อภิธานศัพท์ และข้อกำหนดทางไวยากรณ์

Logo
ไรท์ติ้งอินไทย | Writing in Thai

สำหรับผู้เขียนที่ส่งบทความมาที่ไรท์ติ้งอินไทย ทางเว็บไซต์ขอให้ท่านยึดหลักการนี้ในการเขียนเพื่อความเสมอต้นเสมอปลายระหว่างบทความ ทั้งหลักไวยากรณ์ หลักการเขียนเครื่องหมายวรรคตอน และหลักการถอดคำศัพท์

ข้อกำหนดนี้ดัดแปลงจากข้อกำหนดของ Blognone และปรับปรุงครั้งล่าสุดเมื่อ 15 มิถุนายน 2561

หลักการเขียนโดยคร่าว

  • พยายามหลีกเลี่ยงการใช้ประโยคกรรมวาจก (passive voice) ยกเว้นเสียแต่ต้องการเน้นกรรมเป็นพิเศษ
  • เขียนให้กระชับและได้ใจความ บทความที่ยาว แต่อัดแน่นด้วยสาระและไม่พรรณนามากจนเกินควรนั้นแตกต่างกับบทความที่ไม่กระชับ
  • อย่าลังเลที่จะเขียนด้วยสำนวนของตัวเอง ไรท์ติ้งอินไทยเคารพในความแตกต่างของผู้เขียนแต่ละท่าน และเชื่อว่าความหลากหลายทางสำนวนภาษาและความคิดเป็นหนึ่งในสิ่งที่เว็บไซต์ของเราภาคภูมิใจ

หลักการใช้เครื่องหมายวรรคตอน

การเว้นวรรคระหว่างคำและประโยค

  • ขอให้เว้นวรรคระหว่างประโยคตามความเหมาะสม เพื่อไม่ให้ข้อความติดกันมากจนเกินไป
  • เว้นวรรคระหว่างคำไทยและคำอังกฤษ
  • เว้นวรรคระหว่างตัวเลขและคำ

ตัวอย่าง: “บริเวณ nib ของปากกามีการประดับลายพร้อมตัวเลข 1911 แบบสลักนูนต่ำ ซึ่งทีมงานมองว่าเป็นลายที่เข้ากับการออกแบบของปากกา”

การเว้นวรรคเครื่องหมายวรรคตอน

  • วงเล็บและเครื่องหมายคำพูด (quotation marks) ให้เว้นวรรคเฉพาะข้างนอก และไม่เว้นวรรคข้างใจ
    • ตัวอย่างการเขียนที่ถูก:
      • …บริเวณปลอกปากกามีคลิปหนีบ (แหนบปากกา) สี่เหลี่ยม…
      • …ชูจุดเด่นของความ “ไม่มียี่ห้อ” เป็นหลัก…
    • ตัวอย่างการเขียนที่ผิด:
      • …บริเวณปลอกปากกามีคลิปหนีบ(แหนบปากกา)สี่เหลี่ยม… (ไม่เว้นข้างนอก จึงผิด)
      • …บริเวณปลอกปากกามีคลิปหนีบ( แหนบปากกา )สี่เหลี่ยม… (เว้นข้างใน และไม่เว้นข้างนอก จึงผิด)
      • …ชูจุดเด่นของความ ” ไม่มียี่ห้อ ” เป็นหลัก… (เว้นข้างใน จึงผิด)
  • สำหรับจุลภาค (comma) ปรัศนีย์ (question mark) และอัศเจรีย์ (exclamation mark) ให้เว้นวรรคข้างหลังโดยไม่ต้องเว้นวรรคข้างหน้า อย่างไรก็ดีทั้งสามเครื่องหมายไม่ใช่เครื่องหมายวรรคตอนตามธรรมชาติของภาษาไทย
    • ตัวอย่างการเขียนที่ถูก
      • …มีขนาด EF, F, M, และ B ให้เลือก…
      • …ในราคาถูกมาก! ทั้งนี้…
      • …ทีมงานมีคำถามว่าการรับประกันจะเป็นอย่างไรต่อไป? เมื่อ…
    • ตัวอย่างการเขียนที่ผิด
      • …มีขนาด EF , F , M , และ B ให้เลือก… (เว้นด้านหน้า จึงผิด)
      • …ในราคาถูกมาก!ทั้งนี้… (ไม่เว้นด้านหลัง จึงผิด)
  • ไม้ยมก สามารถเลือกเขียนได้สองแบบ
    • หากต้องการเขียนแบบราชบัณฑิตยสถาน ให้เว้นวรรคทั้งหน้าและหลัง
      • ตัวอย่างการเขียนที่ถูก: …พิมพ์ลายจุดถี่ ๆ บนหัวปากกา…
    • หากต้องการเขียนแบบสมัยนิยม (เพื่อการตัดคำที่ถูกต้อง) ให้เว้นวรรคเฉพาะด้านหลัง
      • ตัวอย่างการเขียนที่ถูก: …พิมพ์ลายจุดถี่ๆ บนหัวปากกา…
  • ยัติภาค (dash) ไม่ต้องเว้นวรรคทั้งหน้าและหลัง อย่างไรก็ดียัติภาคไม่ใช่เครื่องหมายวรรคตอนตามธรรมชาติของภาษาไทย
    • ตัวอย่างการเขียนที่ถูก
      • …หัวปากกาขนาด M–ซึ่งมักใหญ่เทียบเท่าขนาด F จากฝั่งยุโรป–ให้ความรู้สึกในการเขียนที่ดี…

