20 เมษายน 2024
รีวิวรีวิวเครื่องเขียนSheaffer VFM ปากการาคาเข้าถึงง่าย เป็นของขวัญก็ได้ เขียนเองก็ดี

Sheaffer VFM ปากการาคาเข้าถึงง่าย เป็นของขวัญก็ได้ เขียนเองก็ดี

หนึ่งในปากกาที่หลายคนอาจคุ้นเคย เพราะโด่งดังมากในบ้านเราคือปากกาจากแบรนด์ Sheaffer ของสหรัฐอเมริกา แต่เงียบจากการทำตลาดไป เนื่องจากปัญหาภายในบริษัทและการซื้อขายไป-มา จนกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท A.T. Cross ผู้ผลิตเครื่องเขียนอีกเจ้าจากอเมริกา จึงเริ่มกลับมาทำตลาดอีกครั้ง และหนึ่งในนั้นคือ Sheaffer VFM

ไรท์ติ้งอินไทยได้รับปากการุ่นนี้มารีวิว ครบทุกรุ่น ทุกรูปแบบการเขียน จากตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย จึงขอนำเสนอรีวิวปากการุ่นนี้ครับ

หมายเหตุ: รีวิวนี้ทีมงานได้รับปากกามาจากบริษัท DHA Siamwalla ตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ แต่ยังให้อิสระในการรีวิวและคำวิจารณ์กับทีมงานครับ ทีมงานขอขอบพระคุณทางบริษัทที่ได้ให้ปากกามาสำหรับการทดสอบในครั้งนี้

รู้จักกับ Sheaffer VFM

สัญลักษณ์ Sheaffer
สัญลักษณ์ Sheaffer

Sheaffer เป็นหนึ่งในผู้ผลิตเครื่องเขียนรายสำคัญของโลกจากประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1913 โดย Walter A. Sheaffer ที่เมือง Fort Madison มลรัฐไอโอวา

จุดเริ่มต้นการก่อตั้งบริษัทมาจากการนำเอาแนวคิดเรื่องของการเติมหมึกที่ใช้กลไกคันโยกในการเติมหมึก (ปากกาหมึกซึมโบราณบางเจ้ายังปรากฎให้เห็นอยู่) จากนั้นกลไกลดังกล่าวจึงถูกแทนที่ด้วยหลอดสูบในช่วงต้นทศวรรษที่ 1930 ก่อนที่จะมาโด่งดังจากกลไกการสูงแบบ “Touchdown” หรือที่รู้จักกันในนาม “Snorkel” อันเป็นหลอดดูดหมึกที่จะดูดหมึกขึ้นมาเมื่อหมุนตัวท้ายด้าม จากนั้นเมื่อดูดหมึกเสร็จก็หมุนกลับเข้าไป

ลองดูวิดีโอรีวิวของ Grandmia Pens ประกอบได้ (นาทีที่ 4:54 เป็นต้นไป)

หลังปี ค.ศ. 1959 ปากกาของบริษัททุกรุ่นถูกออกแบบมาให้รับหลอดสูบหมึกของบริษัท หรือหมึกหลอดทั้งหมด โดยยกเลิกระบบหลอดสูบหมึกเดิม

เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของเครื่องเขียนจาก Sheaffer คือการที่มีจุดสีขาวเป็นเอกลักษณ์ แต่เดิมจุดสีขาวนี้หมายถึงการรับประกันตลอดชีพ (แต่ต้องเสียค่าซ่อมเล็กน้อย) ต่อมาเมื่อมีกฎหมายเกี่ยวกับการรับประกันและคุ้มครองผู้บริโภคออกมา จุดสีขาวของปากกาที่เคยใช้ติดเอาไว้ก็เป็นเพียงเครื่องประดับ แสดงตราสัญลักษณ์ของบริษัทเท่านั้น นอกจากนั้นแล้วตัวหัวปากกา (nib) ที่เป็นปากกาหมึกซึมของบริษัทส่วนใหญ่หลายรุ่น มักจะติดอยู่กับตัวปากกา ไม่สามารถแยกออกมาได้เลย

