23 ตุลาคม 2024
สาระ-ความรู้เมื่อปากกาคู่ใจพัง: คำถามที่ต้องรู้ และประสบการณ์ส่งซ่อมปากกาหมึกซึม

เมื่อปากกาคู่ใจพัง: คำถามที่ต้องรู้ และประสบการณ์ส่งซ่อมปากกาหมึกซึม

ไรท์ติ้งอินไทยช่วยตอบคำถาม ทำอย่างไรเมื่อปากกาคู่ใจพัง? คำถามที่ต้องถามเพื่อช่วยในการตัดสินใจ รวมถึงข้อมูลโดยคร่าวสำหรับการส่งซ่อมปากกา

ไรท์ติ้งอินไทยเชื่อว่าไม่มีใครอยากให้ปากกา (โดยเฉพาะปากกาด้ามคู่ใจของแต่ละคน) เสียหาย อย่างไรก็ดีการเสื่อมสภาพตามกาลเวลาหรืออุบัติเหตุย่อมเป็นเหตุการณ์ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เมื่อถึงจุดนั้นการส่งซ่อมปากกาอาจเป็นเรื่องจำเป็น ทีมงานจึงขอถ่ายทอดประสบการณ์ส่งซ่อมปากกาคู่ใจที่พัง เพื่อประกอบการตัดสินใจส่งซ่อม และบอกเล่าประสบการณ์ในการซ่อมครับ

อุบัติเหตุที่เกิดขึ้น

ปกติทีมงานพกปากกา Caran d’Ache 849 เป็นปากกาด้ามคู่ใจ ทั้งด้วยวัสดุที่ทนทานและการออกแบบที่เรียบง่าย (อ่านรีวิวของไรท์ติ้งอินไทยได้ที่นี่) อย่างไรก็ดี วันหนึ่งทีมงานวางปากกาไว้บนแล็ปท็อปขณะยกขนของข้ามห้อง ก่อนที่ปากกาจะไถลจากความสูงประมาณระดับอกลงพื้น

แม้ว่าวัสดุภายนอกของ Caran d’Ache จะเป็นอะลูมิเนียมขึ้นรูปทั้งชิ้นและแข็งแรงมาก แต่เป็นความโชคร้ายของทีมงานที่บริเวณตัวปลอกปากกาเปิดออกขณะกระแทก ทำให้ด้ามจับของปากกาส่วนที่เป็นเกลียวยึดติดกับตัวด้ามแตกออก (ในขณะที่ส่วนตัวด้ามภายนอกที่โดนกระแทกอย่างรุนแรงมากกว่าไม่เป็นอะไร)

การทำปากกาตกน่าจะเป็นหนึ่งในสาเหตุการเสียหายหลักของปากกา แน่นอนว่าอาการย่อมมีตั้งแต่บุบหรือถลอกภายนอกที่ไม่กระทบต่อการใช้งาน จนถึงบริเวณหัวปากกาพัง ในกรณีหลังค่าใช้จ่ายในการซ่อมจะสูงมาก และอาจเทียบเท่ากับการซื้อปากกาด้ามใหม่

ดึงสติกันหน่อยน่า: คำถามที่ต้องถามเมื่อรู้ตัวว่าปากกาเสียหาย

แน่นอนว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นย่อมไม่อาจย้อนเวลากลับไปได้ สิ่งที่ต้องตัดสินใจต่อไปคือจะส่งปากกาซ่อมหรือเปล่า แม้คำตอบของคำถามนี้จะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแต่ละคน แต่ทีมงานแนะนำว่าให้ลองถามคำถามเหล่านี้กับตัวเอง

