หากกล่าวถึงดินสอกดเป็นการทั่วไป หลายคนอาจนึกถึงภาพดินสอกดธรรมดาๆ ราคาไม่แพง และมีน้ำหนักเบา แต่ในเวลาเดียวกัน ดินสอกดบางแบรนด์ก็ได้ชื่อว่า เป็นหนึ่งในดินสอกดที่ควรค่าแก่การครอบครอง ด้วยกลไกที่ทำมาอย่างดี และคุณสมบัติที่ทนทาน ให้น้ำหนักที่ดี Rotring 600 คือหนึ่งในดินสอกดเหล่านั้น
ไรท์ติ้งอินไทย ขอนำเสนอรีวิวดินสอกดรุ่นนี้ให้ทุกท่านได้อ่าน และถือเป็นรีวิวดินสอกดฉบับปฐมฤกษ์ของเว็บด้วย
ทำไมต้องดินสอกด
ดินสอกด (Mechanical Pencil หรือ Propelling Pencil) ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 หลักการคือการใช้ปากกาที่ทำจากวัสดุอื่นมาใช้แทนที่ไม้ และสร้างกลไกเพื่อให้ไส้ดินสอที่เป็นกราไฟต์ (graphite) ซึ่งเป็นรูปแบบคริสตัลของคาร์บอนแบบหนึ่ง หรือ พลาสติกโพลิเมอร์แบบพิเศษ สามารถออกมาอยู่ตรงหัวแล้วเขียนได้เรื่อยๆ เมื่อหมดก็เปลี่ยนไส้เพิ่ม (แนวคิดเดียวกับปากกาลูกลื่นเปลี่ยนไส้)
แนวคิดดังกล่าวนำมาสู่การพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเริ่มต้นทำครั้งแรกในประเทศอังกฤษเมื่อช่วงคริสตศตวรรษที่ 19 ก่อนเริ่มที่จะพัฒนาและเป็นที่นิยมในช่วงคริสตศตวรรษที่ 20 นี้เอง โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก
ในปัจจุบัน ดินสอกดมีหลากหลายรูปแบบให้เลือก แต่โดยหลักการมีสองแบบ แบบแรกคือใช้กลไกในการทำให้ไส้ดินสอเคลื่อนไปข้างหน้ายังส่วนหัวของดินสอ ซึ่งมีทั้งแบบปุ่มกดและแบบหมุน (ในปัจจุบันแบบหมุนในบ้านเราไม่ค่อยมีให้เห็น) กับอีกแบบคือเป็นที่ยึดจับไส้ดินสออย่างเดียว (เช่น fixpencil ของ Caran d’Ache) นอกจากนั้นยังมีกลไกในการปกป้องไส้ดินสอไม่ให้หักหรือหัวดินสอกดไม่ให้หักด้วย
สำหรับไส้ดินสอเอง ก็มีอยู่อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นขนาดที่มีตั้งแต่ 0.2 – 5.6 มิลลิเมตร, ความเข้มของไส้ (เช่น HB, F, 2B) ไปจนถึงสี ซึ่งบางผู้ผลิตเองก็เปลี่ยนวัสดุและสีของไส้เพื่อให้สามารถเขียนดินสอเป็นสีได้ แบบเดียวกับดินสอสีสำหรับการวาดภาพนั่นเอง
รู้จักกับ Rotring ผู้ผลิตดินสอกดชั้นนำจากเยอรมนี
เมื่อกล่าวถึงดินสอกด ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะกล่าวถึงบริษัทที่ผลิตดินสอกดและเครื่องเขียนชั้นนำรายหนึ่ง ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก และเป็นหนึ่งในบริษัทเก่าแก่ นั่นคือ Rotring
บริษัท Rotring (หรือที่สะกดคือ rOtring) ถือเป็นบริษัทที่ผลิตเครื่องเขียนและโดยเฉพาะอย่างยิ่งดินสอกดมาอย่างยาวนาน ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1928 โดยชื่อมีความหมายว่า “วงแหวนสีแดง” (rot ในภาษาเยอรมันแปลว่าสีแดง) และเริ่มผลิต stylographic pen เป็นเครื่องเขียนชนิดแรก (เป็นปากกาหมึกซึมแบบหนึ่ง แต่ใช้ท่อเหล็กในการส่งหมึกและเขียน ซึ่งถือเป็นต้นแบบแรกๆ ก่อนจะพัฒนามาเป็นปากกาลูกลื่น) ก่อนที่จะหันมาทำ Rapidograph ซึ่งเป็นปากกาเขียนแบบชนิดหนึ่ง
ในปี ค.ศ. 1979 บริษัทเปิดตัว Tikky ผลิตภัณฑ์กลุ่มดินสอกดตัวแรกของบริษัท (จากนั้นจึงขยายไปยังรุ่นอื่นๆ) และได้รับความนิยมอย่างมากด้วยประสิทธิภาพที่ดีเมื่อเทียบกับราคา จากนั้นในปี ค.ศ. 1989 จึงเริ่มต้นผลิตเครื่องเขียนกลุ่ม 600 ออกสู่ตลาด จับตลาดพรีเมียมด้วยการใช้วัสดุเป็นโลหะทั้งแท่ง และมีราคาที่กระโดดกว่ารุ่นอื่นๆ
