สำหรับหลายคน ปากกาที่ดีมักไม่จำเป็นต้องปากกาแพง ซึ่งในครั้งนี้ ไรท์ติ้งอินไทย จะขอนำเสนอรีวิวปากกาหมึกซึม Pilot Metropolitan ซึ่งเป็นหนึ่งในปากกาหมึกซึมสำหรับผู้เริ่มต้น และจะเป็นตัวเลือกสำหรับปากกาหมึกซึมด้ามแรกที่ทีมงานแนะนำ ด้วยความครบถ้วนทั้งวัสดุที่ดี การเขียนที่ลื่นไหล และราคาที่ต่ำกว่าปากกาทั่วไปโดยส่วนมาก
รู้จักกับ Pilot Corporation
Pilot เป็นผู้ผลิตปากกาและเครื่องเขียนจากญึ่ปุ่นที่มีสินค้าในตลาดค่อนข้างหลากหลาย และเป็นหนึ่งใน 3 บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเครื่องเขียนของญี่ปุ่น สำหรับผู้อ่านในประเทศไทยน่าจะรู้จักปากกาของบริษัทนี้ผ่านแบรนด์ย่อยอย่าง Frixion ซึ่งเป็นปากกาลบได้ด้วยความร้อนเจ้าแรกออกสู่ตลาด
บริษัทก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1918 ในนาม Namiki Manufacturing Company และต่อมาในปี ค.ศ.1938 จึงเปลี่ยนชื่อเป็น Pilot และใช้ชื่อนี้มาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน บริษัทมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย โดยเฉพาะในกลุ่มเครื่องเขียนที่มีทั้งผลิตธรรมดาๆ ทั่วไปในราคาถูก ไปจนถึงในราคาแพง เช่น Pilot Custom URUSHI (ราคาแพงพอๆ กับ Montblanc Meisterstück 149) หรือสินค้าแหวกแนวทุกตัวในตลาดเช่น Vanishing Point ปากกาหมึกซึมระบบกดแบบเดียวกับปากกาหมึกซึม
นอกจากสินค้าทั่วไปแล้วบริษัทยังมีไลน์สินค้าเครื่องเขียนหรูหรา (Luxury writing instruments) วางจำหน่ายภายใต้แบรนด์ Namiki ชูจุดเด่นด้วยการวาดลวดลายด้วยผงทองลงบนปากกา ก่อนเคลือบด้วยแลคเกอร์แบบญี่ปุ่น ที่เรียกว่า “มากิ-เย” (Maki-e) ซึ่งเป็นศิลปะชั้นสูงของญี่ปุ่น
สำหรับรีวิวนี้ ไรท์ติ้งอินไทยจะพาไปรู้จักกับปากกา Pilot Metropolitan ซึ่งเป็นปากกาตัวเริ่มต้นของแบรนด์ Pilot กันครับ
Pilot Metropolitan: ชื่อ ความเป็นมา และรุ่นย่อย
หากความสับสนระหว่างชื่อ Capless และ Vanishing Point (ชื่อทำการตลาดของปากกาหมึกซึมแบบกดของ Pilot) เป็นสิ่งที่ชวนงงพอแล้ว ในกรณีของ Metropolitan ก็ทำให้สับสนได้เช่นกัน เพราะชื่อดังกล่าวบริษัทใช้ในการทำตลาดภายในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ในประเทศญี่ปุ่น บริษัทใช้ชื่อว่า Cocoon และในประเทศอื่นๆ บริษัทใช้ชื่อเป็น MR หรือ MR3 ในการทำตลาดครับ (ถ้าคิดจะไปหาซื้อที่ต่างประเทศ ก็จำเป็นที่จะต้องรู้ชื่อเหล่านี้) อย่างไรก็ดี รีวิวนี้ขอยึดถือชื่อที่ใช้ในสหรัฐอเมริกาเช่นเดียวกับรีวิว Vanishing Point ครับ
