รีวิวรีวิว Tomoe River กระดาษเทพสำหรับปากกาหมึกซึม

รีวิว Tomoe River กระดาษเทพสำหรับปากกาหมึกซึม

ที่ผ่านมา ไรท์ติ้งอินไทยไม่เคยรีวิวกระดาษที่ใช้คู่กับเครื่องเขียนมาก่อน เนื่องจากทีมงานยึดมาตรฐานการทดสอบเครื่องเขียนกับกระดาษที่ใช้ในสำนักงานทั่วไป แต่สำหรับรีวิวนี้เราจะมารีวิวกระดาษ Tomoe River กระดาษสำหรับเขียนที่คนใช้ปากกาหมึกซึมหลายคนชื่นชอบจากประเทศญี่ปุ่น ที่มาพร้อมคุณสมบัติเขียนลื่น นุ่มนวล และทำให้เส้นไม่แตกแม้จะเขียนลงไปแล้ว ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นด้วยความบางเพียง 52 แกรมเท่านั้น

หมายเหตุ: รีวิวนี้ทีมงานได้รับกระดาษ Tomoe River สำหรับการรีวิวจาก The Pips Cafe’ ตัวแทนจำหน่ายเพียงผู้เดียวของ Tomoe River ในประเทศไทย แต่ยังให้อิสระในการรีวิวและคำวิจารณ์กับทีมงานครับ ทีมงานขอขอบพระคุณทางร้านที่ได้ให้หมึกและกระดาษมาสำหรับการทดสอบในครั้งนี้

รู้จักกับ Tomoe River กระดาษเทพจากแดนอาทิตย์อุทัย

เป็นความจริงที่ปฏิเสธได้ยากว่า แม้เราจะมีเครื่องเขียนที่ดีไว้ใช้งานแล้ว แต่ถ้าสิ่งที่เราต้องขีดเขียนลงไปนั้นไม่เหมาะสม หรือไม่เข้ากับสิ่งที่เราใช้งาน ประสบการณ์ที่ควรจะได้รับอย่างเต็มที่จะลดลงไปด้วย ทำให้การเลือกกระดาษที่จะใช้กับเครื่องเขียน โดยเฉพาะปากกาหมึกซึมนั้นสำคัญเป็นอย่างมาก

ปกติแล้ว ทีมงานไรท์ติ้งอินไทยจะยึดหลักการทดสอบปากกาหรือเครื่องเขียนกับกระดาษที่เป็นมาตรฐานที่ใช้กันในชีวิตประจำวัน ซึ่งก็คือกระดาษขนาด A4 ที่ความหนา 80 แกรม เป็นมาตรฐาน เพื่อดูประสิทธิภาพในด้านการเขียนและใช้งาน แต่ในช่วงที่ผ่านมาในประเทศไทย เริ่มมีการวางจำหน่ายกระดาษหรือสมุดสำหรับปากกาหมึกซึมชนิดต่างๆ มากขึ้นเรื่อยๆ

Tomoe River เป็นหนึ่งในแบรนด์ของกระดาษจากญี่ปุ่นที่นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย ปัจจุบันตัวแทนรายสำคัญคือ The Pips Cafe’ ร้านจำหน่ายปากกาหมึกซึม เครื่องเขียน และอุปกรณ์เสริมชื่อดังของประเทศ

ตัวแบรนด์เกิดจากความร่วมมือระหว่างสองบริษัท คือ SAKAE Technical Paper บริษัทผลิตและจัดจำหน่ายกระดาษของญี่ปุ่น และ Tomoegawa บริษัทด้านการผลิตจากญี่ปุ่นที่มีความชำนาญในการผลิตกระดาษในอุตสาหกรรมแบบพิเศษ ร่วมกันสร้างกระดาษที่มีความเหมาะสมกับการใช้กับปากกาหมึกซึม

ผลจากความร่วมมือนั้น ทำให้ทั้งสองบริษัทสร้างกระดาษด้วยความบางเพียง 52 แกรม และมีสองสีคือสีครีม และ สีขาว แต่สามารถใช้กับปากกาหมึกซึมได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการที่กระดาษทนทานต่อการซึมไปด้านหลัง เส้นที่ได้จากการเขียนปากกาหมึกซึมที่ไม่แตกหรือซึม ความลื่นที่อยู่ในระดับเทพ รวมไปถึงกระดาษที่มีความสามารถในการแสดงบุคลิกของหมึกบางประเภทออกมาได้อย่างสวยงาม

