25 เมษายน 2024
รีวิวรีวิวหมึก (โคตร) เงาเป็นประกาย KWZ Ink Sheen Machine

รีวิวหมึก (โคตร) เงาเป็นประกาย KWZ Ink Sheen Machine

ไรท์ติ้งอินไทยเคยรีวิวหมึกสำหรับปากกาหมึกซึมมามากมาย แต่ที่ผ่านมาเรารีวิวไปแค่เฉพาะหมึกธรรมดาเท่านั้น งวดนี้เรามารีวิวหมึกที่ได้ชื่อว่า(โคตร)เงาเป็นประกายเมื่อต้องกับแสง นั่นก็คือ KWZ Ink Sheen Machine ครับ

หมายเหตุ: รีวิวนี้ทีมงานได้รับหมึกและกระดาษ Tomoe River สำหรับการรีวิวจาก The Pips Cafe’ ตัวแทนจำหน่ายเพียงผู้เดียวของ KWZ Ink ในประเทศไทย แต่ยังให้อิสระในการรีวิวและคำวิจารณ์กับทีมงานครับ ทีมงานขอขอบพระคุณทางร้านที่ได้ให้หมึกและกระดาษมาสำหรับการทดสอบในครั้งนี้

รู้จักกับ KWZ Ink หมึกปากกาทำมือจากโปแลนด์

ในหมู่คนที่ชื่นชอบปากกาหมึกซึม สิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้ตัวปากกาคือเรื่องของหมึกที่ใช้คู่กับปากกาด้ามเก่งของแต่ละคนที่มีผู้ผลิตหลายเจ้า และหนึ่งในค่ายที่มีชื่อเสียงคือ KWZ Ink จากประเทศโปแลนด์ ที่ผลิตหมึกทุกล็อตด้วยมือ ถือเป็นหนึ่งในหมึกปากกายอดนิยม และมีการผลิตที่น้อย

บริษัทก่อตั้งโดย Konrad Wojciech Zurawski และ Agnieszka Zurawski สองสามีภรรยาชาวโปแลนด์ (และเป็นที่มาของชื่อแบรนด์) ตอนปี 2012 Konrad เริ่มต้นทำหมึกในระหว่างที่เขากำลังศึกษาต่อระดับปริญญาเอกด้านเคมีที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งวอร์ซอว์ เพราะเขาไม่พอใจในผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ จากนั้นในปี 2013 จึงพบกับ Agnieszka ภริยาที่กำลังศึกษาในด้านเดียวกัน ก่อนที่ในปี 2014 จะตั้งชื่อแบรนด์ให้กับหมึกของเขาว่า KWZ Ink

หมึกจาก Konrad ปรากฎตัวครั้งแรกในงานรวมตัวคนนิยมปากกาหมึกซึมของโปแลนด์เมื่อปี 2013 และเมื่อจัดแสดงอีกครั้งในปี 2014 หมึกของเขามีคนซื้อโดยสมาชิกของ The Fountain Pen Network เว็บไซต์เครือข่ายด้านปากกาหมึกซึมระดับโลก ทำให้หมึกเริ่มเป็นที่รู้จักในระดับสากล จนในที่สุดนำมาสู่การตั้งบริษัทชื่อแบรนด์ของเขาในปีถัดมานั่นเอง

ในบทสัมภาษณ์จากเว็บไซต์ Fountain Pen Follies นั้น Konrad ระบุว่า ตัวเขาเองไม่พอใจกับหมึกที่มีอยู่ในตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมึกกลุ่ม Iron Gall ที่มีคุณสมบัติในการทนทานน้ำและความชื้นระดับหนึ่ง ทำให้เขาเริ่มผลิตหมึกที่เป็น iron gall ซึ่งให้สีเข้มข้น แต่ล้างออกจากปากกาโดยง่าย รวมถึงมีการดูแลรักษาที่ต่ำด้วย และทำให้หมึกตัวแรก – Iron Gall Turquoise – ได้รับความนิยม

ด้วยความที่ทั้งสามีและภริยาเป็นนักเคมีปริญญาเอกทั้งคู่ ทำให้ทั้งสองคนสามารถหาวิธีทำหมึกที่มีคุณสมบัติเหล่านี้ได้ รวมถึงเพิ่มลูกเล่นด้านกลิ่นเข้าไปยังหมึกแต่ละรุ่นได้ด้วย เช่น Honey ซึ่งเป็นสีน้ำผึ้งนั้นก็มีกลิ่นน้ำผึ้งออกมาจริงๆ ด้วย