Sheaffer Balance WWII (ภาพโดย M Dreibelbis)
Sheaffer Balance WWII (ภาพโดย M Dreibelbis)

เครื่องเขียนของบริษัทแต่เดิมมีอยู่หลากหลายรุ่น เจาะหลายตลาด แต่ในช่วงหลังจากปี ค.ศ. 1997 เป็นต้นมา บริษัทก็ประสบปัญหาในเชิงการบริหาร จนทำให้ต้องปรับเปลี่ยนสายผลิตภัณฑ์อยู่บ่อยครั้ง ปัญหาการบริหารภายในนี้เกิดจากการที่ Société Bic S.A. บริษัทผู้ผลิตเครื่องเขียนและสินค้าแบบใช้แล้วทิ้ง (เช่น ปากกา Bic, ไฟแช็ค Bic) จากฝรั่งเศส ประกาศเข้าซื้อกิจการในปี ค.ศ. 1997 จากเจ้าของรายเดิมที่เป็นธนาคารเพื่อการลงทุน และได้ทำการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารภายในมากมาย เช่น การปิดโรงงานผลิตที่เมือง Fort Madison ในปี ค.ศ. 2008 แล้วย้ายการผลิตทั้งหมดไปยังโรงงานรับช่วง (third-party manufacturer) ที่ประเทศจีน และการย้ายฐานการดำเนินงานอื่นไปอยู่ที่ประเทศสโลวาเกียแทน

ในที่สุด Société Bic S.A. ก็ขายกิจการของบริษัทไปให้ A.T. Cross Company เจ้าของแบรนด์ปากกา Cross ในปี ค.ศ. 2014 ด้วยราคาที่ 15 ล้านดอลลาร์ (ตอนซื้อมาซื้อในราคาน้อยกว่า 50 ล้านดอลลาร์เพียงเล็กน้อย)

สำหรับ VFM เป็นหนึ่งในปากการุ่นที่ผลิตในช่วงสมัยที่บริษัทแม่ยังเป็น Société Bic S.A. เป็นชื่อย่อมาจาก Vibrant, Fun, and Modern โดยถือเป็นรุ่นกลุ่มเริ่มต้นของบริษัท ในประเทศไทย ปากการุ่นนี้จำหน่ายโดยบริษัท DHA Siamwalla และถือเป็นรุ่นเริ่มต้นของแบรนด์ มีโหมดการเขียนอยู่ 3 แบบ คือ ปากกาหมึกซึม ปากกาโรลเลอร์บอล และปากกาลูกลื่น

สำหรับสีที่วางจำหน่ายในประเทศไทย จะประกอบไปด้วยสีเงิน (Strobe Silver), สีน้ำเงิน (Neon Blue), สีดำด้าน (Matte Black) และสีแดง (Excessive Red) ส่วนที่สหรัฐอเมริกาจะมีเพิ่มเติม เช่น สีเขียว (Very Green), สีชมพู (Pink Sapphire) และสีน้ำเงินหางนกยูง (Peacock Blue) ด้วย (เคยมีสีส้ม แต่ถูกถอดออกจากตลาดไป) ราคามีดังนี้ (ยังไม่รวมส่วนลดใดๆ)

  • ปากกาลูกลื่น ด้ามละ 520 บาท
  • ปากกาโรลเลอร์บอล ด้ามละ 590 บาท
  • ปากกาหมึกซึม ด้ามละ 640 บาท

จากราคาจะเห็นได้ว่าอยู่ในกลุ่มของปากการาคาไม่แพงนัก อยู่ในราคาที่เอื้อมถึงได้แน่นอน สำหรับรีวิวนี้เราจะรีวิวทั้งหมด 3 รูปแบบการเขียนทั้งหมด ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่เรามีรีวิวพร้อมๆ กัน ในลักษณะนี้

บรรจุภัณฑ์

หน้าตาของบรรจุภัณฑ์สำหรับ VFM ทุกรูปแบบจะเหมือนกันหมด กล่าวคือ จะเป็นกล่องสีดำ ด้านนอกเป็นกระดาษแข็งเจาะรูให้เห็นตราลัญลักษณ์ของบริษัท