สำหรับรีวิวนี้ เราจะใช้กระดาษแบบแผ่นไม่ยึดติดกัน (loose sheet) พิมพ์จุด ขนาด A4 บรรจุ 50 แผ่น สำหรับการรีวิวครับ

บรรจุภัณฑ์และตัวกระดาษ

กระดาษถูกบรรจุอยู่ในซองพลาสติกใสแบบทั่วไปด้วยความเรียบร้อย โดยกระดาษแผ่นแรกสุดด้านหน้า อธิบายเกี่ยวกับรายละเอียดต่างๆ เอาไว้เป็นอย่างดี

ด้านหน้าระบุเอาไว้ว่าเป็นกระดาษแบบ Loose Sheets (เป็นแผ่น ไม่ได้มีส่วนติดกัน) ขนาด A4 พร้อมพิมพ์จุดเอาไว้ แต่ละจุดห่างกัน 5 มิลลิเมตร จำนวนบรรจุ 50 แผ่น ที่ความหนา 52 แกรม (นับว่าบางมาก เมื่อเทียบกับกระดาษที่หนา 80 แกรมตามสำนักงาน)

ด้านล่างมุมขวามือ มีการระบุบาร์โค้ด ตรารับรอง และชื่อของ Sakae Technical Paper อยู่ ส่วนตรงกลางจะเป็นตราสัญลักษณ์ของแบรนด์ ซึ่งจะปรากฎตัวไปยังกระดาษทุกแผ่น

ส่วนอีกด้านหนึ่งมีการเขียนรายละเอียดเอาไว้เป็นภาษาญี่ปุ่น และชื่อของกระดาษเอาไว้ชัดเจน (ทีมงานอ่านภาษาญี่ปุ่นไม่ได้ ต้องขออภัยทุกท่านด้วย)

ทีมงานเลือกออกมาเป็น Loose Sheets ทำให้กระดาษที่ได้ออกมาเป็นแผ่นๆ ตามรูปภาพครับ

ตัวกระดาษมีการพิมพ์จุดเอาไว้สำหรับช่วยเขียน แต่จุดดังกล่าวไม่ใช่จุดกลม แต่เป็นจุดสี่เหลี่ยมสีเทาอ่อนๆ

กระดาษทุกแผ่นจะมีการพิมพ์โลโก้ของแบรนด์ลงไปทุกแผ่นด้านล่างตรงกลางครับ

ส่วนถ้าถามว่าความบางนั้นมากแค่ไหน ให้ดูจากภาพด้านบนและด้านล่างประกอบกัน กล่าวคือ สามารถมองเห็นกระดาษด้านล่างได้เลย เรียกว่าเนื้อกระดาษนั้นบางมาก แทบจะเทียบเท่ากับกระดาษสาบางๆ เลย

หมดในส่วนของบรรจุภัณฑ์และตัวกระดาษแล้ว ต่อไปก็ถึงช่วงใช้จริงครับ

ใช้งานจริง

ในการใช้งานจริงนั้น ทีมงานเคยใช้กระดาษนี้ไปครั้งหนึ่งแล้วกับรีวิวหมึก KWZ Ink Sheen Machine ดังนั้นใครที่อยากจะดูรีวิวจากการใช้ครั้งนั้น สามารถคลิกเข้าไปดูได้ทันทีครับ

สำหรับรีวิวนี้ ทีมงานได้รีวิวกับปากกาหลากรูปแบบและชนิด ซึ่งได้ผลการทดสอบออกมาดังนี้

กระดาษเมื่อดูจากการสแกนแล้ว แม้จะค่อนข้างธรรมดา แต่อันที่จริงแล้วมีจุดที่ไม่ธรรมดาปรากฎให้เห็นอยู่พอสมควร ประการแรกคือเรื่องของความสามารถในการดึง “ลักษณะเฉพาะตัว” ของหมึกที่ใช้ออกมาได้ดีมาก ลองเปรียบเทียบจากภาพถ่ายออกมา ดังนี้

กล่าวคือ ในกรณีของหมึกปากกาหมึกซึมบางตัว เอกลักษณ์พิเศษจะปรากฎตัวขึ้น ในกรณีของ KWZ Ink Sheen Machine ประกายและเงาของหมึกที่เป็นสีชมพู ปรากฎตัวให้เห็นอย่างชัดเจนมากบนกระดาษนี้

