หลังจากที่ไรท์ติ้งอินไทยรีวิว LAMY 2000 ซึ่งเป็นปากกาหมึกซึมรุ่นเรือธงของบริษัทไปแล้ว วันนี้เราจะมาพูดถึง LAMY aion ปากกาหมึกซึมอีกรุ่นหนึ่งของลามี่ที่เพิ่งจะเปิดตัวไปเมื่อปี ค.ศ. 2017 และเพิ่งมีสัมภาษณ์ผู้ออกแบบลงนิตยสาร LAMY specs ไปไม่นานกันค่ะ
ทำความรู้จักกับ LAMY aion
LAMY aion เป็นชุดปากกาที่ออกแบบโดย Jasper Morrison นักออกแบบผลิตภัณฑ์ชาวอังกฤษ นอกจากปากกา เขายังออกแบบผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นเฟอร์นิเจอร์ เครื่องครัวหรือเครื่องประดับอีกด้วย ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเขาได้ที่นี่
ชุดของปากการุ่นนี้ประกอบไปด้วย ปากกาหมึกซึม ปากกาลูกลื่น และปากกาโรลเลอร์บอลล์ ผลิตออกมาให้เลือก 2 สี คือ สีดำและสีเงินที่ทางบริษัทเรียกว่า olive silver ส่วนที่จะนำมารีวิวในวันนี้เป็นปากกาหมึกซึมสีดำ ปลายปากกาขนาด Extra Fine (EF) ค่ะ
ลักษณะของปากกา
ตัวด้ามปากกาทำมาจากอะลูมิเนียมที่ผ่านการเกลาให้มีร่องขนาดเล็กมากๆอยู่ทั่วด้าม สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่เวลาสัมผัสจะรู้สึกได้ว่าลื่น แต่ไม่ได้ลื่นเท่ากับด้ามปากกาที่ทำจากพลาสติก ส่วนตัวด้ามจับเวลาเขียนก็ทำจากอลูมิเนียมเช่นกัน แต่ถูกเกลาจนด้าน (matte) และไม่มีร่อง คนละแบบกับตัวด้ามปากกา
ปากกาเวลาปิดปลอกมีความยาว 5.6 นิ้ว เวลาสวมปลอกไว้ที่ปลายปากกา (posted) จะมีความยาวประมาณ 6.4 นิ้ว ถือว่าเป็นปากกาที่ค่อนข้างยาว สามารถดูเปรียบเทียบกับปากการุ่นอื่นๆได้ตามรูปค่ะ
ด้วยความยาวขนาดนี้ ข้อดีคือเวลาสวมปลอกไว้ที่ปลายปากกาทำให้ตัวคลิปไม่มาชนกับมือเวลาเขียน ตัวผู้เขียนเองชอบมาก เพราะว่ารำคาญเวลาคลิปหนีบปากกามาโดนมือเวลาเขียนค่ะ สำหรับความหนาของด้าม หนาประมาณ 0.5 นิ้ว ซึ่งบางคนมองว่าหนาไป รีวิวหลายชิ้นให้ความเห็นว่าจับอย่างไรก็ไม่ถนัด ตัวผู้เขียนคิดว่าถึงแม้สัมผัสของปากกาจะหนากว่าปากกาอื่นๆที่ใช้ในชีวิตประจำวัน แต่เวลาเขียนก็จับปากกาได้ถนัดดีและด้วยรูปร่างของปากกาที่ดูยาว ก็ทำให้ไม่ดูเทอะทะ
ตัวปลอกตอนที่ปิดปากกาจะสามารถหมุนไปมาได้ เวลาปิดปากกาแล้วจับตรงปลอก สังเกตได้ว่าถ้าเขย่าไปมาจะมีเสียงกุกกัก เหมือนกับว่าปิดไม่สนิท บางคนไม่ชอบคุณสมบัติตรงนี้ นอกจากนั้น เวลาปิดปลอก จะต้องปิดลงไปตรงๆเท่านั้น คือให้ปลอกกับตัวด้ามอยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกันถึงจะปิดได้ ถ้าเอียงตัวด้ามหรือปลอก จะเกิดปัญหาปิดไม่ลง ต้องเปลี่ยนองศาให้เป็นแนวเดียวกัน ดังนั้นการปิดปากกาก็ต้องใช้ความเคยชินหรือระมัดระวังมากกว่าปกตินิดหน่อยค่ะ ส่วนตัวชอบเสียงเวลาปิดปากกา เพราะมีเสียงคลิก เป็นสัญญาณว่าปากกาปิดแน่นสนิทดี ส่วนเวลาเปิดปากกาต้องใช้แรงดึงค่อนข้างมากค่ะ
