19 เมษายน 2024
รีวิวรีวิวหมึกรีวิวหมึกปากกาหมึกซึม Pilot Iroshizuku Kon-Peki

รีวิวหมึกปากกาหมึกซึม Pilot Iroshizuku Kon-Peki

รีวิวหมึกสุดสวยที่ได้รับแรงบันดาลใจจากธรรมชาติ ผลิตโดย Pilot ประเทศญี่ปุ่น

นอกเหนือจากหมึกที่เราเคยรีวิวกันมาบ้างแล้ว หนึ่งในหมึกสำหรับปากกาหมึกซึมที่ได้รับการยอมรับจากชุมชนผู้ใช้ปากกาหมึกซึมทั่วโลก และกลายเป็นหมึกที่ทุกคนใฝ่หาและปรารถนานั้น คือหมึก Iroshizuku Kon-Peki จากคอลเลกชันหมึก Iroshizuku ของ Pilot หนึ่งในผู้ผลิตเครื่องเขียนชั้นนำของญี่ปุ่น ที่เป็นหมึกสีฟ้าสวยงาม สื่อถึงวันที่ท้องฟ้าเปิด

ไรท์ติ้งอินไทย ไม่พลาดที่จะรีวิวหมึกปากกาหมึกซึมแสนสวยตัวนี้ให้กับท่านผู้อ่านอย่างเช่นเคยครับ

ทำความรู้จักกับ Iroshizuku

ก่อนที่จะกล่าวถึง Kon-Peki ในฐานะที่เป็นหมึกสีหนึ่งของคอลเลกชัน เราควรมาทำความรู้จักกับหมึกคอลเลกชันนี้กันก่อน เนื่องจากว่ามีจำนวนมากถึง 24 สี ที่วางจำหน่ายอยู่ในปัจจุบัน และเราจะมีรีวิวหมึกออกมาเรื่อยๆ อย่างแน่นอน

Iroshizuku เป็นชื่อหมึกระดับสูง (บริษัทผู้ผลิตเรียกว่า luxurious ink) ของ Pilot หนึ่งในบริษัทผู้ผลิตเครื่องเขียนรายใหญ่ของญี่ปุ่นและระดับโลก มาจากการผสมคำในภาษาญี่ปุ่นระหว่าง Iro (色) ที่แปลว่าสี และ Shizuku (雫) ที่แปลว่าหยดของเหลว (droplet) เมื่อรวมกันจึงแปลได้ว่า หยดสี ซึ่งสีแต่ละตัวของหมึกชุดนี้ บริษัทเลือกที่จะจำลองมาจากสีของธรรมชาติในประเทศญี่ปุ่นทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบเมืองเกียวโต (Kyoto) ดังนั้นแต่ละสีจึงมีลักษณะแตกต่างกันออกไป แม้จะเป็นสีในเฉดหรือโทนเดียวกันก็ตาม

สีต่างๆ ของหมึกในคอลเลกชัน
สีต่างๆ ของหมึกในคอลเลกชัน

หมึกชุดนี้ถูกพัฒนาขึ้น หลังจากที่ Kiyomi Hasegawa หนึ่งในพนักงานของบริษัทในแผนกวางแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์ สังเกตในขณะที่ตัวเองทำงานอยู่หลังเคาน์เตอร์ขายปากกาหมึกซึมว่าทำไมลูกค้าที่ใช้ปากกาหมึกซึมในประเทศญี่ปุ่นจึงถูกจำกัดตัวเลือกของสีหมึก ไม่เหมือนกับปากกาแบบอื่นๆ ที่มีสีให้เลือกได้มากกว่า จึงเริ่มเสนอแนวคิดให้กับบริษัทจนเริ่มพัฒนาหมึกชุดนี้ และวางจำหน่าย 5 สีแรกในเดือนธันวาคม ปี ค.ศ. 2007 ที่ประเทศญี่ปุ่น โดยมีเคาน์เตอร์ให้ลูกค้าได้ลอง ณ จุดขาย ซึ่งเรียกความสนใจได้มาก และมีคนให้ความสนใจอยากเปลี่ยนมาลองใช้ปากกาหมึกซึมเพราะหมึกชุดนี้

