21 กันยายน 2024
รายงานพิเศษเขียนสู้ COVID-19! แนะนำเครื่องเขียนดิจิทัลเพื่อการสอนออนไลน์

เขียนสู้ COVID-19! แนะนำเครื่องเขียนดิจิทัลเพื่อการสอนออนไลน์

ไรท์ติ้งอินไทย พาไปพบกับตัวเลือกเครื่องเขียนดิจิทัล ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกในการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ในช่วงวิกฤติการแพร่เชื้อ COVID-19

ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ปัจจุบันหลายมหาวิทยาลัยมีมาตรการให้ทำการเรียนการสอนออนไลน์ออกมา อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบอาชีพอาจารย์หลายท่านอาจพบว่าการ “เขียน” เป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับการเรียนการสอน

เพื่อส่งเสริมการประชุมทางไกล และลดการติดเชื้อ ไรท์ติ้งอินไทยขอแนะนำอุปกรณ์และวิธีการสำหรับจัดการเรียนการสอนออนไลน์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่อาจารย์หรือบุคลากรที่ยังต้องจัดการเรียนการสอนอยู่

หมายเหตุ: ผู้เขียนมีประสบการณ์การติวหนังสือผ่านช่องทางออนไลน์ (กล่าวคือไม่จำเป็นต้องพบปะกันต่อหน้า) ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นการเรียนระดับปริญญาตรี

อุปกรณ์สำหรับเขียน

โดยหลักแล้ว หากผู้อ่านมีอุปกรณ์อย่างเช่นคอมพิวเตอร์ครบครันอยู่แล้ว การซื้ออุปกรณ์เสริมมูลค่าเพียงไม่กี่บาทย่อมประหยัดเงินมากกว่ามาก อย่างไรก็ตาม การมีงบประมาณมากขึ้นหมายความว่าโอกาสซื้ออุปกรณ์เพื่อเพิ่มความสะดวกก็มากขึ้นด้วยเช่นกัน

เมาส์ปากกา: เพื่อนคู่ใจ สบายประเป๋า

เมาส์ปากกามีลักษณะเป็นแผ่นกระดาน คล้ายแผ่นรองตัด ต่อกับคอมพิวเตอร์ เมื่อผู้เขียนต้องการจะเขียน ให้นำปากกาที่มาพร้อมเมาส์ปากกาจ่อกับแผ่นกระดาน ณ ตำแหน่งที่ต้องการเขียน (เช่น หากต้องการเขียนมุมล่างขวาของจอ ก็ให้เอาปากกา “เขียน” บนมุมล่างขวาของกระดาน)

การใช้เมาส์ปากกามีข้อดีสองประการ ได้แก่ความสะดวกในการพกพา และความประหยัด ราคาของเมาส์ปากกาที่ถูกที่สุดจากผู้ผลิตเมาส์ปากกาที่มีคุณภาพเช่น Wacom อยู่ที่เริ่มต้นประมาณ 2,000 บาท โดยสินค้าตัวถูกสุดคือรุ่น One by Wacom

One by Wacom (ภาพจากเว็บไซต์ Wacom)

อย่างไรก็ดี ยิ่งจ่ายแพง เมาส์ปากกาก็จะยิ่งมีความสามารถเพิ่มขึ้น อาทิ

  • ขนาดกระดานที่ใหญ่ขึ้น ช่วยให้เขียนอักษรตัวเล็กสะดวก
  • ปุ่มบนกระดานเมาส์ปากกา ช่วยทำหน้าที่เป็นคีย์ลัดได้
  • ความสามารถบนตัวปากกา เช่นการสามารถแยกแยะแรงกดได้ละเอียดขึ้น (อาจไม่จำเป็นหากนำมาใช้สอน) หรือการพลิกด้านปากกาเพื่อใช้บริเวณปลายด้ามแทนยางลบ

ข้อเสียประการเดียวของเมาส์ปากกาคืออาจใช้เวลาเรียนรู้เยอะกว่าวิธีอื่น อย่างไรก็ตามผู้เขียนใช้เวลาเพียงไม่นาน (1-2 วัน) ก็เขียนได้จนชิน ทั้งนี้ทั้งนั้นเคล็ดลับการเขียนเมาส์ปากกาให้คล่องคือมองจอตอนเขียน ไม่มองกระดาน

จอดิจิทัลพร้อมปากกา: ง่ายขึ้นมาอีกมาก

จอดิจิทัลพร้อมปากกาทำหน้าที่เหมือนจอภาพที่สองต่อกับคอมพิวเตอร์ กล่าวคือเป็นจอภาพที่มาพร้อมปากกา และเขียนลงไปบนจอด้วยปากกาที่มีให้ได้เลย และด้วยความที่กระดานในลักษณะนี้ไม่มีคอมพิวเตอร์ในตัว ผู้ใช้จำเป็นต้องต่อกับคอมพิวเตอร์ส่วนตัวอีกที