เมื่อดึงด้านนอกออก จะเผยให้เห็นตัวกล่องที่ทำลายเลียนแบบเหมือนกับหนัง ทำจากกระดาษที่แข็งกว่า สามารถดึงเปิดออกมาได้จากด้านบน

เมื่อดึงออก จะพบกับปากกานอนอยู่ด้านใน ซึ่งถ้าเป็นปากกาลูกลื่นจะใส่หมึกมาให้เรียบร้อย แต่ถ้าเป็นปากกาหมึกซึม จะมีหมึกอยู่ด้านใน 1 หลอด และมีหมึกหลอดอีกอันอยู่ด้านล่างฐาน พร้อมข้อมูลการรับประกัน 1 ปี อยู่ด้วย (ไม่ได้ถ่ายมา) ส่วนโรลเลอร์บอล หมึกจะอยู่ด้านล่างเช่นกัน (ต้องดึงตัวพลาสติกสีขาวรองปากกาออกมาก่อน)

ปากกาลูกลื่น

ทีมงานได้ปากกาลูกลื่นเป็นสีแดง มีลักษณะสีแดงสดใส แต่ก็คงความสุภาพด้วยผิวสัมผัสที่ด้าน ทำให้ดูไม่แดงโดดเด่นมากจนเกินไป เรียกว่ายังอยู่ในโทนสุภาพอย่างดี ตัวปากกาทำมาจากทองเหลือง แข็งแรงและทนทาน

มีการตกแต่งด้วยสีเงินจากนิกเกิล พร้อมจุดสีขาวที่แหนบ ตอกย้ำเอกลักษณ์ประจำตัวของแบรนด์ได้เป็นอย่างดี แหนบมีความแข็งเล็กน้อย แต่ก็ถือว่าไม่แข็งมากจนเสียวว่าจะทำหักคามือแต่ประการใด

โดยรอบของปากกาตรงกลางด้าม มีการสลักคำว่า Sheaffer เอาไว้ด้วย ไม่ได้โดดเด่นมากแต่ก็สังเกตได้ครับ

ตัวปากกาหนัก 22 กรัม ความยาวอยู่ที่ 13.6 ซม. และเส้นผ่าศูนย์กลางในจุดที่กว้างที่สุดอยู่ที่ 1.17 ซม. และใช้ไส้ของทางบริษัทเอง (เรียกว่า Sheaffer Ballpoint Refill)

ปากกาหมึกซึม

สำหรับปากกาหมึกซึม ทีมงานได้รับมาเป็นสีดำด้าน ดูเรียบหรู ส่วนคลิปมีจุดสีขาว แต่ลักษณะของปากกาหมึกซึมนี้ทำให้ทีมงานลงความเห็นตรงกันว่า มีความคล้ายคลึงกับ Pilot Metropolitan อยู่มาก ทั้งในเรื่องการออกแบบ แหนบปากกา จนถึงลักษณะด้ามโดยรวม ถ้ามองไกลๆ อาจจะเข้าใจผิดได้

เช่นเดียวกับปากกาลูกลื่น ตรงกลางด้ามมีโลหะพร้อมสลักชื่อ Sheaffer อยู่ เรียกว่าเป็นเอกลักษณ์ของรุ่นก็ว่าได้

ส่วนท้ายของปากกามีลักษณะโค้งมน ทรงซิการ์แบบที่หลายคนอาจจะคุ้นเคยจากรุ่นเก่าๆ

สำหรับหัวปากกาที่ทีมงานได้ เป็นขนาดเส้น Medium ไม่ทราบผู้ผลิต ใช้วัสดุเป็นเหล็กกล้าไร้สนิม พิมพ์คำว่า Sheaffer แล้วก็ขนาดเส้นลงไป

สิ่งที่โดดเด่นของปากการุ่นนี้ คือการใช้ Standard International Cartridge แบบสั้น ซึ่งถือว่ามาแปลก เพราะปกติแล้ว Sheaffer จะมีมาตรฐานของหมึกหลอดและหลอดสูบหมึกเป็นของตัวเอง แต่รุ่นนี้ใช้แบบมาตรฐานสากลกับปากกาอื่นๆ มาเลย ดังนั้นท่านสามารถซื้อหมึกปากกายี่ห้ออื่นมาใช้งานร่วมได้