ปากการุ่นนี้มีอายุมาไม่นาน โดยปล่อยออกสู่ตลาดในปี ค.ศ. 2012 และได้รับการยอมรับอย่างรวดเร็วจากวงการคนชอบปากกาหมึกซึมทั่วโลกที่ระบุว่า เป็นหนึ่งในปากกาที่มีประสิทธิภาพเขียนไม่แพ้ปากกายอดฮิตอย่าง LAMY safari แม้แต่น้อย อีกทั้งยังติดทำเนียบ 1 ในปากกาหมึกซึมราคาถูกสำหรับผู้เริ่มต้นมาโดยตลอดครับ
ปากการุ่นนี้จริงๆ มีรูปแบบการเขียนหลายแบบขึ้นอยู่กับตลาดและช่วงเวลา แต่โดยหลักแล้วมีอยู่เพียง 2 รูปแบบ คือปากกาโรลเลอร์บอล และที่อยู่ในรีวิวนี้เป็นปากกาหมึกซึมครับ (ดังกว่า) ตอนซื้อที่ต่างประเทศ ผู้อ่านจะต้องระบุให้ชัดถึงความแตกต่างนะครับ
Jetpens.com ระบุว่าปากการุ่นนี้มีสามรุ่นย่อย ความแตกต่างอยู่ที่สีของด้ามปากกาเป็นหลัก และแต่ละประเทศจะมีการวางจำหน่ายที่แตกต่างกันไป ดังต่อไปนี้
- Classic Collection เป็นปากกาลายสีเรียบๆ มีสีดำ สีเงิน และสีทอง เป็นสียืนพื้น สำหรับในญี่ปุ่นที่ใช้ชื่อรุ่น Cocoon จะมีเฉพาะกลุ่มนี้เท่านั้น และมีสีเพิ่มขึ้นมาด้วยคือ สีส้ม สีขาวไข่มุก สีน้ำเงิน และสีมาเจนต้า
- Animal Collection จุดต่างจากรุ่นแรกคือการใส่ลวดลายเหมือนหนังสัตว์ลงไปบนตัวด้าม เพื่อเพิ่มมิติให้กับตัวปากกาและเอกลักษณ์
- Retro Pop Collection กลุ่มสุดท้ายนี้เป็นกลุ่มที่มีสีสันสดใส มีทั้งสีเทอร์คอยซ์ ส้ม ม่วง เทา เขียว และแดง โดยจะมีลวดลายประดับเพิ่มเติมด้วย ผลิตขึ้นมาจำนวนจำกัด (ไม่ได้ระบุว่าจำนวนเท่าใด)
ปากการุ่นนี้ใช้หัวปากกา (nib) เป็นโลหะเหล็กกล้าไร้สนิม (stainless steel) และมีขนาดเส้นปากกา 3 ขนาด คือ Fine, Medium และ Italic (หรือหัวตัด สำหรับเขียนตัวอักขระแบบพิเศษ คือ Calligraphy) ส่วนตัวด้ามใช้เป็นทองเหลือง ซึ่งมีความทนทานอย่างมาก
ดีไซน์ภายนอก
ปากกาที่ทีมงานได้รับนั้นมาในกล่องพลาสติก โดยรวมถือว่าบรรจุภัณฑ์ทำได้ดีกว่าปากการาคาใกล้ๆ กันที่มักจะมาในกล่องกระดาษ นอกจากตัวปากกาแล้ว ในกล่องยังมีหลอดหมึกสีดำมาให้เพิ่มอีกหนึ่งหลอด
Pilot Metropolitan มีสีให้เลือกซื้อหลากหลายสี และในแต่ละสีสามารถเลือกลายบริเวณด้ามปากกาส่วนพลาสติกได้อีกด้วย ตัวด้ามปากกาสีดำไม่มีลายที่ทีมงานซื้อมา ให้ความรู้สึกเรียบหรูจากตัวปากกาอะลูมิเนียมดำด้าน ที่ตัดกับแถบพลาสติกดำเงา บนตัวปากกามีเพียงข้อความ “PILOT JAPAN” ซึ่งเขียนบนปลอกปากกาฝั่งตรงข้ามที่หนีบ
การใช้สีดำด้านและไม่มีตัวอักษรที่ดูรกตา ทำให้ปากกาดูทั้งเรียบและหรูมาก ส่วนสีอื่นนั้นก็เพียงแค่แตกต่างในด้านสี ส่วนที่เหลือก็แทบจะเหมือนกัน โดยส่วนตัวผู้เขียนชอบการออกแบบภายนอกมาก กล่าวคือหากเปรียบเทียบกับคู่แข่งอย่าง LAMY Safari จะพบว่า Safari จะออกแนววัยรุ่นกว่า แต่ปากการุ่นนี้จะออกไปในแนวสุขุมรอบคอบ และดูเป็นผู้ใหญ่กว่ามาก
ฝาปากกาใช้ปลอกปิดเข้าไปตรง ๆ (snap cap) ที่ให้น้ำหนักการเปิดและปิดที่กำลังดี ไม่หลุดง่ายและไม่ต้องใช้แรงดึงหรือกตอนเปิดปิดฝาปากกามาก
