23 ตุลาคม 2024
สาระ-ความรู้ข้อควรรู้และควรระวังว่าด้วยการพกปากกาไปเลือกตั้ง 2562

ข้อควรรู้และควรระวังว่าด้วยการพกปากกาไปเลือกตั้ง 2562

ในโอกาสที่เข้าใกล้มาถึงของการเลือกตั้งประจำปีพุทธศักราช 2562 ซึ่งอาจนับได้ว่าเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกของประเทศไทยในรอบ 8 ปีที่ผ่านมา (หากนับว่าการเลือกตั้งในปีพุทธศักราช 2557 นั้นเป็นโมฆะ)

ท่ามกลางข้อกังวลและข่าวที่กระจายในโซเชียลมีเดียว่ามีการนำปากกาล่องหนมาใช้ในคูหาเลือกตั้ง อาจทำให้ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งได้รับความกังวลและตัดสินใจนำปากกาไปใช้เองที่คูหา ไรท์ติ้งอินไทยขอนำเสนอวิธีการเลือกปากกาเพื่อลดโอกาสความผิดพลาดจากการทำบัตรเลือกตั้งเสีย

ปากกาล่องหนมีจริงหรือไม่

หากพิจารณาความเป็นไปได้และแนวโน้มของเนื้อหาที่ผู้ใช้นำเสนอบนโซเชียลมีเดีย ปากกาล่องหนในบริบทที่แสดงความกังวลกันนั้น เป็นปากกาชนิดที่สามารถลบหมึกได้ ซึ่งถูกวางจำหน่ายอย่างกว้างขวางโดยบริษัท Pilot ภายใต้ชื่อทางการค้า Pilot FriXion

ภาพปากกา Pilot FriXion จาก JetPens

หลักการการทำงานของปากกา Pilot FriXion คือเมื่อลบปากกาด้วยยางลบเฉพาะที่ปลายหัวปากกา กระดาษจะมีความร้อนสูงขึ้นมาก และน้ำหมึกเฉพาะของ Pilot FriXion จะเปลี่ยนสีจากสีหมึกเป็นสีใสเมื่อกระดาษร้อนเกินประมาณ 60 องศาเซลเซียสขึ้นไป ทำให้ดูเหมือนว่าหมึกนั้นหายไปจากกระดาษ

ปากกาดังกล่าวไม่สามารถใช้ยางลบธรรมดาลบหมึกออกจากปากกาได้ เพราะยางลบลบดินสอไม่สามารถทำให้กระดาษมีความร้อนไปจนถึงจุดที่น้ำหมึกเฉพาะเปลี่ยนสี

ข้อแนะนำที่ดีที่สุด: ตรวจสอบปากกาที่เตรียมไว้ให้ในคูหา และใช้หากไม่พบความผิดปกติ

ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ระบุใจความสำคัญของการทำเครื่องหมายเพื่อลงคะแนนเสียงเลือกตั้งไว้ในส่วนที่ 5 ข้อที่ 138 ไว้ว่า

การออกเสียงลงคะแนนให้ทำเครื่องหมายกากบาท ลงในช่องทำเครื่องหมายของหมายเลขผู้สมัครในบัตรเลือกตั้ง

จะสังเกตได้ว่าระเบียบดังกล่าวมิได้กำหนดถึงวิธีการทำเครื่องหมาย หรือข้อจำกัดของปากกาบนกระดาษแต่อย่างใด ดังนั้นหากตีความตามตัวระเบียบนั้น การใช้ปากกาที่เตรียมมาเองเพื่อการเลือกตั้งก็ย่อมสามารถทำได้

อย่างไรก็ดี ไรท์ติ้งอินไทยแนะนำว่าหากเป็นไปได้ ให้ใช้ปากกาของคูหาเลือกตั้ง โดยหากกังวลว่าปากกาเป็นปากกาลบได้หรือไม่ สามารถตรวจสอบเบื้องต้นโดยการดูว่าที่ปากกาไม่มีหัวยางลบ ซึ่งจะช่วยให้ปลอดภัยขึ้นมากในระดับหนึ่ง