ตัวที่จับปากกา (section) เป็นพลาสติก ไม่ใช่โลหะแต่ประการใด

อย่างไรก็ตาม ปากการุ่นนี้รับเฉพาะหลอดหมึกขนาดสั้น (short) เท่านั้น ไม่สามารถรับแบบขนาดเต็มแบบที่ Pelikan วางจำหน่ายได้ รวมไปถึงหลอดสูบหมึกด้วย (เพราะยาวไม่พอ) ยกเว้นจะใช้หลอดสูบหมึกสั้น อันนี้ต้องยอมรับว่าเป็นข้อจำกัดเล็กน้อยของปากการุ่นนี้ (แต่หากพิจารณาว่าหลายยี่ห้อใช้ของตัวเองเลย ถือว่าจำกัดจำเขี่ยมากกว่านี้)

ตัวปากกาหนัก 21 กรัม ความยาวอยู่ที่ 13.8 ซม. และเส้นผ่าศูนย์กลางในจุดที่กว้างที่สุดอยู่ที่ 1.14 ซม.

โรลเลอร์บอล

สำหรับตัวสุดท้ายคือโหมดการเขียนแบบโรลเลอร์บอล ซึ่งมีลักษณะภายนอกทุกประการเหมือนกับปากกาหมึกซึม ต่างกันที่หมึกเขียน ทีมงานได้รับมาสองสี คือสีน้ำเงิน (ตัวที่เป็นภาพหลักของรีวิวนี้) และสีเงินครับ

จุดแตกต่างที่สำคัญของโรลเลอร์บอลกับปากกาหมึกซึมคือเรื่องของการเขียน ตัวไส้ของปากกาโรลเลอร์บอลผลิตที่เยอรมนี (ทีมงานคาดเดาว่า Schmidt น่าจะเป็นผู้ผลิต) ไส้ที่ได้มาเขียนเป็นสีดำครับ

ปากกาหนัก 18 กรัม (เบากว่าทุกด้าม) ความยาวอยู่ที่ 13.8 ซม. และเส้นผ่าศูนย์กลางในจุดที่กว้างที่สุดอยู่ที่ 1.14 ซม. เท่ากับปากกาหมึกซึมทุกประการ

อนึ่ง ทีมงานไม่ได้ลองว่าหัวปากกาหมึกซึมสามารถหมุนใส่แทนกับโรลเลอร์บอลได้หรือไม่ แต่จากที่ใส่หมึกใช้มา ส่วนตัวด้ามโรลเลอร์บอลมีการใส่สปริงเพิ่มเพื่อดันตัวไส้ด้วย ทีมงานเลยคาดการณ์ว่าไม่น่าจะใส่ได้ครับ

ทดลองใช้ Sheaffer VFM

ทีมงานได้รับปากกาด้ามนี้มาทดลองใช้ และหมุนเวียนเปลี่ยนกันใช้ในวาระและโอกาส ต่างรูปแบบการเขียน มีความเห็นแยกกันแล้วแต่โหมดปากกา ดังต่อไปนี้ครับ

ปากกาหมึกซึม

รูปแบบการเขียนปากกาหมึกซึมเป็นโหมดการเขียนที่ด้อยที่สุดในกลุ่มนี้ กล่าวคือ แม้ราคาจะสมเหตุผลและเป็นรุ่นที่เอามาแข่งกับ Pilot Metropolitan ได้เป็นอย่างดี แต่เมื่อเทียบกับปากกาอย่าง TWSBI Go ที่อยู่ในโซนราคาใกล้เคียงกันแล้ว ก็พบว่า VFM ทำผลงานออกมาได้แย่กว่ามาก เพราะตัวปากกาเมื่อเสียดสีกับกระดาษแล้วเกิดแรงเสียดทานค่อนข้างมาก เขียนแล้วไม่ลื่น มีแรงตอบกลับ (feedback) ที่สูงมาก ทีมงานต้องฝืนและใช้แรงเยอะกว่าปากกาหมึกซึมปกติทั่วไปเพื่อจะเขียน เข้าใจว่าน่าจะเป็นเพราะฝนหัวมาไม่ดีพอ

