เมื่อไม่นานมานี้ ร้าน Studio360 โดยบริษัท สตูดิโอ ทรี ซิกซ์ตี เพิ่งทำการเปิดสาขาของร้าน ณ ห้างสรรพสินค้าเซนทรัลเวิลด์ เป็นหนึ่งในทางเลือกของร้านเครื่องเขียนแห่งใหม่ในย่านกรุงเทพมหานคร และหนึ่งในจุดเด่นของร้านดังกล่าวคือบาร์สำหรับผสมหมึกปากากหมึกซึมด้วยตนเอง เป็นสีหมึกพิเศษที่ไม่ซ้ำกับใครอย่างแน่นอน
ไรท์ติ้งอินไทยมีโอกาสทดสองผสมหมึกเองจนออกมาเป็นหมึกปากกาหมึกซึมหนึ่งขวด ซึ่งจะถูกถ่ายทอดประสบการณ์ผ่านรีวิวฉบับนี้ครับ
หมายเหตุ: รีวิวนี้เป็นรีวิวที่ถูกจัดทำขึ้นโดยทีมงานไรท์ติ้งอินไทย โดยมิได้รับผลตอบแทนหรือสินค้าใดๆ
Studio360: จากร้านขายปากกาออนไลน์ สู่หน้าร้านใจกลายเมือง
Studio360 เป็นร้านเครื่องเขียนที่มีจุดเริ่มต้นมาจากการเป็นหน้าร้านขายเครื่องเขียนออนไลน์ ก่อนที่จะได้รับเสียงตอบรับจากลูกค้าว่าต้องการทดลองปากกาก่อนซื้อ นำมาสู่การเปิดหน้าร้านที่ชั้น 5 โซนเอเทรียม ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิล์ด
ปัจจุบันในร้านจำหน่ายสินค้าในตระกูลเครื่องเขียนทั้งปากกาหมึกซึม หมึก สมุด และปากกาชนิดอื่นๆ สินค้าแบรนด์ที่นำมาจำหน่ายเช่นปากกาของ Kaweco, Y Studio หรือหมึกปากกา Pilot Iroshizuku และหนึ่งในจุดเด่นของบริการที่เปิดเพิ่มจากหน้าร้านออนไลน์ ก็คือบริการบาร์ผสมสีหมึก (Ink bar) ซึ่งทีมงานไรท์ติ้งอินไทยกำลังจะรีวิวในบทความนี้
รีวิวประสบการณ์การทำหมึก
ทีมงานไปถึงหน้าร้านของ Studio360 ในเวลาเช้ามากๆ (กล่าวคือสิบโมง ซึ่งเป็นเวลาทำการของห้าง) ในขณะนั้นพนักงานของร้านกำลังจัดเตรียมหน้าร้านเพื่อเปิดบริการอยู่ แต่เมื่อทีมงานแจ้งว่ามาใช้บริการทำหมึกปากกา ก็ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี
หนึ่งในจุดสังเกตแรกที่เห็นเมื่อเดินเข้าไปที่บริเวณบาร์หมึก คือจำนวนขวดหมึกมากมายที่เรียงกันอย่างเป็นระเบียบ ทีมงานต้องขอชมว่าบรรยากาศที่ต้อนรับผู้ที่ต้องการผสมหมึกปากกาของตัวเองด้วยขวดหมึกจำนวนมากลักษณะนี้ เป็นความรู้สึกที่ดีมากๆ
ทีมงานได้รับแจ้งว่าขั้นตอนที่ง่ายที่สุดในการผสมสีหมึกของตัวเอง คือให้เลือกสีจากสีหมึกบนผนังที่ “ใกล้เคียง” กับสีในใจที่สุดก่อน ซึ่งสีบนผนังทุกสีจะมีจำนวนหยดหมึกของแม่สีงานพิมพ์สี่สี ได้แก่สีฟ้า บานเย็น เหลือง และดำ กำกับเอาไว้ พร้อมกับจำนวนหยดของโทนเนอร์หรือตัวทำละลายที่ต้องใช้ ในกรณีนี้ ทีมงานมีสีในใจมาก่อนอยู่แล้ว กล่าวคือเป็นสีหมึกโทนหมึกปากกา Blue-black ที่เปลี่ยนสีน้ำเงินเป็นสีออกแนวโทนเขียวมากยิ่งขึ้น