หมึกทั้งหมดที่วางจำหน่ายในปัจจุบันมี 24 สี โดยทยอยออกมาเรื่อยๆ นับตั้งแต่ปลายปี ค.ศ. 2007 จนกระทั่งไปปิดที่ปลายปี ค.ศ. 2011 กับหมึก 3 ตัว คือ Take-Sumi (สีดำถ่านไม้ไผ่), Shin-Kai (สีน้ำทะเลลึก) และ Ama-iro (สีฟ้าท้องฟ้า) แต่จากข้อมูลของเว็บไซต์ Crónicas Estilográficas ระบุว่าจริงๆ หมึกชุดนี้มีรุ่นพิเศษอีก 3 สี (รวมทั้งหมดจริงๆ เป็น 27 สี) ปล่อยออกมาเมื่อเดือนมกราคม ปี ค.ศ. 2009 ที่เรียกว่า Tokyo Limited Edition ประกอบไปด้วยสี Edo-murasaki (สีม่วงเอโดะ แทนเมืองโตเกียว), Shimbashi-iro (สีของย่านชินบาชิ กรุงโตเกียว เป็นสีเทอคอย์ส หรือสีพลอยสีขี้นกการะเวก), และ Fukagawa-nezu (สีเขียวเทาหนู แทนย่านฟูคากาวา) ซึ่งวางขายในเวลาจำกัด และไม่มีการผลิตอีก

การออกแบบบรรจุภัณฑ์ของหมึกรุ่นนี้ บริษัทตั้งใจออกแบบมาให้เหมือนกับน้ำหอมตั้งแต่แรก และขวดทุกอันทำด้วยมือ ใช้คนในการเป่าแก้วเพื่อขึ้นรูปขวดหมึก ดังนั้นแต่ละขวดจึงมีลักษณะแตกต่างกันอยู่เล็กน้อย นอกจากนั้นบริษัทยังออกปากกา Custom 74 Demonstrator ที่เป็นปากกาหมึกซึมใส ให้ผู้ใช้ได้เห็นหมึกอย่างชัดเจนจากข้างในมาพร้อมกันด้วย ในแง่นี้ต้องยอมรับเรื่องของการทำการตลาดของบริษัท ที่ทำให้หลายคนติดกับหมึกชุดนี้เป็นอย่างมาก

ปากกา Custom 74 ที่ออกมาเพื่อรับกับหมึก
ปากกา Custom 74 ที่ออกมาเพื่อรับกับหมึก (ภาพ: Pilot Corporation)

หมึกชุดนี้สร้างชื่อในฐานะหมึกที่เขียนได้สวยงามในทุกสี และเข้ากันได้กับปากกาทุกรุ่นทุกแบบ รวมถึงเขียนได้ในกระดาษทุกแบบด้วย ทำให้คอลเลกชันหมึกนี้ได้รับเสียงตอบรับจากผู้ใช้ปากกาหมึกซึมและนักสะสมทั้งในญี่ปุ่นและนอกญี่ปุ่นอย่างมาก กลายมาเป็นหนึ่งในหมึกที่หลายคนอยากได้มาใช้งาน

Kon-Peki หนึ่งในหมึกยอดฮิตติดลมบน

เมื่อเอ่ยถึงหมึกชุดนี้ คงเลี่ยงไม่พ้นที่จะเอ่ยถึง Iroshizuku Kon-Peki หนึ่งในสีหมึกที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆ ของคอลเลกชันหมึกนี้