Rotring ถูกซื้อกิจการโดย Sanford บริษัทลูกของ Newell Rubbermaid ในปี ค.ศ. 1992 และทำให้บริษัทกลายเป็นบริษัทลูกและหนึ่งในแบรนด์ของกลุ่ม ที่มีปากกาอย่าง Parker และ Sharpie อยู่ในกลุ่มด้วยจนถึงปัจจุบัน
สำหรับในประเทศไทย บริษัทผู้นำเข้าสินค้าของ Rotring คือ Newell Rubbermaid ประเทศไทย
บรรจุภัณฑ์และลักษณะภายนอก
Rotring 600 ที่ทีมงานซื้อมารีวิวในครั้งนี้เป็นแบบที่รองรับกับไส้ดินสอขนาด 0.5 มิลลิเมตร (ในประเทศไทยมีแบบ 0.5 และ 0.7 มิลลิเมตร) และมีสีเงิน (สีที่รีวิว) กับสีดำครับ
แม้จะเป็นดินสอกดจับตลาดพรีเมียม แต่ตัวกล่องใช้กระดาษแข็งทำเป็นสามเหลี่ยม (เหมือนช็อคโกแลต Trobelone) สามารถดันถาดออกมาได้ ซึ่งจะพบกับปากกาด้านใน กับใบข้อมูผลิตภัณฑ์ แต่ละด้านของกล่องมีการพิมพ์ข้อความและข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับดินสอ
สำหรับตัวแท่งดินสอเป็นสีเงินทั้งด้าม สวยงามและมีความโดดเด่นอย่างมาก ตัวด้ามขึ้นรูปตามดินสอปกติ (ทรงหกเหลี่ยม)
ส่วนหัวของดินสอเป็นโลหะทั้งหมด บริเวณที่จับดินสอมีการฉลุลายให้จับได้ง่าย ซึ่งตอนจับใช้ถือว่าสะดวกดี
ตัวด้ามพ่นเป็นสีเงิน พร้อมพิมพ์ข้อความ ชื่อรุ่น และขนาดของไส้เอาไว้ ส่วนคลิปมีการประทับตราของแบรนด์เอาไว้ด้วย
จุดที่โดดเด่นและไม่สามารถหาได้จากดินสอกดทั่วไป คือป้ายบอกขนาดความเข้มของไส้ดินสอที่ใส่ไว้ (แบบปรับเองนะครับ ไม่ใช่ระบบทำการตรวจสอบให้เอง) สามารถหมุนได้ โดยมีให้เลือกคือ H, F, HB, B, 2B, 4H, 2H อยู่ด้านบน พร้อมวงแหวนสีแดงอันเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์
สำหรับการกดเพื่อให้ไส้ดินสอออกมาของดินสอกดรุ่นนี้ ใช้ปุ่มที่อยู่ด้านบนแบบดินสอและปากกาลูกลื่นโดยทั่วไป สามารถกดออกมาได้เลย ทำจากโลหะสีเงินเช่นกัน
พอถอดปลอกออกมา จะปรากฎยางลบขนาดเล็ก สำหรับให้ลบในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ได้ สามารถหาซื้อมาเสียบและเปลี่ยนได้ไม่ยาก
พอดึงยางลบออกมาอีกชั้นหนึ่ง ก็จะเป็นช่องเปิดให้ใส่ไส้ โดยมีไส้แถมมาให้จำนวนหนึ่งแล้วในตัวปากกา (ผลิตภัณฑ์ไม่ได้ระบุ แต่ทีมงานคาดว่าน่าจะเป็นไส้ที่ความเข้ม H ที่ขนาด 0.5 มิลลิเมตร) โดยไส้ของ Rotring จะเรียกว่าเป็นไส้แบบ Hi-Polymer ซึ่งทีมงานคาดว่าน่าจะใช้โพลีเมอร์เป็นวัสดุหลักนั่นเอง
ทดลองเขียน Rotring 600
สำหรับการทดสอบเขียนครั้งนี้ ทีมงานยังคงใช้กระดาษเป็น Quality A4 ที่ความหนา 80 แกรมเช่นเดิม ส่วนไส้ทีมงานใช้ปกติที่แถมมาพร้อมกับดินสอกด
เรื่องของไส้ดินสอทีมงานอาจพูดได้ไม่เต็มปากนัก เนื่องจากไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนสำหรับไส้ที่แถมมา จากการสังเกตให้ความเข้มมาน้อยกว่า HB ปกติ จึงคาดว่าน่าจะอยู่ที่ระดับ H อย่างไรก็ตามตัวไส้ก็ใช้ได้ลื่นไหลมาก เขียนได้ดี ให้สัมผัสที่ลื่นกับกระดาษ สัมผัสได้ถึงแรงต้านเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ถือว่าทำได้ดีมาก