  • ราคาของปากกา ทั้งราคาหน้าร้านมือหนึ่ง และราคาที่ซื้อมา
    • ทีมงานได้ Caran d’Ache 849 มาในราคาลด 30% หากราคาค่าซ่อมแพงกว่านี้ การซื้อปากกาใหม่ก็ย่อมคุ้มกว่าอย่างเห็นได้ชัด
  • ชิ้นส่วนที่เสียหาย ว่าบริเวณใดบ้างที่ได้รับผลกระทบ และความเสียหายนั้นกระทบกับการใช้งานหรือไม่
    • ทั้งนี้ “การกระทบกับการใช้งาน” ไม่จำเป็นต้องมองเพียงแค่ปากกายังใช้ได้อยู่หรือไม่ เพราะรูปทรงหรือตัวปากกาภายนอกก็ย่อมมีผลต่อความสุนทรีย์ในการใช้ปากกาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
    • กรณีของทีมงาน ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับ Caran d’Ache 849 กระทบการใช้งานโดยตรง เพราะไม่สามารถใช้ปากกาได้เช่นเดิม
  • ประเมินราคาซ่อม ลองคาดเดา หรือค้นหาโดยคร่าวว่าราคาซ่อมของปากกาแพงหรือไม่ เพราะสุดท้ายปฏิเสธไม่ได้ว่าราคาซ่อมก็เป็นหนึ่งในปัจจัยหนึ่งที่สำคัญเช่นเดียวกัน
    • กรณีปากกาอยู่ในระยะรับประกัน (ซึ่งร้อยทั้งร้อยการรับประกันจะไม่ครอบคลุมความเสียหายจากอุบัติเหตุ) การส่งซ่อมไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย (แก่กระเป๋าเงินของท่าน) แต่ประการใด แน่นอนว่าหลักฐานการซื้อขายปากกา ได้แก่ใบเสร็จหรือใบรับประกัน เป็นสิ่งสำคัญมากในการส่งซ่อมปากกา
  • จะซ่อมได้ที่ไหน
    • หากเป็นปากกาที่ไม่มีศูนย์ซ่อมหรือตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย การซ่อมก็ยิ่งใช้เวลานานกว่าปกติ
    • หากเป็นปากกาที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ต้องดูว่านโยบายการรับประกันและการส่งซ่อมเป็นอย่างไร ปากกาบางยี่ห้อมีประกันทั่วโลก บางประเทศรับประกันเฉพาะจากประเทศที่ซื้อ และบางยี่ห้อไม่รับส่งซ่อมหากเป็นปากกาที่ซื้อจากต่างประเทศ

ส่งซ่อมอย่างไร

ไรท์ติ้งอินไทยมีรายการศูนย์ซ่อมปากกายี่ห้อต่างๆ ในประเทศไทยรวบรวมไว้เพื่อความสะดวก หากต้องการส่งปากกาซ่อม ทีมงานแนะนำให้ติดต่อสำนักงานใหญ่หรือตัวแทนจำหน่าย เพื่อหาสถานที่ส่งซ่อมที่ใกล้ที่สุด

ทั้งนี้ พึงระวังว่านโยบายการซ่อมปากกาแต่ละแบรนด์ไม่เหมือนกัน ปากกาบางแบรนด์มีช่างสำหรับซ่อมในไทย (อาทิเช่น Montblanc) การซ่อมจึงเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทว่ามีปากกาหลายแบรนด์ที่เมื่อตัวแทนจำหน่ายรับซ่อมแล้ว จะส่งให้ผู้ผลิตปากกาที่ต่างประเทศ และ Caran d’Ache เป็นหนึ่งในยี่ห้อนั้น

ทีมงานแนะนำว่าให้สอบถามกับหน้าร้านก่อนว่า

  • นโยบายการส่งซ่อมเป็นอย่างไร มีนโยบายแจ้งราคาให้ทราบก่อนทำการซ่อมหรือไม่ และหากตัดสินใจไม่ซ่อมเมื่อทราบค่าดำเนินการจะเสียค่าดำเนินการส่งไป-กลับหรือไม่
  • เวลาที่ใช้ในการส่งซ่อม เพื่อประกอบการตัดสินใจ โดยมากมักกินเวลา 1-2 เดือนหากเป็นการส่งซ่อมไปต่างประเทศ