เลี่ยงการใช้ปากกาที่อาจทำให้บัตรเลือกตั้งฉีกขาด

หากท่านยังยืนยันที่จะพกปากกาไปใช้เองในคูหาเลือกตั้ง ทีมงานไรท์ติ้งอินไทยขอให้ท่านระมัดระวังเป็นพิเศษต่อความเสี่ยงในการทำบัตรเลือกตั้งฉีกขาด เนื่องด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มีการกำหนดโทษของการทำบัตรชำรุดโดยจงใจไว้ว่า

ผู้ใดจงใจกระทําด้วยประการใด ๆ ให้บัตรเลือกตั้งชํารุด หรือเสียหาย หรือให้เป็นบัตรเสีย หรือกระทําด้วยประการใด ๆ แก่บัตรเสียเพื่อให้เป็นบัตรที่ใช้ได้ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกําหนดสิบปี

ดังนั้น ทีมงานไรท์ติ้งอินไทยจึงแนะนำว่าหากท่านต้องการพกปากกาไปเลือกตั้งเอง ควรหลีกเลี่ยงปากกาที่หัวค่อนข้างแหลมและเสี่ยงการทำบัตรเลือกตั้งฉีกขาด (เช่นปากกาหมึกซึมหัวขนาด EF หรือ F) เนื่องจากอาจส่งผลให้บัตรเลือกตั้งของท่านขาด และอาจนำมาสู่การเสียคะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งนั้น (ด้วยการนับบัตรที่ชำรุดเป็นบัตรเสีย) ได้

หากต้องแนะนำปากกา ทีมงานแนะนำให้เลือกใช้ปากกาหมึกซึม ลูกลื่น หรือปากกาหัวสักหลาดธรรมดา หมึกสีดำหรือน้ำเงิน ที่ไว้ใช้เซ็นเอกสารทั่วไป

เข้าคูหา กาหน้าประวัติศาสตร์

ภาพการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ.2550 (ภาพจากผู้ใช้ Tevaprapas ผ่านโครงการวิกิมีเดีย คอมมอนส์)

ไรท์ติ้งอินไทยขอใช้โอกาสนี้ในการเชิญชวนผู้มีสิทธิ์ออกเสียงทุกท่านที่ไม่ได้ลงเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรหรือนอกเขต ร่วมใช้สิทธิ์ในการเลือกตั้งครั้งสำคัญของประเทศไทย ในวันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม 2562 ณ เขตเลือกตั้งของท่าน

คูหาลงคะแนนเสียงจะปิดรับการแสดงสิทธิ์ในเวลา 17:00 โดยหากท่านแสดงตัวที่เขตเลือกตั้งก่อนเวลาดังกล่าว จะยังมีสิทธิ์เลือกตั้งแม้จะเลยเวลาไปแล้ว

ไรท์ติ้งอินไทยรวบรวมลิงก์ที่มีประโยชน์ต่อการตัดสินใจลงคะแนนเสียงไว้ด้านล่างนี้

เพราะไรท์ติ้งอินไทยเชื่อว่าหนึ่งเสียงกากบาทของท่าน จะมีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางของประเทศที่จะเดินหน้าต่อไป

อ้างอิง

Sirakorn Lamyai
Sirakorn Lamyaihttp://srakrn.me
ด้วยความที่เรียนวิศวกรรมศาสตร์ ศิระกรจึงพยายามมองการซื้อปากกาแต่ละด้ามเป็น "การลงทุน" และอยู่ในโลกของการพยายามหาปากกาที่ค่าตัวไม่แพงแต่มีคุณภาพสูงมาใช้เรื่อยๆ ถึงกระนั้น ศิระกรก็กำลังพยายามกระโดดไปโลกของปากกาในฐานะเครื่องประดับ และหวังว่าจะได้เรียนรู้อย่างเพลิดเพลินในโลกทั้งสอง

ติดตามเราบน Facebook

เนื้อหายอดนิยม

บทความที่เกี่ยวข้อง

- Advertisement -