สำหรับตัวดินสอกดแท่งนี้ ต้องยอมรับว่าหนักกว่าดินสอกดทั้งหมดที่ทีมงานเคยใช้มาก่อนในอดีต เป็นดินสอกดตัวแรกที่รู้สึกว่ามีน้ำหนัก ไม่ใช่ดินสอกดราคาถูกแต่อย่างใด ให้สัมผัสไม่ต่างจากปากการาคาแพง มีสัมผัสและสมดุลที่ดีมาก โดยภาพรวมถือว่าทำได้น่าประทับใจอย่างยิ่ง
จุดเดียวที่จะเป็นจุดติคือตรงที่จับดินสอกด ออกแบบมาให้จับได้ไม่ค่อยนานนักอย่างที่คาดไว้ เพราะการออกแบบด้วยโลหะที่เป็นพื้นผิวแบบนี้ เวลาจับโดยใช้แรงระดับหนึ่ง (เนื่องจากตัวแท่งดินสอมีความหนัก) จะรู้สึกเจ็บได้ครับ ใช้งานนานๆ อาจจะล้าได้
ราคาและสถานที่จำหน่าย
ดินสอกด Rotring 600 ในประเทศไทยมี 2 ขนาดด้วยกัน คือ ขนาดสำหรับไส้ 0.5 มิลลิเมตร และ 0.7 มิลลิเมตร วางจำหน่ายตามห้างหรือร้านที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ Rotring นำเข้าโดยบริษัท Newell-Rubbermaid ประเทศไทย (ว่าง่ายๆ คือ ถ้าเห็นที่ไหนขาย Parker หรือ Waterman ก็จะเห็น Rotring ตามไปด้วย) ทีมงานเห็นดินสอนี้มีวางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่อย่าง เซ็นทรัล, เดอะ มอลล์, สยามพารากอน, เอ็มโพเรียม
ส่วนราคาของดินสอกดแท่งนี้อยู่ที่ 1,150 บาท อันเป็นราคาแนะนำ (ถ้าซื้อตามร้านอย่างสมใจจะตกอยู่ที่ 960 บาท) มาพร้อมกับการรับประกันของบริษัทที่ 1 ปี (เก็บใบเสร็จเอาไว้ด้วย) ซึ่งถือว่าเป็นดินสอกดในตลาดทั่วไปที่เกือบมีราคาแพงที่สุด (ในไทยที่แพงที่สุดคือ Rotring 800+ ที่ราคาประมาณ 2,400 บาท) ส่วนในตลาดหรู (luxury) ดินสอกดรุ่นนี้ยังมีราคาถูกอยู่ เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์อื่นๆ (เช่น Montegrappa Parola หรือ Montblanc Meisterstück) ที่ราคาเริ่มต้นตั้งแต่หลายพันบาทไปจนถึงราคาระดับหลักหมื่น (จนถึงไม่มีขีดจำกัดถ้าสั่งทำเอง)
สรุป
ทีมงานได้ใช้ดินสอด้ามนี้มาประมาณ 3 อาทิตย์เศษ ต้องบอกว่าประทับใจอย่างมาก แม้จะจับนานๆ แล้วไม่ค่อยรู้สึกสบายก็ตาม (อันนี้เป็นที่การออกแบบตัวจับ) ด้วยน้ำหนักที่กำลังดีและโครงสร้างของดินสอกดแท่งนี้ ทำให้ประทับใจในคุณภาพอย่างมาก
จุดที่ชี้ขาดคือเรื่องของราคา ซึ่งด้วยราคาค่าตัวที่ทะลุพันบาทไปเล็กน้อย นับว่าเป็นดินสอกดที่มีค่าตัวแพงด้ามหนึ่งในท้องตลาด และถือเป็นดินสอกดจับตลาดระดับพรีเมียมอย่างแท้จริง ดินสอกดด้ามนี้จึงไม่ได้ออกแบบมาสำหรับทุกคน แต่ดินสอกดรุ่นนี้เหมาะสมสำหรับผู้บริหาร นักออกแบบ ศิลปิน งานออกแบบสายสถาปัตยกรรม หรืองานด้านวิศวกรรม ที่ต้องอาศัยการนั่งเขียนแบบอยู่กับโต๊ะมากกว่าที่จะเป็นดินสอสำหรับใช้งานพกติดตัว หรือพกเอาไว้ใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะดีไซน์ที่เน้นความหรูหรา และราคาที่ไม่น่าจะเอามาใช้งานได้ในสถานการณ์ปกติ
ข้อมูลจำเพาะ (specification)
- รหัสประจำรุ่น: 19204445
- วัสดุ: โลหะทั้งด้าม
- เส้นผ่าศูนย์กลาง: 8.1 มิลลิเมตร (ที่จับ), 9.1 มิลลิเมตร (ตัวด้ามส่วนที่เป็น 6 เหลี่ยม)
- ความยาวของหัวดินสอ: 4.2 มิลลิเมตร
- ขนาดไส้ที่รองรับ: 0.5 หรือ 0.7 มิลลิเมตร
- น้ำหนัก: 22 กรัม (รวมไส้ดินสอแล้ว)
- ความยาว: 14.1 เซนติเมตร
You must be logged in to post a comment.