ตัวปากกาเองมีปัญหาเรื่องของการใส่ปลอกปากกาเอาไว้ด้านหลัง กล่าวคือเสียบได้ไม่แน่น และถ้าเสียบจนแน่นแล้วก็จะมีปัญหาไม่สมดุลเพราะน้ำหนักตัวฝาเยอะไป ถ้าไม่เสียบใส่ไว้ตัวด้ามก็จะสั้นจนเกินไป เป็นปัญหาที่ปวดหัวอีกเช่นกัน

นอกจากนี้แล้วทีมงานยังเจออาการหมึกเขียนไม่ออก ไม่ไหล เมื่อวางทิ้งเอาไว้แบบปิดฝา 1-2 วันเท่านั้น พอจะใช้ขึ้นมาอีกทีก็ต้องจับมันกลับมาลากไปมาสักครู่ พอหมึกไหลนิ่งได้ที่ถึงค่อยเขียนได้

ข้อเด่นของปากกาหมึกซึมจึงเป็นเรื่องของราคาและหมึกที่แถมมาให้ เพราะให้เส้นที่คมชัด สีสันดูดี และที่สำคัญคือหัวปากกามีความยืดหยุ่นเล็กน้อย สามารถทำความแตกต่างของเส้น (line variation) ได้อยู่บ้าง รวมถึงการใช้หมึกหลอดแบบ standard international converter ที่ทำให้เลือกใช้หมึกอย่างอื่นได้บ้าง

ปากกาด้ามนี้ได้คะแนนไป 3.5 จาก 5 ครับ

โรลเลอร์บอล

ในทางกลับกัน โรลเลอร์บอลกลับทำได้ดีและมีประสิทธิภาพมากที่สุดในทุกการเขียน ทีมงานให้คะแนนที่ 4 เนื่องจากมันสามารถทำงานได้ดี เขียนได้ลื่น ไม่มีอาการเขียนยากตอนเริ่มต้นใช้งาน (hard start) แม้แต่น้อย นอกจากนั้นแล้วยังเขียนได้ลื่นอีกด้วย ยอมรับว่าถูกใจอย่างมากสำหรับโรลเลอร์บอลรุ่นนี้

ข้อเสียของโรลเลอร์บอลรุ่นนี้มีอยู่เพียงประการเดียว ซึ่งก็ซ้ำรอยปากกาหมึกซึม นั่นก็คือการที่เสียบปลอกหลังปากกาขณะเขียนได้ไม่ดี และถ้าเสียบได้ก็เสียสมดุลไปเลย

ปากกาด้ามนี้ได้คะแนนไป 4 จาก 5 ครับ

ปากกาลูกลื่น

ปากกาลูกลื่นเป็นรูปแบบการเขียนอันสุดท้ายที่ยืนอยู่ตรงกลาง ข้อดีของปากการุ่นนี้คือสามารถกดแล้วเขียนได้ทันที แล้วก็เขียนลื่นมาก ไม่มีอาการหมึกเยิ้มมาให้กวนใจ เขียนได้ไวเท่าความคิด

ข้อเสียของปากกาลูกลื่นมีเพียงประการเดียวคือ สีหมึกที่ออกมาจางกว่ารูปแบบการเขียนประเภทอื่น ทีมงานเขียนทดสอบเปรียบเทียบแล้วก็พบว่าทีมงานไม่ประทับใจกับสีที่จางและซีด ซึ่งถ้าให้เลือก ทีมงานคงเลือกใช้โรลเลอร์บอลมากกว่าครับ