เมื่อตัดสินใจจะส่งซ่อม กระบวนการส่งซ่อมก็ไม่ต่างจากเครื่องใช้ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หากปากกาแตกเป็นชิ้นๆ ควรพยายามเก็บชิ้นส่วนทุกชิ้นไปส่งซ่อมให้ครบ ชิ้นส่วนจำพวกไส้ปากกา หรือหลอดหมึกแบบสูบ สามารถถอดเก็บไว้ก่อนได้หากการถอดไม่ก่อให้เกิดความเสียหายกับปากกาเพิ่มเติม

หลังส่งซ่อมเสร็จควรจะได้ใบรับสินค้าหรือใบส่งซ่อมใช้เป็นหลักฐานการรับปากกาหลังซ่อมเสร็จ เก็บใบนี้ไว้ไม่ให้หาย

กระบวนการหลังการส่งซ่อม

โดยปกติบริษัทมักจะมีการโทรแจ้งเพื่อขออนุมัติการซ่อมในกรณีที่มีค่าใช้จ่าย (ในกรณีเหตุการณ์นี้คือ Capital Good Rich หนึ่งในตัวแทนจำหน่าย Caran d’Ache ประเทศไทย) แต่ว่าทีมงานไม่ได้รับโทรศัพท์แจ้งราคาในครั้งนี้ ประกอบกับราคาส่งซ่อมที่ไม่สูงมาก (450 บาท) ทำให้ทีมงานคาดว่าทางบริษัทตัดสินใจแจ้งทางเจนีวาให้ซ่อมปากกาไปเลย

ทีมงานรับทราบว่าปากกาส่งซ่อมเสร็จแล้วเมื่อปากกาเดินทางมาถึงหน้าร้านที่ส่งซ่อมแล้ว เจ้าหน้าที่ประจำเคาน์เตอร์โทรศัพท์แจ้งทีมงานถึงปากกาที่ซ่อมเสร็จและค่าใช้จ่าย รวมเวลาส่งซ่อมประมาณหนึ่งเดือนครึ่ง หลังจากเดินทางไปรับปากกาที่ร้านและจ่ายค่าเสียหาย ก็เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการส่งซ่อมปากกา

สรุปบทเรียนที่ได้รับ

  • ดูแลปากกาให้ดี โดยเฉพาะเมื่อเป็นปากกาที่ไม่มีนโยบายรับประกันหรือส่งซ่อมในไทย
  • เมื่อเกิดความเสียหาย ประเมินสถานการณ์คร่าวๆ ว่าจะส่งซ่อมดีหรือไม่ การตัดสินใจส่งซ่อมหรือไม่ส่งซ่อมขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลล้วนๆ
  • สอบถามหน้าร้าน ถึงนโยบายส่งซ่อม ราคาประเมิน และระยะเวลาส่งซ่อมโดยประมาณ เพื่อประกอบการตัดสินใจอีกครั้ง
  • กรณีประกันครอบคลุม เตรียมเอกสารหลักฐานการซื้อและใบรับประกันไปด้วย

ไรท์ติ้งอินไทยหวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ผู้ที่ตัดสินใจส่งซ่อมปากกาประเมินสถานการณ์ได้ถูก และเป็นกำลังใจให้ผู้ที่กำลังต้องซ่อมปากกกาทุกท่านครับ

Sirakorn Lamyai
Sirakorn Lamyaihttp://srakrn.me
ด้วยความที่เรียนวิศวกรรมศาสตร์ ศิระกรจึงพยายามมองการซื้อปากกาแต่ละด้ามเป็น "การลงทุน" และอยู่ในโลกของการพยายามหาปากกาที่ค่าตัวไม่แพงแต่มีคุณภาพสูงมาใช้เรื่อยๆ ถึงกระนั้น ศิระกรก็กำลังพยายามกระโดดไปโลกของปากกาในฐานะเครื่องประดับ และหวังว่าจะได้เรียนรู้อย่างเพลิดเพลินในโลกทั้งสอง

ติดตามเราบน Facebook

เนื้อหายอดนิยม

บทความที่เกี่ยวข้อง

- Advertisement -