หมึกตัวนี้เป็นหมึกชุดแรกของทางบริษัทที่เปิดตัวและวางจำหน่ายเมื่อสิ้นปี ค.ศ. 2007 โดยเปิดตัวมาพร้อมกับหมึกอีก 4 สี ได้แก่ Asa-gao (สีดอกผักบุ้ง), Aji-sai (สีดอกไฮเดรนเยีย หรือดอกสามสี), Tsuyu-kusa (สีดอกผักปราบ) และ Tsuki-yo (สีน้ำเงินน้ำทะเลในคืนพระจันทร์เต็มดวง) ซึ่งเป็นสีโทนฟ้าและน้ำเงินทั้งหมด

ภาพท้องฟ้าสีฟ้าเข้ม
ภาพท้องฟ้าสีฟ้าเข้ม (ภาพจาก Pexels.com)

ชื่อ Kon-Peki (紺碧) แปลตรงตัวคือ azure หรือสีฟ้าของท้องฟ้าในวันที่ฟ้าเปิด ไม่มีเมฆ ส่วนคำแปลทางการคือ Deep Cerulean Blue ซึ่งที่ญี่ปุ่นแม้จะไม่ใช่สีที่ขายดีที่สุดเมื่อเทียบกับ Tsuki-yo แต่ในต่างประเทศกลายเป็นสีที่ขายดีที่สุดของหลายเว็บ ด้วยสีฟ้าที่เป็นเอกลักษณ์ ไม่เหมือนใคร เวลาเขียนลงกระดาษแล้วดูสวยงามอย่างยิ่ง ด้วยโทนของสีฟ้าที่เข้มและมีสีเขียวเจือบ้าง

สำหรับคำว่า Cerulean ถูกบันทึกครั้งแรกในภาษาอังกฤษในปี ค.ศ. 1590 มีที่มาจากภาษาละติน caeruleus ที่แปลว่า สีฟ้าเข้ม หรือสีฟ้าเขียว ซึ่งมีคำใกล้เคียงคือ caerulum ที่มาจากคำว่า caelum แปลว่าท้องฟ้าหรือสรวงสวรรค์ แต่ตัวสีที่เรียกว่า Cerulean Blue นั้นเพิ่งถูกค้นพบในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 และเริ่มใช้กันแพร่หลายในคริสต์ศตวรรษที่ 19

กล่องหมึก Iroshizuku Kon-Peki

บรรจุภัณฑ์หรือกล่องของหมึกรุ่นนี้ ถูกออกแบบมาได้อย่างสวยงาม เหมือนกับขวดน้ำหอมตามแนวทางของบริษัทที่ตั้งใจออกแบบแต่แรก ตัวกล่องมีสีเงิน ด้านหน้าและฝาบนมีการระบุสีของหมึกเอาไว้ พร้อมกับพื้นหลังที่เป็นสีตรงกับสีหมึก (ในภาพสีจะเข้มกว่ากล่องตัวจริง)

กล่องหมึก Iroshizuku Kon-Peki
กล่องหมึก Iroshizuku Kon-Peki

เนื่องจากทีมงานไรท์ติ้งอินไทยได้มาจากประเทศญี่ปุ่น ด้านหลังจึงเขียนข้อมูลเป็นภาษาญี่ปุ่น โดยหมึกรุ่นนี้จะใช้รหัส INK-50– ขึ้นต้น แล้วตามด้วยชื่อย่อของสีหมึก (เข้าใจว่าเลข 50 ที่ว่า อาจหมายถึง 50 มิลลิลิตร ที่เป็นปริมาณหมึกในขวด ส่วนชื่อย่อก็แล้วสี เช่นสีที่มารีวิวนี้เป็น KO) พร้อมบาร์โค้ด ส่วนตัวเลข 1500 ในกรอบสี่เหลี่ยม คือราคาหมึกที่ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 8% มีหน่วยเป็นเยน (ดังนั้นหมึกขวดนี้จึงอยู่ที่ขวดละ 1,500 เยน หรือประมาณ 440 บาท เป็นราคาไม่รวมภาษี)