คลิปหนีบหรือแหนบมีสปริงอยู่ด้านใน สามารถใช้แรงกดตรงปลายด้านบนตรงโลโก้ให้ง้างออกได้ สำหรับคนที่ชอบหนีบปากกากับเสื้อ กางเกงหรือกระเป๋าน่าจะชอบ เพราะว่าไม่ต้องกลัวว่าเวลาเอาปากกาไปเสียบกับกางเกงหนาๆแล้วจะทำให้ตัวที่หนีบเสียรูปหรือหักได้
บางคนวิจารณ์ว่าโลโก้ลามี่ที่ถูกประทับไว้บนคลิปหนีบแค่ด้านเดียวนั้นกลับหัวกลับหาง สังเกตจากรูปว่าวางปากกาโดยเอาปลอกชี้ไปทางด้านซ้าย โลโก้ลามี่จะกลับหัว แต่ถ้าหันปลอกไปด้านขวา โลโก้ก็จะไม่กลับหัว ทีนี้ก็คงขึ้นอยู่กับความชอบของคนค่ะ ตัวผู้เขียนไม่ได้คิดว่าจุดนี้เป็นข้อด้อยด้านการออกแบบของตัวปากกาแต่อย่างใด
น้ำหนักของปากกาโดยรวมอยู่ที่ 33 กรัม เทียบกับ LAMY 2000 ที่น้ำหนักโดยรวม 25 กรัม ถือว่าหนักกว่ากันมาก ส่วนตัวคิดว่าเป็นข้อด้อยของปากกา เพราะหนักมากไปสำหรับผู้เขียน เวลาเขียน เลยถอดปลอกออกเสมอ น้ำหนักเฉพาะตัวด้ามไม่รวมปลอกอยู่ที่ประมาณ 21 กรัมค่ะ ด้วยน้ำหนักขนาดนี้ อาจจะไม่เหมาะสำหรับการจดเลคเชอร์หรือการเขียนนานๆ
หัวปากกา (nib) ทำจากเหล็กกล้าไร้สนิม (stainless steel) สีเงิน ต้องขอเน้นว่าตัวปลายปากกาถูกออกแบบใหม่พิเศษ ลักษณะของปลายปากกาออกไปทางอวบๆมากกว่าที่จะเรียวแบบปลายปากกาของรุ่น safari ค่ะ
เว็บไซต์ของบริษัทระบุว่าปากการุ่นนี้มีหัวให้เลือก 4 ขนาด ได้แก่ EF ที่ใช้ในรีวิวนี้, F (Fine), M (Medium), และ B (Broad) ค่ะ ในด้านสุนทรียภาพ ผู้เขียนคิดว่าตัวปลายปากกาที่ออกแบบใหม่มานี้รับกับตัวด้ามปากกาได้ดีมาก แต่บางคนมองว่าการออกแบบปลายปากกาใหม่นี้เป็นสิ่งไม่จำเป็น อันนี้คงขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคน
แต่ว่าข่าวดีก็คือ ปากกาหมึกซึมรุ่นนี้สามารถใช้ปลายปากกาของรุ่น safari ได้ ภาพด้านล่างนี้ผู้เขียนเปลี่ยนปลายปากกาจาก EF ที่มากับปากกาเดิม ไปใช้ปลายขนาด F ของรุ่น safari ค่ะ ในด้านสุนทรียภาพ ส่วนตัวผู้เขียนคิดว่าพอสวมหัวของรุ่น safari ทำให้ปากกา aion ดูแปลกตาไปทีเดียว ในรีวิวนี้ผู้เขียนไม่ได้ทดสอบความยืดหยุ่นของปลายปากกาค่ะ
ระบบหมึกจะเป็นระบบที่รองรับทั้งหลอดสูบและหมึกหลอก โดยถ้าเป็นหมึกหลอด ต้องใช้ของบริษัทหรือหมึกหลอดจากผู้ผลิตที่ผลิตมาเพื่อลามี่โดยเฉพาะ แต่ผู้ที่สนใจจะใช้หมึกขวด สามารถหาซื้อที่สูบหมึก (converter) รุ่น Z27 มาใช้ได้ค่ะ