หมึกที่ถูกผลิตออกมาจะทำด้วยมือทุกขั้นตอน ซึ่งรวมถึงสีตัวอย่างหมึกที่ถูกปาดบนฉลากและฝากล่อง รวมถึงการห่อขวดหมึกด้วยพลาสติกและฉลากก็ทำด้วยมือทั้งหมด – นั่นทำให้ KWZ Ink สามารถออกหมึกสีพิเศษต่างๆ สำหรับงานแสดงปากกาที่ต่างๆ ซึ่งมักจะทำเป็นพิเศษ หมดแล้วหมดเลย แและมีจำหน่ายเฉพาะที่งานเท่านั้น

ปัจจุบัน บริษัทมีหมึกประมาณ 60 กว่าสีให้เลือก และในประเทศไทย ร้าน The Pips Cafe’ ได้รับการแต่งตั้งเป็นตัวแทนรายเดียว (sole agent) ในประเทศไทย ที่ได้รับอนุญาตในการวางจำหน่ายหมึกของ KWZ Ink อย่างถูกต้อง

KWZ Ink Sheen Machine – หมึกน้องใหม่ เงางาม เปล่งประกาย

สำหรับหมึก Sheen Machine เป็นหมึกตัวล่าสุดของทางบริษัทที่ออกมาเมื่อเดือนสิงหาคมปีนี้ ซึ่งมีคุณสมบัติหนึ่งที่ตรงตามชื่อ กล่าวคือ เมื่อเขียนบนกระดาษแล้วและต้องกับแสง จะมีประกายความเงาเปล่งประกายเกิดขึ้นกับหมึกนั่นเอง

สีพื้นฐานของหมึกเป็นสีน้ำเงินเข้ม แต่พอเวลาต้องกับแสง ประกายที่ซ่อนอยู่ซึ่งเป็นสีชมพูจะสะท้อนออกมาให้เห็น

ตัวหมึกเริ่มวางตลาดครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคมของปีนี้ จัดอยู่ในกลุ่มหมึกทั่วไปของบริษัท และได้รับเสียงตอบรับจากหลายคนเป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของความเงางามและมีประกายเหลื่อมสีชมพู

สำรวจบรรจุภัณฑ์

ตัวกล่องของหมึก มาแบบเรียบๆ ด้านหน้ามีการระบุแบรนด์และขนาดบรรจุเท่านั้น ส่วนด้านหลังระบุที่อยู่ เว็บไซต์ และประเทศที่ผลิต

จุดชี้วัดจริงๆ ว่าหมึกสีอะไรนั้น อยู่ที่ฝาบนของกล่อง ซึ่งจะมีการระบุสีหมึกเอาไว้ พร้อมกับตัวอย่างสีหมึกจากในขาดนั้นป้ายเอาไว้เลย อย่างเช่นในที่นี้ระบุว่าเป็น Sheen Machine รหัส 4110 และระบุเลขผลิตเอาไว้ ในรุ่นของทีมงานคือ 130919 (ทีมงานคิดว่าหมายถึงผลิตเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2019)

เมื่อแกะกล่องออกมา จะพบกับกระดาษแข็งอีกชั้นหนึ่งเป็นกล่องชั้นในเอาไว้อีกชั้นหนึ่งเพื่อเพิ่มความทนทาน (ไม่ได้ถ่ายมา) จากนั้นพอเปิดออกมาจะพบกับขวดหมึกที่ห่อด้วยฟิล์มพลาสติกอีกชั้นที่ต้องแกะออกก่อน (กันหก)

ด้านหน้าฉลากเป็นรูปหัวปากกาพร้อมหมึกเงาเป็นการ์ตูน มีสีระหว่างน้ำเงินและชมพู บ่งบอกถึงลักษณะของหมึกตัวนี้ ส่วนถ้าใครสนใจเรื่องกลิ่นนั้น ทีมงานพบว่ากลิ่นเป็นวานิลลาและน้ำตาลคาราเมลครับ

สำรวจบรรจุภัณฑ์แล้ว ก็ต้องลองเขียนครับ

ทดลองเขียน KWZ Ink Sheen Machine

สำหรับในการทดลองเขียนครั้งนี้ ทีมงานใช้หมึกนี้ควบคู่ไปกับปากกาด้ามเก่งของทีมงาน ปากกาหมึกซึม Caran d’Ache 849 และใช้กระดาษสองแบบ ประกอบด้วย

  • Tomoe River แบบ Loose Sheets 5 mm Dot Grid ขนาด A4 ที่ความหนา 52 แกรม
  • Double A แบบ A4 ที่ความหนา 80 แกรม (กระดาษมาตรฐานปกติที่ใช้ในการทดสอบ)