ด้านหลังของกล่องใส่ขวดหมึก
ด้านหลังของกล่องใส่ขวดหมึก

ตัวกล่องภายในไม่มีอะไรมาก เปิดฝาออกมา แล้วเปิดฝาที่ซ้อนอยู่อีกทีหนึ่ง เท่านั้นก็เรียบร้อย ดึงออกจากกล่องมาใช้ได้เลยไม่มีลูกเล่นอะไรหวือหวาแม้แต่น้อย

ขวดหมึก Iroshizuku Kon-Peki

สำหรับขวดหมึกรุ่นนี้ บริษัทระบุว่าขึ้นรูปทรงและเป่าแก้วโดยช่างผู้ชำนาญ จึงเป็นงานทำมือ (handmade) ทั้งหมด มีความสวยงามเหมือนขวดน้ำหอมชั้นดีราคาแพง

ขวดหมึก
ขวดหมึก

ลักษณะขวดเป็นทรงวงรี ด้านในที่เป็นที่บรรจุหมึก ถูกออกแบบมาให้มีหลุมอยู่ เพื่อที่จะได้ใส่ปากกาแล้วดูดหมึกออกมาได้มากสุด มองเห็นได้จากด้านหน้าโดยจะอยู่ตรงด้านล่างของฉลาก

ทดสอบเขียน

ในการทดสอบหมึกครั้งนี้ ทีมงานเติมหมึกดังกล่าวใช้กับปากกา Pilot Vanishing Point/Capless Gold-Black ขนาดเส้นหัวปากกา M (FC-15SRB-M) และใช้กระดาษยี่ห้อ Quality ขนาด A4 ที่ความหนา 80 แกรม (gsm)

ตัวอย่างหมึก
ตัวอย่างหมึก (สีเข้มขึ้นกว่าปกติ)

ตัวหมึกก็สีตามชื่อครับ คือเป็นสีฟ้าเข้มแล้วมีเขียวจางๆ แทรกอยู่ สีตอนหมึกหลังจากแห้งแล้วจะอ่อนลงเล็กน้อย กลายมาเป็นสีฟ้าที่กำลังสวยงามอย่างยิ่ง สมกับค่าตัว หมึกเองไหลได้ดีมาก แต่ติดไปทางค่อนข้างเปียก (wet) มากกว่าปกติ ทีมงานทดสอบแล้วขนาดรอถึง 5 วินาที ก็ยังคงไม่แห้งทั้งหมด ใครก็ตามที่ชอบใช้หมึกรุ่นนี้ ทางทีมงานแนะนำให้แก้ปัญหาด้วยการใช้หัวหมึกที่เล็กลง จะทำให้แห้งได้เร็วกว่านี้ (เวลาเขียนลงกระดาษแล้วจะแห้งไวขึ้นเพราะพื้นที่ของขนาดเส้นที่ลงหมึกไปบนกระดาษนั้นน้อยลง)

อนึ่ง หมึกในคอลเลกชันนี้ไม่ใช่หมึกกันน้ำ ดังนั้นแล้วหมึกที่นำมารีวิวนี้ก็ไม่ใช่หมึกกันน้ำด้วย ทีมงานลองทดสอบหลังจากสแกนตัวอย่างด้านบน (ไม่ได้ถ่ายมา) พบว่าน้ำหมึกละลายหายไปกับน้ำ ดังนั้นถ้าใครคิดจะใช้หมึกนี้กับเอกสารที่ต้องเก็บยาวนานหรืออยู่ในที่ชื้น อาจจะไม่เหมาะสมเท่าใดนัก