หัวปากกา (nib) ที่ทีมงานเลือกซื้อมา เป็นหัวปากกาขนาด F บริเวณหัวปากกาพิมพ์ลายเป็นเส้นเล็กๆ ทั้งสองฝั่งปากกา พร้อมยี่ห้อ “PILOT”, ขนาดหัวปากกา “<F>” และประเทศที่ผลิต “JAPAN”
ข้อควรระวังสำหรับผู้ซื้อปากกาด้ามนี้ คือปากกาจากผู้ผลิตฝั่งญี่ปุ่นมักจะมีขนาดหัวเล็กกว่าจากฝั่งยุโรป (เช่น ปากกาหัวไซส์ F จากฝั่งญี่ปุ่น จะมีขนาดใกล้เคียงไซส์ EF จากฝั่งยุโรป) ทีมงานแนะนำว่าหากมีหัวปากกาฝั่งยุโรปที่พึงพอใจอยู่แล้ว ให้เพิ่มขนาดขึ้นไปหนึ่งขนาดเพื่อให้ได้เส้นที่ตรงความต้องการมากกว่า
ทดลองเขียนจริง
หมายเหตุทีมงาน: สำหรับบทเขียนจริงและส่วนวิจารณ์และสรุป จะแบ่งออกเป็นสองส่วน ตามผู้วิจารณ์ โดยในส่วนแรกจะวิจารณ์โดย คุณณัฐพงษ์ เอกอุดมสุข ในส่วนที่สองจะวิจารณ์โดย ศิระกร ลำใย
จากการทดสอบเขียนจริงครั้งนี้ จะใช้หมึกที่มาพร้อมกับตัวปากกา โดยเมื่อได้ทดสอบเขียนแล้วก็พบว่าประทับใจอย่างมากกับปากกาด้ามนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเขียนที่เขียนได้ดี ปากกาไม่ลื่นและไม่ฝืดจนเกินไป โดยหากใช้งานเขียนทั่วไปเส้นที่ได้ก็ค่อนข้างต่อเนื่องและสวย แต่ถ้าลากเส้นเร็วก็อาจทำให้ขาดตอนได้
ปากกามีช่วงการเขียนประมาณ 180 องศา คือถ้าหมุนหัวปากกาไปใกล้ ๆ หรือเกินกว่า 90 องศาทั้งซ้ายและขวาแล้ว จะเกิดอาการเส้นขาดได้เลย แต่ถ้าอยู่ในช่วงก็คือเส้นที่ได้ถือว่าดีมาก ส่วนเรื่องขนาดหัว F นั้นโดยส่วนตัวผมเองที่เป็นคนเขียนปากกาลูกลื่นแล้วชอบใช้หัวขนาดใหญ่ แต่พอมาใช้ปากกาหมึกซึมกลับติดใจหัวขนาดเล็กเพราะเป็นคนชอบกดปากกาทิ้งไว้บ่อย ๆ ถ้าใช้ปากกาหัวใหญ่ในการเขียนทั่วไปจะทำให้เลอะเทอะได้
– ณัฐพงษ์ เอกอุดมสุข
ผู้เขียนทดสอบปากกา Pilot Metropolitan กับกระดาษ Double-A ขนาด 80 แกรม โดยใช้หมึก Montblanc Midnight Blue
ส่วนตัวแล้วผู้เขียนไม่ได้ใช้ปากกาหัวเล็กเป็นเวลาค่อนข้างนานแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าปากกาหัวใหญ่มักให้ความนุ่มของการเขียนมากกว่า (ด้วยความที่หัวมีขนาดใหญ่ จึงไม่ขูดขีดกับกระดาษเท่าปากกาหัวเล็ก) อย่างไรก็ดี ประสบการณ์ในการเขียนด้วยปากการุ่นนี้ในขาดหัวปากกา F (ซึ่งต้องไม่ลืมว่าขนาดเทียบเท่ากับปากกาหัว EF จากฝั่งยุโรป) กลับทำได้น่าประทับใจอย่างอัศจรรย์ การเขียนสามารถทำได้ลื่น หากให้เปรียบเทียบแล้วผู้เขียนมองว่าปากกาที่ให้ความลื่นในระดับใกล้ๆ กันคือ Lancer Spiral (ปากกาลูกลื่น 5 บาทลายเกลียว) ซึ่งเป็นหนึ่งในปากกาลูกลื่นที่นิยมใช้เพราะเขียนได้ลื่น
