว่าเป็นหัวปากกาที่มีขนาดใหญ่มากๆ และสามารถเรียกความสนใจจากการใช้งานได้เป็นอย่างดี ส่วนตัวรางจ่ายหมึก (feed) ทำมาจากพลาสติกครับ อนึ่ง ส่วนที่จับปากกา (คอปากกา) นั้น ทำมาจากพลาสติกเรซินครับ

เทียบขนาดของ Pilot Custom URUSHI และปากกาอื่นๆ ในระดับเรือธง เช่น Montblanc Meisterstück 149 และ Pelikan Souverän M1000 ซึ่งจะพบว่าขนาดด้ามนั้นใกล้เคียงกัน แต่ความยาวของ URUSHI จะยาวกว่า ส่วนหัวปากกานั้นจะใกล้เคียงกับ 149 มากกว่า

จากซ้ายไปขวา: Meisterstück 149, Custom URUSHI, Souverän M1000
จากซ้ายไปขวา: Meisterstück 149, Custom URUSHI, Souverän M1000

เมื่อเทียบกับ Custom 74 จะพบว่าขนาดนั้นต่างกันมาก จน 74 แทบจะเป็นปากกาสำหรับเด็กไปเลย

แม้ขนาดตัวจะใหญ่แบบนี้ แต่เมื่อถอดตัวด้ามออก จะพบว่าตัวปากกายังคงใช้หลอดหมึกสูบของทางแบรนด์เอง ซึ่งหลอดสูบรุ่นนี้เป็น CON-70N ที่พัฒนาขึ้นจากหลอดหมึกรุ่นเดิม ทั้งนี้สำหรับรุ่นระดับสูง หลอดสูบหมึก CON-70N จะเป็นสีดำ แทนที่จะเป็นสีเงินแบบปกติครับ

[ กลับขึ้นไปด้านบน ]


ทดสอบใช้งานจริง

ในการใช้งานจริง ทีมงานทดสอบเขียนปากการุ่นนี้กับกระดาษ A4 ความหนา 80 แกรม โดยไม่ทราบแบรนด์ ใช้คู่กับหมึก Pilot Iroshizuku Shin-Kai ซึ่งเป็นสียอดนิยมของคนญี่ปุ่นอยู่ช่วงหนึ่ง ซึ่งสีที่ได้จะเป็นสีน้ำเงิน-ดำ (Blue-Black) ผลการทดสอบตามภาพด้านล่างนี้ครับ

ผลการเขียนของปากกาทำผลงานได้น่าประทับใจอย่างมาก ในเชิงของการจ่ายหมึกนั้นอาจจะจ่ายหมึกน้อยกว่าปากกาโดยทั่วไป ด้านขนาดของเส้นที่เป็น FM หรือ Fine Medium นั้น ให้ขนาดที่ไม่เป็นเส้นเล็กจนเกินไปมากนัก คล้ายๆ F ในฝั่งตะวันตกมากกว่าครับ ส่วนความนุ่มนวลในการใช้งานนั้น ต้องบอกว่าอยู่ในระดับเดียวกับ Meisterstück 149 และ Souverän M1000 อยู่ในระดับที่สมดุลมากๆ

จุดที่อาจจะเป็นข้อด้อยคือเรื่องของการใช้หลอดสูบหมึก CON-70N ที่สามารถบรรจุหมึกได้ประมาณ 1 มิลลิลิตร เมื่อเทียบกับตัวปากกาที่ขนาดใหญ่มากๆ ซึ่งถ้าตอนออกแบบปากการุ่นนี้ บริษัทเลือกที่จะทำเป็น Piston Filling แล้ว ก็อาจจะได้ปากกาที่บรรจุหมึกได้มากกว่านี้ครับ

ในส่วนของการใช้งานนั้น สามารถเสียบปลอกปากกาไว้ด้านหลังได้ในตอนเขียน แต่จะเสียสมดุลน้ำหนักและทำให้การเคลือบ Urushi เป็นรอยได้ ดังนั้นคำแนะนำคือวางฝาเอาไว้ตอนใช้เขียนครับ (แบบเดียวกับ Montblanc 149)

[ กลับขึ้นไปด้านบน ]


สรุป: ปากกาเรือธงที่สมศักดิ์ศรี ของดีที่ควรมี (ถ้าหาซื้อได้)

ที่ผ่านมา Pilot แม้จะเป็นผู้ผลิตปากการายสำคัญของญี่ปุ่น และถือเป็นบริษัทในระดับโลกที่ผลิตเครื่องเขียนต่างๆ แต่ในมิติของการสร้างปากกาที่ทำให้ผู้คนจดจำนั้น ยังมีไม่ชัดเจนพอ จนกระทั่งการมาถึงของ Pilot Custom URUSHI ที่บริษัทตัดสินใจสร้างขึ้นเพื่อขึ้นมาชนกับปากกาในระดับเรือธงของหลายเจ้า และทำผลงานได้เป็นอย่างดี หลังจากที่ให้ Custom 845 ทำหน้าที่นี้มาอย่างยาวนาน และดูเหมือนจะไม่ค่อยสมศักดิ์ศรีเท่าไหร่นัก