Wacom Cintiq (ภาพจากเว็บไซต์ Wacom)

ข้อดีของกระดานแบบนี้คือใช้ดีกว่าเมาส์ปากกามาก ข้อเสียหลักๆ คือราคาที่แพง (เริ่มต้นที่ประมาณ 13,000 บาทสำหรับยี่ห้อ Wacom) และการซื้อมาใช้เพียงการเรียนการสอนอาจจะไม่คุ้มค่าสักเท่าใดนัก

แท็บเล็ตหรือคอมพิวเตอร์พร้อมปากกาหรือจอสัมผัส: อเนกประสงค์ที่สุด

แท็บเล็ตจำนวนมากในท้องตลาดทุกวันนี้มาพร้อมปากกา ซึ่งทำให้สามารถใช้ในการเขียนได้เป็นอย่างดี สินค้าอันดับหนึ่งในตลาดตอนนี้ย่อมหนีไม่พ้น iPad จากค่ายแอปเปิล ซึ่งเริ่มต้นด้วยราคาเพียง 10,990 บาท ไม่รวมปากกา

iPad Pro (ภาพจาก Apple)

อย่างไรก็ดี การถ่ายทอดหน้าจอจากแท็บเล็ตอย่าง iPad มาสู่คอมพิวเตอร์ จำเป็นต้องใช้โปรแกรมพิเศษช่วย ดังนั้นตัวเลือกที่ดีอีกหนึ่งอย่างคือแท็บเล็ตหรือคอมพิวเตอร์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Windows และมาพร้อมปากกาในตัว ผู้ที่ยังไม่มีอุปกรณ์เหล่านี้อาจพิจารณาแท็บเล็ตอย่างเช่น Microsoft Surface ที่มาพร้อมปากกา

เตรียมตัวถ่ายทอดการเรียนการสอน

ประสบการณ์ของผู้เขียนในการสอนแบบประชุม มีกระบวนการดังนี้

  • การเซ็ตสถานที่เป็นเรื่องที่ต้องทำเป็นอันดับแรก
    • ต้องมั่นใจว่าสถานที่ที่ใช้สอนมีอินเทอร์เน็ตที่เสถียร ทั้งสำหรับการถ่ายทอดสดและการอัพโหลดวิดีโอย้อนหลัง
    • ในกรณีของผู้เขียนที่ใช้เมาส์ปากกา การมีจอภาพที่สองจะช่วยให้การทำงานเป็นเรื่องง่ายขึ้นมาก ผู้เขียนสามารถเปิด “โพย” พร้อมโปรแกรมอัดจอบนจอที่สอง แล้วดูสิ่งที่ตัวเองเขียนสอนคนอื่น (ซึ่งผู้เรียนจะเห็นแค่จอนี้) ได้อย่างคล่องแคล่ว หากผู้อ่านใช้จอดิจิทัลพร้อมปากกา ตัวจอที่ซื้อเพิ่มย่อมทำหน้าที่จออยู่แล้ว
    • วิธีการอัดเสียงที่ดีที่สุดโดยใช้ต้นทุนน้อย คือใช้หูฟัง เนื่องจากส่วนมากไมโครโฟนหูฟังมีคุณภาพดีกว่าบนอุปกรณ์อย่างโน้ตบุ๊กมาก (ข้อยกเว้นประการเดียวที่ผู้เขียนเคยเจอคือ MacBook)
  • หาช่องทางการวีดิโอคอลล์
    • หากต้องการสอนสด ในปัจจุบันหลายมหาวิทยาลัยมีบริการอย่างเช่น Microsoft Teams หรือ Google Meet ไว้ให้ ทั้งสองบริการสามารถแชร์จอภาพที่มีเนื้อหาการเรียนการสอน และอัดวีดิโอในตัวได้เลยทันทีโดยไม่ต้องใช้โปรแกรมอัดแยกแล้วอัพโหลดเอง
    • หากต้องการอัดเทปสอน อาจพิจารณาโปรแกรมอัดจออย่างเช่น OBS Studio ในการช่วยอัดจอ ผู้ที่ใช้งาน iPad และต้องการอัดเทปสอนโดยไม่แพร่ภาพสด อาจใช้ฟังก์ชันอัดจอในตัวได้เลย ซึ่งสะดวกเป็นอย่างยิ่ง
  • หาโปรแกรมสำหรับเขียนบนจอ ผู้เขียนแนะนำ Microsoft PowerPoint/OneNote บน Windows และ GoodNotes บน iOS

กรณีศึกษาของผู้เขียน: ติวสอบออนไลน์

ผู้เขียนเป็นผู้ดูแลกลุ่มติวสอบระหว่างนิสิต การติวระยะแรกด้วยการนัดเจอมีปัญหาในด้านเวลานัดและสถานที่ ทำให้จำเป็นต้องหาวิธีการติวที่ไม่จำเป็นต้องนัดพบกัน