องศาในการเขียนของปากกาทำได้ดี ไม่จำเป็นจะต้องหมุนเพื่อหามุมที่ดีของปากกา (sweet spot) ก็ยังเขียนได้ และไม่ว่าจะยกปากกาตั้งหรือราบกับพื้นก็ยังเขียนได้อยู่ ผู้เขียนสามารถกล่าวได้อย่างเต็มปากว่าในตลาดปากกาหมึกซึม ยากที่จะหาปากกาที่เขียนได้ลื่นระดับนี้ และในราคาต่ำกว่า 1,000 บาทแล้ว Pilot Metropolitan อาจจะเป็นทางเลือกเดียวสำหรับผู้ที่ต้องการปากกาหมึกซึมซึ่งตอบโจทย์ทั้งความแน่นหนาจากวัสดุที่เป็นเหล็ก และการเขียนที่ทำได้อย่างไร้ที่ติ
ข้อพึงระวังเพียงอย่างเดียวคือปากการุ่นนี้ไม่ให้น้ำหนักเส้นที่ต่างกันตามแรงกด (line variation) แม้แต่น้อย อย่างไรก็ดีผู้เขียนมองว่าน้ำหนักเส้นเป็นความชื่นชอบส่วนบุคคล ดังนั้นผู้ที่ชอบปากกาแบบน้ำหนักเส้นไม่ต่างก็ย่อมมองจุดนี้เป็นข้อดีของปากกา
– ศิระกร ลำใย
การจัดจำหน่าย
ผู้เขียนได้ปากกาทั้งสองด้ามมาจาก Massdrop โดยราคาต่อด้ามอยู่ที่ประมาณ 660 บาท อย่างไรก็ดี Pilot ประเทศไทยไม่ได้นำปากกาด้ามนี้เข้ามาจำหน่ายอย่างเป็นทางการ ดังนั้นถ้าต้องการหาซื้ออาจจำเป็นต้องสั่งนำเข้ามา
สำหรับราคาในประเทศญี่ปุ่น มีราคาจำหน่ายที่ 3 พันเยน หรือตกประมาณ 900 บาท ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งถือเป็นเพียงรุ่นเดียวที่ราคาวางจำหน่ายในประเทศ สูงกว่าราคาจำหน่ายในต่างประเทศ
สรุป
ในความเห็นของทีมงานแล้ว Pilot Metropolitan เป็นปากกาที่ค่อนข้างคุ้มค่ากับการใช้งาน และเป็นทางเลือกที่ไม่ผิดหวังสำหรับผู้ที่กำลังจะซื้อปากกาหมึกซึมด้ามแรก ทั้งการออกแบบภายในและความรู้สีกของการเขียนที่ดีมาก ทำให้ปากกาด้ามนี้เป็นตัวเลือกปากกาในฐานะเครื่องเขียนและในฐานะปากกาที่สามารถใช้เป็นเครื่องประดับได้ในทุกสถานการณ์
นอกจากเป็นปากกาด้ามแรกแล้วปากการุ่นนี้ยังเป็นตัวเลือกปากกาสำหรับใช้ประจำวัน (daily drive) สำหรับผู้ที่ใช้ปากกาหมึกซึมเป็นปกติ การซื้อปากกาด้ามนี้เพื่อใช้ในทุกสถานการณ์ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ
– ณัฐพงษ์ เอกอุดมสุข
ในตลาดปากการาคาเริ่มต้น Pilot Metropolitan จะเป็นปากกาด้ามเดียวที่ผู้เขียนแนะนำให้ซื้อใช้ ด้วยด้ามปากกาอะลูมิเนียมที่แข็งแรง และการออกแบบที่ใช้ได้ทุกกาลเทศะ และเป็นหนึ่งในปากกาที่สามารถพกไปได้ทุกสถานการณ์
แต่คงจะเป็นที่น่าเสียดายหากพูดถึงเพียงการออกแบบของปากกา เพราะปากการุ่นนี้สามารถทำหน้าที่ของ “ปากกา” ได้อย่างไร้ที่ติ ด้วยความลื่นในการเขียนที่ทำได้ดีกว่าปากการาคาแพงหลายด้าม ทำให้เป็นปากกาที่ดีและคุ้มค่า
แม้ว่าจะหาซื้อยากในประเทศไทย แต่หากมีโอกาสได้เป็นเจ้าของ (ในราคาที่ไม่แพงมาก) Pilot Metropolitan ก็จะเป็นปากกาด้ามแรกที่ผู้เขียนแนะนำให้ใช้โดยประการทั้งปวง
– ศิระกร ลำใย
เครดิต
ภัทรนันท์ ลิ้มอุดมพร – บทเกริ่นนำ
ณัฐพงษ์ เอกอุดมสุข, ศิระกร ลำใย – ผู้รีวิว
You must be logged in to post a comment.