หมึกของปากกาหมึกซึมอย่าง Miniso ซึ่งดูเหมือนจะไม่มีอะไรพิเศษในครั้งที่รีวิว ปรากฎความเงาขึ้นมาให้เห็นด้วยเช่นกัน ส่วนหมึกของ Platinum Preppy ที่ติดมาด้วยและเป็นสีม่วงนั้น เมื่อเขียนลงกระดาษนี้แล้วพบว่ามีเหลื่อมเงาสีทองด้วยเช่นกัน! ทีมงานประหลาดใจอย่างมากที่ขณะตอนรีวิวปากกานั้นด้วยกระดาษมาตรฐาน กลับไม่เห็นลูกเล่นนี้ปรากฎขึ้นเลย

แม้กระดาษจะบาง แต่การซึมลงไปยังด้านหลัง (bleeding) นั้นกลับน้อยมากจนเรียกว่าไม่มีเลย เส้นที่ได้จากการเขียนนั้นเรียกว่าคมกริบ ไม่มีการแตกอะไรทั้งสิ้น นอกจากนั้นแล้วตอนที่ทีมงานเขียนนั้น ก็เรียกว่าลื่นมาก ไม่มีอาการสะดุดเลย นับว่าเป็นกระดาษที่ทำเนื้อสัมผัส (texture) ออกมาได้สมบูรณ์แบบ

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่ากระดาษนี้จะไม่มีจุดอ่อนเอาเสียเลย เพราะหากพิจารณาดีๆ แล้วจะพบว่า หมึกหลายตัวนั้น “แห้งช้า” อย่างมากบนกระดาษนี้ เนื่องจากตัวกระดาษมีความบาง อัตราการดูดซับหมึกน้อยนั่นเอง ใครที่อยู่สายรีบเขียนอาจจะไม่ชอบใช้กระดาษนี้

สำหรับคนที่เขียนด้วยมือขวา และเหงื่อที่มือมีไม่มาก อาจจะเป็นเรื่องที่พอรับได้ แต่หากเป็นคนที่ใช้มือซ้ายในการเขียน และ/หรือมีเหงื่อออกที่มือมาก ผลที่เกิดขึ้นคือความเสี่ยงที่จะทำให้รอยเขียนเปื้อนและเลอะได้นั่นเอง ประเด็นนี้ถูกสะท้อนอยู่ในเว็บไซต์ The Pen Addict เช่นกัน

นอกจากนั้น ด้วยความบางเฉียบของกระดาษ แม้จะไม่มีการซึมเลย แต่ถ้าไม่สามารถยอมรับการเขียน ซึ่งทำให้เห็นข้อความบนกระดาษอีกด้านได้นั้น กระดาษรุ่นนี้ก็อาจจะไม่เหมาะกับท่านเช่นกันครับ

ราคาและสถานที่จำหน่าย

The Pips Cafe’ วางจำหน่ายกระดาษรุ่นนี้จำนวน 5 แบบด้วยกัน เป็นสีขาวทั้งหมด ประกอบด้วย

ด้วยราคาระดับนี้ ต้องถือว่าอยู่ในโซนสูง จับตลาดพรีเมียมและนักเขียนที่ต้องการใช้กระดาษกับปากกาหมึกซึมที่ดี มีลูกเล่น มากกว่าที่จะเป็นกระดาษที่ใช้เขียนในโอกาสทั่วไป

สำหรับคนที่ต้องการเดินทางไปยังร้าน สามารถเดินทางโดยลงที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส ศาลาแดง ทางออกที่ 1 จากนั้นเดินไปยังทางเชื่อมกับอาคารธนิยะ บีทีเอส วิงได้ครับ

สรุป กระดาษ Tomoe River

Tomoe River FP

ในด้านหนึ่ง ทีมงานมีความชอบกระดาษ Tomoe River เป็นอย่างมาก เนื่องจากกระดาษมีประสิทธิภาพที่ดีมากในการใช้งาน เขียนได้ลื่น เส้นไม่แตก แม้กระดาษจะบางเฉียบ รวมถึงดึงคุณสมบัติของหมึกปากกาหมึกซึมบางตัวออกมาให้โดดเด่นได้ นับว่าเป็นเรื่องที่น่าทึ่งอย่างมาก