หลังจากที่เลือกสี “ตั้งต้น” ที่ใกล้เคียงกับสีในใจของทีมงานได้ พนักงานก็เริ่มต้นด้วยการให้หยดสีตามที่ระบุจำนวนหยดไว้บนฝาผนัง ก่อนจะเปิดพื้นที่ให้ทีมงานได้ผสมสีแต่ละสีเพิ่มตามที่ต้องการ การหยดสีเพิ่มแต่ละครั้งต้องนับจำนวนหยดที่หยดด้วย เพื่อที่จะได้สามารถผสมเป็นหมุกขวดใหญ่ได้ถูกอัตราส่วน
การผสมสีหมึกปากกานั้น ถึงจะดูน่ากลัวสำหรับผู้ที่ไม่มีความรู้ทางศิลปะ แต่อันที่จริงแล้วใช้เพียงหลักการผสมสีทั่วไป (แม่สีที่แท้จริงทางงานพิมพ์ ได้แก่สีฟ้า สีบานเย็น และสีเหลือง เทียบได้กับแม่สีแดง น้ำเงิน และเหลือง ที่เรามักได้เรียนกันสมัยเด็ก) กรณีของทีมงานต้องการหมึกที่เป็นสีน้ำเงิน และดำมากยิ่งขึ้นจากสีตั้งต้น การผสมสีก็จะใช้วิธีการค่อยๆ หยดหมึกสีฟ้า สีดำ และโทนเนอร์สลับกันไปตามที่ต้องการ
แน่นอนว่ากระบวนการการผสมหมึกจำเป็นต้องมีการผสมและลองไปทีละนิด ในส่วนนี้ทางร้านเตรียมอุปกรณ์สำหรับลองไว้ให้เป็นอย่างดี ทั้งสำลีก้านไว้สำหรับทำ cotton bud swab test บนกระดาษ, แท่งแก้วหัวตัดสำหรับทดลองป้ายหมึก และปากกาแบบจุ่มหมึกสำหรับทดลองเขียนไว้ให้อย่างครบครัน
อย่างไรก็ดี ทีมงานแนะนำให้เตรียมปากกาหมึกซึมไปทดสอบเองด้วยด้ามหนึ่ง (ควรเป็นด้ามที่ใช้ประจำ) วิธีการทดสอบคือแตะปลายหัวปากกากับหมึกในจานเพียงเล็กน้อย (ไม่ต้องจุ่มทั้งหัว) ก่อนจะทดลองเขียน และใช้ทิชชู่ซับหมึกออกจนหมด โดยเหตุผลของการเตรียมปากกาไปเองคือตัวปากกามีผลต่ออัตราการไหลของหมึก ซึ่งจะกระทบกับสีที่เขียนออกมาอย่างหลีกเลี่ยงมิได้
กระบวนการค่อยๆ ผสมหมึกนั้นใช้เวลา และมีความเปรอะเปื้อนอยู่บ้าง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นกิจกรรมที่ “สนุก” ในการได้ทดลองผสมหมึกจนได้สีที่ทีมงานต้องการ
หลังจากผสมหมึกจนเป็นที่น่าพอใจ เพียงแจ้งพนักงานว่าหยดหมึกสีอะไรไปในอัตราส่วนเท่าใด พนักงานจะทำการผสมหมึกลงในขวดก่อนจะให้ทดลองสีอีกครั้ง เพื่อที่จะมั่นใจได้ว่าได้หมึกสีที่ต้องการจริงๆ ทั้งนี้ตัวหมึกจะถูกบรรจุลงในขวดหมึกทรงเล็ก รูปทรงค่อนข้างคล้ายกับขวดหมึกของ Pilot Iroshizuku ขนาด 15ml
ขั้นตอนสุดท้ายของการผสมหมึกคือการ “ตั้งชื่อให้หมึก” โดยการเขียนชื่อหมึกของเราลงบนฉลากกระดาษ (ในกรณีของทีมงานเขียนเป็นชื่อตัวเอง) นอกจากนี้พนักงานจะเขียนอัตราส่วนของหมึกแต่ละสีเขียนไว้เผื่อกรณีต้องการกลับมาซื้อหมึกสีนี้โดยไม่ต้องผสมสีซ้ำ
ทดลองเขียนด้วยหมึกผสมเอง
หมายเหตุ: ภาพสีหมึกอาจมีผิดเพี้ยนจากเครื่องสแกนเนอร์และอุปกรณ์แสดงผล
ทีมงานทดลองหมึกบนกระดาษสมุดโน้ต (ไม่สามารถระบุยี่ห้อกระดาษได้) ควบคู่กับปากกาหมึกซึมของ MUJI และให้ผลออกมาดังนี้
