26 เมษายน 2024
สาระ-ความรู้ทรัมป์และคิม ใช้ปากกาอะไรลงนามในแถลงการณ์ที่สิงคโปร์?

ทรัมป์และคิม ใช้ปากกาอะไรลงนามในแถลงการณ์ที่สิงคโปร์?

ใบ้ว่าสองด้ามที่ใช้ในการลงนามครั้งนี้ รวมราคาแล้วยังไม่ถึง 100 ดอลลาร์

เมื่อวานนี้ (12 มิถุนายน) การพบปะและเจรจาระหว่างเกาหลีเหนือ โดย Kim Jong Un ผู้นำสูงสุดของประเทศ และสหรัฐอเมริกา โดย Donald J. Trump ประธานาธิบดี ที่มีชื่อทางการว่า “Singapore Summit” ได้ผ่านพ้นไปท่ามกลางการจับตาจากนานาชาติ และถือว่าเป็นก้าวหนึ่งของประวัติศาสตร์สมัยใหม่ในทางการเมืองนานาชาติ (ใครอยากอ่านแถลงการณ์เต็มๆ อ่านได้จากที่นี่)

แต่การพบปะกันครั้งนี้ ก็ไม่แคล้วที่จะมีเรื่องข้อสังเกตเล็กๆ น้อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปากกาที่ใช้ในการลงแถลงการณ์ร่วมของผู้นำทั้งสองคน เมื่อมีภาพปรากฎว่า ผู้นำของเกาหลีเหนือไม่ได้ใช้ปากกาที่ทางสหรัฐฯ ได้จัดเตรียมไว้ให้ และใช้ปากกาที่น้องสาวของตนเองในการลงนามแทน ขณะที่ผู้นำสหรัฐอเมริกายังคงใช้ปากกาด้ามเดิม (ดูได้จากวิดีโอของ C-SPAN เครือข่ายสำนักข่าวเพื่อการสาธารณะของสหรัฐอเมริกา ด้านล่าง ตั้งแต่นาทีที่ 1:17 เป็นต้นไป) ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านการปลดอาวุธนิวเคลียร์อย่าง Masako Toki ก็เห็นเช่นกัน

แม้จะเป็นที่เข้าใจได้ว่า นี่อาจเป็นเรื่องของความปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของเกาหลีเหนือที่ชีวิตผู้นำของประเทศต้องเป็นความลับ (The Independent ถึงขั้นรายงานว่าทางการเกาหลีเหนือต้องขนส้วมส่วนตัว เพื่อไม่ให้ข้อมูลทางชีวภาพหลุดรอดออกไปได้) แต่สิ่งที่ ไรท์ติ้งอินไทย สนใจ คือปากกาที่ผู้นำทั้งสองใช้คือปากกาอะไร ทีมงานจึงพยายามเก็บข้อมูล เพื่อค้นหาว่าปากกาทั้งสองด้ามที่ผู้นำทั้งสองคนใช้ลงนามในแถลงการณ์ร่วมฉบับประวัติศาสตร์ฉบับนี้ เป็นปากกาอะไรกันแน่?

ทั้งนี้ คำตอบที่ได้เป็นคำตอบที่ใกล้เคียงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้จากการค้นคว้าข้อมูลของทีมงานโดยละเอียด และดูภาพเหตุการณ์ซ้ำไปซ้ำมา จนกระทั่งได้คำตอบออกมาเท่าที่จะเป็นไปได้ครับ อาจมีความไม่ถูกต้องบ้าง ต้องขออภัยท่านผู้อ่านมาล่วงหน้า ณ ที่นี้ครับ

Donald Trump กับ Sharpie คู่ใจ

แม้จะเป็นเรื่องที่เราได้ยินกันมาตลอดเวลาว่า ปากกาคู่ทำเนียบขาวที่รู้จักกันอย่างยาวนาน คือปากกา Cross ที่ผลิตโดยบริษัท A.T. Cross Company ของสหรัฐอเมริกา (ตอนหลังย้ายฐานการผลิตไปที่ประเทศจีน) แต่สำหรับประธานาธิบดีคนปัจจุบันแล้ว ปากกาคู่ใจของเขาคือ Sharpie สีดำ รุ่นพิเศษที่เขาสั่งทำขึ้นนั่นเอง