ทั้งนี้ ตอนที่ทีมงานกำลังเติมหมึก ทีมงานลองทดสอบดมกลิ่นดูว่าจะเป็นอย่างไรบ้าง ผลที่ได้คือน้ำหมึกมีกลิ่นเคมีปรากฎอยู่แม้ไม่มากก็ตาม ซึ่งในกรณีนี้ทีมงานขอแนะนำว่า ปากกาบางแบรนด์มีความอ่อนไหวกับน้ำหมึกกับปฏิกริยาเคมี ดังนั้นแล้วหากปากกาหมึกซึมของท่านละเอียดอ่อนมาก ไม่แนะนำให้ใช้หมึกในคอลเลกชันนี้ อย่างไรก็ตามจากรีวิวทั่วโลกกับปากกาทุกแบบ (รวมถึงแบรนด์ดังอย่าง Montblanc) ก็ไม่พบปัญหาตอนใช้งานกับหมึกคอลเลกชันนี้แต่ประการใด

ขนาดและแหล่งที่ซื้อ

คอลเลกชันของหมึกปากกาหมึกซึมจาก Pilot ชุดนี้ มีวางจำหน่ายอยู่ 2 แบบด้วยกัน และมีราคาจำหน่ายที่แตกต่างกัน ดังต่อไปนี้

  • แบบมาตรฐาน (50 มล. ที่ใช้ในรีวิวนี้) มีราคาจำหน่ายที่ญี่ปุ่นอยู่ที่ 1,500 เยน (ประมาณ 430 บาท) ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 8% ราคาเมื่อรวมภาษีสุทธิจะออกมาอยู่ที่ 1,620 บาท (ประมาณ 470 บาท) ทั้งนี้ ประเทศญี่ปุ่นมีการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับนักท่องเที่ยวเมื่อซื้อสินค้าต่อใบเสร็จเกิน 5,000 เยนขึ้นไป ดังนั้นถ้าคิดในสมการนี้ หนทางที่จะซื้อหมึกได้ราคาถูกที่สุด คือการซื้อ 4 ขวดขึ้นไป (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่)
  • แบบชุด 3 ขวดเล็ก (15 มล.) เป็นแบบพิเศษที่ออกมาใหม่ในภายหลัง จำหน่ายทีละ 3 ขวด ใส่กล่องแบบพิเศษรวมกัน โดยถือเป็นแบบที่มีความคุ้มค่าในกรณีคนที่ชอบเปลี่ยนหมึกบ่อยๆ สามารถเลือกสีเองได้ตามต้องการ มีราคาอยู่ที่ 2,100 เยน (ประมาณ 600 บาท) ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 8% เช่นกัน ราคารวมภาษีแล้ว สุทธิจะอยู่ที่ 2,268 เยน (ประมาณ 660 บาท) ถือว่าถ้าเทียบระดับมิลลิลิตรแล้ว มีราคาแพงกว่า (45 มล. กับ 50 มล.)
ขวดหมึกขนาดเล็ก (ชุด 3 ขวด)
ขวดหมึกขนาดเล็ก (ชุด 3 ขวด)

ข่าวร้ายประการหนึ่งคือ หมึกชนิดนี้ไม่มีการนำเข้าไทยอย่างเป็นทางการผ่านบริษัท ไพล็อต เพ็น (ประเทศไทย) จำกัด ดังนั้นหากไม่อาศัยการสั่งจากต่างประเทศ ก็ต้องสั่งจากผู้ขายในตลาดรองที่ราคาอาจจะสูงกว่าราคาจำหน่ายในญี่ปุ่น ทีมงานสำรวจแล้วพบว่าราคาโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 700 บาทต่อขวด ในกรณีของหมึกขวดเล็กที่มีการแยกจำหน่าย ราคาต่อขวดจะแพงมากกว่านี้

ถ้าหากเจ้าหน้าที่หรือพนักงานของบริษัท ไพล็อต เพ็น (ประเทศไทย) จำกัด กำลังอ่านโพสต์นี้อยู่ ทีมงานคิดว่าน่าจะเป็นโอกาสอันดีที่บริษัทจะนำหมึกรุ่นนี้เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย ควบคู่กับหมึกที่มีอยู่ในปัจจุบัน