ตัวปากกาเองมีขนาดที่ใหญ่มากจนโดดเด่น วัสดุที่ทำขึ้นมาเรียกว่าดีอย่างมาก หัวปากกาทำผลงานได้ดีอย่างไร้ที่ติ ต้องเรียกว่าสมกับการเป็นปากกาเรือธงที่ทาง Pilot ใส่ความพยายามและทรัพยากรทั้งหมดเข้ามา จนทำให้ปากการุ่นนี้สมศักดิ์ศรีในฐานะเรือธงของแบรนด์นั่นเอง

จุดที่เป็นข้ออ่อนด้อยอย่างชัดเจน คือ ความจุของหมึกที่ถือว่าน้อย เนื่องจากยังคงใช้แนวทางหลอดสูบหมึก (แบบเดียวกับ King of Pens ของ Sailor) ทำให้จุหมึกได้น้อยกว่าคู่แข่ง อีกทั้งกระบวนการหาซื้อและการผลิตที่เป็นได้ช้า ทำให้ปากการุ่นนี้หาซื้อได้ยาก

เมื่อเทียบกับคู่แข่งที่อยู่ในระดับเดียวกันแล้ว ต้องบอกว่าปากการุ่นนี้ทำผลงานได้ไม่แพ้เลย และเป็นตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจมากๆ โดยเฉพาะสำหรับคนที่ชอบปากกาในกลุ่มขนาดใหญ่ (oversize) ส่วนคู่แข่งนอกเหนือจาก Montblanc 149 และ Pelikan M1000 แล้ว ยังคงมี Cross Peerless 125, Sailor King of Pens, Caran d’Ache Léman เป็นตัวเลือกที่ไม่ควรพลาด แต่คู่แข่งที่สำคัญสุดคงเป็นใครไม่ได้นอกจาก Namiki Emperor ซึ่งเป็นปากกาแบรนด์ลูกของ Pilot ที่มีขนาดที่ใหญ่กว่า โดยเฉพาะหัวปากกาขนาด 45 และ 50 หรือรุ่นอื่นๆ เช่น Maki-e Art Series เป็นต้น แต่ราคาก็ต้องเพิ่มมากกว่าปากการุ่นนี้อีกพอสมควร

โดยสรุปแล้ว นี่คือปากกาเรืองธงจาก Pilot ที่ไม่ควรพลาดเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกับคนที่ชอบปากกาสายญี่ปุ่น (ถ้าหาซื้อได้)

ข้อดีข้อเสีย
ปากกามีขนาดใหญ่ราคาแพง
หัวปากกาเขียนได้ดีมากดีไซน์ดูธรรมดา
น้ำหนักสมดุลหาซื้อได้ยากมาก
ผลิตภัณฑ์ทำออกมาได้ดีมากความจุหมึกน้อย เมื่อเทียบกับปากกาเรือธงด้วยกัน

[ กลับขึ้นไปด้านบน ]


อ้างอิง

เว็บไซต์บริษัท (1,2,3,4), Figboot on Pens (David), Appelboom

สถานที่ถ่ายทำ

โรงแรมพูลแมน จี บางกอก สีลม
Pullman G Bangkok Silom

[ กลับขึ้นไปด้านบน ]

ความเห็นภาพรวม

ปากกาเรือธงที่ทำผลงานได้ดีน่าประทับใจ การเขียนให้คุณภาพระดับเดียวกับปากกาเรือธงอื่นๆ อย่างไรก็ตามยังมีจุดอ่อนในเรื่องความจุหมึกที่น้อย นอกจากนั้นแล้วยังหาซื้อได้ยากมากอีกด้วย
Patranun Thaniyavarn Limudomporn
Patranun Thaniyavarn Limudompornhttps://www.patranun.com/
เป็นเพียงมนุษย์ธรรมดา คนเดินดิน เรียนจบรัฐศาสตร์ ชอบปากกามาตั้งแต่เด็กๆ แต่ไม่ค่อยได้บอกให้ใครรู้ เริ่มใช้ปากกาหมึกซึมมาตั้งแต่ระดับประถม และใช้ปากกาลูกลื่น Montblanc Generation เป็นปากกาประจำตัว เลิกใช้ปากกาหมึกซึมไประยะหนึ่งก่อนกลับมาใช้ใหม่เพราะเพื่อนฝูงชักชวน แต่ก็ยังวนเวียนกับปากการะดับพรีเมียมเช่นเคย

เนื้อหายอดนิยม

ติดตามเราบน Facebook

ปากกาเรือธงที่ทำผลงานได้ดีน่าประทับใจ การเขียนให้คุณภาพระดับเดียวกับปากกาเรือธงอื่นๆ อย่างไรก็ตามยังมีจุดอ่อนในเรื่องความจุหมึกที่น้อย นอกจากนั้นแล้วยังหาซื้อได้ยากมากอีกด้วยรีวิวปากกาหมึกซึม Pilot Custom URUSHI สุดยอดปากกาจากแดนอาทิตย์อุทัย