ในตอนแรก ทีมงานวางแผนว่าจะซื้อกระดาษ Tomoe River อยู่แต่เดิม เพื่อใช้ในการทดสอบอื่นๆ ด้วย ทว่าในการทดสอบครั้งนี้ คุณเอ็ม เจ้าของร้าน The Pips Cafe’ ระบุว่าหมึก Sheen Machine จะปรากฎตัวได้ดีต่อเมื่อใช้ Tomoe River ทีมงานจึงให้น้ำหนักในการทดสอบนี้กับบนกระดาษ Tomoe River ก่อนครับ

ผลการทดสอบบน Tomoe River ได้ออกมาดังนี้

ในการทดสอบทั่วไป หมึกทำงานได้ดี แห้งเร็วบนกระดาษที่ค่อนข้างบางเช่นนี้ได้ น่าประทับใจอย่างมาก (ถึงแม้จะแห้งเร็ว แต่ถ้ามือมีเหงื่อเยอะก็จะเจอเลอะได้บ้างแบบด้านบนที่มีประปราย) นอกจากนั้นแล้วหมึกยังสามารถไล่ระดับสีได้ตามน้ำหนักที่กดด้วย แม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ (หมึกหลายตัวทำได้ และเกี่ยวกับแรงที่ใช้ในการกดปากกาด้วย) แต่สำหรับตัวนี้ที่ทำได้และเห็นจนถึงระดับการสแกน ถือว่าน่าประทับใจทีเดียว

หมึกไหลได้ดีและต่อเนื่อง เขียนออกมาได้ราบรื่นมาก เข้มมากทีเดียว ส่วนการซึมนั้นถ้าใช้กระดาษหนา 80 แกรมตามสำนักงานทั่วไป ถือว่าไม่ซึมทะลุออกมาด้านหลัง แต่กระดาษ Tomoe River ที่บางกว่านั้น คงหนีไม่รอดอย่างแน่นอน นอกจากนั้ยังไม่มีเส้นแตกให้เห็นด้วย

จุดอ่อนของหมึกตัวนี้ อยู่ที่เรื่องของการกันน้ำ เมื่อทิ้งเอาไว้ผ่านไป 30 วินาที แล้วเจอน้ำ สิ่งที่เกิดขึ้นคือหมึกเลือนแม้จะทิ้งเค้าโครงเอาไว้บ้าง ดังนั้นแล้วถ้ามีไว้เพื่อเขียนสวยงามอาจจะพอได้อยู่

เนื่องจากเครื่องสแกนจะจับความ “เงางาม” และ “ประกาย” ได้ไม่ชัด ทีมงานจึงถ่ายบางส่วนมาดังนี้ครับ

ในสภาวะแสงตกกระทบไม่ได้องศาที่เป็นประกาย หมึกจะแสดงตัวเป็นสีน้ำเงินเข้มค่อนไปทางกรมท่า (เกือบๆ จะเป็น Blue-Black) ใกล้เคียงที่สุดคือหมึกปากกาลูกลื่นทั่วไปที่เราเห็นทั่วไปครับ

ในสภาพที่แสงทั่วไป จะแสดงตัวเหมือนหมึก Iroshizuku Kon-Peki แต่เข้มขึ้นมาอีกนิดนึงครับ

เมื่อพอเริ่มโดนแสง จะเริ่มเห็นประกายเหลื่อมออกมาเป็นสีชมพู

ถ้าหันให้ถูกองศา หมึกจะสะท้อนความเงาและประกายออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน (ลองดูในภาพซูมขนาดใกล้ด้านล่าง) ความสะท้อนดังกล่าวจะขึ้นกับความเข้มของหมึกที่อยู่บนกระดาษด้วย ยิ่งมากจะยิ่งสะท้อนออกมาให้เห็นได้ชัดเจน รวมถึงกระดาษด้วย ยิ่งกระดาษดูดซับหมึกได้น้อยเท่าใด ประกายสะท้อนจะมากขึ้น (ในทางตรงกันข้าม ถ้ากระดาษที่ดูดหมึกได้ดี จะสะท้อนน้อยมากจนแทบไม่ได้เลย)

ทีมงานทดสอบหมึกตัวนี้กับกระดาษ Double A ที่ความหนา 80 แกรม ขนาด A4 เช่นกัน (กระดาษมาตรฐานในสำนักงาน) ผลที่ออกมาคือมีประกายสะท้อนเช่นกัน แต่น้อยกว่ากันมาก ส่วนหนึ่งเพราะกระดาษที่หนา และอีกส่วนคือกระดาษดูดซับหมึกได้ดี ทำให้ไม่เห็นการสะท้อนและเหลื่อมเงามากเท่าที่ควรจะเป็นครับ