ทดสอบเขียน LAMY aion
ผู้เขียนทดสอบโดยใช้หมึกหลอด LAMY สีน้ำเงินที่ได้มากับปากกาบนกระดาษ 80 gsm ยี่ห้อ Rhodia พบว่าปากกาเขียนลื่นตามมาตรฐาน แต่จะแห้งค่อนข้างช้า จึงทำให้สรุปได้ว่าปากกาด้ามนี้จะค่อนไปทางเปียก จ่ายหมึกเยอะ เมื่อทดสอบกับกระดาษที่ใช้กับเครื่องพิมพ์ทั่วไป ตัวหมึกสามารถซึมได้ดี แห้งเร็วใช้ได้
เมื่อใช้กับสมุดโน้ต Moleskine รุ่น Professional จะพบว่าเขียนลื่นมาก เทียบกับกระดาษอีกสองชนิดที่ทดสอบในตอนแรก กระดาษของ Moleskine ให้สัมผัสการเขียนที่ลื่นที่สุด แต่ก็พบว่ามีหมึกซึมทะลุมาด้านหลังบ้างค่ะ สำหรับช่วงการเขียน จะพบว่าช่วงการเขียนค่อนข้างแคบ ถ้าบิดเปลี่ยนองศาในตอนเขียน ก็จะติดขัดเขียนไม่ออกได้ ถ้าไม่เคยชิน ผู้เขียนคิดว่าไม่เหมาะที่จะหยิบออกมาใช้จดอะไรเร็วๆ
ราคา
เท่าที่ตรวจสอบจากในเว็บไซต์ในสหรัฐอเมริกา จะเห็นว่าราคาที่ตั้งขายคืออยู่ที่ 89 ดอลลาร์สหรัฐ แต่เว็บไซต์ของตัวแทนจำหน่ายส่วนใหญ่ตั้งราคาไว้ที่ประมาณ 71 ถึง 75 ดอลลาร์สหรัฐ ในเมืองไทย ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าราคาอยู่ที่ประมาณเท่าไหร่ค่ะ
ในแง่ความคุ้มราคา ด้วยลักษณะการออกแบบและวัสดุ ถ้าผู้ที่สนใจหาซื้อได้ในราคาประมาณ 3,000 บาท ก็น่าจะถือว่าเป็นปากกาที่น่าลองใช้หรือซื้อให้เป็นของขวัญ เพราะรูปร่างลักษณะของปากกาสามารถนำไปใช้ในโอกาสที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ในการทำงานและในชีวิตประจำวันก็ดูดีค่ะ
สรุป
LAMY aion เป็นปากกาที่มีข้อดีคือลักษณะการออกแบบที่ดูทันสมัย วัสดุที่ใช้ให้ความรู้สึกคงทนแข็งแรง การเขียนที่ลื่นตามมาตรฐานลามี่และการใช้งานโดยเฉพาะเรื่องคลิปหนีบ
ส่วนข้อเสีย คือ ช่วงเขียนที่แคบ น้ำหนักของปากกาเมื่อสวมปลอกไว้ตรงปลายปากกา ถ้าจะลดน้ำหนักปากกาก็ต้องถอดปลอกออก ถ้าต้องเอาไปใช้งานจดโน้ตนอกบ้านหรือที่ทำงานก็อาจจะทำให้ไม่คล่องตัว และความหนา อาจจะทำให้บางคนจับไม่ถนัด
ผู้เขียนแนะนำว่าถ้าปกติเป็นคนใช้ปากกาที่ผอมบางและเบาอย่างปากกาลูกลื่นทั่วไป ควรเป็นอย่างยิ่งที่จะไปลองสัมผัสปากกาที่ร้านก่อนตัดสินใจซื้อหรือถ้าสั่งมาจากเว็บไซต์ ก็ควรตรวจสอบวิธีการคืนสินค้า เผื่อจะไม่ชอบด้วยค่ะ
ข้อดี | ข้อเสีย |
วัสดุดูแข็งแรงทนทาน | ปากกาค่อนข้างหนักและหนา |
คลิปหนีบที่ช่วยให้สะดวกใช้งาน | ช่วงเขียนแคบ |
ตัวปากกาออกแบบมาสวยงามเหมาะกับทุกโอกาส | |
เขียนลื่น สามารถเปลี่ยนไปใช้หัวของรุ่น safari ได้ |
You must be logged in to post a comment.