สรุป

ทีมงานไรท์ติ้งอินไทย สามารถกล่าวได้ว่านี่เป็นหมึกอีกตัวที่น่าประทับใจอย่างยิ่งในการใช้งาน โดยเฉพาะเรื่องของสีที่สวยงามในการเขียนเป็นอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม คุณสมบัติของหมึกที่ไม่กันน้ำ รวมถึงแห้งช้ากว่าปกติ เป็นข้อด้อยของหมึกตัวนี้ และตอนเติมทีมงานก็พบว่ามีกลิ่นเคมีลอยขึ้นมา ผิดกับหมึกของยี่ห้ออื่นที่ทีมงานมีอยู่ ทำให้สงสัยว่าอาจมีสารเคมีบางอย่างอยู่ภายใน และมีผลกระทบต่อการใช้ในระยะยาวหรือไม่ แต่จากเท่าที่ดู ก็ไม่มีรายงานปัญหาแต่อย่างใด

หมึก Iroshizuku Kon-Peki ตัวนี้ เหมาะที่จะเป็นหมึกไว้สำหรับเขียนเล่นหรือจดบันทึกเร็วๆ ที่ไม่ใช่งานซีเรียสหรือจริงจัง เพราะถ้าหากเป็นการลงนามในเอกสารทางการ หรือเป็นการจดบันทึกที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงบันทึกอะไรได้ หมึกตัวนี้ไม่น่าจะมีทางตอบโจทย์ความต้องการได้อย่างแน่นอน แต่ถ้าต้องการหมึกสำหรับปากกาที่เขียนแล้วดูดี ดูสวย สมกับเป็นหมึกที่มีราคาสูงและเขียนได้ดี หมึกตัวนี้ตอบโจทย์อย่างแน่นอน

ข้อดีข้อเสีย
หมึกมีสีสวยงามแห้งช้ากว่าหมึกปกติทั่วไป
บรรจุภัณฑ์สวยงามไม่กันน้ำ และมีกลิ่นสารเคมีบางๆ ปรากฎอยู่
เขียนได้ลื่น หมึกไม่หนืดไม่มีวางจำหน่ายในไทยอย่างเป็นทางการ

วิดีโอรีวิว

สรุปรีวิว

REVIEW OVERVIEW

Iroshizuku Kon-Peki

ความเห็นภาพรวม

เป็นหมึกที่ให้สีสวยจนน่าประทับใจ ไม่แพงมากเมื่อเทียบกับหมึกของค่ายอื่น แต่ไม่กันน้ำ แห้งช้า ได้กลิ่นของสารเคมีนิดหน่อยระหว่างเติมหมึก
Patranun Thaniyavarn Limudomporn
Patranun Thaniyavarn Limudompornhttps://www.patranun.com/
เป็นเพียงมนุษย์ธรรมดา คนเดินดิน เรียนจบรัฐศาสตร์ ชอบปากกามาตั้งแต่เด็กๆ แต่ไม่ค่อยได้บอกให้ใครรู้ เริ่มใช้ปากกาหมึกซึมมาตั้งแต่ระดับประถม และใช้ปากกาลูกลื่น Montblanc Generation เป็นปากกาประจำตัว เลิกใช้ปากกาหมึกซึมไประยะหนึ่งก่อนกลับมาใช้ใหม่เพราะเพื่อนฝูงชักชวน แต่ก็ยังวนเวียนกับปากการะดับพรีเมียมเช่นเคย

ติดตามเราบน Facebook

เนื้อหายอดนิยม

บทความที่เกี่ยวข้อง

- Advertisement -
เป็นหมึกที่ให้สีสวยจนน่าประทับใจ ไม่แพงมากเมื่อเทียบกับหมึกของค่ายอื่น แต่ไม่กันน้ำ แห้งช้า ได้กลิ่นของสารเคมีนิดหน่อยระหว่างเติมหมึกรีวิวหมึกปากกาหมึกซึม Pilot Iroshizuku Kon-Peki