ผู้เขียนมีกลุ่มติวสอบสำหรับประกาศกำหนดการบนเฟซบุ๊ก รวมถึงโพสต์เนื้อหาประกอบการติว อย่างไรก็ตาม สำหรับการเรียนการสอนซึ่งเป็นรายวิชาในมหาวิทยาลัย ควรจัดให้มีช่องทางติดต่อสื่อสารเป็นหมู่คณะโดยไม่ต้องพึ่งบริการอื่นที่ไม่ใช่ทางมหาวิทยาลัยเป็นผู้ให้บริการ

ในระยะหลัง ผู้เขียนใช้วิธีการนัดการติวลงบนปฏิทินด้วย Microsoft Teams ด้วยบริการในลักษณะนี้ ผู้เขียนสามารถวีดิโอคอลล์ แชร์จอ และอัดคลิปสำหรับดูย้อนหลังได้ทันที

สำหรับบริการที่มหาวิทยาลัยมีให้ แนะนำให้ติดต่อหน่วยงานภายในที่เกี่ยวข้องและดูแลเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ (เช่นสำนักบริการคอมพิวเตอร์หรือศูนย์คอมพิวเตอร์)

หากสามารถเขียนได้โดยคล่องแล้วนั้น ผู้เขียนคิดว่าการเรียนการสอนสามารถทำได้ใกล้เคียงการใช้กระดาน (อย่างไรก็ดี อาจารย์หลายท่านอาจพบว่าการเขียนบนจอไม่สนุกเท่าเขียนบนกระดาน ซึ่งเป็นปัญหาเดียวกับที่ผู้เขียนเจอ)

ข้อควรคำนึง

จากประสบการณ์การสอนออนไลน์ และการคุยกับอาจารย์ที่สอนออนไลน์หลายท่าน มีความคิดเห็นและข้อควรคำนึงดังนี้

  • การเช็คชื่ออาจจะไม่จำเป็น หากนิสิตสามารถดูวิดีโอย้อนหลังได้ ณ จุดนี้หากรายวิชาที่สอนมีเงื่อนไขเวลาเรียน อาจจำเป็นต้องหาวิธีการวัดผลอื่น
    • หนึ่งในวิธีการที่อาจจะได้ผล คือแอบแทรกโค้ดเช็คชื่อไว้ระหว่างสอน (เช่นบอกนิสิตว่า “วันนี้รหัสลับเช็คชื่อคือ “สีแดง”) และให้นิสิตกรอกฟอร์มพร้อมโค้ดที่ถูกต้องเพื่อยืนยันว่าได้ดูวิดีโอแล้ว
  • สิ่งที่จะขาดหายไปอย่างเป็นแน่แท้ คือการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนและผู้สอน
    • ความรู้สึก “พบหน้า” ระหว่างผู้เรียนและผู้สอนจะหายไป ผู้สอนจำเป็นต้องใช้เวลาในการทำความคุ้นเคยกับการสอนแบบไม่มีคน
    • ในหลายกรณี ผู้เรียนมักเลือกที่จะปิดไมโครโฟน และพิมพ์ตอบผ่านช่องแชทสนทนา การมีจอภาพที่สองสำหรับอ่านข้อความแชทจะช่วยได้มาก

อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ปัจจุบัน การหลีกเลี่ยงการรวมตัวเพื่อลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อนั้นอาจะเป็นปัจจัยที่ต้องคำนึงยิ่งกว่าบรรยากาศในการเรียนการสอน ไรท์ติ้งอินไทยขอเป็นกำลังใจให้อาจารย์หรือครูทุกท่านที่ต้องทำหน้าที่สอนในช่วงเวลาของโรคระบาด รวมถึงขอเป็นกำลังใจให้ผู้ติดตามเว็บไซต์ทุกท่านในการรักษาสุขภาพ และขอใช้โอกาสนี้ในการเน้นย้ำสุขลักษณะอนามัยที่ถูกต้อง อาทิการล้างมือให้ทั่วถึงนานเกิน 30 วินาที และการไม่สัมผัสใบหน้าตนเอง

Sirakorn Lamyai
Sirakorn Lamyaihttp://srakrn.me
ด้วยความที่เรียนวิศวกรรมศาสตร์ ศิระกรจึงพยายามมองการซื้อปากกาแต่ละด้ามเป็น "การลงทุน" และอยู่ในโลกของการพยายามหาปากกาที่ค่าตัวไม่แพงแต่มีคุณภาพสูงมาใช้เรื่อยๆ ถึงกระนั้น ศิระกรก็กำลังพยายามกระโดดไปโลกของปากกาในฐานะเครื่องประดับ และหวังว่าจะได้เรียนรู้อย่างเพลิดเพลินในโลกทั้งสอง

ติดตามเราบน Facebook

เนื้อหายอดนิยม

บทความที่เกี่ยวข้อง

- Advertisement -