แต่ในอีกด้านหนึ่ง กระดาษเองทำให้หมึกแห้งตัวได้ช้ามาก นอกจากนั้นด้วยความบางของกระดาษเอง ทำให้การเขียนสองหน้าอาจสร้างความรำคาญใจให้กับบางคนอยู่บ้าง ยังไม่นับเรื่องของราคาที่ถือว่าแพงเอาเรื่อง (แผ่นละ 7 บาท)

ทว่าหากนับถึงประสบการณ์และความเข้าใจต่อตัวกระดาษที่มี รวมถึงกลุ่มเป้าหมายของคนที่ใช้กระดาษนี้ที่ต้องการความพรีเมียมและประสบการณ์ในการเขียนของปากกาหมึกซึมที่ดีแล้ว ก็ไม่ควรพลาดที่จะมีกระดาษจากแบรนด์นี้เอาไว้ครอบครองเพื่อใช้เขียนครับ

ข้อดีข้อเสีย
เนื้อสัมผัสดี ใช้เขียนได้ดีมากกับทุกหัวเขียนกระดาษบางกว่าปกติ ไม่ดูดซับหมึก เขียนแล้วแห้งช้า
เขียนแล้วเส้นไม่แตก ไม่ทะลุบางเกินไป บางคนอาจจะไม่ชอบที่เขียนสองด้าน
ดึงลูกเล่นของหมึกแต่ละชนิดออกมาได้ราคาถือว่าอยู่ในโซนสูง

เครดิต

สินค้า: The Pips Cafe’ | ข้อมูล: Tomoegawa, Sakae Technical Paper
สถานที่: Platinum Lounge, Siam Paragon

สรุปรีวิว

REVIEW OVERVIEW

Tomoe River 52 gram A4

ความเห็นภาพรวม

กระดาษมีประสิทธิภาพที่ดีมากในการใช้งาน เขียนได้ลื่น เส้นไม่แตก แม้กระดาษจะบางเฉียบ รวมถึงดึงคุณสมบัติของหมึกปากกาหมึกซึมบางตัวออกมาให้โดดเด่นได้ นับว่าเป็นเรื่องที่น่าทึ่งอย่างมาก อย่างไรก็ตามหมึกแห้งตัวได้ช้ามาก นอกจากนั้นด้วยความบางของกระดาษเอง ทำให้การเขียนสองหน้าอาจสร้างความรำคาญใจให้กับบางคนอยู่บ้าง และราคาที่นับว่าสูงจับระดับพรีเมียม
Patranun Thaniyavarn Limudomporn
Patranun Thaniyavarn Limudompornhttps://www.patranun.com/
เป็นเพียงมนุษย์ธรรมดา คนเดินดิน เรียนจบรัฐศาสตร์ ชอบปากกามาตั้งแต่เด็กๆ แต่ไม่ค่อยได้บอกให้ใครรู้ เริ่มใช้ปากกาหมึกซึมมาตั้งแต่ระดับประถม และใช้ปากกาลูกลื่น Montblanc Generation เป็นปากกาประจำตัว เลิกใช้ปากกาหมึกซึมไประยะหนึ่งก่อนกลับมาใช้ใหม่เพราะเพื่อนฝูงชักชวน แต่ก็ยังวนเวียนกับปากการะดับพรีเมียมเช่นเคย

ติดตามเราบน Facebook

เนื้อหายอดนิยม

บทความที่เกี่ยวข้อง

- Advertisement -
กระดาษมีประสิทธิภาพที่ดีมากในการใช้งาน เขียนได้ลื่น เส้นไม่แตก แม้กระดาษจะบางเฉียบ รวมถึงดึงคุณสมบัติของหมึกปากกาหมึกซึมบางตัวออกมาให้โดดเด่นได้ นับว่าเป็นเรื่องที่น่าทึ่งอย่างมาก อย่างไรก็ตามหมึกแห้งตัวได้ช้ามาก นอกจากนั้นด้วยความบางของกระดาษเอง ทำให้การเขียนสองหน้าอาจสร้างความรำคาญใจให้กับบางคนอยู่บ้าง และราคาที่นับว่าสูงจับระดับพรีเมียมรีวิว Tomoe River กระดาษเทพสำหรับปากกาหมึกซึม