ปากกาด้ามนี้ได้คะแนนไป 4 จาก 5 ครับ

สรุป

Sheaffer VFM Neon Blue
สี Neon Blue

โดยภาพรวม Sheaffer VFM ถือเป็นปากการาคาเข้าถึงได้ง่าย สีสันสวยงาม ซื้อเป็นของขวัญแจกก็ได้ หรือจะใช้เองก็ดี และเป็นข้อพิสูจน์ว่าปากกาดีๆ บางทีก็ไม่จำเป็นที่จะต้องแพงเสมอไป และเป็นตัวเริ่มต้นสำหรับผู้ที่ต้องการยกระดับปากกาที่ตนเองใช้อยู่ในทุกๆ วันได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม ปากการุ่นนี้ถ้าจะซื้อ ทีมงานแนะนำให้ซื้อโรลเลอร์บอล (บางคนเรียกว่าหมึกเคมี) จะดีที่สุด เนื่องจากประสิทธิภาพในการเขียนทำได้อย่างน่าประทับใจเมื่อเทียบกับราคาค่าตัวของปากกาด้ามนี้ที่ 590 บาท ส่วนรุ่นที่ควรหลีกเลี่ยงที่สุดเป็นปากกาหมึกซึม เนื่องจากความฝืดและแรงต้านที่มากกว่าปกติทั่วไปจนอยู่ในระดับสัมผัสได้ ทำให้ทีมงานไม่ประทับใจนัก

อนึ่ง มีคนแนะนำทีมงานว่ากรณีปากกาหมึกซึมควรที่จะใช้กับหมึกที่เหลวกว่า แล้วดูว่าความฝืดเป็นอย่างไรบ้าง ลดลงไปหรือไม่ ซึ่งทีมงานยังไม่ได้ทดสอบ ณ จุดนี้ ส่วนปากกาลูกลื่นแม้จะเขียนได้ลื่น แต่สีหมึกที่อ่อนก็เป็นสิ่งที่ควรคำนึงด้วย (ถ้าไม่ได้ใช้ทำอะไรที่สำคัญนักก็พอจะมองข้ามไปได้บ้าง)

เครดิต

ศิระกร ลำใย – ถ่ายภาพ / ภัทรนันท์ ลิ้มอุดมพร – รีวิวและรายงาน

สรุปรีวิว

REVIEW OVERVIEW

ปากกาหมึกซึม Sheaffer VFM
โรลเลอร์บอล Sheaffer VFM
ปากกาลูกลื่น Sheaffer VFM

ความเห็นภาพรวม

ปากการุ่นเริ่มต้นของ Sheaffer ที่ทำได้ดีสำหรับโรลเลอร์บอล ส่วนปากกาลูกลื่นสีหมึกซีดไปเล็กน้อย และปากกาหมึกซึมที่เขียนได้ไม่ลื่น ไม่ได้ดังใจสั่งสักเท่าไหร่นัก ทีมงานแนะนำว่าถ้าต้องการซื้อ ควรซื้อโรลเลอร์บอลจะดีที่สุด
ทีมงานไรท์ติ้งอินไทย
ทีมงานไรท์ติ้งอินไทย
Writing in Thai (ไรท์ติ้งอินไทย) เว็บไซต์รวบรวมเรื่องราวของ ปากกา ปากกาหมึกซึม และเครื่องเขียนอื่นๆ สำหรับคนรุ่นใหม่ มีทั้งปากกาหมึกซึม ดินสอ ปากกาลูกลื่น ข่าว อัพเดต ความรู้ หมึก การเขียน รีวิว เทคนิค สาระและความรู้

ติดตามเราบน Facebook

เนื้อหายอดนิยม

บทความที่เกี่ยวข้อง

- Advertisement -
ปากการุ่นเริ่มต้นของ Sheaffer ที่ทำได้ดีสำหรับโรลเลอร์บอล ส่วนปากกาลูกลื่นสีหมึกซีดไปเล็กน้อย และปากกาหมึกซึมที่เขียนได้ไม่ลื่น ไม่ได้ดังใจสั่งสักเท่าไหร่นัก ทีมงานแนะนำว่าถ้าต้องการซื้อ ควรซื้อโรลเลอร์บอลจะดีที่สุดSheaffer VFM ปากการาคาเข้าถึงง่าย เป็นของขวัญก็ได้ เขียนเองก็ดี