รายงานข่าวของสำนักข่าว CNN ระบุว่า อันที่จริงแล้วปากกา Cross เริ่มถูกโฆษณาในฐานะปากกาประจำตัวประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการในช่วงสมัยที่ Bill Clinton ดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดี และถูกใช้มาโดยตลอด สำหรับรุ่นปากกาที่ถูกใช้มีทั้ง Townsend ซึ่งเป็นปากการะดับกลางของบริษัท และ Century II ซึ่งตอนหลังเป็นปากกาประจำตัวของ Barak Obama อดีตประธานาธิบดีคนก่อนหน้า โดยใช้เพื่อลงนามในโอกาสต่างๆ โดยเฉพาะการลงนามในแถลงการณ์หรือข้อกฎหมายต่างๆ

Sharpie สีทอง ปากกาโปรดของ Donald Trump
Sharpie สีทอง ปากกาโปรดของ Donald Trump

ทว่าสำหรับ Donald Trump ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน เป็นที่รับรู้กันว่าเขาชื่นชอบปากกา Sharpie มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนการดำรงตำแหน่งที่เขามักจะใช้ปากกานี้แต่เป็นสีทอง BBC รายงานว่าอดีตบรรณาธิการของนิตยสาร Vanity Fair เองเคยได้รับภาพของประธานาธิบดีคนปัจจุบัน แล้ววงกลมที่นิ้วด้วยปากกา Sharpie สีทองเอาไว้ เพื่อชี้ให้เห็นว่านิ้วมือของเขาไม่ได้สั้นหรือเล็กแต่อย่างใด

สำหรับปากกาด้ามที่ Trump ใช้ลงนามในครั้งนี้เป็นปากกาสีดำ แต่ไม่มีใครรู้ว่าเป็นปากกาอะไรในตอนแรก และหลังจากแถลงการณ์ถูกแสดงให้เห็นกับสื่อมวลชน เลยมีคนเริ่มตั้งข้อสังเกตว่าเขาน่าจะใช้ปากกา marker ด้วยขนาดเส้นที่ใหญ่มากและชัดเจน

ปากกาด้ามนั้นเป็นปากกาสีดำ ที่ตัวด้ามมีลายเซ็นของเขาเป็นสีทองปรากฎอยู่ ภาพข่าวจากทั้งสำนักข่าว Reuters (ผ่าน BBC) และ Getty Images (ผ่าน The Telegraph) ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าปากกาด้ามนั้นเป็นปากกา marker ซึ่งเป็นปากกา Sharpie รุ่นที่เขาสั่งทำขึ้นเป็นพิเศษ แบบเดียวกับที่เขาใช้ลงชื่อในแถลงการณ์และกฎหมายต่างๆ นั่นเอง (ดูวิดีโอประกอบจากช่อง Live Satellite News ด้านล่างได้)

สำหรับปากกา Sharpie เป็นหนึ่งในแบรนด์เครื่องเขียนย่อยของ Newell Rubbermaid เจ้าของแบรนด์สินค้าอุปโภคและบริโภครายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ยังมีแบรนด์ย่อยๆ อย่าง Parker และ Waterman อยู่ด้วย ส่วนราคาจำหน่ายของปากกาปกติอยู่ที่โหล (12 ด้าม) ละ 7.31 ดอลลาร์ (ประมาณ 230 บาท) แต่ในกรณีรุ่นของประธานาธิบดี Trump อาจจะแพงกว่านี้ เนื่องจากเป็นการสั่งผลิตพิเศษ

Kim Jong Un กับ Parker ลึกลับ

ในทางกลับกัน รายละเอียดของปากกาที่ Kim Jong Un ใช้นั้นเรารู้แต่เพียงว่าเป็นปากกาโรลเลอร์บอลสีดำขลิบทองที่น้องสาวยื่นออกมาให้เซ็น แทนที่จะใช้ปากกาซึ่งทางสหรัฐฯ เป็นคนจัดเตรียมให้เท่านั้น ที่กล่าวว่าเป็นปากกาโรลเลอร์บอลเพราะเนื่องจากหัวปากกาเป็นจุดเดียว เห็นได้ชัดว่าไม่น่าใช่ปากกาหมึกซึมอย่างแน่นอน และไม่น่าใช่ปากกาลูกลื่นเพราะปากกาใช้ฝาครอบปากกาปิดไว้ อันเป็นเอกลักษณ์ของปากกากลุ่มโรลเลอร์บอลและปากกาหมึกซึม เมื่อรวมทั้งสองความเป็นไปได้ โรลเลอร์บอลจึงมีโอกาสมากที่สุด