การถอดศัพท์และการสะกดคำเฉพาะ

ขอให้ยึดหลักการดังนี้

C

  • Caran d’Ache
    • ถอดเป็น “ฆารันดาช” (ตามการสะกดของตัวแทนจำหน่าย)
    • ไม่เว้นวรรคทั้งหน้าและหลังอะพอสทรอฟี
    • ใช้ตัว d เล็ก
  • clip
    • ถอดความเป็น “คลิปปากกา” หรือ “คลิปหนีบปากกา”
    • แปลความเป็น “แหนบปากกา”
  • Cross
    • ใช้ตัวพิมพ์ใหญ่เฉพาะตัวหน้า

F

  • Faber-Castell
    • ถอดเป็น “เฟเบอร์-คาสเทล”
    • มีขีดคั่น
    • สะกดตัว C พิมพ์ใหญ่

G

  • Graf von Faber-Castell
    • สะกด “von” ด้วยตัวพิมพ์เล็กทั้งหมด
    • มีขีดคั่น
    • สะกดตัว C พิมพ์ใหญ่

L

  • LAMY
    • ถอดเป็น “ลามี่”
    • สะกดด้วยตัวพิมพ์ใหญ่ทั้งหมด
  • line variation
    • แปลเป็น “น้ำหนักเส้น”

M

  • Meisterstück
    • ให้เขียนตัว ü ด้วย diaeresis (กล่าวคือใส่จุดสองจุดด้านบน)
  • Montblanc
    • ถอดเป็น “มงบลังต์” ไม่ใช่ “มองบลังต์”
  • MUJI
    • สะกดด้วยตัวพิมพ์ใหญ่ทั้งหมด

N

  • nib
    • แปลเป็น “หัวปากกา”

P

  • Paper Mate
    • ถอดเป็น “เปเปอร์เมท” โดยสะกดติดกัน (ตามการสะกดของตัวแทนจำหน่าย)
    • ภาษาอังกฤษเขียนไม่ติดกัน สะกด P และ M ด้วยตัวพิมพ์ใหญ่
  • Pilot
    • ถอดเป็น “ไพล็อต”
  • Promotion
    • ถอดเป็น “โปรโมชัน” โดยไม่มีไม้เอก

R

  • Rotring
    • ถอดเป็น “โรตริง” ตามวิธีการอ่านที่ถูกต้อง โดยอาจเสริมความเข้าใจผิดของการอ่านคำว่า “ร็อตติ้ง” ในบทความด้วย

U

  • Uni-Ball
    • ถอดเป็น “ยูนิ-บอล”
    • ใช้ตัว B พิมพ์ใหญ่
    • มีขีดคั่น

W

  • Waterman
    • ถอดเป็น “วอเตอร์แมน”
  • waterproof
    • ใช้สำหรับกรณีที่หมึกกันน้ำได้โดยสมบูรณ์แบบ ไม่มีหมึกเลือนออกมาเมื่อโดนน้ำ
    • แปลเป็น “การกันน้ำ”
  • water resistant
    • ใช้สำหรับกรณีที่หมึกเลือนออกมาเมื่อโดนน้ำ แต่ยังสามารถอ่านข้อความบนกระดาษได้
    • แปลเป็น “การทนน้ำ”