ทีมงานคงไม่จำเป็นต้องอธิบายเรื่อง “สี” ว่าถูกใจทีมงานมากน้อยแค่ไหน เพราะเป็นสีที่ผสมเอง ด้วยความที่ชอบสีเขียวและหมึกปากกาสี blue-black เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว การผสมเฉดสีทั้งสองเข้าด้วยกัน (ด้วยความสามารถทั้งหมดที่มี) ก็ทำให้ได้สีหมึกปากกาที่ถูกใจทีมงานไปอย่างแน่นอน
ตัวหมึกเขียนได้ลื่น ไม่หนืดจนเกินไป นอกจากนั้นยังซึมเข้ากระดาษได้ค่อนข้างดี เขียนแห้งไว ลดโอกาสการเปื้อนจากการลูบบนกระดาษ โดยรวมถือว่าเป็นหมึกที่เขียนดียี่ห้อหนึ่ง
จากการทดลองดมหมึก ตัวหมึกมีกลิ่นสารเคมีอยู่บ้าง (เยอะกว่าหมึก Montblanc แต่น้อยกว่าหมึก LAMY) จึงทำให้ทีมงานเชื่อว่าหมึกปากกาหมึกซึมของ Studio360 สามารถใช้กับปากกาหมึกซึมทั่วไปได้อย่างปลอดภัย
ทั้งนี้ ทีมงานไม่ได้ทดสอบคุณสมบัติการทนน้ำและการกันน้ำ เนื่องจากหมึกแต่ละแม่สีที่ผสมกันนั้นมีคุณสมบัติการแพร่บนกระดาษได้แตกต่างกัน ดังนั้นคุณสมบัติการทนน้ำและกันน้ำจึงขึ้นอยู่กับอัตราส่วนของหมึกแต่ละสีที่นำมาผสมกัน
ราคา
ราคาค่าบริการผสมหมึก และหมึกขวดขนาด 18ml อยู่ที่ 500 บาท ซึ่งเทียบกับหมึกยี่ห้ออื่นในตลาดได้ดังนี้
ยี่ห้อ | ปริมาณ | ราคา | ราคาต่อมิลลิลิตร |
Studio360 | 18ml | 500฿ | 27.78฿/ml |
Montblanc Ink Bottle (Non permanent) | 60ml | 715฿ | 11.91฿/ml |
Pilot Iroshizuku | 15ml | 420฿ | 28฿/ml |
จะเห็นได้ว่าหมึกของ Studio360 นั้นถือว่าเป็นหมึกที่มีราคาสูงพอสมควรในแง่ของปริมาณต่อมิลลิลิตร โดยมีราคาใกล้เคียงกับหมึก Pilot Iroshizuku ขวดขนาด 15ml จากญี่ปุ่น
อย่างไรก็ตาม ทีมงานมองว่าการคิดราคาแบบนี้ถือเป็นการมองข้ามข้อเท็จจริงที่ว่าปริมาณหมึกจำนวนหนึ่งนั้นถูกใช้ไปในขั้นตอนการผสมสีหมึก (ซึ่งหากนำมาคิดแล้ว ราคาต่อมิลลิลิตรของหมึกก็จะถูกลงไปอีก) และสิ่งที่สำคัญคือหมึกที่ได้จากการผสมอาจเรียกได้ว่าเป็นหมึกขวดที่ไม่ซ้ำกับขวดไหนบนโลกก็ได้ โดยรวมทีมงานถือว่าเป็นราคาที่ยอมรับได้หากมองว่าเป็นการจ่ายเพื่อประสบการณ์และความสนุก ไม่ใช่แค่เพื่อหมึกปากกาหนึ่งขวด
สรุป
หลังใช้บริการบาร์ผสมหมึกของ Studio360 จนออกมาเป็นหมึกหนึ่งขวด ทีมงานมีความสุขที่หมึกผสมเองสามารถเติมเต็มการเขียน และให้ความรู้สึกว่าความเป็นตัวเองนั้นถูกถ่ายทอดออกมาเพิ่มขึ้น (ทีมงานหมดเวลาทำงานพักใหญ่ไปกับการขีดเส้นมั่วๆ บนกระดาษไปมาด้วยหมึกที่เพิ่งผสมเอง)
แม้จะมีจุดติดขัดในเรื่องของราคา (ที่ทำให้ทีมงานอาจเลือกหยิบสีพิเศษนี้มาใช้แค่เป็นบางครั้งคราว) แต่โดยรวมแล้วความสุขจากการมีหมึกสีของตัวเองใช้ ก็เป็นความสุขที่แปลกใหม่ และเป็นการเปิดพื้นที่เพิ่มขึ้นจากการเลือกหมึกสีที่มีอยู่แล้วในท้องตลาดได้เป็นอย่างดีครับ
You must be logged in to post a comment.