ปากกาของท่านผู้นำ (ในวงกลมสีเขียว; ภาพจาก C-SPAN)
ปากกาของท่านผู้นำ (ในวงกลมสีเขียว; ภาพจาก C-SPAN)

ภาพจาก C-SPAN ยังเผยให้เห็นรายละเอียดสำคัญว่า อันที่จริงแล้วปากกาด้ามนั้นมีเอกลักษณ์พิเศษอยู่ตรงที่คลิปหรือแหนบปากกาที่ไว้ใช้หนีบเป็นทรงธนูยิงออกไปแบบในภาพ ซึ่งมีผู้ผลิตเพียงรายเดียวที่มีเอกลักษณ์คลิปเช่นนี้ ซึ่งก็คงเป็นใครไม่ได้นอกจาก Parker ผู้ผลิตปากกาแบรนด์ลูกของ Newell Rubbermaid เช่นกัน

ภาพจาก C-SPAN
ภาพจาก C-SPAN

ทีมงานพยายามสืบค้นว่าปากกาดังกล่าวเป็นปากการุ่นใดจากการสังเกตลักษณะของปากกาที่ตัวฝาครอบไม่มีวงแหวนแสดงชื่อรุ่น และก็พบกับรุ่นที่เป็นไปได้ที่น่าจะมีความใกล้เคียงมากที่สุดคือ Urban Muted Black Gold Rollerball ซึ่งมีราคาจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ประมาณ 60 ดอลลาร์ (ประมาณ 1,900 บาท)

Parker Urban Muted Black Gold Rollerball (ภาพจากบริษัท)
Parker Urban Muted Black Gold Rollerball (ภาพจากบริษัท)

ปากกาไม่สำคัญเท่าแถลงการณ์

ภาพจากทำเนียบขาว
ภาพจากทำเนียบขาว

แม้ปากกาที่ทั้งสองคนใช้จะเป็นเกร็ดประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ แต่ในท้ายที่สุดสิ่งที่สำคัญกว่าคือแถลงการณ์ที่ยืนยันถึงประวัติศาสตร์และทิศทางก้าวหน้าไปสู่สันติภาพบนคาบสมุทรเกาหลี ที่ยังตกอยู่ในสภาวะสงครามมาร่วมเกือบ 7 ทศวรรษที่ผ่านมานั่นเอง

ทีมงานไรท์ติ้งอินไทยเองคงไม่สามารถตอบได้ว่าทิศทางของการเมืองบนเวทีโลกจากนี้ระหว่างสหรัฐอเมริกาและเกาหลีเหนือจะเป็นอย่างไร แต่เราเชื่อว่าประวัติศาสตร์ที่ถูกจารึกไว้แล้วนั้น คงจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปได้ง่ายๆ อย่างแน่นอน

Patranun Thaniyavarn Limudomporn
Patranun Thaniyavarn Limudompornhttps://www.patranun.com/
เป็นเพียงมนุษย์ธรรมดา คนเดินดิน เรียนจบรัฐศาสตร์ ชอบปากกามาตั้งแต่เด็กๆ แต่ไม่ค่อยได้บอกให้ใครรู้ เริ่มใช้ปากกาหมึกซึมมาตั้งแต่ระดับประถม และใช้ปากกาลูกลื่น Montblanc Generation เป็นปากกาประจำตัว เลิกใช้ปากกาหมึกซึมไประยะหนึ่งก่อนกลับมาใช้ใหม่เพราะเพื่อนฝูงชักชวน แต่ก็ยังวนเวียนกับปากการะดับพรีเมียมเช่นเคย

ติดตามเราบน Facebook

เนื้อหายอดนิยม

บทความที่เกี่ยวข้อง

- Advertisement -