บนกระดาษ 80 แกรม

ราคาและสถานที่ซื้อ

สำหรับหมึกรุ่นนี้ สามารถซื้อได้ที่ The Pips Cafe’ ตัวแทนจำหน่ายรายเดียวของประเทศไทยสำหรับ KWZ Ink ในราคาขวดละ 490 บาทครับ

สรุป

ทีมงานยอมรับว่านี่เป็นหมึกที่ให้ความเงางามและประกายที่สวยที่สุดตัวหนึ่งที่เคยใช้มา จุดเด่นหลักของหมึกอยู่ที่เรื่องของความเงางามเป็นประกาย นอกจากนั้นแล้วคือเรื่องของความใช้ง่ายและเป็นหมึกที่ทำงานได้ดี (well-behave ink)

จุดอ่อนของหมึกตัวนี้จริงๆ จึงไปตกอยู่ที่คุณสมบัติพื้นฐานที่สุดคือเรื่องของคุณสมบัติกันน้ำที่ทำได้ไม่ดีพอ ในบางกรณีถ้ามือมีเหงื่อมากสักหน่อยก็อาจจะเลอะนิดหน่อยได้ด้วย

ด้วยค่าตัวที่ 490 บาท ราคาหมึกรุ่นนี้ในประเทศไทยถือว่ายืนอยู่บนโซนกลางๆ ไม่ถูกมากแต่ก็ไม่สูงมาก และเป็นช่วงราคาที่มีการแข่งขันสูงจากหมึกค่ายอื่นๆ ที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกัน หมึกตัวนี้จะตอบโจทย์สำหรับคนที่อยากได้หมึกที่มีประกายเงางาม และให้เอกลักษณ์ในการใช้งานได้ดี ถ้าสามารถยอมรับได้ว่าหมึกไม่กันน้ำและความชื้นครับ

ข้อดีข้อเสีย
หมึกทำออกมาได้ดีไม่ทนน้ำ
มีประกายและเงาแฝงราคาอยู่ในช่วงการแข่งขันสูง
มีกลิ่นหอม

เครดิตและกิตติกรรมประกาศ

หมึก: The Pips Cafe’ / ข้อมูล: Fountain Pen Follies / ผู้เขียนและถ่ายรูป: ภัทรนันท์ ลิ้มอุดมพร / สถานที่: Platinum Lounge, North ชั้น M ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน

สรุปรีวิว

REVIEW OVERVIEW

KWZ Ink Sheen Machine

ความเห็นภาพรวม

หมึกที่ให้ความเงางามและประกายที่สวยที่สุดตัวหนึ่งที่เคยใช้มา จุดเด่นหลักของหมึกอยู่ที่เรื่องของความเงางามเป็นประกาย นอกจากนั้นแล้วคือเรื่องของความใช้ง่ายและเป็นหมึกที่ทำงานได้ดี จุดอ่อนอย่างเดียวคือคุณสมบัติกันน้ำที่ทำได้ไม่ดีพอ
Patranun Thaniyavarn Limudomporn
Patranun Thaniyavarn Limudompornhttps://www.patranun.com/
เป็นเพียงมนุษย์ธรรมดา คนเดินดิน เรียนจบรัฐศาสตร์ ชอบปากกามาตั้งแต่เด็กๆ แต่ไม่ค่อยได้บอกให้ใครรู้ เริ่มใช้ปากกาหมึกซึมมาตั้งแต่ระดับประถม และใช้ปากกาลูกลื่น Montblanc Generation เป็นปากกาประจำตัว เลิกใช้ปากกาหมึกซึมไประยะหนึ่งก่อนกลับมาใช้ใหม่เพราะเพื่อนฝูงชักชวน แต่ก็ยังวนเวียนกับปากการะดับพรีเมียมเช่นเคย

ติดตามเราบน Facebook

เนื้อหายอดนิยม

บทความที่เกี่ยวข้อง

- Advertisement -
หมึกที่ให้ความเงางามและประกายที่สวยที่สุดตัวหนึ่งที่เคยใช้มา จุดเด่นหลักของหมึกอยู่ที่เรื่องของความเงางามเป็นประกาย นอกจากนั้นแล้วคือเรื่องของความใช้ง่ายและเป็นหมึกที่ทำงานได้ดี จุดอ่อนอย่างเดียวคือคุณสมบัติกันน้ำที่ทำได้ไม่ดีพอรีวิวหมึก (โคตร) เงาเป็นประกาย KWZ Ink Sheen Machine